|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ ธันวาคม 2550
|
|
คนลูกทุ่งยุคเก่าอย่างเปี๊ยก บ้านโป่ง ที่ใช้ชีวิตและประกอบกิจการเพลงลูกทุ่งในซอยบุปผาสวรรค์มากว่าครึ่งชีวิต เห็นความเปลี่ยนแปลงมากมายในวงการเพลงลูกทุ่ง และทุกวันนี้เขาก็ยังเป็นคนเก่าแก่ของวงการนี้อยู่
เปี๊ยก บ้านโป่ง หากในสมัยที่รุ่งเรือง อาชีพของเขาก็คือผู้จัดการแสดงของนักร้องลูกทุ่ง เป็นตัวกลางระหว่างวงดนตรีลูกทุ่งกับเจ้าภาพ เพราะงานที่แสดงแต่ละงาน บางครั้งเล่นกัน 7 วัน 7 คืน เขาก็ต้องเป็นคนจัดคิวว่าวงดนตรีแต่ละคณะขึ้นวันไหน เวลาเท่าไร ให้ครบตามจำนวนที่เจ้าภาพจ้างให้เล่น
ถ้าเปรียบกับยุคนี้เขาก็คือออร์กาไนเซอร์จัดงานบันเทิง
ซอยบุปผาสวรรค์หรือซอยจรัญสนิทวงศ์ 27 เริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่ปี 2514 ค่อยๆ ไต่ระดับความดังขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงจุดสูงสุดในปี 2520 ในนาทีนั้น ชั่วโมงนั้นซอยบุปผาสวรรค์เหมือนขุมทองของวงการเพลงลูกทุ่ง
การตกต่ำของซอยบุปผาสวรรค์ต้องโทษความสำเร็จของเพลงลูกทุ่งที่พุ่งขึ้นสูงสุด ทำให้หลายๆ คนลงมาทำเพลงลูกทุ่ง นักร้อง นักแสดง ต่างวิ่งเข้ามาทำเพลงลูกทุ่ง ทั้งๆ ที่ความสามารถในเชิงลูกทุ่งยังไม่ถึงระดับ
เจ้าภาพและคนฟังเริ่มปฏิเสธงานเพลงลูกทุ่ง เพราะไม่มีอะไรใหม่ ซ้ำซาก ปัญหานี้ทำให้คนที่เข้ามาสู่ธุรกิจลูกทุ่งต้องลงเงินพัฒนามากขึ้นไปอีก ทั้งเพลง หางเครื่อง นักดนตรี เพื่อให้ยิ่งใหญ่อลังการ บางคนถึงกับเป็นหนี้เป็นสิน
ยุครุ่งเรืองของเปี๊ยก บ้านโป่ง มาพร้อมกับซอยบุปผาสวรรค์ ซอยแห่งเพลงลูกทุ่งที่นักร้องหน้าใหม่ วงดนตรี หางเครื่อง เจ้าภาพจัดงานมาบรรจบกันที่นี่ แต่เมื่อธุรกิจลูกทุ่งขาดตอน ซอยบุปผาสรรค์ก็ซบเซาจนไม่เหลือเค้าลางความรุ่งเรืองให้เห็นแม้แต่น้อย
ธุรกิจเพลงลูกทุ่งในซอยบุปผาสวรรค์เหลืออยู่ไม่กี่ราย มีของเปี๊ยก บ้านโป่ง บรรจง มนตร์ไพร และแดนเซอร์ทไวไลต์ ซึ่งก็เงียบเหงาไปตามกาลเวลา ตอนนี้งานเจ้าภาพมาจ้างนักร้องลูกทุ่งแทบไม่มี
เปี๊ยกให้เหตุผลว่าส่วนหนึ่งมาจากค่ายเพลงใหญ่ๆ เรียกค่าตัวนักร้องคืนละเป็นแสน คนที่กล้าจ้างก็ต้องเป็นบริษัทใหญ่ โรงเรียนหรือวัดไม่กล้าจ้าง ก็ต้องจัดเป็นดนตรีอิเล็กโทนไป ค่าใช้จ่ายไม่มาก ไม่กี่แสนบาท
"ไม่ใช่วิสัยของลูกทุ่งสมัยเก่า ตอนนี้นักร้องลูกทุ่งต้องแบ่งให้กับต้นสังกัด อย่างแกรมมี่ อาร์เอส ชัวร์ ตอนนี้อยู่ที่ 50 ต่อ 50 แล้ว เพราะนักร้องต้องจำใจเซ็นสัญญา ยังไงก็ขอดังไว้ก่อน สัญญาจะผูกมัดยังไงไม่รู้เซ็นเอาไว้ก่อน นักร้องบางคนอยากได้อัดแผ่น อยากให้เขาเชียร์ เหตุผลที่ค่าตัวนักร้องแพง เพราะค่ายเทปรวมค่าเชียร์ ค่าโปรโมต แต่ไม่ได้คิดว่าค่าโปรโมตได้จากการขายเทปและซีดีไปแล้ว"
สิ่งที่เขาสะท้อนออกมาให้เห็นก็คือ การว่าจ้างศิลปินลูกทุ่งดังๆ จะถูกผูกขาดจากเจ้าของสินค้ารายใหญ่ โดยซื้อกันแบบเหมาปี โดยนักร้องที่ถูกว่าจ้างไม่ต้องไปเล่นงานอื่น เพราะคิวเต็มหมด ส่วนคนดูก็ได้ดูของฟรีหรืออย่างมากก็ซื้อสินค้าที่เป็นผู้จ้างก็สามารถเข้าไปดูได้แล้ว
มีของฟรีแบบนี้ ใครจะมาเสียเงินซื้อตั๋ว
ผู้จัดการความบันเทิงอย่างเปี๊ยก บ้านโป่ง ก็หมดความหมายในยุคนี้
ถ้าจะให้เขาลุกขึ้นมาสู้ใหม่ต้องมีความเชื่อก่อนว่า นักร้องรุ่นใหม่มีคุณภาพทัดเทียมกับนักร้องรุ่นเก่าที่เขาเคยสัมผัสมา
"นักร้องลูกทุ่งสมัยใหม่ที่เอาเพลงเก่าไปร้อง แล้วไปทำดนตรีใหม่ มันก็ขาดคุณภาพของเพลง ผมไม่ฟังเพลงพวกนี้ มันไม่ใช่ลูกทุ่ง ลูกทุ่งต้องชัดเจน บ้านนี้อกหัก บ้านนี้น้ำท่วม ไฟไหม้ ต้องบรรยายมาเป็นเพลงรัก เกลียด โกรธ ต้องใส่อารมณ์เลย ตอนนี้ร้องตามสบายจะไปไร่อ้อย ช้ำ ตามสบาย แต่คนฟังสมัยนี้กลับชอบ เปลี่ยนไปมาก"
แต่เขาก็ยอมรับว่าเด็กสมัยนี้ฟังเพลงลูกทุ่งจริง แต่เป็นลูกทุ่งประยุกต์ซึ่งคนรุ่นเก่าฟังไม่ได้ อย่างก๊อต (จักรพรรณ์ ครบุรีธีรโชติ) หรือต่าย อรทัย ที่ร้องเพลงเป็นเมโลดี้เดียวไม่มีสูงต่ำ
เปี๊ยกยังเห็นว่านักร้องสมัยนี้ดนตรีทำมาอย่างไรก็ร้องอย่างนั้น เสียงต่ำไม่ได้ พอร้องแล้วลงคอหมดเลย คือร้องไม่เป็นและการตั้งคีย์ดนตรี ต้องบอกนักดนตรีว่าคีย์สูงกว่านี้ แต่กลัวครูเพลงว่า การกลัวทำให้ไม่ได้ของดี การไม่พูดความจริงก็ฝืนร้องไป ร้องออกมาก็พอฟังได้ เงินหนาหน่อยก็เชียร์ให้ติดได้ ติดหูสักพัก พอหายจากทีวี วิทยุสักพักชื่อก็หายไป
เมื่อเทียบกับนักร้องรุ่นเก่าที่ร้องไว้ว่าจะร้องยากก็ยาก ว่าจะร้องง่ายก็ง่าย เพราะเขาร้องใส่อารมณ์ไปเลย โกรธก็ต้องโกรธ เสียงโกรธกับเสียงรักไม่เหมือนกัน มันมีความละเอียดอ่อน ตอนนี้นักร้องชายและนักร้องหญิงเอาหน้าตาเป็นหลัก สมัยก่อนไม่สนใจ หน้าตาเป็นไง ไม่สนใจ เอาร้องดีไว้ก่อน
ทุกวันนี้ เปี๊ยกยังทำงานที่เกี่ยวข้องกับวงการลูกทุ่งอยู่ นั่นคือการเป็นผู้นำสินค้าไปสนับสนุนวงดนตรีลูกทุ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค และเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์รายปักษ์เกี่ยวกับวงการลูกทุ่ง
|
|
|
|
|