นโยบายใหม่เรื่องล่าที่คณะรัฐมนตรีมีมติออกมาในนามของการแก้ไขมลพิษด้านอากาศก็คือ
บังคับให้รถยนต์ใหม่ที่ใช้เครื่องยนต์จุดระเบิดต้องติดตั้ง 'แคทาลิติกคอนเวอร์เตอร์'
ทั้งนี้โดยมีผลบังคับตั้งแต่ 1 มกราคม ปี 2536 เป็นต้นไปสำหรับรถยนต์ขนาด
1600 ซีซีขึ้นไป และตั้งแต่ 1 กันยายน ปีเดียวกันสำหรับรถยนต์ขนาดต่ำกว่า
1600 ซีซี
แต่มติของคณะรัฐมนตรีเรื่องนี้ได้รับการคัดค้านอย่างยิ่งจากวิศวกรกลุ่มหนึ่งซึ่งรวมถึงศาสตราจารย์
ดร. ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ผู้มีบทบาทในงานด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่าเป็นนโยบายที่ไม่เหมาะสมและอาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริงดังที่ตั้งเป้าหมายไว้
!
ในปัจจุบันปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากรถยนต์ได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นมาก
มลพิษตัวที่เป็นปัญหาหนักอย่างแท้จริงก็คือ คาร์บอนมอนอกไซด์กับฝุ่นคาร์บอนหรือเขม่า
ซึ่งแม้ว่าตัวแรกจะเกิดจากเครื่องยนต์จุดระเบิดที่อยู่ในข่ายบังคับของนโยบายก็จริง
แต่สำหรับเขม่าแล้ว ส่วนใหญ่มาจากเครื่องยนต์ดีเซล ฉะนั้นการติดแคทาลิติกคอนเวอร์เตอร์ในรถยนต์ที่ใช้เบนซินจึงไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องเขม่า
คอนเวอร์เตอร์นั้นเป็นอุปกรณ์ควบคุมมลพิษในไอเสียมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน
สำหรับแคทาลิติกคอนเวอร์เตอร์แบบสามทาง (THREE WAY) เป็นชนิดที่แพงที่สุด
สามารถกำจัดได้ทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน และออกไซด์ของไนโตรเจน
ส่วนออกซิไดซิ่งคอนเวอร์เตอร์กำจัดคาร์บอนมอนอกไซด์และไฮโดรคาร์บอนได้
การบังคับให้ติดตั้งแคทาลิติกคอนเวอร์เตอร์แบบสามทางจึงมีคุณค่าสำคัญอยู่ตรงที่สามารถขจัดคาร์บอนมอนอกไซด์เท่านั้น
ซึ่งอาจสามารถใช้ออกซิไดซิ่งคอนเวอร์เตอร์ทดแทนได้ เพราะออกไซด์ของไนโตรเจนนั้นยังไม่มีข้อมูลที่ยืนยันอย่างชัดเจนว่า
มีปริมาณสูงมากในอากาศจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ดังนั้นข้อต่างของคอนเวอร์เตอร์ 2 ตัวจึงแทบจะไม่มีนอกจากเรื่องของราคาที่แบบสามทางนั้นแพงกว่ามาก
"ข้อจำกัดทางเทคนิคตัวคอนเวอร์เตอร์สามทางมีหลายอย่าง ประการแรกตัวแคททาลิสต์ในคอนเวอร์เตอร์จะทำงานได้ผลดีจะต้องใช้ร่วมกับระบบควบคุมการจุดระเบิดอิเล็กทรอนิก
ซึ่งทำให้มีราคาเพิ่มขึ้นถึง 30,000-50,000 บาท และถ้าปรับเครื่องยนต์ไม่ดีก็จะทำงานได้
50% หรือถ้าอุณหภูมิสูงมาก คอนเวอร์เตอร์ก็เสื่อมสภาพเร็ว หรือถึงแม้ตั้งเครื่องยนต์ดีแล้ว
อายุทำงานปกติก็ได้เพียงประมาณ 5 ปี หรือประมาณ 80,000 กิโลเมตรเท่านั้น
ก็ต้องจ่ายอีก 30,000-50,000 บาทสำหรับชุดใหม่" ศาสตราจารย์ปรีดาอธิบายแจกแจงถึง
'ราคา' ที่เจ้าของรถใหม่อาจต้องเผชิญในอนาคต
แต่ถ้าคิดในระดับประเทศ ปี 2536 จะมีรถยนต์ชนิดที่ใช้แก๊สโซลีนออกมาใหม่ประมาณ
50,000 คัน ถ้าคิดว่าค่าติดตั้งแคทาลิติกคอนเวอร์เตอร์ชุดหนึ่งประมาณ 40,000
บาท ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นก็จะเท่ากับ 2,000,000,000 บาท !
ซึ่งการที่ประเทศต้องจ่ายเงินจำนวนมหาศาลนี้นับว่าไม่คุ้มค่า เพราะผลสรุปของวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณฑิตของสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์เรื่อง
'การศึกษาประโยชน์และต้นทุนของสังคมจากการติดตั้งอุปกรณ์ขจัดมลพิษในรถยนต์นั่งชนิดที่ใช้น้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิง'
ก็ได้ระบุไว้แล้วว่าถ้าอุปกรณ์ขจัดมลพิษมีราคาเกินชุดละ 30,000 บาท และมีอายุใช้งานเพียง
5 ปี ผลประโยชน์ต่อสังคมก็จะน้อยกว่าต้นทุน
แคทาลิติกคอนเวอร์เตอร์นั้นเป็นอุปกรณ์ควบคุมมลพิษในไอเสียที่มีเงื่อนไขทางเทคนิคหลายข้อด้วยกันนอกจากเรื่องระบบการทำงานดังได้กล่าวแล้ว
เรื่องน้ำมันก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะละเลยไม่ได้ แคทาลิติกคอนเวอร์เตอร์ต้องใช้กับน้ำมันไร้สารตะกั่วเท่านั้น
มิเช่นนั้นสารตะกั่วจะไปเคลือบแคททาลิสต์ทำให้คอนเวอร์เตอร์ไม่ทำงาน
แต่น้ำมันไร้สารตะกั่วส่วนใหญ่ที่มีขายอยู่ในเมืองไทยขณะนี้ก็ยังมีปัญหา
กล่าวคือ เมื่อเติมแล้ว ในเวลาเร่งเครื่อง เครื่องยนต์จะน็อกแทบทุกครั้ง
ซึ่งเป็นเรื่องของมาตรฐานน้ำมันที่ยังขาดการกำหนดและการตรวจสอบที่รัดกุมตลอดเวลาที่ผ่านมา
ทั้งๆ ที่รัฐบาลลดภาษีให้เป็นพิเศษแต่บริษัทน้ำมันส่วนใหญ่ก็จำหน่ายสินค้าคุณภาพต่ำออกมา
และแม้ว่าในขณะนี้ได้มีการกำหนดมาตรฐานใหม่แล้ว แต่ก็ยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะถึงเดือนกันยายน
2536 ช้ากว่ากำหนดที่บังคับให้ติดแคทาลิติกคอนเวอร์เตอร์ถึง 8 เดือน
"ที่ถูกแล้วควรต้องรอให้มาตรฐานน้ำมันไร้สารตะกั่วบังคับก่อน เพราะคอนเวอร์เตอร์ทุกชนิดต้องใช้กับ
ULG ทั้งนั้น ถ้าตัวน้ำมันมีปัญหา เครื่องก็พัง ทำงานไม่ได้ ไม่มีประโยชน์อะไร
การกำหนดนโยบายแบบไม่รู้เทคนิคแบบนี้ ในที่สุดคนเสียหายก็คือผู้บริโภค"
ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ แท้จริงนับว่าเป็นนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญอยู่ในระดับแถวหน้าและได้รับการยอมรับอย่างยิ่งในด้านการพลังงาน
ทุกวันนี้สอนหนังสือประจำอยู่ที่คณะพลังงานและวัสดุ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
นอกจากนั้นยังสนใจในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมหลายต่อหลายด้านด้วยกัน และด้วยการพิจารณาปัญหาสิ่งแวดล้อมเรื่องต่างๆ
จึงยิ่งเห็นว่า ปัญหามลพิษทางอากาศยังไม่ใช่ปัญหาวิกฤตที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนที่สุดเมื่อเทียบกับความรุนแรงของปัญหาอื่นๆ
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำเน่าเสีย ปัญหาการเสี่ยงภัยจากสารเคมีหรือปัญหาด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้า
ฯลฯ
ดังนั้น ปัญหาที่รุนแรงกว่าก็ควรที่จะได้รับการแก้ไขก่อน ต้องมีการไตร่ตรองให้ดีในการเลือกว่าจะใช้ทรัพยากรไปในทางใด
การกำหนดนโยบายแต่ละอย่างต้องผ่านการพิจารณาเหตุผลและปัจจัยหลายๆ ด้าน
"แน่นอนว่า เราอยากได้คุณภาพชีวิตที่ดี แต่ในเมื่อประเทศไทยยังเป็นประเทศยากจน
เราก็ต้องทำในสิ่งที่พอดีๆ ก่อน จริงๆ แล้วต้องมอง COST BENEFIT ด้วย ไม่เช่นนั้นบางครั้งเสียเงินแล้วก็แก้ไม่ได้จริง
ถ้ามองลึกกว่านั้น กฎออกมาได้อย่างไรส่วนหนึ่งน่าจะเป็นปัญหาด้านการเมือง
ที่นักการเมืองของรัฐบาลในอดีตกับคณะได้ไปดูอุตสาหกรรมการผลิตคอนเวอร์เตอร์ในต่างประเทศแล้ว
กลับมาก็มาเสนอนโยบายบังคับใช้ประกอบกับมีกระแสสนใจสิ่งแวดล้อมกันมากไม่ได้มองปัญหาต่างๆ
ให้ละเอียดเสียก่อน"
สำหรับข้อเสนอของ ดร. ปรีดาต่อนโยบายที่ 'ผิดพลาด' ไปแล้ว มีอยู่ถึง 9
ทางเลือกด้วยกันในการนำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบาย นับตั้งแต่เสนอให้เปิดทางเลือกด้านอุปกรณ์เอาไว้
ไม่ต้องระบุชนิด กำหนดแต่มาตรฐานด้านมลพิษออกมาให้ชัด แล้วปล่อยเป็นสิทธิและหน้าที่ของผู้ผลิตหรือผู้ใช้รถยนต์ที่จะเลือกเองเพราะในปัจจุบัน
เทคโนโลยีในการควบคุมมลพิษก็ก้าวหน้ามากแล้ว อุปกรณ์บางชนิด เช่น คาบิวเรเตอร์อันเป็นอุปกรณ์ที่กำจัดคาร์บอนมอนอกไซด์ตัวปัญหาใหญ่ได้ก็มีราคาเพียง
25% ของชุดแคทาลิติกคอนเวอร์เตอร์เท่านั้น หรือแม้แต่ออกซิไดซิ่งคอนเวอร์เตอร์ก็มีราคาเพียงครึ่งหนึ่งของแบบ
3 ทางเช่นกัน
หนทางประนีประนอมอีกลักษณะหนึ่งก็คือ เกี่ยวกับขอบเขตการบังคับใช้ ซึ่งดร.
ปรีดาเสนอว่าไม่ควรจะเป็นทั่วประเทศ เนื่องจากปัญหานั้นเกิดขึ้นเฉพาะในกรุงเทพฯ
และปริมณฑล รถยนต์จำนวนครึ่งหนึ่งที่ใช้อยู่ในต่างจังหวัดยังไม่มีความจำเป็นต้องได้รับการควบคุมการปล่อยมลพิษ
ประกอบกับถ้าปล่อยให้มีการบังคับใช้ทั้งประเทศจริงๆ ก็จะเกิดปัญหาตามมาอีกด้วยในด้านการซ่อมบำรุง
ซึ่งในต่างจังหวัดแทบทุกพื้นที่ยังขาดเทคโนโลยี และขาดช่างผู้มีความรู้พอที่จะให้บริการเช่นเกี่ยวกับปริมาณน้ำมันไร้สารตะกั่วก็ยังมีไม่ทั่วถึง
การบังคับครอบคลุมรถยนต์ทุกขนาดก็เป็นทางเลือกที่ควรจะเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน
เพราะสำหรับรถขนาดเล็กแล้วย่อมก่อให้เกิดมลพิษน้อยกว่า
อย่างไรก็ตามแนวทางแก้ปัญหาเรื่องมลพิษอากาศที่ดีที่สุดในความเห็นของดร.
ปรีดาก็ยังคงไม่ใช่ทางเลือกทั้งหลายที่เสนอไว้ หากแต่เป็นเรื่องของการแก้ปัญหาที่ต้นตอ
"เมืองขนาดมีคน 6 ล้านคนอย่างกรุงเทพฯ ผิดพลาดมากที่ไม่มีระบบขนส่งมวลชน
ถ้ามีระบบที่ดีก็ไม่มีใครอยากมีรถยนต์ อย่างรถไฟฟ้าทำได้ที่จะสร้างที่เกาะกลางถนนไม่ต้องมีการเวนคืนไม่ต้องเดือดร้อนประชาชน"
สำหรับดร. ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ คำตอบที่แท้จริงและนโยบายที่มี 'สาระ'
ในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศนั้นจึงคือการเร่งสร้างระบบขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพและไม่รังแกประชาชน