Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2535
"ธุรกิจเสี่ยงภัยของอุดมที่กัมพูชา"             
 


   
search resources

อุดม ตันติประสงค์ชัย
International
Cambodia
ฟูลดา คอร์ปเปอเรชั่น




อุดมเป็นคนบุกเบิกการเข้าไปลงทุนและทำมาค้าขายในกัมพูชายุคฟื้นฟู แต่ความไม่แน่นอนทางการเมืองของกัมพูชา ทำให้ธุรกิจของอุดมเต็มไปด้วยความเสี่ยงภัยสูงโดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลในพนมเปญนำธุรกิจของเขาไปโยงใยกับผลประโยชน์ของเจ้านโรดม จักรพงศ์ ความเสี่ยงภัยนี้เองคือที่มาของประสบการณ์ที่ลงทุนต้องระวงในกัมพูชา

อุดม ตันติประสงค์ชัย นักธุรกิจไทยผู้เป็นที่รู้จักกันดีในกรุงพนมเปญ เริ่มต้นทำธุรกิจกับกัมพูชาด้วยการทำการค้าหนังสัตว์ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่มีใครสนใจมากนัก แต่มันก็ทำให้บริษัทฟูลดา คอร์ปเปอเรชั่นของเขาขยายกิจการได้อย่างไม่หยุดยั้งพัฒนาการทางธุรกิจของฟูลดา เป็นเสมือนหนึ่งภาพสะท้อนจากความเปลี่ยนแปลงในกัมพูชาได้อย่างชัดเจน

ไม่ใช่เรื่องที่เกินไปนักหากจะกล่าวว่าอุดมเป็นนักรบทางธุรกิจรุ่นแรกๆ ของไทยที่เข้าไปบุกเบิกธุรกิจในกัมพูชา ธุรกิจของเขาเปลี่ยนแปลงพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงของประเทศกรำสงคราม อย่างกัมพูชา บริษัทฟูลดาเริ่มทำธุรกิจแรกคือค้าหนังสัตว ์เพราะเหตุที่ฐานทางธุรกิจเดิมคือโรงฟอกหนังซึ่งมีอยู่ประมาณ 7-8 แห่งในกรุงเทพฯ เป็นธุรกิจครอบครัว ใช้ชื่อว่า ลักษมีไทย ต่อมาภาพหลังเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทธารทิพย์ ธุรกิจในพนมเปญเป็นธุรกิจที่แตกออกไปเพื่อหาวัตถุดิบมาป้อนโรงงาน

จากธุรกิจเก่าแก่และล้าสมัยพอๆ กับเศรษฐกิจของกัมพูชา อุดมขยายแนวทางไปสู่การขนส่งทางน้ำ "แรกๆ ที่เราเข้าไปทำธุรกิจหนังเราก็พบว่าจะต้องพึ่งพิงเรือต่างชาติอย่างมาก เกิดความไม่สะดวกหลายประการ เพราะไม่เพียงราคาแพงแต่ยังต้องคอยคิว เราก็ตัดสินใจซื้อเรือขนสินค้าของเราเอง ขนสินค้าของตัวเองได้สักพักหนึ่งก็เห็นว่าการที่ต้องตีเรือเปล่าเข้าไปเอาหนังสัตว์ในกัมพูชาออกจะเป็นการสูญเปล่า ก็เลยรับสินค้าของคนที่ทำธุรกิจในกัมพูชาเข้าไปด้วย ทำไปทำมาเรือนั่นก็กลายเป็นธุรกิจการขนส่งทางน้ำได้อีก" อุดมเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงจุดเริ่มการบุกเบิกธุรกิจในกัมพูชา

ปัจจุบันเรือ โอเรียนท์ เอ็กซ์เพรสไลน์วิ่งขนส่งสินค้าระหว่างกรุงเทพฯ-พนมเปญ-กรุงเทพฯ ผ่านน่านน้ำเวียดนามเข้าสู่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในเขตของเวียดนามแล้วเข้าสู่ท่าเรือในกรุงพนมเปญมีการลงทุนใช้คอนเทนเนอร์ เพื่อให้บริการได้ครบถ้วนยิ่งขึ้น

หลังปี 2529 เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในโลกคอมมิวนิสต์ กล่าวคือทุกประเทศต่างพากันปฏิรูปทางเศรษฐกิจกันอย่างขนานใหญ่ ตั้งแต่อดีตสหภาพโซเวียต ไล่มาจนถึงเวียดนาม ในจำนวนคอมมิวนิสต์ที่หันมาเอาดีทางการทำมาค้าขายนี้ก็ไม่ได้ยกเว้น รัฐบาลกัมพูชาในกรุงพนมเปญของนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ด้วย

การปฏิรูปที่ไหนๆ ก็เหมือนกันคือมักเริ่มต้นด้วยการขายกิจการที่เคยอยู่ในมือของรัฐให้กับเอกชน ฟูลดาของอุดมก็ไม่แคล้วที่ต้องพาตัวเองโลดแล่นเข้าไปในกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงอันนี้ด้วย ฟูลดาเริ่มเข้าสู่กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยการเข้าไปประมูลซื้อกิจการโรงทอผ้า 2 โรงจากรัฐบาลในกรุงพนมเปญและภายใต้สัญญาที่ทำกับรัฐบาล ผู้เข้าประมูลจะต้องจ้างคนงานเก่าซึ่งทำงานอยู่แล้วต่อไป

"เราเริ่มทำกิจการโรงทอผ้าในปี 2532 เพราะรัฐบาลพนมเปญเสนอให้เราเนื่องจากในเวลานั้นรัฐบาลมีนโยบายในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ตอนแรกๆ ใครก็คิดว่าเราซื้อโรงงานได้ในราคาที่ถูกมาก แต่มาคิดอีกทีในตอนนี้มันเป็นราคาที่แพงมากเลย เพราะตั้งแต่เริ่มทำมากระทั่งปัจจุบันยังขาดทุนอยู่ เนื่องจากเราต้องรับภาระมากมาย กระแสไฟฟ้าก็ต้องปั่นเองคนงานที่ยังล้นงานอยู่ก็มาก ถ้าถามาว่าคนงานเหล่านี้ปลดได้ไหม? คำตอบก็คงจะบอกว่าได้ แต่เราก็ไม่อยากจะทำอย่างนั้นเลยเพราะมันเป็นการสร้างปัญหาให้กับสังคมเขมร จริงๆ ถ้าเราไม่ซื้อโรงงานนี้เสียตั้งแต่แรกก็ไม่มีใครว่าอะไร โรงงานนี้ก็คงจะต้องปิดตัวเองเพราะรัฐบาลรับภาระไม่ไหวแน่นอนมาคิดอย่างนี้เราก็เลยเข้าทำกิจการนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนเขมร" อุดม เล่าถึงเจตจำนงค์ของกลุ่มฟูลดาต่อสังคมกัมพูชา

แม้ว่าจะยังคงต้องกรำศึกกับเขมรแดงอยู่ในหลายพื้นที่ แต่ทว่ารัฐบาลกัมพูชาในกรุงพนมเปญก็ยังเดินหน้าปฏิรูปทางเศรษฐกิจอยู่อย่างต่อเนื่องเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการที่จะฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคต่างๆ นับเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งต่อประเทศที่ทรุดโทรมอย่างกัมพูชา แน่นอนที่สุดรัฐบาลย่อมไมมีงบประมาณอันมากมายมหาศาลที่จะไปทำโครงการใหญ่ๆ ได้ ภาคเอกชนจากต่างประเทศจึงได้เข้าไปรับบทบาทอันนี้

โดยความเข้าใจทั่วไป กัมพูชาเป็นประเทศที่เพิ่งเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าใครก็ตามที่ประสงค์จะเข้าทำโครงการต่างๆ แล้วจะสามารถทำได้อย่างง่ายดาย แม้ว่าเจ้าหน้าที่หรือแม้แต่รัฐมนตรีที่รับผิดชอบทางด้านการลงทุนของรัฐบาลพนมเปญจะได้เดินทางไปในประเทศต่างๆ มากมายรวมทั้งประเทศไทยเพื่อเชิญชวนการลงทุนจากต่างประเทศ เสนอกฎเกณฑ์และเงื่อนไขการลงทุนที่ดูเสมือนเป็นเรื่องง่าย

แต่ในความเป็นจริงการลงทุนทำโครงการต่างๆ ในกัมพูชาค่อนข้างยาก คนที่จะลงทุนทำโครงการต่างๆ ได้จะต้องปรากฏว่าเป็นบริษัทที่ได้แสดงผลงานให้รัฐบาลเห็นตามสมควร การที่บริษัมฟูลดาได้ยอมแบกรับภาระทางด้านโรงงานทอผ้าทำให้ได้รับความเชื่อถือในความจริงใจต่อกัมพูชา อุดมจึงได้รับโอกาสให้เข้าทำโครงการปรับปรุงสนามบินโปเชนตง โครงการดังกล่าวมีมูลค่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีแผนที่จะขยายสนามบินเก่าแก่ซึ่งสร้างตั้งแต่สมัยเป็นอาณานิคมฝรั่งเศสแห่งนี้ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 500 คนต่อชั่วโมง แทนที่จะเป็น 100-150 คนต่อชั่วโมงอย่างในปัจจุบัน

นอกจากนี้โครงการปรับปรุงสนามบินยังครอบคลุมไปถึงการขยายอาคารผู้โดยสาร รันเวย์ และการก่อสร้างคลังสินค้า โครงการนี้แบ่งเป็นหลายระยะซึ่งกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จเอาไว้ภายใน 2 ปี

นับจากออกข่าวเกี่ยวกับโครงการนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2534 กระทั่งปัจจุบันโครงการนี้ ยังไม่ได้เริ่มต้นเลยแม้แต่น้อย อุดมได้ชี้แจงต่อ "ผู้จัดการ" ในเรื่องนี้ว่า "เราไม่ได้ล้มโครงการนี้ แต่รัฐบาลพนมเปญยังไม่อนุญาตให้เราเริ่มโครงการ เพราะปัญหาคือเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนพยายามไปให้ข้อมูลกับทางรัฐบาลว่าจะมีเอกชนรายใหม่ที่เสนอผลประโยชน์ตอบแทนที่ดีกว่าเรา เขาก็เลยยังรีรออยู่ไม่ตัดสินใจให้เราลงมือเสียที ทั้งๆ ที่เราได้เสนอแผนการทำงานเข้าไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2535"

ในระยะเวลาที่ใกล้กันนั้น อุดมก็เสนอโครงการสายการบินให้กับรัฐบาลพนมเปญอีก โดยในวันที่ 2 ธันวาคม 2534 บริษัท ฟูลดา คอร์เปอเรชั่น ได้เซ็นสัญญาร่วมทุนกับสายการบิน กัมพูเจีย แอร์ไลน์ซึ่งในเวลานั้นสายการบินแห่งนี้อยู่ภายใต้การดูแลของการท่าอากาศจรกัมพูชาตั้งเป็นบริษัท สายการบินนานาชาติกัมพูชา จำกัด (CAMBODIA INTERNATIONAL AIRLINE CO.,LTD.) และคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพนมเปญได้มีมติอนุมัติในวันต่อมา

ปัจจุบันสายการบินนานาชาติกัมพูชาหรือคัมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนลแอร์ไลน์ให้บริการบินในเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ-พนมเปญด้วย แต่กว่าที่อุดมจะเอาเครื่องบินขึ้นจากรันเวย์สนามบินโปเชนตงได้ก็ต้องออกแรงไม่น้อยเลยทีเดียว เนื่องเพราะรัฐบาลในกรุงพนมเปญกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในโดยภายหลังการลงนามในสัญญาปารีสเมื่อเดือนตุลาคม 2534 แล้ว กองกำลังสหประชาชาติจะต้องเข้าไปจัดให้มีการเลือกตั้งในกัมพูชา

เป็นที่ทราบกันดีว่าประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของกัมพูชา คือประวัติศาสตร์ของการรับรองความชอบธรรมในการบริหารประเทศของสมเด็จนโรดมสีหนุ ในสมัยที่สมเด็จนโรดม สีหนุยังครองกัมพูชาอยู่ในช่วงทศวรรษ 1950-1960 นั้น การเลือกตั้งทุกครั้งในสมัยนั้น สมเด็จนโรดม สีหนุ คือผู้ที่มีชัยชนะเหนือคู่แข่งทางการเมืองทั้งหมดอย่างเด็ดขาดการเลือกตั้งในปี 1955, 1958, 1962, และ 1966 พรรคสังคมราษฎร์นิยมของเจ้าสีหนุกวาดที่นั่งในสภาได้ถึง 80% ของทั้งหมด

ปัจจุบันสมเด็จนโรดม สีหนุ กลับมากัมพูชาอีกครั้งหลังจากที่ได้ระหกระเหินอยู่ในต่างแดนกว่า 20 ปี การกลับมาครั้งนี้สมเด็จนโรดม สีหนุ อยู่ในฐานะประธานคณะมนตรีสูงสุดแห่งชาติกัมพูชาแม้ว่าไม่มีอำนาจ แต่ทว่าสีหนุก็ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจที่คนกัมพูชาทั้งมวลนับถือ รัฐบาลในกรุงพนมเปญของนายฮุน เซน ย่อมเล็งเห็นประโยชน์ในข้อนี้ดีกว่าใครๆ การทำตัวให้ใกล้ชิดเจ้าสีหนุย่อมจะส่งผลดีต่อการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2536

เพราะฉะนั้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2535 รัฐบาลในกรุงพนมเปญของนายฮุน เซน จึงได้เชิญ เจ้าฟ้า นโรดม จักรพงษ์ พระโอรสองค์รองของสมเด็จ นโรดม สีหนุเข้าร่วมรัฐบาลในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี โดยเจ้าจักรพงษ์จะได้ควบคุมงานทางด้านเศรษฐกิจในส่วนที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวและการบิน

กิจการบินของสายการบินคัมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ ก็ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองนี้ด้วยเพราะ 2-3 วันก่อนที่เจ้าจักรพงษ์จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี มีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างเจ้าจักรพงษ์และผู้แทนบริษัทฟูลดา เจ้าจักรพงษ์ได้แจ้งให้ทราบว่าจะขอแก้ไขสัญญาร่วมทุนที่ได้มีการลงนามกันไปแล้ว

เจ้าจักรพงษ์เห็นว่าสัดส่วนการถือหุ้นไม่ถูกต้องและได้ชี้แจงว่าหน้าที่ในการอนุมัติสัญญาต้องอยู่ในความดูแลของพระองค์ ถ้าฟูลดาไม่ยอมเปลี่ยนสัดส่วนการถือหุ้นก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไขสัญญา ทางบริษัทฟูลดาก็ได้ตอบไปว่าถ้าเป็นการตัดสินใจจากคณะรัฐมนตรีบริษัทก็ยอมที่จะแก้ไขสัญญาตามที่เรียกร้อง

ในเดือนมีนาคมมีการประชุมเกี่ยวกับรายละเอียดในการดำเนินการบิน เช่นเรื่องสำนักงาน แต่ในเรื่องการรับพนักงาน และการฝึกอบรมลูกเรือไม่มีคำตอบจากเจ้าจักรพงษ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ และเป็นที่ชัดเจนว่าเจ้าจักรพงษ์จะไม่ให้ความร่วมมือเกี่ยวกับโครงการร่วมทุนระหว่างฟูลดาและการท่าอากาศจรกัมพูชา

เดือนเมษายนการเปิดทำการบินระหว่างกรุงเทพฯ-พนมเปญยังคงเป็นเรื่องที่ไม่อาจจะทำได้เพราะส่วนหนึ่งกรมการบินพาณิชย์ของไทยก็ยังไม่อนุมัติเส้นทางการบิน แก้ว สาพอลผู้อำนวยการการท่าอากาศจรกัมพูชาในฐานะประธานอำนวยการสายการบินคัมโบเดีย แอร์ไลน์ เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ เพื่อพบกับ ดร.ศรีสุข จันทรางสุอธิบดีกรมการบินพาณิชย์ (ในเวลานั้น) เพื่อขอสิทธิ์ในเส้นทางการบินพร้อมทั้งได้ยืนยันเป็นการส่วนตัวว่าสายการบิน คัมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ เป็นสายการบินแห่งชาติกัมพูชา

ดร.ศรีสุข ได้สัญญาจะให้สิทธิในเส้นทางการบินโดยอาศัยแนวทางที่มาจากข้อตกลงระหว่างไทย-กัมพูชาที่ทำกันขึ้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2534 ที่เชียงใหม่ แต่พอ แก้ว สาพอลเดินทางกลับพนมเปญเรื่องสิทธิในเส้นทางการบินก็ยังยืดเยื้ออยู่ต่อไป ทั้งดร.ศรีสุขยังได้ร้องขอทราบฐานะที่แท้จริงของสายการบินคัมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์

ปลายเดือนเมษายน แก้ว สาพอล ได้บอกกับอุดมว่าเจ้าจักรพงษ์ไม่เห็นด้วยที่จะให้สายการบินคัมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ทำการบินและขอให้อุดมเข้าพบเจ้าจักรพงษ์อุดมก็ยอมเข้าพบเจ้าจักรพงษ์ เพื่อขออนุญาตทำการบินในที่สุดเขาก็สามารถทำความพอพระทัยให้เจ้าจักรพงษ์ได้สำเร็จ

"ประเด็นที่มีการยกขึ้นมาในเวลานั้นคือบอกว่าเราผิดสัญญา โดยอ้างว่าในสัญญาระบุเอาไว้ว่าจะต้องทำการบินภายใน 90 วัน เขานับเวลาตั้งแต่เรายื่นเรื่องขอจัดตั้งบริษัทคือวันที่ 10 มกราคม 2535 แต่กว่าจะได้รับอนุมัติก็วันที่ 28 กุมภาพันธ์ เมื่อล่วงเลยมาถึงเดือนเมษายนเขาก็เห็นว่าเกิน 90 วันตามสัญญาแล้ว แต่เราก็โต้แย้งว่าการเริ่มนับตั้งแต่วันยื่นเรื่องไม่ถูกต้อง ควรจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการอนุมัติกระทั่งถึงวันที่เราเปิดทำการบินคือวันที่ 9 พฤษภาคม ก็ยังไม่ถึง 90 วัน" อุดมย้อนอดีตให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงการต่อสู้ทางธุรกิจของเขา

แม้กระทั่งสามารถเปิดทำการบินได้แล้วประมาณ 1 เดือน สายการบินของอุดมก็พบกับอุปสรรคอีกในวันที่ 17 มิถุนายน การท่าอากาศจรกัมพูชาได้ส่งจดหมายมาถึงบอกว่าคณะรัฐมนตรี โดยคำสั่งของเจ้านโรดมจักรพงษ์ให้ยกเลิกสัญญาร่วมทุนระหว่างการท่าอากาศจรกัมพูชา กับบริษัทฟูลดา ด้วยเหตุที่ทางรัฐบาลกัมพูชาไม่มีเงินทุนเพียงพอ ความหมายของจดหมายฉบับนี้คือรัฐบาลกัมพูชาโดยการตัดสินใจของเจ้าจักรพงษ์จะไม่เข้าร่วมเสี่ยงภัยในธุรกิจการบินกับอุดมอีกต่อไป และกิจการบินดังกล่าวก็เป็นเรื่องของบริษัทเอกชนที่รัฐบาลไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง

อุดมก็แก้เกมนี้ด้วยการตอบกลับไปว่าเรื่องนี้จะต้องมาจากการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ถ้าหากไม่ปรากฏว่าเป็นการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะเรื่องนี้ก็ไม่มีผล และที่สำคัญในความเป็นจริงแล้วการร่วมทุนดังกล่าวรัฐบาลกัมพูชาก็ไม่มีความจำเป็นอะไรต้องออกเงินแม้แต่เรียลเดียว เขาจึงส่งจดหมายตอบไปว่า

"…เราประหลาดใจที่ได้รับจดหมายจากท่านซึ่งบอกให้เราเปลี่ยนแปลงฐานะ เท่าที่เราเข้าใจรัฐบาลกัมพูชาจะให้หลักประกันแก่นักลงทุน ไม่ว่านักลงทุนภายใจประเทศหรือนักลงทุนจากต่างประเทศว่ารัฐบาลจะรักษาสัญญาที่ได้ลงนามเอาไว้กับนักลงทุนทั้งหลาย ในฐานะของนักลงทุนชาวต่างประเทศคนหนึ่งที่ได้ทำธุรกิจอยู่ในกัมพูชามา 2-3 ปีเราเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงสัญญาใดๆ จะต้องมาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นับแต่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจแบบเสรี รัฐบาลกัมพูชาก็ได้ประกาศหลักการนี้ต่อนักลงทุนอยู่เสมอๆ เราใคร่ขอยืนยันต่อท่านว่าตราบใดที่บริษัทของเราไม่ผิดสัญญารัฐบาลก็ชอบที่จะให้ความคุ้มครองสัญญาการร่วมทุนของเรา ซึ่งคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลได้เป็นผู้อนุมัติเอง และประการสำคัญสัญญาของเราก็อิงอยู่บนกฎหมายว่าด้วยการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งผ่านความเห็นชอบของสภาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1989 และประกาศใช้ในวันที่ 26 เดือนเดียวกัน กฎหมายก็ควรจะเป็นกฎหมาย…"

อุดมวิ่งเต้นหาคำแนะนำจากรัฐมนตรีหลายท่านในรัฐบาลในกรุงพนมเปญ ก็ได้ความว่าหลายท่านก็เห็นว่าคำสั่งของเจ้าจักรพงษ์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ทว่าเจ้าจักรพงษ์ดูเหมือนจะไม่ยอมให้เรื่องนี้ผ่านไปง่ายๆ

ในเดือนสิงหาคมมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายว่าด้วยการบินใหม่ สาระสำคัญของกฎหมายนั้นกำหนดให้การท่าอากาศจรกัมพูชาต้องไปอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะรัฐมนตรี ดูแลกิจการบินทั้งหมดทั้งในส่วนของรัฐและเอกชน ทั้งกิจการบินภายในประเทศและการบินระหว่างประเทศ และนอกจากนี้มีการแยกสายการบินกัมพูเจีย แอร์ไลน์ออกจากการท่าอากาศจรกัมพูชา เจ้าจักรพงษ์ มานั่งเป็นประธานอำนวยการสายการบินกัมพูเจียแอร์ไลน์อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ส่วนแก้ว สาพอลคนเดิมนั้นถูกลดอำนาจลงเหลือเพียงตำแหน่งผู้อำนวยการการท่าอากาศจรกัมพูชา ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าจักรพงษ์อีกที

แหล่งข่าวในวงการบินรายหนึ่งเปิดเผยว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งสำคัญนี้ทำให้ฐานะของสายการบินคัมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ของอุดมเปลี่ยนแปลงไปด้วย "เดิม แก้ว สาพอลเคยไปบอกใครต่อใครว่า คัมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ เป็นสายการบินแห่งชาติ แต่เมื่อถูกโยกย้ายไปแล้วเขาก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะปกป้องคุณอุดมได้อีกต่อไป" แหล่งข่าวกล่าว

วันที่ 17 สิงหาคม 2535 มีจดหมายจากสายการบินกัมพูเจีย แอร์ไลน์ส่งถึงกรมการบินพาณิชย์ของไทยประกาศว่าสายการบินคัมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ และสายการบิน เอส.เค.แอร์ ซึ่งเปิดทำการบินมาตั้งแต่ปี 2534 เป็นสายการบินของเอกชนและทางการกัมพูชาได้เลือกสายการบินเอส.เค.แอร์เป็นสายการบินเป็นผู้แทนที่มีอำนาจเต็มของกสายการบินกัมพูเจีย แอร์ไลน์

จดหมายฉบับดังกล่าวออกมาโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอีกเช่นเคย และจดหมายฉบับนี้ก็แสดงถึงฐานะของสายการบินคัมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ที่แตกต่างไปจากสัญญาร่วมทุนที่เคยได้ทำกันเอาไว้ วัตถุประสงค์ของสัญญาร่วมทุน ข้อ 6 เขียนเอาไว้ว่า "THE VENTURE CO. (หมายถึง CAMBODIA INTERNATIONAL AIRLINES) SHALL BE RECOGNIZED AS THE REPRESENTATIVE OF THE STATE FOR THE AIRLINES BUSINESS"

เอส.เค.แอร์ เป็นบริษัทในกลุ่มธุรกิจของสมพร สหวัฒน์ นักธุรกิจไทยอีกผู้หนึ่งที่มีความคร่ำหวอดในวงการลงทุนทำธุรกิจในกัมพูชามานาน อาจจะถือว่าเป็นนักธุรกิจไทยรุ่นแรกที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชานับเป็นรุ่นพี่ของอุดมก็ว่าได้ แต่สมพรไม่ได้เข้ามาบริหารกิจการทางด้านการบินนี้เองโดยตรง เขาเพียงแต่นั่งเป็นประธานกรรมการ แล้วให้ โกวิท ธัญญรัตนกุล เป็นผู้บริหารของบริษัทที่ทำการบินแห่งนี้

เอส.เค.แอร์เปิดทำการบินระหว่างพนมเปญ-กรุงเทพฯ เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2534 โดยทำสัญญาเช่าเครื่องบิน TUPOLEV TU 134 ขนาด 72 ที่นั่งจากสายการบินกัมพูเจีย แอร์ไลน์มาทำการบินแบบเช่าเหมาลำ ได้รับการสนับสนุนการบินจากบริษัท บัลติก แอร์ เซอร์วิส ในระยะแรกที่ทำการบินไม่ประสบความสำเร็จมากนักเนื่องจากใช้เครื่องบินเก่าแม้จะบินด้วยราคาที่ค่อนข้างถูกแต่ในช่วงแรกๆ ก็ยังสู้คู่แข่งอย่างบางกอก แอร์เวย์ไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังสามารถทำการบินอยู่ได้กระทั่งปัจจุบัน

แหล่งข่าวในวงการบินเปิดเผยว่า ในความเป็นจริงยังไม่อาจจะนับว่าเอส.เค.แอร์เป็นบริษัทสายการบินได้ เนื่องจากสัญญาที่ทำเอาไว้กับทางการกัมพูชานั้นเป็นสัญญาเช่าเครื่องบิน ไม่มีความตอนใดในสัญญาระบุเอาไว้อย่างชัดแจ้งเหมือนกรณีของสายการบินคัมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ ว่าจะเป็นสายการบินที่ทำการบินในนามของประเทศกัมพูชา ฐานะดังกล่าวได้รับการยกขึ้นภายหลังที่มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางการเมืองในการบริหารงานการบินของกัมพูชา

"นักธุรกิจไทยทั้งสองกลุ่มเข้าไปจับเส้นสายทางการเมืองคนละฝ่าย ทางคุณอุดม เขาสนิทสนมกับแก้ว สาพอล ผู้อำนวยการการท่าอากาศจรกัมพูชา สนิทกับท่านเจีย ชานโต รองประธานถาวร คณะกรรมาธิการลงทุน แต่คุณสมพร เข้าทางเจ้าจักรพงษ์ แต่เดิมท่านแก้ว คุมการท่าอากาศจรก็คุมสายการบินกัมพูเจีย แอร์ไลน์ด้วย ดังนั้นเขาเลยสับหลีกกันได้คือให้สายการบิน ท่านก็อยากจะให้สายการบินกัมพูเจียบินระหว่างประเทศ แล้วก็เลยจัดแจงให้เอส.เค.แอร์ก็เช่าเครื่องของกัมพูเจียอยู่แล้ว" แหล่งข่าวในวงการบินวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงในการบริหารงานการบิน

ผลการเจรจาเรื่องสิทธิการบินระหว่างไทยและกัมพูชาเมื่อปลายเดือนกันยายนที่กรุงพนมเปญได้ตกลงกันว่าฝ่ายกัมพูชาจะมีสายการบิน 3 สายทำการบินในเส้นทางพนมเปญ-กรุงเทพ-พนมเปญคือสายการบินกัมพูเจีย แอร์ไลน์ ซึ่งถือเป็นสายการบินแห่งชาติกัมพูชา สายการบิน เอส.เค.แอร์ของกลุ่ม สมพร สหวัตรน์และสายการบิน คัมโบ อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ของอุดม ตันติประสงค์ชัย สิทธิอันนี้จะใช้บังคับจนกว่าจะมีการเจรจาใหม่ในเดือนมีนาคม 2536

ผลการเจรจาเช่นนี้ทำให้อุดมมีความลำบากใจพอประมาณ เพราะด้านหนึ่งเขาเคยได้รับสัญญาที่เป็นมั่นเป็นเหมาะว่าเป็นสายการบินแห่งชาติของกัมพูชา เขาเคยทำสัญญาแลกเปลี่ยนบริการตั๋วและผู้โดยสาร กับการบินไทย ซึ่งโดยหลักสัญญาประเภทนี้จะทำกัน ระหว่างสายการบินแห่งชาติเท่านั้น ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าสายการบิน คัมโบเดียอินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ ไม่ได้มีฐานะเป็นสายการบินแห่งชาติอีกต่อไปแล้วจึงยังเป็นที่สงสัยกันอยู่ว่าสัญญาเช่นนี้จะมีผลบังคับหรือไม่ อุดม กล่าวว่า "ยังไม่แน่ว่าประเด็นนี้จะออกมาอย่างไร ผมก็หวังแต่เพียงว่าการบินไทยจะรักษาสัญญาเท่านั้น"

เรื่องความผันแปรทางธุรกิจอย่างเช่นที่บริษัทฟูลดากำลังประสบอยู่เช่นนี้ คงไม่ใช่กรณีสุดท้ายสำหรับนักลงทุนต่างประเทศที่ไปลงทุน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศกัมพูชาเชื่อว่าผู้หลักผู้ใหญ่หลายต่อหลายคนในรัฐบาลพนมเปญ ไม่ว่าจะเป็นท่านเจีย ชานโต รองประธานถาวรคณะกรรมาธิการการลงทุน ท่าน บุน อุ้ย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หรือท่านเตปพาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกหรือแม้แต่ท่าน เตีย บัน ที่เคยประกาศว่าสายการบินคัมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์ไลน์ เป็นสายการบินแห่งชาติของกัมพูชาที่เปิดทำการบินระหว่างประเทศ คงจะไม่มีความประสงค์อันใดที่จะบิดพลิ้วสัญญาที่ได้เคยให้ไว้ต่อบริษัทฟูลดา หรือบริษัทอื่นใดที่อาจจะมีขึ้นในอนาคต แต่ปัญหาคือความผกผันทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเวลานี้ท่านทั้งหลายเหล่านี้ก็ยังไม่อาจจะจับทิศทางได้ ดีไม่ดีอาจจะพลอยวกกลับเข้าหาตัวท่านอีกก็เป็นได้

สถานการณ์ของกระบวนการสันติภาพดูเหมือนว่าจะยังหาทางออกไม่ได้ เขมรแดงยังคงหมกมุ่นอยู่กับปัญหาเก่าๆ ของตัวเองกล่าวคือไม่สู้มีความมั่นใจนักว่าจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาสักเพียงใด ดังนั้นจำต้องอาศัยกลยุทธ์เก่าๆ คือถ่วงเวลาหาทางใช้กำลังยึดพื้นที่เพิ่มมากขึ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้และทำการค้าไม้ ค้าพลอยกับนักธุรกิจตามแนวชายแดนของไทยไปอีกสักระยะหนึ่ง เพื่อสะสมทุนไว้ใช้ในการเลือกตั้ง สลับกับการเสนอข้อเสนอใหม่ๆ เพื่อหาทางลดอำนาจของรัฐบาลในกรุงพนมเปญ

ดูเหมือนว่าเขมรแดงจะมีความวิตกกังวลกับอำนาจของรัฐบาลพนมเปญอยู่มาก ด้วยว่าปัจจุบันการบริหารงานบ้านเมืองเกือบจะทั้งหมดของกัมพูชาอยู่ภายใต้กลไกของรัฐบาลพนมเปญ การลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมากทำสัญญากับรัฐบาลในกรุงพนมเปญ ประการสำคัญการลงทุนจากต่างประเทศที่ทำสัญญากับรัฐบาลในกรุงพนมเปญ ประการสำคัญการลงทุนจากต่างประเทศที่ทำสัญญากับรัฐบาลนี้ เป็นการลงทุนที่ทันสมัยเป็นการทำธุรกิจที่เรียกได้ว่าเป็นเนื้อเป็นหนังของเศรษฐกิจกัมพูชาเลยทีเดียว ตรงกันข้ามกับการลงทุนในเขตยึดครองของเขมรแดงเป็นแต่เพียงการประกอบการค้าขายทรัพย์ในดิน สินในน้ำที่มีอยู่คู่โลกที่อีกไม่กี่วันคงจะหมดไป

สิ่งที่เขมรแดงจะต้องคิดถ้าหากต้องการจะเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพและการเลือกตั้งคือ ตนเองจะได้ประโยชน์จากธุรกิจมูลค่ามหาศาลในกรุงพนมเปญอย่างไร และนี่เป็นปัญหาใหญ่สำหรับนักลงทุนที่แสวงโอกาสทางธุรกิจในกัมพูชาจะต้องขบคิดอย่างหนัก

ไม่แต่เฉพาะเขมรแดงเท่านั้นที่กำลังฉายเงาแห่งความยุ่งยากสู่นักลงทุนในกัมพูชา กองกำลังสหประชาชาติและ UNTAC ก็สร้างปัญหาให้กับนักลงทุนในกัมพูชาได้ไม่น้อยทีเดียว

การปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ 22,000 คนในกัมพูชาได้สร้างความปั่นป่วนให้เศรษฐกิจอย่างมาก แหล่งข่าวซึ่งทำธุรกิจในกรุงพนมเปญเปิดเผยว่า พฤติกรรมการบริโภคของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติสร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจกัมพูชา การใช้จ่ายเงินเหล่านั้นทำให้เงินเฟ้อของกัมพูชาสูงถึง 300%

"UNTAC เป็นคนสร้างปัญหาขึ้นมาเอง แต่ไม่มีปัญญาจะแก้ไข เจ้าหน้าที่สหประชาชาติใช้จ่ายอย่างไม่ยั้งมือในกรุงพนมเปญ การที่เงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้" แหล่งข่าวกล่าว

UNTAC ได้แถลงว่าเศรษฐกิจกัมพูชาประสบปัญหาอย่างมากดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากตอนต้นปี 130% ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 158% เฉพาะเดือนกรกฎาคมเดือนเดียว เงินเฟ้อสูงถึง 22.59% ราคาอาหารเพิ่มขึ้น 24.61% เสื้อผ้า 23.05% การที่เจ้าหน้าที่สหประชาชาติเข้าไปประจำในกัมพูชา ทำให้สกุลเงินต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เงินสกุลต่างประเทศมีอยู่ในกัมพูชาประมาณ 721 ล้านเรียล แต่ในเดือนมิถุนายนปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 9,663 ล้านเรียล "คนทั่วไปอาจจะเข้าใจว่าการที่เงินหลั่งไหลเข้ากัมพูชามากมายขนาดนี้จะทำให้คนเขมรรวย แต่ในความเป็นจริงแล้วเศรษฐกิจกัมพุชากำลังอยู่ในสภาวะที่ปั่นป่วน เงินผ่านประเทศมากๆ ธุรกิจธนาคารได้ประโยชน์สูงสุด แต่ประชาชนและธุรกิจอื่นๆ ต้องมาต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้ออย่างหนัก สหประชาชาติไม่เคยมีมาตรการใดๆ ที่จะแก้ไขได้เลย" แหล่งข่าวที่ทำธุรกิจในกัมพูชารายหนึ่งให้ความเห็น "ผู้จัดการ"

UNTAC พยายามแก้ปัญหาด้วยการเข้าควบคุมธนาคารชาติกัมพูชา กระทั่งเป็นเหตุตื่นตระหนกในวงการธุรกิจไทยในกัมพูชาชั่วระยะหนึ่ง ด้วยเกรงว่าธุรกิจจะถูกทบทวน แต่จะเรียง ศิริวงศ์ ผู้ว่าการธนาคารชาติกัมพูชา ได้ออกมารับรองว่าธุรกิจจะดำเนินไปเหมือนเดิม ธนาคารจะไม่มีทางถูกควบคุมโดย UNTAC เป็นอันขาด

โรเกอร์ ลอว์เรนซ์ ที่ปรึกษาการเงินของ UNTACได้เจรจากับธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อให้สถาบันการเงินทั้งสองหามาตรการฉุกเฉินมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กัมพูชาธนาคารโลกตอบสนองคำขอนั้นโดยกำหนดวงเงิน 83 ล้านเหรียญสหรัฐให้กัมพูชากู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำโดยแบ่งส่วนหนึ่งประมาณ 35 ล้านเหรียญสหรัฐเข้าบัญชีพิเศษที่ธนาคารชาติกัมพูชาเพื่อชำระหนี้ที่นำสินค้าเข้า และเพื่อเป็นการป้องกันข้อครหาว่าให้การสนับสนุนรัฐบาลกรุงพนมเปญ UNTAC จึงดูแลบัญชีนี้เอง และเงินก้อนนี้ก็จะมอบให้รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง เนื่องจากเขมรแดงมักจะยกปัญหาเรื่องเงินช่วยเหลือมาเป็นประเด็นเสมอๆ ว่าเป็นการให้การสนับสนุนรัฐบาลพนมเปญ

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามกัมพูชา ก็ยังเป็นประเทศที่รอคอยการฟื้นฟูและเงินลงทุน อยู่มาก UNTAC มีแผนที่จะอัดฉีดเงินอีกประมาณเกือบ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐลงไปในกัมพูชาในจำนวนนี้จะใช้ในการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ตั้งแต่ถนน ประปา ไฟฟ้า มูลค่าทั้งสิ้นกว่า 150 ล้านเหรียญสหรัฐ

ถนนที่เป็นถนนชั้นหนึ่งของกัมพูชามีความยาวทั้งสิ้นประมาณ 3,000 กิโลเมตร ถนนเชื่อมจังหวัด 3,100 กิโลเมตร รวมๆ แล้วกัมพูชามีถนนทั้งที่พอใช้ได้และใช้ไม่ได้อยู่ 28,000 กิโลเมตรซึ่งจะต้องได้รับการปรับปรุง แต่ไม่แน่นักว่างบประมาณ 40 ล้านเหรียญสหรัฐจะซ่อมไปได้ไกลแค่ไหน

ขณะนี้ UNTAC กำลังเร่งลงมือจัดการกับการซ่อมสร้างสาธารณูปโภคทั้งหลายแหล่อยู่เพื่อให้ทันกับกำหนดการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2536 แม้เขมรแดงจะไม่แสดงความคืบหน้าในการเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพ แต่สหประชาชาติก็ยังไม่ได้แสดงเจตนาที่จะยืดเวลาในการสร้างสันติภาพออกไป

การเลือกตั้งอาจจะมีขึ้นตามกำหนดหรืออาจจะช้าไปกว่านั้นอีกสักเล็กน้อย สถานการณ์หลังนั้นยังไม่มีใครเดาออกว่าจะเป็นอย่างไร โฉมหน้าของรัฐบาลเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน ผลของความเปลี่ยนแปลงจะสร้างผลกระทบต่อการลงทุนในกัมพูชาอย่างไรยังเป็นที่เรื่องที่ยากจะคาดเดา แต่ประสบการณ์ของอุดม ตันติประสงค์ชัยและบริษัทฟูลดาในกรณีสายการบิน คัมโบเดีย อินเตอร์เนชั่นแนลแอร์ไลน์น่าจะเป็นกล้องส่องเส้นทางการ ลงทุนในกัมพูชาได้เป็นอย่างดีว่าราบรื่นและขรุขระ เพียงใด!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us