พลังงานนิวเคลียร์เป็นแหล่งเชื่อเพลิงที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ให้ความสนใจมานานถึงขั้นมีดำริสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมื่อสิบกว่าปีก่อน
แต่ถูกคัดค้านจนต้องล้มเลิกโครงการ ต่อมามีการระบุในแผนกำลังการผลิตปี 2549
ว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าประเภทนี้ขึ้นใหม่ มีบริษัทผู้ผลิตโรงไฟฟ้าฯ ต่างชาติเสนอตัวเข้ามาเป็นจำนวนมาก
กฟผ. กำลังอยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมในการสร้างทั้งในเรื่องของการยอมรับจากประชาชนและงบประมาณการก่อสร้าง
"การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมากมาย กำลังเป็นรากฐานของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังเผชิญอยู่…ถ้าเราต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น
พลังงานนิวเคลียร์ซึ่งไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ จะเป็นพลังงานที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
สภาพอากาศเป็นพิษ และปัญหาฝนกรด…"
HANS BLIX ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศกล่าวในตอนหนึ่งของงานประชุมสิ่งแวดล้อมโลกที่ประเทศบราซิลเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ถ้อยแถลงของ HANS BLIX คล้ายกับเป็นการเปิดไฟเขียวให้อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ตื่นตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่งหลังจากซบเซามานานเนื่องจากอุบัติเหตุที่ทรีไมน์ไอแลนด์ในอเมริกาปี
2522 และเชอร์โนบิลในรัสเซียเมื่อ 6 ปีก่อน
PRO-ENVIRONMENT MEANS PRONUCLEAR กำลังจะเป็นภาพพจน์ใหม่ที่มาแทนที่ความน่าสะพรึงกลัวของพลังงานนิวเคลียร์
คราวนี้ฝ่ายสนับสนุนเสนอให้รับบทเป็นพระเอกในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลพวงจากการใช้เชื้อเพลิงจำนวนมหาศาลของโลก
พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานแบบล่าสุดที่มนุษย์รู้จักนำมาใช้ โดยเฉพาะการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตไฟฟ้าได้รักการพัฒนามา
40-50 ปี ประมาณปี พ.ศ. 2500 ฝ่ายเทคโนโลยีเชื่อกันว่านิวเคลียร์จะเป็นทางออกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
วิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรกของโลกในอีกสิบปีต่อมา สร้างความสดใสให้เห็นอยู่รางๆ
แต่แล้วทุกอย่างก็แทบจะมืดดับลงเมื่อเกิดอุบัติเหตุครั้งสำคัญของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก
อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ที่ทำท่าจะตื่นตัวกลับถูกตื่นกลัวจากผู้คนทั่วโลก
บริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทที่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สูญเสียลูกค้าไปอย่างน่าเสียดายเนื่องจากหลายประเทศชะลอโครงการขยายโรงไฟฟ้า
บางประเทศถึงกับระงับการก่อสร้างไปเลย
บริษัทอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างเงียบๆ และอดทนเป็นเวลาหลายปี…
"ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ทิศทางอุตสาหกรรมซึ่งหมายความว่า
พลังงานและความต้องการไฟฟ้ามีความจำเป็นต้องเพิ่มอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นตัวสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศของคุณมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย
แต่อย่างไรก็ตาม คุณมีงานหนักที่ท้าทาย สิ่งนี้มีความสำคัญต่อความสำเร็จด้านเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชากร
นั่นคือการผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่ออุตสาหกรรม บ้านเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล
และความจำเป็นอื่นๆ…"
DONALD S.LAWSON ประธาน ATOMIC ENERGY OF CANADA LIMITED (AECLCANDU) บริษัทของแคนาดาที่ผลิตเครื่องปฏิกรณ์แบบ
CANDU กล่าวในงานสัมมนาเรื่องข้อพิจารณาในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ที่จัดโดยสภาพัฒนฯ
และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเมื่อหลายเดือนก่อน
ประเทศกำลังพัฒนาที่ให้ความสำคัญภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ มักจะต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนพลังงาน
AECL และอีกหลายบริษัททั้งจากฝรั่งเศสและอเมริกาคงพอจะมองเห็นรางๆ แล้วว่าประเทศไทยมีแนวโน้มจะเป็นลูกค้าคนสำคัญในการสั่งซื้อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกครั้งหนึ่ง
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหนักใจไม่น้อยกับรายงานที่ได้รับจากคณะทำงานพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าที่ประกอบด้วยผู้แทนจากหลายฝ่าย
เช่น การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าภูมิภาค สภาพัฒนฯ สำนักงานพลังงานแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิ
ว่าประเทศไทยมีความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ 750-900 เมกะวัตต์และจะเพิ่มเช่นนี้ทุกๆ
ปีจนถึงปี พ.ศ. 2549
ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดปี พ.ศ. 2534 ประมาณ 7,892.9 เมกะวัตต์ใช้ในด้านอุตสาหกรรมร้อยละ
47.5 ด้านธุรกิจร้อยละ 24.3 บ้านอยู่อาศัยร้อยละ 21.2 ที่เหลือเป็นด้านอื่นๆ
ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เลือกใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า 4 ชนิด คือ
ก๊าซธรรมชาติ ลิกไนต์ น้ำมัน และน้ำ ในสัดส่วน 42:24:21:11 นอกจานั้นเป็นการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านคือลาวและมาเลเซีย
เชื้อเพลิงทั้งหมดเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศยกเว้นน้ำมัน
ตามแผนการขยายและปรับปรุงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ได้รับการเสนอให้เป็นทางออกของพลังงานไฟฟ้าอีกครั้งหนึ่งในช่วงปี
2549 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ให้เหตุผลถึงข้อจำกัดของการใช้เชื้อเพลิงที่มีอยู่ในประเทศไทยไว้
เช่นพลังน้ำว่า ศักยภาพของพลังน้ำทั้งหมดในประเทศมีอยู่ประมาณ 10,600 เมกะวัตต์
แหล่งที่เหมาะสมในการลงทุนทั้งที่ได้สร้างเขื่อนไปแล้วและยังไม่สร้างมีอยู่ประมาณ
4,450 เมกะวัตต์ และปัญหาของการสร้างเขื่อนมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและป่าไม้
ส่วนการพัฒนาแหล่งน้ำระหว่างประเทศก็ยังไม่อาจกำหนดเวลาที่แน่นอนได้
สำหรับลิกไนต์ แหล่งสำคัญของลิกไนต์ในประเทศคือที่แม่เมาะ จังหวัดลำปาง
ที่มีอยู่ประมาณ 800 ล้านตัน ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว 2,070 เมกะวัตต์
และมีแผนสร้างเพิ่มอีก 600 เมกะวัตต์ ที่แม่เมาะสามารถขยายกำลังผลิตได้อีก
2,700 เมกะวัตต์ ถ้าไม่ติดขัดปัญหาน้ำใต้ดิน ส่วนที่สะบ้าย้อยในจังหวัดสงขลามีลิกไนต์อยู่
135 ล้านตัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ มีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 600
เมกะวัตต์ในปี พ.ศ. 2540
ส่วนก๊าซธรรมชาติ เชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศมีปริมาณที่ยืนยันได้
1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ใช้นานถึง 20 ปี ปัจจุบันการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ
ใช้อยู่ 800-900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันซึ่งไม่เพียงพอสำหรับความต้องการส่วนที่เพิ่มขึ้นมาในอนาคตอย่างแน่นอน
เรียกได้ว่าแผนการขยายและปรับปรุงไฟฟ้าในอนาคต การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ก็เล็งแหล่งเชื้อเพลิงในประเทศไว้หมดแล้ว…
ตัวเลือกสำหรับความต้องการอีกสิบกว่าปีข้างหน้าที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจเลือกคือการนำถ่านหินจากต่างประเทศเข้ามาใช้และการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ดูเหมือนตัวเลือกหลังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จะลุ้นมากกว่าตัวแรก…!!!
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นสิ่งที่ประเทศไทยไม่เคยมี แต่เป็นทางเลือกที่หน่วยงานรับผิดชอบด้านการจัดหาไฟฟ้าของประเทศไทยคิดว่าควรมีมากเกือบตลอด
30 ปีที่ผ่านมา
ฝ่ายสนับสนุนเทคโนโลยีนิวเคลียร์อธิบายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่ามีหลักการทำงานไม่ต่างกับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนทั่วไป
เพียงแต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะใช้ความร้อนจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ นำไปต้มน้ำเพื่อผลิตไอน้ำส่งไปหมุนกังหันผลิตไฟฟ้าแทนที่จะใช้การสันดาปของเชื้อเพลิงต่างๆ
จากน้ำมัน ถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติ
ปฏิกิริยานิวเคลียร์เกิดจากการใช้อนุภาคนิวตรอนทำปฏิกิริยากับยูเรเนียมให้นิวเคลียร์ของยูเรเนียมเกิดการแตกตัว
(ฟิชชั่น) ปลดปล่อยพลังงานความร้อนออกมาพร้อมกับอนุภาคนิวตรอนอีกจำนวนหนึ่ง
อนุภาคนิวตรอนที่เกิดขึ้นใหม่จะทำปฏิกิริยากับยูเรเนียมอย่างต่อเนื่องทวีคูณ
สามารถผลิตพลังงานความร้อนออกมาได้
ระบบเครื่องปฏิกรณ์ที่ใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปัจจุบันมีอยู่ 6 แบบคือ
PWR (PRESSURIZED WATER REACTOR), BWR (BOILING WATER REACTOR), GCR (GAS
COOLED REACTOR), HTGR (HIGH TEMPERATURE GAS COOLED REACTOR), CANDU PHWR
(PRESSURIXED HEAVY WATER REACTOR) และ LMFBR (LIQUID METAL FAST BREEDER
REACTOR)
เครื่องปฏิกรณ์แบบ PWR เป็นแบบที่นิยมใช้กันมากที่สุด บริษัท WESTING HOUSE
ของอเมริกาเป็นเจ้าใหญ่ในการผลิตเครื่องปฏิกรณ์ประเภทนี้ ระยะหลังได้ร่วมทุนในการวิจัยและพัฒนากับบริษัทมิตซูบิชิของญี่ปุ่น
อังกฤษแต่เดิมเป็นเจ้าแรกที่พัฒนาเครื่องปฏิกรณ์แบบ GCR ซึ่งใช้ก๊าซเป็นสารระบายความร้อน
ระยะหลังเทคโนโลยีตัวนี้พบว่าไม่คุ้มทางเศรษฐศาสตร์ อังกฤษจึงหันมาพัฒนาเครื่องปฏิกรณ์แบบ
PWR ที่ใช้น้ำมันเป็นตัวระบายความร้อนแทน
FRAMATOME เป็นอีกบริษัทยักษ์ใหญ่ของฝรั่งเศสที่พัฒนาเครื่องปฏิกรณ์แบบ
PWR ปัจจุบันในฝรั่งเศสมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 57 โรง ขนาด 900 เมกะวัตต์ 34
โรง ขนาด 1,300 เมกะวัตต์ 20 โรง และ 1,500 เมกะวัตต์ 3 โรง ปริมาณการใช้พลังงานนิวเคลียร์คิดเป็น
74.5% ของไฟฟ้าทั้งหมด
"ฝรั่งเศสมีพื้นที่เท่ากับไทย จำนวนคนก็พอๆ กัน อาจจะมากกว่า แหล่งถ่านหินไม่มี
น้ำมันไม่มี พวกอาณานิคมก็หนีไปหมดแล้ว เขามีนโยบายของประเทศว่าต้องหาพลังงานหลักก็เลยมุ่งมาทางนิวเคลียร์เริ่มโปรเจกต์เมื่อ
20 กว่าปีมานี้เอง ประเทศเขาเล็กเขาทำโรงไฟฟ้าชนิดเดียวเลย พัฒนาให้ดีคือ
PWR ให้เป็นแสตนดาร์ดทั่วประเทศไม่ว่าจะสร้างที่ไหนในประเทศเขาก็ใช้ แบบนี้เพื่อให้เร็วและง่ายต่อการควบคุม
เรียกว่าทำเป็นโหลถูกกว่า" ปานจิต ฐานีพานิชสกุล ผู้อำนวยการศูนย์กำกับความปลอดภัยโรงงานนิวเคลียร์
สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
นอกจากฝรั่งเศสจะขายไฟฟ้าให้เพื่อนบ้านแล้ว FRAMATOME ยังก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขายให้กับต่างประเทศ
ตัวเลขล่าสุดบริษัทนี้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 900 เมกะวัตต์ที่เปิดดำเนินการแล้วในเบลเยียม
แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ รวม 8 โรง และกำลังก่อสร้างโรงใหม่อีกโรงหนึ่งในประเทศจีน
เครื่องปฏิกรณ์ที่ได้รับความนิยมรองลงมาคือแบบ BWR ที่มีบริษัท GE ของอเมริกาเป็นเจ้าสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีประเภทนี้โดยร่วมทุนในการศึกษาวิจัยกับบริษัท
HITASHI ของญี่ปุ่น
ส่วนเรื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ประเภท CANDU แตกต่างจากสองประเภทแรกคือ ต้องใช้น้ำมวลหนัก
(HEAVY WATER) แทนที่จะใช้น้ำธรรมดาเป็นองค์ประกอบในการทำงานของเครื่องปฏิกรณ์
AECL เป็นบริษัทใหญ่ของแคนาดาที่พัฒนาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ CANDU
โรงไฟฟ้าประเภทนี้มีอยู่ 44 โรงในประเทศแคนาดาทั้งที่เปิดดำเนินการแล้วและกำลังก่อสร้าง
22 โรง และอีก 20 กว่าโรงกระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ได้แก่ อาร์เจนตินา อินเดีย
เกาหลี ปากีสถาน และโรมาเนีย
"ตอนนี้การแข่งขันอุตสาหกรรมดุเดือดทุกวงการไม่ว่าอุตสาหกรรมไหนมักโคกันช่วยกันพัฒนา
จริงๆ อย่าง BWR เป็นของ GE ก็พัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับฮิตาชิ หรืออย่าง GRAMATOME
ของฝรั่งเศสที่พัฒนา PWR ร่วมกับบริษัท SIEMENS ของเยอรมนี" แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดในแวดวงอุตสาหกรรมนิวเคลียร์กล่าวกับ
"ผู้จัดการ"
จากข้อมูลของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศระบุว่าปัจจุบันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีอยู่ทั่วโลกประมาณ
420 โรงใน 25 ประเทศ และมีโรงไฟฟ้าที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอีก 76 โรง
การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในแต่ละประเทศจะต้องเกิดความเห็นที่แตกต่างเป็นสองฝ่ายค่อนข้างรุนแรงเสมอด้วยเหตุผลประกอบกันหลายอย่าง
โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการยอมรับของประชาชน ในระยะหลังอุตสาหกรรมนิวเคลียร์หาลูกค้าจากประเทศที่พัฒนาแล้วลำบากขึ้น
อย่างในอเมริกาก็ไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ.
2522 โรงที่กำลังก่อสร้างอยู่เป็นโรงที่สั่งไปตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2516
ในอังกฤษเองก็ยกเลิกแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 3 โรงเหลือเพียงหนึ่งโรงเท่านั้น
ทั้งๆ ที่อังกฤษผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ถึง 20.6%
แม้กระทั่งในประเทศสวีเดน ประชาชนได้ทำประชามติให้รัฐบาลสวีเดนยกเลิกการใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปี
พ.ศ. 2533 หมายความว่าให้โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ดำเนินการต่อไปจนกระทั่งหมดอายุโรงไฟฟ้าแต่จะไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่
แต่อุตสาหกรรมนิวเคลียร์กลับรุกคืบเข้ามายังประเทศในแถบเอเชียมากขึ้นเรื่อยๆ
เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดียว ฟิลิปปินส์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวนไม่น้อยได้รับการขานรับจากรัฐบาลของหลายประเทศในแถบนี้
อย่างเช่นบริษัท AECL ของแคนาดาเข้าครอบครองตลาดอินเดียด้วยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ
CANDU 7 โรง และที่กำลังก่อสร้างอีก 7 โรง อินเดียเน้นหนักเครื่องปฏิกรณ์ประเภทนี้เนื่องจากได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษจากแคนาดาในการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์
"เกาหลีตอนแรกเริ่มใช้เครื่องปฏิกรณ์แบบ CANDU และก็มีแบบ PWR ด้วยแรกๆ
เขาก็ซื้อโรงไฟฟ้ามาใช้ ขณะเดียวกันก็ดูว่าเขาเดินเครื่องยังไง มีเทคโนโลยียังไง
พยายามเรียนรู้และศึกษาเพิ่มเติม อย่างเกาหลีจะซื้อสิทธิบัตรเทคโนโลยีหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะพัฒนาไปถึงขั้นไหน
อาจจะมีการ JOINT VENTURE หรือทำ RESEARCH ร่วมกับบริษัทของต่างประเทศก็ได้
มีวิธีการเยอะแยะเพราะการค้าเดี๋ยวนี้พลิกผันได้" แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดในวงการเล่าถึงประเทศหนึ่งในสี่เสือของเอเชีย
"ปัญหานิวเคลียร์มีสองสามประเด็น อันแรกคือการยอมรับของประชาชน คนมักมีจิตใจไปผูกกับระเบิดนิวเคลียร์
อันที่สองคืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงานของโรงไฟฟ้า อันที่สามคือการจัดการกับกากเชื้อเพลิง"
ปรีดา วิบูลสวัสดิ์ รองอธิการสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
สามประเด็นที่ปรีดากล่าวถึงถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่บริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ต้องลุ้นให้รัฐบาล
หรือการไฟฟ้าแต่ละประเทศตอบคำถามให้กระจ่างแจ้งกับประชาชนของตน โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการยอมรับของผู้คนในประเทศ
ตัวอย่างของปัญหานี้ได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศไทยเมื่อสิบกว่าปีก่อน แม้ว่าบริษัทหลายแห่งสามารถลุ้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้ยอมรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
จนกระทั่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตตัดสินใจเสนอรัฐบาลให้สร้างโรงไฟฟ้ากำลังการผลิต
600 เมกะวัตต์ ที่อ่าวไผ่และดำเนินการไปถึงขั้นที่กำลังจะส่งเอกสารไปให้บริษัทต่างๆ
ทั่วโลกมาเสนอราคาให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ
แต่แล้วเสียงคัดค้านในประเด็นความปลอดภัยที่มีผลต่อชีวิต และทรัพย์สินของผู้คน
และต้นทุนที่มีราคาแพงมากเกินกว่าฐานะของประเทศในเวลานั้นของโรงไฟฟ้าประเภทนี้ก็เป็นเหตุเป็นผลที่มีน้ำหนักมากกว่าฝ่ายสนับสนุนให้สร้าง
ในที่สุดรัฐบาลต้องสั่งยกเลิกโครงการ
จนกระทั่งสองสามปีที่ผ่านมานี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กำลังทำท่าจะมีบทบาทขึ้นมาอีก
!!!…
อย่างน้อยที่สุดก็สองครั้งใหญ่ๆ ด้วยกันที่หน่วยงานของรัฐจัดงานสัมมนาเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ครั้งแรกเมื่อปลายปีที่แล้วสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติร่วมกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ
จัดสัมมนาเรื่องพลังงานนิวเคลียร์กับความเห็นของสาธารณชน เพื่อเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ซักถามปัญหาข้อข้องใจในเรื่องนี้จากผู้เชี่ยวชาญ
และล่าสุดคือเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและสภาพัฒน์ฯ
ร่วมกันจัดสัมมนาเรื่องข้อพิจารณาในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์โดยได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจาก
CANADIAN INTERNATIONAL DEVELOPMENT AGENCY หน่วยงานของรัฐบาลแคนาดา
ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายเทคโนโลยีนิวเคลียร์และเจ้าหน้าที่ทางการตลาดจากหลายบริษัทยักษ์ใหญ่
ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนิวเคลียร์และองค์การระหว่างประเทศ ได้รับเชิญมาเป็นวิทยากรให้กับตัวแทนของหน่วยงานราชการ
นักวิชาการ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงาน
บริษัทที่เข้าร่วมงานครั้งนี้ ประกอบด้วย บริษัท GE NUCLEAR ENERGY ของอเมริกา,
FRAMATOME ของฝรั่งเศส, AECL ของแคนาดา และ COGEMA ของฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ส่งแท่งเชื้อเพลิงให้กับการไฟฟ้าหลายแห่งในโลก
นับเป็นโอกาสดีในการเสนอสินค้าของทั้งสามบริษัท ที่ได้อธิบายถึงข้อดีของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์
3 ประเภท คือ BWR, PWR และ CANDU นอกจากจะแนะนำเทคโนโลยีแล้วยังได้เล่าถึงประสบการณ์ของแต่ละประเทศในด้านการควบคุมโรงไฟฟ้า
ความปลอดภัย ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลงทุนการก่อสร้างและดำเนินการโรงไฟฟ้าอีกด้วย
ขณะที่ทั้งโลกกำลังกล่าวถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ
อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ก็ไหวตัวทันจับจุดนี้เป็นจุดขายสินค้าของตนเช่นกัน
LYNN WALLIS ผู้จัดการฝ่ายโครงการสิ่งแวดล้อมของบริษัท GE อธิบายถึงนิวเคลียร์ในแง่มุมที่เป็นพลังงานที่สะอาด
เนื่องจากไม่ปล่อยมลพิษสู่สภาพแวดล้อม
เขายกตัวอย่างว่าถ้าขนาดโรงไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์ที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินจะปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์สู่บรรยากาศ
69 พันตันต่อปี ปล่อยไนโตรเจนออกไซด์ 25 พันตันต่อปี คาร์บอนไดออกไซด์ 5,900
ตันต่อปี
ส่วนโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติจะปล่อยไนโตรเจนออกไซด์ 15 พันตันต่อปี
คาร์บอนไดออกไซด์ 3,000 ตันต่อปี
ขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะไม่ปล่อยของเสียทั้งสามตัวนี้สู่บรรยากาศเลย…
ถ้อยคำโฆษณาสินค้าราคาแพงชิ้นนี้ยังคงหนีไม่พ้นเรื่องที่ว่า "นิวเคลียร์เป็นพลังงานที่สะอาดราคาถูกและปลอดภัย"
แต่สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายได้ตั้งคำถามว่าจริงขนาดไหน…เพราะรูปธรรมที่เกิดขึ้นในหลายประเทศไม่อาจจะสร้างความมั่นใจได้มากนัก
ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นเหมือนฝันร้ายที่เชอร์โนบิลกำลังมีแนวโน้มมากขึ้นทุกขณะกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
32 โรงในรัสเซีย ยูเครน บัลแกเรีย เชคโกสโลวะเกีย และฮังการี หากโรงไฟฟ้าเหล่านี้ไม่ได้รับการปรับปรุง
เหตุผิดพลาดครั้งสำคัญเกิดขึ้นสี่ครั้งหลังเหตุการณ์เชอร์โนบิล และครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม
คือที่โรงไฟฟ้า SOSNOVY BOR ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าประเภทเดียวกับที่เชอร์โนบิล
หนังสือพิมพ์ BUSINESS WEEK ฉบับต้นเดือนมิถุนายนรายงานว่าแผนการจัดการปิด
หรือปรับปรุงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ไม่ควรเสี่ยงต่อการใช้งานซึ่งผู้นำของประเทศในกลุ่ม
G-7 กำลังขบคิดกันอยู่ต้องใช้เงินถึง 10 พันล้านเหรียญสหรัฐ และหากปิดโรงไฟฟ้าเหล่านี้จริงย่อมส่งผลกระทบอย่างมากมายต่อโครงสร้างพลังงานของประเทศต่างๆ
ซึ่งล้วนแต่ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์เกินครึ่งหนึ่งของการใช้ไฟฟ้าในประเทศ
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าแผนการนี้ดำเนินการอย่างจริงจัง บริษัทในแวดวงอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ก็เตรียมตัวแข่งขันกันอย่างเผ็ดร้อนเพื่อรับผลประโยชน์จำนวนมหาศาลที่คาดว่าจะต้องใช้เงินอย่างน้อยที่สุด
2-3 พันล้านเหรียญสหรัฐในการปรับปรุงในระยะห้าปีแรก และหากรวมการจัดการซากโรงไฟฟ้าที่เชอร์โนบิลหรืออีกสามโรงไฟฟ้าที่เกิดอุบัติเหตุและถูกปิดไปรวมแล้วเป็นมูลค่าถึง
6-9 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงเม็ดเงินอีกจำนวนมหาศาลที่หลายบริษัทกำลังลุ้นหากบรรดาประเทศต่างๆ
ต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ทดแทนโรงเดิมที่หมดสภาพ
"อุบัติเหตุที่เชอร์โนบิลครั้งนั้นรุนแรงมากและไม่คาดคิดกันมาก่อนว่าจะเกิดได้
เพราะส่วนที่คิดกันนั้นก็มักจะคิดกันในแง่ของเครื่องปฏิกรณ์ที่ใช้ในโลกตะวันตก
ไม่มีใครไปคิดในเรื่องเครื่องปฏิกรณ์ประเทศนั้นเท่าไรนัก ทีนี้เมื่อเกิดอย่างรุนแรงขึ้นมา
ครึ่งของทวีปยุโรปได้รับผลกระทบอย่างมาก ส่วนที่เหลือก็ได้รับผลกระทบบ้างเรียกว่าค่อนข้างรุนแรงมาก
อันนี้ทุกคนต้องยอมรับ แต่พร้อมกันนั้นก็พบว่ามีคนตายเพียง 30 กว่าคน"
ธัชชัย สุมิตร คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชี้แจง
เขายังได้อธิบายถึงเครื่องปฏิกรณ์ในประเทศยุโรปตะวันออกว่าอาจมีข้อจำกัดในเรื่องการลงทุน
คือลงทุนในด้านความปลอดภัยระดับหนึ่งแต่มิได้มากเท่ากับประเทศตะวันตกซึ่งลงทุนสูงกว่า
รวมทั้งสังคมประชาธิปไตยทำให้ประชาชนก็มีบทบาทมากกว่าในการยอมรับหรือไม่ยอมรับ
โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย
"ถ้ามีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดขึ้นในบริเวณใดบริเวณหนึ่งก็ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลทุกประเทศที่ต้องป้องกันความปลอดภัยของประชาชน
จำเป็นต้องมีแผนรองรับในกรณีฉุกเฉิน คือบริเวณโดยรอบควรมีประชาชนไม่หนาแน่นต้องอพยพออกได้ภายในเวลา
2 ชั่วโมง อันนี้เป็นมาตรฐานทั่วไปในการหาที่ตั้ง"
ในกรณีทรีไมน์ไอแลนด์เป็นตัวอย่างที่ธัชชัยเห็นว่า เป็นครั้งที่รุนแรงแต่เนื่องจากมีการวางแผนความพร้อมในกรณีฉุกเฉินไว้ทำให้ไม่มีการล้มตายของผู้คน
ปัญหาที่ทรีไมน์ไอแลนด์กำลังเผชิญอยู่เวลานี้คือ การทำความสะอาดที่ยากลำบากราวกับการต่อชิ้นส่วนเรืออับปางในขวด
โดยเฉพาะการนำเชื้อเพลิงออกมา จำเป็นต้องใช้คนงานถึง 400 คน เป็นเวลานานสี่ปีครึ่งและเสียค่าใช้จ่าย
970 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับทำความสะอาดเพียงบางส่วน การขจัดกากกัมมันตรังสีบริเวณพื้นผิวดินรอบๆ
โรงงานก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องเสียเงินจำนวนมหาศาล
นอกจากจะต้องเสียเงินจำนวนมากๆ อย่างที่ยากแก่การจำกัดงบประมาณแล้ว ยังมีคำถามแถมท้ายที่ยังไม่มีคำตอบจากแวดวงอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ในการจัดการซากปรักหักพังของเครื่องปฏิกรณ์และน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจำนวน
23 ล้านแกลลอนที่เหลือตกค้างจากการทำความสะอาด
ในแง่ต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หนึ่งโรงซึ่งมีอายุการใช้งานประมาณ
25 ปี ยากที่จะระบุราคาอย่างแน่ชัดลงไป เพราะจะต้องคำนึงปัจจัยหลายอย่างโดยเฉพาะตัวแปรทางเศรษฐกิจ
เช่น อัตราดอกเบี้ย ภาวะเงินเฟ้อ หรือในแง่เทคนิคเช่นสถานที่ตั้ง เป็นต้น
รวมทั้งความแตกต่างของราคาโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทและระยะเวลาในการก่อสร้างด้วย
หากจะพิจารณาอย่างหยาบๆ บริษัทของแคนาดาคิดราคาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ประเภท
CANDU อย่างคร่าวๆ ขนาดโรงไฟฟ้า 600 เมกะวัตต์ไว้ตกโรงหนึ่งประมาณ 37,700
ล้านบาทเมื่อรวมเชื้อเพลิงขั้นเริ่มต้นและน้ำมวลหนักประมาณ 41,990 ล้านบาท
ในกรณีประเทศที่มีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นโรงแรก ยังมีภาระที่ต้องใช้จ่ายในโครงการเช่น
การศึกษาแผนงาน งานค้นคว้าและพัฒนาการใช้พลังงานนิวเคลียร์เทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากรทุกระดับ
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น
ทบวงการพลังงานปรมาณูประหว่างประเทศระบุในรายงานการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์ว่าต้นทุนการผลิตพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในขนาดกำลังผลิตต่างๆ
สามารถได้เปรียบในการแข่งขันกับโรงไฟฟ้าชนิดใช้น้ำมันเชื้อเพลิง การได้เปรียบนี้ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบราคาน้ำมันของตลาดโลกในปัจจุบัน
กับราคายูเรเนียม ยูเรเนียมมีราคาที่ถูกกว่าและใช้ในปริมาณที่น้อยกว่ามากทีเดียวเมื่อเทียบต่อกำลังการผลิตเท่ากัน
แต่ถ้าหากเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหินยังไม่อาจบอกได้แน่ชัดเพราะขึ้นอยู่กับราคาถ่านหินของโลกด้วย
รวมทั้งราคาโรงไฟฟ้าถ่านหินหากรวมการติดตั้งระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์จะมีผลต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
ด้วยราคาหลายหมื่นล้านของการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในตอนนี้ยังคงจัดว่าสูง
แนวโน้มในอนาคตมีการกล่าวกันว่าราคานี้อาจลดลงเนื่องจากผู้ผลิตพยายามแข่งขันกับโรงไฟฟ้าอื่น
ด้วยการเลือกสร้างโรงไฟฟ้าที่ได้แบบมาตรฐานทั่วไปเพื่อจะได้ย่นระยะเวลาในการก่อสร้างและนั่นหมายถึงการประหยัดต้นทุนที่จะต้องจ่ายไปกับอัตราดอกเบี้ย
ระยะเวลาช่วงหนึ่งที่อุตสาหกรรมนิวเคลียร์อยู่ในภาวะตกต่ำมาก บรรดาผู้ผลิตเครื่องปฏิกรณ์ชั้นนำได้พยายามพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพและความปลอดภัยเพื่อแก้จุดอ่อนที่ยังมีอยู่หลายอย่างของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในการกำจัดจากเชื้อเพลิง
ที่ปัจจุบันมีวิธีการเพียงแค่การจัดเก็บรักษาไว้เพื่อรอวันที่กากเหล่านั้นจะเสื่อมสลายซึ่งอาจใช้เวลาถึงหมื่นปีเท่านั้น
ขณะนี้ผู้ผลิตกำลังพยายามปรับปรุงเทคโนโลยีใหม่ ที่สามารถนำพลูโตเนียมซึ่งเกิดจากการใช้เชื้อเพลิงยูเรเนียมในเครื่องปฏิกรณ์มาใช้ต่อเป็นเชื้อเพลิงได้อีก
เทคโนโลยีนี้คือ FAST BREEDER REACTOR ที่ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาที่คาดว่าจะเป็นเครื่องปฏิกรณ์เชิงพาณิชย์ในอีก
20-30 ปีข้างหน้า
"ตอนนี้เราเพียงแต่ใส่เข้าไปในแผนกำลังการผลิตว่าปี พ.ศ. 2549 ควรมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
นั่นเป็นสิ่งที่เราวางไว้จะทำจริงหรือไม่ขึ้นอยู่กับนโยบาย และขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะยอมรับหรือไม่
ถ้าไม่ยอมรับเราก็หาอย่างอื่นแทน"
วิวัฒน์ พฤกษะวัน หัวหน้ากองพลังงานปรมาณูเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ"
ถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย ขณะนี้ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ กำลังหาบริษัทหรือสถาบันที่มีความสามารถและมีประสบการณ์เพื่อทำการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์ซึ่งคาดว่าราวต้นปีหน้าคงจะเสร็จเรียบร้อย
จากนั้นจึงเสนอเรื่องให้กับสภาพัฒนฯ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติพิจารณาต่อไป
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เองก็เก็บรับประสบการณ์ในอดีตที่ได้รับการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากประชาชน
และได้พยายามศึกษาถึงการประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แก่ประชาชนของประเทศอื่นๆ
เพื่อจะได้มาปรับใช้ในประเทศ
นอกเหนือจากการพยายามวิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีแล้ว บริษัทผู้ผลิตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ต้องพยายามปรับกลยุทธ์ทางการค้าในหลายๆ
รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การให้ทุนการศึกษา การจัดสัมมนา การเชิญไปดูงานโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ
หรือการให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ เป็นต้น
ระหว่างนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือหน่วยงานที่จะรับหน้าที่ด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการยอมรับให้กับคนในประเทศคงต้องทำงานหนักขึ้น
เพราะบริษัทผู้ผลิตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแห่งกำลังลุ้น "ลูกค้าคนสำคัญ"
ที่รอมาหลายปี