|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ธันวาคม 2550
|
|
ในชั่วโมงนี้นักแต่งเพลงที่มีคนกล่าวถึงมากที่สุดก็คือ สลา คุณวุฒิ ที่ขณะนี้มีคำว่า "ครู" นำหน้า เพราะอาจมาจากเดิมมีอาชีพเป็นครูสอนหนังสือจนเรียกติดปาก หรืออาจเป็นคนแต่งเพลงให้กับนักร้องหลายคนจนได้รับการยกย่องว่าเป็นครูก็ได้
มีชื่อเสียงขนาดนี้และสร้างผลงานให้กับแกรมมี่ โกลด์มากว่า 10 ปี แต่สลาเพิ่งตัดสินใจเป็นพนักงานของแกรมมี่ โกลด์ เมื่อปี 2548 นี่เอง เขาให้เหตุผลว่าต้องตอบแทนบุญคุณค่ายเทป และผู้มีพระคุณทั้งหลายที่ช่วยเหลือเขาเมื่อตอนที่เป็นนักแต่งเพลงไร้ชื่อ ยอมซื้องานของเขาไปอัดเสียง ถ้าเข้าแกรมมี่ตั้งแต่ช่วงแรกก็ไม่สามารถออกไปแต่งเพลงให้กับคนอื่นได้ ซึ่งวิธีการนี้เป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้ว เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมจึงเข้ามาอยู่กับแกรมมี่เต็มตัว
ทุกวันนี้สลารับหน้าที่ในการดูแลงานเพลง นักร้อง ของแกรมมี่ โกลด์ทั้งหมด ในการดูแลของสลาก็คือการคัดเลือกเพลง การวางเพลง แต่งเพลง แต่หน้าที่หลักของเขาก็ยังให้น้ำหนักไปที่การแต่งเพลง และหลักการแต่งเพลงของสลาสั้นๆ ง่ายๆ ต้องทำให้คนฟังชอบ
"การทำงานตรงนี้น่าจะรับใช้คำว่าชอบของคน องค์ประกอบทำให้ชอบมีหลายตัวเลือก คำว่าชอบถ้าเกิดกับทุกคนจะมีความสุข บทเพลงทำให้คนมีความสุข ต้องทำให้เกิดคำว่าชอบก่อน ถ้าเราสร้างงานแต่ไม่สามารถผ่านด่านคำว่าชอบได้ ในธุรกิจก็ล้มเหลว ในแง่หัวใจของศิลปะก็ไปไม่ถึง"
บทสนทนาของสลาเวลาให้สัมภาษณ์ยังสะท้อนให้เห็นถึงการใช้ภาษา การผูกประโยค คิดง่ายๆ ก็คือ พูดต้องมีสัมผัส
ความยากของการสร้างความ "ชอบ" ก็คือจะนำเรื่องอะไรมาเล่า จะให้ใครร้อง การเล่าจะเล่าอย่างไร แบบหมอลำ ลูกทุ่ง สตริง เล่าอย่างไร ดนตรีต้องสอดคล้องกับบุคลิก ต้องทำให้ชอบถึงมีความสุข งานศิลปะจึงสมบูรณ์
แต่การแต่งเพลงให้ชอบของยุคที่มีธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง ต่างจากเดิมที่ทำเพราะใจรักเพียงอย่างเดียว กระบวนการคิดของสลาก็ต้องถูกเปลี่ยนไปเช่นกัน
เขาบอกว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ท้าทาย พอเป็นมืออาชีพทุกอย่าง มีปัญหาหมดไม่ว่าเป็นงานศิลปะประเภทไหน เมื่อก่อนเขาคิดได้ค่อยแต่ง จะเป็นศิลปะเพียวๆ แต่ตรงนี้มีห้วงเวลาเกี่ยวพันหลายอย่างต้องปรับใจ ท้าทายคือจะคงความเป็นศิลปะได้อย่างไร
"ผมยังคงความเป็นศิลปะได้อย่างน้อย 75% อีก 25% ยอมเสียให้กับธุรกิจไป ไม่ใช่เรายอมให้กับธุรกิจไปทั้งหมด"
การทำเช่นนี้เขาได้คำตอบว่าคนฟังเพลงลูกทุ่งรับได้ เพราะทำมาเป็น 10 ปี ไม่เช่นนั้นแฟนเพลงต้องปฏิเสธ
การประนีประนอมระหว่างศิลปะกับธุรกิจ สลาใช้วิธีแบ่งและสะสมแรงบันดาลใจ โดยมีพื้นฐานว่าแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นต้องบริสุทธิ์ เขาจะมีสมุดโน้ตเล็กๆ เทปเล็กๆ อันหนึ่งติดตัว เมื่อเจอแรงบันดาลใจเป็นถ้อยคำก็จด เป็นทำนองก็ร้องไว้ สมุดเล่มหนึ่งมีกว่า 500 แรงบันดาลใจ เมื่อผู้ใหญ่ให้ทำเพลงกับนักร้องคนไหน ก็ค่อยเลือกแรงบันดาลใจให้ตรงกับนักร้องคนนั้น
การคิดแรงบันดาลใจที่เป็นระบบมากขึ้น ทำให้การแต่งเพลงของสลาขณะนี้มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 1 เพลง โดยใช้เวลาในการแต่งเพลงตั้งแต่ 08.00-12.00 น. ส่วนช่วงบ่ายคือการดูแลนักร้องในห้องอัดเสียงหรือออกไปเดินหาแรงบันดาลใจภายนอก
วิธีการแต่งเพลงของสลาเป็นรูปแบบของคนที่ไม่มีพื้นฐานเรื่องดนตรี ไม่รู้ตัวโน้ต แต่เป็นคนที่ชอบสังเกตความเป็นไปรอบข้าง และเห็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัวเป็นเพลงได้
ผู้บริหารของแกรมมี่ โกลด์เล่าให้ฟังว่า บางช่วงที่มีการประชุมติดๆ กัน ก็ให้สลานั่งเครื่องบินมาจากอุบลราชธานีเข้ากรุงเทพฯ เพื่อประชุม แต่เมื่อบินบ่อยๆ เข้า เพลงที่สลาแต่งเริ่มเปลี่ยนไป เพราะว่าเวลานั่งเครื่องบินจะไม่เห็นเรื่องราวอะไร มีแค่ท้องฟ้าเพียงอย่างเดียว สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นเช่าหนังให้สลาดูเพื่อหาแรงบันดาลใจแต่ก็ยังไม่ดีพอ จนสลาขอขับรถจากอุบลฯ มากรุงเทพฯ เพื่อหาเรื่องราวระหว่างขับรถ
การขับรถของสลาเป็นเหมือนกับบุคลิกของตัวเอง คือไปเรื่อยๆ เส้นทางอุบลราชธานีมากรุงเทพฯ เขาใช้เวลา 2 วัน เพราะต้องการเก็บรายละเอียด
"การขับรถนี้ดีมาก ได้อะไรเยอะ บางทีเขียนแทบไม่ทัน ถ้าได้ขึ้นรถไฟชั้น 3 จะดีกว่าอีก มีเรื่องแยะเหมือนกัน แต่อย่าบังคับ ให้ได้เดี๋ยวนี้ ทำอย่างไรก็คิดไม่ได้ สบายๆ จะได้งาน" สลาบอกถึงการแต่งเพลงและสร้างแรงบันดาลใจ
เขายอมรับว่าการคิดอย่างเป็นระบบของแกรมมี่ ซึ่งทั่วโลกเขาทำกันมานานมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย ข้อดีคือวิเคราะห์ว่าแต่งเพลงให้ใคร ใช้ดนตรีแบบไหน บุคลิกเป็นอย่างไร เล่าเรื่องอย่างไร เป็นวิธีคิดที่เป็นกระบวนการ และทำออกมาแล้วค่อนข้างแม่น เขาเข้าสู่วิธีคิดแบบนี้ตั้งแต่เข้ามาทำงานกับแกรมมี่ ตั้งแต่ไมค์ ภิรมย์พร ศิริพร อำไพพงษ์ และต่าย อรทัย วิธีคิดแบบนี้ถูกต้องอยู่ แต่ไม่ได้เทียบว่าดีกว่าแบบเดิม ยุคสมัยเปลี่ยนไปมากกว่า
วิธีการนี้พิสูจน์คำตอบแล้วในการแต่งเพลงของไมค์ ภิรมย์พร ชุด 1-4 เป็นการลองผิดลองถูก ชุดที่หนึ่งเพลงผู้อยู่เบื้องหลัง เป็นเรื่องของกรรมกร ทุกคนฟังก็ชอบ มาชุดที่สอง น้ำตาหล่นบนโต๊ะจีน เป็นเพลงรัก แต่เพลงที่ชอบที่สุดคือละครแห่งชีวิต ทำให้เห็นว่าคนชอบไมค์แนวนี้ ทางแกรมมี่จึงกำหนดให้ไมค์ต้องพูดเรื่องแนวนี้
เมื่อไมค์ประสบความสำเร็จ แกรมมี่ก็รู้วิธีที่ถูกต้อง ศิริพร อำไพพงษ์ ต่าย อรทัย ก็ใช้แนวคิดแบบเดียวกัน จนถึงวันนี้ก็ยังใช้อยู่ ยังไม่มีวิธีคิดแบบอื่น
"มันไม่มีสูตรสำเร็จ วิธีคิดในการทำงาน เราต้องนำไปสู่ความชอบ สิ่งที่เห็นภายนอกหน้าตา เสื้อผ้า เป็นสิ่งที่เราระดมสมองแล้ว ต้องแบบนี้คนจะเชื่อ อย่างก๊อตร้องยาใจคนจน ก็คงไม่ได้ เรากำหนดแนวว่าแบบนี้ถึงจะชอบ เป็นบุคลิกมากกว่า ถ้าเป็นสูตร ทุกเพลงต้องล้านตลอด คนฟังเปลี่ยนไปตลอดเวลา ใครเผลอสร้างตามสูตรจะถูกแฟนเพลงลงโทษทันที"
ถ้าก๊อต จักรพรรณ์ ได้รับฉายาว่า "เจ้าชายลูกทุ่ง" สลา ก็คงได้ตำแหน่ง "ครูเพลงมือถือ" เพราะเพลงดังที่ผ่านมา และมีเนื้อหาเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือเป็นผลงานของสลาเสียส่วนใหญ่
ไม่มีเพลง "...โทรหาแน้เด้อ..." ก็คงไม่มีต่าย อรทัย
สลาบอกว่าโทรศัพท์มือถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและเป็นยุคสมัย เมื่อก่อนจดหมายก็มีเพลงจดหมาย รถมอเตอร์ไซค์ก็มีเพลงมอเตอร์ไซค์ เขาเชื่อว่าสัญลักษณ์สินค้ามาทีหลัง
"ผมเคยเขียนให้กับลูกศิษย์ ในเพลง "ยังคอยที่ซอยเดิม" เนื้อเพลงมีว่าห้องเช่าน้อยๆ ปากซอยมีร้านเซเว่น หากมองเผินๆ เหมือนเราจงใจเอาร้านเซเว่นเข้าไปในเพลง แต่ในชีวิตจริง เซเว่นอยู่หน้าบ้านเช่าจริงๆ ผมก็อาศัยร้านต่างๆ พวกนี้ มันเป็นวิถีชีวิตของผม บางครั้งคู่รักอาจมีตำนานรักที่หน้าร้านรถเข็น พอพูดถึงแล้วมันอิน แต่สินค้าคือกลยุทธ์การตลาดที่มีมาทีหลัง แต่ผมรับว่ามี มันไม่ใช่เพลงอย่างเดียว หนังก็มี"
ทุกวันนี้สลาแต่งเพลงมากกว่า 500 เพลง เพลงที่ได้ล้านแผ่นและมีส่วนร่วมมีอยู่ประมาณ 10 อัลบั้ม เพลงที่ทุกคนรู้จักก็คือจดหมายผิดซอง รองเท้าหน้าห้อง ปริญญาใจ ยาใจคนจน เหนื่อยมั้ยคนดี บันทึกดอกหญ้า หัวใจกันหนาว
เขายอมรับว่าการแต่งเพลงในปัจจุบันยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นและงานเดิมที่สร้างเอาไว้ ทำให้ต้องคิดมาก
เช่นเดียวกับการเป็นนักร้องลูกทุ่งยุคใหม่ก็ยากขึ้นเช่นกัน เขาอธิบายว่าต้องแยกให้ออกว่าชาวบ้าน "ให้เป็น" กับชาวบ้าน "ให้ทำ" แต่ก่อนให้ทำกับให้เป็นคือสิ่งเดียวกัน นักร้องเก่าต้องผ่านการกลั่นกรองถึงจะได้เป็น
"ทุกวันนี้ใครอยากทำก็ทำได้เลย ลูกเก่งคอมพิวเตอร์ไม่ต้องเก่งดนตรีก็ได้ อย่างนี้ก็ให้ทำได้แล้ว แต่กลไกให้เป็นยังเหมือนเดิม 100 คน ชาวบ้านอาจให้เป็น 1 คน ผมว่ายากกว่าเดิม นักร้องมีเป็นพัน แต่ให้สำเร็จไม่ถึง 5 คน เพียงแต่ว่า เรามองละเอียดหรือผิวเผิน ดูเหมือนง่าย แต่จริงๆ ยากมาก"
นักร้องยุคนี้อาจไม่ได้มอง "ให้เป็น" นึกแต่ "ขอทำ" อย่างเดียวก็ได้
|
|
|
|
|