Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2535
"จิรดา : นวัตกรรมจักรยาน"             
 


   
search resources

จิรดา หุตะสิงห์
Energy




คราใดก็ตามเมื่อมีการยกเรื่องการทดลองคิดค้นนำพลังงานธรรมชาติ อาทิ แสงอาทิตย์ ลม เป็นต้น มาเพิ่มทางเลือกการใช้พลังงานปัจจุบันให้มากขึ้นเพื่อประหยัดทรัพยากรและรักษาสภาพแวดล้อม คนไทยส่วนใหญ่มักจะนึกถึงนักประดิษฐ์ชาวต่างประเทศ

จิรดา หุตะสิงห์ เป็นคนหนึ่งที่พอเรียกได้ว่าสามารถลบล้างทัศนคติข้างต้นจากคนไทยด้วยกันเอง

เพราะทันที่ที่ผลงาน "จักรยานพลังงานแสงอาทิตย์" ของเธอเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง ก็มีเสียงตอบรับขอซื้อทันทีถึง 20 รายในเวลาเพียง 3 วัน

และอีก 3 รายติดต่อมาเพื่อร่วมหุ้นลงทุนเปิดบริษัทผลิตและจำหน่าย

จักรยานเคลื่อนที่ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แทนการปั่นด้วยขาของจิรดาเกิดขึ้นได้จากการอ่านเรื่องราวนักท่องเที่ยวด้วยเรือใบคนหนึ่ง ที่สามารถมีตู้เย็นเก็บรักษาอาหารโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทนการใช้พลังงานไฟฟ้า

บทความต่างประเทศเรื่องนี้ เป็นแรงบันดาลใจให้เธอสนใจและเห็นคุณประโยชน์ของการใช้ "พลังงานสะอาด" มากขึ้น จากนั้นเธอเขียนจดหมายถึงบริษัทในอเมริกาขอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์

ทางบริษัทตอบกลับมาว่าเธอสามารถสอบถามรายละเอียดทุกอย่างได้จากบริษัท โซลาร์ตรอน ซึ่งเธอมาค้นพบภายหลังว่าบริษัทเปิดดำเนินกิจการในเมืองไทยได้ 20 ปีแล้ว แต่ไม่เป็นที่รับรู้กว้างขวางก็เพราะว่าลูกค้าของบริษัทจะเป็นหน่วยงานราชการ หรืออุตสาหกรรมเอกชนขนาดใหญ่เท่านั้น

แต่บริษัทก็ไม่ได้ปฏิเสธความช่วยเหลือเธอถึงแม้จะเป็นเพียงเอกชนคนหนึ่งที่เพิ่งเริ่มสนใจ และต้องการทดลองนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในชีวิตประจำวันได้ทำนองเดียวกับที่นักเล่นเรือใบใช้กับตู้เย็น

หลังจากที่เธออ่านหนังสือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบริษัทโซลาร์ตรอนแล้ว เธอตัดสินใจเลือกจักรยานเป็นหนูทดลองตัวแรกเพราะเป็นสินค้าราคาไม่แพงและมีใช้เกือบทุกหลังคาเรือน

ในขณะเดียวกันเธอก็รู้ปัญหาดีว่า การทดลองทำสิ่งใดก็ตามเพียงชิ้นเดียวย่อมต้องมีราคาสูงกว่าการผลิตเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในระยะเริ่มต้นที่ยังต้องมีความเสี่ยงกับการยอมรับ

เพราะฉะนั้นเมื่อต้องมีราคาแพงแล้วก็ควรให้จักรยานมีทรวดทรงงามสมราคาด้วยซึ่งก็มีอยู่ 2 ประเภทให้เลือก คือ เสือหมอบ กับ จักรยานไต่เขา หรือ MOUNTAIN BIKE

เธอตัดสินใจไม่ใช้เสือหมอบเพราะมีลักษณะเพรียวบอบบางเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับจักรยานไต่เขาที่มีโครงแข็งแรงกว่า เหมาะสำหรับการรับน้ำหนักที่ต้องเพิ่มเติมเข้าไป คือมอเตอร์ที่ล้อหน้า และแบตเตอรี่ตรงที่นั่งด้านหลัง

นอกจากนี้แล้วเธอเปลี่ยนโครงเหล็กกลางลำตัวเป็นไฟเบอร์กลาสที่มีคุณสมบัติเบากว่า แต่มีความแข็งแรงพอที่จะรักษาสมดุลการทรงตัว และเป็นที่ซ่อนสายไฟที่เชื่อมต่อจากแบตเตอรี่มายังมอเตอร์

เธอทุ่มเวลาให้กับการคิดค้นทดลองเต็มที่หลังจากลาออกจาการเป็นวิศวกรโรงงานไทย-เยอรมันเซรามิคกระเบื้องคัมพานา และใช้ความรู้วิศวเครื่องกลที่ศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกแบบจักรยานในฝัน

เสร็จแล้วเธอลงมือหล่อโครงไฟเบอร์กลาส ติดมอเตอร์ ติดสวิตซ์ เดินสายไฟ และหล่อโครงหุ้มแบตเตอรี่ด้วยตนเอง โดยใช้เวลาทำงานทั้งหมด 5 เดือนเศษ

สำหรับการประจุพลังงานแสงอาทิตย์ที่ส่งมายังเครื่องรับคือแผงโซลาร์ หรือ SOLAR CELL แล้วส่งเข้าแบตเตอรี่อีกต่อหนึ่ง จะทำในบ้านหรือนอกบ้านก็ได้แล้วแต่สะดวก

กรณีกลางแจ้งทำง่ายๆ ด้วยการเชื่อมสายไฟจากแผงโซลาร์เข้ากับขั้วแบตเตอรี่ ถ้าเป็นในบ้านก็วางแผงโซลาร์บนหลังคา แล้วเดินสายไฟต่อลงมาที่แผงควบคุม เมื่อต้องการบรรจุพลังงาน ให้นำสายไฟของแบตเตอรี่เสียบปลั๊กเข้าที่แผงและเปิดสวิสซ์รับพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงที่แสงแดดแรงเข้มที่สุด คือตั้งแต่เวลา 10.00-14.00 น. การบรรจุพลังงานจะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงถึงจะเต็มประสิทธิภาพ

การทำงานของมอเตอร์ที่ติดกับล้อหน้าของจักรยาน จะช่วยให้ล้อขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากแบตเตอรี่ทันทีเมื่อหมุนสวิตซ์ไปที่ "ON" แทนการปั่นด้วยขาตามปกติ

เธอทดลองขี่จักรยานบ่อยครั้งมากจนพัฒนามาถึงระดับนี้ ล่าสุดเธอขี่จักรยานคันนี้ในงานรณรงค์ "BICYCLE LANE" จัดโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เริ่มต้นจากสวนลุมพินีตรงไปสีลม เข้าวิทยุ และวกกลับมาที่สวนลุมฯ อีกครั้งหนึ่ง ผลปรากฏว่ารถจักรยานของเธอวิ่งเร็วกว่าคนอื่นมากจนต้องหมุนสวิตซ์ไปที่ "OFF" แล้วใช้ขาปั่นจักรยานแทนบ้างบางจังหวะ

อย่างไรก็ดีเธอยังไม่ค่อยพอใจเท่าไรนักกับจักรยานเคลื่อนที่ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์คันแรก เธอยังต้องการปรับปรุงแก้ไขบางจุด คือเปลี่ยนที่วางแบตเตอรี่จากด้านหลังมาซ่อนไว้ภายในโครงไฟเบอร์กลาสตรงกลางของตัวจักรยาน เพื่อให้สมดุลดีขึ้นและมีที่ว่างด้านหลังให้ซ้อนท้ายได้

นอกจากนี้แล้วจะเพิ่มกำลังของแบตเตอรี่ให้วิ่งได้ระยะทางที่ไกลกว่าปัจจุบันจาก 30 กิโลเมตรเป็น 50 กิโลเมตร และเพิ่มความเร็วให้มากขึ้นกว่าในขณะนี้ที่วิ่งด้วยอัตรา 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

"เพราะเหตุนี้ เวลามีคนสนใจขอซื้อ ดิฉันต้องบอกว่าขอเวลาอีกประมาณ 4 เดือนเพื่อพัฒนาจุดอ่อนต่างๆ ให้ดีขึ้นให้มากที่สุด มิเช่นนั้นแล้วดิฉันเองจะรู้สึกไม่สบายใจเพราะถ้าลูกค้าใช้แล้วไม่พอใจก็อาจจะเกิดอคติกับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์" จิรดาบอกกับ "ผู้จัดการ"

ค่าใช้จ่ายในการประกอบจักรยานทดลองตัวแรกนี้ทั้งหมดประมาณ 30,000 บาท เป็นยอดรวมราคาแผงโซลาร์ที่รับประกัน 20 ปีแล้ว ซึ่งเธอยอมรับว่ายังเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับราคาจักรยานทั่วๆ ไป แต่คิดว่าต่อไปเมื่อผลิตจำนวนมากขึ้นราคาควรจะถูกลง

"ตอนนี้กำลังรีบเขียนแปลนโรงงาน ในขณะเดียวกันก็มองหาหุ้นส่วนที่เห็นความสำคัญของการใช้พลังงานสะอาด ไม่ใช่คิดแต่เรื่องธุรกิจเอากำไรอย่างเดียว รวมทั้งมีความต้องการพัฒนาจักรยานพลังงานแสงอาทิตย์ให้ดีมากขึ้นด้วย" จิรดาพูดถึงความตั้งใจในการรณรงค์ใช้พลังงานที่สะอาดให้กระจายมากขึ้น และเธอยังมีอีกหลายโครงการในสมอง อย่างเช่นการนำพลังงานลมมาใช้ให้เป็นประโยชน์

ก็คงต้องติดตามต่อไปอีก 4 เดือนข้างหน้าว่าโฉมใหม่ของจักรยานพลังงานแสงอาทิตย์จะมีรูปร่างอย่างไร และจะเป็นสินค้าติดตลาด "ผู้บริโภคเขียว" มากน้อยเพียงใด

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us