"ผู้นำลาวมองการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวโยงกับประเด็นเรื่องความมั่นคง
ขณะที่ความสัมพันธ์ทางการค้ากับต่างประเทศ ยังไร้โครงสร้างที่ได้มาตรฐานสากล
การค้าต่างประเทศของลาวจึงเป็นภาคเศรษฐกิจที่ไม่มีพลังต่อการสร้างสรรค์มาตรฐานการกินดีอยู่ดีของประชาชน
ยกเว้นเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐ"
ช่วง พุทธมาตย์ อดีตตาแสง (กำนัน) เมืองหมอ แขวงไชยบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
เมื่อ 17 ปีก่อนหลังจากลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองข้ามมาอยู่ฝั่งไทย ทุกวันนี้ใช้ชีวิตอยู่บนแผ่นดินไทย
ที่บ้านนากระเซ็ง ต. อาฮี อ. ท่าลี่ จ. เลย แบบคนไทยบนฝั่งแม่น้ำเหืองพรมแดนไทย-ลาว
ด้วยการทำการค้ากับคนลาว
ช่วง เดินทางข้ามแม่น้ำเหืองอันตื้นเขินไปฝั่งลาวได้ทุกเวลาที่ต้องการ
ไม่ว่าจะด้วยวัตถุประสงค์ทางธุรกิจหรืออื่นใด โดยที่ทางการลาวก็ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี
ในอดีตช่วงเป็นคนที่มีบทบาทในการประสานสัมพันธไมตรีระหว่างไทยและลาว หลังจากความขัดแย้งที่บ้านร่มเกล้าแล้ว
ช่วงพยายามที่จะประสานงานทั้งไทยและลาวเพื่อให้มีการเปิดจุดผ่อนปรนบ้านนากระเซ็งซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านเมืองหมอ
แขวงไชยบุรี ของลาว
จนในที่สุดเมื่อ 2 ปีก่อนความพยายามของช่วงก็ประสบความสำเร็จ พ่อค้าไทย-ลาวได้อาศัยจุดผ่อนปรนนี้ทำมาหากินอยู่ปัจจุบัน
ด้วยความกว้างขวางและเป็นที่ยอมรับของทั้งไทยและลาว ช่วงได้รับเลือกให้เป็นประธานชมรมพ่อค้าชายแดน
หน้าที่หลักคือคอยดูแลการค้าระหว่างไทยและลาว คอยดูแลประโยชน์ให้กับพ่อค้าในชมรมของแกซึ่งมีอยู่
12 รายใหญ่และรวมทั้งผู้ค้ารายเล็กรายน้อยอีกจำนวนหนึ่ง
"ทุกวันนี้ผมต้องคอยประสานงานกับทางฝ่ายอำเภอ อ.ส. ทหารพราน ตำรวจ
กองตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร เกี่ยวกับการทำการค้าชายแดนไทย-ลาว ตรงจุดผ่อนปรนบ้านนากระเซ็งนี้
เพราะการค้าขายบริเวณนี้ไม่เหมือนการค้าขายปกติทั่วไปแต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย"
ช่วงปรารภกับ "ผู้จัดการ" ที่บ้านพักริมฝั่งแม่น้ำเหือง ซึ่งครั้งหึ่งเคยใช้เป็นที่เจรจาความเมืองเรื่องการเปิดจุดผ่านแดนของประเทศบ้านพี่เมืองน้องไทย-ลาว
ระบบการค้าระหว่างไทยและลาวเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากสำหรับคนทั่วไป หรือแม้แต่พ่อค้าที่มีประสบการณ์ในการทำการค้าระหว่างประเทศมากๆ
ก็อาจจะไม่ใช่ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำการค้ากับลาวก็เป็นได้ ถ้าหากวาดภาพการทำการค้าผิดไปจากความเป็นจริง
คนที่ทำการค้ากับลาวแล้วประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะเป็นคนแบบ ช่วง
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ผ่านระบบการบริหารเศรษฐกิจแบบวางแผนส่วนกลางมาเป็นเวลาถึง
17 ปีเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนในรัฐบาลลาวเข้าใจการบริหารเศรษฐกิจแบบเสรี
ลาวไม่กล้าหาญเพียงพอที่จะอนุญาตให้เอกชนภายในประเทศทำการสะสมทุนและเข้ามามีบทบาทในการบริหารเศรษฐกิจ
ดังนั้นทุกอย่างจึงอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ
"จินตาการใหม่" จึงดูเป็นเรื่องที่เลื่อนลอย หรือในหลายกรณีมันก็เป็นเพียงสุนทรพจน์ที่สวยงามของผู้นำลาวเท่านั้น
ในภาคปฏิบัติแล้วแนวคิดในการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ใครทำอะไรได้ก็ทำ
ไม่มีทิศทางของการพัฒนาประเทศที่ชัดเจนแต่อย่างใดและประการสำคัญไร้ระบบโดยสิ้นเชิง
คนที่ทำการค้ากับลาวจะทราบดีว่าปัญหาประการหนึ่งที่แก้ไม่ตกคือ ลาวมีกฎระเบียบต่างๆ
มากมายและประการสำคัญ กฎระเบียบเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา กฎหมายที่มีความมั่นคงถาวรของลาว
จะมีเพียงกฎหมายที่ออกโดยสภาประชาชนสูงสุดเท่านั้น แต่นอกนั้นแล้วจะเปลี่ยนแปลงเมื่อใดก็ได้
เป็นความจริงที่ว่าระบบเศรษฐกิจของลาวเป็นเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง
แต่ก็เป็นความจริงอีกเช่นกันที่แขวงแต่ละแขวงมีอำนาจในการบริหารเศรษฐกิจรวมทั้งออกกฎหมายต่างๆ
ได้เอง
ในกรณีเรื่องการค้าไม้จะเป็นตัวอย่างชัดเจนที่สุด ก่อนเดือนพฤษภาคม แขวงมีอำนาจที่จะให้สัมปทานการตัดไม้แก่บริษัทต่างประเทศ
แต่หลังจากนั้นมีคำสั่งจากรัฐบาลกลางว่า แขวงแต่ละแขวงไม่มีอำนาจที่จะอนุญาตให้ผู้ใดตัดไม้ได้
แขวงมีสิทธิเพียงขออนุญาตจากส่วนกลางตัดไม้ใช้เพื่อกิจการภายในแขวงเท่านั้น
การอนุญาตให้บริษัทต่างชาติตัดไม้ จะเป็นอำนาจของกระทรวงป่าไม้และกสิกรรมกระทรวงการค้าและกระทรวงการเงินเท่านั้น
เรื่องจึงกลายเป็นว่าลาวเปลี่ยนแปลงคำสั่งและกฎระเบียบอยู่เสมอๆ แม้แต่ในการค้าไม้ซึ่งถือเป็นสินค้าหลักในขณะนี้
ผู้ค้าไม้จำนวนมากให้ความเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ของลาว เป็นไปเพื่อที่จะหาทางขึ้นราคาไม้
เพราะลาวทราบดีว่าไทยต้องพึ่งการนำเข้าไม้จากลาวดังนั้นไม่ว่าจะมีความผันผวนอย่างไรไทยก็จำเป็นจะต้องพึ่งพิงลาวอยู่นั่นเอง
แต่หากพิเคราะห์ให้ดีแล้ว ปัญหานี้ไม่ใช่มีที่มาตื้นๆ เพียงแค่นี้ ปัญหาทั้งหมดน่าจะอยู่ที่ประการแรก
ทางส่วนกลางของลาวเริ่มมีความสามารถในการแผ่อำนาจไปปกครองแขวงต่างๆ ได้มากขึ้น
เนื่องจากสามารถติดต่อคมนาคมได้สะดวกขึ้น
ในอดีตการสื่อสารและการเดินทางจากเวียงจันทน์ไปแขวงทางใต้อย่างสะวันเขต
สาละวัน หรือจำปาสัก ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ
เมื่อส่วนกลางติดต่อแขวงได้สะดวกขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาถนนหนทางการควบคุมก็ทำได้ง่ายกว่าเก่า
ทัศนะผู้นำลาว การปล่อยส่วนกลางมีอิสระ จึงไม่ใช่เรื่องที่พึงปรารถนาอีกต่อไป
ประการต่อมา เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลลาวยากจน กรุงเวียงจันทน์ไม่ยินยอมจะให้แขวงต่างๆ
ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรนานาชนิดมีความร่ำรวยขึ้นมา เพราะการขายทรัพยากรของชาติโดยที่เวียงจันทน์ไม่ได้อะไรเลย
แนวโน้มในตอนนี้คือทางเวียงจันทน์อยากจะเข้าไปจัดการและดูแลทุกๆ เรื่องที่ถือว่าเป็นผลประโยชน์ของชาติ
เมื่อเร็วๆ นี้มีการประชุมทางการค้าทั่วประเทศเป็นครั้งแรกของลาว นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่ง
68/สปล. มอบอำนาจให้กระทรวงการค้าและท่องเที่ยว ปฏิรูประบบบริหารงานด้านการค้าเสียใหม่
เป็นทำนองโครงการนำร่อง โดยให้มีการรวมศูนย์บังคับบัญชา งานด้านการค้าทุกแขวงจะต้องปฏิบัติตามระเบียบ
คำสั่งกระทรวงการค้าแขวงจะไม่ใช้คนของแขวงอีกต่อไป กระทรวงจะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปประจำแขวงและเมืองต่างๆ
"เขาพยายามจะจัดระบบสินค้าทุกชนิดที่ผ่านเวียงจันทน์เพื่อที่จะได้มีโอกาสเก็บภาษี
ทั้งๆ ที่บางครั้งสินค้านั้นเราเสียภาษีให้แขวงแล้วเมื่อมาผ่านกำแพงนครเวียงจันทน์ก็ต้องเสียอีก"
แหล่งข่าวซึ่งทำการค้าอยู่ในกรุงเวียงจันทน์กล่าว
แม้ว่าลาวจะทำการค้าขายมานานพอควร แต่ทว่าก็ยังไม่มีเงินตราต่างประเทศเพียงพอที่จะทำการค้าด้วยระบบเงินตราได้เต็มที่
ปัจจุบันลาวมีปริมาณการค้ากับต่างประเทศปีละ 6,000 ล้านบาทเศษ มีรายได้จาการส่งออกสินค้าที่สำคัญๆ
เช่นเสื้อผ้า ไม้ กาแฟ ของป่า สมุนไพร เศษเหล็ก ปีละประมาณ 1,600 ล้านบาทเศษ
ขายกระแสไฟฟ้าให้ไทยปีละ 500-600 ล้านบาท และได้รับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศประมาณ
2,500 ล้านบาท
"ปัจจุบันการค้าระบบแลกเปลี่ยนหรือที่เรียกกันว่าระบบบราเตอร์เทรด
ก็ยังคงใช้กันอยู่อย่างกรณีของเชลล์ ซึ่งขายน้ำมันให้แขวงคำม่วน ปรากฏว่าพอสั่งน้ำมันเข้ามากๆ
ทางฝ่ายลาวไม่มีเงินจ่ายเขาก็ใช้วิธียกดีบุกให้เชลล์ แต่เชลล์เป็นบริษัทน้ำมันเขาไม่ทำเหมืองแร่ดีบุกจึงให้ไทยซาโก
ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเข้าไปทำเหมือง ก็กลายเป็นว่าไทยซาโกเป็นคนจ่ายค่าน้ำมันให้ลาว"
รังสี ศกุนะสิงห์ นายด่านศุลกากรนครพนมเล่าถึงการแก้ปัญหาในการทำการค้าของลาว
อาจจะเป็นเรื่องที่โชคดีสำหรับลูกค้าที่เป็นคนไทย เนื่องจากคู่ค้าฝ่ายลาวยินดีที่จะรับเงินสกุลบาทของไทยในการทำการค้า
แต่ทว่าการค้าโดยอาศัยเงินไทยนั้น คู่ค้าทั้งสองฝ่าย จะต้องไว้เนื้อเชื่อใจกันอย่างยิ่ง
มิฉะนั้นแล้วฝ่ายไทยจะเป็นผู้เสียเปรียบ
ระบบการค้าที่จะรับเงินบาท คู่ค้าทั้งสองฝ่ายจะต้องติดต่อกันเอง ถ้าไทยเป็นผู้ซื้อจะต้องนำเงินไปให้ลาวก่อนเพื่อหาซื้อสินค้าหรือเพื่อดำเนินการต่างๆ
เพื่อให้ได้สินค้ามา
ปัญหาคือ ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าเมื่อจ่ายเงินก้อนนั้นไปแล้วสินค้าจะมาตามที่สัญญากันไว้
หากมีการผิดสัญญาก็ไม่มีใครตามเรื่องให้ได้เพราะไม่มีหลักฐานอะไร
"ถ้าไม่เช่นนั้น ก็ต้องทำการค้าผ่านระบบธนาคาร ซึ่งธนาคารลาวคิดอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน
(28 กรกฎาคม 2535) ขาย 27 กีบต่อ 1 บาทและซื้อ 28 กีบต่อ 1 บาท พูดง่ายๆ
กำไรบาทละ 1 กีบ ซึ่งก็เป็นธรรมดา ธนาคารที่ไหนก็คิดกำไรแบบนี้เงินบาทยังดีกว่าดอลลาร์สหรัฐ"
ถ้าหากค้ากันด้วยสกุลดอลลาร์ ดูเหมือนอัตราสูญเสียจากการแลกเปลี่ยนจะตกประมาณ
2% คือเอาเงินดอลลาร์แลกเป็นกีบแล้วมาเทียบเป็นเงินบาท จะได้น้อยกว่าที่แลกบาทเป็นกีบโดยตรงอยู่ประมาณ
2% คนไทยส่วนใหญ่ยังคิดเล็กคิดน้อย คือไม่ยอมให้กำไรหดหายไปเพราะอัตราแลกเปลี่ยน
ดังนั้นประมาณ 60-70% ของผู้ค้าทั้งหมดนิยมทำการค้ากันโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านระบบธนาคาร
"สันติโควบุตร" ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนมกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ
"ผู้จัดการ"
แต่ปัญหาของการทำการค้ากันโดยไม่ผ่านระบบธนาคารคือ ไม่มีหลักประกัน ดังนั้นปัญหาการโกงหรือบิดพลิ้วสัญญาที่ทำกันไว้แบบหลวมๆ
หรือทำกันด้วยวาจาจึงเกิดขึ้นเสมอๆ การโกงกันไม่ใช่เรื่องที่เล่าเป็นตำนาน
หรือเอามาพูดเพื่อโจมตีฝ่ายลาว แต่เคยมีคดีเกิดขึ้นจริงๆ
เรื่องเกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2534 เจ้าแขวงคำม่วนได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมแจ้งให้ทราบว่า
นายเกษมศักดิ์ อยานนท์ พ่อค้าคนไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวและนำไม้แปรรูป ถูกกักตัวอยู่แขวงคำม่วน
เพราะมีความผิดฐานนำเงินจำนวน 60,000 บาทเข้าประเทศลาวโดยไม่ผ่านธนาคาร
เมื่อวันที่ 2-11 เมษายน 2534 ถูกเจ้าหน้าที่ของลาวตักเตือนแล้วยังฝ่าฝืนนำเงินเข้าอีก
ทางการลาวจึงดำเนินการตามกฎหมายธนาคารมาตรา 26 ซึ่งกำหนดโทษปรับ 50% ของเงินที่นำเข้า
เบื้องหลังของเรื่องนี้ คือนายเกษมศักดิ์ นำเงินจำนวนดังกล่าวไปจ่ายเป็นค่าซื้อไม้ให้คู่ค้าฝ่ายลาว
ปัญหาคือทำสัญญากันแล้วคู่ค้าฝ่ายลาวไม่สามารถหาสินค้าให้ได้ตามที่ได้สัญญากันไว้
จึงหาทางบิดพลิ้ว โดยการแจ้งตำรวจจับนายเกษมศักดิ์ฐานลักลอบนำเงินเข้าประเทศ
ความจริงนายเกษมศักดิ์ได้จ่ายเงินให้กับคู่ค้าไปตั้งแต่เดือนเมษายน แต่มาถูกแจ้งจับในเดือนธันวาคม
ซึ่งห่างกันถึง 7 เดือน โดยที่ทางการลาวไม่ได้ใช้พยานหลักฐานอะไรมากไปกว่าผู้ที่แจ้งจับซึ่งก็คือคู่ค้าของนายเกษมศักดิ์นั่นเอง
นายเกษมศักดิ์ไม่มีทางเลือกอะไรมากไปกว่าโต้แย้งว่าเจ้าหน้าที่ลาวหาเงิน
และปรับเกินกว่าเหตุผลจากการโต้แย้งเช่นนี้ทำให้นายเกษมศักดิ์โดนข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน
เป็นความผิดอาญามีโทษปรับ 25,000 บาทและจำคุก 1-3 ปีตามกฎหมายอาญาลาวมาตรา
148
เหตุการณ์ทำนองนี้ เป็นเรื่องที่พ่อค้าทั้งหลายสมควรจดจำไว้เป็นอุทาหรณ์
ตราบใดที่คู่ค้าสามารถหาสินค้าให้ได้ตามกำหนดในสัญญา ตราบนั้นการนำเงินตราต่างประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นเงินสกุลบาทหรือสกุลอื่นใดโดยไม่ผ่านธนาคาร เพื่อไปจ่ายให้คู่ค้าก็เป็นเรื่องที่หลงหูหลงตาเจ้าหน้าที่ของรัฐไปได้เสมอ
ยามใดที่คู่ค้า เกิดขัดสนขึ้นมาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้ต่อกันได้
เมื่อนั้นเงินที่จะนำไปจ่ายให้เขา จะกลายเป็นเงินที่เข้าประเทศโดยผิดกฎหมายขึ้นมาทันที
ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนมเล่าให้ฟังว่า ความจริงคนลาวก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นขี้โกงอะไรแต่ปัญหาคือเขาวางแผนในการใช้จ่ายเงินไม่เป็น
เวลาพ่อค้าไทยนำเงินไปจ่าย เพื่อที่จะให้เขาเป็นค่าใช้จ่ายในการหาสินค้า
เช่น ตัดไม้หรือชักลากไม้ออกมา เขาก็เอาเงินนั้นไปใช้จ่ายอย่างอื่นเสียจนหมด
เอาไปซื้อรถมอเตอร์ไซด์ขี่เล่นบ้าง หรือเอามาเที่ยวฝั่งไทยเสียจนหมด พอถึงเวลาจะทำงานกันจริงๆ
ก็ไม่มีค่าใช้จ่ายหรือเงินเหลือไม่พอ ก็ได้ของออกมาไม่ตามสัญญาที่ให้กันไว้
พ่อค้าไทยก็บอกว่าไม่เป็นไรติดหนี้ไว้ก่อนก็ได้ บางรายปล่อยให้หนี้พอกพูนเสียจนไม่มีทางจะชดใช้ให้ได้
ก็ต้องใช้วิธีโกงเอาดื้อๆ แล้วก็เลิกกิจการไปเลย
"จริงๆ แล้วถ้าเขาทำธุรกิจเป็นปัญหาหนี้สินจากธุรกิจเป็นเรื่องธรรมดามาก
ตราบเท่าที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้อยู่ โอกาสในการชำระหนี้ก็มีไม่ ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีโกงให้เสียกันทั้งสองฝ่าย"
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการบิดพลิ้วกันด้วยเหตุผลง่ายๆ เช่นนี้ สันติ โควบุตร
ประธานหอการค้านครพนม จึงได้เสนอเรื่องนี้ให้ทางจังหวัดนครพนมรับทราบ และแก้ไขด้วยการออกเป็นประกาศของจังหวัดเรื่องหลักประกันการชำระเงินนำเข้าและส่งออก
โดยสาระสำคัญของการออกประกาศฉบับนี้คือ ให้ธนาคารเข้ามามีส่วนในการออกหลักประกันการชำระเงินในการสั่งซื้อสินค้าไม่ว่าการนำเข้าหรือส่งออก
โดยธนาคารที่เข้ามาให้บริการคือธนาคารทหารไทย สาขานครพนมและธนาคารลาวใหม่
สาขาแขวงคำม่วน จะตกลงกันในการเรียกเก็บเงินระหว่างธนาคาร
ประธานหอการค้านครพนมกล่าวว่า ความจริงแล้ว หลักการก็เหมือนกับการเปิดแอลซี.
(Letter of Credit) นั่นเอง
คือเมื่อผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าทำสัญญากันแล้ว ผู้ซื้อจะต้องนำสัญญาซื้อขายนั้นพร้อมทั้งเงินสดตามสัญญาไปที่ธนาคารประเทศผู้ซื้อ
สมมติว่าผู้ซื้อเป็นคนไทยก็ไปที่ธนาคารทหารไทย สาขานครพนม
ธนาคารดังกล่าวก็จะออกหนังสือค้ำประกันการชำระเงินค่าสินค้าตามสัญญาซื้อขาย
แล้วส่งไปยังธนาคารประเทศผู้ขายในที่นี้คือธนาคารลาวใหม่นั่นเอง
จากนั้นธนาคาลาวใหม่ก็จะแจ้งให้ผู้ขาย ซึ่งเป็นคนลาวทราบว่าธนาคารที่ประเทศผู้ซื้อคือธนาคารทหารไทยได้รับรองการชำระเงินค่าสินค้าแล้ว
เมื่อผู้ขายส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อครบถ้วนตามสัญญาแล้วให้ส่งเอกสารการส่งสินค้าไปให้ธนาคาร
เพื่อธนาคารจะได้เรียกเก็บเงินจากธนาคารประเทศผู้ซื้อมาให้ผู้ขายต่อไป
ถ้าไทยเป็นผู้ขายก็กลับกัน การทำเช่นนี้จะทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมั่นใจได้ว่า
เงินที่จ่ายไปแล้วจะได้สินค้ามาแน่ๆ เพราะธนาคารที่ออกหลักประกันการชำระเงินให้เขาจะต้องตรจสอบอย่างมั่นใจเสียก่อนว่า
มีการส่งมอบสินค้ากันจริง
การผิดสัญญา เพราะเหตุแห่งการใช้จ่ายเงินไม่เป็นของคนลาวดังกล่าวข้างต้น
อาจจะพอมีทางแก้ไขได้ แต่แหล่งข่าวซึ่งทำการค้าอยู่ที่ท่าแขกแขวงคำม่วนเปิดเผยกับ
"ผู้จัดการ" ว่า ในหลายกรณีการบิดพลิ้วสัญญาก็เกิดขึ้นอย่างจงใจ
ด้วยการเขียนข้อความบางประการที่จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงสัญญาได้ในอนาคต
เช่น "ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
ทั้งสองฝ่ายจะได้หารือเพื่อแก้ไขให้สอดคล้องกับความเป็นจริง" ข้อความที่แสนจะธรรมดาในสัญญานี่เอง
ที่อนุญาตให้คำที่ไม่พึงปรารถนาเหล่านี้เกิดขึ้น เป็นต้นว่า
"โควต้าไม้ของบริษัทเราหมดสิ้นแล้ว ตามสภาพความเป็นจริงทำต่อไปไม่ได้"
"บริษัทขาดทุนทำต่อไปไม่ได้ คือสภาพความเป็นจริง" "เงินค่าสินค้าที่รับมา
ใช้จ่ายไปหมดเพราะขาดทุน ถ้าจะให้ส่งไม้ต่อจนครบสัญญา ต้องนำเงินมาให้ยืมก่อนถึงจะทำต่อไปได้
เพราะตามสภาพความเป็นจริงเราไม่มีเงินเหลือเลย" "ศูนย์กลางขึ้นภาษีไม้
ตามสภาพความเป็นจริง ราคาไม้สูงขึ้นถ้าไม่เพิ่มราคาให้อีกทำไม่ได้ สัญญาต้องลบล้าง
(คือเลิกสัญญานั่นเอง)" "ค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เพราะบางอย่างลืมคิดไป
ตามความเป็นจริงเราไม่มีกำไรจะทำได้อย่างไร ถ้าไม่เพิ่มก็ลบล้างสัญญา"
"ราคาในสัญญานี้ขายให้ไม่ได้เพราะคนอื่นให้ราคาสูงกว่า สภาพความเป็นจริงปัจจุบันเป็นอย่างนี้"
หรือ "สั่งซื้อพัดลมจากประเทศไทย 200 ตัว ส่งมอบไปแล้วบางส่วน ส่วนที่เหลือไม่เอาแล้ว
ตามสภาพความเป็นจริงขณะนี้ตลาดต้องการรุ่นที่ออกใหม่" ฯลฯ
ในฐานะที่เป็นการค้าระหว่างประเทศ การค้าระหว่างไทย-ลาวก็มีปัญหาและอุปสรรคมากมาย
บางครั้งก็มากเกินกว่าที่จะคาดได้ว่าเป็นปัญหาของคู่ค้า ที่สื่อภาษาเดียวกันเข้าใจได้
ในทำนองเดียวกัน ในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกัน ไทยและลาวยังทำการค้าระหว่างกันอีกแบบหนึ่งคือ
การค้าชายแดน
ซึ่งในที่นี้จะกินความถึงการค้าที่เกิดขึ้น ผู้ค้าที่มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดและอำเภอหรือหมู่บ้านชายแดนไทย-ลาว
ตั้งแต่เหนือจดใต้นับเป็นระยะทางเกือบ 2,000 กิโลเมตรตามแนวแม่น้ำโขง แม่น้ำเหืองและบริเวณที่มีแผ่นดินติดกัน
ภาพของการค้าชายแดนไทย-ลาว ที่เคยชินกันคือ ประชาชนทั้งสองฝั่งข้ามแม่น้ำไปมาหาสู่กันแล้วเลยซื้อของติดไม้ติดมือไปด้วย
หรือไม่ก็จงใจมาซื้อสินค้าจากจังหวัดที่อยู่ชายแดน เข้าค้าขายต่อเล็กๆ น้อยๆ
ซึ่งก็ดูจะเป็นวิถีทางการค้าที่แสนจะเรียบง่ายเสียนี่กระไร
แต่ภายใต้ความเรียบง่ายเหล่านั้นก็มีเรื่องที่ไม่ง่ายซ่อนอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
เริ่มจากช่องทางที่จะใช้ติดต่อทำมาค้ากันก่อนนับแต่สิ้นศึกบ้านร่มเกล้า
ปัญหาการกระทบกระทั่งตามแนวชายแดนไทย-ลาว ไม่มีให้เป็นที่ระคายเคืองเท่าใดนัก
แต่กระนั้นก็ตามการเปิดจุดผ่านแดนเพื่อให้ประชาชนทำมาค้าขายกันก็ไม่ใช่เรื่อง
เหตุผลที่มาจากถ้อยแถลงของทางราชการทั้งฝ่ายไทยและลาวมีอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ๆ
คือ
ประเด็นแรก เป็นเรื่องความมั่นคง
ประเด็นที่สอง ขาดบุคลากรที่จะมาดูแลจุดผ่านแดนต่างๆ ซึ่งต้องมีหลายฝ่ายมาเกี่ยวข้อง
ไล่ตั้งแต่กองตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร รักษาความปลอดภัย ไปจนถึงคนดูแลทำความสะอาดท่าเรือ
เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของจังหวัดเลยรายหนึ่งซึ่งไม่ต้องการให้เอ่ยชื่อกล่าวว่า
"ปัญหาความมั่นคงของรัฐบาลเวียงจันทน์ เขาเกรงว่าถ้าเปิดจุดผ่านแดนกันมากๆ
แล้ว พวกต่อต้านจะผ่านไทยเข้าไปโจมตีเขาได้ หรือในหลายกรณีเขาบอกว่าไทยจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับพวกแม้วที่โจมตีหมู่บ้านลาวที่เมืองสานะคาม
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านนี้ด้วยซ้ำไป"
บุณเกิด สังสมสัก เอกอัครรัฐทูตแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เปิดเผย
"ผู้จัดการ" ว่า ปัญหาใหญ่ของลาว คือไม่มีบุคลากรที่จะทำหน้าที่ดูแลจุดผ่านแดน
รวมทั้งขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ทำการด่านศุลกากร
ตรวจคนเข้าเมืองและอื่นๆ
ปัจจุบันมีการประกาศเปิดจุดผ่านแดนถาวรระหว่างประเทศและลาวแล้ว 8 จุด คือ
1) ท่าเสด็จ อ. เมืองหนองคาย ถึงท่าเดื่อ 29 สิงหาคม 2523
2) ท่าแพขนานยนต์ หนองคาย ถึงท่านาแล้ง 29 สิงหาคม 2523
3) นครพนม ถึง ท่าแขก 25 มกราคม 2532
4) เชียงของ เชียงราย ถึง ห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว 25 มกราคม 2532
5) ช่องเม็ก อ. ศิรินธร อุบลราชธานี ถึง ปากเซ แขวงจัมปาสัก 1 มีนาคม 2532
6) มุกดาหาร ถึง สะวันเขต 16 พฤษภาคม 2532
7) เชียงแสน เชียงราย ถึง ต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว 5 กุมภาพันธ์ 2533
8) เขมราฐ อุบลราชธานี ถึง แขวงสาละวัน 10 กรกฎาคม 2533
จุดผ่านแดนถาวรเหล่านี้ อนุญาตให้ประชาชนสัญจรไปมาและขนส่งสินค้านำเข้า-ส่งออกได้
นอกจากนี้จุดผ่อนปรนชั่วคราวอยู่อีกจำนวนหนึ่งที่อนุญาตให้ประชาชนสัญจรไปมาได้อนุญาตให้ทำการค้าภายใต้การควบคุม
ฝ่ายไทยเคยเสนอให้มีการจุดผ่านแดนถาวรเพิ่มขึ้นเป็น 15 จุด เรื่องนี้กำลังอยู่ในระหว่างการเจรจา
"ผู้จัดการ" ใช้เวลาแรมเดือน เพื่อสำรวจจุดผ่านแดนเหล่านี้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั้งแนวชายแดนแม่น้ำเหืองและแม่น้ำโขง และบริเวณที่มีแผ่นดินติดต่อกันโดยไม่มีพรมแดนธรรมชาติกั้น
(โปรดพิจารณาแผนผังประกอบ) ทำให้พบว่าแท้จริงแล้วปัญหาการเปิดจุดผ่านแดนมีผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ภู่ ธัญญะวัน รองประธานหอการค้าจังหวัดเลย เปิดเผยว่า ในบรรดาจังหวัดชายแดนซึ่งติดต่อค้าขายกับลาวทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วยกันแล้ว
มีจังหวัดเลยเท่านั้นที่ไม่มีจุดผ่านแดนถาวร ทั้งๆ ที่ทางหอการค้าพยายามผลักดันให้มีการเปิดจุดผ่านแดน
แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเสียที
จังหวัดเลย มีแผนที่จะเปิดจุดผ่านแดนถาวรที่อำเภอเชียงคานซึ่งตรงข้ามกับเมืองสานะคาม
และอำเภอปากชม ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับบ้านวังเหนือ เมืองสานะคามเช่นกัน
แหล่งข่าวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในจังหวัดเลยเปิดเผยว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้มีการเจรจาเรื่องการเปิดจุดผ่านแดนระหว่างตัวแทนจังหวัดเลย
และเจ้าเมืองสานะคามและเจ้าแขวงเวียงจันทน์ไปแล้ว
"มีปัญหาทางเทคนิคอยู่เล็กน้อยเกี่ยวกับร่องน้ำลึก คือตรงจุดอำเภอเชียงคาน-เมืองสานะคาม
เป็นบริเวณที่ร่องน้ำลึกไม่พอที่จะขนสินค้าหนักข้ามได้ ทางลาวเขาจึงเสนอให้เปิดบริเวณบ้านคกไผ่
อำเภอปากชมซึ่งตรงกันข้ามกับบ้านวังเหนือของลาว แต่ก็ยังมีปัญหากันอยู่เพราะบริเวณที่เคยขึ้นนั้นเป็นที่ของวัดบ้านครกไผ่
ถ้าจะเปิดเป็นจุดผ่านแดนก็จะต้องมีด่าน มีอาคารสำหรับเจ้าหน้าที่ซึ่งจะต้องใช้พื้นที่บ้าง
เข้าใจว่าชาวบ้านคกไผ่ไม่ยอมที่จะให้ใช้ที่วัดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดเลย
เดินทางไปดูสถานที่ที่อำเภอปากชมแล้วเลยให้เจ้าหน้าที่ศึกษาดูว่าจะเลื่อนไปจุดอื่นได้หรือเปล่าเพื่อไม่ให้มันครงกับที่ของวัด"
แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวเปิดเผยต่อไปอีกว่า ปัญหาการเปิดจุดผ่านแดนบริเวณจังหวัดเลยอาจจะล่าช้าออกไป
เนื่องจากลาวยังเข้าใจว่าไทยมีส่วนในการสนับสนุนให้ฝ่ายต่อต้านเข้าไปโจมตีบ้านวังเหนือ
เมืองสานะคามซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอปากชม จังหวัดเลย เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ฝ่ายไทยได้ชี้แจงไปแล้วว่า เราไม่เกี่ยวข้องแต่ดูเหมือนลาวจะยังไม่เชื่อ
ล่าสุดทางลาวเสนอว่า บริเวณอำเภอปากชม-บ้านวัง น่าจะเป็นแค่จุดผ่อนปรนชั่วคราว
หมายความว่าอนุญาตให้ประชาชนสัญจรไปมาภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่
สมวงศ์ เจียระพงษ์ ผู้จัดการบริษัทเชียงคาน อิมปอร์ต-เอ็กซ์ปอร์ต ซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นเพื่อรอทำการค้ากับลาวเมื่อมีการเปิดจุดผ่านแดนโดยเฉพาะ
กล่าวว่า "ปัญหาอยู่ที่เรื่องผลประโยชน์มากกว่าคิดดูง่ายๆ อย่างนี้ก็แล้วกันว่า
อำเภอเชียงคานอยู่เหนือกรุงเวียงจันทน์และจังหวัดหนองคายเวลานี้สินค้าจากทางเหนือของลาวไม่ว่าจะเป็นไม้
หรืออะไรก็ตามผ่านไปข้ามที่หนองคายหมด แล้วระบบของลาวเขาเก็บภาษีขาออกด้วย
เมื่อสินค้าผ่านกำแพงนครเวียงจันทน์เขาได้ภาษีแต่ตรงกันข้ามถ้าเปิดจุดผ่านแดนถาวรที่เชียงคานหรือปากชม
สินค้าจากด้านเหนือของลาวมาขึ้นที่นี่หมด กำแพงนครเวียงจันทน์ก็ไม่มีรายได้เพราะภาษีจะตก
ได้กับเมืองสานะคาม และอีกอย่างหนึ่งผมเข้าใจว่าทางหนองคายคงมีส่วนผลักดันเรื่องนี้อยู่ด้วยเพราะผลประโยชน์ต้องกัน"
แต่บุณเกิด สังสมสัก เอกอัครรัฐทูตแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ประจำประเทศไทย ชี้แจงในประเด็นนี้ว่าการเก็บภาษีในลักษณะนี้จะมีเฉพาะกับสินค้าต่างประเทศเท่านั้น
ไม่มีการเก็บภาษีระหว่างแขวงในกรณีของสินค้าภายในประเทศ
"ที่เราต้องจัดระบบการเก็บภาษีแบบนี้ เพราะมีการลักลอบนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาก
แนวชายแดนของเรายาวมาก ใครจะลักลอบขนสินค้าข้ามแม่น้ำโขงมาตอนไหนก็ได้ ดังนั้นถ้าเราพบว่าสินค้ามีมูลค่ามากกว่าที่กำหนดไว้เราจะถือว่าลักลอบมาจากต่างประเทศและจะเก็บภาษี"
ทูตลาวประจำประเทศไทยกล่าว
อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคายซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ
ก็มีแผนที่จะเปิดจุดผ่านแดนถาวรเช่นกัน
ทางฝ่ายลาวคือเจ้าเมืองปากซัน ได้เสนอมาจากจังหวัดหนองคายหลายครั้ง ปัญหาติดขัดอยู่ตรงที่ฝ่ายไทยยังไม่สามารถดำเนินการได้
เนื่องจากกำลังมีการเตรียมการย้ายด่านศุลกากรและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกันใหม่
ไปอยู่บริเวณป่าช้าพันลำซึ่งห่างจากจุดเดิมไป 5 กิโลเมตร แต่ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็ยังไม่ยอมให้ใช้พื้นที่บริเวณนั้น
แต่ วิเชียร รังษีวงศ์ นายด่านศุลกากรท่าเสด็จอำเภอเมืองหนองคายเปิดเผยว่า
ปัญหาการเปิดจุดผ่านแดนส่วนใหญ่แล้วอยู่ที่ลาวมากกว่าไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาทางด้านบุคลากรที่จะมาทำพิธีศุลกากร
"กรมศุลกากรเคยส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยอบรมเรื่องภาษีระบบฮาร์โมไนซ์
(Harmonize System) ให้เมื่อปีที่แล้วหลังจากนั้น ก็มีรายงานว่าทางลาวอยากจะส่งคนมาอบรมเรื่องนี้เพิ่มเติมอีก
จนป่านนี้ก็ยังไม่เห็นมีมาเข้าใจว่าปัญหานี้คงจะยังไม่ได้รับการแก้ไขอยู่นั่นเอง"
แม้ว่าจะมีการเปิดจุดผ่านแดนระหว่างไทย-ลาวเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าการค้าชายแดนระหว่างสองประเทศจะต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วยโดยอัตโนมัติ
แต่ปัญหาอย่างอื่นของการค้าชายแดนก็ยังมีอยู่อีกไม่น้อย
นายด่านศุลกากรที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานีซึ่งรับผิดชอบจุดผ่านแดนถาวรบ้านปากแซง
ต. พระลาน อ. เขมราฐซึ่งอยู่ตรงข้ามกับท่าปะชุม สะวันเขต เปิดเผยว่า บริเวณนี้เปิดถาวรมานานแต่ก็ไม่ได้ทำให้การค้าคึกคักขึ้นแต่อย่างใด
ไม่มีผู้ค้ารายใหญ่มาทำการค้า เนื่องจากมีปัญหาระบบขนส่งตรงที่ไม่มีแพขนานยนต์ขนสินค้าข้าม
เพราะว่าเป็นจุดที่น้ำตื้นเกินไป ในฤดูแล้งต้องเดินลงไปเกือบถึงกลางแม่น้ำโขงจึงใช้เรือข้ามแม่น้ำได้
แต่ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งอยู่ที่ระบบการค้าของลาวเอง สวัสดิ์ ภูษณะดิลก
พาณิชย์จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ลาวยังไม่มีรูปแบบการค้าชายแดนที่ชัดเจน
"ลาวไม่มีธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่เป็นเอกชน เอกชนที่ทำการค้าอยู่ในเวลานี้ส่วนใหญ่
ไม่มีใบอนุญาตให้ทำการค้าขาเข้า-ขาออก ดังนั้นต้องซื้อขายผ่านบริษัทของรัฐหรือเอกชนรายใหญ่ที่ได้รับอนุญาต
พ่อค้ารายย่อยหรือขนาดกลางเหล่านี้ต้องเสียค่าทำการค้าผ่านบริษัทของรัฐหรือเอกชนรายใหญ่ที่มีใบอนุญาตประมาณ
2% ของมูลค่าการนำเข้าหรือส่งออก แต่โดยทั่วไปมักจะมีการผลักภาระอันนี้ให้กับผู้ค้าฝ่ายไทย
การค้าจึงมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นโดยไม่จำเป็นและล่าช้าเพราะไปเสียเวลากับบริษัทนายหน้าเหล่านั้น"
นอกจากนี้ลาวยังมีปัญหาที่ไม่น่าจะเป็นปัญหาอีกหลายประการ เช่นปัญหาการเดินทางเข้าประเทศซึ่งเข้มงวดและจำกัดมาก
เนื่องจากรัฐบาลลาวยังเป็นห่วงเรื่องความมั่นคงอยู่มาก ซึ่งในหลายกรณีอาจกลาเป็นการปิดกั้นโอกาสทางธุรกิจไปด้วย
ปัจจุบันการข้ามไปสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอาจจะทำได้ 2 วิธี คือ
โดยการใช้พาสปอร์ตซึ่งต้องไปขอวีซ่าที่สถานทูตลาวในกรุงเทพฯ
อีกวิธีหนึ่ง คือการขอทำบอร์เดอร์พาส ซึ่งต้องไปขอจากผู้ว่าราชการจังหวัด
ณ จุดที่จะข้ามไป แต่กรณีหลังนี้จะต้องมีผู้มาคอยรับที่ฝั่งลาว ด้วยระบบนี้จะไม่มีผู้ใดสามารถเดินทางเข้าประเทศลาวได้โดยไม่มีผู้รับรอง
หากประสงค์จะเดินทางไปลาวสักเพียงชั่วไม่กี่ชั่วโมง ก็จะต้องเดินทางโดยผ่านบริษัททัวร์ซึ่งทางการลาวให้การรับรอง
บริษัททัวร์เหล่านี้คิดค่าบริการประมาณ 300-500 บาทและเขาจะต้องจ่ายให้กับทางการลาวประมาณ
50% สำหรับเป็นค่าที่พาคนไปเที่ยวประเทศลาว เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้การเดินทางไปลาวมีต้นทุนสูงเกินกว่าเหตุ
จึงไม่สู้จะมีใครสนใจเดินทางไปเที่ยวลาวมากนัก เรื่องจึงกลายเป็นว่าจากเหตุผลความมั่นคงก็อนุญาตให้คนกลุ่มหนึ่งมีโอกาสหาเงินได้และทางการลาวก็รายได้ขึ้นมาส่วนหนึ่ง
แต่กลับไปทำให้กลายเป็นการตัดโอกาสอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อีกมากมาย อย่างน้อยที่สุดเงินตราที่จะเข้าประเทศจากนักท่องเที่ยวก็หดหายไป
แต่เรื่องทำนองนี้บางทีอาจจะต้องโทษที่ "ความเข้าใจ" เกี่ยวกับการบริหารงานทางเศรษฐกิจของลาว
เพราะรัฐบาลลาวเข้าใจว่าเงินที่เข้าประเทศกับเงินที่เข้าหน่วยงานของรัฐเป็นอันเดียวกัน
เพราะฉะนั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่างจะต้องผ่านมือ "รัฐ" โดยที่บางทีอาจจะไม่คิดว่าเงินที่อยู่ในมือประชาชนก็เป็นเงินที่ถือเป็นรายได้ของประเทศเช่นกัน
และในทำนองเดียวกันก็สมควรที่จะให้ความไว้วางใจแก่ภาคเอกชนมากขึ้น