Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2535
"บัตรเครดิต : บริโภคยิ่งมากยิ่งกำไรยิ่งสูง"             
 


   
search resources

Credit Card
Knowledge and Theory




"เงินหมุนเวียนจากบัตรเครดิตตกปีละ 50,000 ล้านบาท สมาชิกบัตรเครดิตมีสัดส่วนระหว่างบัตรเครดิตในประเทศกับต่างประเทศร้อยละ 51 : 49 บัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่มีโอกาสโตต่อไป เพราะเงินหมุนเวียนในระบบบัตรเครดิตมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 2 ของ GNP เท่านั้น"

บัตรเครดิตเกิดขึ้นจากผลพวงของการพัฒนาระบบธนาคารให้มีเครื่องมือทางการเงิน (FINANCIAL INSTRUMENT) มากชนิดขึ้น หรือเพื่อพัฒนาบริการทางการเงินให้มีความลึกยิ่งขึ้นนั่นเองจากยุคของการระดมเงินออม โดยเพิ่มประเภทของตราสารทางการเงินมาเป็นการเร่งการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนโดยผ่านบัตร ATM มาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ยุคของการใช้บัตรเครดิต ทำให้ธนาคารพาณิชย์ในทุกวันนี้ ก้าวเข้าสู่ยุคของการแข่งขันอย่างเต็มตัว ได้พยายามนำระบบการให้บริการทางด้านการเงินเข้าผูกกับธุรกิจอื่นๆ เช่น บริษัทบัตรเครดิตนานาชาติ ธุรกิจห้างสรรพสินค้า และภาคบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม โรงพยาบาล ภัตตาคาร ฯลฯ

ในปัจจุบันเป็นยุคที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคขยายตัวอย่างรวดเร็ว บุคคลย่อมต้องการความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น จึงเป็นโอกาสเหมาะที่บัตรเครดิตจะได้ก้าวเข้ามาเป็นบริการอีกรูปแบบหนึ่งที่มีส่วนเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลในสังคม ที่มีแบบแผนของการบริโภคที่แปรเปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ควบคู่กับมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น

บัตรเครดิตเป็นที่รู้จักกันครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อราวปี 2493 หรือเมื่อ 42 ปีมาแล้ว ภายใต้ชื่อ DINERS CLUB ต่อมาในปี 2501 ได้เกิด AMERICAN EXPRESS ขึ้นและปี 2502 ธนาคารแห่งอเมริกา ได้ออกบัตรเครดิตชื่อ BANK AMERICAN CARD ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็น วีซ่าการ์ดในปัจจุบัน

จากนั้นปี 2509 ธนาคารในแถบตะวันออกของสหรัฐฯ ได้ร่วมกับเวลล์ฟาร์โก ออกบัตรเครดิตชื่อ MASTER CHARGE ซึ่งก็คือ MASTER CARD ในปัจจุบัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า บัตรเครดิตในยุคแรกๆ ยังคงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมาจนปัจจุบันทั้งสิ้น ปี 2503 ได้มีชาวต่างชาตินำบัตรเครดิตมาชำระตามร้านค้า โรงแรมต่างๆ ทางบริษัทห้างร้านของไทย จึงได้จัดบริษัทตัวแทนขึ้นมาโดยทำหน้าที่หาสมาชิกที่รับบริการชำระค่าสินค้าด้วยบัตรเครดิตตามสถานบริการใหญ่ๆ จึงถือได้ว่าเป็นช่วงเวลานั้น ได้เกิดความต้องการที่จะมีสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบัตรเครดิตขึ้นแล้ว

ปี 2512 บริษัท ไดเนอร์สคลับ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ออกบัตรเครดิตเป็นรายแรกในประเทศและถือเป็นบัตรเครดิตสากลใบแรกของประเทศเช่นกัน มีวัตถุประสงค์ใหญ่ที่มุ่งอำนวยความสะดวกสำหรับสมาชิกที่นิยมการท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจ หรือสมาชิกที่เป็นนักธุรกิจและจำเป็นต้องเดินทางระหว่างประเทศอยู่เสมอ

ในระยะต่อมา จากการถือกำเนิดบริษัท ไดเนอร์สคลับ (ประเทศไทย) จำกัด แล้ว บัตรเครดิตของแบงก์อเมริการ์ดของธนาคารแห่งอเมริกาก็เริ่มเข้ามาแพร่หลายในเมืองไทย ตามมาด้วยมาสเตอร์การ์ดและวีซ่าการ์ด โดยมีธนาคารกสิกรไทยได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนหลักของวีซ่าอินเตอร์เนชั่นแนลในปี 2522

บัตรเครดิตสากลที่เข้ามาในเมืองไทยหลังสุดคือ บัตรอเมริกันเอ็กซ์เพรส โดยบริษัทซีทัวร์ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด จัดตั้งเป็นบริษัท อเมริกันเอ็กซ์เพรส (ไทย) จำกัดขึ้น

หลังจากที่บัตรเครดิตสากลได้เข้ามาแพร่หลายในเมืองไทยระยะหนึ่ง ก็เริ่มมีบัตรเครดิตภายในประเทศ (LOCAL CREDIT CARD) ออกมาใช้โดยในปี 2515 ธนาคารกสิกรไทยและธนาคารศรีนครได้ร่วมมือกันออกบัตรเครดิตสำหรับใช้ในประเทศโดยเฉพาะ "บัตรเครดิตอเนกประสงค์"

แต่ต่อมาทั้ง 2 ธนาคารก็ได้แยกกัน เนื่องจากความแตกต่างในความพร้อมด้านการตลาด ซึ่งทางธนาคารกสิกรไทยมีความพร้อมกว่า ดังนั้นในปี 2521 ธนาคารกสิกรไทยจึงออกบัตรเครดิตของตนภายใต้ชื่อ บัตรเครดิตธนาคารกสิกรไทย

ต่อมาเมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาระบบธนาคารได้ก้าวหน้าขึ้น ทุกธนาคารต่างพากันออกบัตรเครดิตแทบทั้งสิ้น อีกทั้งยังหาหนทางปรับปรุงการตลาดและการผลิต ให้ดึงดูดความสนใจยิ่งขึ้น ผลักดันให้บัตรเครดิตได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จนทำให้สถาบันที่ออกบัตรเครดิตมีมากกว่าสถาบันที่เรียกว่า "ธนาคารพาณิชย์"

ยอดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 38%

ชนิดของบัตรเครดิตมี 3 แบบ คือ

1. บัตรเครดิตในประเทศ ซึ่งมี 6 บัตรหลักในแต่ละบัตรจะมี 2 รูปแบบ แล้วแต่การเรียกชื่อ เช่น ธนาคารกสิกรไทย เรียกบัตรเขียวกับบัตรชมพู ธนาคารกรุงเทพ เรียกบัตรน้ำเงินกับบัตรทอง ธนาคารไทยพาณิชย์มีบัตรโพธิ์เงิน-โพธิ์ทอง ธนาคารกรุงไทยมีบัตรคลาสสิกกับบัตรทอง บัตรขวัญนครมี 2 แบบเช่นกันคือ บัตรเงินกับบัตรทอง

2. บัตรเครดิตสากล

- VISA CARD มี 2 แบบคือ บัตรคลาสสิก กับ พรีเมียร์ ปัจจุบันธนาคาร 11 แห่งเป็นผู้ออกบัตรคือ ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา มหานคร ไทยพาณิชย์ ทหารไทย สหธนาคาร นครหลวงไทย ศรีนคร และซิตี้แบงก์

- MASTER CARD มี 2 แบบ คือ บัตรเงิน และบัตรทอง มีธนาคาร 7 แห่ง เป็นผู้ออกบัตร คือธนาคารกสิกรไทย กรุงไทย กรุงศรีอยุธยา เรียกว่า LADY'S CARD ธนาคารไทยพาณิชย์ ทหารไทย ธนาคารศรีนคร เรียกว่า มาดมัวแซล การ์ด และซิตี้แบงก์

- DINER CARD ออกบัตรโดยไดเนอร์สคลับมีบัตรแบบเดียว ต่อมาธนาคารนครธนได้เข้ามาเป็นสมาชิก สามารถออกบัตร DINERS ได้เช่นเดียวกับบริษัทไดเนอร์ส คลับ

- AMERICAN EXPRESS มี 2 แบบ คือบัตรเขียวกับบัตรทอง ออกบัตรโดย บริษัทอเมริกันเอ็กซ์เพรส (ไทย) จำกัด

- JCB CARD มี 2 แบบ คือบัตรเงินกับบัตรทอง เป็นบัตรเครดิตญี่ปุ่น ออกโดยตัวแทนคือธนาคารไทยพาณิชย์

3. บัตรเครดิตเฉพาะกิจ แบ่งออกเป็น

- CENTRAL CARD มีแบบเดียวใช้ได้ในห้างเซ็นทรัลทุกสาขา จุดเด่นที่นอกเหนือจากบัตรเครดิตในประเทศ คือ สามารถใช้เป็นบัตรลดราคาสินค้าในห้างได้

- AFFINITY CARD คือ บัตรโพธิ์เงิน-โพธิ์ทองของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ออกให้กับหน่วยงาน 600 แห่ง เช่น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย องค์การโทรศัพท์ฯ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่าเรือ การท่าอากาศยาน การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ชมรมห้างสรรพสินค้าภูธร และห้างสรรพสินค้าต่างๆ ในกรุงเทพฯ ฯลฯ

- JIM THOMPSON CARD เป็นความร่วมมือของร้าน JIM THOMPSON กับธนาคารไทยพาณิชย์ทำการออกบัตรโพธิ์เงิน-โพธิ์ทองและมาสเตอร์การ์ดให้กับลูกค้าของ JIM THOMPSON จุดเด่นจะมีเช่นเดียวกับบัตรเซ็นทรัล

- GOLF CARD เป็นบัตรเครดิตมาสเตอร์ที่พัฒนาโดยธนาคารไทยพาณิชย์ นอกจากมีคุณสมบัติเป็นมาสเตอร์การ์ดแล้ว ยังเจาะกลุ่มเป้าหมายคือ นักกอล์ฟ โดยให้สิทธิพิเศษอื่นนอกเหนือจากการเป็น MASTER CARD

ในปี2534 ตลาดบัตรเครดิตมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 20 คาดการณ์ว่าในปี 2535 ตลาดจะเติบโตเพียงร้อยละ 20-30 ซึ่งลดลงจากปี 2533 ที่มีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 50 เนื่องจากการขยายตัวของบัตรเครดิต ขึ้นอยู่กับภาวะการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ นอกจากนั้น การขยายตัวของเศรษฐกิจยังเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายโอกาสของคนหนุ่มสาวให้เป็นผู้ถือบัตรเครดิตมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตต่อเดือนยังคงสูงขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว

ปัจจุบันปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในประเทศรวม 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค. 2535) มีมูลค่า 6,500-7,000 ล้านบาท เทียบกับปี 2534 ตลอดปีมีมูลค่า 8,000 ล้านบาท คาดว่าเมื่อสิ้นปี 2535 มูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในประเทศรวมทั้งปีจะเท่ากับ 11,000 ล้านบาท

จากจำนวนผู้ที่มีศักยภาพในการถือบัตรเครดิตเกือบ 2 ล้านคน (ผู้ที่มีรายได้ 10,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป) มีจำนวนผู้ถือบัตรเครดิตทั้งในประเทศและบัตรสากลจำนวน 1.1 ล้านใบเท่านั้น

แยกเป็นบัตรเครดิตในประเทศ 0.56 ล้านใบและบัตรเครดิตสากล 0.54 ล้านใบ หรืออัตราส่วน 51: 49 จะเห็นได้ว่าทางธนาคารหรือบริษัทที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต สามารถเข้าถึงลูกค้าได้เพียงร้อยละ 50 ของจำนวนผู้มีศักยภาพในการถือบัตร

จึงเป็นโอกาสของธนาคารและธุรกิจบัตรเครดิตที่ยังสามารถก้าวเข้าสู่สนามแข่งขันต่อไปเนื่องจากตลาดบัตรเครดิตยังสามารถขยายตัวต่อไปได้อีกไกล ธุรกิจบัตรเครดิตในเมืองไทยมีเงินหมุนเวียนในระบบปีละไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับ GPN ของประเทศแล้ว จะเห็นว่ามีมูลค่าเพียงเล็กน้อยคือไม่ถึงร้อยละ 2 ของ GNP

การให้บริการบัตรเครดิตในประเทศไทยนั้นมีธนาคารพาณิชย์ไทยให้บริการออกบัตรเครดิตในประเทศรวม 11 ธนาคาร และมีหลายธนาคารที่เป็นตัวแทนออกบัตรและเป็นตัวแทนรับบัตรเครดิตสากล ได้แก่ บัตรวีซ่า มาสเตอร์ ไดเนอร์ส JCB และ AMERICAN EXPRESS เป็นต้น นอกจากนั้น ยังเป็นตัวแทนรับบัตรเครดิตของห้างร้านอีกด้วย

บัตรเครดิตในประเทศ (LOCAL CREDIT CARD) เมื่อสิ้นปี 2534 มีจำนวนทั้งสิ้น 556,000 บัตร ธนาคารที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดคือ ธนาคารกสิกรไทยมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดคือ ธนาคารกสิกรไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 31.5 ธนาคารกรุงเทพร้อยละ 27.0 ธนาคารไทยพาณิชย์ร้อยละ 15.8 ธนาคารกรุงไทยร้อยละ 15.0 และอื่นๆ ร้อยละ 10.7 และถ้าพิจารณาถึงมูลค่าการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนแล้วธนาคารที่ได้รับส่วนแบ่งตลาดสูงสุดคือ ธนาคารกสิกรไทย ได้รับร้อยละ 37.3 ธนาคารกรุงเทพร้อยละ 27.3 และธนาคารไทยพาณิชย์ร้อยละ 17.2 จากมูลค่าการใช้บัตรเครดิตเฉลี่ย 2,150 ล้านบาทต่อเดือน

บัตรเครดิตสากล (INTERNATIONAL CREDIT CARD) มีผู้ถือบัตรอยู่ประมาณ 540,000 บัตรบริษัทที่ได้รับส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดคือ AMERICAN EXPRESS ซึ่งมีผู้ถือบัตรถึง 240,000 ราย รองลงมาคือ บัตรวีซ่าของ CITIBANK และ DINERS CLUB มีผู้ถือประมาณ 70,000 และ 65,000 ราย ได้รับส่วนแบ่งตลาดเท่ากับร้อยละ 44.4, 13.0 และ 12.0 ตามลำดับ

แต่ถ้าพิจารณาถึงบัตรเครดิตสากลโดยรวมแล้วบัตร,วีซ่าจะมีผู้ถือมากที่สุด รองลงมาคือ AMERICAN EXPRESS DINERS และ MASTER CARD ตามลำดับ

มองในแง่ของจำนวนร้านค้าที่รับบัตรแต่ละค่ายแล้ว บัตรเครดิตของกสิกรไทย จะมีร้านค้ารับบัตรมากที่สุดคือ 29,000 แห่ง รองลงมาคือ บัตร VISA ของธนาคารไทยพาณิชย์ 20,000 แห่ง ธนาคารกรุงเทพ 17,000 แห่ง บัตรขวัญนคร 15,000 แห่ง กรุงไทย 12,000 แห่ง บัตร AMERICAN EXPRESS กว่า 9,000 แห่ง และ DINERS 8,000 แห่ง

เมื่อพิจารณาถึงตำแหน่งในตลาดบัตรเครดิตทั้งหมด เปรียบเทียบเป็นรูปพีระมิดหัวตั้งแล้วตำแหน่งของบัตร AMERINCAN EXPRESS จะอยู่บนยอดสุด ถัดมาเป็น DINERS ตามมาด้วย VISA และ MASTER บัตรเครดิตธนาคารกสิกรไทย บัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพ บัตรโพธิ์เงิน-โพธิ์ทองของไทยพาณิชย์ และบัตรเครดิตธนาคารกรุงไทย ซึ่งพิจารณาจากการเป็นบัตรที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ทั้งในแง่ของจำนวนผู้ถือบัตร ร้านค้าที่ยอมรับบัตรชื่อเสียง ภาพพจน์ของธนาคาร หรือบริษัทที่ออกบัตรเครดิตเอง เป็นต้น

จึงกล่าวได้ว่า ตลาดระดับบนในเมืองไทยส่วนใหญ่จะถูกบัตร DINERS AMERICAN EXPRESS CITIBANK VISA กุมอยู่ ส่วนตลาดระดับกลางจะถูกกุมโดยบัตรเครดิตของธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารทหารไทย ซึ่งธนาคารเหล่านี้จะเน้นประโยชน์ใช้สอยเพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน

ใครเป็นใครในธุรกิจบัตรเครดิต

บัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพ

เริ่มจากการร่วมทุนกับ DINERS CLUB ของกลุ่มโสภณพนิช จากนั้น ได้ขยายตัวออกมาร่วมกับบริษัทอเมริกัน เอ็กซ์เพรส (ไทย) จำกัด ออกบัตรอเมริกันเอ็กซ์เพรส จนถึงปี 2529 ฝ่ายพัฒนาธุรกิจของธนาคารกรุงเทพ ได้ทำข้อเสนอไปถึงผู้บริหารว่า ถึงเวลาแล้วที่ธนาคารควรที่จะทำธุรกิจนี้เองบ้าง ผู้บริหารจึงทยอยส่งพนักงานไปดูงานในต่างประเทศมีการวางแผนการตลาด การจัดองค์กร และบุคลากรที่มีฝีมือ มีการดึงตัวบุคลากรระดับมันสมองเข้ามาทำงาน จนกระทั่งต้นปี 2531 ได้ตั้งสายบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพขึ้น ทุ่มงบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ทั้งในด้าน COMPUTER อาคารสถานที่การฝึกอบรม และงบโฆษณา ฯลฯ ทั้งนี้ ได้แบ่งสายบัตรเครดิต ออกเป็น ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิตมีหน้าที่ ดูแลรับผิดชอบเรื่องการตลาดสมาชิกบัตร การตลาดร้านค้า และการตลาดสาขา และฝ่ายปฏิบัติการ และควบคุมเครดิต มีหน้าที่ดูแลคัดเลือกลูกค้า บันทึกข้อมูลสมาชิก แก้ไขปัญหาให้สมาชิกผู้ถือบัตรและร้านค้า และพิจารณาเพิ่มวงเงินสินเชื่อ

การตลาด

บัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

1. บัตรน้ำเงิน มุ่งไปที่ลูกค้าที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก นั่นคือลูกค้ารายย่อยที่มีบัญชีเงินฝากอยู่กับธนาคาร ซึ่งเป็นตลาดที่กว้างมาก การเข้าถึงลูกค้าทำได้ง่าย มีวงเงินเครดิตสำหรับบัตรน้ำเงิน มีตั้งแต่ 10,000-50,000 บาท

2. บัตรทอง มุ่งที่ลูกค้าระดับสูง เพื่อยกระดับลูกค้าให้มีความรู้สึกที่ดีกว่า เป็นคนอีกระดับหนึ่ง คือใช้หลักจิตวิทยาเข้าช่วยในการตลาด โดยให้สินเชื่อตั้งแต่วงเงิน 50,000-200,000 บาท

3. บัตรผู้นำ เป็นบัตรที่มีเกียรติสูงสุดในบรรดาบัตรเครดิตของธนาคารกรุงเทพ ทางธนาคารจะใช้บัตรนี้ทำการโฆษณา เพื่อสร้างภาพพจน์ของบัตรมากกว่าที่จะมุ่งหวังในเชิงธุรกิจโดยตรง บัตรผู้นำจะไม่เปิดโอกาสให้ลูกค้าเข้ามาสมัคร หากแต่ทางผู้บริหารของธนาคารจะกลั่นกรองคัดรายชื่อผู้นำ เพื่อขอมอบบัตรผู้นำให้ บัตรผู้นำมีวงเงินเครดิตเช่นเดียวกัน คือ 1-2 ล้านบาท

ด้วยนโยบาย หรือ เป้าหมายที่ตั้งไว้สูงของธนาคากรุงเทพ ที่ต้องการชิงความเป็นหนึ่งในวงการบัตรเครดิตในประเทศจากธนาคารกสิกรไทย ส่งผลให้อัตราการเติบโตของธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารเองเป็นไปอย่างก้าวกระโดด นโยบายการตลาดที่ออกมาจึงเป็นไปในลักษณะทุ่มทุน (BIG PUSH) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยุทธวิธีการโฆษณาที่มอบหมายให้กับ เอเม็กซ์ แอนด์ เกรย์ เป็นผู้ถ่ายทอดไปยังสื่อต่างๆ ด้วยจำนวนเงินมหาศาล ก่อนที่จะประกาศตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2531

นอกเหนือจากบัตรเครดิตในประเทศแล้วทางธนาคารยังได้ออกบัตรเครดิตสากล ภายใต้ชื่อบัตรวีซ่า ซึ่งมีทั้ง บัตรวีซ่าคลาสสิก (บัตรน้ำเงิน) และบัตรวีซ่าทอง วงเงินเครดิตตั้งแต่ 50,000-100,000 บาท และ 100,000-200,000 บาท ตามลำดับ

การเบิกเงินสด สามารถเบิกล่วงหน้าได้ 100% จากสาขาของธนาคาร หรือเครื่อง ATM แต่เบิกได้ไม่เกินวงเงินคงเหลือ โดยธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียม 100 บาททุก 3,000 บาท บัตรน้ำเงินเบิกเงินสดจากเครื่อง ATM ได้ 5,000 บาทต่อวัน บัตรทองเบิกได้ 10,000 บาทต่อวัน บัตรผู้นำเบิกได้ 50,000 บาทต่อวัน บัตร VISA คลาสสิก เบิกได้ 10,000 บาทต่อวัน และบัตร VISA ทอง เบิกเงินสดได้ 15,000 บาทต่อวัน

อัตราดอกเบี้ยค้างชำระ เมื่อครบกำหนดชำระหากลูกค้าไม่สามารถชำระเงินได้หมด สามารถใช้สินเชื่อหมุนเวียนโดยชำระบางส่วนเพียงร้อยละ 10 หรือไม่ต่ำกว่า 500 บาทจากยอดคงค้าง ส่วนที่เหลือสามารถทยอยจ่ายในเดือนถัดไป

บริการอื่นๆ ที่ธนาคารมอบให้กับลูกค้า คือความคุ้มครองอุบัติเหตุเดินทาง จะได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครองประกันภัย อุบัติเหตุเดินทางโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เมื่อชำระตั๋วเดินทางโดยสารเครื่องบิน รถไฟ เรือ หรือรถบัส มีวงเงินคุ้มครอง 1-4 ล้านบาท

มูลค่าการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนต่อบัตรเท่ากับ 50,000 บาท จำนวนร้านค้าที่รับบัตรมีถึง 17,000 แห่ง

จากแนวโน้มการจับมือกันระหว่างภาคเอกชน หรือธุรกิจต่างๆ กับธนาคารพาณิชย์เริ่มเด่นชัดขึ้นส่งผลถึงความร่วมมือของธนาคารกรุงเทพกับกลุ่มสยามกรุ๊ป ที่ได้พยายามสร้างความแข็งแกร่งให้แก่บัตรวีซ่าให้มากขึ้น โดยออกบัตรเครดิตสยามกรุ๊ปขึ้น ด้วยความร่วมมือของบริษัท สยามกลการ จำกัด (มีบริษัทในเครือถึง 32 บริษัท)

ให้สิทธิประโยชน์แก่ลูกค้าที่ซื้ออะไหล่รถยนต์ซ่อมบำรุงรถ เครื่องดนตรีสยามยามาฮ่า และอื่นๆ นอกเหนือไปจากการเป็นบัตรวีซ่า นอกจากนั้นการผูกความสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่มธุรกิจชั้นนำของกลุ่มสยามกับชินวัตร ดุสิตธานี รวมถึงห้างสรรพสินค้าชั้นนำ น่าจะทำให้บัตรเครดิตกลุ่มสยามเป็นผู้นำในฐานะที่ให้สิทธิ์ครอบคลุมมากที่สุด

บัตรเครดิตธนาคารกสิกรไทย

ในอดีตเคยเป็นบัตรเครดิตในประเทศ (LOCAL CREDIT CARD) ที่ครองความเป็นหนึ่ง ทั้งในแง่เป็นบัตรเครดิตในประเทศรายแรก ในแง่อัตราการเติบโตที่สูงมาก และได้รับ MARKET SHARE สูงที่สุด สาเหตุเนื่องจาก ในอดีตนั้นจำนวนคู่แข่งของบัตรเครดิตในประเทศมีน้อยราย ลักษณะตลาดเป็น OLIGOPOLY และรายอื่นๆ ไม่ได้ทุ่มเทธุรกิจอย่างจริงจัง

แต่เมื่อธนาคารกรุงเทพลงมาสู่ตลาดบัตรเครดิตมีผลให้บัตรเครดิตของธนาคารกสิกรไทย ถูกกระทบกระเทือน ทำให้ทางกสิกรไทยต้องผ่อนปรนเงื่อนไขการเป็นสมาชิกลงจากเดิมที่ลูกค้าจะต้องมีเงินฝากอยู่ในธนาคาร 50,000 บาท และ STATEMENT ต้องมีสภาพคล่องสูง แต่ปัจจุบันเพียงมีบัญชีกระแสรายวันหรือไม่มีเงินฝาก เงินกู้กับกสิกรก็สามารถถือบัตรเครดิตกสิกรได้ และยังให้ครอบครัวถือบัตรเสริมได้อีก แต่ด้วยความด้อยในด้านการเตรียมบุคลากร, กำลังคน, TECHNOLOGY การทำการตลาด และเงินทุนกว่าธนาคารกรุงเทพ จึงมีผลให้ธนาคารกรุงเทพสามารถเข้าครอบครองตลาดได้ในสัดส่วนใกล้เคียงกับธนาคารกสิกรไทย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้บัตรเครดิตกสิกรไทยเกือบจะถูกแซงหน้าไป แต่กลยุทธ์ต่างๆ ก็ยังมีปรากฏมิได้หาย แผนการโฆษณาถูกปล่อยออกมาเป็นระยะ ทั้งชุดวิวัฒนาการเรื่องเงินซึ่งมาจบลงที่บัตรเครดิตกสิกรไทย ทั้งชุดชาวต่างประเทศ ทั้งป้ายโฆษณาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศบนถนนบางนา-ตราด โดยเน้น CONCEPT ว่าเป็นบัตรเครดิตที่ใช้ได้กว้างไกลที่สุด

นอกจากกลยุทธ์การโฆษณาแล้ว บัตรเครดิตกสิกรไทยยังพยายามสร้างจุดขายกับทางร้านค้าคือคิดค่าธรรมเนียมกับร้านค้าเพียง 1.07% เท่านั้นต่างจากบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพที่คิดกับร้านค้าถึง 1.6% มีผลทำให้ร้านค้าต้องช่วยส่งเสริมให้ลูกค้าของตนใช้บัตรเครดิตกสิกรไทยทางอ้อม เนื่องจากทางร้านจะได้ถูกหักเงินค่าธรรมเนียมน้อยกว่ากรณีลูกค้าใช้บัตรเครดิตอื่น

บัตรเครดิตกสิกรไทย (บัตรธรรมดา) จะมีวงเงินใช้จ่าย 50,000 บาท มีค่าธรรมเนียมแรกเข้า 200 บาท รายปี 400 บาท ซึ่งปัจจุบันบัตรทั้ง 4 รูปแบบได้ถูกยกเลิกไปแล้ว เหลือแต่เพียงบัตรเขียวธรรมดา

บัตรทอง หรือพุดตานทอง มีวงเงินใช้จ่าย 100,000-200,000 บาท ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 300 บาท รายปี 700 บาท ไม่มีกำหนดชำระขั้นต่ำในแต่ละเดือน กรณีบัตรหาย ผู้ถือบัตรจะไม่ต้องรับผิดชอบ นอกจากนั้น ผู้ถือบัตรยังสามารถเบิกเงินสดฉุกเฉินกับสาขาและเครื่อง ATM จำนวนร้านค้าที่รับบัตรมีมากที่สุดถึง 29,000 แห่งทั่วประเทศสามารถรองรับจำนวนผู้ถือบัตรที่มีถึง 180,000 รายได้ นอกจากบัตรภายในประเทศแล้ว ธนาคารกสิกรไทยยังได้ร่วมมือกับบริษัทต่างประเทศออกบัตรวีซ่าและมาสเตอร์อีกด้วย

บัตรเครดิตธนาคารไทยพาณิชย์

ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ทำธุรกิจบัตรเครดิตมานาน แต่จะเป็นด้านของบัตรเครดิตสากล กล่าวคือเป็นตัวแทนออกบัตร VISA CARD และ MASTER CARD ซึ่งแตกต่างจากมาสเตอร์การ์ดในปัจจุบัน ที่เป็นทั้งบัตรโพธิ์เงิน-โพธิ์ทองสำหรับใช้ในประเทศและบัตรมาสเตอร์สำหรับใช้ระหว่างประเทศได้ส่วนบัตรเครดิตภายในประเทศ ในชื่อของบัตรโพธิ์เงิน-โพธิ์ทอง เพิ่งจะมีขึ้นเมื่อ 6 ปีมานี้ (2530) กลุ่มลูกค้าบัตรในประเทศมักเป็นลูกค้าของธนาคารและไม่มีการทุ่มเทให้กับธุรกิจนี้อย่างจริงจัง มีนโยบายค่อยเป็นค่อยไป

จำนวนผู้ถือบัตรโพธิ์เงิน-โพธิ์ทอง มีประมาณ 80,000 ราย บัตรเครดิตสากล ได้แก่ มาสเตอร์และวีซ่า มีผู้ถือประมาณ 40,000 ราย และบัตร JCB ประมาณ 3,000 ราย

จำนวนร้านค้าที่รับบัตรเครดิตในประเทศมีประมาณ 15,000 ร้าน วงเงินสินเชื่อบัตรโพธิ์เงินคือ 20,000-50,000 บาท บัตรโพธิ์ทองคือ 60,000-100,000 บาท สามารถเบิกเงินสดได้ 100% ของวงเงิน แต่ไม่เกินวงเงินที่เหลืออยู่ โดยเสียค่าธรรมเนียม 120 บาทต่อ 3,000 บาท ผู้ถือบัตรจะได้รับการคุ้มครองอุบัติเหตุระหว่างเดินทาง รวมคู่สมรสและบุตรที่มีอายุต่ำกว่า 23 ปี ในวงเงินคนละ 3 ล้านบาท กรณีบัตรหายจะเสียค่าธรรมเนียมทำบัตรใหม่ 100 บาท ค่าธรรมเนียมแรกเข้าเป็นสมาชิกในบัตรเงิน 200 บาท รายปี 400 บาท ยกเว้นบัตรเสริมไม่มีค่าธรรมเนียมแรกเข้า บัตรทองมีค่าธรรมเนียมแรกเข้า 300 บาท รายปี 700 บาท ยกเว้นบัตรเสริมเช่นกัน

บัตรวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด สามารถใช้ชำระแทนเงินสดได้กว่า 20,000 ร้านทั่วประเทศ และกว่า 10 ล้านแห่งทั่วโลก และเบิกเงินสดไว้ 100% ของวงเงิน แต่ไม่เกินวงเงินที่เหลืออยู่ โดยเบิกจากตัวแทนของบัตรนั้นๆ ในต่างประเทศ วงเงินใช้บัตรเงินคือ 20,000-100,000 บาท บัตรทองคือ 100,000 บาทขึ้นไป กรณีบัตรหายจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำบัตรใหม่ 250 บาท ได้ภายใน4 วัน ผู้ถือบัตรจะได้รับการคุ้มครองอุบัติเหตุวงเงิน 3 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมแรกเข้าบัตรเงิน 500 บาท รายปี 500 บาท ส่วนบัตรทองค่าธรรมเนียมแรกเข้าไม่เสีย แต่จะเสียค่าธรรมเนียมรายปี 1,500 บาท

วงเงินใช้จ่ายผ่านบัตรโพธิ์เงิน-โพธิ์ทอง มีประมาณ 240.1 ล้านบาทต่อปี และบัตรเครดิตสากลประมาณ 236.3 ล้านบาทต่อปี

ในปี 2533 ทางธนาคารได้รับสิทธิจาก JAPAN CREDIT BUREAU ในการออกบัตรเครดิต JCB แต่เพียงผู้เดียวในประเทศ เป็นบัตรเครดิตจากประเทศญี่ปุ่นที่มีตลาดทั่วโลก แต่เมื่อเทียบกับบัตรวีซ่าและมาสเตอร์แล้วจะเป็นที่ยอมรับน้อยกว่า เนื่องจากความจำกัดในด้านเวลาและเครือข่าย ข้อดีของบัตรเจซีบี คือ มีวงเงินจับจ่ายใช้สอยที่สูงกว่าทางวีซ่าและมาสเตอร์ คือสูงกว่า 25,000 บาท ส่วนค่าธรรมเนียมที่คิดกับร้านค้านั้น ซึ่งจะใกล้เคียงกับบัตรอเมริกันเอ็กซ์เพรส มีจำนวนร้านค้าที่รับบัตรทั่วประเทศ 4,500 แห่ง และอีก 1.7 ล้านแห่งทั่วโลกมีวงเงินใช้จ่ายผ่านบัตรเท่ากับ 3.8 ล้านบาทต่อปี

การให้บริการของบัตรเครดิตธนาคารไทยพาณิชย์ยังได้พัฒนาเพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้จากการรุกตลาดบัตรเครดิต โดยร่วมกับสถาบันต่างๆ ออกบัตร AFFINITY CARD เช่น บัตรเครดิต JIM THOMPSON อันเป็นความร่วมมือของ JIM THOMPSON กับธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ GOLF CARD ซึ่งทำขึ้นสำหรับนักกอล์ฟ โดยสมาชิกสามารถซื้ออุปกรณ์การเล่นได้ในราคาพิเศษ นอกจากนั้น ยังสามารถเล่นกอล์ฟในสนามที่เข้าร่วมโครงการนี้ ทั้งที่เป็นสนามทั่วไปและสนามเฉพาะสมาชิกในประเทศและอีก 3 ประเทศ คือมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ วงเงินใช้บัตรเงินคือ 20,000-100,000 บาท

และเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2534 บริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ได้ร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชยืและบริษัทมาสเตอร์การ์ด ออกบัตรเครดิตชินวัตรและชินวัตรเวิลด์ โดยบัตรนี้จะออกให้เฉพาะลูกค้าที่เป็นสมาชิก IBC CABLE TV. ลูกค้าที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เซลลูล่าร์ 900, ลูกค้า PHONE LINK และ PHONE POINT เท่านั้น

สิทธิประโยชน์ที่ลูกค้ากลุ่มชินวัตรจะได้รับนั้นคือ ได้รับสิทธิประโยชน์จากกลุ่มชินวัตร ขณะเดียวกันก็เป็นทั้งบัตรมาสเตอร์การ์ด และบัตรเครดิตไทยพาณิชย์ กล่าวคือ สามารถเบิกเงินสดจากเครื่อง ATM ในเครือสยามเน็ทกว่า 500 เครื่องทั่วประเทศ ในวงเงิน 20,000-100,000 บาท ลูกค้าจะได้รับความสะดวกในการชำระค่าใช้จ่ายเมื่อใช้บริการของกลุ่มชินวัตร และยังสามารถใช้ในการชำระเงินกับร้านค้าที่รับบัตรเครดิตโพธิ์เงิน-โพธิ์ทอง และมาสเตอร์การ์ด โดยเริ่มใช้บริการมาแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2534

นอกจากนั้น ทางชินวัตรฯ ยังได้ร่วมมือกับดุสิตการ์ด เพื่อทำให้ลูกค้าได้สิทธิประโยชน์ของการใช้บริการกิจการของกลุ่มดุสิตธานีเพิ่มขึ้นจากบริการของกลุ่มชินวัตร สมาชิกบัตรในปัจจุบันมีประมาณ 30,000 ราย จากสมาชิกรวมของกลุ่มชินวัตร 100,000 ราย ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่จำนวนสมาชิกบัตรยังมีจำนวนน้อย เนื่องจากทางธนาคารไทยพาณิชย์ได้มีการคัดเลือกสมาชิกอย่างมาก และยังไม่สามารถดึงสมาชิกบางกลุ่มเข้ามาเป็นสมาชิกได้

ทั้งบัตร JIM THOMPSON ดุสิตการ์ด และชินวัตรการ์ด สามารถชำระแทนเงินสดจากร้านค้าที่รับบัตรโพธิ์เงิน-โพธิ์ทองทั่วประเทศ และอีก 9.6 ล้านแห่งทั่วโลก จากร้านที่รับบัตรมาสเตอร์การ์ด การเบิกเงินสดจะเหมือนกับบัตรมาสเตอร์การ์ดทุกประการ วงเงินการใช้บัตรคือ 20,000 บาทขึ้นไปกรณีบัตรหาย จะต้องเสียค่าใช้จ่ายทำบัตรใหม่ 250 บาท ผู้ถือบัตรจะได้รับความคุ้มครองอุบัติเหตุวงเงิน 3 ล้านบาท ยกเว้นบัตรกอล์ฟการ์ด ซึ่งจะได้รับการประกันอุบัติเหตุจากการเล่นกอล์ฟทั้งส่วนตัวและผู้อื่นรวมทั้งความเสียหายของไม้กอล์ฟ วงเงิน 100,000, 300,000 บาท และ 15,000 บาท ตามลำดับ

บัตร JIM THOMPSON จะมีค่าธรรมเนียมแรกเข้า 500 บาท รายปี 1,000 บาท ส่วนดุสิตการ์ดและชินวัตรฯ จะมีค่าธรรมเนียมแรกเข้าสำหรับบัตรเงิน 500 บาท บัตรทองจะไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้า แต่จะเสียค่าธรรมเนียมรายปี 1,000 บาท

และล่าสุดบริการบัตรเครดิตธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าฟีนิกซ์จังหวัดชลบุรี ออกบัตรเครดิตธนาคารไทยพาณิชย์-ฟีนิกซ์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2535 ซึ่งผู้ถือบัตรสามารถใช้เป็นบัตรโพธิ์เงิน-โพธิ์ทอง และ MASTER CARD ในใบเดียวกัน

บัตรเครดิตธนาคารกรุงไทย

มีจำนวนผู้ถือบัตรเครดิตกรุงไทยประมาณ 126,000 ราย แบ่งออกเป็น บัตรคลาสสิก 67,000 ราย บัตรทอง 39,000 ราย และบัตรวีซ่ากรุงไทย 20,000 ราย มีมูลค่าการใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนต่อบัตรเครดิต 1 ใบ เท่ากับ 30,000 บาท มีวงเงินการใช้จ่ายปีละ 3,000 ล้านบาท จำนวนร้านค้าที่รับบัตรมีถึง 12,000 ร้าน ในกรุงเทพฯ มี 3,300 ร้าน

บัตรเครดิตกรุงไทย สามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการและใช้บัตร ATM ในกลุ่มแบงก์เน็ท พร้อมทั้งบริการ "กรุงไทยโทรธนกิจ" คือลูกค้าสามารถสอบถามข้อมูลการเงินทางโทรศัพท์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ยังมีวงเงินสูงถึง 2 วงเงิน คือ วงเงินหมุนเวียนซื้อสินค้าและวงเงินสินเชื่อธนวัฎบัตรเครดิต เป็นวงเงินเหมือนบัญชีกระแสรายวันที่ผู้ถือบัตรสามารถถอนเงินสดไปใช้จ่ายเมื่อจำเป็นได้และเมื่อใช้วงเงินหมุนเวียนเพื่อสินค้าแล้ว ผู้ถือบัตรสามารถชำระค่าใช้จ่ายคืนธนาคารได้ 2 บัญชี คือทั้งกระแสรายวันและออมทรัพย์ พร้อมด้วยเอกสิทธิ์เช่น ประกันอุบัติเหตุเดินทางเมื่อใช้บัตรเครดิตซื้อตั๋วเดินทาง สูงสุด 2 ล้านบาท กรณีบัตรสูญหายผู้ถือบัตรมีหน้าที่รับผิดชอบเพียง 800 บา หลังจากแจ้งธนาคาร

ปัจจุบันบัตรเครดิตของธนาคารได้มี บัตรวีซ่าพระอาทิตย์ 3 บัตร ใน 1 ใบ คือ สามารถใช้เป็นบัตรวีซ่า บัตรเครดิตกรุงไทย และบัตร ATM ธนาคารได้ให้วงเงินหมุนเวียนซื้อสินค้า เบิกเงินสดล่วงหน้า และวงเงินสินเชื่อธนวัฎบัตรเครดิต โดยสามารถชำระค่าใช้จ่ายคืนธนาคารได้ 2 บัญชี เช่นกัน และกรุงไทย MASTER CARD ซึ่งเพิ่งก้าวเข้ามา ด้วยการยึดมั่นในเอกลักษณ์ไทยที่ผสมผสานเข้ามา ด้วยการยึดมั่นในเอกลักษณ์ไทยที่ผสมผสานกับ TECHNOLOGY ออกมาเป็นบัตรเครดิตสากล

บัตรเครดิตธนาคารกรุงศรีอยุธยา

บัตรเครดิตในประเทศของธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีผู้ถือถึง 50,000 ราย มีวงเงินสินเชื่อ 15-20% ของรายได้ทั้งปี สามารถเบิกเงินสดล่วงหน้าได้ 3,000 บาทต่อหนึ่งวัน และเบิกได้ครึ่งหนึ่งของวงเงิน โดยคิดค่าบริการร้อยละ 4 ของจำนวนเงินที่เบิกในแต่ละครั้ง มีการประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลตลอด 24 ชั่วโมง มีวงเงินประกันสูงสุด 1 ล้านบาท กรณีบัตรหายผู้ถือบัตรต้องรับผิดชอบ 1,000 บาทแรก วงเงินที่ธนาคารรับผิดชอบคือ เกิน 1,000 บาทแต่ไม่เกิน 500,000 บาท

ส่วนบัตรเครดิตสากลของธนาคารกรุงศรีอยุธยานั้น ได้ออกบัตรวีซ่าซึ่งมีผู้ถือถึง 80,000 ราย มีวงเงินสินเชื่อ 15-20% ของรายได้ทั้งปี สามารถเบิกเงินสดได้ 3,000 บาท และสูงสุดได้ครึ่งหนึ่งของวงเงิน มีวงเงินประกันอุบัติเหตุระหว่างการเดินทางทั่วโลกเท่ากับ 1.5 ล้านบาท และประกันส่วนบุคคล 6 ล้านบาท กรณีเครื่องบินล่าช้าธนาคารจะรับผิดชอบ 2,000 บาท กรณีบัตรหายผู้ถือบัตรรับผิดชอบเพียง 1,000 บาทแรก วงเงินที่ธนาคารรับผิดชอบคือ 1,000 บาทแต่ไม่เกิน 100,000 บาท

นอกจากบัตรเงินแล้ว บัตรวีซ่าของกรุงศรีอยุธยายังมีบัตรทอง ซึ่งมีวงเงินสินเชื่อ 15-20% ของรายได้ทั้งปี เบิกเงินสดล่วหน้าได้ครั้งละ 5,000 ต่อวันแต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน โดยค่าบริการเป็นร้อยละ 4 ของจำนวนเงินที่เบิกในแต่ละครั้ง (คิดภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7) มีวงเงินประกันอุบัติเหตุระหว่างเดินทาง 3 ล้านบาท กรณีเครื่องบินล่าช้าธนาคารจะรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 5,000 บาท กรณีบัตรหายผู้ถือบัตรต้องรับผิดชอบ 1,000 บาทแรกธนาคารจะรับส่วนที่เกินกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

บัตรมาสเตอร์เลดีส์ มีผู้ถือบัตร 10,000 ใบ วงเงินสินเชื่อ 15-20% ของรายได้ทั้งปี เบิกเงินสดล่วงหน้าได้ 3,000 บาท สูงสุดได้ครึ่งหนึ่งของวงเงินโดยคิดค่าบริการร้อยละ 4 ของ

การเบิกเงินแต่ละครั้งมีวงเงินประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล 1 ล้านบาท กรณีบัตรหายผู้ถือบัตรจะรับผิดชอบ 1,000 บาทแรกธนาคารจะรับผิดชอบส่วนที่เหลือ แต่ต้องไม่เกิน 50,000 บาท

บัตรเครดิตธนาคารนครหลวงไทย

ธนาคารนครหลวงไทยเป็นหนึ่งในผู้ออกบัตรขวัญนคร ซึ่งเป็นเครดิตภายในประเทศที่ได้รับความนิยมบัตรหนึ่ง แบ่งออกเป็นบัตรเงินและบัตรทอง บัตรเงินมีค่าสมาชิกแรกเข้า 200 บาท และค่าธรรมเนียมรายปี 400 บาท ธนาคารสามารถขยายจำนวนผู้ถือบัตรจากการเปิดสาขาของธนาคาร ซึ่งปัจจุบันธนาคารผู้ออกบัตรขวัญนคร 6 แห่ง มีจำนวนสาขาถึงกว่า 700 แห่งทั่วประเทศ

บัตรขวัญนครจะมีวงเงินการใช้จ่ายเดือนละ 16 ล้านบาท คุณสมบัติของผู้ถือบัตรจะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 84,000 บาทต่อปี ผู้ถือบัตรจะได้รับวงเงินสินเชื่อ 10,000-50,000 บาท หรือเบิกเงินสดได้ครึ่งหนึ่งของวงเงิน โดยมีค่าธรรมเนียมเบิกเงินสด 3,000 บาทละ 100 บาท แต่วงเงินซื้อสินค้านั้นสามารถเบิกได้ 100%

บัตรทอง มีค่าสมาชิกแรกเข้า 300 บาทและค่าธรรมเนียมรายปี 700 บาท แต่คุณสมบัติของผู้ถือบัตรจะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 240,000 บาทต่อปี มีวงเงินสินเชื่อ 60,000 บาทขึ้นไป สามารถเบิกเงินสดได้ 50% ของวงเงิน ค่าธรรมเนียมในการเบิกเงินสดและวงเงินในการซื้อสินค้ามีตัวเลขเช่นเดียวกับบัตรเงิน

บัตรขวัยนครของนครหลวงไทยมีวงเงินใช้จ่าย 35 ล้านบาทต่อเดือน

DINERS CARD

เป็นบัตรเครดิตสากลที่เกิดขึ้นมานาน 23 ปีแล้ว (พ.ศ.2512) มีภาพพจน์ที่ดีมาก ประสบความสำเร็จอย่างสูงนับตั้งแต่ 7 ปีที่ผ่านมา ตลอด 23 ปี DINERS CLUB ได้เน้นแต่กลุ่มลูกค้าระดับสูง เนื่องจากเงื่อนไขของไดเนอร์สระบุว่าไม่มีการจำกัดวงเงินของการใช้บัตร ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสียหายทาง DINERS CLUB จึงมุ่งเน้นลูกค้าที่แน่ใจว่าจะไม่เกิดปัญหาเรื่องการเคลียร์ค่าใช้จ่าย ผู้สมัครเป็นสมาชิกบัตรไดเนอร์สสามารถสมัครผ่านธนาคารนครธน, กรุงเทพฯ พาณิชย์การ, ไทยพาณิชย์, กรุงศรีอยุธยา และค่าเธ่ย์ทรัสต์

ผู้ถือบัตรสามารถเบิกเงินสดฉุกเฉินได้จากเครื่อง ATM ในเครือสยามเน็ท สามารถใช้บริการหักบัญชีรายจ่ายผ่านธนาคารได้ถึง 6 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงเทพ, กสิกรไทย, กรุงเทพฯ ไทยพาณิชย์การ, กรุงศรีอยุธยา, นครธน และซิตี้แบงก์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย กรณีบัตรหายผู้ถือบัตรจะรับผิดชอบเพียง 800 บาท และทางบริษัทจะออกบัตรใหม่ให้ภายใน 1 วัน

จากการวางภาพพจน์ของบัตรไว้ในระดับสูงทำให้แนวทางการบริการ และสิทธิประโยชน์จึงต้องมีความพิเศษอย่างมากให้เหมาะสมกับค่าสมาชิกหรือราคาค่าบริการเช่น มีปรกันคุ้มครองการเดินทาง, ซื้อเช็คเดินทางได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม, มีห้องรับรองเฉพาะตามสนามบินประเทศต่างๆ ทั้งยุโรปและอเมริกา, มีโครงการ HAPPY BIRTH DAY, BUSINESS RUN และ DINERS BONUS ถือเป็นการคืนประโยชน์ให้กับลูกค้า โดยจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำเนื่องในโอกาสต่างๆ ณ โรงแรมที่มีชื่อเสียง เป็นต้น

ความสำเร็จดังกล่าวทำให้บัตรไดเนอร์สก้าวเข้าสู่ความเป็นผู้นำในตลาดระดับสูง โดยมีผู้ถือบัตรถึง 65,000 บัตร และไม่ใช่คู่แข่งโดยตรงของตลาดบัตรเครดิคตในประเทศอย่างบัตรเครดิตธนาคารต่างๆ ที่กำลังแข่งขันกันอย่างรุนแรง

AMERICAN EXPRESS CARDS

อเมริกันเอ็กซ์เพรสหรือเอเม็กซ์ เป็นบัตรเครดิตสากลที่เป็นที่นิยมแพร่หลายทั่วโลกเข้าสู่ตลาดเมืองไทยเมื่อปี 2527 โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากธนาคารกรุงเทพ เข้าถือหุ้น 22.5% แต่เมื่อทางธนาคารกรุงเทพต้องการออกบัตรเครดิตของตนเอง ซึ่งในระยะแรกได้เกิดปัญหาด้านผลประกอบการที่ขาดทุน ปัญหาสมองไหลไปทำงานให้บัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพ

แต่อเมริกันเอ็กซ์เพรสก็ได้พยายามจัดระบบและวางแผนงานเพื่อให้สามารถรับสถานการณ์ดังกล่าวทำการโปรโมชั่นอย่างหนัก เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับคนไทย เน้นการนำเอาบริการที่นิยมของสมาชิกคือ EXPRESS GIFT SERVICE เป็นบริการที่สมาชิกสามารถสั่งซื้อสินค้าทางโทรศัพท์ ทางอเมริกันเอ็กซ์เพรสจะจัดส่งให้ฟรี บริการจากสำนักงานท่องเที่ยวอเมริกันเอ็กซ์เพรสใน 120 ประเทศได้รับความคุ้มครองสินค้าที่ชำระโดยบัตรอเมริกันเอ็กซ์เพรสโดยอัตโนมัติเป็นเวลา 90 วัน

บัตรอเมริกันเอ็กซ์เพรส สามารถแยกได้เป็นบัตรเขียวและบัตรทอง ซึ่งมีค่าธรรมเนียมในการเบิกเงินของเครื่อง ATM เท่ากับ 5% บวกกับ 100 บาท ทั้งเครื่องในประเทศและต่างประเทศ สามารถเบิกเงินสดฉุกเฉินในประเทศได้ 3,000 บาท ทุก 7 วัน ในต่างประเทศเบิกได้ 500 เหรียญทุก 21 วัน ในบัตรเขียว และเบิกได้ 10,000 บาท ทุก 7 วัน ในบัตรทองและเบิกได้ 1,000 เหรียญทุก 21 วัน

เบิกเงินสดจาก ATM บัตรอเมริกันเอ็กซ์เพรส (บัตรเขียว) เบิกได้ 20,000 บาท/ทุก 28 วันทั้งในและต่างประเทศ สำหรับบัตรทอง เบิกได้ 30,000 บาท/ทุก 28 วันทั้งในและต่างประเทศ

วงเงินซื้อสินค้าไม่มีการจำกัดวงเงินใช้จ่ายล่วงหน้า ขณะที่วงเงินสินเชื่อมีเท่ากับ 100,000 บาทกรณีบัตรหาย เจ้าของบัตรจะรับผิดชอบเพียง 1,000 บาทแรก แต่ถ้าเกิดการทุจริตกับบัตร บริษัทจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นทันทีที่แจ้งให้บริษัททราบ

ธนาคารซิตี้แบงก์

เป็นผู้ออกบัตร VISA ที่สามารถใช้ได้ทั่วโลกแบ่งออกเป็นบัตรเงินและบัตรทอง

บัตรเงินมีวงเงินสินเชื่อขั้นต้นสูงถึง 125,000 บาท โดยไม่ต้องมีเงินค้ำประกันหรือเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคาร สามารถเบิกเงินสดได้สูงถึง 60% ของวงเงินสินเชื่อหรือเต็มวงเงินสินเชื่อที่เหลือในขณะนั้น สามารถเลือกจ่ายคืนเต็มจำนวนหรือจ่ายคืนอย่างน้อยที่สุดเพียง 5% อย่างต่ำหรือ 200 บาททุกเดือน จ่ายคืนเป็นเวลานานเท่าใดก็ได้ตราบเท่าที่วงเงินใช้จ่ายกับยอดค้างชำระไม่เกินยอดวงเงินสินเชื่อที่ได้รับ

บัตรทอง : มีวงเงินสินเชื่อขั้นต้นสูงถึง 250,000 บาท โดยไม่ต้องมีวงเงินค้ำประกัน หรือเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคาร สามารถเบิกเงินสดได้สูงถึง 70% ของวงเงินสินเชื่อ สามารถเลือกจ่ายคืนเต็มจำนวนหรือจ่ายคืนอย่างน้อยเพียง 5% อย่างต่ำหรือ 200 บาททุกเดือน จ่ายคืนนานเท่าใดก็ได้ตราบเท่าที่วงเงินใช้จ่ายรววววมกับยอดค้างชำระไม่เกินยอดวงเงินสินเชื่อที่ได้รับ มีบริการซิตี้แอสซิส ซึ่งเป็นบริการพิเศษ คอยประสานงานให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง ระหว่างเดินทางในต่างประเทศ เช่น บริการช่วยเหลือทางการแพทย์ ด้านกฎหมาย ช่วยแปลภาษาต่างชาติทางโทรศัพท์ บริการแนะนำการเตรียมตัวก่อนเดินทาง เป็นต้น

บัตรวิซ่าซิตี้แบงก์ มีบริการซิตี้แคร์ ที่พนักงานคอยอำนวนความสะดวกสบายให้กับสมาชิกบัตรตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน โดยไม่คิดค่าบริการในปัจจุบันซิตี้แบงก์วีซ่ามีผู้ถือบัตรประมาณ 70,000 บัตร

MASTER CARD ในปัจจุบันมีประมาณ 40,000 ราย เจ้าของตลาดที่มียอดผู้ถือถึง 10,000 รายหรือประมาณร้อยละ 25 ของผู้ถือ MASTER CARD เป็นของธนาคารกสิกรไทย ขณะที่ซิตี้แบงก์ เริ่มเปิดตัว MASTER CARD เมื่อมกราคม 2535 นี้ เสนอวงเงินสินเชื่อที่สูงถึง 3 เท่าของเงินเดือน ฉะนั้นส่วนแบ่งตลาดยังคงน้อยอยู่

การแข่งขัน

ธนาคารในประเทศส่วนใหญ่มุ่งเน้นตลาดระดับกลางเหมือนกันหมด ราคาหรือเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ต่างๆ ใกล้เคียงกันมาก ทำให้ภาวะการแข่งขันรุนแรง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดบัตรเครดิตในต่างประเทศแล้วยังนับได้ว่า ตลาดบัตรเครดิตของไทยค่อนข้างสงบ

ส่วนภาวะการแข่งขันบัตรเครดิตสากลนั้นจะมุ่งเน้นตลาดระดับบน พยายามปรับปรุงการบริการและสร้างความโดดเด่นของการเป็นบัตรที่มีระดับ การแข่งขันไม่รุนแรงเท่าบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์ในประเทศ โดยมีผู้นำในการแข่งขันเพียง 3 รายคือ CITIBANK VISA, AMERICAN EXPRESS และ DINERS

การแข่งขันจะมีผลดีต่อบัตรเครดิตอย่างมากเนื่องจาก ตลาดจะเกิดความร่วมมือในด้านข่าวสารข้อมูลของผู้ถือบัตรที่มีปัญหา โดยเฉพาะการ CLERING เพื่อขยายเครือข่ายในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ถือบัตร ดังเช่นในปัจจุบัน เริ่มมีการก่อตั้งชมรมบัตรเครดิตขึ้น โดยธนาคารทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการประสานงานที่ดีของธนาคารและธุรกิจบัตรเครดิตในอนาคต

กลยุทธ์การแข่งขัน

แต่เดิมธนาคารต่างๆ มีนโยบายให้สาขาทั่วประเทศต้องหาลูกค้าเพื่อถือบัตรเครดิตของธนาคารแต่ในปัจจุบันกลยุทธ์ดังกล่าวให้ถูกใช้ควบคู่กับการขยายวงเงินสินเชื่อ การขยายระยะเวลาหักบัญชีการเพิ่มจำนวนร้านค้าที่รับบัตร การออกแบบและโฆษณาผลิตภัณฑ์

บัตรเครดิตสากลที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด 5 อันดับในช่วงมกราคม-กรกฎาคม 2535 ได้แก่ บัตรอเมริกันเอ็กซ์เพรส สูงเป็นอันดับ 1 ด้วยงบโฆษณา 20.3 ล้านบาท จาก 3 สื่อได้แก่ สื่อโทรทัศน์ 11.6 ล้านบาท คิดเป็น 57.7% สื่อหนังสือพิมพ์ 4.7 ล้านบาทเท่ากับ 23.4% และสื่อนิตยสาร 4 ล้านบาท เท่ากับ 18.9% เมื่อเปรียบเทียบกับงบโฆษณาในปี 2534 และปี 2533 ก็ยังคงอันดับ 1 มาตลอด โดยมีอัตราการลดลงของงบโฆษณาเป็นร้อยละ 6.94 จากปี 2533 ถึงปี 2534 แต่เมื่อเปรียบเทียบงบปี 2535 เพียงครึ่งปีกับปี 2534 ตลอดทั้งปี พบว่างบโฆษณาต่างกันเพียง 2.5 ล้านบาท คาดว่าเมื่อรวมงบโฆษณาในปี 2535 ตลอดทั้งปีจะสูงกว่าปี 2534 ประมาณ 1 เท่าตัว

อันดับ 2 คือ บัตรเครดิตซิตี้แบงก์ มาสเตอร์การ์ดและวีซ่าการ์ด รวมงบโฆษณา 7 เดือนในปี 2535 เท่ากับ 19.6 ล้านบาท จากสื่อโทรทัศน์ 8.5 ล้านบาท เท่ากับ 43.2% และสื่อหนังสือพิมพ์ 11.1 ล้านบาท คิดเป็น 56.8% เมื่อเปรียบเทียบกับงบโฆษณาในปี 2534 ตลอดทั้งปีนั้นแตกต่างกันเพียง 0.8 ล้านบาท โดยงบในปี 2534 เท่ากับ 20.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2533 ซึ่งเท่ากับ 14.4 ล้านบาทประมาณร้อยละ 41.6 บัตรเครดิตซิตี้แบงก์ยังคงครองอันดับ 2 ของยอดโฆษณาสูงสุดมาตลอด ในช่วงปี 2533-ก.ค.2535

ไดเนอร์สคลับ ตามมาเป็นอันดับ 3 ด้วยงบ 15.5 ล้านบาทในปี 2534 เพิ่มขึ้นจากปี 2533 ซึ่งเท่ากับ 11.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.6 ในปี 2535 มีงบโฆษณา 7 เดือนแรกเท่ากับ 10.3 ล้านบาท ทางสื่อโทรทัศน์ 7.6 ล้านบาท คิดเป็น 73.6% สื่อหนังสือพิมพ์ 2.1 ล้านบาท เท่ากับ 20.6% และสื่อนิตยสาร 6 แสนบาท เท่ากับ 5.8%

อันดับที่ 4 บัตรเครดิตสยามกรุ๊ป : วีซ่าการ์ด ตามงบโฆษณามาด้วยมูลค่า 6.2 ล้านบาท ใน 7 เดือนแรกของปี 2535 เป็นสื่อของโทรทัศน์ 4 หมื่นบาทเท่ากับ 0.6% สื่อหนังสือพิมพ์ 6.0 ล้านบาท 96.2% เท่ากับและสื่อนิตยสาร 2 แสนบาท เท่ากับ 3.2% แซงหน้าบัตรเครดิตกรุงไทยมาจากปี 2534

อันดับที่ 5 คือ บัตรเครดิตกรุงไทย : วีซ่าพระอาทิตย์ใช้งบโฆษณา 5.5 ล้านบาท จากสื่อโทรทัศน์ 4 ล้านบาท คิดเป็น 73.0% สื่อหนังสือพิมพ์ 5 แสนบาท คิดเป็นร้อยละ 9 และสื่อกลางแจ้ง 5 แสนบาท คิดเป็นร้อยละ 9 เท่ากัน ซึ่งตกมาจากอันดับที่ 4 ในปี 2534

7 เดือนแรกของปี 2535 งบโฆษณารวมของบัตรเครดิตสากลใช้ไปแล้ว 67.6 ล้านบาท แบ่งเป็นสื่อโทรทัศน์รับไป 31.8 ล้านบาท เท่ากับ 47.1% สื่อหนังสือพิมพ์ 28.4 ล้านบาท 42.1% นิตยสาร 7 ล้านบาท เท่ากับ 0.7% เปรียบเทียบกับงบโฆษณารวมทั้งตลาดจากทุกแบรนด์ของบัตรเครดิตสากลในปี 2534 ซึ่งใช้งบไปแล้ว 70.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2533 ที่ใช้งบเพียง 59.0 ล้านบาท

บัตรเครดิตในประเทศที่ใช้งบโฆษณาสูงสุด 5 อันดับ ในช่วงมกราคม-กรกฎาคม 2535

บัตรเครดิตธนาคารกสิกรไทย ใช้งบโฆษณามากที่สุด 9.5 ล้านบาท จากสื่อโฆษณา 3 สื่อได้แก่ สื่อโทรทัศน์ 2.3 ล้านบาท คิดเป็น 24.1% สื่อหนังสือพิมพ์ 6.5 ล้านบาท คิดเป็น 68.9% และสื่อนิตยสาร 7 แสนบาท เท่ากับร้อยละ 7 ซึ่งบัตรเครดิตธนาคารกสิการไทยสามารถแซงบัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพ (ซึ่งเพิ่งก้าวขึ้นมาจากอันดับ 3 ของปี 2533 และมาเป็นอันดับ 1 ในปี 2534) บัตรเครดิตธนาคารกสิกรไทยใช้งบประมาณ 6.7 ล้านบาท และ 12.9 ล้านบาทในปี 2534 และ 2533 ตามลำดับ (ซึ่งในปี 2533 เป็นอันดับ 1 ส่วนในปี 2534 เป็นอันดับ 3) นั่นคือ ใช้งบประมาณลดลงร้อยละ 48

บัตรเครดิตธนาคารกรุงเทพ ใช้งบโฆษณาสูงตามมาเป็นอันดับ 2 ในช่วง ม.ค-ก.ค 35 คือใช้งบประมาณรวม 4.5 ล้านบาท แบ่งเป็นจากสื่อโทรทัศน์ 4 แสนบาท หรือเท่ากับ 8.2% สื่อหนังสือพิมพ์ 3.1 ล้านบาท เท่ากับ 69.2% และสื่อนิตยสาร 1.0 ล้านบาท อันดับตกลงจากปี 2534 ซึ่งเป็นอันดับ 1 อยู่ในปีนั้นใช้งบประมาณถึง 10.9 ล้านบาท และในปี 2533 ใช้งบ 10.0 ล้านบาท

บัตรเครดิตธนาคารกรุงไทย เข้ามาเป็นอันดับ 3 ด้วยตัวเลขรวม 6 แสนบาท แบ่งเป็นสื่อโทรทัศน์ 4 แสนบาท หรือร้อยละ 60.1 สื่อนิตยสาร 2 หมื่นบาท หรือร้อยละ 37.2 ตกจากอันดับที่ 2 ของงบโฆษณาสูงสุดในปี 2534 คือ 8.7 ล้านบาท ลดลงจากปี 2533 ซึ่งเท่ากับ 10.0 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.0

อันดับที่ 4 บัตรเครดิตขวัญนคร ใช้งบโฆษณา 6 แสนบาทเท่ากัน จากสื่อหนังสือพิมพ์ 5 แสนบาท หรือร้อยละ 89.6 และสื่อนิตยสาร 6 หมื่นบาท คิดเป็นร้อยละ 10.4 ได้อันดับเพิ่มขึ้นจากปี 2534 คืออันดับ 5 มาเป็นอันดับ 4 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2535 ใช้งบโฆษณาเท่ากับ 2.3 ล้านบาท และ 3.9 ล้านบาท ในปี 2534 และ 2533 ตามลำดับ

บัตรเครดิตธนาคารไทยพาณิชย์ ใช้งบโฆษณาสูงสุดเป็นอันดับ 5 กล่าวคือเท่ากับ 6 หมื่นบาทจากสื่อหนังสือพิมพ์สื่อเดียว ได้อันดับเพิ่มขึ้นจากปี 2534 ขึ้นมา 1 อันดับ โดยมีงบเท่ากับ 2.2 ล้านบาทและได้อันดับ 6 เช่นเดียวกับปี 2533 ซึ่งใช้งบ 1.1 ล้านบาท

งบโฆษณารวมทั้งตลาดบัตรเครดิตภายในประเทศ 7 เดือนแรกใช้ไป 5.3 ล้านบาท จากสื่อโทรทัศน์ 3.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.3 สื่อหนังสือพิมพ์ 10.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 66.7 สื่อนิตยสาร 1.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.8 และสื่อกลางแจ้ง 2 แสนบาท คิดเป็นร้อยละ 1.3 ส่วนงบโฆษณารวมจากทุกแบรด์ของบัตรเครดิตภายใจประเทศของปี 2534 มีมูลค่า 34.5 ล้านบาท ลดลงในปี 2533 ที่ใช้ไปถึง 42.9 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่าการโฆษณาถือเป็นการส่งเสริมการเป็นสมาชิกของผู้บริโภคได้ดีกว่าการหาลูกค้าจากผู้จัดการสาขา เนื่องจากบางบริษัท เช่น ไดเนอร์สและซิตี้แบงก์วีซ่ามีข้อจำกัดในแง่จุดขาย กล่าวคือไม่มีสาขา ฉะนั้นจึงใช้วิธี "DIRECT MAIL" หรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ จะเป็นวิธีการส่งเสริมการขายที่สำคัญ สำหรับอเมริกันเอ็กซ์เพรสนั้นพยายามเพิ่มผู้ถือบัตรโดยขยายตลาดในด้านบัตรบริษัทและบัตรเสริมควบคู่กันไปกับกลยุทธ์การโฆษณาด้วยเช่นกัน

โครงสร้างรายได้จากธุรกิจ

โครงสร้างของรายได้ของธนาคาร ที่ได้จากส่วนของบัตรเครดิต คือ

1. ค่าธรรมเนียมแรกเข้า-รายปี 25%

2. ค่าธรรมเนียมร้านค้า 20%

3. ค่าธรรมเนียมเบิกเงินสดล่วงหน้า 12%

4. ดอกเบี้ย 35%

5. อื่นๆ 8%

โครงสร้างของรายได้ของบัตร CHARGE CARD คือ

1. ค่าธรรมเนียมรายเข้า-รายปี 35%

2. ค่าธรรมเนียมร้านค้า 50%

3. ค่าธรรมเนียมเบิกเงินสดล่วงหน้าและอื่นๆ 15%

และในภาวะความเป็นจริงนั้น โครงสร้างของรายได้ของธนาคารพาณิชย์เพียงแค่ 4-5 รายการนี้ก็สามารถสร้างมูลค่าได้ถึง 1,000 ล้านภาพต่อปี จึงเป็นสิ่งจูงใจให้ผู้มีส่วนร่วมในส่วนแบ่งการตลาดยิ่งต้องแย่งส่วนแบ่งดังกล่าวให้มากขึ้น

การผลิตและต้นทุนการผลิต

บัตรพลาสติกมีการพัฒนาด้านการผลิตอย่างไม่หยุดยั้ง จากการบันทึกข้อมูลในแถบแม่เหล็กธรรมดา มีการพัฒนานำเอา IC มาฝังในบัตรเพื่อให้มีประสิทธิภาพในการบันทึกข้อมูลเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการปลอมแปลงต่างๆ บัตรที่มี IC ฝังอยู่ มีชื่อเรียกกันหลายชื่อ เช่น PREPAID CARD, SMART CARD, CHIP CARD ซึ่งในต่างประเทศได้เริ่มมีการใช้บัตรชนิดนี้กันอย่างแพร่หลาย ในขณะที่ประเทศไทยยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น

การผลิตบัตรเครดิตในประเทศ มีบริษัทผู้ผลิตบัตรในปัจจุบัน ประมาณ 7 ราย ที่มีส่วนแบ่งการตลาดมาก 3 อันดับแรกคือ บริษัท ดีแซด (ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท ดาต้าโปรดักส์ ทอปปังมัวร์ จำกัด และบริษัท ธนาบุตร จำกัด

ลูกค้าหลักของบริษัทดีแซด (ไทยแลนด์) คือ ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า สนามกอล์ฟ บริษัทประกันภัยส่วนลูกค้าของบริษัท ได้แก่ ห้างเซ็นทรัล บริษัทการบินไทย สยายกรุ๊ป ดุสิตการ์ด ชินวัตรการ์ด สหวิริยา กอล์ฟการ์ด VISA และ MASTER ของธนาคารหลายแห่ง

วัตถุดิบหลักในการผลิตบัตรเครดิต คือ พี.วี.ซี. ซึ่งควรใช้มาตรฐาน ISO (INTERNATIONAL STANDARD ORGANIZATION นอกเหนือจากนั้นจะเป็นเรื่องของ TECHNOLOGY โดยเฉพาะ

ขั้นตอนการผลิต

การออกแบบบัตร>ผลิตบัตรเปล่าจากเครื่องออกบัตร>ดึงข้อมูลของผู้ถือบัตรจากคอมพิวเตอร์พิมพ์เป็นตัวนูน ลงบนบัตร และใส่ข้อมูลของผู้ถือบัตรลงในแถบแม่เหล็ก>ใส่กราฟฟิค ซึ่งเป็นตัวอักษรแนบบัตร>ตรวจสอบระบบความปลอดภัยเพื่อป้องกันการปลอมแปลง ซึ่งมักพบในบัตรเครดิตสากลเสียส่วนมาก ทั้งนี้เพราะเงินที่ใช้ในแต่ละครั้งและแต่ละช่วงจะมีสูง วิธีพิจารณาบัตรเครดิต ว่าเป็นบัตรจริงหรือปลอมสามารถตรวจสอบได้จาก

-แถบลายเซ็นหลังบัตร ซึ่งบัตรเครดิตปลอมจะมีลักษณะไม่เรียบร้อย เพราะก่อนที่จะปลอมบัตรนั้นคนร้ายต้องขูดแถบลายเซ็นเดิมออก ซึ่งจะทำให้ส่วนนั้นหลุดเป็นขุย แต่จะใช้สติกเกอร์กระดาษปิดทับลงไป ซึ่งถ้าสังเกตจะยังเห็นรอยขูดปรากฏอยู่

-ตัวเลขานูนในบัตรปลอมจะดูไม่สวนไม่เป็นระเบียบ

-ภาพ 3 มิติบนบัตร จากการเคลือบสารโฮโลแกรม

ปัจจุบันการปลอมแปลงบัตรได้มีการนำเอาเทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาช่วย โดยมีการลงทุนซื้ออุปกรณ์มูลค่าหลายแสนบาทมาใช้ในการปลอมบัตรเครดิต ซึ่งมีวิธีการดังนี้

1. การปลอมทั้งใบ ซึ่งทำจากแหล่งปลอมในประเทศ

2. การปลอมบัตรเปลือย โดยการจัดหาแผ่นพลาสติกมาพิมพ์ข้อมูลให้ตรงกับบัตรจริง

3. เป็นการนำเอาบัตรที่ใกล้จะหมดอายุ นำมารีดด้วยความร้อนเพื่อทำให้หมายเลขบนแผ่นแม่เหล็กและตัวนูนบนบัตรหายไป จากนั้นก็นำรหัสมาใส่ในเครื่องดีโค้ด เพื่อป้อนหมายเลขรหัสลงในแถบแม่เหล็กใหม่ และใช้เครื่องเอ็มบอสพิมพ์ตัวนูนลงไป

ต้นทุนการผลิต

ต้นทุนในการผลิตบัตรเครดิตตกประมาณใบละ 20-30 บาท ส่วนที่แพงเนื่องจากต้องใช้สติกเกอร์ประเภทพิเศษที่เรียกว่า โฮโลแกรม (แผ่นสะท้อนแสง) เพื่อป้องกันการปลอมแปลงบัตร ในส่วนของบัตรเครดิตที่เป็นของต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมาสเตอร์การ์ด วีซ่า อเมิรกันเอ็กซ์เพรส ไดเนอร์สคลับ ฯลฯ จะยังไม่มีการว่าจ้างผลิตในประเทศไทย เพราะบัตรเหล่านี้ไม่ได้รับอนุมัติจากประเทศแม่ผู้ออกบัตรให้ทำการผลิตขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากติดปัญหาเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ อีกทั้งระบบบัตรเครดิตของไทยยังมีระบบความปลอดภัยไม่เพียงพอ ขณะที่ตลาดบัตรเครดิตกำลังเติบโต แต่จำนวนผู้ผลิตบัตรยังมีไม่เพียงพอกับความต้องการเท่ากับว่ายังมีที่ว่างสำหรับผู้ผลิตรายใหม่ในการผลิตบัตรให้พอกับความต้องการ

TECHNOLOGY

เทคนิคของบัตรเครดิตในปัจจุบันจะมีการผลิตโฮโลแกรม เพื่อป้องกันการปลอมแปลงบัตรและปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ให้เข้ากับระบบงานบัตรเครดิต โดยนำเครื่องอิเล็กทรอนิกส์มาใช้รับบัตรตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เพื่อให้การติดต่อเรื่องบัตรเครดิตระหว่างธนาคารมีความคล่องตัว ลดขั้นตอนในการทำงาน ให้ความสะดวกกับผู้ถือบัตรและห้างร้านอย่างมาก หรือเทคโนโลยีการพิมพ์ระบบตัวเรียบ โดยสามารถพิมพ์เป็นภาษาไทยได้หลายขนาด และพิมพ์บาร์โค้ดได้หลายขนาดนอกจากนี้ยังพิมพ์โลโกในรูปแบบต่างๆ ได้อีกมากส่วนเทคโนโลยีที่เพิ่งเริ่มใช้โดยบริษัท ดีแซด (ไทยแลนด์) จำกัดคือ บัตร DANCOIN ซึ่งมีระบบวิธีการใช้บัตร ดังนี้

ธนาคารที่จะใช้บัตร DANCOIN จะต้องแจ้งควางจำนงขอซื้อบัตรและจำนวนของวงเงินแก่ CARD ISSUER จากนั้น CARD ISSUER จะแจ้งความจำนงไปยัง CARD SUPPLIER เพื่อให้ CARD SUPPLIER ทำการผลิตบัตรพลาสติก และฝัง INTERGRATED CIRCUIT (IC) ซึ่งเป็น HIGH TECHNOLOGY ไว้ในบัตร แล้วทำ การกำหนดรายละเอียดของผู้ถือบัตร

ในขณะเดียวกันนั้น ระบบบริการร่วมก็จะรับทราบว่ามีผู้ถือบัตรรายใหม่เพิ่มขึ้นมาด้วย COMPUTER-ON-LINE ผู้ถือบัตรจะสามารถใช้บัตรในการซื้อสินค้าหรือบริการได้ที่ SERVICE PAYMENT TERMINAL ซึ่งในการดำเนินการนี้จะมีระบบต่างๆ ต่อรวมอยู่หลายระบบ โดยเฉพาะระบบ CLEARING เพื่อทำการ UPDATE BALANCE ให้พร้อมในระบบการบริการ

อนาคตของบัตร DANCOIN CARD นั้นจะมีบัตรชนิดที่สามารถ RECHARGRABLE ได้ กล่าวคือ เมื่อบัตรหมดค่าแล้ว นำมากำหนดมูลค่าได้ใหม่โดยมีหน่วยความจำในบัตร ซึ่งในการนี้ผู้ถือบัตรจะสามารถทราบข้อมูลต้นฉบับของการใช้บัตรล่าสุด แต่จะทราบได้โดยการนำบัตรไปอ่านกับตู้ชนิดพิเศษ

นอกจากบัตรที่สามารถ RECHARGEABLE แล้ว ในอนาคตของบัตรเครดิตไทย จะมีบัตรเครดิตที่จับเสียงของเจ้าของบัตรได้ โดยจะทำงานก็ต่อเมื่อเป็นเสียงของผู้ที่เป็นเจ้าของเท่านั้น เจ้าของบัตรสามารถใช้บัตรกับเครื่องบริการของธนาคารที่มีเครื่องรับและขยายเสียงติดตั้งอยู่ เมื่อผู้ถือบัตรพูดผ่านเครื่องรับลงไปแทนการกดรหัส 4 ตัว เครื่องบริการจะทำงานได้โดยอัตโนมัติ ระบบดังกล่าวสามารถทำงานร่วมกับบัตรเครดิตโทรศัพท์ บัตรเครดิตผู้บริโภค และประตูที่เปิดโดยใช้บัตรเครดิตทั้งนี้ระบบเสียงดังกล่าวใช้หลักการที่ว่าไม่มีเสียงใดๆ สองเสียงในโลกที่จะเหมือนกันได้ โดยเปรียบเทียบเสียงพูดกับเสียงต้นแบบที่บันทึกไว้บนบัตรเครดิตด้วยระบบ DIGITAL

วิทยาการสมัยใหม่ดังกล่าวจะมีประโยชน์ต่อบริการทางด้านนี้มาก หากมีการนำมาใช้ในประเทศก็จะช่วยให้บริการด้านนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการทุจริตนำบัตรไปใช้

นอกจากบริษัทดีแซด (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตบัตรเครดิตชั้นนำ บริษัทหนึ่งของประเทศแล้ว ยังมีบริษัท ดาต้าโปรดักส์ทอปปิงมัวร์ จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องผลิตบัตร DATACARD รุ่น DC-9000 จากสหรัฐอเมริกา

เครื่องผลิตบัตรรุ่นนี้ในประเทศไทย DC-9000 เป็นเครื่องออกบัตรเครดิตและเอทีเอ็มระบบ โมดูล่าร์รุ่นใหม่ล่าสุดซึ่งด้วยระบบนี้ ผู้ออกบัตรสามารถเลือกระบบต่างๆ เช่น ระบบปั้มนูน ระบบบรรจุแบบแม่เหล็กได้ตามต้องการ และด้วยระบบคอมพิวเตอร์อันทันสมัยของ DC-9000 ช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็วและง่าย รวมทั้งไม่เกิดการผิดพลาดจากการทำงานของมนุษย์โดยบัตรที่ได้จะเป็นตามคำสั่งที่เลือกไว้ และจะเสร็จสิ้นภายในขั้นตอนเดียว ด้วยอัตรา 300-800 ใบ/ชม. นอกจากนี้ระบบพิมพ์ภาพสีลงบนบัตร พร้อมทั้งระบบเคลือบจะทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถขูดเหลือลบภาพออกได้ ซึ่งจะยากต่อการปลอมแปลง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us