เอกชนชี้ปี’51 แนวโน้มสินค้ายังอาจขยับอีก โอดตลาดในประเทศซบหนักจี้รัฐบาลใหม่แก้ด่วน ขณะที่ปีหน้าน้ำมัน - ซับไพรม์ บาทแข็ง เศรษฐกิจโลกปัจจัยรุมเร้าเพียบรัฐบาลใหม่ต้องทำงานหนัก มองบาทอยู่ที่ 33 บาท/เหรียญสหรัฐ “ปิยสวัสดิ์” ส่งสัญญาณไม่อุ้มน้ำมันอีกหลังลดเงินกองทุนฯล่าสุด 20 สตางค์ต่อลิตรรวมแล้ว 80 สตางค์ต่อลิตรกระทบฐานะการเงินกองทุนฯหวังสางหนี้เก่าให้หมดสิ้นปีนี้ ผู้ค้าน้ำมันเมินราคาน้ำมันตลาดโลกลดติดๆ กัน ล่าสุดร่วงลงอีก 3 เหรียญยังเฉยไม่ลดให้ผู้บริโภค ขณะที่น้ำมันแพงคนซบเอ็นจีวี ปตท.ขอโทษเอ็นจีวีอาจไม่พอกับความต้องการเร่งสร้างปั๊มแล้วอีก 6 เดือนหมดปัญหา
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ”แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของภาคอุตสาหกรรม” ว่า ปี 2551 หากระดับราคาน้ำมันยังคงทรงตัวระดับสูงจะมีส่วนสำคัญต่อการผลักดันให้ราคาสินค้ายังมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากบางรายยังพยายามตรึงราคาไว้ ซึ่งผู้ผลิตที่ปรับราคาทุกรายหากไม่จำเป็นคงไม่ปรับขึ้นราคาสินค้าเพราะแรงซื้อขณะนี้ค่อนข้างต่ำมากแต่ด้วยไม่สามารถแบกรับภาระได้ไหว
ทั้งนี้สิ่งที่น่าห่วงคือเมื่อราคาสินค้าแพง ราคาน้ำมันยังสูงหากประชาชนไม่จับจ่ายใช้สอยก็อาจกระทบต่อสินค้าจำหน่ายในประเทศได้ต่อเนื่องจากปีนี้ที่แรงซื้อก็ลดต่ำลงแล้ว ซึ่งจากการไปสำรวจธุรกิจต่างจังหวัดพบว่าตลาดซบเซาค่อนข้างมาก ดังนั้นรัฐบาลใหม่จำเป็นที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชนและนักลงทุนเร่งด่วนเป็นงานแรกเพราะเป็นสิ่งเดียวที่จะแก้ไขปัญหาการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนให้กลับมาได้เช่นเดิม รวมถึงการลงทุนจากเอกชน
บาทแข็งรายได้หายไป 7 แสนล้าน
นายสมมาตร ขุนเศรษฐ รองเลขาธิการส.อ.ท. กล่าวว่า ค่าแรงงานที่ปรับขึ้นไม่ได้มีผลกระทบต่อต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมมากแต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือปัญหาน้ำมันแพงและแนวโน้มค่าเงินบาทที่เริ่มแข็งค่าอีกครั้งหนึ่งซึ่งยังคงต้องติดตามใกล้ชิดเนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าจากต้นปีที่อยู่ระดับ 39 บาทต่อเหรียญสหรัฐมาอยุ่ที่ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐทำให้รายได้จากการส่งออกหายไปพอสมควรประมาณ 7 แสนล้านบาทต่อปีจากปีหนึ่งที่เฉลี่ยส่งออก 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
โยกเงิน 5 พันล.ให้เอสเอ็มอีแบงก์
นายสมมาตรกล่าวว่า ขณะนี้สมาคมธนาคารไทยได้ยื่นหนังสือถึงธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่จะให้โอนเงินจากกองทุนช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมที่เป็นผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากบาทแข็งวงเงิน 5,000 ล้านบาทในส่วนของวงเงินธปท.ประมาณ 2,700 ล้านบาทกรณีที่ธ.ค.นี้ไม่สามารถปล่อยกู้หมดให้กับธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมหรือเอสเอ็มอีแบงก์ไปบริหารแทนเนื่องจากล่าสุดมีการปล่อยกู้เพียง 500 ล้านบาทและคาดว่าคงจะปล่อยไม่ได้มากไปกว่านี้เนื่องจากติดหลักเกณฑ์การสำรองหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ
โลกเปลี่ยนไปต้องปรับบทบาทใหม่
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า จากการหารือ 39 กลุ่มอุตสาหกรรมพบว่า ปัจจุบันมีองค์ประกอบการทำธุรกิจที่มีความผันผวนและเปลี่ยนแปลงไปมากทั้งราคาน้ำมัน กฏระเบียบการค้า ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมจำเป็นจะต้องปรับตัวเองเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงโดยต้องปรับแนวคิดใหม่ในการมองยุทธศาสตร์การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าที่จะต้องให้ความสำคัญกับนโยบายการค้าเสรี นวตกรรมด้านวิจัยและพัฒนา การใช้ไอที เป็นต้น ซึ่งแต่ละกลุ่มจะนำผลการเวิร์คช้อปครั้งนี้ไปจัดทำยุทธศาสตร์หรือ Road Mapของแต่ละกลุ่มอีกครั้งหนึ่ง
“ จากการหารือเราต้องปรับบทบาทส.อ.ท.ใหม่ที่จะมีการจัดตั้งสถาบันอุตสาหกรรมขนาดกลางและย่อมหรือ SMI เพื่อดูแลและประสานสมาชิกของกลุ่มที่มีถึง 6,000 รายหรือคิดเป็น 85% ของสมาชิกทั้งหมดที่จะอยู่ภายใต้ส.อ.ท.คาดว่าต้นปีหน้าเราคงจะดำเนินการได้ทั้งนี้ก็เพื่อสร้าง SMEs ให้เข้มแข็ง”นายพยุงศักดิ์กล่าว
มองบาทปีหน้าอยู่ 33 บ.
นายธนิต โสรัตน์ รองเลขาธิการสายงานเศรษฐกิจ ส.อ.ท.กล่าวหลังการสัมมนาเชิงปฎิบัติการเรื่อง “เศรษฐกิจหลังเลือกตั้งจะรุ่งโรจน์หรือร่วงโรย” ว่า พรรคการเมืองหลังการเลือกตั้งคงจะเป็นรัฐบาลผสมแน่นอนและการเมืองก็ยังวุ่นวายต่อไป ดังนั้นมองว่ารัฐบาลใหม่ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นคืนมาให้ได้ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปีหน้าคือ ปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ(ซับไพร์ม)ในสหรัฐอเมริกาที่ยังไม่จบ ค่าเงินบาทแข็งที่คาดว่าปีหน้าจะอยู่ระดับ 33 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าปีหน้าราคาน้ำมันเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 85 เหรียญต่อบาร์เรล
“ ดีเซลที่เป็นต้นทุนสำคัญของระบบขนส่ง ซึ่งหากภาครัฐปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลสูงถึงระดับ 32 บาทต่อลิตร ก็คงจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี”นายธนิต กล่าว
ปีหน้าปัจจัยรุมเร้าอื้อ
นายบันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและธนาคาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ปัญหาซับไพร์มของสหรัฐ ประกอบกับมีการคาดการณ์ว่าจีนจะเกิดปัญหาฟองสบู่แตกหลังกีฬาโอลิมปิก ดังนั้น รัฐบาลใหม่จะต้องทำงานหนักและพึ่งการส่งออกยาก เพราะมีหลายปัจจัยในต่างประเทศ ซึ่งจะใช้นโยบายการเงินกระตุ้นคงไม่ได้ รวมถึงนโยบายการคลังก็มีปัญหา เพราะรัฐบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอ ปัญหาน้ำมัน ปัญหาความไม่สงบในไนจีเรีย อิหร่านและสหรัฐ เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองในปีหน้า
นายพายัพ พยอมยนต์ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. )กล่าวว่า เศรษฐกิจปีหน้าจะทรงตัว แต่จะดีกว่าปีนี้เล็กน้อย ขณะที่ ราคาน้ำมันเชื่อว่าในที่สุดกลุ่มโอเปกจะต้องเพิ่มกำลังการผลิต ไม่เช่นนั้นหลายประเทศจะหันไปใช้พลังงานทดแทน ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อกลุ่มโอเปก และในปีหน้าราคาน้ำมันน่าจะอยู่ระดับ 80-85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ค่าเงินบาทโดยรวมจะอยู่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งดำเนินการคือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยและสร้างระบบพื้นฐาน เพื่อลดต้นทุนโดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์
รัฐเลิกใช้กองทุนอุ้มน้ำมัน
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า หลังจากลดเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนดีเซลและไบโอดีเซลลงอีก 20 สต./ลิตรมีผลวานนี้(28พ.ย.) แล้วนั้นกระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายที่จะลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯลงอีกเพื่อชะลอการปรับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเพิ่มเติมเนื่องจากกองทุนฯยังมีภาระหนี้สินอีก 2,300 กว่าล้านบาทที่จำเป็นต้องเร่งชำระหนี้ให้หมดภายในสิ้นปีนี้เป็นอย่างช้าซึ่งหากลดลงอีกจะกระทบต่อแผนการชำระหนี้ได้
ทั้งนี้การปรับลดอัตราการจัดเก็บเงินนำเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด 20 สตางค์ต่อลิตรถือเป็นการปรับลดเงินเข้ากองทุนส่วนของดีเซลรอบที่ 3 รวมลดเงินเข้ากองทุนฯส่วนดีเซลทั้งสิ้น 80 สตางค์ต่อลิตร ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีเงินสุทธิจำนวน 13,201 ล้านบาท และมีหนี้สินค้างชำระ 15,594 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้พันธบัตร 8,800 ล้านบาท จ่ายชำระหนี้ชดเชยตรึงราคาน้ำมัน 990 ล้านบาท ชำระหนี้ชดเชยราคาก๊าซหุงต้มจำนวน 5,288 ล้านบาท จ่ายชดเชยภาระดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 3 ปี จำนวน 516 ล้านบาท ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีภาระหนี้สินอยู่ประมาณ 2,393 ล้านบาท
ตลาดโลกวูบผู้ค้าชะลอปรับราคา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าล่าสุด ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มอ่อนตัวลงเช่นเดียวกับตลาดสิงคโปร์ที่ เบนซิน 95 ลดลง 1.46 ปรับมาอยู่ที่ 102.77 ดอลลาร์/บาร์เรล ดีเซลลดลง 1.67 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 109.45 ดอลลาร์/บาร์เรลเนื่องจากความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงจากปัญหาสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพหรือซับไพร์มส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในอนาคตอาจปรับลดลงได้ รวมถึงคาดการณ์ว่าการประชุมโอเปก 5 ธ.ค.จะมีการเพิ่มการผลิต ส่งผลให้ผู้ค้าน้ำมันในประเทศยังไม่ตัดสินใจปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมัน
แหล่งข่าวจากวงการน้ำมันระบุว่า แม้ว่าตลาดโลกจะลดลงแต่ก่อนหน้าได้ปรับขึ้นมา 5-6 เหรียญต่อบาร์เรลแต่ลดลงไปเฉลี่ย 2-3 เหรียญต่อบาร์เรลเท่านั้นดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องติดตามน้ำมันตลาดโลกอย่างใกล้ชิดหากลงแรงต่อเนื่องอีก 1-2 วันโอกาสไม่ปรับลดก็เป็นไปได้แต่ถ้ายังทรงตัวระดับสูงสุดสัปดาห์ผู้ค้าก็อาจจะต้องปรับขึ้นอีกครั้ง
คนแห่เติมเอ็นจีวี 6 เดือนนี้อาจไม่พอ
นายณัฐชาติ จารุจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บมจ.ปตท. กล่าวว่า ช่วง 6 เดือนนี้ หรือจนถึงเดือนมิถุนายน 2551 ปริมาณเอ็นจีวีอาจจะยังไม่เพียงพอสำหรับความต้องการใช้ของยานยนต์ที่มีความต้องการสูงมากเฉพาะเดือนพ.ย.เดือนเดียวมียอดเปลี่ยนมาใช้เอ็นจีวีเพิ่มถึง 5,000 คันสาเหตุหลักจากน้ำมันดีเซลที่สูงขึ้นทะลุ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลประกอบกับสิ้นปีนี้จะหมดโปรโมชั่นการติดตั้งอุปกรณ์ให้ฟรีดังนั้นปตท.กำลังพิจารณาว่าจะมีการหยุดต่ออายุโปรโมชั่นชั่วคราวหรือไม่จนกว่าจะสร้างรถบบสาธารณูปโภครองรับได้
“รถยนต์ที่เปลี่ยนมาใช้เอ็นจีวีขยายขึ้นเท่าตัวจาก 25,000 คันเป็น 51,000 คัน และขยายตัวสูงสุดในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการใช้เอ็นจีวีในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เพิ่มขึ้นรวดเร็วเป็น 700-800 ตัน/วัน ขณะที่ ปตท.จัดส่งก๊าซฯได้เพียง 650 ตัน/วัน ใน 6 เดือนข้างหน้าจะมีสถานีบริการมากกว่า 200 แห่งน่าจะแก้ไขปัญหาได้”นายณัฐชาติกล่าว
น้ำมันโลกดิ่งลงกว่า 3 ดอลลาร์
ราคาน้ำมันในตลาดโลกดำดิ่งลงมากกว่า 3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สืบเนื่องจากความคาดหมายที่ว่าโอเปกจะเพิ่มซัปพลายมากขึ้นอีก รวมทั้งเทรดเดอร์ชักวิตกกังวลว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังประสบปัญหาถึงขั้นที่จะทำให้อัตราเติบโตของปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน ต้องลดต่ำลงแล้ว
สัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตครูด ของตลาดไนเม็กซ์ แห่งนิวยอร์ก เพื่อการส่งมอบเดือนมกราคม อยู่ในระดับ 94.42 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อตอนปิดตลาดนิวยอร์กวันอังคาร(27) ต่ำลงจากราคาปิดวันก่อนถึง 3.28 ดอลลาร์ ส่วนสัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบชนิดเบรนต์ ของตลาดลอนดอน ก็ปิดตลาดวันเดียวกันที่ 92.52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลง 2.80 ดอลลาร์
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบลดต่อเนื่องจากวันจันทร์(26) ก็คือท่าทีขององค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน โดยที่ อาลี อัลไนมี รัฐมนตรีน้ำมันซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า ประเทศของเขาได้เพิ่มการผลิต จนสูงกว่าเป้าหมายล่าสุดซึ่งโอเปกกำหนดไว้ในมติการเพิ่มผลผลิตที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนด้วยซ้ำ
ขณะที่ เปอร์โนโม ยัสกิอันโตโร รัฐมนตรีน้ำมันของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็น 1 ในสมาชิกโอเปกเช่นกัน กล่าวว่าเขาจะสนับสนุนให้เพิ่มการผลิตขึ้นอีก 500,000 บาร์เรลต่อวัน ในการประชุมระดับรัฐมนตรีของโอเปกที่อาบูดาบี วันที่ 5 ธันวาคมนี้
นอกจากนั้น ตลาดยังชักเริ่มกังวลใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งทำท่าอาจจมลงสู่ภาวะถดถอย แอนดี เลอโบว์ แห่ง เอ็มเอฟ โกลบอล ยกตัวอย่างข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่ชี้ว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอเมริกันได้ลดลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันแล้ว เพราะความวิตกเรื่องน้ำมันแพงและความผันผวนในตลาดการเงิน ในสภาพเช่นนี้ จึงเกิดคำถามว่าจะมีการใช้น้ำมันกันเพิ่มขึ้นมากๆ ได้อย่างไร
ระหว่างช่วงการซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในแถบเอเชียเมื่อวานนี้(28) น้ำมันดิบทั้ง 2 ชนิดซึ่งถือเป็นมาตรวัดสำคัญของราคาน้ำมันในตลาดโลกเวลานี้ ก็ยังคงมีราคาถอยลงต่อไปอีก อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงช่วงซื้อขายของฟากยุโรป ราคาก็ชักมีทิศทางไม่ชัดเจน โดยในราวเที่ยงวันที่ตลาดลอนดอน สัญญาของไลต์สวีตครูดขยับลงอีก 18 เซ็นต์ อยู่ที่ 94.24 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ขึ้นไป 25 เซ็นต์ อยู่ที่ 92.77 ดอลลาร์
นักวิเคราะห์บอกว่า เหตุผลสำคัญมาจากการที่รัฐมนตรีน้ำมันซาอุดีอาระเบีย ไปพูดที่สิงคโปร์วานนี้ เพราะแม้เขาบอกว่า ตลาดน้ำมันโลกยังคงมีซัปพลายอย่างพอเพียง และราคาที่สูงขึ้นมากไม่ได้สะท้อนสถานการณ์ของอุปสงค์-อุปทานอย่างถูกต้องเลย แต่การที่เขาไม่ยอมพูดฟันธงว่า ซาอุดิอาระเบียจะสนับสนุนให้เพิ่มการผลิตในที่ประชุมโอเปกวันที่ 5 ธันวาคม ก็ทำให้ตลาดเกิดความหวั่นไหวไม่มั่นใจ
|