Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน29 พฤศจิกายน 2550
แบงก์คาดQ3ปีหน้าดอกเบี้ยขาขึ้น ลุ้นนโยบายรัฐบาลใหม่หนุนความเชื่อมั่น             
 


   
search resources

กรรณิกา ชลิตอาภรณ์
Economics
Banking and Finance




แบงก์ไทยพาณิชย์ระบุเศรษฐกิจไทยปี 51 โดยรวมมีแนวโน้มดีขึ้นหลังการเลือกตั้ง แต่ประเด็นที่ต้องจับตามองมากที่สุดคือนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ เพราะจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่วนสินเชื่อปีนี้พลาดเป้าตามตลาดรวม ฟันธงไตรมาส 3 ปีหน้าเห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้น ส่วนเฟดยังคงลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องจนถึงระดับ 3.50%ในกลางปีหน้า ด้านกสิกรฯคาดหากราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุดแตะ 188.9 ดอลลาร์ต่อบาเรล จีดีพีอาจโตแค่ 3.1-4.6%

นางกรรณิกา ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)หรือ SCB กล่าวในการสัมมนา "แนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดเงินในปี 2551 ก้าวอย่างมั่นคงได้อย่างไร" ว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับภาวะที่ท้าทาย ด้วยปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งภายในและนอกประเทศ ทั้งด้านราคาน้ำมัน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐอเมริกา และทิศทางตลาดการเงิน

ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าจับตามองที่สุดตอนนี้ คือ ทิศทางของรัฐบาลชุดใหม่ ภายหลังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ ซึ่งจะส่งผลบวกต่อการกระตุ้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน ภาคเอกชน และผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินธุรกิจ การพัฒนาและขยายธุรกิจอย่างยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องอาศัยการเตรียมความพร้อมสำหรับแข่งขัน ตลอดจนการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

"ภาพรวมเศรษฐกิจปีหน้ามองว่าหลังจากมีการเลือกตั้งเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น ซึ่งต้องมองในด้านบวกไว้ เพราะโดยหลักทั่วไปหากมีการเลือกตั้งความเชื่อมั่นประชาชนจะดีขึ้น อีกทั้งหลังจากมีรัฐบาลใหม่ก็จะมีโครงการลงทุนใหญ่ๆออกมามาก อีกทั้งเชื่อว่าทุกพรรคการเมืองจะมีนโยบายที่ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นจากปัจจุบัน" นางกรรณิกา กล่าว

นางกรรณิกา กล่าวว่า ในส่วนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในปี 2550 คาดว่าจะเติบโตต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 15 % ขณะที่สินเชื่อโดยรวมน่าจะเติบโตเพียง 12-13% และมองว่าในปีหน้าอัตราการเติบโตของสินเชื่อน่าจะใกล้เคียงกับปีนี้ อย่างไรก็ตาม แม้สินเชื่อจะไม่เติบโตตามเป้าหมาย แต่รายได้และกำไรยังเป็นไปตามคาด เนื่องจากธนาคารมีวิธีการบริหารจัดการที่ดี อีกทั้งการที่ธนาคารมีสาขามากทำให้ประสบความสำเร็จในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ทั้งกองทุนรวมและประกัน ทำให้รายได้ของธนาคารเติบโตควบคู่กันทั้งรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย

ส่วนเรื่องการตั้งสำรองในปีนี้ธนาคารไม่มีภาระในการตั้งสำรองเพิ่มเนื่องจากธนาคารได้ตั้งสำรองครบตามเกณฑ์แล้วตั้งแต่ปี 2549 อีกทั้งสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ของธนาคารมีไม่มาก และยังมีทิศทางปรับลดลง ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปี 2550 น่าจะอยู่ที่ 6% โดยในไตรมาสที่ 4 ได้ขายเอ็นพีแอลออกไปแล้ว 5 พันล้านบาท และยังมีแผนที่จะขายออกไปอีก ส่วนกรณีที่บริษัทคิงเพาเวอร์เริ่มมีผลการดำเนินงานตกต่ำนั้น ไม่มีผลต่อการชำระหนี้ของธนาคาร และยังมีการชำระหนี้ตามปกติ

ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์ลูกค้าธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ประเด็นใหม่ๆที่คนไทยต้องเตรียมตัวนั้นประกอบด้วย ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่มีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ย. 2550 นี้ การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่มีเป้าหมายเพื่อให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานอย่างเสรี เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดช่องว่างของระดับการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกและส่งเสริมการรวมกลุ่มกับประชาชนโลก โดยเป้าหมายการจัดตั้งถูกเร่งรัดให้เป็นปี 2558 จากเดิมปี 2563 และ พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย (PLL) โดยคาดว่าจะผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติและจะมีผลบังคับใช้อย่างเร็วสุดต้นปี 2552 รวมถึงการจัดสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DIA) ที่คาดว่าจะจัดตั้งได้ในปี 2551 และพ.ร.บ.จะมีผลบังคับใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 โดยการคุ้มครองเงินฝากจะทยอยลดลง

โดยผลกระทบจากการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก คือ ช่วยลดภาระของรัฐบาลและผู้เสียภาษีในการแบกรับปัญหาของสถาบันการเงิน ผู้ฝากเงินได้รับความคุ้มครอง เมื่อสถาบันการเงินปิดกิจการ ผู้ฝากเงินจะได้รับเงินคืนภายใน 30 วันเมื่อยื่นคำขอครบถ้วน ผู้ฝากเงินและผู้กู้เงินต้องเลือกสถาบันการเงินที่เหมาะสม และวางแผนการเงินเพื่อผลประโยชน์ระยะยาว

นายภากร ปีตธวัชชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริหารการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคตทำให้คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสที่ 3 ของปีหน้า และคาดว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 4 ธ.ค.นี้จะยังคงมีการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.25% ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) น่าจะยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับ 3.50%ภายในครึ่งปีแรกของปีหน้า

โดยอัตราดอกเบี้ยตลาดเงินระยะสั้นจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นก่อนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากการคาดการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้นและสภาพคล่องในตลาด interbank ที่ตึงตัวขึ้น โดยความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดเงินที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นผลมาจากสภาพคล่องของ interbank และปัญหาสภาพคล่องทางการเงินจากผลกระทบของซับไพรม์ อีกทั้งคาดว่าระหว่างปีความชันของ Yield Curve ระหว่าง 1-15 จะเพิ่มขึ้นได้อีกประมาณ 1% จากระดับปัจจุบันโดยคาดว่าอัตราผลตอบแทน 1 ปี และ 15 ปี ณ สิ้นปี 2551 จะอยู่ที่ระดับ 4-4.25% และ 6-6.25% ตามลำดับ โดยปัจจัยเสี่ยงของการปรับตัวของ Yield Curve ได้แก่ การยกเลิกมาตรการกันสำรองของ ธปท.

สำหรับการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์มาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ การปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สภาพคล่องในตลาดเงินและการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์ในการขยายฐานเงินฝาก โดยแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปี 2551 คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 3.75% ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน 2.50% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รายใหญ่ชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) อยู่ที่ 7.25%

กสิกรฯชี้น้ำมัน-ส่งออกยังกดดันศก.ไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2551 ว่า แม้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปลายปี 2550 น่าที่จะสามารถสร้างความชัดเจนทางการเมือง และส่งผลให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนฟื้นตัวขึ้นได้ แต่รัฐบาลหลังการเลือกตั้งอาจจะยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ โดยปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญคงจะได้แก่ ปัญหาราคาน้ำมันและภาวะเงินเฟ้อ แนวโน้มการชะลอตัวของการส่งออก รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ ตลอดจนความผันผวนของกระแสเงินทุนระหว่างประเทศที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐ ในขณะเดียวกัน ต้นทุนทางการเงินในระบบก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้นจากการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรตามแนวโน้มของภาวะเงินเฟ้อและการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระบบ รวมทั้งจากปริมาณอุปทานพันธบัตรที่จะเข้าสู่ตลาดเงิน

โดยประเมินว่าในกรณีน้ำมันแพงค่าเฉลี่ยน้ำมันเดิมเบรนท์เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.3 จากค่าเฉลี่ยในปีนี้ หรือราคาน้ำมันสูงขึ้นเกินกว่า 108.9 ดอลลาร์ต่อบาเรล อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2551 อาจปรับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3-4 เทียบกับสมมุติฐานหลักที่ร้อยละ 2.2-3.2 และค่าเฉลี่ยร้อยละ 2.2 ในปี 2550 ขณะที่อัตราการขยายตัวของจีดีพี ในปี 2551 อาจจะชะลอเป็นร้อยละ 3.8-5.3 เมื่อเทียบกับกรณีสมมุติฐานหลักที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.5-6.0 รวมทั้งอาจต่ำกว่าอัตราการขยายตัวในปี 2550 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.5

ส่วนกรณีเลวร้าย ค่าเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 จากค่าเฉลี่ยในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 118.9 ดอลลาร์ต่อบาเรล อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2551 อาจจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4-5 ในขณะที่อัตราการขยายตัวของจีดีพีอาจจะลดลงเป็นร้อยละ 3.1-4.6 เท่านั้น ทั้งนี้ ความเสี่ยงของภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่อาจเกิดควบคู่ไปกับภาวะเงินเฟ้อ หรือภาวะ Stagflation ดังกล่าวนั้น ถือได้ว่าเป็นความท้าทายสำคัญที่รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งจะต้องเข้าไปดูแล เพื่อประคับประคองให้ความเชื่อมั่นของภาคเอกชนไม่ถูกกระทบมากเกิน จนส่งผลซ้ำเติมให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงไปกว่าที่ควรจะเป็น   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us