|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ธันวาคม 2550
|
 |

Green store หรืออาคารอนุรักษ์พลังงานแห่งแรกของเทสโก้ทั่วโลก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในนามของเทสโก้ โลตัส สาขาพระราม 1 กำลังถูกต่อยอดออกไปให้มีการประยุกต์ใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการธุรกิจ เพื่อลดการใช้พลังงานอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้นอีก ใน green store สาขาต่างๆ ในอีกหลายประเทศ
รวมทั้ง green store แห่งที่ 2 ของไทย ที่เทสโก้ โลตัส สาขาศาลายา ซึ่งตามกำหนดการจะเปิดให้บริการได้ปลายปีนี้
"เรายอมรับว่า green store สาขาแรก เป็นแนวคิดที่เริ่มต้นขึ้นจากศูนย์ ดังนั้นโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่นั่นจึงเป็นเหมือนการลองผิดลองถูก แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไปแล้ว 3 ปี สิ่งที่เราได้รับจากการลองผิดลองถูกจากสาขาพระราม 1 จะถูกนำมาใช้อย่างมีการวัดผลได้จริงในสาขาศาลายา" ธีรพล สังขรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม-พลังงาน บริษัทเอกชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม บอกกับ "ผู้จัดการ"
การที่เทสโก้ โลตัสพยายามผลักดันให้สาขาพระราม 1 เป็น green store เนื่องจากสถานที่ตั้งของสาขาแห่งนี้นอกจากจะอยู่กลางใจเมืองกรุงเทพฯ แล้ว เป็นที่ดินที่เช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
แนวคิดในการทำ green store สาขาพระราม 1 เริ่มตั้งแต่กระบวนการก่อสร้างที่ต้องสร้างมลภาวะให้น้อยที่สุด รูปแบบของอาคารรวมถึงการบริหารจัดการอาคารที่จะต้องเอื้อต่อการบริโภคพลังงานให้น้อยที่สุด
ที่สำคัญเป็นการจุดประกายการเริ่มต้นนำพลังงานทดแทนจากธรรมชาติเข้ามาใช้
มีโครงการอนุรักษ์พลังงานทั้งขนาดใหญ่และเล็กถูกบรรจุอยู่ในสาขาพระราม 1 ถึง 48 โครงการ แต่โครงการที่ดูจะเป็นที่เชิดหน้าชูตาและมีคนให้ความสนใจมากที่สุด คือการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในอาคาร
พื้นที่หลังคาของห้างเทสโก้ โลตัส สาขาพระราม 1 ซึ่งกว้าง 70,000 ตารางฟุต ในจำนวนนี้ 38,000 ตารางฟุต ใช้สำหรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังการผลิต 460 กิโลวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับเทสโก้ โลตัส สาขานี้ได้ถึงปีละ 6 แสนหน่วย หรือเท่ากับ 12.5% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าปีละ 1.8 ล้านบาท
เฉพาะค่าติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ดังกล่าว เทสโก้ โลตัสต้องลงทุนเป็นเงินประมาณ 70 ล้านบาท
จุดที่เทสโก้ โลตัสนำมาสื่อให้กับลูกค้า ถึงจุดเด่นของสาขาแห่งนี้คือมุมที่เปิดให้บริการชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือทุกรุ่นทุกยี่ห้อฟรี โดยใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงซุ้มรอรถประจำทางหน้าอาคารที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้บนหลังคาซุ้มเพื่อให้แสงสว่างกับผู้ที่สัญจรไป-มายามค่ำคืน
"concept หนึ่งของ green store ที่เราวางไว้ คือทำอย่างไรที่เราจะสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้มากที่สุด" ธีรพลบอก
concept นี้ได้นำมาใช้กับการสร้าง green store แห่งใหม่ที่ศาลายา
พื้นที่ที่ถูกใช้เพื่อก่อสร้างสาขาศาลายา จำนวนทั้งสิ้น 36 ไร่ เดิมเป็นพื้นที่ที่ถูกขุดหน้าดินขาย ดังนั้นเมื่อเทสโก้ โลตัสได้ที่ดินแปลงนี้มา หากจะต้องถมที่ทั้งแปลงอาจต้องลงทุนเป็นเงินถึง 100 ล้านบาท
เพื่อลดต้นทุนค่าก่อสร้างดังกล่าว จึงออกแบบอาคารให้มีคลองส่งน้ำอยู่รอบตัวอาคาร เพื่อลดงบประมาณในการถมดิน
คลองดังกล่าวนอกจากความสวยงามแล้ว เทสโก้ โลตัสยังใช้ประโยชน์จากคลองนี้เป็นที่ระบายความร้อนของระบบปรับอากาศภายในห้าง โดยอาศัยพื้นผิวน้ำที่มีขนาดกว้างและลมจากธรรมชาติเป็นตัวช่วยระบายความร้อน จากเดิมที่ต้องใช้เครื่องจักรซึ่งก็ต้องใช้พลังงานที่มีต้นทุน
ที่ศาลายามีโครงการอนุรักษ์พลังงานทั้งขนาดใหญ่และเล็กประมาณ 60 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ประสบผลสำเร็จมาแล้วจากสาขาพระราม 1 ส่วนที่เหลือเป็นโครงการที่คิดค้นเพิ่มขึ้นในภายหลัง
แต่ที่นี่ไม่ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเหมือนกับที่สาขาพระราม 1
เทสโก้ โลตัสได้เปลี่ยนการนำพลังงานแสงอาทิตย์จากที่ใช้ผลิตไฟฟ้ามาใช้กับระบบปรับอากาศแทน โดยการติดตั้งแผงโซลาร์ คูลลิ่ง นำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในการผลิตน้ำร้อน ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการปรับอากาศที่จะนำน้ำร้อนไปขับเคลื่อนน้ำยาแอร์ เพื่อลดอุณหภูมิของอากาศ
แผงโซลาร์ คูลลิ่ง จะติดตั้งไว้บนหลังคากันแดดของลานจอดรถ ซึ่งกินพื้นที่ถึงกว่า 1 ใน 3 ของพื้นที่ห้างทั้งหมด
ดังนั้นจึงเรียกได้ว่าระบบปรับอากาศของสาขาศาลายาได้อาศัยธรรมชาติตั้งแต่แสงแดดในกระบวนการผลิตน้ำร้อนไปจนถึงคลองรอบอาคารที่ใช้ลดอุณหภูมิของน้ำร้อนที่ออกมาจากระบบ
ว่ากันว่าการที่เทสโก้ โลตัสไม่นำโซลาร์เซลล์เข้ามาผลิตพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากในปี 2547 หลังจากเปิดให้บริการที่สาขาพระราม 1 แล้ว การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้บูมขึ้นอย่างมากในประเทศเยอรมนี ทำให้ราคาของแผงโซลาร์เซลล์สูงขึ้นอย่างมาก ที่สำคัญอุปทานของแผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตได้จากทั่วโลกจำนวนมากถูกส่งเข้าไปขายยังประเทศนี้
ดังนั้นเมื่อมีโครงการจะสร้าง green store แห่งที่ 2 ขึ้นที่ศาลายา เทสโก้ โลตัสจึงต้องเปลี่ยนจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้ามาเป็นโซลาร์ คูลลิ่ง ซึ่งต้นทุนต่ำกว่าแทน
งบประมาณสำหรับการติดตั้งโซลาร์คูลลิ่งที่สาขานี้ตั้งไว้ประมาณ 40 ล้านบาท
นอกจากการนำโซลาร์คูลลิ่งเข้ามาใช้ในระบบปรับอากาศแล้ว green store แห่งที่ 2 ที่ศาลายา ยังเป็นสาขานำร่องของโครงการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วที่ได้มาจากศูนย์อาหารและร้านอาหารต่างๆ ภายในห้าง ไบโอดีเซลดังกล่าวจะนำไปใช้กับเครื่องจักรต่างๆ ภายในห้าง อาทิ เครื่องปั่นไฟ
ขณะเดียวกันขยะเปียกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ ในห้างจะนำไปบ่มเพื่อผลิตเป็นไบโอแก๊ส เพื่อนำกลับไปใช้เป็นแก๊สหุงต้มยังศูนย์อาหารและร้านอาหารอีกต่อหนึ่ง
ดังนั้นที่สาขาศาลายาจึงจะมีทั้งโรงกลั่นน้ำมันไบโอดีเซล และหลุมบ่มไบโอแก๊สจากขยะ
แต่โครงการที่คาดว่าจะได้รับความสนใจมากที่สุด คือการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลม
บริเวณด้านหน้าของตัวอาคารได้มีการติดตั้งกังหันลมขนาดความสูง 24 เมตร จำนวน 3 ตัวด้วยกัน แต่ละตัวสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 1 กิโลวัตต์
พลังงานไฟฟ้าที่ได้จากกังหันลมดังกล่าว เทสโก้ โลตัสคาดว่าจะนำมาใช้เป็นบริการเสริมให้กับลูกค้า เช่น ใช้เป็นพลังงานสำหรับปั๊มลม เพื่อเติมลมยางให้กับรถยนต์ของลูกค้า เพราะไฟฟ้าที่ได้รับมีปริมาณน้อยมาก เมื่อเทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในห้างทั้งหมด
เหมือนที่ใช้ไฟฟ้าเพื่อให้ลูกค้าได้ชาร์จ แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือที่สาขาพระราม 1
แนวความคิดในการสร้าง green store และการนำพลังงานทดแทนจากธรรมชาติมาใช้ ถือเป็นโครงการ 1 ในพันธกิจ carbon footprint แม้พันธกิจนี้จะประกาศทีหลัง
เฉพาะโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่สาขาพระราม 1 ถูกวัดออกมาแล้วว่าสามารถลดการปล่อยคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศถึง 380 ตันต่อปี
ส่วนสาขาศาลายา จากโครงการต่างๆ ทั้ง 60 โครงการที่ถูกวางขึ้นมา ทำให้สาขานี้บริโภคพลังงานน้อยกว่าสาขาในขนาดเดียวกันถึง 40%
แต่จุดที่น่าสนใจก็คือแนวคิดในการสรรหาพลังงานทดแทนจากธรรมชาติ หากเทสโก้ โลตัสมีการปฏิบัติอย่างจริงจัง อาจจะกลายเป็นกิจกรรมที่มีบทบาทสำคัญของเทสโก้ โลตัสในอนาคต
โดยเฉพาะโครงการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้า ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยกรมพลังงานทดแทนได้กำหนดราคารับซื้อไว้ที่ยูนิตละ 11 บาท
การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากตัวแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญแล้ว ตัวแปรหลักอีกตัวแปรหนึ่งคือพื้นที่สำหรับติดตั้งแผงดังกล่าวซึ่งต้องใช้พื้นที่ที่กว้างมาก และเป็นพื้นที่ที่แสงแดดส่องถึง
ปัจจุบันพื้นที่หลังคาของห้างเทสโก้ โลตัส จำนวนกว่า 460 สาขาทั่วประเทศไทย ได้ถูกประมาณคร่าวๆ ว่าอาจมีความกว้างรวมกันถึงกว่า 10 ล้านตารางฟุต
หากในอนาคตเมื่อราคาโซลาร์เซลล์ถูกลง หรือราคารับซื้อจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเพิ่มขึ้นจนน่าจูงใจ
อาจเป็นไปได้ว่าเทสโก้ โลตัส จะกลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยไปเลยก็ได้
|
|
 |
|
|