Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2535
"สูตรสำเร็จของ "ประมวลผล"             
 


   
search resources

เอส พี เอ็ม
สมสุข ตั้งเจริญ
Food and Beverage




"ประมวลผล" โรงงานผลิตสุราเก่าแก่ของตระกูล "บุญยศรีสวัสดิ์" ตระกูลที่เชี่ยวชาญและคร่ำหวอดในวงการค้าสุราของไทยมาเกือบ 40 ปี มาถึงวันนี้จำเป็นต้องปรับตัวรับกับสถานการณ์การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ

เพื่อให้ธุรกิจยืนหยัดและดำเนินต่อไป "การุณ บุญยศรีสวัสดิ์" โต้โผใหญ่ จึงตัดสินใจขยายฐานเข้าสู่ตลาดเครื่องดื่มอย่างเต็มตัว

ด้วยการแตกตัวธุรกิจอีกครั้งตั้งบริษัท เอส พี เอ็ม อาหารและเครื่องดื่ม บริษัทน้องใหม่หวังกุมฐานตลาดน้ำผลไม้-น้ำดื่มและอาหาร หลังจากเล็งเห็นศักยภาพของตลาดที่สดใสในอนาคต

โดยดึงนักบริหารมืออาชีพ "สมสุข ตั้งเจริญ" ที่ปรึกษาโรงเหล้า และอดีตเป็นผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการธุรกิจโรงแรมมานั่งแป้นผู้อำนวยการขายและการตลาด

เพราะเชื่อมั่นในประสบการณ์ด้านอาหารและเครื่องดื่มหลังจากผ่านสนามแข่งขันในธุรกิจโรงแรมชั้นนำของประเทศมาอย่างโชกโชน

เอส พี เอ็มฯ เริ่มต้นเปิดตลาดด้วยการจำหน่าย ไทยไวน์ มาซ่าร่าไวน์ ไวน์ที่ผลิตจากโรงงานประมวลผล ซึ่งก่อนหน้านี้ทางยูไนเต็ดไวน์เนอรี่ บริษัทในเครือของประมวลผล เป็นผู้จำหน่ายอยู่

พร้อมกันนั้นยังผลิตและจำหน่ายน้ำดื่มยี่ห้อ "เอส.พี.เอ็ม" ชื่อเดียวกับบริษัท ออกสู่ตลาดชิมลงมาก่อนหน้านี้ จนล่าสุดได้ผลิตน้ำผลไม้ซึ่งถือเป็นสายธุรกิจหลักทีสำคัญของ เอส พี เอ็มฯ ออกสู่ตลาด

ด้วยอาศัยจุดเด่นที่เคลมว่าแตกต่างจากน้ำผลไม้ทั่วไปเมื่อไม่นานมานี้ ใช้ชื่อว่า ฟรุ๊ตเน็ส (FRUITNEITE)

"ตลาดน้ำผลไม้ในปัจจุบันแบ่งออกได้หลายระดับ ทั้งเป็นน้ำผลไม้เข้มข้นที่เรียกว่า SQUAH และยังมีน้ำผลไม้พร้อมดื่ม, น้ำผลไม้เจือจาง เรามองเห็นว่าศักยภาพน้ำผลไม้พร้อมดื่มเป็นตลาดที่น่าสนใจที่สุด และจะกลายเป็นสินค้าที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคน้ำผลไม้ในอนาคต" สมสุข อธิบายถึงตัวผลิตภัณฑ์ที่จะนำเข้ามาแข่งขันในตลาด

ปัจจุบันตลาดน้ำผลไม้มีมูลค่ารวมทั้งระบบเพียง 400-500 ล้านบาท/ปีเท่านั้น ซึ่งถือว่ายังเป็นตลาดที่เล็กเมื่อเทียบกับตลาดในประเทศอื่นๆ อย่างเช่นในญี่ปุ่น, ฮ่องกง หรือแม้แต่สิงคโปร์ ประเทศในเอเชียอาคเนย์ด้วยกัน

ทั้งนี้เพราะประเทศไทยมีผลไม้ที่หาซื้อมารับประทานได้ตลอดทั้งปี น้ำผลไม้จึงไม่เป็นที่ต้องการในตลาดเท่าใดนัก แต่แนวโน้มเท่าที่ผ่านมาน้ำผลไม้กำลังจะกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น

จากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคเริ่มมีการหันมาดื่มน้ำผลไม้มากขึ้นด้วยตระหนักถึงเพื่อสุขภาพร่างกายที่ดี

เทียบจากอัตราการขยายตัวของตลาด ที่เริ่มมีผู้ผลิตให้ความสนใจเข้าสู่ตลาดนี้ซึ่งมีตัวเลขที่สูงถึง 20% ในปี 2534 จากตลาดโดยรวมทั้งระบบ (เช่นเดียวกันกับการเริ่มต้นของตลาดนมพร้อมดื่มในอดีต ที่ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวมเกือบจะถึง 10,000 ล้าน)

จึงเป็นแรงผลักดันให้กลุ่มของประมวลผล หันมาสนใจในตลาดน้ำผลไม้นี้เป็นอย่างมาก

ในอดีตนั้นบริษัท ประมวลผล จำกัด เริ่มธุรกิจมาจากการเป็นร้านค้าส่งสุราประจำจังหวัดสมุทรสาคร โดยสุธี บุญยศรีสวัสดิ์ พ่อของ การุณ ได้เป็นผู้บุกเบิกกิจการโดยเข้าร่วมประมูลโรงเหล้า จนได้สัมปทานเป็นผู้ผลิตสุราและสุราผลไม้ในจังหวัดนครปฐม และต่อมาจึงได้ผลิตสุราออกจำหน่ายไปทั่วประเทศ

สุราที่ผลิตแรกเริ่มมียี่ห้อต่างๆ มากมาย เช่น แม่น้ำสุพรรณ, คิงส์, แมวดำแต่ปัจจุบันได้เลิกผลิตไปแล้ว และมาผลิตสุราปรุงพิเศษคือ สิงหราช, สิงห์เจ้าพระยา, วีโอ และไทยไวน์ มาซ่าร่าไวน์ ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

สินค้าต่างๆ ที่ผลิตจากประมวลผลทั้งหมดได้มีการจำหน่ายผ่านทาง บริษัท นาม ทอง บ้าง และบริษัท ยูไนเต็ด ไวน์เนอรี่บ้าง ซึ่งทั้ง 2 บริษัทเปรียบเสมือนบริษัทในเครือของประมวลผล ด้วย "การุณ" แตกตัวออกมาตั้งเป็น บริษัทเทรดดิ้งเท่านั้น

ซึ่งดูจากในรูปของการจัดตั้งบริษัทนั้นภายนอกไม่ได้มีความเกี่ยวกันในแง่ของนิติกรรมกับประมวลผลแม้แต่อย่างไรเลย แต่ผู้ถือหุ้นเท่านั้นยังคงเป็นคนในตระกูล บุญยศรีสวัสดิ์

นั้นเป็นเพราะกลยุทธ์การแตกตัวบริษัทที่ การุณ สั่งสมประสบการณ์โดยพื้นฐานทางด้านการตลาดและด้านการเงินที่ต้องการแยกตัวบริษัทจากกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งจะมีผลทางด้านการค้าเป็นสำคัญ

"สาคร บุญยศรีสวัสดิ์" น้องชายของการุณ เป็นคนดูแลนามทอง จำหน่ายวิสกี้สิงหราชและสิงห์เจ้าพระยา ส่วนยูไนเต็ดไวน์เนอรี่ การุณเป็นผู้ที่ถือหุ้นใหญ่ โดยให้วิรัตน์ โอวรารินท์ มาร่วมถือหุ้นและมือปืนรับจ้างนั่งบริหาร จำหน่ายวิสกี้วีโอ และมีสินค้าอื่นที่ยูไนเต็ดไวน์เนอรี่ผลิตและจำหน่ายอีกเช่นไวน์คูลเลอร์ และจำหน่ายสินค้าที่นำเข้ามาบางตัว

เช่นเดียวกับ เอส พี เอ็ม อาหารและเครื่องดื่ม บริษัทน้องใหม่ที่การุณแตกตัวมาเพื่อปูฐานทางด้านน้ำผลไม้, น้ำดื่ม และผลิตภัณฑ์ในสายอาหารที่ใช้ผลิตผลทางการเกษตรมาเป็นวัตถุดิบ อย่างเช่น ซีอิ้ว ซอส หรือแยม ฯลฯ

"แนวคิดต่างๆ ของการจัดตั้งบริษัท เอส พี เอ็มฯ ขึ้นมาในครั้งนี้นั้น เริ่มมาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งเราทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มและอาหารมานาน เลยมีความคิดที่จะเข้ามาเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่มาจากพืชผลเกษตรให้ครบวงจรอย่างเช่นน้ำผลไม้" สมสุข เล่าให้ฟังถึงที่มาของบริษัท

เอส พี เอ็มฯ จดทะเบียนด้วยทุน 50 ล้านบาท ในปี 2534 ที่ผ่านมา โดยมีการุณ บุญยศรีสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท สมสุข ตั้งเจริญ เป็นผู้อำนวยการขายและการตลาด

บริษัท เอส พี เอ็มฯ เป็นทั้งผู้ผลิตและจัดจำหน่ายในตัวเอง ที่ต้องการแยกสายการผลิตออกมาจากโรงงานประมวลผล จึงมีการลงทุนทางด้านโรงงานบนเนื้อที่ 130 ไร่ ที่ประกอบด้วยโรงงานทั้งหมด 6 โรง ในขณะนี้สร้างเสร็จไปแล้ว 2 โรง คือโรงงานผลิตน้ำดื่ม 1 โรง และอีก 1 โรงเป็นโรงงานผลิตน้ำผลไม้

ส่วนที่เหลืออีก 4 โรง เตรียมไว้สำหรับผลิตสินค้าอื่นๆ ทั้งในไลน์เครื่องดื่มและอาหารในอนาคต

จากการแตกตัวธุรกิจ (DIVERSIFY) ของประมวลผลในครั้งนี้นั้น หากจะวิเคราะห์และมองให้ลึกแล้วรูปแบบแตกตัวจะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหม่เลยในธุรกิจของไทย เพราะเป็นพื้นฐานของการทำธุรกิจธรรมดาปรกติโดยทั่ว

เมื่อดำเนินงานมาถึงจุดหนึ่งการที่จะเติบโตในตลาดต่อไปนั้น จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจของตนเองเติบโตขยายตัวออกไปให้ครบวงจร

ทว่าทางเลือกที่ประมวลผลต้องตัดสินใจนั้นมีอยู่ 2 หนทาง คือ 1) การเดินหน้าขยายธุรกิจในไลน์สินค้าเดิมที่ตนเองถนัด (ธุรกิจด้านเครื่องดื่ม) หรือ 2) จะเดินออกนอกสังเวียนที่เคยสัมผัสสู่ธุรกิจอื่นๆ

แต่ประมวลผลก็ฉลาดพอที่จะเลือกหนทางที่ตัวเองถนัดด้วยการแตกตัวสู่การผลิตสินค้าเครื่องดื่มประเภทที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ประเภทน้ำผลไม้ น้ำดื่มและอาหาร เช่น ซีอิ้ว, ซอส ที่ใช้วัตถุดิบจากพืชผลทางมากนัก

เพื่อเสริมกับสายธุรกิจที่แข็งอยู่แล้ว คือการผลิตสุราที่ถือว่าประสบความสำเร็จมากในตลาดสุราไทย เพราะตัวสินค้าได้รับการยอมรับในตลาด เช่น สุราสิงหราช

หากประมวลผลตัดสินใจออกจากธุรกิจที่ตนเองไม่มีประสบการณ์มาก่อนก็เท่ากับว่าเป็นการยอมรับความเสี่ยงทางธุรกิจที่จะเพิ่มสูงขึ้น

เพราะธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่เครื่องดื่ม ประมวลผลไม่มีความชำนาญรวมทั้งฐานทางธุรกิจ เช่นเทคโนโลยี และบุคลากร หรือตลาด จำต้องแสวงหาด้วยการลงทุนใหม่ทั้งหมดก็ว่าได้

แต่ธุรกิจเครื่องดื่ม ประมวลผลมีทั้งฐานและประสบการณ์ เป็นเครื่องชี้ชัดถึงความเหมาะสมมากกว่า และมีความเสี่ยงน้อยกว่าอีกด้วย

ยกตัวอย่างเช่น การก้าวเข้าสู่ธุรกิจการจำหน่ายน้ำดื่ม น้ำคือวัตถุดิบที่เป็นตัวซัพพลายให้กับการผลิตสุรา เพราะว่าโรงงานผลิตสุราหรือผลิตไวน์ต้องการน้ำดิบที่มีคุณภาพ เทคโนโลยีทางด้านการผลิตน้ำนั้นประมวลผลมีเทคโนโลยีและความชำนาญอยู่แล้ว

หรือแม้ว่าการก้าวไปในสายการผลิตน้ำผลไม้ ก็จำเป็นต้องอาศัยน้ำที่เป็นผลิตผลในเบื้องต้น เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำผลไม้อีกด้วย

นั้นจึงเป็นคำตอบที่ว่าทำไมประมวลผลถึงเลือกการแตกตัวสู่ธุรกิจเครื่องดื่มเสริมสวยธุรกิจหลักสำคัญ เพื่อให้ครบวงจรที่ตนเองเชี่ยวชาญมากกว่าที่จะปล่อยให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ เป็นผู้ที่เข้าสู่ตลาดนี้แทนตน

แต่จุดสำคัญของการปรับตัวของประมวลผลที่จะเดินเข้าสู่ตลาดน้ำผลไม้นั้น จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อกิจการสุราที่ทำอยู่เดิม

ฉะนั้นรูปแบบของการจัดตั้งบริษัทใหม่มาจำหน่ายน้ำผลไม้จำเป็นต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะที่จะอาศัยฐานการตลาดจากการจำหน่ายสุราไม่ได้ อย่างเช่นตัวแทนจำหน่าย ช่องทางการจัดจำหน่ายหรือแม้แต่ผู้บริโภคที่ต้องแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง

ไม่เช่นนั้นแล้วความขัดแย้งทางธุรกิจและความยุ่งยากระหว่างบริษัทในเครือ อาจจะเกิดขึ้นตามมาในภายหลังได้ เช่น ตัวแทนจำหน่ายที่จำหน่ายน้ำผลไม้ก็อยากที่จะเข้ามาในตลาดสุราหรือในทางกลับกัน ผู้ที่จำหน่ายสุราก็ต้องการที่จะเข้าสู่ตลาดน้ำผลไม้ จะทำให้เกิดความสับสนของลูกค้าและอาจจะควบคุมไม่ได้เป็นต้น

แบบฟอร์มทางธุรกิจของการแตกตัวทางธุรกิจหากจะพิจารณาแยกแยะออกมาเป็นข้อๆ จะมีอยู่ 3 ทางเลือกคือ

หนึ่ง การเข้าซื้อกิจการใดกิจการหนึ่งในตลาดที่ทำธุรกิจทางด้านนั้นอยู่แล้ว หรือสอง การแยกตัวมาจากฐานธุรกิจเดิม และสาม การตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมารองรับ

ประมวลผลเลือกตัดสินใจเลือกที่จะตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมารองรับในการขยายตัวในครั้งนี้ เป็นเพราะในประการแรก ความเป็นไปได้นั้นมีน้อยมาก กิจการที่อยู่ในตลาดหรือจะหมายถึงธุรกิจผลิตน้ำผลไม้นั้นเป็นธุรกิจที่ใหญ่มาก และไม่มีใครประสงค์ที่จะขาย หรือมีก็ต้องลงทุนที่สูงมากเสี่ยงต่อการขาดทุน

หรือหากเลือกประการที่ 2 ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างฐานการตลาดในตลาดสุรากับตลาดน้ำผลไม้ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

เพราะฉะนั้นประการสุดท้ายจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของประมวลผล

เอส พี เอ็มฯ จึงถือได้ว่าเป็นสูตรสำเร็จที่ประมวลผลนำมาเป็นหัวหอกในการขยายธุรกิจเครื่องดื่มให้ครบวงจร

เรือลำใหม่อย่าง "เอส พี เอ็มฯ" จึงพร้อมที่จะล่องสู่ธุรกิจการผลิตน้ำผลไม้ ที่คลื่นลมยังไม่รุนแรงนัก ภายใต้การควบคุมหางเสือของมืออาชีพอย่าง "สมสุข ตั้งเจริญ" ผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการอาหารและเครื่องดื่มมานาน

จำต้องพิสูจน์ตัวเองที่จากการเป็นผู้ซื้อมาเป็นผู้ผลิตว่าจะผลิตสินค้าให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคได้หรือไม่ ที่เดิมพันด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิต

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us