เอ่ยชื่อของ "ยูยีน เอส เอ" ยักษ์ใหญ่วงการเหล็กจากฝรั่งเศสที่เข้ามาสู่เมืองไทยด้วยการร่วมทุนกับประยุทธ
มหากิจศิริ เจ้าของผลิตภัณฑ์ "เนสกาแฟ" เพื่อตั้งโรงงานผลิตเหล็กไร้สนิมในไทยนั้น
แม้จะไม่เป็นที่รู้จักกันดีสำหรับคนนอกวงการเหล็ก แต่สำหรับคนวงในแล้ว เป็นที่รู้กันว่า
นี่คือผู้ผลิตเหล็กที่ใหญ่รายหนึ่งของโลก
และสำหรับอุตสาหกรรมเหล็กไร้สนิมแล้ว ยูยีน เอส เอ ก็ถือเป็นรายใหญ่ที่สุดของโลกด้วยซ้ำ
เฉพาะแค่ในฝรั่งเศส ก็มีโรงงานถึง 6 โรงงาน และมีศูนย์วิจัยอีก 3 แห่ง
ส่วนเครือข่ายด้านการตลาดนั้น ปัจจุบัน ยูยีน เอส เอ มีบริษัทในเครือที่ดำเนินการด้านการตลาดและการผลิตในยุโรปและอเมริกาอยู่
13 บริษัท และมีเครือข่ายที่เป็นตัวแทนการค้ากระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลกประมาณ
60 แห่ง
ตัวเลขผลการประกอบการในปี 1991 ยูยีน เอส เอ มีรายได้จากการประกอบการสูงถึง
1.8 หมื่นล้านฟรังก์ฝรั่งเศส หรือประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาท อันนับเป็นตัวเลขของบริษัทประกอบการรายใหญ่ของฝรั่งเศสทีเดียว
ปัจจุบันด้วยจำนวนพนักงานประมาณ 12,000 คนของบริษัท นอกเหนือจากที่ได้รับประกาศให้เป็นอันดับหนึ่งของการผลิตเหล็กไร้สนิมแล้ว
ยูยีน เอส เอ ยังได้ถูกประกาศเป็นผู้ผลิตเพลา ลวด ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกด้วย
การเข้ามาไทยของยูยีน เอส เอ ในครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าจะต้องจับตามอง
เพราะเป็นการเข้ามายังไทย เพื่อใช้เป็นฐานในการผลิตอุตสาหกรรมเหล็กของบริษัท
มิหนำซ้ำความใหญ่ของยูยีน เอส เอ ยังมีประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ร่วมทุนของไทยอีกด้วย
ในการประกันความมั่นใจในโครงการว่า สามารถที่จะสำเร็จด้วยดี
ฌอน-ปอล เทวีนัน กรรมการผู้จัดการไทยน็อคซ์ อดีตช่างเทคนิคมือหนึ่งที่เคยคุมการผลิตของโรงงานต่างๆ
ในเครือข่ายของยูยีน เอส เอ มาแล้ว 6 โรงงาน ยอมรับกับ "ผู้จัดการ"
ว่า การที่ยูยีน เอส เอ เลือกไทยเป็นฐานในการผลิตนั้น นอกเหนือจากความเหมาะสมในเรื่องทำเลที่ตั้งแล้ว
การเป็นโรงงานแห่งแรกของบริษัทผู้ผลิตเหล็กไร้สนิมในอาเซียน ยังเป็นจุดสำคัญของการมาไทยด้วย
ที่สำคัญที่สุดก็คือ การมาตั้งฐานในไทย โดยการดึงมาของประยุทธนั้น นอกจากจะค้ำประกันถึงความเป็นไปได้ของโครงการสูงเพราะมีทั้งเทคนิคการผลิต
มีทั้งตลาดที่รองรับอยู่แล้ว ความใหญ่ของยูยีน เอส เอ ยังเป็นประโยชน์ในการดำเนินโครงการผลิตเหล็กครั้งนี้ด้วย
โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้ความใหญ่ดังกล่าวนี้มาต่อรองกับกลุ่มผู้ผลิตอื่นๆ
ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนด้วยไม่ว่าจะเป็นสยามสตีลไพพ์ หรือสยามสตีล
ที่มีอิตาลีและญี่ปุ่นเป็นผู้ร่วมหุ้นด้วย
เพราะในขณะที่วันชัย คุณานันทกุล คนโตของสยามสตีล ให้การยืนยันว่า การเจรจายังไม่มีข้อยุติ
ต้องรอดูเงื่อนไขที่ไทยน็อคซ์เสนอให้นั้น ฝ่ายบริหารของยูยีน เอส เอ ในฝรั่งเศส
ก็มีการต่อ "สายตรง" เจรจากับนิปปอนสตีลมาร่วมทุนกับยูยีน เอส
เอ ในโครงการนี้ในไทย
มิหนำซ้ำส่อเค้าด้วยว่า การเจรจาครั้งนี้น่าจะเป็นผลสำเร็จเพราะญี่ปุ่นเอง
ก็มีท่าทีว่าจะร่วมทุนด้วย เนื่องจากมองเห็นว่าโครงการของไทยน็อคซ์มีความคืบหน้าไปมากในขณะที่โครงการของสยามสตีลยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมาก
แม้จะเชื่อว่าการที่นิปปอนสตีลพร้อมที่จะร่วมทุนกับไทยน็อคซ์ เพื่อเข้าเป็นหุ้นส่วนในโครงการนี้ในการรักษาตลาดของตนเองก็ตาม
แต่การที่นิปปอนสตีลพร้อมที่จะเข้าร่วมทุนด้วยนั้น นับเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของประยุทธ
มหากิจศิริในการดึงคู่แข่งมาเป็นผู้ร่วมทุนได้
งานนี้ไทยน็อคซ์มีแต่ได้กับได้ เพราะการที่มีพาร์ทเนอร์ชั้นดีชื่อ "ยูยีน
เอส เอ" นั่นเอง