|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
การจัดการก็เช่นเดียวกับศาสตร์ประเภทอื่นๆครับ ที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่ง ดังนั้นการที่จะเป็นผู้บริหารอินเทรนด์ ไม่ตกยุค และสามารถนำองค์กรฝ่ากระแสการแข่งขันรุนแรงได้นั้น จำต้องหมั่นเรียนรู้แนวคิดและเครื่องมือทางการจัดการใหม่ๆที่กำลังเป็นที่นิยม อย่างต่อเนื่องด้วย จึงจะนำมาประยุกต์ใช้ในองค์กรได้เป็นอย่างสัมฤทธิ์ผล
และจากข้อมูลการสำรวจของบริษัท Bain & Company ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการบริหารชั้นแนวหน้าของโลก ได้ทำการวิจัยกับกิจการชั้นนำในทุกทวีป อันประกอบไปด้วย ลาตินอเมริกา เอเชียแปซิฟิค ยุโรป และ อเมริกาเหนือ ได้ผลสรุปที่น่าสนใจมาก จึงนำมาวิเคราะห์และสรุปเป็นแนวโน้มทางการจัดการในอนาคตได้ดังนี้ครับ
แนวโน้มแรกก็คือ การมุ่งเน้นที่การจัดการลูกค้าที่เฉียบคมขึ้น เนื่องจากเครื่องมือการจัดการที่ได้รับการยอมรับจนติดอันดับยอดนิยม ก็คือ การจัดการลูกค้าสัมพันธ์ หรือ ซีอาร์เอ็ม ที่เรารู้จักกันดี และที่ตามมาติดๆก็คือ การจัดกลุ่มลูกค้า (Customer Segmentation) ซึ่งผู้บริหารมองว่าความสำเร็จขององค์กรในทศวรรษนี้ ต้องมาจากลูกค้าเป็นปัจจัยสำคัญครับ
โดยกิจการจะต้องเข้าใจลูกค้าของตนอย่างลึกซึ้ง และสามารถสร้างความผูกพันกันอย่างเหนียวแน่น ไม่ใช่ให้เป็นเพียงผู้ซื้อสินค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ให้การสนับสนุนกิจการของเราในอนาคตด้วย สามารถบอกเล่าเก้าสิบถึงจุดเด่นหลายประการของสินค้าของเรา กับลูกค้าคนอื่นๆ ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างสายใยความตระหนักและภักดีต่อลูกค้าในวงกว้าง ทั้งยังก่อให้เกิดการโฆษณาแบบปากต่อปาก (Word of Mouth) ให้กับกิจการต่อไปในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อที่น่าคิดในขณะนี้ครับ เพราะส่วนใหญ่ผู้บริหารจะทราบถึงความสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์และการท้ำให้ลูกค้าเกิดความรักความผูกพันกับกิจการ แต่ที่ยังขาดอยู่ก็คือ จะทำอย่างไร จึงจะสร้างผลตอบแทนให้คุ้มค่าจากการลงทุนในเรื่องความภักดีดังกล่าว
ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าและบริการของเราอย่างแท้จริง มิใช่แค่ชอบแล้วเก็บไว้ในใจเท่านั้นครับ แต่ยังต้องเข้าไปลึกถึงในจิตใจเลยว่า ทำไมลูกค้าบางกลุ่มรู้จักผูกพันชอบใจในสินค้าของเราแล้ว แต่ไม่ซื้อ อาจจะเนื่องมาจากสาเหตุอื่นๆหลายประการ อาทิ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง อายุเปลี่ยน ขั้นตอนของชีวิตเปลี่ยน ต้องมีครอบครัวมีลูก ทำให้ต้องเปลี่ยนรูปแบบการบริโภค
หรืออาจจะเป็นการที่ ลูกค้ามีทัศนคติในการดำรงชีวิตเปลี่ยนไป เนื่องจากค่านิยมของสังคมเปลี่ยนแปลง ดังเช่น ลูกค้าห่วงใยสุขภาพและสังคมสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากขึ้น หากกิจการจะยังต้องการจับตลาดนี้ไว้ให้ได้ ก็ต้องมีการปรับรูปแบบสินค้าและบริการให้ตรงกับพฤติกรรมและทัศนคติของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงครับ...
แนวโน้มที่สอง คือ การที่ผู้บริหารของกิจการ จะต้องมุ่งเน้นการพิจารณา "ภายนอก" (Outward looking) มากขึ้น โดยเครื่องมือการจัดการที่ได้รับความนิยมอย่างมากอีกประเภทหนึ่ง ก็คือ พันธมิตรธุรกิจ เพื่อใช้เป็นการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกิจการกับหน่วยงานอื่นๆภายนอก โดยจากผลการศึกษานั้น ปรากฏว่านักบริหาร 60% ของที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ยอมรับว่ากิจการของตนจะสร้างสรรค์นวัตกรรมล่าสุดได้สมใจอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ด้วยการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ไม่ว่าจะเป็น คู่ค้า ลูกค้า ซัพพลายเออร์ หรือ แม้แต่คู่แข่งขันเองก็ตาม
ดังนั้น การใช้เครื่องมือทางด้านพันธมิตรธุรกิจ จึงเปรียบเสมือนการสร้างความโดดเด่นให้ก้าวล้ำนำหน้าภายในอุตสาหกรรมนั่นเอง
รวมถึง การควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (Merger and Acquisition: M&A) ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเครื่องมือที่มีความเสี่ยง แต่หากสัมฤทธิ์ผล ก็จะได้รับผลตอบแทนสูง จึงยังได้รับความนิยมค่อนข้างมาก และถือว่าเป็นการสร้างสมการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยใช้ทรัพยากรจากภายนอกองค์กร เพื่อเป็น "ทางลัด" มุ่งสู่ความเจริญก้าวหน้าของกิจการในที่สุดด้วย
แนวโน้มสุดท้าย ของเครื่องมือทางการจัดการสายพันธุ์ใหม่ ก็คือ ไม่เน้นในด้านการลดต้นทุนเป็นหลัก แต่จะมุ่งเข็มสู่การพัฒนาความสามารถเฉพาะ อันจะนำไปสู่การสร้างความแตกต่างขององค์กรจากกิจการคู่แข่งได้ โดยจะพิจารณาได้จากเครื่องมือใหม่ๆส่วนใหญ่ที่กำลังเป็นที่นิยมของผู้บริหาร ดังเช่น การวางแผนกลยุทธ์ การพัฒนาความสามารถหลัก (Core Competency) การรื้อปรับกระบวนการดำเนินงาน (Business Process Re-engineering) รวมถึง การจัดการความรู้ของบุคลากรในองค์กร
ซึ่งเครื่องมือทางการจัดการทั้งหมดข้างต้น นับว่าจะช่วยให้กิจการสร้างสมความเชี่ยวชาญ รวมถึง การถ่ายโอนและใช้ความรู้ความสามารถของบุคลากรไปยังทั่วทั้งกิจการ อันจะส่งผลให้กิจการมีความสามารถทางการแข่งขันเหนือกิจการอื่นๆ รวมถึงสร้างวัฒนธรรมในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องให้กับบุคลากรทุกระดับขององค์กรด้วย อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนของกิจการในอนาคต
โดยสรุป แนวโน้มเครื่องมือทางการจัดการแห่งอนาคต จะมุ่งเน้นในการสร้าง "อำนาจและพลังทางการแข่งขัน" ให้เหนือคู่แข่งผ่านทางการสร้างความภักดีต่อลูกค้าและความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์มากขึ้นในอนาคต โดยเน้นการแสวงหาโอกาสและความได้เปรียบทางธุรกิจจากภายนอกองค์กรมากขึ้นครับ
|
|
 |
|
|