Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2550
4 มหาอำนาจใหม่ในตลาดเงินโลก             
 


   
search resources

Investment




ความจริงที่ยังไม่มีใครรู้เกี่ยวกับ 4 มหาอำนาจใหม่ที่ร้อนแรงที่สุดในตลาดเงินโลก ซึ่งแม้จะร่ำรวยมหาศาล แต่ลึกลับเป็นที่หวาดกลัวและถูกมองอย่างไม่เข้าใจ

การเกิดขึ้นของ 4 ผู้เล่นรายใหม่ที่ร้อนแรงที่สุดในตลาดเงินโลก กำลังสร้างความหวั่นกลัวไปทั่วโลก แม้จะมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ แต่เนื่องจากความลึกลับทำให้ มหาอำนาจใหม่ในตลาดเงินโลกทั้ง 4 ราย คือนักลงทุนจากชาติส่งออกน้ำมัน ธนาคารกลางจากเอเชีย กองทุนเก็งกำไร และบริษัทลงทุนในบริษัทนอกตลาด ถูกมองเป็นมหาเศรษฐีคนนอกที่น่ากลัว ไม่ว่าพวกเขาจะย่างกรายไปที่ใดในโลก

ด้วยราคาน้ำมันที่พุ่งสูงไม่หยุด ทำให้นักลงทุนจากชาติมหาอำนาจน้ำมันตกเป็นเป้าหมายตอบโต้ของผู้กีดกันการค้า เพียงข่าวลือว่า ธนาคารกลางจากเอเชียซึ่งในเวลานี้ถือครองตราสารหนี้อเมริกันจำนวนมหาศาลจะเปลี่ยนนโยบายลงทุน โดยจะหันเหไปจากพันธบัตรคลังของสหรัฐฯ ก็สั่นสะเทือนไปทั่วตลาดสินเชื่อสหรัฐฯ

ส่วนผู้บริหารกองทุนเก็งกำไร (hedge fund) ซึ่งบริหารเงินให้แก่ลูกค้าที่ร่ำรวยได้รับค่าตอบแทนที่สูงลิ่ว จนทำให้เกิดความเคลื่อนไหวที่จะจำกัดอำนาจของพวกเขา (และจ้องเก็บภาษีรายได้ระดับหลายพันล้านของพวกเขา) ไปทั่วฝั่งแอตแลนติกและแปซิฟิก ในขณะที่บริษัทลงทุนในบริษัทนอกตลาด (private-equity firm) ซึ่งลงทุนซื้อขายบริษัทก็ถูกโจมตีว่าเป็นพวกแร้งลงโดยเฉพาะในยุโรป

มหาอำนาจใหม่ในตลาดทุนโลกทั้งสี่ถูกมองอย่างเกลียดกลัว เพราะไม่มีใครรู้จักพวกเขาอย่างแท้จริง ไม่รู้แม้กระทั่งว่าเงินที่พวกเขาบริหารควบคุมอยู่ที่ว่ามีจำนวนมหาศาลนั้นมีจำนวนเท่าใดกันแน่ แต่รายงานล่าสุดของบริษัทวิจัย McKinsey Global Institute (MGI) ได้เปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมหาอำนาจการลงทุนหน้าใหม่ทั้งสี่ ซึ่ง MGI เรียกว่า power broker และอิทธิพลที่เพิ่มสูงขึ้นทุกขณะของพวกเขา อันรวมถึงความสามารถในการกำหนดทิศทางตลาดเงินโลก

รายงานของ MGI ระบุว่า สินทรัพย์ของมหาอำนาจทั้งสี่เพิ่มขึ้น 3 เท่า ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา เป็น 8.5 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสิ้นสุดปี 2006 หรือเท่ากับ 40% ของเงินทุนที่ถือครองโดยกองทุนบำเหน็จบำนาญทั่วโลก ทั้งๆ เมื่อ 5 ปีก่อน power broker ทั้งสี่ยังอยู่แค่เพียงชายขอบของตลาดเงินโลกเท่านั้น

กองทุนลงทุนในบริษัทนอกตลาดเป็นมหาอำนาจทางการเงินที่มีขนาดเล็กที่สุดใน 4 มหาอำนาจใหม่ private equity คือผู้ที่คิดค้นวิธีซื้อกิจการด้วยเงินกู้ ที่เรียกว่า leveraged buyouts หรือ LBO ในช่วงทศวรรษ 1980 private equity เติบโต 3 เท่านับตั้งแต่ปี 2000 และบริหารเงินทุนจากนักลงทุน 7 แสน 1 หมื่นล้านดอลลาร์เมื่อสิ้นสุดปี 2006

ส่วนกองทุนเก็งกำไรดูจะเป็น power broker รายใหญ่สุดใน 4 มหาอำนาจใหม่ โดยขนาดกองทุนเติบโตมากกว่า private equity 2 เท่า และถือครองสินทรัพย์ทั้งหมด 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ และหากนับสินทรัพย์ในรูปเงินกู้ที่กองทุนเก็งกำไรนิยมนำมาใช้เพิ่มผลตอบแทนนักลงทุน สินทรัพย์ที่กองทุนประเภทนี้ควบคุมดูแลทั้งหมด อาจสูงถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งถูกนำไปลงทุนในตลาดเงินทั้งหมด

แต่หากมองในแง่การถือครองเงินดอลลาร์มากที่สุด การที่ราคาน้ำมันโลกแพงขึ้น 3 เท่านับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมา ทำให้นักลงทุนจากชาติส่งออกน้ำมัน หรือ petro-investor เป็น power broker รายใหญ่สุดใน 4 รายนี้ โดยนักลงทุนจากชาติน้ำมันถือครองสินทรัพย์ทางการเงินในต่างประเทศเป็นมูลค่าระหว่าง 3.4-3.8 ล้านล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยธนาคารกลางจากเอเชีย ซึ่งมีสินทรัพย์ในรูปทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ 3.1 ล้านล้านดอลลาร์ อันเป็นผลมาจากการที่เอเชียเกินดุลการค้ามหาศาล และเงินลงทุนต่างประเทศหลั่งไหลเข้าสู่เอเชีย รวมทั้งนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน

ที่น่าอิจฉายิ่งไปกว่านั้นคือ ไม่ว่าตลาดเงินโลกจะผันผวนเพียงใด ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ของมหาอำนาจการเงินหน้าใหม่ทั้งสี่ โดยสินทรัพย์ของพวกเขาจะไม่ลดลงทั้งขนาดหรือความแข็งแกร่งในตลาด เพราะทั้งสี่ต่างส่งเสริมการเติบโตซึ่งกันและกัน ด้วยเหตุผลที่ยังไม่มีใครรู้ชัด อย่างเช่น อัตราดอกเบี้ยต่ำช่วยทำให้กองทุนเก็งกำไรรุ่งเรือง โดยที่อัตราดอกเบี้ยต่ำนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่เอเชียและชาติผู้ส่งออกน้ำมันเทเงินเข้าไปในตลาดสินเชื่อ ส่วนการเติบโตของกองทุนเก็งกำไรก็ช่วยให้ private equity พลอยเติบโตตามไปด้วย จากการที่กองทุนเก็งกำไรมีบทบาทสูงในตลาดตราสารหนี้อนุพันธ์

นักวิเคราะห์คาดว่า สินทรัพย์ของมหาอำนาจในตลาดเงินหน้าใหม่ทั้งสี่จะเติบโตถึงระดับ 20.7 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2012 หรือเท่ากับ 2 ใน 3 ของสินทรัพย์ของกองทุนบำเหน็จบำนาญทั่วโลก และสินทรัพย์ของพวกเขาจะยังคงเติบโต แม้ว่าราคาน้ำมันจะลดลง หรือยอดเกินดุลการค้าของเอเชียจะหดตัวลง หรือการลงทุนในกองทุนเก็งกำไรหรือกองทุน private equity จะชะลอตัวลงก็ตาม เพียงแต่อาจจะเติบโตไม่มากเท่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็จะยังคงเติบโตขึ้น 2 เท่าในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ เป็น 15.2 ล้านล้านดอลลาร์

เงินลงทุนมหาศาลจากนักลงทุนกึ่งรัฐจากเอเชียและตะวันออกกลางที่หลั่งไหลเข้าไปในสหรัฐฯ และยุโรปอย่างรวดเร็ว สร้างความกลัวถึงขนาดกลายเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ เพราะเกรงว่าเงินทุนมหาศาลที่ทะลักเข้าไป อาจทำให้เกิดฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ขึ้นในสหรัฐฯ และยุโรป และทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางการเงิน โดยอาจทำให้ความเสี่ยงสูงขึ้นในตลาดสินเชื่อ โดยเฉพาะหากกองทุนเก็งกำไรขนาดใหญ่เกิดล้ม ซึ่งจะส่งผลกระทบไปทั่วตลาดทุนโลก อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 1998 เมื่อกองทุนเก็งกำไร Long-Term Capital Management เกือบล่ม การที่กองทุนเก็งกำไรแทบไม่ถูกควบคุมโดยกฎเกณฑ์ จึงสามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนมหาศาลได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบของผู้คุมกฎในตลาดเงิน

อย่างไรก็ตาม แม้จะสร้างความกลัวให้เกิดขึ้นในทุกแห่งหนที่ power broker ทั้งสี่ย่างกรายเข้าไป แต่มหาอำนาจรายใหม่ทั้งสี่ก็มีส่วนช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งแก่ตลาดเงินโลก นักลงทุนจากชาติน้ำมันและธนาคารกลางเอเชียเปรียบเหมือนกระปุกออมสินยักษ์ของโลก ซึ่งช่วยทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงทั่วโลก และทำให้เกิดการปล่อยกู้ในรูปแบบใหม่ๆ นักลงทุนจากชาติน้ำมันและธนาคารกลางเอเชียยังอาจช่วยเสริมสภาพคล่องในตลาดสินเชื่อโลกได้ ในขณะที่ตลาดสินเชื่อโลกกำลังขาดสภาพคล่องอยู่ในเวลานี้

การที่นักลงทุนจากชาติน้ำมันและธนาคารกลางเอเชียร่ำรวยมากพอที่จะลงทุนระยะยาว โดยไม่ต้องคำนึงถึงการที่จะต้องรายงานผลตอบแทนไตรมาสชนไตรมาสเหมือนอย่างกองทุนทั่วไปที่ถูกแรงกดดันจากผู้ถือหุ้น และการที่มหาอำนาจการเงินทั้งสองเน้นลงทุนในเอเชียตะวันออกกลางและตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ทำให้นักลงทุนจากชาติน้ำมันและธนาคารกลางเอเชีย กลายเป็นหัวหอกในการพัฒนาตลาดเงินที่อยู่นอกเหนือศูนย์กลางการเงินดั้งเดิม

ส่วนกองทุนเก็งกำไรและกองทุน private-equity ก็เริ่มเปิดเผยตัวต่อสาธารณะมากขึ้น และมีมาตรฐานที่ดีขึ้นในการรายงานผลการดำเนินงาน

นักวิเคราะห์ทำนายว่า มหาอำนาจตลาดเงินหน้าใหม่ทั้งสี่ น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่าขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

นักลงทุนจากชาติส่งออกน้ำมัน

ราคาน้ำมันที่พุ่งแตะระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีที่แล้ว ทำให้ชาติส่งออกน้ำมัน กลายเป็นผู้ส่งออกเงินทุนรายใหญ่ที่สุดในโลก แซงหน้าเอเชียเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่ ที่จะมีความสำคัญต่อตลาดเงินโลกตลอด 5 ปี ข้างหน้า 6 ใน 10 บริษัทใหญ่ที่สุดในโลกขณะนี้ เมื่อดูจากมูลค่าตามราคาตลาด เป็นบริษัทน้ำมันในตะวันออกกลางและเอเชียและคาดว่า Saudi Aramco บริษัทน้ำมันของรัฐบาลซาอุดีอาระเบียจะมีมูลค่าสูงกว่า General Electric บริษัทจดทะเบียนที่ใหญ่ที่สุดในโลกถึงสองเท่า

เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจในประเทศและตลาดเงินในประเทศผู้ส่งออกน้ำมันมีขนาดเล็ก ทำให้รายได้จากการขายน้ำมัน ซึ่งเรียกว่า petrodollar ส่วนใหญ่ต้องไหลออกไปลงทุนในตลาดเงินโลก หากราคาน้ำมันอยู่ที่ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะมีเงินทุนที่มาจากรายได้จากการขายน้ำมันถึง 6 แสน 2 หมื่น 8 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ไหลเข้าสู่ตลาดโลกภายในปี 2012 ซึ่งจะทำให้การถือครองสินทรัพย์ในต่างประเทศของชาติส่งออกน้ำมัน เพิ่มขึ้น 2 เท่าเป็นเกือบ 7 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 5 ปีข้างหน้า

นักลงทุนจากชาติส่งออกน้ำมันมีทั้งที่เป็นมหาเศรษฐี กองทุนบริหารสินทรัพย์และธนาคารกลางในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย นอร์เวย์ รัสเซีย ไนจีเรีย เวเนซุเอลา และอินโดนีเซีย อย่างเช่น Dubai International Capital เป็นกองทุนที่คล้ายกับ private equity เป็นข่าวโด่งดังเมื่อซื้อพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง Tussauds และเครือโรงแรม Travelodge กองทุนบำเหน็จบำนาญของรัฐบาลนอร์เวย์ ซึ่งเป็นเจ้าของสินทรัพย์ 3 แสนล้านนำบรรทัดฐานด้านจริยธรรมมาใช้ในการเลือกลงทุนและเป็นกองทุนจากชาติส่งออกน้ำมันรายเดียวที่เปิดเผยรายละเอียดการลงทุน ส่วนเจ้าชาย Alweed Bin Talal Alsaud แห่งซาอุดีอาระเบีย ทรงลงทุนในบริษัททั่วโลกเป็นเงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์

ด้วยนิสัยที่ชอบลงทุนระยะยาวและชอบเสี่ยง ทำให้นักลงทุนจากชาติน้ำมันช่วยส่งเสริมการเติบโตของกองทุนเก็งกำไรและกองทุน private equity นอกจากนี้การที่ชอบลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา ทำให้นักลงทุนจากชาติน้ำมันมีส่วนช่วยเร่งพัฒนาการของตลาดเงินในตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือและเอเชีย ทั้งยังช่วยให้ผลิตภัณฑ์การเงินเติบโตในชาติมุสลิมที่ยังมีขนาดเล็ก

ธนาคารกลางจากเอเชีย

ธนาคารกลางจากเอเชียเป็นยักษ์ใหญ่ที่ระมัดระวังในตลาดทุนโลก โดยนำทุนสำรองเงินตราต่างประเทศไปซื้อสินทรัพย์ที่แปลงเป็นดอลลาร์ได้ง่ายเป็นหลัก โดยเฉพาะพันธบัตรคลังสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม จีน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เพิ่งประกาศแผนจะโยกเงิน 4 แสน 8 หมื่นล้านดอลลาร์ เข้าไปลงทุนในกองทุนจัดการสินทรัพย์ของรัฐโดย China Investment Corp เข้าซื้อหุ้น 3 พันล้านดอลลาร์ใน Blackstone Group กองทุน private equity ของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก

การเปลี่ยนนโยบายการลงทุนของธนาคารกลางในเอเชียอาจส่งผลกระทบต่อตลาดทุนเนื่องจากเงินทุนจำนวนมหาศาลกระจุกตัวอยู่ในมือของรัฐบาลเอเชียเพียงไม่กี่แห่ง ธนาคารกลางจีนหรือ People's Bank of China มีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อปลายปี 2006 นับเป็นนักลงทุนที่ร่ำรวยที่สุดในตลาดเงินโลก ปีที่แล้วธนาคารกลางจากเอเชียมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ รวมกันเป็นสัดส่วนเกือบ 2 ใน 3 ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศทั้งหมดในโลก และแม้การเติบโตของยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของเอเชียเกิดชะลอตัวลง แต่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของเอเชียจะยังคงเติบโตต่อไปเป็น 5.1 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2012

นโยบายลงทุนแบบอนุรักษนิยมของธนาคารกลางในเอเชีย ช่วยทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวในสหรัฐฯ ลดลงไปแล้วประมาณ 0.55% แต่ผลตอบแทนที่ต่ำจากการลงทุนแบบอนุรักษนิยมกลับทำให้ เศรษฐกิจเอเชียสูญเสียไป 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี หรือเท่ากับประมาณ 1% ของ GDP การโยกเงินทุนบางส่วนไปลงทุนในกองทุนจัดการสินทรัพย์อาจทำให้เอเชียได้รับผลตอบแทนลงทุนเพิ่มขึ้นและเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภทมากขึ้น แต่บางคนก็วิตกว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายลงทุนของธนาคารกลางในเอเชีย อาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ สูงขึ้น แต่นักวิเคราะห์คาดว่า ธนาคารกลางเอเชียคงจะใช้วิธีค่อยๆ เพิ่มความหลากหลายในการลงทุนไม่ใช่เพิ่มแบบพรวดพราด และจะยังคงซื้อหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ เหมือนเดิม

กองทุนเก็งกำไร

กองทุนเก็งกำไรขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยขณะนี้มีมากกว่า 7,300 กองทุน และมีสินทรัพย์รวมกัน 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อกลางปีนี้ (2007) กองทุนเก็งกำไรที่ใหญ่ที่สุดในโลก 3 แห่ง มีสินทรัพย์ของนักลงทุนที่อยู่ภายใต้การบริหารอย่างน้อยแห่งละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ กองทุนเก็งกำไรลงทุนในตลาดเงินประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในช่วง 5 ปีข้างหน้าเป็น 3.5 ล้านล้านดอลลาร์

กองทุนเก็งกำไรให้ประโยชน์กับตลาดทุนโดยช่วยเพิ่มสภาพคล่อง และกระตุ้นให้เกิดการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมการเงิน อย่างไรก็ดี ขนาดของกองทุนที่เติบโตขึ้นตลอดเวลาและการใช้วิธีกู้เงินมาลงทุนอาจบั่นทอนเสถียรภาพของตลาดเงิน เมื่อครั้งที่กองทุนเก็งกำไร Long Term Capital Management ประสบปัญหาขาดทุนมหาศาล ในปี 1998 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องกอบกู้กองทุนดังกล่าวด้วยการระดมเงินช่วยเหลือจากกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ถึง 3.6 พันล้านดอลลาร์

กลางปีนี้มีกองทุนเก็งกำไรระดับหลายพันล้านดอลลาร์หลายแห่งประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักจากผลกระทบที่ได้รับจากปัญหาหนี้เสียในตลาดสินเชื่อบ้านที่ปล่อยให้แก่ลูกค้าประวัติการชำระหนี้ต่ำกว่าเกณฑ์ (subprime mortgage) ซึ่งสร้างความปั่นป่วนในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น กองทุน ขนาดเล็กและขนาดกลางบางแห่งถึงกับต้องปิดตัวไป จึงเกิดคำถามอีกครั้งว่า การล่มของกองทุนเก็งกำไรจะก่อให้เกิดวิกฤติในตลาดเงินในวงกว้างอีกหรือไม่

แต่นักวิเคราะห์ชี้ว่า พัฒนาการหลายอย่างในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าว โดยกองทุนเก็งกำไรใช้กลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ลดความเป็นไปได้ที่การลงทุนหลายอย่างจะล้มเหลวพร้อมกัน ส่วนธนาคารที่ปล่อยกู้ให้กองทุนเก็งกำไรก็ปรับปรุงวิธีประเมินและติดตามความเสี่ยง และมีเครื่องป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น ได้แก่หุ้นและสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน การกู้ยืมของกองทุนเก็งกำไร หากกองทุนเก็งกำไรเกิดล่ม กองทุนเก็งกำไรขนาดใหญ่หลายแห่งยังเริ่มระดมทุนแบบถาวรในหุ้นจดทะเบียนและหุ้นกู้ และจำกัดการถอนเงินของนักลงทุนมากขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มความสามารถในการรับสถานการณ์เมื่อตลาดขาลง สรุปแล้วกองทุนเก็งกำไรเริ่มเปลี่ยนจากการลงทุนแบบข้ามาคนเดียว เป็นการลงทุนในกระแสหลักมากขึ้น

กองทุน private equity

กองทุนที่ลงทุนในบริษัทนอกตลาดหุ้นนี้ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดเล็ก แต่กลับมีผลกระทบอย่างสูงต่อโลกธุรกิจ มูลค่ารวมของบริษัทที่ถูกกองทุนประเภทนี้ซื้อไป แม้จะมีเพียง 5% ของมูลค่าบริษัททั้งหมดที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ (และเพียง 3% ในยุโรป) แต่กองทุน private equity หรือบริษัทที่ลงทุนในบริษัทนอกตลาดได้เข้าไปมีส่วนในการควบรวมหรือซื้อกิจการเกือบ 1 ใน 3 ของข้อตกลงซื้อขายกิจการทั้งหมด และมักจะทำข้อตกลงเป็นมูลค่าสูงๆ จนเป็นข่าวฮือฮาเสมอ

private equity ทำให้เกิดโมเดลใหม่ในด้านบรรษัทภิบาล กองทุน private equity ที่ดีๆ หลายแห่ง สามารถปรับปรุงผลการดำเนินงานของบริษัทที่ซื้อมา โดยผลการศึกษาพบว่า 2 ใน 3 ของบริษัทที่ถูกซื้อด้วยวิธี leveraged buyout ได้รับการปรับปรุงประสิทธิภาพ และให้ผลตอบแทนมากขึ้น 2 เท่าของอัตราเฉลี่ย ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนที่บริษัทที่ถูก private equity ซื้อไปสามารถปรับปรุงผลตอบแทนได้ดีขึ้น ต่างหันมาสนใจประสิทธิภาพการทำงานของทีมบริหารในบริษัทที่ตนถือหุ้น และต้องการให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพบ้าง

แม้กองทุนประเภทนี้จะถูกกล่าวหาว่าหวังกำไรระยะสั้น แต่ private equity ส่วนใหญ่จะลงทุนเป็นระยะเวลา 3-5 ปี ซึ่งเพียงพอที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงบริษัทที่ซื้อมาในระดับลึกถึงโครงสร้างได้ การเพิ่มหนี้ในงบดุลของบริษัทที่ซื้อมา บีบให้ผู้บริหารบริษัทนั้นต้องทำงานหนักเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ยาก การซื้อกิจการที่มีมากขึ้นในช่วงต้นปีนี้ ทำให้บริษัทจดทะเบียนต้องปรับมุมมองที่มีต่อหนี้และหุ้นใหม่

นักวิเคราะห์คาดว่า แม้การเติบโตของ private equity อาจชะลอตัวลงในระยะสั้น เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดสินเชื่อเมื่อไม่นานมานี้ แต่สินทรัพย์ของกองทุนประเภทนี้จะยังเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2012 และจะยิ่งขยายตัวเข้มแข็งและเพิ่มความหลากหลายในการลงทุน รวมทั้งมีอิทธิพลมากขึ้นในวงการธุรกิจและการเงิน

power broker ยักษ์ใหญ่รายใหม่ทั้งสี่ต่างกำลังก้าวล้ำเข้าไปในอาณาจักรของกันและกัน กองทุนเก็งกำไรกำลังไล่ซื้อกิจการเหมือนกับที่ private equity ทำ ขณะที่ธนาคารกลางเอเชียเริ่มเลียนแบบกองทุนบริหารสินทรัพย์ของชาติส่งออกน้ำมัน ส่วนชาติส่งออกน้ำมันก็กำลังสร้างเครื่องมือการลงทุนที่ซับซ้อนอย่างเช่น กองทุน private equity และแม้โลกจะรู้สึกกลัวมหาอำนาจรายใหม่ในตลาดเงินทั้งสี่ แต่ก็มีสัญญาณในแง่ดีว่า ประโยชน์ของมหาอำนาจทั้งสี่ที่มีต่อตลาดเงินในแง่ของสภาพคล่อง การสร้างสรรค์นวัตกรรม และการเพิ่มความหลากหลายในการลงทุน จะมีน้ำหนักเหนือกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากพวกเขา

เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
นิวสวีค 29 ตุลาคม 2550   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us