Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2535
"คู่แข่งหน้าใหม่ของสิงห์"             
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด

   
search resources

บุญรอดบริวเวอรี่, บจก.
สุราทิพย์, บจก.
Alcohol




"มูลค่าตลาดนับหมื่นล้านบาทส่วนแบ่งตลาดกว่า 90% บุญรอดบริวเวอรี่ผู้ผลิตเบียร์สิงห์ต้อนรับคู่แข่งหน้าใหม่ จาก ค่ายสุราทิพย์และวานิช ไชยวรรณ รวมถึงอมฤตในอีก 3 ปีข้างหน้า ด้วยกลยุทธขยายกำลังการผลิตอีกเท่าตัวพร้อมปกป้องเครือข่ายตลาดอย่างรุนแรง"

กรมสรรพสามิตด้วยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังอนุญาตให้เอกชนหน้าใหม่เปิดโรงงานผลิตและจำหน่ายเบียร์เพิ่มขึ้นอีก 3 โรง โดยที่ 2 ใน 3 โรงนั้นเป็นของยักษ์ใหญ่วงการสุราไทย "เจริญ สิริวัฒนภักดี" จากค่ายสุราทิพย์ และอีกโรงเป็นของ "วานิช ไชยวรรณ" จากกลุ่มไทยประกันชีวิต

ด้วยตัวเลขประมาณการลงทุนขั้นต่ำในโรงเบียร์ใหม่ทั้ง 3 โรง คาดว่าเป็นเงินประมาณ 4,500 ล้านบาท โดยเฉลี่ยโรงละ 1,500 ล้าน (ขึ้นอยู่กับราคาที่ดิน) และมีกำลังการผลิตน้ำเบียร์สูงสุดถึงโรงละ 100 ล้านลิตร/ปี

ทั้งนี้ 1 ใน 2 โรงใหม่ของเจริญได้จับมือร่วมทุนกับเบียร์ชื่อดังของโลก "คาร์ลสเบิร์ก" จากประเทศเดนมาร์ก กำลังจะเริ่มดำเนินการผลิต และคาดว่าจะมีผลิตผลเบียร์ออกสู่ตลาดในราวไตรมาสที่ 2 ของปี 2536

ส่วนอีก 2 โรงที่เหลือจะทยอยดำเนินการผลิตตามมาจะแล้วเสร็จภายใน 3 ปี หรือในปี 2538

ผู้เชี่ยวชาญในวงการอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ได้คาดการณ์กันว่า ในปี 2538 หลังจากที่โรงเบียร์ใหม่ทุกโรงผลิตน้ำเบียร์ออกมาพร้อมๆ กันแล้ว จะมีผลอตผลออกสู่ตลาดขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 200 ล้านลิตร ทั้งนี้รวมถึงการขยายโรงงานของเบียร์เจ้าเก่า คือไทยอมฤตที่มีกำลังการผลิตสูงสุด 100 ล้านลิตรด้วย

เบียร์ใหม่ 200 ล้านลิตรที่จะเพิ่มขึ้นมานั้น คำนวนจากโรงเบียร์ใหม่ทั้ง 4 โรง ที่จะต้องดำเนินการผลิตน้ำเบียร์ออกมา อย่างน้อยถึง 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมดซึ่งเป็นจุดที่จะประหยัดต่อขนาดสำหรับโรงเบียร์ที่มีกำลังการผลิตสูงสุด 100 ล้านลิตร/ปี

ด้วยตัวเลขในปัจจุบันยอดขายเบียร์ทั้งอุตสาหกรรมแหล่งข่าวจากการสรรพสามิตได้เปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ปี 2535 จาก มค.-พย. อุตสาหกรรมเบียร์มียอดขายทั้งหมดประมาณ 305 ล้านลิตร มูลค่าตลาดเกือบ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มเมื่อเปรียบเทียบกับในปีที่ผ่านมาประมาณ 8% กว่าหรือจากยอดขายรวม 280 ล้านลิตร"

ฉะนั้นแล้วเมื่อนำผลผลิตเบียร์ในตลาดมารวมกับผลผลิตเบียร์ใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นมา ก็เท่ากับว่าในปี 2538 อุตสาหกรรมเบียร์ไทยจะมีผลิตผลเบียร์ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านลิตรจากโรงงานผลิตเบียร์ทั้งหมด 5 โรง

แต่สถิติของปริมาณการบริโภคเบียร์ในตลาดเบียร์ไทยนั้น มีการขยายตัวเฉลี่ยอยู่ในช่วง 8-12% นั้นคือจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่จะไปในทิศทางเดียวกัน

ดังนั้นการบริโภคน้ำเบียร์รวมในอีก 3 ปีข้างหน้าหรือปี 2538 ที่คำนวนจากตัวเลขการเติบโตของการบริโภคที่เฉลี่ยปีละ 12% (ดูจกาสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มในทิศทางที่ดี) จะมีการบริโภครวมเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 123 ล้านลิตร/ปี

เท่ากับว่าความต้องการบริโภคน้ำเบียร์รวมจะเพิ่มขึ้นประมาณ 428 ล้านลิตรในปี 2538 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับกำลังการผลิตทั้งหมดแล้วทำให้มีผลผลิตส่วนเกินทั้งอุตสาหกรรมอยู่ประมาณ 80 กว่าล้านลิตร

คำถามคือว่า เบียร์หน้าใหม่ทั้ง 3 โรง จะมีวิธีการอย่างไรเพื่อฝ่าปราการของเจ้าตลาดอย่าง "เบียร์สิงห์" ที่ครองตลาดเบียร์ไทยด้วยตัวเลขล่าสุดอยู่ถึง 93% ของยอดขายรวมในตลาดเบียร์ไทย

ถึงแม้เบียร์ใหม่ทั้ง 3 โรงนั้น เบื้องหลังแล้ว คือยักษ์ใหญ่ในวงการสุราของไทย ที่มีความยิ่งใหญ่ หากจะวัดกันที่กำลังเงินหรือศักดิ์ศรี พอฟัดพอเหวี่ยงกันทั้ง 2 กลุ่มหรือแม้แต่กับบุญรอดฯ เจ้าของเบียร์สิงห์ก็ตาม คงจะไม่แพ้กันเลยทีเดียว

แต่สำหรับในธุรกิจค้าน้ำเบียร์แล้วทั้ง 2 กลุ่มถือว่าเป็นยักษ์หน้าใหม่ผู้มาทีหลัง ยังไม่เจนจัดในยุทธจักรของตลาดเบียร์ไทย แล้วจะทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่ยึดติดอยู่กับแบรด์รอยัลตี้ในเบียร์สิงห์ที่สูงกว่า 90% ของตลาดรวมทั้งระบบได้

ความเป็นเจ้าตลาดอย่าง "เบียร์สิงห์" คงไม่ปล่อยให้เบียร์หน้าใหม่เข้าสู่ตลาดได้อย่างง่ายดายเป็นแน่ เพราะด้วยสั่งสมประสบการณ์และเกมการต่อกรที่มีทั้งรุกและรับในตลาดเบียร์ไทย ที่เรียกว่าเป็นผู้ผูกขาดมาตลอดกาลเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี

"มันยังไม่เหมาะในภาวะตลาดที่สิงห์นำตลาดอยู่กว่า 90%" คนในซีพีเล่าถึงเหตุผลหนึ่งที่ต้องหยุดลงทุนในโครงการผลิตเบียร์

อย่างไรก็ตาม เบียร์หน้าใหม่ทั้ง 3 โรงยังคงปิดตัวเองเงียบกันอยู่ทั้ง 2 กลุ่ม มีเพียงบางกระแสข่าวที่ออกมาเขย่าบัลลังก์เบียร์สิงห์ให้สั่นไปบ้าง ถึงการกำเนิดของเบียร์หน้าใหม่ทั้ง 3 โรงที่จะมีการร่วมลงทุนกับเบียร์ดังในตลาดโลก

แต่ก็ไม่อาจคาดเดาสถานการณ์ในอนาคตได้เลยว่าจะออกมาในรูปใด

เพราะเบียร์สิงห์เอง ก็ได้กลับมาทบทวนแผนการตลาดกันใหม่ สั่งคุมเข้มสินค้าของตัวเอง เพื่อเป็นการเตรียมรับมือที่ต้องถือคติว่า "กันไว้ดีกว่าแก้"

ดังนั้นแล้ว นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปการย่างก้าวของเบียร์สิงห์เบียร์ไทยต้องมั่นคงและมั่นใจในทุกๆ ฝีก้าว เพื่อปกป้องตำแหน่งผู้นำและในเวลาเดียวกันก็ต้องเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดให้กับตัวเองไปด้วย

เบียร์ จัดว่าเป็นเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่ผลิตมาจากพืชและมีแอลกอฮอลผสมอยู่ ว่ากันว่าเบียร์นั้นเริ่มมีการผลิตโดยชนชาวบาบิโลเนียมากกว่า 6,000 ปีแล้ว

และได้มีการวิวัฒนาการมาเป็นลำดับจนเป็นที่นิยมผลิตและบริโภคในแถบยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชาติเยอรมันนี ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นชาติที่เชี่ยวชาญการผลิตและบริโภคเบียร์มากที่สุดในโลก

กรรมวิธีของการผลิตเบียร์ถือว่าไม่ได้สลับซับซ้อนมากนัก แต่ขึ้นอยู่กับสูตรการผลิตที่จะกำหนดสัดส่วนของวัตถุดิบที่นำมาใช้ให้ได้ขนาดตามต้องการ โดยเบียร์มีส่วนผสมของวัตถุดิบคือ 1 ข้าวมอลท์ (malt) ซึ่งเป็นผลผลิตที่ได้จากข้าวบาร์เลย์ โดยผ่านกรรมวิธี malting process แป้งในข้าวมอลล์จะเปลี่ยนเป็นน้ำตาล เพื่อใช้ในการหมักบ่มเบียร์ ในระหว่างการต้มเบียร์จะมีคุณภาพดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับข้าวมอลล์ที่นำมาใช้ในการผลิตเป็นสำคัญซึ่งมอลท์มีอยู่ 3 ชนิด คือ ไวท์มอลท์ บราวน์มอลท์ และแบล็คมอลท์

ส่วนผสมที่ 2 คือน้ำ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตเบียร์อีกด้านหนึ่ง เนื่องจากเบียร์จะมีส่วนประกอบของน้ำอยู่ถึงร้อยละ 90 และคุณภาพของน้ำมีผลต่อรสชาติของเบียร์ เช่น น้ำที่มีแร่ธาตุแคลเซี่ยมและโซเดียมละลายอยู่ด้วย จะช่วยให้เบียร์มีรสชาติดีขึ้น

ส่วนผสมที่ 3 คือดอกฮ็อปส์ (hops) เป็นดอกของไม้เลื้อยชนิดหนึ่งซึ่งนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเบียร์เพื่อให้เบียร์มีกลิ่นหอม และมีรสออกขมนิดๆ

และสุดท้ายคือ เชื้อหมัก (yeast) ทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นแอลกอฮอลและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

กรรมวิธีการผลิตเบียร์นั้น จะเริ่มจากการนำข้าวมอลท์ดังที่กล่าวมาแล้ว มาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำซึ่งจะได้สารละลายที่เรียกว่า วอร์ต (wort) จากนั้นนำวอร์ตไปต้มและกรองแยกกากมอลท์ออกแล้วก็นำไปต้มอีกครั้งกับดอกฮ็อป (อาจเติบน้ำตาลด้วยก็ได้) ทิ้งไว้ให้เย็นที่อุณหภูมิ 10-15 องศาเซลเซียส แล้วจึงเติมเชื้อหมักเพื่อให้เกิดปฏิกิริยาจนได้เบียร์ที่มีปริมาณแอลกอฮอลตามต้องการ

ต่อจากนั้นนำไปแยกเชื้อหมักออกจะได้น้ำเบียร์ แล้วจึงนำไปบรรจุภาชนะและนำไปผ่านขบวนการพาสเจอร์ไรซ์เพื่อฆ่าเชื้อโรคในขั้นสุดท้าย ซึ่งจะได้เบียร์บรรจุขวดหรือบรรจุกระป๋อง หรือจะนำลงบรรจุในถังไม้เพื่อจะได้เบียร์สด แต่เบียร์สดจะไม่ผ่านขั้นตอนการพาสเจอร์ไรซ์

ฉะนั้นในตลาดเบียร์ จึงมีชนิดของเบียร์ ทั้งเบียร์ที่บรรจุขวด บรรจุกระป๋อง และเบียร์สดด้วยขบวนการผลิตดังที่กล่าวมา

หากจะย้อนยุคกลับไปในอดีตแล้ว ตลาดเบียร์ไทยเริ่มมีการผลิตเบียร์ในเชิงอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา เพื่อจะแข่งขันกับเบียร์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

โดยบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัดได้ขออนุญาตทำการผลิตเบียร์ตราสิงห์ขึ้นมาโดย "พระยาภิรมย์ภักดี" ขุนนางผู้หนึ่งแห่งราชสำนักในรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นคนไทยแท้ๆ ที่ให้กำเนิดและอุ้มชูสิงห์จนเติบใหญ่อย่างกล้าแข็งมาได้จนถึงปัจจุบัน

บุญรอดฯ มีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 600,000 บาทตั้งอยู่บนเนื้อทั้งหมด 9 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านบางกระบือ โดยได้เริ่มผลิตเบียร์ออกมาจำหน่ายเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2477

การผลิตเบียร์สิงห์นั้น บุญรอดได้อาศัยกรรมวิธีการผลิตตามแบบยุโรป ซึ่งเป็นต้นตำหรับในการผลิตเบียร์แต่ปรับปรุงดีกรีและรสชาติให้แตกต่างออกไปจนเป็นที่นิยมของตลาดภายในประเทศ

แต่ก่อนที่เบียร์สิงห์จะเป็นตัวเป็นตนขึ้นมานั้นบุญรอดฯ ได้มีการทดสอบตลาดผลิตเบียร์ยี่ห้อต่างๆ ออกมามากมาย มีความหลากหลายในรสชาติ โดยเบียร์ที่บุญรอดฯ ผลิตออกมาในช่วงนั้นได้แก่ เบียร์ตราสิงห์ ตราว่าว ตราหมี และตรานางระบำ

ทั้งนี้เพื่อทดสอบตลาดดูว่าเบียร์ชนิดไหนที่มีรสชาติถูกใจนักดื่ม และเป็นที่ยอมรับของผู้ดื่มจนปรากฏว่า เบียร์ตราสิงห์ได้รับความนิยมมากที่สุดตราอื่นๆ จึงค่อยๆ หยุดการผลิตไปทีละตัว

ซึ่งในระยะนั้นตลาดเบียร์ไทยค่อนข้างจำกัด คอเบียร์ชาวไทยนิยมดื่มเบียร์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังเป็นตัวเลขของการบริโภคที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับในปัจจุบัน

แต่เมื่อรัฐบาลได้ปรับเพิ่มภาษีอากรการนำเข้าเบียร์เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ก็ทำให้เบียร์ที่ผลิตขึ้นในประเทศจำหน่ายได้มากขึ้น ต่อมาจึงทำให้อุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ขยายตัวมาตลอด

จนถึงปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ได้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ผู้ผลิตต้องวางแผนขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา และนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการผลิต เพื่อให้ผลผลิตที่ได้คุณภาพสูงและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค

อุตสาหกรรมการผลิตเบียร์นั้นส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของการบริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยที่ผลผลิตร้อยละ 99 สนองตอบตลาดภายในประเทศ คงมีส่วนที่เหลือเพื่อการส่งออกเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น

ดังนั้นปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดตลาดการค้าเบียร์จึงขึ้นอยู่กับความต้องการและกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน อุตสาหกรรมการเบียร์ในประเทศไทยมีผู้ผลิตเบียร์เปิดดำเนินการอยู่ 2 รายเท่านั้น คือบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่จำกัด และบริษัทไทยอมฤตบริวเวอรี่ จำกัด

ทั้ง 2 โรงมีกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้นในปัจจุบันประมาณ 327 ล้านลิตร โดยบุญรอดบริวเวอรี่ เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ด้วยกำลังการผลิตทั้งสิ้น 300 ล้านลิตร/ปี และไทยอมฤตบริวเวอรี่มีกำลังการผลิตรวมปีละ 27 ล้านลิตร/ปี

โรงเบียร์ทั้ง 2 โรงดังกล่าว ที่ผ่านมานั้นก็ได้มีการขออนุญาตขยายกำลังการผลิต เพื่อสนองตอบความต้องการบริโภคที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 30% ในระยะที่ผ่านมา 5 ปี โดยได้รับการอนุมัติไปแล้วทั้ง 2 ราย

บุญรอดเองได้ขยายตัวโรงงานออกไปสร้างใหม่ที่จังหวัดปทุมธานีขึ้นไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาอีกประมาณ 40 กิโลเมตร เพราะพื้นที่ในปัจจุบัน 9 ไร่มีความคับแคบทำให้การผลิตสินค้าทำได้จำนวนจำกัด

โดยโรงใหม่ที่ปทุนธานีมีกำลังการผลิตสูงสุดปีละ 200 ล้านลิตรเมื่อรวมกับโรงเก่าที่มีกำลังการผลิตสูงสุด เท่ากับว่าจะมีกำลังการผลิตถึง 500 ล้านลิตร/ปีเลยทีเดียว

ซึ่งโรงเบียร์ใหม่ของบุญรอดนั้นได้เริ่มเปิดดำเนินการผลิตมาแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2535 ที่ผ่านมา ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำการผลิตให้ได้ 80 ล้านลิตรก่อนสิ้นปีและพร้อมกันนั้นก็ได้ทยอยลดกำลังการผลิตในโรงงานเก่าคือที่ บางกระบือลงในจำนวนที่เท่าๆ กันเพื่อทำการปรับปรุงซ่อมแซมเสียใหม่

ส่วนไทยอมฤตนั้นหลังจากได้รับอนุญาตให้ขยายกำลังการผลิตเพิ่ม จะสร้างโรงงานใหม่ที่ปทุมธานีเช่นเดียวกันซึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและอยู่ในละแวกเดียวกับโรงงานของเบียร์สิงห์ โดยจะมีกำลังการผลิตสูงสุดปีละ 100 ล้านลิตรคาดว่าจะแล้วเสร็จและดำเนินการผลิตได้ในปี 2538 โรงเบียร์ของไทยอมฤตจะมีกำลังการผลิตรวมทั้งโรงเก่าและใหม่เป็น 127 ล้านลิตร/ปี

ดังนั้นเมื่อรวมกำลังการผลิต จากโรงเบียร์ทั้ง 5 โรงจะมีกำลังการผลิตสูงสุดรวมเกือบ 1,000 /ปีในอนาคตการจะเข้ามาของเบียร์ใหม่ยิ่งจะเพิ่มความยากลำบากมากขึ้นอีกทวีคูณ

จากการเปิดเผยของแหล่งข่าวในกรมสรรพสามิตกับ "ผู้จัดการ" ถึงตลาดเบียร์ไทยในปัจจุบันปี 2535 จากเดือนมกราคม ถึงเดือนพฤศจิกายนว่า มียอดขายรวมทั้งสิ้นประมาณ 305.57 ล้านลิตร ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มียอดขายรวม 280.77 ล้านลิตร หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 8.83%

โดยเบียร์สิงห์มียอดขายรวมทั้งสิ้น 285.08 ล้านลิตรเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 10.20% มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ 93.29%

รองลงมาคือเบียร์คลอสเตอร์มียอดขายรวมทั้งสิ้น 16.33 ล้านลิตร ลดลงจากในปีที่ผ่านมา 8.07% มีส่วนแบ่งตลาด 5.34%

อมฤตเอ็น.บี. มียอดขายรวมทั้งสิ้น 1.88 ล้านลิตรเพิ่มขึ้นจากในปีที่ผ่านมา 1,969.23% มี่ส่วนแบ่งตลาด 0.61% อมฤต (เบียร์สด) มียอดขายรวม 1.97 ล้านลิตร ลดลงจากในปีที่ผ่านมา 48.86% ส่วนแบ่งตลาด 0.64% และเบียร์สเต๊าท์มียอดขาย 304,000 ลิตร ลดลงจากในปีที่ผ่านมา 16.25% มีส่วนแบ่งตลาด 0.12%

ในวงการอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ของไทยแล้ว ทุกคนรู้ดีว่าสิงห์คือผู้นำที่ผูกขาดตลาดเบียร์ไทยมาถึง 60 ปียากที่จะหาคู่แข่งที่ทัดเทียมกันได้และยังได้ปกป้องตลาดของตนเองตลอดมา โดยไม่เปิดโอกาสให้เบียร์หน้าใหม่เข้ามาในตลาดได้เลยอีกเลย

ไม่ว่าจะเป็นทางด้านนโยบายการผลิต หรือจะเป็นทางด้านการตลาดที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเบียร์ของไทยเบียร์สิงห์เรียกว่าเป็นผู้กุมอำนาจการผลิตและผูกขาดตลาดเสมอมา แม้แต่โรงเบียร์ค่ายไทยอมฤตของตระกูลเตชะไพบูลย์ ยังต้องพึ่งบารมีของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ด้วยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวของสหัท มหาคุณ ซึ่งเป็นเพื่อน อุเทน เตชะไพบูลย์ จึงสามารถเปิดโรงเบียร์ขึ้นมาได้ในปี 2501

แต่เปรียบเทียบถึงสัดส่วนในการจำหน่ายเบียร์ในแล้วยังถือว่าห่างไกลกันมาก ด้วยไทยอมฤตมีกำลังการผลิตสูงลดเพียง 27 ล้านลิตร/ปี ถึงแม้กำลังจะขยายกำลังการผลิตออกไปอีก 100 ล้านลิตร/ปีก็ตาม

การผูกขาดตลาดในอุตสาหกรรมเบียร์ไทยของเบียร์สิงห์นั้น มีมานานมาก เบียร์สิงห์ได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย เพราะคนในตระกูล "ภิรมย์ภักดี" สามารถเข้าล็อบบี้รัฐมนตรีอุตสาหกรรมที่ดูแลทางด้านนโยบายการผลิตไม่ให้มเบียร์หน้าใหม่เข้ามาในตลาดได้เลย ตลอดระยะเวลานับตั้งแต่ที่เบียร์สิงห์ได้เริ่มเปิดโรงงานในปี 2476

จนมาถึงเมื่อปี 2527 ที่ตลาดเบียร์ไทยเริ่มถีบตัวสูงขึ้นมา มียอดขายรวมถึง 163.95 ล้านลิตร/ปี เพิ่มขึ้นจากในปี 2526 ถึง 11.9% จนทำให้ตลาดเบียร์เริ่มมีความหอมหวานมีผู้สนใจจะเข้าสู่อุตสาหกรรมเบียร์หลายๆ ราย

ในห้วงเวลานั้น สมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมหมายเป็นเทคโนแครตสมัยพลเอกเปรม เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญปัญหาการเจริญเติบโตที่ถดถอยยาวนาน และทุนสำรองอยู่ในภาวะลดต่ำลงอย่างน่าตกใจ กล่าวคือเทียบกับมูลค่าสินค้าเข้าสองเดือนครึ่งเท่านั้น

สมหมายจึงได้ใช้นโยบายลดค่าเงินบาท เมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นการส่งออก และการขาดดุลงบประมาณมาใช้

อย่างไรก็ตามผลการตั้งงบประมาณขาดดุลในปี 2527 ได้ประมาณการไว้ว่าจะขาดดุลเพียง 32,000 ล้านบาทแต่ ตัวเลขของการขาดดุลที่แท้จริงได้เพิ่มขึ้น มาเป็น 34,891 ล้านบาทซึ่งสูงกว่าเป้าหมาย ที่วางไว้ จึงจำเป็นต้องพยายามจัดเก็บภาษีรายได้ให้เพิ่มขึ้นทุกวิถีทาง

เหตุนี้สมหมาย จึงจำเป็นต้องหาวิธีที่จะทำให้รายได้ของรัฐเพิ่มมากขึ้นนั้น หมายความว่าการจัดเก็บภาษีอากรที่เป็นรายได้หลักจำเป็นต้องมีการจัดเก็บให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

รายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจึงถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะมาเพิ่มรายได้ให้กับฐานะทางการคลังได้เป็นอย่างดี เพราะกระทรวงการคลังเองไม่รู้ว่าจะต้องนำนโยบายขาดดุลงบประมาณมาใช้อีกนานเท่าใด

ภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากการจำหน่ายเบียร์ในช่วงปี 2527 มีเพียง 1.50% ของการจัดเก็บภาษีรายได้ทั้งหมดประมาณ 147,847 ล้านบาทหรือประมาณ 6.30% ของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่มีประมาณ 36,548 ล้านบาท

รายได้จากภาษีเบียร์ยังมีการจัดเก็บที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับรายได้จากภาษีสุราและยาสูบ

ดังนั้นสมหมายจึงได้มีการวิ่งเต้นบรรดารัฐมนตรีร่วมรัฐบาลพลเอกเปรม ในขณะนั้น เพื่อให้การผลิตเบียร์มีความเป็นเสรีมากขึ้น โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจจะเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ มายื่นขอตั้งโรงงานได้ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกการแสดงออกถึงความกล้าหาญของสมหมายในนโยบายการกระตุกหนวดสิงห์ หลังจากที่สิงห์ปกป้องตลาดนี้มาตลอด

แต่การเปิดให้ยื่นขออนุญาตผลิตเบียร์ มีระยะเวลาของการยื่นขออนุญาตช่วงสั้นๆ ประมาณ 4-6 เดือนเท่านั้นเอง ในข้อเท็จจิรงไม่มีนักลงทุนรายใด เตรียมตัวได้ทัน เพื่อยื่นข้อเสนอในการลงทุนภายใต้เงื่อนไขเวลาที่กำหนด เพราะสมัยนั้นถือว่าการเปิดโรงเหล้าหรือโรงเบียร์จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐอย่างเข้มงวด

หลังจากนั้นเรื่องของการขออนุญาตเปิดโรงเบียร์ก็ถูกเก็บเข้ากรุเหมือนอย่างเดิมจนกระทั่งมาในปี 2532 ในสมัยสุธี สิงห์เสน่ห์ เป็นรัฐมนตรีคลัง กลุ่มของเจริญก็ยื่นขอมาถึง 2 โรงด้วยกันและได้รับการพิจารณาให้ดำเนิน การเปิดโรงเบียร์ได้

การยื่นขอของเจริญในขณะนั้นได้ยื่นขอในนามของ บริษัทเบียร์ทิพย์จำกัด โดยที่เบียร์ทิพย์จะผลิตเบียร์ที่เป็นสูตรการผลิตของไทยเองในชื่อ "เบียร์ทิพย์" และอีกบริษัทหนึ่ง คือเบียร์ไทย จะร่วมลงทุนกับเบียร์คาร์ลสเบิร์กจากเดนมาร์ก ผลิต "เบียร์คาร์ลสเบิร์ก"

นอกจากกลุ่มของเจริญทั้ง 2 โรงแล้วก็ยังมีผู้ที่สนใจอีกรายก็คือ กลุ่มของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่ได้ยื่นความจำนงค์ที่จะขอเปิดโรงเบียร์เช่นเดียวกัน โดยซีพี มีแผนการที่จะร่วมลงทุนกับเบียร์ไฮเนเก้น จากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นเบียร์ดังของโลกอีกยี่ห้อหนึ่ง แต่ก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการยื่นขอเป็นลายลักษณ์อักษรหรือเป็นทางการ

จนมาถึงในสมัยปี 2534 ของรัฐบาล นายกฯ อานันท์ ซึ่งถือว่าเป็นยุคสมัยที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมของไทยอีกครั้ง ด้วยนโยบายการเปิดให้มีการผลิต ได้อย่างเสรี

เรื่องของการเปิดโรงเบียร์ก็ถูกหยิบยกมาพิจารณาอีกครั้ง และได้นำเข้าในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้มีการเปิดโรงเบียร์ได้อย่างเสรี ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการขออนุญาตผลิตและจำหน่ายเบียร์ ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 6 มกราคม2535 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ด้วยเห็นว่าความต้องการบริโภคเบียร์ภายใจประเทศ และการส่งเบียร์ออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นเพื่อให้การผลิตเบียร์ในประเทศมีปริมาณเพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการดังกล่าว และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันอย่างเสรีทั้งในด้านคุณภาพและราคา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยส่วนรวม

โดยหลักเกณฑ์ในประกาศกรมสรรพสามิต ดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 5 ข้อใหญ่คือ

1. หลักเกณฑ์ในการขออนุญาต

1.1 ผู้ขออนุญาตต้องเป็นบริษัทจำกัด ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายไทย และมีวัตถุประสงค์ในการผลิต และจำหน่ายเบียร์ มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท

1.2 ให้ผู้ขออนุญาตผลิตและจำหน่ายเบียร์ยื่นคำขอต่อกรมสรรพสามิต โดยนำหนังสือรับรองจากกรมทะเบียนการค้ามาแสดง

1.3 ผู้ขออนุญาตต้องวางหลักประกันต่อกรมสรรพสามิตในขณะยื่นคำขอเป็นเงินจำนวน 5 ล้านบาท จะเป็นเงินสดหรือพันธบัตรก็ได้และหลักประกันนี้จะคืนให้หลังได้รับการพิจารณาหรือเมื่อได้ทำสัญญาแล้วแต่กรณี

1.4 ให้ผู้ขออนุญาตเสนอโครงการดังต่อไปนี้พร้อมกับการยื่นคำขอ คือให้เสนอโครงการลงทุน แผนการเกี่ยวกับโรงงานและสถานที่ตั้ง ประมาณการใช้วัตถุดิบ แหล่งวัตถุดิบ จำนวนคนงานปริมาณการผลิตที่จะต้องไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรและไม่เกิน 100 ล้านลิตต่อปีรวมทั้งกรรมวิธีในการผลิตและการดำเนินการ ให้เสนอขั้นตอนในการดำเนินงานแต่ละขั้นอย่างละเอียด ให้มีการเสนอโครงการการใช้วัตถุดิบภายในประเทศให้เบียร์ที่ผลิตได้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพที่จะสามารถแข่งขันในต่างประเทศได้ และเสนอโครงการการจำกัดสิ่งปฏิกูล การระบายน้ำและอากาศด้วย

2. เงื่อนไขในการขออนุญาต

2.1 ผู้ขออนุญาตจำต้องดำเนินการผลิตและจำหน่ายเบียร์ได้ตามปกติภายในระยะเวลาไม่เกิน 36 เดือน (3 ปี) นับจากวันทำสัญญา

2.2 ผู้ขออนุญาตจะต้องไม่มีเครื่องกลั่นสุราภายในโรงงานผลิตเบียร์

2.3 กรรมสรรพสามิตสงวนสิทธิ์ที่จะพิจารณาไม่อนุญาตให้แก่ผู้เสนอโครงการลงทุนที่มีรายละเอียดไม่เหมาะสม

3. หลักเกณฑ์ที่จะต้องปฏิบัติภายหลังที่ได้รับอนุญาตแล้ว

3.1 เมื่อกรมสรรพสามิตอนุญาตแล้วให้ผู้รับอนุญาตมาทำสัญญากับกรมฯ ตามแบบภายในกำหนด 30 วัน

3.2 ในวันทำสัญญาผู้รับอนุญาตต้องวางหลักประกันเป็นเงินจำนวน 10 ล้านบาท และจะได้รับคือภายใจ 30 วันนับแต่วันที่เริ่มผลิตและจำหน่ายได้ตามปกติ และต้องนำหลักฐานในการจดทะเบียนเพิ่มไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท

3.3 ห้ามไม่ให้ผู้รับอนุญาตโอนหรือขายสิทธิในการผลิตและจำหน่ายเบียร์ให้กับบุคคลอื่น

ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ ในข้อ 3 นี้ปลีกย่อยตามข้อบังคับของกรมสรรพสามิตตามปกติในการจำหน่ายสุราหรือเบียร์

4. บทลงโทษ หากว่าผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะมีการการปรับและหรือมีการบอกเลิกสัญญาและมีการริบเงินประกันได้

5. การวินิจฉัย ปัญหาหรือข้อโต้แย้งใดๆ เกิดขึ้นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้ชี้ขาด

ทั้งหมดก็คือกฏเกณฑ์และเงื่อนไขของการให้เปิดเสรีโรงเบียร์ในประกาศปี 2535 ซึ่งยึดถือร่างเดียวกันกับการเปิดอนุญาตโรงเบียร์ในปี 2527 แต่มีการแก้ไขในเพียงบางข้อ เช่นเรื่องของระยะเวลาที่จะยื่นขอเปิดโรงเบียร์ที่ในปี 2527 มีการกำหนดระยะเวลาแต่ในประกาศมี 2535 ไม่มี

หรือจะเป็นเรื่องของการวางเงินค้ำประกันในการทำสัญญาก็มีจำนวนสูงขึ้น และเงื่อนไขของการไม่ให้สิทธิในการโอนให้กับผู้อื่นหลังจากได้รับอนุญาตแล้ว

อย่างไรก็ตามปรากฏว่าหลังจากที่ได้ประดาศหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใหม่ไปแล้ว มีผู้ยื่นขออนุญาตเข้ามาเพียงรายเดียวเท่านั้นคือกลุ่มบริษัทไทยประกันชีวิต โดย วานิช ไชยวรรณ และก็ได้รับการพิจารณาอนุญาตให้เปิดดำเนินการได้ภายใน 3 ปี ซึ่งนับตั้งแต่การพิจารณษอนุญาตให้เปิดดำเนินการภายใน 3 ปี ซึ่งนับตั้งแต่มิถุนายน 2535 เป็นต้นไป

ดังนั้นแล้วโรงเบียร์ที่ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการผลิตและจำหน่ายเบียร์ใหม่มีเพียง 3 โรงเท่านั้นคือ

1. บริษัท คาร์ลสเบิร์ก บริวเวอรี่ (ประเทศไทยจำกัด) มีโรงงานอยู่ที่ ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นของเจริญ สิริวัฒนาภักดี กลุ่มสุราทิพย์

2. บริษัท เบียร์ไทย (1991) จำกัด มีโรงงานอยู่ที่ตำบลน้ำเต้า อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นของ เจริญ กลุ่มสุราทิพย์ เช่นเดียวกัน

3. บริษัท ไทยผลิตเบียร์ จำกัด มีโรงงานอยู่ที่นนทบุรีเป็นของ วานิช ไชยวรรณ จากกลุ่มไทยประกันชีวิต

และสำหรับโครงการของกลุ่มซีพี นั้นได้มีการระงับโครงการไปแล้ว โดย ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บริษัท เปิดเผยว่าได้ตัดสินใจยกเลิกโครงการดังกล่าวไปแล้ว เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าจะไม่คุ้มกับการลงทุน เพราะคิดว่าไม่สามารถแข่งขันสู่กับเจ้าตลาดอย่างเบียร์สิงห์ได้

ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกลุ่มของซีพีได้เคยมีการเจรจาร่วมทุนกับกลุ่มบริษัทสุราทิพย์ ที่ได้ใบอนุญาตการเปิดโรงเบียร์เมื่อปี 2532 ของเบียร์ทิพย์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องของสัดส่วนการถือหุ้นเพราะจากซีพีต้องการถือหุ้นใหญ่ ในขณะที่เจริญไม่ยอมจึงมีโครงการที่จะยื่นขอเปิดโรงเบียร์เองดังกล่าว

ทั้งนี้กลุ่มซีพี โดยบริษัทเอ็กซ์ชอ อินดัสเตรียลจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือในการทำธุรกิจอุตสาหกรรมของซีพี ได้ทำการลงทุนกับ บริษัท ไฮเนเก้น (เนเธอร์แลนด์) ในการตั้งโรงงานผลิตเบียร์ ที่เซี่ยงไฮ้ ได้มีการดำเนินการผลิตมาตั้งแต่ปี 2532 มาแล้วจึงได้สนใจที่จะเข้ามาเปิดโรงเบียร์ในไทยด้วยดังกล่าว

แต่สมัยปี 2532 ที่ทางซีพีสนใจจะเข้ามาในอุตสาหกรรมการผลิตเบียร์ ดังที่กล่าวมาแล้วว่าการขออนุญาตตั้งโรงเบียร์นั้นยากมากเลยได้เข้าเจรจากับกลุ่มสุราทิพย์แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ตามเบียร์หน้าใหม่ทั้ง 3 โรงปรากฎว่าโรงงานคาร์ลสเบิร์ก บริวเวอรี่ จำกัดขณะนี้การก่อสร้างได้มีความคืบหน้าไปมากที่สุด คือจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้และจะเปิดทดสอบเดินเครื่องผลิตได้ตั้งแต่ต้นปี 2536 เป็นต้นไป

และจะสามารถผลิตเบียร์ออกมาจำหน่ายได้ในราวไตรมาสที่ 2 ของปี หรือประมาณ เดือนมีนาคมโดยปัจจุบันได้มีการนำเข้าเบียร์ของคาร์ลสเบิร์กมาจำหน่ายอยู่

เดิมนั้น บริษัท คาร์ลสเบิร์ก บริวเวอรี่ ได้ยื่นขออนุญาตผลิตและจำหน่ายเบียร์ในนามบริษัท เบียร์ทิพย์จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นของเจริญสิริวัฒนภักดี เจ้าพ่อสุราทิพย์กับ บริษัท ทีซี.ฟาร์มาซูคิคอลอุตสาหกรรม จำกัด ในนามของเฉลิม อยู่วิทยา ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระทิงแดง ต่อมาได้เข้าร่วมทุนกับ บริษัท คาร์ลสเบิร์ก เอ/เอส ซึ่งเป็นเจ้าของเบียร์คาร์ลสเบิร์กของประเทศเดนมาร์ก

เพื่อจะร่วมกันผลิตเบียร์คาร์ลสเบิร์กในประเทศไทยแต่เมื่อทางคาร์สเบิร์ก เอ/เอส ได้เข้ามาร่วมถือหุ้น จึงได้แจ้งเปลี่ยนชื่อมาเป็นคาร์ลสเบิร์กบริวเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2534 ที่ผ่านมา

หลังจากนั้นได้มีการเจรจาซื้อหุ้นจากกลุ่มของเจริญในเบียร์ทิพย์ แต่ยังไม่ได้มีการเปิดเผยว่าเป็นจำนวนเท่าใดคาดว่าจะเป็นไปตามข้อกำหนดของบริษัทร่วมทุน คือ 49/51 ตามกฎหมาย ต่อจากนั้นได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 55 ล้านบาท รวมเป็น 555 ล้านบาทมีเดือนมีนาคม 2535

ปัจจุบันเป้าหมายของเบียร์คาร์ลสเบิร์กนั้น จะเริ่มนำเบียร์ออกวางตลาดให้ได้ในราวเดือนมีนาคม หรือเมษายน ปีหน้า (ปี 2536) โดยการทดลองตลาดในช่วงต้นจะทำการผลิตด้วยกำลังการผลิต 50 ล้านลิตร และจะค่อยๆ เพิ่มจนเต็มกำลังการผลิต 100 ล้านลิตร

แหล่งข่าวจากร้านค้าส่งสุราในเครือของสุราทิพย์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า เบียร์คาร์ลสเบิร์กนั้น ทางเจริญได้มีการวางแผนงานการตลาดว่าจะมีการเจาะตลาดด้วยการตั้งบริษัทของตนเองขึ้นเป็นเอเยนต์ทั้ง 73 จังหวัดเพื่อเข้ามารับซื้อเบียร์คาร์ลสเบิร์กที่ผลิต แล้วจะส่งต่อไปร้านค้าส่งหรือร้านค้าปลีก ที่อยู่ในเครือของกลุ่มสุราทิพย์ในแต่ละจังหวัดอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อจะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามการเปิดตลาดของเบียร์คาร์ลสเบิรก์กกำลังเป็นที่จับตาของผู้ผลิตเจ้าเก่าในตลาดเป็นอย่างมาก หรือแม้แต่ร้านค้าต่างๆ ก็ได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะร้านค้าของเบียร์สิงห์เอง ส่วนการรับมือกับเบียร์หน้าใหม่ของบุญรอดนั้นยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการตลาดที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใดเลย ในขณะนี้ ซึ่งในปี 2536 เป็นปีที่บุญรอดครบรอบ 60 ปี คาดว่าจะมีการทำการส่งเสริมการขายครั้งใหญ่ โดยจะเริ่มตั้งแต่ต้นปี 2536 ไปตลอดทั้งปี

เป็นที่น่าสังเกตว่า บุญรอดนั้นได้วางเกมการตลาดมาเป็นอย่างดีโดยตลอด การปิดกั้นคู่แข่งขัน จนถึงการปรับแผนงานกำลังการผลิตของตนเอง ซึ่งบุญรอดรู้ดีว่าการนั่งปกป้องอุตสาหกรรม โดยไม่เปิดโอกาสให้เบียร์ หน้าใหม่เข้ามาแข่งขันได้นั้นสักวันหนึ่งคงต้อง หมดไป

จึงได้วางแผนขยาย กำลังการผลิตออกไปเพื่อต้องการรักษาการเป็นผู้นำในตลาดได้ ด้วยต้องรักษาความเป็นผู้นำด้วยการเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น หลังจากที่กลุ่มของเจริญได้รับใบอนุญาตเปิดโรงเบียร์ ในปี 2532

ด้วยกำลังการผลิตทั้งหมดของบุญรอดในปัจจุบันนั้นคาดว่าจะสามารถรองรับการขายตัวในตลาดเบียร์ไทยได้อีก 5 ปีข้างหน้า เพราะโรงเบียร์ใหม่ที่มีกำลังการผลิต 200 ล้าน-ลิตร ถือเป็นครึ่งหนึ่งของ อีก 4 โรงที่จะทยอยเริ่มเปิดดำเนินการกันที่จะแล้วเสร็จในปี 2538

นอกจากนี้ทางด้านการตลาด บุญรอดได้มีการดำเนินการคุมเข้มเอเยนต์ทั้งหมดที่มีอยู่เกือบ 400 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งการควบคุมเอเยนต์ และซาปั๊ว จะทำผ่านทางชมรมผู้ค้าเบียร์ที่มีอยู่ 11 ชมรมทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นกลยุทธที่เบียร์สิงห์นำมาใช้เป็นเรื่องธรรมดาของการค้าทั่วไป

คือถ้าหากว่าเอเยนต์ไปขาย สินค้าอื่น ก็ต้องหมดสภาพ จากเอเยนต์เบียร์สิงห์ และกลายเป็นร้านค้าธรรมดาไป ชมรมฯ ออกกฎอย่างนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นการลงโทษร้านค้าซึ่งเป็นการควบคุมโดยทางอ้อมของสิงห์

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางชมรมค้าเบียร์ ได้มีการออกหนังสือเวียนถึงเอเยนต์และซาปั๊วที่จำหน่ายเบียร์สิงห์เพื่อเป็นการเตือนและมีบางรายได้รับการลงโทษไปแล้ว

แต่เท่าที่ผ่านมาเอเยนต์ของ สิงห์ต่างก็เต็มใจที่จะอยู่ในระบบนี้เนื่องจากว่าผลกำไรและอัตราการหมุนเวียนของสินค้าดี โดยเอเยนต์สิงห์ จะมีกำไรต่อลังสำหรับสินค้าทุกประเภทจากสิงห์ลังละกว่า 10 บาทซึ่งแต่ละเอเยนต์โดยเฉลี่ยจะจำหน่ายได้วันละ 2,000 ลัง หรือมีกำไรถึง 20,000 บาทต่อวัน ส่วนซาปั๊วกำไรลังละเกือบ 40 บาท เฉลี่ยแล้วมีการจำหน่ายสัปดาห์ละ 100-200 ลัง

ทั้งนี้โรงเบียร์ใหม่อีก 2 โรงคือ บริษัทเบียร์ไทย (1991) จำกัด ในกลุ่มของเจริญ สิริวัฒนภักดีเช่นกัน เริ่มก่อตั้งในปี 2534 โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 500 ล้านบาทกำลังอยู่ในระหว่างการยืนเสนอของปลูกสร้างโรงงาน

นอกจากนี้ยังได้มีการเจรจาลับเฉพาะถึงการมองคู่ร่วมลงทุนกับเบียร์ต่างประเทศ แต่ยังไม่เปิดเผยถึงคู่ร่วมทุนแต่อย่างใด

ส่วนโรงเบียร์ของกลุ่มวานิช ไชยวรรณ คือบริษัทไทยผลิตเบียร์ จำกัด กำลังอยู่ระหว่างการยืนเรื่องของปลูกสร้างโรงงานอยู่ และหาผู้ร่วมทุนซึ่งเบียร์ต่างชาติ

ไทยผลิตเบียร์ เดิมนั้นคือบริษัทไทยผลิตสุรา จำกัดที่ก่อตั้งมาในปี 2519 ด้วยทุนจดทะเบียนแรกเริ่มเป็นเงินจำนวน 3 ล้านบาท ผลิตสุราขาวและเป็น ตัวแทนจำหน่ายสุราในเครือของบรษัทสุรามหาราษฎร์ หลังมาขออนุญาต การผลิตเบียร์ จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ไทยผลิตเบียร์

ได้มีการขอเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 2 ครั้ง ครั้งแรกเพิ่มทุนจดทะเบียนมาเป็น 30 ล้านบาท เมื่อปี 2529 และล่าสุดได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกเป็น 575 ล้านบาท เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม 2535

โดยมีผู้ให้ความสนใจเสนอตัวเข้ามามีทั้งเบียร์ของอเมริกา อย่างบัดไวเซอร์ หรือซานมิเกลของฟิลิปปินส์และยังมีเบียร์จากญี่ปุ่นอีกอย่างซับโปโร และเบียร์จากยุโรปอีก แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าเป็นบริษัทใด ทั้งนี้ยังไม่ได้มีการตกลงว่าจะร่วมลงทุนกับใคร่แต่อยู่ในขั้นเจรจา ท้ายสุดคาดว่าจะเจรจาเสร็จในราวสิ้นปี 2535 นี้

จะสังเกตเห็นว่าการเข้ามาของเบียร์หน้าใหม่ ทั้ง 3 ราย จะเป็นการร่วมลงทุนกับเบียร์จากต่างประเทศทั้งหมดทั้งนี้ เป็นเพราะว่าการจะเข้ามาบุกในตลาดเบียร์ไทยไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะอย่างที่ได้กล่าวมาแล้วว่าตลาดเบียร์ไทย เบียร์สิงห์ ได้ผูกขาดมานานถึง 60 ปีมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 90% ในปัจจุบัน

ทำให้การเข้ามาของเบียร์หน้าใหม่ต้องมีจุดเด่นในตัวสินค้าเพื่อเป็นการดึงดูดลูกค้า ซึ่งการอิงบริษัทที่มีชื่อเสียง และมีคุณภาพเป็นที่รู้จักในตลาดอยู่แล้วเท่ากับว่านำมาเป็นหัวหอกในการเจาะตลาดเบียร์ไทยและพร้อมกับการมีแผนงานการตลาด ที่ดีถึงจะสามารถพิชิตเจ้าตลาดอย่างเบียร์สิงห์ได้

อย่างไรก็ตามเบียร์ระดับอินเตอร์ใช่ว่าจะสามารถเจาะเข้าตลาดในภูมิภาคเอเชียนี้ได้อย่างง่าย อย่างเช่นเบียร์คาร์ลสเบิร์กเบียร์ดังระดับโลกเจาะเข้าตลาดฟิลิปปินส์ ฝ่าด่านเบียร์เจ้าถิ่มคือซานมิเกลที่ครองตลาดมาถึง 100 ปีคาร์ลสเบิร์กใช้เวลาถึง 30 ปี จนถึงปัจจุบันได้ส่วนแบ่งตลาดมาเพียง 30% เท่านั้น

หรือแม้แต่คลอสเตอร์ที่เข้าสู่ตลาดเบียร์ไทยมาเกือบจะ 20 ปีมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 5% กว่าๆ ในปัจจุบันเรียกว่ายังแจ้งเกิดไม่ได้

เบียร์หน้าใหม่ !!! จะฝ่าการตลาดของเบียร์ไปได้อย่างไรเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ

แล้วเบียร์หน้าใหม่ต้องพิสูจน์ตัวเองต่อนักดื่มเพราะเบียร์ไม่ใช่สินค้าแฟชั่นที่จะขึ้นลงตามความฮือฮา !!! แต่เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่เสพแล้วติดในรสชาติเพียงแค่ 1% ของสิงห์คงจะต้องต่อสู้กันจนหืดขึ้นคอทีเดียว

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us