ธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือหรือชิปปิ้งในเส้นทางระหว่างสิงคโปร์กับโฮจิมินห์
ซิตี ในปัจจุบันนั้นหาใช่ธุรกิจทำกำไรงามอย่างในอดีตอีกแล้ว เนื่องจากมีการแข่งขันกันตัดราคาอย่างหนักหน่วง
ทว่า ผู้ประกอบการอีกจำนวนไม่น้อยก็ยังดาหน้าเข้าสู่ธุรกิจแขนงนี้ ด้วยหวังว่าสักวันหนึ่งแสงเรืองรอง
ณ ขอบฟ้า ธุรกิจจะปรากฏอีกครั้งที่ตลาดอินโดจีน
ตัวอย่างแรกก็คือ "NEPTUNE ORIENT LINES" หรือ NOL ซึ่งเป็นกิจการชิปปิ้งของสิงคโปร์
เดือนเมษายนที่ผ่านมา NOL ได้ตกลงร่วมทุนสัดส่วน 60:40 กับ "VIETFRACHT"
แห่งเวียดนามเพื่อก่อตั้งบริษัท "CENTENARY SHIPPING" โดยมีฐานในสิงคโปร์
ทั้งที่ปัจจุบัน NOL มีธุรกิจชิปปิ้งอยู่แล้วในทั่วโลกมีเรือคอนเทนเนอร์
23 ลำ ที่มีขีดความจุสินค้ารวมถึง 35,417 ทีอียู และมีเรือคอนเทนเนอร์ "TANAG
AIR" ประจำในเส้นทางเดินเรือสินค้าระหว่างสิงคโปร์-โฮจิมินห์ ซีตี อยู่แล้ว
การร่วมทุนครั้งใหม่นี้จึงเท่ากับว่า NOL คาดหมายอนาคตธุรกิจในเส้นทางระหว่างสิงคโปร์และเวียดนามว่า
จะต้องเติบโตต่อไปอีกมากนั่นเอง
ข้อยืนยันอีกประการหนึ่งก็คือ การที่ NOL มีแผนการเข้าไปลงทุนทางด้านรถบรรทุกสินค้าและคลังสินค้าเพิ่มเติมในเวียดนามด้วยนั่นเอง
ทุกวันนี้ผู้ประกอบธุรกิจชิปปิ้งในเส้นทางระหว่างสิงคโปร์กับโฮจิมินห์
ซิตี มีอยู่ด้วยกันหกหรือเจ็ดรายใหญ่ๆ โดยมีกิจการสัญชาติยุโรปซึ่งวางฐานไว้ในสิงคโปร์อยู่ก่อนแล้วรุกคืบเข้าสู่เวียดนามได้ก่อนคู่แข่ง
อาทิ "COMPAGNIE GENERALE MARITIME" ของฝรั่งเศส "EAC TRANSPORT"
ซึ่งเป็นกิจการในเครือของกลุ่มอี๊สต์เชียติ๊ก ค. ของเดนมาร์ก และ "EAC
SAIGON SHIPPING CO." ซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนสัดส่วน 75:25 กับ "SAIGON
SHIPPIHG CO." ของเวียดนาม
โดยรูปแบบของกิจการส่วนใหญ่ จะเป็นความร่วมมือในลักษณะพันธมิตร ทำข้อตกลงด้านบริการร่วมกันเอง
หรือไม่ก็ร่วมทุนกับบริษัทเวียดนาม
เดือนเมษายนที่ผ่านมา กิจการชิปปิ้งร่วมทุนระหว่างไทยกับสิงคโปร์ที่ชื่อ
"REGIONAL CONTAINERLINES" ก็ได้ร่วมมือกับ "GEMARTRANS"
เปิดเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างสิงคโปร์กับโฮจิมินห์ ซิตี โดยใช้เรือคอนเทนเนอร์
"ราชภูม" เป็นพาหนะหลัก และมีแผนที่จะขยายข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้เส้นทางร่วมกันในเส้นทางอื่นๆ
เช่น กัมพูชา อีกด้วย
ส่วน "PACIFIC INTERNATIONAL LINES" (PIL) ของสิงคโปร์นั้น น่าจะจัดได้ว่าเป็นธุรกิจชิปปิ้งเอกชนรายใหญ่ที่สุดของเอเชียใต้
แต่กลับเลือกใช้วิธีการรุกสู่ตลาดเวียดนามด้วยการใช้บริการรวมกับกิจการชิปปิ้งอื่นๆ
คือ "P&O CONTAINER" ของลอนดอน และ "STEAMER MARITIME
HOLDINGS" แทนที่จะเข้าร่วมทุนกับกิจการของเวียดนามโดยตรง
นอกจากนั้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา PIL ยังได้ร่วมมือกับ "MALAYSIAN
INTERNATIONAL SHIPPING CORP" (MISC) ให้บริการขนส่งสินค้าทางทะเลในเส้นทางเดียวกันนี้ด้วย
อีกทั้งมีโครงการขยายเส้นทางเดินเรือสินค้าไปยังออสเตรเลียและกรุงเทพฯ ในอนาคต
การรุกเปิดเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าของบริษัทชิปปิ้งดังกล่าวข้างต้น
ส่งผลให้เกิดปัญหาติดตามมา กล่าวคือผู้ประกอบการมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนเกินความต้องการใช้บริการจนถึงกับต้องแข่งขันกันตัดราคาค่าระวางขนส่ง
เพื่อชิงลูกค้าอย่างอัตราค่าระวางสินค้าสำหรับตู้เก็บสินค้าขนาด 20 ฟุต ในเส้นทางระหว่างโฮจิมินห์
ซิตี และโฮจิมินห์ ซีตี้เมื่อราวหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมาจะตกราว 750 ดอลลาร์
แต่ขณะนี้กลับตกลงเหลือประมาณ 400 ล้านดอลลาร์เท่านั้น
อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการในธุรกิจชิปปิ้งส่วนใหญ่ยังมุ่งหน้าสู่เวียดนามต่อไป
ก็เพราะ "ผลประโยชน์ระยะยาว" อย่างที่แอนโธนี ชาน ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปของพีไอแอลให้เหตุผลว่า
"สิ่งสำคัญที่ต้องทำตอนนี้ก็คือสร้างฐานธุรกิจในเวียดนามให้ได้ก่อน
เพื่อหาโอกาสแสวงผลประโยชน์ในอนาคตต่อไป"
และ "โอกาส" ที่ชานกล่าวถึงนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเวียดนามสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกสินค้าสำเร็จรูป
หรือกึ่งสำเร็จรูปได้อย่างเต็มตัว ซึ่งชานคาดหมายว่าคงจะอีกราวสองปีข้างหน้า
ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับธุรกิจชิปปิ้งในเส้นทางนี้ก็คือ เรือสินค้าในเที่ยวจากสิงคโปร์สู่เวียดนามนั้นมักเป็นเรือเปล่า
เนื่องจากไม่ค่อยมีสินค้าที่จะนำกลับมาจำหน่าย ผิดกับเที่ยวจากเวียดนามสู่สิงคโปร์ที่จะบรรทุกอาหารทะเลแช่แข็งเป็นหลัก
ภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดการสูญเสียค่าใช้จ่ายโดยเปล่าประโยชน์
เป็นที่คาดว่า การใช้บริการขนส่งสินค้าโดยบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ ในเส้นทางระหว่างสองประเทศนี้จะตกราว
500 ทีอียู ต่อสัปดาห์ โดยที่ "EAC SAIGON SHIPPING" และ "GEMARTRANS"
เฉลี่ยส่วนแบ่งธุรกิจกันรายละ 20-25%