Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2535
"เกาะสีชัง" แผ่นดินนี้เราจอง จาก "มหากิม" ถึงลูกหลาน             
โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
 


   
search resources

ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์
Real Estate
ทอง หงศ์ลดารมภ์




"ให้รอบคอบและชอบธรรม ต้องไม่รุกรานใครก่อน แต่ต้องพร้อมที่จะรักษาตนโดยธรรม ทรัพย์สมบัติอันเป็นที่ดินนั้นต้องรักษาไว้เท่าชีวิต ถ้าไม่ต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิในที่ดินของเราไว้ให้ได้โดยธรรมแล้ว อีกหน่อยก็ไม่มีแผ่นดินจะเหยียบแล้วถ้าคนไทยไม่ต่อสู้เช่นนี้อีกหน่อย แผ่นดินไทยจะไม่มีเหลือ" นี่คือคติสอนใจที่ ทอง หงศ์ลดารมภ์ หรือ "มหากิม" ต้นตระกูลได้สั่งสอนลูกหลานไว้

ตระกูล "หงศ์ลดารมภ์" มีธาตุแห่งนักบุญสั่งสมมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ บิดาของ ดร. ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ ก็คือท่านมหากิม (ทอง หงศ์ลดารมภ์) ซึ่งได้รับสมญานามว่า "ตู้พระไตรปิฎกเคลื่อนที่" ส่วนมารดาชื่อ "พรเพ็ญ" หรือ "แม่เฮียง" ก็เป็น "ยอดอุบาสิกา" ผู้ทำบุญทานบารมีอย่างมากมายแก่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ เมื่อถึงแก่กรรมจึงเป็นศพแรกที่ได้มาตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดนี้

นับว่าเป็นผู้มีบุญบารมีสูงเพราะกว่างานศพจะดำเนินลุล่วงไปได้ด้วยดี ต้องผ่านถึงสามวัดใหญ่นับตั้งแต่สวดอภิธรรม 7 วันที่วัดโพธิ์ซึ่งแม่เฮียงฝากผีไว้ ต่อมาทางวัดมหาธาตุโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พระพิมลธรรม) ยืนยันตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่นี่เนื่องจากมหากิมและแม่เฮียงทำคุณประโยชน์ให้วัดมากมาย ต่อมาคราวปลงศพและประชุมเพลิงศพแม่เฮียง ทางวัดสระเกศก็ได้ยื่นความจำนงขอมีส่วนร่วมเพราะคราวเผาศพมหากิมก็ทำที่วัดนี้ กว่าพิธีงานศพจะเสร็จสิ้นก็ทำให้คณะเจ้าภาพอิ่มเอิบผลบุญจนสิ้นแรง

มหากิม ได้บวชเรียนเป็นสามเณรกิมเกยุโร ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ จนได้เป็นพระภิกษุเจ้าคณะ 5 แห่งวัดมหาธาตุฯ เปรียญธรรม 6 ประโยคซึ่งเป็นชั้นสูงสุดขณะนั้นและได้สึกออกมาทำงานที่โรงพิมพ์ของ แห กรัยวิเชียร

ต่อมาได้สมรสกับพรเพ็ญหรือแม่เฮียงซึ่งเดิมชื่อหลั้งเฮียงหรือรั่งเฮียง ครอบครัวนี้มีลูกชายหญิงถึง 12 คนเป็นชาย 6 คน หญิง 6 คน บุตรคนโตชื่อรัชดา ทองจันทร์ ทองมา พรพรหมณ์ (เดิมชื่อทัศนีย์) ทองธัช ทองศรี ทองฉัตร ทองเธียร ทองทิพ กัญญา (ภรรยาวิโรจน์ นวลแข) ธง และอิพภา (ถึงแก่กรรม)

ลูกรุ่นโตตั้งแต่คนที่หนึ่งถึงคนที่เจ็ด ได้รับการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดมากจากยายแท้ๆ ชื่อ พลอย พงศ์ไพฑูรย์ ดังนั้นกว่าครึ่งของลูกคนโตรวมทั้ง ดร. ทองฉัตรจึงเรียกคุณยายว่าแม่และเรียกแม่เฮียงว่า "เจ๊" ขณะที่ลูกรุ่นเล็กจะเรียกคุณยายว่าแม่แก่ และเรียกแม่เฮียงว่า "แม่"

"คุณยายเป็นแม่ที่ใกล้ชิดกับลูกของแม่เฮียงมากกว่าแม่แท้ๆ ท่านเป็นคนร้องเพลงกล่อมไกวเปล จูงไปโรงเรียน เฝ้าไข้ยามที่กัญญา (ภรรยาวิโรจน์ นวลแข) ป่วยเป็นโรคกระตุกเพราะพิษบาดทะยัก หรือประคบหน้าฟกช้ำดำเขียวของแดง (ทองธัช) ที่ต่อยกับเพื่อนมา ดูแลเป็นเจ้าของไข้ของน้อย (ดร. ทองฉัตร) ยามเป็นโรคคอตีบ ขณะที่แม่เฮียงคลอดเล็ก คุณยายประคบประหงมหลานชายอายุขวบเศษๆ จนหายแต่ก็ยังมีร่องรอยของโรคคอตีบจนทุกวันนี้ และท่านก็ถือเอาว่าน้อยเป็นลูกท่านแล้วอย่างสมบูรณ์เพราะท่านช่วยชีวิตเขามา" พรพรหมณ์ (ทัศนีย์) หงศ์ลดารมภ์ บันทึกอดีตนี้ไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานศพมารดา "พรเพ็ญ หงศ์ลดารมภ์"

ระยะเริ่มต้นของชีวิตมหากิมได้รับคำชักชวนจาก ซิว ตันบุญยืน ซึ่งเป็นเถ้าแก่สู่ขอภรรยา ริเริ่มตั้งโรงพิมพ์พระจันทร์ขึ้นที่ท่ามหาราช และตั้งสำนักพิมพ์ชื่อ "บรรณศาลา ก.ข." พิมพ์ตำราเรียนบาลี

มหากิมเป็นคนแรกผู้คิดค้นแปลคัมภีร์ใบลานที่จารเป็นอักษรขอมพิมพ์ด้วยหมึกพิเศษและบุกเบิกการพิมพ์ใบลานขึ้นเป็นอักษรไทย เมื่อใบลานขาดตลาดแม่เฮียงได้ติดต่อขอซื้อใบลานจากป่าลาน จังหวัดกบินทร์บุรีด้วยตนเอง และได้ตั้งโรงงานผลิตใบลานพิมพ์คัมภีร์

เมื่อมีฐานะการเงินดีขึ้นจากการประกอบกิจการโรงพิมพ์ ญาติพี่น้องทั้งฝ่ายสามี เช่น สุนทร หงศ์ลดารมภ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เฉลียว หงศ์ลดารมภ์ และหลานๆ เช่นเสี่ยอุ้ยหรือชื่อเล่นว่าเกี๋ยงและเสี่ยชัย หงศ์ลดารมภ์แห่งนครสวรรค์ ก็ได้เข้ามาพึ่งพาอาศัยใบบุญ

"ทุกๆ เช้าเริ่มแต่เช้าตรู่ คุณพี่พรเพ็ญจะลุกขึ้นหุงหาอาหารให้สามีและลูกหลานเป็นประจำ และเท่าที่ข้าพเจ้าจำได้ ท่านเป็นผู้มีฝีมือในการปรุงอาหารเป็นเยี่ยมผู้หนึ่ง และโดยปกติจะเป็นอาหารที่ประกอบด้วยพืชผักและหมูเนื้อตามธรรมดาที่สามัญชนจะพึงรับประทาน แต่มีรสค่อนข้างโอชาและเป็นที่ถูกอกถูกใจทุกคน" ตอนหนึ่งของคำไว้อาลัยของสุนทร หงศ์ลดารมภ์ น้องสามีที่เคยพึ่งพาอาศัยครอบครัวนี้

"ญาติของสามีก็เสมือนญาติเรา" คำพูดนี้ได้สะท้อนถึงน้ำใจอันยิ่งใหญ่ของแม่เฮียง เพราะนึกถึงภาพครอบครัวขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยลูกชายหญิง 12 คนแล้วยังมีญาติฝ่ายสามีและของตนเองอีกไม่ต่ำกว่าสิบซึ่งทยอยเข้ามาพึ่งพาอาศัย หม้อข้าวจะต้องมีขนาดใหญ่มากๆ ขนาดไม้ขัดหม้อยาวไม่ต่ำกว่าฟุตครึ่ง ขณะที่อาหารการกินในยามเศรษฐกิจตกต่ำช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีปลาทูเข่งละ 1-2 สตางค์ ถั่วงอกผัด ต้มจับฉ่ายที่ปรุงขึ้นครั้งเดียวแล้วอุ่นกินได้หลายวัน อาหารหวานก็มีต้มถั่วเขียวและมันต้มน้ำตาลเป็นหม้อใหญ่ๆ

แหล่งรายได้ที่จุนเจือครอบคัวคือกิจการโรงพิมพ์พระจันทร์เริ่มส่อเค้าวิบัติในราวปี 2480 หลังจากเติบโตมาได้ 12 ปี หุ้นส่วนคนสำคัญ ซิว ตันบุญยืนก็คิดยึดกิจการโดยตั้งข้อหาว่ามหากิมใช้เงินเปลืองมากเกินกว่าเหตุเพราะอุปถัมภ์พี่น้องบริวารมาก ประกอบลูกชายคือสนั่น ตันบุญยืน เรียนจบจากเมืองนอกแล้ว จึงคิดว่าจะบริหารโรงพิมพ์ต่อไปเอง

ในที่สุดทั้งสองก็ตกลงแยกทางกันเดินโดยใช้วิธีจับสลากแบ่งสินทรัพย์กัน ปรากฏว่า มหากิมจับได้ส่วนเงินสด 3-4 หมื่นบาท ส่วนซิวได้แท่นพิมพ์พร้อมอุปกรณ์ต่างๆ และสิทธิการเช่าตึกแถว 7-8 คูหาของวัดมหาธาตุไป

ชีวิตเปื้อนฝุ่นของครอบครัวใหญ่หงศ์ลดารมภ์ต้องล้มลุกคลุกคลานอพยพกันไปหาเช่าที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ฯ ในเวิ้งหลังโรงหนังเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า 5-6 ไร่ ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่า ท่าโรงยาเก่า ปากคลองตลาด ในที่เช่าแห่งนี้มหากิมได้ริเริ่มสร้างตลาดสดขึ้น โดยใช้ชื่อว่า "ตลาดยอดฟ้า" ด้วยทุนทรัพย์ 3-4 หมื่นบาท ที่ติดตัวมา แต่โครงการนี้ต้องประสบความล้มเหลว เพราะแข่งสู้ไม่ได้กับตลาดท่าเตียนซึ่งห่างจากตลาดยอดฟ้าไม่เกิน 1 กม. ที่ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าที่เจริญคึกคักมากกว่า

ความเป็นปราชญ์เมธีที่พลั้งพลาดของมหากิมในยามวิกฤตเช่นนี้ ก่อให้เกิดแรงกดดันที่ทำให้ช้างเท้าหลังอย่างแม่เฮียงต้องดิ้นรนให้ครอบครัวอยู่รอด แม่เฮียงได้เสนอดัดแปลงตลาดให้เป็น "โรงพิมพ์บำรุงธรรม" โดยอาศัยฐานลูกค้าเก่าๆ ปรากฏว่ากิจการดำเนินไปได้ดีสักสองปี

แต่เหมือน "โชคซ้ำกรรมซัด" วิกฤตการณ์จากสงครามมหาเอเชียบูรพาและสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ก่อผลกระทบรุนแรงต่อโรงพิมพ์และครอบครัว ตั้งแต่ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบกระดาษซึ่งหายากและราคาแพงมากจนต้องปิดกิจการ และปัญหาเสี่ยงตายจากลูกระเบิดซึ่งลงบริเวณโรงไฟฟ้าวัดเลียบและสะพานพุทธฯ

"มีวันหนึ่งมีเสียงหวอและเครื่องบินเข้าในพระนครเร็วกว่าปกติ คุณแม่ก็ไม่อยู่ อยู่แต่คุณยายคนเดียว ก็รีบพาหลานตัวเล็กๆ หลบเข้าหลุมหลบภัยใหญ่ข้างแม่น้ำข้างร้านจินไต๋หลังตึกแถวที่มีร้านซิมไฮ้เส็งขายถ่านของพวกสิมะโรจน์ เครื่องบินได้ทิ้งระเบิดลงโรงไฟฟ้าวัดเลียบและสะพานพุทธยอดฟ้า และลูกระเบิดลูกหนึ่งตกลงที่ปากหลุดแต่ไม่ระเบิด (ถ้าระเบิดพวกน้องๆ เราคงไม่ได้เป็นผู้ว่าการปิโตรเลียมฯ และเป็นคุณหญิงแน่ๆ) คุณยายและเพื่อนบ้านจึงรีบพาหลานๆ ออกจากหลุมไปลงเรือจ้างลอยกลางแม่น้ำหรือเข้าคลองไปจากไม่ได้แน่ พวกที่มาทีหลังเข้าไปหลบในหลุม ปรากฏว่าลูกระเบิดนั้นก็ระเบิดทำให้หลุมยุบพังลง คนตายทั้งหมด …เมื่อมีเหตุร้ายแรงขนาดนี้จึงจำต้องอพยพไปอยู่บ้านเก่าของคุณยายที่คลองหลวงแพ่ง จังหวัดสมุทรปราการ เหลือผมและพี่เฝ้าบ้าน แม่ก็ต้องลำบากไปๆ มาๆ ไหนจะห่วงลูก ไหนจะห่วงทำมาหากิน" ทองมา บุตรชายที่แม่เฮียงตั้งใจจะอยู่ด้วยตลอดชีวิตบันทึกไว้

เมื่อต้องปิดกิจการโรงพิมพ์อนาคตก็มืดมน สมบัติชิ้นสุดท้ายที่เหลือไว้ก็คือ "เกาะสีชัง" ที่มหากิมได้จับจองและมีสัมปทานทำหินมานานกว่า 50 ปี !

ตำนานแห่งการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินบนเกาะสีชัง เริ่มครั้งแรกเมื่อเจ้าพระยายมราชปั้น สุขุมมีดำริที่จะให้ตั้งโรงงานปูนซีเมนต์แห่งแรกขึ้นในไทย มหากิมได้รับบัญชาจากเจ้าพระยาให้ติดตามอยู่ในขบวนของเจสเป็นเซ่น ผู้รับว่าจ้างสำรวจแหล่งหินปูนทั่วประเทศไทยเพื่อใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบ และหาที่ตั้งโรงงานปูน

แต่เมื่อโรงงานปูนซิเมนต์ไทยไม่เลือกเอาเกาะสีชังเป็นที่ตั้งโรงงานและแหล่งวัตถุดิบ มหากิมก็เริ่มจับจองที่บนเกาะสีชัง เกาะท้ายค้างคาว เกาะยายท้าว อ่าวกะสือ (อ่าวอุดมในปัจจุบัน) และแหลมฉบังทันที พร้อมทั้งทำมาหากินบนเกาะตั้งแต่นั้น

"ระหว่างนั้นท่านมหามิได้หยุดนิ่ง ในสมองท่านวาดภาพเกาะสีชัง เกาะท้ายค้างคาว อ่าวกะสือ และแหลมฉบังไว้อย่างมโหฬาร ซ้ำยังไม่คิดเฉยๆ แต่เริ่มรวบรวมที่ดินทั้งบนเกาะและที่ฝั่ง ที่ไหนจังจองได้ก็จับจอง ที่ไหนมีเจ้าของแล้วก็ต้องซื้อก็ซื้อ ท่านมหาเล่าว่า ซื้อที่ดินเลียบชายฝั่งทะเลจากอ่าวกะสือ แหลมฉบัง ไปจนถึงเขาโพธิ์ใบ ระยะทางยาวเป็นกิโลเมตร ด้วยราคาไร่ละ 1 บาท แม่เฮียงก็ต้องสนับสนุนการเงินด้วย ทั้งๆ ที่ลูกก็ต้องเลี้ยงแต่ก็กัดฟันทน เพราะเชื่อมั่นในมันสมองของท่านมหาและรู้ว่าท่านมหาได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นอย่างดี แม่เฮียงจึงไม่ห้ามปรามท่านมหาเลย แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ทำให้ความฝันของท่านมหาตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันสิ้นชีวิตท่านใช้ไปในการป้องกันรักษาสิทธิของท่านในที่ดินดังกล่าว" ดร. พรพรหมณ์ (เดิมชื่อทัศนีย์) หงศ์ลดารมภ์ได้บันทึกไว้

การต่อสู้กับผู้มีอิทธิพลทางการเงินและการเมืองที่จงใจละเมิดสิทธิเพื่อฮุบกิจการ ทำให้ต้องมีเรื่องราวฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลมิได้ขาด ซึ่งในที่สุดฝ่ายหงศ์ลดารมภ์ก็ชนะเพราะความรอบคอบที่มหากิมได้เก็บหลักฐานไว้ทุกชิ้นทุกส่วนที่เกี่ยวกับเกาะสีชังไว้

กิจการนำหินจากเกาะสีชังมาขายที่กรุงเทพฯ ที่จากเดิมมหากิมให้พี่สาวคือ บุญธรรม ชวนะเวช ทำ เมื่อพี่สาวสิ้นชีวิตก็ได้โอนธุรกิจนี้แก่ภรรยาทำต่อไป ในระหว่างสงครามเอเชียบูรพา แม่เฮียงได้ออกไปวิ่งเต้นขายหินแต่ก็หาผู้ซื้อยากเพราะไม่มีการก่อสร้าง มีแต่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นที่หวาดกลัวของคนไทย แต่แม่เฮียงก็จำต้องข่มความกลัวชวนหัวหน้ากรรมกรชื่อเจ็กเซียวเข้าไปขายหินให้ญี่ปุ่นเพื่อหาเงินเลี้ยงประทังชีวิตของคนในครอบครัว

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบ ครอบครัวนี้ก็ถูกไล่ที่ ต้องมาอาศัยที่วัดเลียบซึ่งคับแคบและตลอดทั้งปีต้องกินข้าวผสมขี้เถ้าทุกมื้อ เพราะลมพัดเอาขี้เถ้าและแกลบปลิวมาจากปล่องโรงไฟฟ้าวัดเลียบ เป็นที่เวทนาจนท่านมหาสมพรพิบูล เพื่อนรุ่นพี่ของมหากิมได้เมตตาให้มาปลูกบ้านที่วิสุทธิกษัตริย์ได้พักอาศัยอยู่หลายปี

ความคับแค้นใจในที่อยู่อาศัยนี้ได้ทำให้แม่เฮียงถึงกับลั่นวาจาสัญญากับตนเองไว้ว่า "ชาตินี้ฉันจะต้องมีที่ดินเป็นของตนเอง ปลูกบ้านสักหลังให้ได้" ปฐมเหตุนี้จึงทำให้แม่เฮียงกลายเป็นนักนิยมซื้อที่ดินตัวยงในเวลาต่อมา

กิจการค้าหินได้เจริญเติบโตมากๆ เมื่อหินขาดตลาดเนื่องจากเกิดโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐบาล เช่นกรมโยธาเทศบาล บริษัทรถราง กรมทางหลวง และการท่าเรือที่คลองเตย ความได้เปรียบในเชิงค่าขนส่งจากเกาะสีชังถึงกรุงเทพฯ ที่ถูกกว่าหินจากราชบุรีและสระบุรี

ผู้มีพระคุณอย่างสูงที่ทำให้ตระกูลหงศ์ลดารมภ์ได้ก่อขึ้นอย่างมั่นคงได้ในกิจการค้าหินก็คือ เจ้าคุณพระยาประสาทธาตุการ ซึ่งบริหารงานกรมวิทยาศาสตร์ เป็นผู้ออกหนังสือรับรองว่าคุณภาพหินเกาะสีชังสามารถใช้ในงานก่อสร้างได้ เพราะเมื่อก่อนทางการไม่ยอมให้ใช้หินเกาะสีชังไปผสมคอนกรีตก่อสร้าง โดยอ้างว่าเป็นหินเค็มบนเกาะในทะเล

นอกจากนั้น คุณหญิงประสาทธาตุการ (คุณหญิงวาด ประนิช) ยังให้ความอุปถัมภ์ด้านเงินทุนด้วย เพราะการเสนอขายหินแก่กรมกองต่างๆ ของหน่วยราชการ ต้องประมูลหรือประกวดราคาและต้องมีเงินประกันซอง นอกเหนือจากเงินหมุนเวียนจ่ายค่าขนส่งและค่าแรงงาน

ต่อมาการค้าหินได้เติบใหญ่ จนมีการตั้งโรงโม่หินที่แหลมงู เกาะสีชังและขยายกิจการโรงโม่หินที่เกาะท้ายค้างคาว แล้วย้ายมาสร้างใหม่ที่บางนางเกร็งสมุทรปราการในที่ดินของตระกูล นอกจากนั้นยังได้รับสัมปทานระเบิดหินและตั้งโรงโม่หินที่เขาอ้ายส้าน อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี เพราะค่าขนส่งจากเกาะสีชังแพงกว่าหินจากราชบุรีและสระบุรีเสียแล้ว เนื่องจากมีการตัดถนนเพชรเกษมและถนนพหลโยธินที่สะดวกและประหยัดต้นทุนในการขนส่งด้วยรถบรรทุก

แต่ในปี 2523 ทางการยกเลิกสัมปทานระเบิดหินของหงศ์ลดารมภ์ ตามนโยบายที่ผู้ว่าราชการจังหวัดที่ต้องการสนับสนุนสำนักหุบผาสวรรค์เป็นศูนย์รวมศาสนาต่างๆ และขยายอาณาเขตถึงโรงโม่หินทำให้ต้องขายกิจการเป็นหนี้แบงก์ถึง 4 ล้านซึ่งลงทุนในเครื่องจักรหลังจากได้รับสัมปทานครั้งสุดท้าย

อย่างไรก็ตามแม่เฮียงกับบุตรชายคนที่สามคือทองมา หงศ์ลดารมภ์ ได้ตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้าง "บริษัทเอเชียอุตสาหกรรม" โดยมีน้องชายคือดร. ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์และเพื่อนๆ น้องคือดร. อาณัติ อาภาภิรม สงบปานดอกไม้ที่เรียนทางวิศวกรรมมาช่วยในโครงการก่อสร้างสะพาน ถนนหนทางและท่อระบายน้ำจนกระทั้งสามารถล้างหนี้สินแบงก์หมด

"ผมกำเงินจำนวนหนึ่งไปให้แม่หลังจากเบิกเงินงวดสุดท้ายของงาน เพราะแม่ปรารภอยู่เนืองๆ ว่าเห็นคนอื่นใส่แหวนเพชรขนาด 10 กะรัตแล้วบอกว่าชาตินี้ฉันจะมีแหวน 10 กะรัตใส่ไหมนี่ ? ผมบอกให้แม่ไปซื้อแหวนที่อยากได้แต่ปรากฏว่าแม่ไม่ได้ซื้อแหวนแต่เอาเงินทั้งหมดไปซื้อที่ดินที่ถนนสุขาภิบาล 1 เป็นซอยจากถนนปู่เจ้าสมิงพราย นั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นที่แม่เริ่มค้าที่ดิน ตั้งแต่นั้นมาท่านก็ซื้อขายที่ดินอุตลุด จนบางครั้งหาเงินให้ท่านไม่ทัน ซึ่งพูดไปแล้วแม่ทำกำไรจากการซื้อขายที่ดินมากพอดูทีเดียว และจนกระทั้งแม่ตายจากไป แม่ไม่เคยได้ซื้อแหวนเพชรใส่นิ้วของท่านเลย แม้ว่าท่านจะซื้อแหวน 20 กะรัตใส่ก็ได้" ทองมา หงศ์ลดารมภ์ บุตรชายคนที่สามซึ่งเป็นตัวหลักและกลายเป็นผู้แบกรับภาระครอบครัวตั้งแต่อายุ 17 ปี โดยไม่ได้เรียนหนังสือเหมือนพี่น้อง

จากจุดเริ่มต้นซื้อขายที่ดินเพื่อเก็งกำไร เริ่มตั้งแต่ 2-3 ไร่จนถึงร้อยๆ ไร่ กลายเป็นงานที่โปรดปรานของแม่เฮียงที่กล้าเสี่ยงและใจสู้ จนได้รับการขนานนามว่า "คนตามังกร" (ภาษาจีนเรียกว่ามักเล้ง) ที่สามารถจับที่ดินรกร้างให้เป็นเงินทองได้ ถ้าแปลงไหนราคาถูกมากก็ซื้อไว้แล้วตัดถนนซอยขายเป็นแปลงๆ โดยขายเงินผ่อนในลักษณะจัดสรรที่ดิน

นอกจากความชำนาญในการเล็งผลที่ดินแม่นยำแล้ว แม่เฮียงยังมองคนทะลุปรุโปร่งอีกด้วย ในเรื่องนี้กัญญา นวลแขได้บันทึกไว้ถึงเรื่องทรรศนะการดูตัววิโรจน์ นวลแข ไว้ว่า

"เมื่อเรารู้จักกับช้อย (วิโรจน์ นวลแข) ถึงแม่จะไม่ค่อยมีเวลามาสนิทสนมคุ้นเคยกับช้อยมากนัก แต่ทุกครั้งถ้าช้อยมาบ้านและแม่เกิดอยู่บ้าน เรารู้ว่าแม่พิจารณามองช้อยอย่างไม่ให้รู้ตัว เราจำได้ว่าแม่ไม่เคยห้ามเราเลยว่าอย่าคบกับหนุ่มคนนี้…แม่เล่าว่าตอนคุณแม่ของช้อยมาขอลูกสาว แม่ได้บอกคุณแม่ไปว่า "ต้องขอบอกเสียก่อนว่า ลูกสาวบ้านนี้ไม่เป็นแม่บ้านแม่เรือน ฉันเลี้ยงเขาตั้งใจจะให้แต่เล่าเรียน มีความรู้สูงๆ ติดตัวไป ไม่ได้เลี้ยงให้เป็นแม่ศรีเรือน" แม่บอกว่าฉันบอกกับทุกคนที่มอขอลูกสาวบ้านนี้ พวกเราจำที่แม่ละไว้อีกประโยคว่า "ลูกสาวบ้านนี้คงจะเป็นแม่บ้านสั่งการ บงการแบบแม่นั่นเอง"

ความทุกข์ของแม่เฮียงกับลูกชายเฉกเช่นทองฉัตรก็มีเล่าไว้ เมื่อตอนทองฉัตรเป็นวัยรุ่นไปเที่ยวเชียงใหม่เกิดติดใจมนต์เสน่ห์ของเมืองเหนือ ถึงขนาดเขียนจดหมายบอกแม่ว่า จะขออยู่เชียงใหม่โดยเรียนหนังสือที่นั่นเลย แม่เฮียงอ่านจดหมายแล้วน้ำตาซึม เป็นทุกข์ที่ลูกมีปัญหาเบื่อบ้านที่พ่อแม่โต้เถียงเรื่องเงินๆ ทองๆ

"แม่จึงปรึกษาทองมา และให้ทองมาเดินทางไปเชียงใหม่ด่วนที่สุด สมัยนั้นการเดินทางไปเชียงใหม่ต้องรอนแรมไปในรถไฟเป็นวันๆ แถมต้องหาที่อยู่ตามจดหมายที่อำเภอสารภี ต้องระหกระเหินถามเขาไปเรื่อยๆ แม่กำชับว่าทองมาต้องเอาทองฉัตรกลับบ้านให้ได้ ไม่ต้องดุว่าอะไรทั้งสิ้น ทองมาเล่าให้ฟังว่าตอนพบน้องชายที่บ้านนั้นงงงันมาก เพราะน้องนอนเป็นไข้ซมเป็นฝีที่ไหนสักแห่งในร่างกาย พูดจาเกลี้ยกล่อมกันสองสามคำ ทองฉัตรก็ยอมกลับบ้าน เมื่อกลับถึงบ้าน แม่ผู้มีจิตวิทยาสูงโดยธรรมชาติไม่ดุว่าสักคำ ทองฉัตรเองก็คงไม่อยากพูดถึงเรื่องราวของตนอีกเลย หลังจากนั้นเป็นคนตั้งใจเรียนดีมาตลอดและเป็นลูกแม่ที่มีเพื่อนฝูงมากที่สุด" ทองศรี กำภู ณ อยุธยา ได้บันทึกเล่าไว้

จากแผ่นดินผืนแรกบนเกาะสีชังที่มหากิมได้สั่งสมจับจองเป็นเจ้าของจวบจนกระทั่งปัจจุบัน สายเลือดแห่งแลนด์ลอร์ดก็ยังตกถึงรุ่นหลานตระกูลหงศ์ลดารมภ์ก็ยังปรากฏให้เห็นเป็นความต่อเนื่องแห่งประวัติศาสตร์จารึกต่อไป

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us