"เมื่อทรัพย์สินถูกโอนเป็นของรัฐ ผู้เสียหายสามารถดำเนินการทางกฎหมายระหว่างประเทศได้
แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปว่าหลักเกณฑ์อะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง ความไม่แน่นอนนี้
นักลงทุนต้องระวังให้ดี"
จากครั้งที่แล้วที่กล่าวถึง การโอนเป็นของชาติในอดีตถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เพราะเป็นการฝ่าฝืนต่อสิทธิที่ได้รับมาแล้วโดยชอบธรรม
ดังนั้น รัฐผู้กระทำการโอนจึงเป็นผู้ที่ทำผิดกฎหมายและมีหน้าที่จะต้องลบล้างความเสียหายทั้งปวงอันเนื่องมาแต่การโอนอันผิดกฎหมายของตนนั้น
ซึ่งการที่จะลบล้างความเสียหายนี้ให้หมดสิ้นไปได้ก็ด้วยการคืนทรัพย์สินทั้งหมดที่ได้มาโดยการโอนเป็นของชาตินั้น
หรือในกรณีที่ไม่อาจสามารถคืนได้ก็จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเท่ากับค่าแห่งทรัพย์สินที่ถูกโอนไป
รวมทั้งการขาดประโยชน์ที่ผู้เสียหายจะได้รับในอนาคตด้วย
กล่าวโดยย่อคือ ผู้เสียหายจะได้รับคืนทั้งความเสียหายทั้งหมดที่บังเกิดขึ้นและรวมทั้งกำไรในอนาคต
ซึ่งขาดหายไปด้วย
ดังปรากฏในคำพิพากษาของศาลสถิตย์ยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อ ค.ศ. 1928
ในคดีโรงงาน CHORZOW ซึ่งศาลได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการชดเชยความเสียหายว่า
จะต้องสถาปนากลับคืนในทุกวิถีทางที่เป็นได้ ซึ่งสภาพเดิมที่เป็นอยู่หากการกระทำความผิดนั้นไม่เกิดขึ้น
ดังนั้นในอดีตรัฐซึ่งผู้เสียหายมีสัญชาติอยู่ จึงมักเรียกร้องให้รัฐผู้โอนชดใช้ความเสียหายให้แก่คนของตนโดยถือหลักว่า
ค่าสินไหมทดแทนนั้น ต้อง
1. พอเพียง (ADEQUATE) หรือเที่ยงธรรม (JUST) คือเต็มตามความเสียหายทั้งปวงอันเนื่องมาแต่การโอนเป็นของชาตินั้น
2.
3. ฉับพลัน (PROMPT) ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ค่าเสียหายที่ล่าช้า เช่น
10 ปี 20 ปีหรือผ่อนชำระ ซึ่งจะทำให้ผู้ถูกโอนเสียหายเพิ่มขึ้นไปอีก ดังนั้นจึงต้องชำระค่าสินไหมทดแทนนั้นในทันทีที่ทำการโอนเป็นของชาติหรือในระยะเวลาอันสั้นหลังจากการโอนนั้น
4.
5. และบังเกิดผลจริงจังหรือรัฐผู้โอนต้องชดใช้เป็นหลักทรัพย์ หรือเงินตราที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายและผู้เสียหายซึ่งได้รับชดใช้มานั้น
ต้องสามารถนำสิ่งที่ตนได้รับออกมานอกประเทศของรัฐผู้โอนนั้นได้โดยอิสระ
6.
ในปัจจุบัน หลักการกำหนดค่าสินไหมทดแทนได้วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปจากหลักเดิมดังกล่าวข้างต้น
ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันไม่ถือว่า การโอนเป็นของชาติเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเหมือนเช่นที่ยึดถือกันในอดีตอีกต่อไป
กฎหมายระหว่างประเทศในขณะนี้ไม่คุ้มครองสิทธิเหนือทรัพย์ที่เอกชนได้รับมาแล้วโดยชอบธรรม
แต่คุ้มครองสิทธิของบรรดารัฐทั้งหลายในอันที่จะเลือกระบบเศรษฐกิจและสังคมของตนได้อย่างอิสระ
และรัฐบาลผู้ปกครองรัฐแต่ละรัฐในแต่ละสมัยย่อมสามารถเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและสังคมไปได้เสมอตามที่ตนปรารถนา
ดังจะเห็นได้ว่าจากมาตรา 1 ในบทที่ 2 ของกฎบัตรว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ในทางเศรษฐกิจของรัฐ
ซึ่งบัญญัติว่า "แต่ละรัฐย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิ อธิปไตยและไม่อาจโอนได้ในอันที่จะเลือกระบอบเศรษฐกิจแห่งตน"
เมื่อการโอนเป็นของชาติในตัวของมันเองไม่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แต่เป็นการใช้สิทธิอธิปไตยของรัฐ
ดังนั้นรัฐผู้โอนจึงไม่มีความรับผิดระหว่างประเทศ และไม่น่าที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ถูกโอน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่รัฐได้ทำการโอนเป็นของชาติไปตาม แผนการทางเศรษฐกิจของตนซึ่งบุคคลสัญชาติของรัฐผู้โอนนั้นก็ไม่ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเช่นกัน
อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติรัฐทั้งหลายผู้ทำการโอนเป็นของชาติไปตามสิทธิที่ตนมีอยู่โดยชอบด้วยกฎหมายมักจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่คนต่างด้าว
โดยทำเป็นข้อตกลงเหมาจ่ายกับรัฐเจ้าของสัญชาติของผู้เสียหาย
ดังนั้น การโอนเป็นของชาติจึงยังคงมีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกันอยู่เช่นเดิม
แต่เนื่องจากในอดีตการโอนเป็นของชาติเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายแต่ในปัจจุบันเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้นแนวความคิดหรือหลักการพื้นฐานในการคำนวณค่าสินไหมทดแทนจึงแตกต่างไปจากหลักการเดิม
ซึ่งมุ่งคุ้มครองสิทธิอันได้รับมาแล้ว โดยชอบด้วยการทำให้กลับคืนสู่หลักฐานเดิมดังกล่าวข้างต้น
ในปัจจุบันแนวความคิดในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนกรณีการโอนเป็นของชาติมีพื้นฐานอยู่บนหลัก
"ลาภมิควรได้" กล่าวคือ การที่รัฐ ทั้งหลายซึ่งใช้สิทธิโอนเป็นของชาติโดยชอบด้วยกฎหมายยังคงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ถูกโอนก็เพราะว่าหากรัฐจะไม่ชดใช้อะไรเลย
เมื่อโอนของเขามาได้แล้วรัฐนั้นก็จะเป็นผู้ได้ลาภงอกเงยมาโดยมิบังควรอันจะยังความเสียหายให้แก่รัฐอื่น
ซึ่งบุคคลของชาติได้นำทรัพย์สินมาลงทุนไว้ในรัฐ ผู้โอนนั้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่รัฐผู้โอนจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่มากน้อยเพียงใด
จึงต้องพิจารณาดูว่ารัฐผู้โอนนั้นได้รับลาภหรือกำไรอันเนื่องมาจากการโอนนั้นหรือไม่
หากรัฐได้รับรัฐก็จำต้องชดใช้คืนให้แก่ผู้มาลงทุนไป แต่ถ้ารัฐผู้โอนมิได้ลาภหรือกำไรใดๆ
เช่น โอนกิจการของคนต่างด้าว ซึ่งเป็นกิจการที่ยังความเสียหายต่อการอุตสาหกรรมหรือพาณิชย์
หรือเป็นภัยอันตรายต่อประชาชน เพื่อทำลายกิจการนั้นๆ ให้หมดสิ้นไป ดังนี้จะเห็นได้ว่ารัฐผู้โอนมิได้ลาภงอกเงยใดๆ
จึงไม่จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย
ด้วยเหตุดังกล่าว การคิดคำนวณค่าสินไหมทดแทน ในปัจจุบันจึงมิได้ดูว่าผู้ถูกโอนมีความสูญเสียหรือยากจนลงเพราะการโอนนั้นเพียงใด
ก็บังคับให้รัฐชดใช้ความเสียหายเพียงนั้น
แต่ดูว่ารัฐผู้โอนได้ลาภงอกมากน้อยแค่ไหน ถ้ารัฐผู้โอนมิได้ลาภงอกแม้ผู้ถูกโอนจะมีความสูญเสียรัฐผู้โอนนั้นก็จำเป็นต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แต่อย่างใด
หลักลาภมิควรได้ ซึ่งเป็นฐานในการคิดคำนวณค่าสินไหมทดแทนนี้ ทำให้จำต้องพิจารณาเรื่องค่าสินไหมทดแทนนี้ตามข้อเท็จจิรงของการโอนเป็นของชาติเป็นรายๆ
ไป และเพื่อให้เกิดความยุติธรรมกันทั้งฝ่ายผู้โอนและผู้ถูกโอนจึงจำต้องดูลาภของทั้ง
2 ฝ่ายทั้งจากของรัฐผู้โอนหลังจากโอนและลาภของผู้ถูกโอนที่เคยได้รับมาแล้วก่อนการโอนด้วย
เนื่องจากการคิดคำนวณค่าสินไหมทดแทนเปลี่ยนแปลงหลักการไป ดังนั้นค่าสินไหมทดแทนจึงไม่ต้องพอเพียงเที่ยงธรรมฉับพลันและบังเกิดผลจริงจัง
ซึ่งเป็นสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติกันอยู่ในอดีต อันเป็นหลักการซึ่งฝ่ายประเทศที่พัฒนาแล้ว
ซึ่งมักมีคนในสัญชาติของตนไปลงทุนในต่างประเทศพยายามอ้างอยู่เสมอๆ ว่าเป็นหลักการที่กลายเป็นจารีตประเพณีไปแล้ว
ทั้งนี้เพื่อมุ่งคุ้มครองคนในสัญชาติของประเทศพัฒนาแล้วที่ไปลงทุนในต่างประเทศให้ได้คืนมาซึ่งทรัพย์สินทั้งหลายที่นำไปลงทุนไว้ทั้งหมด
แต่บรรดาประเทศผู้รับการลงทุนโดยเฉพาะประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งเป็นผู้ทำการโอนเป็นของต่างชาติ
ไม่ยอมรับหลักการในอดีตดังกล่าว และเสนอให้มีการคิดคำนวณค่าสินไหมทดแทนใหม่ตามหลักลาภมิควรได้ดังกล่าวข้างต้นเพื่อบรรลุถึง
"ค่าสินไหมทดแทนที่เหมาะสม"
การนำหลักค่าสินไหมทดแทนที่เหมาะสมนี้นับว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้การโอนเป็นของชาติอันเป็นสิทธิของรัฐโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น
สามารถบรรลุเป้าหมายโดยถูกต้องยุติธรรมทั้งเพื่อฝ่ายรัฐผู้โอนและบุคคลที่ถูกโอน
ดังนั้นจึงอาจมีกรณีปรากฏว่ารัฐผู้โอนไม่จำเป็นต้องชำระค่าสินไหมทดแทนใดๆ
เลยหากเอกชนผู้ถูกโอนนั้นได้รับกำไรไปแล้วอย่างมหาศาลตลอดเวลาที่ทำกิจการอยู่ก่อนถูกโอน
เมื่อเป็นเช่นนี้ประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย ซึ่งเคยเสียเปรียบบริษัทต่างประเทสมาเป็นเวลานาน
โดยเฉพาะในระหว่างตกอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศมหาอำนาจนั้น จึงย่อมสามารถโอนเป็นของชาติได้โดยมิจำต้องหาเงินมาซื้อกิจการที่ตนถูกเอารัดเอาเปรียบในอดีตอย่างมากมายกลับคืนมาเป็นของตน
เมื่อการโอนเป็นของชาติยังตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้นวิธีการที่รัฐ
ซึ่งผู้เสียหายมีสัญชาติอยู่จะใช้ในการระงับข้อพิพาทกับรัฐผู้โอนนั้นจึงย่อมเป็นไปตามวิธีการระงับข้อพิพาทที่กฎหมายระหว่างประเทศมีกำหนดไว้
อย่างไรก็ดีประเทศพัฒนา แล้วเสนอว่าให้มีการบังคับให้นำคดีที่เกี่ยวกับการโอนเป็นของชาตินี้ให้ศาลอนุญาโตตุลาการหรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตัดสิน
แต่บรรดาประเทศด้อยพัฒนาโดยเฉพาะกลุ่ม 77 ต่างยืนยันว่า การระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศกรรีการโอนเป็นของชาตินี้ก็เป็นเช่นเดียวกับการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศในกรณีอื่นๆ
ซึ่งรัฐคู่พิพาทย่อมมีอิสระที่จะเลือกใช้วิธีการระงับข้อพิพาทแบบใดที่ตนเห็นเหมาะสมก็ได้ดังยืนยันไว้ในมาตรา
33 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ
ดังนั้นรัฐจะถูกบังคับให้นำข้อพิพาทกรณีการโอนเป็นของชาตินี้ให้อนุญาโตตุลาการ
หรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตัดสิน ก็ต่อเมื่อรัฐนั้นยอมรับผูกพันตนเองเอาไว้ไม่ว่าจะโดยสนธิสัญญากับรัฐคู่พิพาท
หรือกับองค์กรที่จะทำการตัดสินเช่น ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นต้น
สาเหตุที่ประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายไม่ค่อยประสงค์ให้อนุญาโตตุลาการหรือศาลตัดสินนั้น
เนื่องมาจากกลัวความลำเอียงของอนุญาโตตุลาการหรือศาลดังประสบการณ์ที่ได้รับมาในอดีต
ปัจจุบันสังคมโลกส่วนใหญ่อยู่ภายใต้ระบบการค้าแบบเสรีนิยม อันทำให้ประเทศแต่ละประเทศต้องมีการพึ่งพาอาศัยกันและกัน
ซึ่งระบบการค้าเสรีเปรียบเสมือนเส้นเหล็กที่จะประสานโครงสร้างทางการค้าของโลกให้มีความแข็งแกร่งและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น
แต่อย่างไรก็ดีระบบดังกล่าวจะสามารถทัดทานความเป็นอธิปไตย และอัตราของบางประเทศได้หรือไม่จึงเป็นที่น่าจับตาว่าจะมีผู้ใดที่จะฝืนกระแสของโลกได้