Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2535
"อินเดีย" ตลาดแห่งใหม่ที่ทั่วโลกหมายปอง"             
 


   
search resources

พี.วี. นาราซิมห์ ราโอ
Economics
India




อินเดียที่เคยยึดเกาะกับระบบสังคมนิยมแบบอังกฤษอันล้าสมัยมาเกือบครึ่งศตวรรษ กำลังก้าวเข้ามาสู่โลกทุนนิยม ธุรกิจและนักลงทุนทั่วโลกจึงต้องจับตามอง

ช่วงก่อนเที่ยงคืนเล็กน้อย เครื่องบินแอร์อินเดีย โบอิ้ง 747 ที่บินมาจากกรุงนิวยอร์กก็ร่อนลงที่สนามบินอินทิรา คานธี อินเตอร์เนชั่นแนลในนิวเดลลี เมืองหลวงอินเดีย เครื่องบินขนาด 4 เครื่องยนต์ดังกล่าวลงจอดอย่างนุ่มนวล สมบูรณ์แบบจนทำให้อดคิดไม่ได้ว่าคงต้องอาศัยคนขับที่มีความเชี่ยวชาญและมีทักษะสูงมากๆ

เมื่อเครื่องบินเข้ามาเทียบลานบิน ดวงไฟทั้งหมดที่ลานระหว่างประเทศกลับไม่ยอมสว่างความสับสนเริ่มเกิดขึ้น เพราะไม่มีระบบแจกจ่ายพลังงานสำรอง ไม่มีไฟฉุกเฉิน และไม่มีแม้กระทั่งไฟฉาย

3 ชั่วโมงแห่งความโกลาหล อาศัยเพียงแสงริบหรี่จากไฟก้นบุหรี่ และไฟหน้ารถผู้โดยสารพนักงานวิ่งกันให้วุ่น ผู้โดยสารเดินกันขวักไขว่ด้วยความสับสน

นี่คืออินเดียยุคใหม่ ผู้คนยังอยู่กันแบบสบายๆ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องจัดการกับเทคโนโลยีที่มีความสลับซับซ้อนสูง เช่น เครื่องบินเจ็ตที่ดูไม่ค่อยจะเข้าสนามบินที่ขาดแคลนระบบพื้นฐาน จึงพบเห็นได้อยู่บ่อยๆ ที่บรรดาข้าราชการสั่งงานกันโดยใช้จดหมาย ทั้งๆ ที่เป็นวิธีการที่สร้างปัญหาอย่างมาก

อินเดียจึงเป็นความขัดแย้งในตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมองผ่านตัวเลขทางสถิติ เกือบ 70% ของประชากรอินเดียเป็นชาวนา กระนั้นอินเดียก็ยังติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก เมื่อวัดอัตรารายได้ต่อหัวแล้ว ชาวอินเดียมีฐานะยากจนที่สุดในโลก ทว่าพวกเขาก็มีอัตราเงินออมถึงเกือบ 25% ชาวอินเดียร่วม 200 ล้านคนมีรายได้มากพอที่จะใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย เรียกว่าดีพอๆ กับมหาเศรษฐีมะริกันเลยทีเดียว

เกือบครึ่งศตวรรษแล้วที่อินเดียได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนบ้าง หนีหายไปบ้าง กระทั่งถึงศตวรรษที่ 20 นี้ที่นักธุรกิจชั้นนำส่วนใหญ่ต้องหันมามองอินเดียอย่างจริงจัง "อินเดียกลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ของปี 2000" เปาโล เฟรสโก หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการระหว่างประเทศของเจเนอรัลอีเล็กทริค กล่าว ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากแจ็ค เวลช์ ประธานจีอี เป็นอย่างดี ดังนั้นเฟรสโกจึงวางตำแหน่งให้อินเดียเป็นแหล่งทุนอันดับต้นของจีอีในปี 1988

ร่วม 4 ทศวรรษที่อินเดียทุ่มเทให้กับแนวคิดแบบสังคมนิยมเฟเบียนของจาวาฮาร์ลัล เนห์รู นายกฯ คนแรกของประเทศ แต่มาถึงวันนี้แนวคิดดังกล่าวได้ก้าวมาถึงจุดสิ้นสุด สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะความล่มสลายของสหภาพโซเวียต พันธมิตรทางการเมืองซึ่งเคยเป็นคู่ค้าสำคัญของอินเดีย อีกเหตุหนึ่งมาจากแนวโน้มของโลก

ปัจจุบันอินเดียจึงต้องการเงินทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศอย่างมาก เพราะมีบริษัทต่างชาติเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่เต็มใจจะฟันฝ่าอุปสรรคของข้อกำหนดยุ่งยากเพื่อเข้าไปลงทุนในแดนโรตีแห่งนี้

ทว่านโยบายเศรษฐกิจของอินเดียได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่แล้ว เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พี.วี. นาราซิมห์ ราโอ ได้พยายามผ่อนคลายระบบราชการอันยุ่งยากน่าเบื่อ ซึ่งเป็นตัวชะลอความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

"มันไม่ใช่วิวัฒนาการ (EVOLUTION) แต่คือการปฏิรูป (REVOLUTION)" รัสสิ โมดี ประธานตาตาไอออน แอนด์ สตีล โค. (ทิสโก) บริษัทเอกชนรายใหญ่ที่สุดในอินเดียกล่าว "แต่พวกเราคงต้องมองทุกสิ่งในแง่มุมใหม่ เพื่อจะนำไปสู่สิ่งที่เราเชื่อว่าดี"

ราโอ-ผู้จุดประกายความเปลี่ยนแปลง

นาราซิมห์ ราโอ นายกรัฐมนตรีวัย 71 ปี ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก ซึ่งสืบทอดตำแหน่งต่อจาก ราจิฟ คานธี คือผู้จุดประกายให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในอินเดีย เป็นผู้ที่ทำให้วงการธุรกิจทั้งพอใจและประหลาดใจในผลงาน ราโอเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศมาก่อน แต่ไม่เคยได้ที่นั่งในสภาผู้แทนฯ

เมื่อราโอขึ้นครองตำแหน่งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะรัฐบาลของเขาต้องเผชิญกับความวิบัติครั้งใหญ่ เนื่องจากความผิดพลาดด้านนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดก่อน ได้ก่อให้เกิดยอดขาดดุลงบประมาณจำนวนมหาศาล อินเดียกู้หนี้มาจากภายนอกประเทศถึง 71,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศหมดเกลี้ยงเพียงในไม่กี่สัปดาห์

อินเดียจึงต้องหันหน้าไปพึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก ทว่าราโอไม่เพียงแต่นำเงินที่ได้มาไปอุดช่องโหว่เท่านั้น เขาสร้างความประหลาดใจให้ทุกคน ด้วยการอาศัยวิกฤติการณ์ดังกล่าวเป็นช่องทำการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างถึงราก

ราโอตั้ง "มันโมฮัน ซิงห์" นักเศรษฐศาสตร์ผู้ช่ำชองขึ้นเป็นรัฐมนตรีคลังทันที แทนที่จะเลือกนักการเมืองเหมือนรัฐบาลชุดก่อนๆ และให้ "จิดัมภรัม" บัณฑิตเอ็มบีเอจากฮาร์วาร์ด เป็นรัฐมนตรีพาณิชย์

เพียงไม่กี่สัปดาห์ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ก็เริ่มต้นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าเงินรูปีลงถึง 24% เพื่อทำให้อุตสาหกรรมส่งออกของประเทศแข่งขันได้มากขึ้น การขจัดกฎระเบียบในการออกใบอนุญาตฯ แก่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ เพิ่มเพดานหุ้นที่ต่างชาติสามารถถือครองในบริษัทอินเดียขึ้นเป็น 51% ลดเงินอุดหนุนที่ให้แก่ธุรกิจส่งออก และลดภาษีศุลกากรสินค้าขาเข้า ฯลฯ

ในสมัยของเนห์รู ภาคสาธารณชนคือหัวใจหลักของระบบเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมสำคัญที่ต้องใช้ทุนมหาศาลควรจะเป็นของรัฐและดำเนินการโดยรัฐเพื่อรัฐจะสามารถควบคุมได้

แต่เวลาหลายปีที่ผ่านมาก็เป็นตัวพิสูจน์ว่า การทำเช่นนั้นรังแต่จะเป็นตัวถ่วงการขยายตัวทางเศรษฐกิจกระแสทุนมหาศาลต้องถูกดูดดึงไปในอุตสาหกรรมดังกล่าว แต่กลับไม่ก่อดอกออกผลใดๆ

ระบบเศรษฐกิจของอินเดียกลายเป็นระบบผสม ที่มีนักสังคมนิยมอยู่ส่วนบน ผู้ประกอบการอิสระอยู่ตรงกลาง ขณะที่ข้าราชการและนักการเมืองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในทุกส่วน คอยกินสินบนและค่าธรรมเนียมในทุกขั้นตอน

แต่ในทัศนะของราโอแล้ว อุตสาหกรรมบางประเภท เช่น เหล็กกล้า, ปิโตรเคมี และพลังงานควรได้รับการแปรรูปฯ อย่างต่อเนื่อง

ในแผนงบประมาณปี 1992-93 ของอินเดีย มันโมฮัน ซิงห์จึงประกาศว่า ยอดขาดดุลของประเทศควรลดลงเหลือ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เทียบกับ 9% ของปี 1990-91 และ 6.5% ของปี 1991-92

นอกจานี้ต้องมีการลดเงินอุดหนุนและอัตราภาษีนิติบุคคล และที่สำคัญที่สุดก็คือ ทำให้ค่าเงินรูปีอยู่ในอัตราที่แลกเปลี่ยนได้

และเพื่อจะเพิ่มทุนสำรองอัตราแลกเปลี่ยน รัฐบาลจึงได้กู้ยืมเงินมาจากไอเอ็มเอฟ 2,000 ล้านดอลลาร์ และจากธนาคารโลกอีก 500 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรที่มีลักษณะคล้ายจังค์บอนด์เป็นมูลค่า 1,600 ล้านดอลลาร์ ทั้งยังวางมาตรฐานคุมเข้มการนำเข้าสินค้าประเภททุน

ในไม่ช้าทุนสำรองอัตราแลกเปลี่ยนของอินเดียก็เพิ่มขึ้นจาก 1,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อเริ่มแรกที่ราโอเข้าดำรงตำแหน่ง มาอยู่ที่ 6,500 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน

เมื่อมีการวางกฎซ้อนกฎ ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วก็คิดกันว่าจะทำให้นโยบายเศรษฐกิจและการวางแผนของประเทศเป็นอิสระมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติการกระทำดังกล่าวกลับเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่เหล่าข้าราชการ

การคอร์รัปชั่นจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา การติดสินบนเจ้าพนักงานกลายเป็นวิธีช่วยให้ทุกอย่างลุล่วงโดยเร็ว ภาคธุรกิจเอกชนจึงมีต้นทุนสูง ไร้ประสิทธิภาพ และตกอยู่ในมือพ่อค้าเพียงไม่กี่ราย ธุรกิจหลายแห่งยังได้รับเงินอุดหนุน และอยู่ภายใต้การปกป้องจากรัฐบาล

ขั้นแรกของการเปิดเสรี

คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่ารัฐบาลอินเดียจะสามารถเปิดเสรีเศรษฐกิจได้อย่างเต็มรูปแบบ ทว่ามันโมฮัน ซิงห์ รัฐมนตรีคลังเชื่อว่า กระบวนการดังกล่าวจะดำเนินไปอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ทุกวันนี้บริษัทต่างชาติก็สามารถยื่นขอดำเนินการในแทบทุกเรื่องได้เร็วขึ้นกว่าเดิมมาก ตัวอย่างเช่น เป๊ปซี่ โคต้องใช้เวลาถึง 5 ปี เพื่อขอเข้าทำธุรกิจเครื่องดื่ม อาหารว่าง และอุตสาหกรรมผลิตอาหารในอินเดีย โดยเพิ่งจะได้รับอนุมัติเมื่อปี 1990 นี้เอง ขณะที่โคคา-โคลาใช้เวลาเพียง 3 เดือนในการขออนุมัติเข้าตลาดอินเดียใหม่เมื่อต้นปีนี้ (หลังถอนตัวออกไปเมื่อปลายทศวรรษ 1970)

หรือโมโตโรล่าที่ขอตั้งฝ่ายพัฒนาซอฟต์แวร์ในอินเดียว ก็สามารถได้รับอนุมัติภายในไม่ถึงปี ปัจจุบันโมโตโรล่ามีโครงการในอินเดียทั้งสิ้น 13 โครงการ คิดเป็นมูลค่าลงทุนรวม 150 ล้านดอลลาร์

เปาโล เฟรสโกแหงเจเนอรัล อีเล็กทริคก็ว่าธุรกิจ 9 ใน 13 แห่งของบริษัทเป็นไปด้วยดีในอินเดีย โดยจีอีมีข้อตกลงด้านใบประกอบการเทคโนโลยีกับ "ภรัท เฮฟวี่ อีเล็กทริคัลส์" กิจการด้านพลังงานของรัฐ เมื่อปีที่แล้วบริษัทได้ร่วมทุนกับ "ไวโปรคอร์ป" ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของอินเดีย จีอียังได้ลงนามในข้อตกลงอื่นๆ เกี่ยวกับธุรกิจพลาสติก, อุปกรณ์อำนวยความสะดวก และไฟฟ้า

ขณะเดียวกันในบังกะลอร์ ที่เปรียบเสมือน "ซิลิคอน วัลเลย์" ของอินเดีย ไมเคิล ไคลน์ ของไอบีเอ็มก็ได้เข้าไปตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างไอบีเอ็มกับ "ตาตาอินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส" เพื่อทำการผลิตสายผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ PS/2 และงานด้านอื่นๆ เพื่อเสริมธุรกิจในต่างชาติของไอบีเอ็ม แม้ว่าจะเป็นน้องใหม่ในตลาด แต่ไคลน์ก็ไม่วิตกมากนัก

สำหรับบริษัทอเมริกันผู้บุกเบิกในบังกะลอร์อย่างเท็กซัส อินสทรูเมนท์ (ทีไอ) พวกเขาก็ไม่มีปัญหานัก เท็กซัส อินสทรูเมนท์เข้ามาตั้งร้านในอินเดียเมื่อปี 1985 โรเบิร์ต โรเซบูม ซึ่งปัจจุบันเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ "เซมิคอนดัคเตอร์กรุ๊ป" ของทีไอ ได้ต่อสู้กับกฎระเบียบที่หยุมหยิมเพื่อจะเริ่มโครงการส่งออกซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ เขาเล่าว่าตัดสินใจเลือกอินเดียแทนจีน เพราะศักยภาพของอินเดียมีมากกว่า ทีไอจึงพยายามฟันฝ่าข้อจำกัดต่างๆ เพื่อจัดตั้งสถานีดาวเทียมภาคพื้นดินของเอกชนดวงแรกในอินเดีย

แม้จะมีการเปิดเสรีแล้ว ก็ยังมีเรื่องน่าคับข้องใจอีกมาก เพราะภายใต้นโยบายเปิดเสรีนั้น กระทรวงสื่อสารโทรคมนาคมอินเดียยังคงบริหารงานภายใต้ระบบข้าราชการแบบเดิม

ที่น่าอึดอัดมากก็คือ การไม่สามารถทำให้ข้าราชการขุนนางอินเดียเข้าใจได้ว่า ทุกวันนี้ "เวลาเป็นเงินเป็นทอง" ธุรกิจระหว่างประเทศที่ต้องอาศัยข้อได้เปรียบเรื่องเวลา จึงไม่อาจกระทำได้ในอินเดีย

ธุรกิจอินเดียใช่ย่อย

แต่ก็มีตัวอย่างกิจการของชาวอินเดียที่เก่งไม่แพ้บริษัทชั้นนำต่างชาติ อาทิ อาซิม เปรมจี วิศวกรผู้จบจากสแตนฟอร์ทและได้เข้าสืบทอด "ไวโปร" บริษัทอาหารของครอบครัว

ปี 1979 เปรมจีตัดสินใจก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ 3 ปีให้หลัง ไวโปรก็สามารถเข้าครอบครอง "ไอซีแอล" บริษัทคอมพิวเตอร์สัญชาติอังกฤษ และบริษัทอินเดียอีก 2 แห่ง ไวโปรยังก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดด้วย การตั้งบริษัท "ฮินดูสถานคอมพิวเตอร์" ซึ่งได้เข้าร่วมทุนระหว่างฮิวเลตต์-แพคการ์ด และเป็นผู้นำในตลาดมินิคอมพิวเตอร์ เหนือคู่แข่งสหรัฐฯ

ทางด้านธุรกิจอาหาร ปาร์เล เอ็กซ์ปอร์ต ก็ได้เข้าแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาด ฟาดฟันกับยักษ์เป๊ปซี่ แม้ว่าส่วนต่างกำไรในตลาดนี้จะน้อยมากแต่บริษัทก็ครองส่วนแบ่งได้ถึง 60% ขณะที่ของเป๊ปซี่มีเพียง 20%

ทั้งสองเตรียมพร้อมรับการเข้ามาของโค้กในปีหน้า ไม่ว่าใครจะเหนือใคร แต่ผู้ได้ประโยชน์ก็คือผู้บริโภคนั่นเอง

สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ในอินเดียนั้นบริษัทต่างชาติที่ครองตลาดใหญ่ที่สุดในขณะนี้คือ ญี่ปุ่น ซึ่งไม่น่าประหลาดใจเลย ซูซูกิ แดนซากุระได้เข้าไปถือหุ้นใน "มารูติ อูด๊อก" กิจการที่เคยเป็นของรัฐบาลอินเดีย ซึ่งทำหน้าที่ผลิตรถยนต์สวนตัวขนาดเล็กตามแบบของซูซูกิ

รถมารูติ/ซูซูกิถือเป็นรถหรูในตลาดอินเดียเพราะซูซูกิเน้นที่มาตรฐานคุณภาพมากกว่าผู้ผลิตชาวอินเดียอื่นๆ เมื่อต้นปีนี้ซูซูกิยังประกาศว่าจะย้ายการผลิตรถ 800 ซีซีไปอินเดียทั้งหมด และรถของซูซูกิที่ส่งออกไปยุโรปปีละ 60,000 คันทุกวันนี้ก็ส่งผ่านมารูติ

แต่ปัญหาก็คือ อินเดียจะสามารถดึงดูดกระแสทุนจากต่างชาติไปได้อีกนานเท่าใด เมื่อละตินอเมริกาใกล้จะเปิดตลาดเศรษฐกิจของประเทศแถบแปซิฟิกกำลังรุ่งเรือง และยุโรปตะวันออกดำเนินความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะดูดกระแสทุน

อย่างไรก็ดีอินเดียมีข้อได้เปรียบเหนือกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต ขนาดของตลาดใหญ่และศักยภาพสูง มีแรงงานราคาถูก (แต่มีฝีมือหรือไม่นั้นยังเป็นที่กังขา)

บางทีสิ่งที่สำคัญที่สุดอาจเป็นการที่อินเดียมีภาคเอกชนที่ใหญ่โตและมีคุณภาพ ซึ่งได้พยายามบริหารตนเองเพื่อความล้ำหน้า แม้ว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดมากมายจากรัฐบาล

แต่อย่าเข้าใจผิด !

เพราะอินเดียไม่ใช่และไม่เคยเป็นสถานที่ลงทุนสำหรับธุรกิจอย่างโรงแรมแชงกรี-ลา อินเดียยังเป็นประเทศโลกที่ 3 ที่ขาดแคลนไฟฟ้าอย่างมาก ระบบการสื่อสารก็ยังต้องได้รับการปรับปรุง ถนนหนทางยังไม่เรียบร้อย และกิจการด้านรถไฟที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอย่างมาก ก็อยู่รอดได้เพราะเหตุนี้ สายการบินในประเทศน่ะหรือ ? เรื่องตลก

ยิ่งไปกว่านั้นการเปิดเสรีเศรษฐกิจก็ยังเป็นเรื่องใหม่ และต้องเผชิญอุปสรรคท้าทายอีกมาก บรรดาข้าราชการยังทำงานเชื่องช้า รับเงินใต้โต๊ะ การเปิดเสรีจึงหมายถึงการแข่งขันใหม่ๆ ในหมู่รัฐวิสาหกิจที่ได้รับปกป้องอย่างเต็มที่

ส่วนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ คือการปลดพนักงานหลายแสนคนเพื่อความปลอดภัยและเปิดโอกาสให้พวกเขาหางานอื่นทำ

ถ้าเช่นนั้นทำไมเมื่อมีการแปรรูปฯ และเปิดเสรีจึงไม่เกิดเหตุจลาจลในอินเดีย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ นอกจากนี้รัฐบาลยังพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับกลุ่มที่มีบทบาทสูง แม้ว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ก็ตาม

ลมมรสุมต้นฤดูฝนพัดพาความชุ่มโชกมาสู่บังกะลอร์ ยิ่งสะท้อนให้เห็นเด่นชัดถึงระบบสาธารณูปโภคอันขาดแคลน ถนนหนทางเจิ่งนองไปด้วยน้ำ ไมค์ไคลน์แห่งไอบีเอ็มเงยหน้ามองท้องฟ้าแจ่มใสหลังเมฆฝน รถราที่วิ่งผ่านแหวกน้ำกระจายสาดข้างทาง "บอกใครๆ เถอะว่าให้มาที่นี่" เขากล่าวพร้อมฉีกยิ้มกว้าง "อย่างน้อยน้ำท่าก็อุดมสมบูรณ์ดี"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us