Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2535
"ไทยน็อคซ์ : กลวิธีผูกขาดในธุรกิจเหล็กไร้สนิม"             
โดย ชาย ซีโฮ่
 


   
search resources

ไทยน๊อคซ์ สเตนเลส, บมจ.
ประยุทธ มหากิจศิริ
Metal and Steel




โครงการผลิตเหล็กไร้สนิมของไทยน็อคซ์ สตีลซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจ 1 ใน 3 ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอมีความคืบหน้าไปมากกว่ากลุ่มสยามสตีลไพพ์และกลุ่มสยามสตีล ประยุทธ มหากิจศิริ ประธานฯ ไทยน็อคซ์ฯ อยู่ระหว่างการเจรจาให้สองกลุ่มหลังเข้ามาเป็นพันธมิตรในโครงการนี้ ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่าตลาดภายในประเทศไม่ใหญ่พอที่จะรองรับปริมาณการผลิตจากสามกลุ่มได้ และหากส่งออกจำหน่ายต่างประเทศก็ต้องเจอกับการแข่งขันสูงมาก แต่ความหมายในการเป็นพันธมิตรของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้กลับกลายเป็นการผูกขาด !!

ปลายปี 2534 ประยุทธ มหากิจศิริ นักธุรกิจเจ้าของผลิตภัณฑ์ "เนสกาแฟ" ได้ตัดสินใจเบนเข็มการลงทุนครั้งสำคัญ จากที่เคยอยู่ในวงการธุรกิจอาหาร มาเป็นโครงการผลิตเหล็กไร้สนิม ด้วยการตั้งบริษัทไทยน็อคซ์ สตีลขึ้นมา มีทุนจดทะเบียน 2,000 ล้านบาทและดึงยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมเหล็กไร้สนิมจากฝรั่งเศสที่ชื่อ "ยูยีน เอส เอ" มาร่วมทุนในโครงการลงทุนประมาณ 240 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท

ประยุทธกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า การเข้าสู่ธุรกิจนี้ ก็เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ยังไม่มีใครทำในประเทศไทย และเป็นธุรกิจที่จะให้ผลตอบแทนสูงมาก โดยคาดว่าจะมีรายได้ประมาณปีละ 5,000 ล้านบาท

"ผมเป็นนักธุรกิจที่สนใจจะลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพดี และมักจะมองหาผู้ร่วมทุนที่มีความน่าเชื่อถือสูง" ประยุทธกล่าวพร้อมทั้งยกตัวอย่างถึงการดึง "เนสเล" แห่งประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มาเป็นผู้ร่วมทุนในบริษัท ควอลีตี้คอฟฟี่โพรดักส์ ในการผลิตเนสกาแฟ

กล่าวกันว่า ความใหญ่ของยูยีน เอส เอ ในวงการอุตสาหกรรมผลิตเหล็กไร้สนิมนั้นจะเป็นเครื่องประกันว่า โครงการนี้จะสามารถดำเนินการไปได้ด้วยดี (อ่านล้อมกรอบเรื่องยูยีน)

อย่างไรก็ตามโครงการนี้ไม่ได้มีเพียงประยุทธ มหากิจศิริเท่านั้นที่สนใจจะลงทุน เพราะบรรดาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็ก ต่างก็สนใจที่จะลงทุนผลิตเหล็กไร้สนิมด้วยเช่นเดียวกับที่ไทยน็อคซ์ลงทุนในโครงการที่ระยอง

ดังนั้นเมื่อไทยน็อคซ์ยื่นเรื่องขอรับการส่งเสริมการลงทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไม่นาน และยังไม่มีการอนุมัติโครงการ ก็มีการยื่นขอรับการส่งเสริม โดยกลุ่มสยามสตีลไพพ์ (เอสเอสพี) ของสมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล และกลุ่มสยามสตีล ของวันชัย คุณานันทกุล

ในที่สุดบีโอไอตัดสินให้การส่งเสริมโครงการผลิตเหล็กไร้สนิม 3 ราย ที่จะมีกำลังการผลิตรวมกันถึง 182,000 ตันต่อปี คือ บริษัท ไทยน็อคซ์ สตีล จะตั้งโรงงานที่ระยอง มีกำลังการผลิตปีละ 60,000 ตัน โดยเป็นหุ้นส่วนฝรั่งเศส คือ ยูยีน เอส เอ ร่วมทุนด้วย 49% คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในปี 2536

รายที่สอง สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ยื่นเรื่องขอส่งเสริมในนามบริษัท สเตนเลส อินดัสตรีส์จะมีกำลังการผลิตปีละ 50,000 ตัน โดยตั้งโรงงานที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีหุ้นส่วนต่างชาติคือ บริษัทอิลวาแห่งประเทศอิตาลี เข้าร่วมทุนด้วย 49% โดยในส่วนของหุ้นไทย 51% ในโครงการนี้ มีกลุ่มสหวิริยาร่วมหุ้นอยู่ด้วย โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2537

รายที่สามเป็นโครงการของวันชัย คุณานันทกุลแห่งกลุ่มสยามสตีล มีกำลังการผลิตรวมปีละ 72,000 ตันโดยมีผู้ร่วมทุนต่างชาติคือกลุ่มนิปปอนสตีล ร่วมอยู่ด้วย 49% จะตั้งโรงงานที่จังหวัดระยอง คาดว่าจะเริ่มโครงการในประมาณปี 2536

แต่จากการที่ความต้องการในประเทศมีเพียงประมาณปีละ 45,000-50,000 ตัน กำลังการผลิตที่ทั้ง 3 โรงงานรวมกันสูงถึงปีละ 182,000 ตันนั้น ทำให้เกิดความต้องการในประเทศมาก แนวโน้มการแข่งขันกันจึงอาจจะรุนแรง เพื่อแย่งตลาดในประเทศ

ประยุทธกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงการที่บีโอไอให้การส่งเสริมผู้ยื่นเรื่องอีก 2 รายหลังตนด้วยว่า เป็นเพราะบีโอไอวิตกว่า หากให้การส่งเสริมเฉพาะไทยน็อคซ์เพียงรายเดียว ก็จะกลายเป็นการผูกขาด เพราะกำลังการผลิตมีมากกว่าความต้องการภายในประเทศ

สำหรับการใช้ในประเทศในขณะที่ยังไม่มีการผลิตนั้น ปัจจุบันเป็นการนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นและยุโรปเป็นหลัก และแต่ละบริษัทมีความมั่นใจว่าหากใครสามารถที่จะผลิตได้ก่อน ก็สามารถที่จะยึดตลาดบางส่วนไว้ได้

"ผมศึกษามากพอสมควรก่อนที่จะลงทุนนอกจากธุรกิจนี้จะมีศักยภาพดีแล้ว ตลาดยังมีการขยายตัวสูงมาก คือปีละกว่า 10%" ประยุทธ ในฐานะประธานบริษัทไทยน็อคซ์ฯ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ในส่วนของบริษัทอื่นๆ นั้น แหล่งข่าวในสหวิริยาฯ ซึ่งร่วมทุนกับสมศักดิ์ในโครงการนี้เปิดเผยว่า ปัจจุบันการนำเข้ามายังไทยของสินค้าตัวนี้ มีญี่ปุ่นร่วมอยู่ด้วย ดังนั้นเชื่อว่าโครงการนี้ถึงยังไงกลุ่มผู้ผลิตจากญี่ปุ่น จะไม่ยินยอมที่จะให้ผู้ผลิตประเทศอื่นครองตลาดก่อนแน่นอน

ซึ่งในโครงการนี้ บริษัทญี่ปุ่นที่ร่วมทุนกับไทยนั้น ได้แก่กลุ่มนิปปอนสตีล ที่เป็นคู่ร่วมทุนกับกลุ่มสยามสตีลในหลายโครงการมานานแล้ว ท่ามกลางข่าวลือว่า ไทยน็อคซ์มีการดึงต่างชาติมาร่วมทุนเพิ่มในโครงการระดับ 6,000 ล้านบาทโครงการนี้

ในประมาณเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กลุ่มไทยน็อคซ์ ได้ประกาศว่าจะมีการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ เนื่องจากบริษัทกลุ่มอิลวาซึ่งอยู่ในกลุ่มของเอสเอสพีและสหวิริยา เข้ามาร่วมทุนกับบริษัทด้วย

ประยุทธกล่าวว่าจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นเดิมที่มีสัดส่วนการถือหุ้นฝ่ายไทยคือ กลุ่มของประยุทธ 51% และต่างชาติคือยูยีน เอส เอ 49% ก็จะมีการเปลี่ยนแปลง โดยอิลวา แห่งประเทศอิตาลี เข้าถือหุ้น 14% ในส่วนของต่างชาติ ขณะที่หุ้นส่วนเดิมของอิลวาในโครงการนี้ คือเอสเอสพีและสหวิริยา จะร่วมอยู่ใน 51% ของพาร์ทเนอร์ฝ่ายไทย

สมศักดิ์ ประธานสยามสตีลไพพ์ (เอสเอสพี) กล่าวยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า การร่วมทุนครั้งนี้กลุ่มบริษัท สเตนเลส อินดัสตรีส์ จะร่วมทุนในโครงการของไทยน็อคซ์ 30% ของโครงการ ซึ่งหมายความว่า หุ้นส่วนฝ่ายไทยในบริษัท คือเอสเอสพีและสหวิริยา ถือหุ้น 16% ในไทยน็อคซ์และกลุ่มของประยุทธ ลดสัดส่วนลงมาเหลือเพียง 35% ในโครงการนี้

นอกจากนั้น ประยุทธยืนยันว่า กำลังมีการทาบทามที่จะดึงกลุ่มของสยามสตีล และกลุ่มผู้ลงทุนญี่ปุ่น 6 บริษัท มาร่วมทุนด้วยอีก 14% ในโครงการนี้ ซึ่งหมายความว่า เป้าหมายของไทยน็อคซ์นั้นจะมีการผลิตเพียงโรงงานเดียว แต่มีผู้ร่วมทุนจากทั้ง 3 กลุ่ม

อย่างไรก็ตาม วันชัย ประธานกลุ่มสยามสตีลได้กล่าวยืนยันในเวลาต่อมาว่า การร่วมทุนนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะญี่ปุ่น (คือนิปปอนสตีล) ยังคงอยู่กับกลุ่มสยามสตีลโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง

"ผมไม่รังเกียจที่จะร่วมทุน แต่ต้องมีเงื่อนไขที่ดีพอในการเข้าร่วมด้วย และจะต้องเป็นประโยชน์ในโครงการ" วันชัยกล่าวแบ่งรับแบ่งสู้กับ "ผู้จัดการ"

ส่วนประยุทธ กล่าวถึงการที่ต้องดึงผู้ผลิตต่างชาติมาร่วมทุนว่า เพื่อเสริมความเป็นไปได้ของโครงการอย่างเช่น กรณีการดึงอิลวาเข้ามาร่วมทุน ก็เพื่อนำเอาส่วนดีของอิตาลีมาเสริมในโครงการที่ใช้ฝรั่งเศสเป็นหลัก

ทั้งนี้ประธานไทยน็อคซ์กล่าวว่า หากมีการแข่งขันกันจริง กลุ่มผู้ลงทุนอาจจะต้อง "บอบช้ำ" ในการหาตลาด เพราะกำลังการผลิตมีมากเกินความต้องการในประเทศนั่นเอง

"ถ้าผมเป็นรายที่สองในโครงการนี้ ผมจะไม่ลงทุนเด็ดขาด" ประยุทธกล่าวถึงแนวคิดในธุรกิจนี้ให้ฟัง

การนำเข้าเหล็กไร้สนิมมาใช้ในประเทศนั้น ปัจจุบันมีการนำเข้ามาโดยผู้นำเข้า 3 กลุ่มคือ 1) พวกศูนย์บริการ ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ แล้วขายต่อให้กับผู้ใช้ในประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้รายใหญ่ที่ต้องการเป็นวัตถุดิบ 2) กลุ่มพวกอิมปอร์ตเตอร์ ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ขายส่งและขายหน้าร้านพร้อมๆ กัน และ 3) เป็นการนำเข้ามาของผู้ใช้โดยตรง เช่น โรงงานต่างๆ ทั้งที่ผลิตเครื่องครัวหรือเครื่องใช้ไฟฟ้า

ปัญหาที่กลุ่มผู้ผลิตเริ่มวิตกก็คือ หากมีการผลิตกันมากถึง 182,000 ตัน จะมีตลาดในประเทศรองรับหรือไม่? มิหนำซ้ำ หลายคนยังยอมรับด้วยว่าการที่มีการผลิตเป็นครั้งแรกในประเทศนั้น เป็นเรื่องยากที่จะแข่งขันกับต่างประเทศ ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทยมาก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลี หรือกระทั่งประเทศในยุโรป

รัตนชัย เนาวรัตน์ธนากร ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด ไทยน็อคซ์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าตลาดที่จะรองรับการผลิตของโรงงานนั้น จะเริ่มจากในประเทศก่อน เพราะกำลังการผลิตของไทยน็อคซ์ปีละ 60,000 ตันนั้น เพียงพอที่จะรองรับกับความต้องการในประเทศ นับจากนี้ไปอีก 2-3 ปี

"อนาคตอาจจะถึงขั้นต้องขยายกำลังการผลิตอีกเท่าตัวก็เป็นไปได้" รัตนชัย กล่าวถึงแนวโน้มของตลาดในขณะที่ให้การอธิบายตัวเลขความต้องการว่า ที่ผ่านมาในช่วงปี 1980-1990 นั้น การขยายตัวมีเฉลี่ยประมาณปีละ 12%

ส่วนปีที่ผ่านมานั้นการขยายตัวมีมาก เพราะผู้นำเข้ามีความวิตกในเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จึงมีการนำเข้ามากเกินความต้องการใช้จริง

ขณะที่เอกชัย เรืองจารุพงษ์ รองผู้อำนวยการบริษัท ไทยสเตนเลสสตีล เจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องครัวตราหัวม้าลาย กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าหากมีการผลิตในประเทศแล้ว ผู้ที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงในโครงการนี้ก็คือผู้ใช้นั่นเอง โดยเฉพาะในเรื่องของการวางแผนการสั่งวัตถุดิบ

"ปัจจุบันการสั่งซื้อมานั้น กว่าสินค้าจะมาถึงเรา จะต้องใช้เวลานานถึงประมาณ 6 เดือนจึงจะมาถึง เพราะขั้นตอนการสั่งสินค้าและการขนส่ง"

เมื่อตลาดมีความต้องการมาก จึงเชื่อว่าหากใครสามารถที่จะเริ่มต้นผลิตได้ก่อน ก็จะเป็นผู้ครองตลาดได้ เพราะหุ้นส่วนต่างชาตินั้น ต่างก็เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เหล็กไร้สนิมเป็นวัตถุดิบ

และที่สำคัญก็คือ ชื่อของพาร์ทเนอร์ที่ว่านั้นไม่ว่าจะเป็นยูยีน เอส เอ, อิลวา หรือนิปปอนสตีล ต่างก็เป็นผู้ที่เคยส่งสินค้าเข้ามาขายให้กับบรรดาโรงงานในประเทศทั้งสิ้น

ในเรื่องนี้ แหล่งข่าวในสหวิริยา กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า การนำเข้ามาไทยของเหล็กไร้สนิมนี้ ญี่ปุ่นดูจะมีการสั่งเข้ามามากที่สุด โดยเฉพาะนิปปอนสตีล ที่ได้ชื่อว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมเหล็กของญี่ปุ่น

"ผมเชื่อว่า ถึงยังไงญี่ปุ่นคงจะไม่ยอมให้สูญเสียตลาดส่วนนี้ไปแน่นอน"

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีการคาดการณ์กันว่ากลุ่มนิปปอนสตีล จะเข้ามาร่วมทุนกับกลุ่มของไทยน็อคซ์อย่างแน่นอน และเรื่องนี้ได้รับการขานรับอย่างดี เมื่อข่าวที่ออกจากปากของฝ่ายบริหารของไทยน็อคซ์ ต่างก็ยืนยันตรงกันว่าการเจรจากับกลุ่มอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นนั้นคงจะรู้ผลในเร็วๆ นี้ โดยประยุทธ มหากิจศิริ ประธานไทยน็อคซ์ กล่าวว่าเรื่องเงื่อนไขต่างๆ ในการเจรจาน่าจะรู้ผลในประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นอย่างช้า

แต่ผู้ที่ร่วมทุนอยู่กับนิปปอนสตีลในโครงการต่างๆ จำนวนมาก รวมทั้งโครงการผลิตเหล็กไร้สนิมนี้ คือกลุ่มสยามสตีลนั้น วันชัย ประธานกลุ่มฯ กล่าวยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะตนเชื่อว่า ถึงอย่างไรก็ตามนิปปอนสตีล คงจะอยู่กับกลุ่มของตนอย่างแน่นอน

"ผมยอมรับว่าแปลกใจมากที่มีการออกข่าวว่านิปปอนสตีลไปอยู่กับทางเขา" วันชัยกล่าวเรื่องนี้

อย่างไรก็ตามในเรื่องการเจรจากันนี้ เมื่อประมาณกลางปี รายงานข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการเจรจาเพื่อร่วมโครงการผลิตเหล็กไร้สนิมในไทยระหว่างยูยีน เอส เอ กับกลุ่มบริษัทเหล็กของญี่ปุ่นอย่างน้อย 2 กลุ่ม คือนิปปอนสตีลและคาวาซากิกรุ๊ป มีความคืบหน้าไปมาก

ทั้งนี้รายงานข่าวจากรอยเตอร์ กล่าวถึงประกาศอย่างเป็นทางการของบริษัท นิปปอนสตีล ว่าบริษัทกำลังเจรจาที่จะร่วมทุนกับไทยน็อคซ์ในการผลิตเหล็กไร้สนิมในไทย ท่ามกลางความแปลกใจของผู้ร่วมวงการ เพราะเป็นที่รู้กันว่า นิปปอนสตีลมีความสัมพันธ์อย่างมากกับสยามสตีล และมีชื่อเป็นผู้ลงทุนในโครงการนี้ด้วย

รัตนชัย ซึ่งทำงานมากับยูยีน เอส เอ มานาน และเป็นผู้อำนวยการฝ่ายขาย และตลาดของยูยีน เปิดเผยว่า การเจรจาดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องของ "ผู้ใหญ่" ระดับประธานของยูยีน เอส เอ และประธานนิปปอนสตีล เจรจากันในโครงการนี้

"เขาเป็นเพื่อนกัน รู้จักธุรกิจนี้ดี การเจรจาคงจะง่ายแน่นอน เพราะต่างก็รู้ถึงผลดีผลเสียของการร่วมทุนว่าเป็นอย่างไร"

และล่าสุด ความคืบหน้าของการเจรจาร่วมทุนดูจะมีความเป็นไปได้สูงมาก ในขณะที่ตัวของวันชัย ที่ยังเป็นพาร์ทเนอร์สำคัญของนิปปอนสตีลยังคงยืนยันว่านิปปอนสตีล จะยังคงร่วมอยู่กับสยามสตีลต่อไป

แหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรมเหล็ก กล่าวให้ความเห็นว่า สิ่งที่เป็น "เงื่อนไข" ที่สยามสตีลต้องการใช้ในการต่อรองที่จะเข้าร่วมทุนกับไทยน็อคซ์หรือไม่นั้นได้แก่ เรื่องของการตลาด ทั้งนี้เพราะสยามสตีลมีความมั่นใจว่า ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้ผลิตสินค้าที่ใช้เหล็กรายใหญ่ จึงควรที่จะได้รับเงื่อนไขในเรื่องการตลาด เพราะอย่างน้อย ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวของบริษัทในเครือก็มีมากอยู่แล้ว

นอกจากนั้นการที่มีการคาดการณ์ว่า นับตั้งแต่ปีนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีมาก ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมก่อสร้าง โรงแรม หรืออื่นๆ มีมากก็ยิ่งจะทำให้ตลาดความต้องการเหล็กไร้สนิมยิ่งมีมากด้วย

"แทบทุกอุตสาหกรรม ต้องใช้เหล็กไร้สนิมเป็นวัตถุดิบ เราจึงขยายตัวตาม" รัตนชัยกล่าวถึงตลาดของผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้จากรายงานเผยแพร่ของไทยน็อคซ์กล่าวถึงประโยชน์ของเหล็กไร้สนิมว่า มีการใช้ประโยชน์อย่างไม่มีขีดจำกัด เช่น เป็นเครื่องใช้ภายในบ้าน เป็นเครื่องครัว ใช้ในอุตสาหกรรมทางการเกษตร ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ใช้ในระบบขนส่งมวลชน ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง จนถึงอื่นๆ เช่น อุปกรณ์ต่างๆ ของโรงงานอุตสาหกรรมหลายประเภท (อ่านล้อมกรอบเรื่องของเหล็กไร้สนิม)

ส่วนกลุ่มของเอสเอสพีนั้น แหล่งข่าวกลาวว่า การที่กลุ่มเข้าร่วมทุนกับไทยน็อคซ์นั้น ก็เนื่องจากมองพบว่า ความเป็นไปได้ของโครงการสูงมากเนื่องจากมีความคืบหน้าไปมาก ภายใต้ความช่วยเหลือของยูยีน เอส เอ เจ้าของโนว์ฮาวการผลิต

สำหรับการดำเนินงานของไทยน็อคซ์ในขณะนี้การติดตั้งเครื่องจักรซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีความคืบหน้าไปมาก จนเชื่อว่าโรงงานคงจะสามารถเปิดดำเนินการได้ในประมาณกลางปีหน้าตามแผนงานแน่นอน ขณะที่การฝึกคนงานไปฝึกถึงฝรั่งเศส ที่โรงงานของยูยีน เอส เอ ก็ยังคงดำเนินการต่อไปอีกหลายรุ่น

นั้นหมายความว่า ใน 3 บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอในโครงการผลิตเหล็กไร้สนิมนั้น ดูเหมือนว่า จะมีเพียงโครงการของไทยน็อคซ์เท่านั้นที่มีความคืบหน้า จนกระทั่งเชื่อมั่นว่า ในกลางปีหน้าโรงงานที่ระยอง ที่จะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมระยองอินดัสเตรียลปาร์ค เพื่อผลิตเหล็กไร้สนิมปีละ 60,000 ตันจะเสร็จสมบูรณ์ และพนักงานจำนวนประมาณ 350 คนก็จะไปประจำที่นั่น ในขณะที่อีกประมาณ 50 คน จะประจำอยู่ที่สำนักงานที่กรุงเทพฯ ที่อาคารซีทีไอ อันเป็นศูนย์บัญชาการใหญ่

ส่วนอีก 2 โครงการ แทบจะยังไม่มีการเคลื่อนไหว ในขณะที่ทางบริษัทสเตนเลส อินดัสตรีส์ ประกาศยกเลิกโครงการแล้ว เพื่อที่จะร่วมทุนกับไทยน็อคซ์ ส่วนโครงการของสยามสตีล ที่จะเริ่มในปีหน้า ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า

ความพร้อมตรงนี้ ฌอน-ปอล เทวีนัน กรรมการผู้จัดการไทยน็อคซ์ มือดีด้านการควบคุมโรงงานของยูยีน เอส เอ ที่ผ่านประสบการณ์มามากกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า เป็นเพราะการมาไทยในครั้งนี้ ยูยีน เอส เอ หวังมากว่า โรงงานในไทย จะเป็นฐานในการผลิตสินค้าของโรงงาน เพื่อป้อนตลาดต่างๆ

"เรา (ยูยีน เอส เอ) เลือกไทยเป็นที่ตั้งของโรงงาน เพราะมีความเหมาะสมในหลายๆ ด้าน" เทวีนันกล่าวและยืนยันด้วยว่า การมาไทยครั้งนี้ ได้ผ่านการวิเคราะห์อย่างดีถึงความเหมาะสมในด้านต่างๆ ทั้งทำเลจนถึงเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวของไทย

ในส่วนนี้ รัตนชัยกล่าวเสริมว่า แม้การผลิตจะมีมากเกินความต้องการในประเทศ แต่จากการเตรียมงาน บริษัทก็เตรียมที่จะมีการส่งออกเหล็กไร้สนิมไปยังประเทศต่างๆ ด้วย เพราะมีกำลังการผลิตเหลือ "เราคาดว่าจะมีการส่งออกประมาณ 20% ของการผลิตทั้งหมด"

ขณะเดียวกัน คนในวงการเหล็ก กล่าวถึงการแข่งขันว่า จะต้องมีการแข่งขันกับต่างชาติด้วย ทั้งในตลาดประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ที่มีความได้เปรียบไทยในเรื่องการผลิต เพราะต้นทุนการผลิตในปัจจุบันต่ำกว่าไทยมาก เนื่องจากในประเทศ แนวโน้มจะเหลือผู้ผลิตเพียงรายเดียวคือไทยน็อคซ์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม รัตนชัย ซึ่งจะเป็นผู้ดูแลเรื่องการตลาดของโรงงานที่จะผลิตเหล็กไร้สนิมโรงแรกของอาเซียนแห่งนี้ กล่าวว่า การที่โครงการได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ จึงทำให้สามารถที่จะแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นได้ โดยเฉพาะในตลาดใกล้เคียงอย่างอินโดจีนหรืออาเซียน

"หากไม่มีบัตรส่งเสริม เราไม่มีทางสู้คนอื่นได้ เพราะรายอื่นๆ เขาตัดต้นทุนเรื่องค่าเครื่องจักรไปแล้ว เราได้เปรียบเพียงเรื่องค่าแรงงาน ค่าที่ดินเท่านั้น"

เชื่อกันว่า ตลาดตรงนี้เอง ที่ทำให้ญี่ปุ่นโดยเฉพาะนิปปอนสตีล ตัดสินใจที่จะร่วมทุนกับไทยน็อคซ์ แม้ส่วนหนึ่งจะผูกพันอยู่กับสยามสตีลแต่การที่สยามสตีลยังไม่มีความคืบหน้ามาก จึงยังไม่มีหลักประกันว่า โครงการนี้จะเริ่มได้เมื่อไร เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการของไทยน็อคซ์ ที่โรงงานกำลังจะเริ่มผลิตในประมาณกลางปีหน้าแล้ว นิปปอนสตีลดีดลูกคิดรางแก้วแล้วเห็นว่า การมาร่วมกับไทยน็อคซ์ ไม่ได้เสียหายตรงไหน เพราะการร่วมกันในครั้งนี้เป็นการตกลงกันโดยตรงกับยูยีน เอส เอ ที่ประเทศฝรั่งเศส ไม่ได้เป็นการตกลงกับไทยน็อคซ์ในไทย อันเป็นโครงการ "คู่แข่ง" ของสยามสตีล ที่เป็น "คู่หู" มานาน

เจ้าหน้าที่บริหารของไทยน็อคซ์อย่างรัตนชัยอธิบายให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงการที่ไทยน็อคซ์สามารถเริ่มต้นได้ ในขณะที่อีก 2 รายที่ได้รับบัตรส่งเสริมอย่างสยามสตีลหรือเอสเอสพีไม่สามารถที่จะเริ่มต้นได้ว่า มาจากการตัดสินใจของพาร์ทเนอร์ฝ่ายไทยในการลงทุนโครงการนี้

ตัวอย่างที่เห็นได้ก็คือ การที่เอสเอสพี โดยสมศักดิ์ตัดสินใจระงับโครงการและหันมาร่วมทุนกับไทยน็อคซ์นั้น ก็เนื่องจากหุ้นส่วนฝ่ายไทย คือเอสเอสพีและสหวิริยา ยังไม่พร้อมที่จะลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับที่แหล่งข่าวในสหวิริยา ยืนยันว่า สหวิริยาจะไม่ลงไปในโครงการนี้อย่างเต็มตัว แม้จะมีผลตอบแทนน่าสนใจ เนื่องจากกลุ่มสหวิริยา ลงทุนไปในโครงการเหล็กที่ประจวบคีรีขันธ์ไปแล้วประมาณ 20,000 ล้านบาท จึงสนใจโครงการนี้เพียงแค่การร่วมทุนกับเอสเอสพีเท่านั้น

"เมื่อคุณสมศักดิ์ตัดสินใจร่วมทุน เราก็เข้าไปเป็นหุ้นส่วนด้วย เป็นการตกกระไดพลอยโจน" แหล่งข่าวในสหวิริยากล่าว

ในส่วนของการร่วมทุนกันนั้น กล่าวกันว่า น่าจะมี "เงื่อนไข" พิเศษ แต่ปรากฏว่า "ผู้จัดการ" ได้รับการยืนยันว่า เป็นการร่วมทุนแบบธรรมดาทางธุรกิจ ที่ไม่มีอะไรพิเศษทั้งสิ้น

"เราคุยกับทางบีโอไอ เพื่อยืนยันว่า การที่จะมีการรวมกันจาก 3 เหลือ 2 หรือเหลือเพียงรายเดียว ไม่ได้เพื่อการผูกขาด แต่เป็นการร่วมกันเพื่อความมั่นคงในการลงทุนโครงการนี้" ประยุทะ กล่าวถึงการร่วมทุนครั้งนี้

ประธานไทยน็อคซ์กล่าวถึงการมาร่วมทุนในครั้งนี้กันว่า เป็นนิมิตหมายที่ดีของทางธุรกิจ ที่ไม่มีการดื้อรั้นในการแข่งขันกันเอง ในขณะที่กรรมการผู้จัดการไทยน็อคซ์ กล่าวว่า หากโครงการนี้มี 3 โปรเจ็ค จะเป็นการผลิตที่มากเกินจนอาจจะส่งผลเสียต่อตลาด เพราะเกินความต้องการของตลาด

"เรายินดีที่จะร่วมกับรายอื่น เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อโครงการ" เทวีนันกล่าว

ขณะเดียวกัน มีการเปิดเผยว่า แม้จะมีการเข้ามาร่วมทุนของผู้ผลิตรายอื่น แต่การดำเนินงานทุกอย่างของโครงการของไทยน็อคซ์จะยังคงเป็นการดำเนินงานของกลุ่มผู้บริหารเดิม คือ ไทยน็อคซ์และกลุ่มของประยุทธ มหากิจศิริ

"การมาของผู้ร่วมทุนรายอื่น ไม่มีเงื่อนไขอะไรแน่นอน ผมยืนยันได้ ทุกอย่างยังเป็นการทำงานของเรา กรรมการเท่านั้นที่เขาจะมาเพิ่ม ส่วนฝ่ายบริหารหรือทำงาน ยังเป็นชุดเดิมเพื่อให้งานเดินต่อ" รัตนชัยกล่าวถึงเรื่องนี้

กล่าวกันในวงการผู้ผลิตเหล็กว่า การที่ไทยน็อคซ์ สามารถที่จะเริ่มต้นได้ก่อนคนอื่น และมีความคืบหน้าไปมาก ก็เนื่องมาจากการที่มียูยีน เอส เอ เป็นผู้ร่วมทุน ทั้งนี้เพราะการที่เป็นผู้ผลิตเหล็กไร้สนิมรายใหญ่ที่สุดของโลก ยูยีน เอส เอ จึงต้องการที่จะขยายฐานการผลิตมายังอาเซียน อันเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุด

การที่เทวีนัน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคโรงงานของยูยีน เอส เอ จากฝรั่งเศส ออกมารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ยูยีน เอส เอ มองตลาดทั้งไทยและอาเซียนรวมทั้งเอเชีย คือการตอกย้ำให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของยักษ์ใหญ่จากฝรั่งเศสรายนี้

ในส่วนของผู้ใช้นั้น ผู้ประกอบการที่ต้องการเหล็กไร้สนิมเป็นวัตถุดิบหลายคน กล่าวกับ "ผู้จัดการ" เหมือนๆ กันว่า แม้ผลสุดท้ายแล้ว โครงการนี้จะเหลือผู้ผลิตเพียงรายเดียว แต่ก็ไม่เชื่อว่าจะเป็นการผูกขาด แม้ตลาดในประเทศจะมีความต้องการน้อยกว่าการผลิตโรงงานเดียวก็ตาม ทั้งนี้เพราะปัจจุบันภาษีการนำเข้าเหล็กประเภทนี้ อยู่ในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ คือเพียงประมาณตันละ 400 บาทเท่านั้น

ขณะเดียวกัน การที่ตลาดโลกสามารถที่จะมีการซื้อขายโดยเสรี และไม่มีการห้ามนำเข้าแม้จะมีการส่งเสริมการลงทุนให้มีการผลิตในประเทศก็ตามจะทำให้บรรดาโรงงานที่จะผลิตในไทย ต้องเร่งพัฒนาคุณภาพด้วย

"เราเชื่อว่าชื่อของยูยีนจะทำให้สินค้าของเขาดี" หนึ่งในผู้ผลิตกล่าว

แนวโน้มการผลิตเหล็กไร้สนิมที่จะเหลือผู้ผลิตเพียงรายเดียวแทนที่จะเป็นการแข่งขันกันเองในระหว่างผู้ผลิตทั้ง 3 รายก็จะกลายเป็นการผูกขาดไปโดยปริยาย

แม้ในระยะแรก ไทยน็อคซ์ฯ อาจจะยังไม่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ แต่ในอนาคตเมื่อตลาดมีการขยายตัวมาก ถึงขั้นที่ไทยน็อคซ์ฯ จะมีการขยายกำลังการผลิตเป็น 2 เท่าอย่างที่รัตนชัยกล่าว

หากเป็นเช่นนี้ นิปปอนสตีลก็อาจจะเสียเปรียบได้เพราะพาร์ทเนอร์ไทยมัวโอ้เอ้ชักช้า จัดนี้น่าจะเป็นสาเหตุให้นิปปอนสตีล ตัดสินใจร่วมทุนกับไทยน็อคซ์ฯ ภายหลังการทาบทามของฝ่ายบริหารของยูยีน เอส เอ แห่งฝรั่งเศส โดยไม่มีการนำชื่อของสยามสตีล มาร่วมในการเจรจาครั้งนี้ด้วย

ประเทศยิ่งใหญ่อย่างญี่ปุ่น ที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่มีสายตาไกลในเรื่องของการค้าการขายระหว่างประเทศ คงจะไม่ยอมที่จะสูญเสียตลาดแถบนี้ไปแน่นอน

กล่าวกันว่า การที่วันชัยยังไม่ตัดสินใจที่จะลงทุนในโครงการนี้อย่างจริงจัง ก็เนื่องจากมีความต้องการที่จะให้โครงการเหล็กโครงการอื่นๆ ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอก่อน เพราะเป็นโครงการที่มีความจำเป็นมากกว่าโครงการเหล็กไร้สนิม

นอกจากนั้นการที่วันชัยยังไม่ได้ตัดสินใจระงับแผนโครงการเหล็กไร้สนิมของสยามสตีลอย่างที่กลุ่มเอสเอสพีของสมศักดิ์ซึ่งร่วมทุนกับอิลวา ตัดสินใจเลิกโครงการด้วยการแจ้งไปยังบีโอไอ และไปร่วมทุนกับประยุทธด้วยแล้ว นั่นก็คือ ความเป็นไปได้ในโครงการของวันชัยยังคงมีอยู่

ตราบใดที่วันชัยยังไม่ได้ตอบรับที่จะเข้าร่วมทุนกับไทยน็อคซ์ ก็หมายความว่า นิปปอนสตีลยังมีโปรเจ็คในมืออีกโปรเจ็คที่มีวันชัยเป็นผู้ร่วมทุนคือโครงการของสยามสตีล

การมองตลาดของญี่ปุ่นในครั้งนี้ บางทีถึงวันนั้นอาวุธลับในการเจรจาของไทยน็อคซ์ที่ชื่อ "ยูยีน เอส เอ" ที่ได้ผลในการดึงพาร์ทเนอร์ยักษ์แห่งเอเชียนามว่า "นิปปอนสตีล" มาร่วมทุนด้วย อาจจะกลายเป็นบูมเมอแรงที่ย้อนกลับมาฟาดใส่ตัวเองก็ได้

ผลสุดท้าย โครงการผลิตเหล็กไร้สนิม ที่ประยุทธ มหากิจศิริ หันมาลงทุนเป็นรายแรกในนาม "ไทยน็อคซ์" และมองว่าเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูง มีผลตอบแทนดีพร้อมทั้งเริ่มต้นไปก่อนคนอื่น จนกระทั่งเป็นผลสำเร็จ และสามารถที่จะดึงพาร์ทเนอร์ใหญ่ๆ ทั้งอิตาลีและญี่ปุ่นคืออิลวา และนิปปอนสตีลมาร่วมทุนด้วย ก็กลายเป็นโครงการผูกขาดเพียงรายเดียวที่ประสบความสำเร็จ

เป็นกลวิธีการผูกขาดในธุรกิจเหล็กไร้สนิมที่น่าสนใจไม่น้อย !!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us