Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2535
"สหศีนิมาทิ้งโรงหนังจับวิทยุ"             
 


   
search resources

สหศินีมาโฮลดิ้ง
INN GROUP
Radio




และแล้วความฝันของสหศีนิมาที่จะมีสำนักข่าวอิสระทัดเทียมหน้าตาต่างชาติก็บรรลุผล หลังจากที่สหศีนิมาใช้ความพยายามปลุกปั้นนานถึง 3 ปี

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ ความอยากรู้อยากเห็นหรือการบริโภคข่าวสารของคนไทยเริ่มพัฒนามาได้ถึงระดับหนึ่ง การตื่นตัวในการติดตามข่าวสารมีมากขึ้นแต่การรับรู้โดยการอ่านหนังสือก็ยังมีสถิติเท่าเดิม

สหศีนิมาจึงได้ฉกฉวยโอกาสของการพัฒนาพฤติกรรมความต้องการบริโภคข่าวสารของคนเมือง สร้างสื่อใหม่ขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการดังกล่าว โดยขั้นแรกจับกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางลงล่าง ด้วยการผลิตรายการ "ข่าวด่วนสหศีนิมา" ออกอากาศในบัสซาวน์โดยใช้ช่องสัญญาณ F.M. SCA และฝากสัญญาณคลื่นมาทางขสทบ. 102 เมกกะเฮิร์ท ซึ่งช่องสัญญาณดังกล่าวเจ้าของผู้ได้สัมปทานดำเนินงานคือโน๊ตโปรโมชั่น

ในช่วงนั้นบัสซาวน์เป็นของแปลกใหม่สำหรับผู้โดยสารรถประจำทางขสมก. ความสนใจในการฟังข่าวสารของกลุ่มเป้าหมายนี้มีต่างระดับมากมาย ไม่สามารถจับระดับความต้องการของคนฟังได้ อีกประการหนึ่งพนักงานขับรถขสมก. โดยส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับบัสซาวน์เท่าที่ควร พวกเขาเหล่านี้มักเปิดรายการหรือหมุนหาสถานีที่ตนเองต้องการ ซึ่งก็เท่ากับว่าเป็นการบังคับให้ผู้โดยสารฟังในสิ่งที่พนักงานขับรถต้องการจะฟัง

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ความล้มเหลวของบัสซาวน์จึงเกิดขึ้น จนอาจเหมารวมได้ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งในหลายสาเหตุที่ทำให้ข่าวด่วนสหศีนิมาก็ไม่ประสบคามสำเร็จตามไปด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นอกเหนือจากการขาดผู้สนับสนุนรายการ ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ทำให้สหศีนิมาไม่สามารถยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง

สหศีนิมามีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 90% และมีเอกชนรายย่อยหลายรายถือในสัดส่วนที่เหลือ

สหศีนิมาเคยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักดีในวงการภาพยนตร์ แต่ ณ วันนี้สหศีนิมาหันหลังให้กับวงการภาพยนตร์โดยสิ้นเชิงแล้ว ซึ่งสหศีนิมาสร้างชื่อจากธุรกิจบริหารโรงภาพยนตร์ 2 แห่ง คือเฉลิมบุรีและเฉลิมกรุง ปัจจุบันทั้ง 2 โรงได้เปลี่ยนมือผู้บริหารไปแล้วในช่วงที่ยุคโรงหนังตกต่ำ สหศีนิมาจึงหันมาประกอบธุรกิจด้านการทำข่าวและการประชาสัมพันธ์ โดยงานใหญ่ที่รับผิดชอบในปีนี้คือ การประกวดนางงามจักรวาลก็ผ่านพ้นไปด้วยดี

เมื่อการผลิตรายการข่าวป้อนให้กับบัสซาวน์ในช่วงแรกไม่สำเร็จ สหศีนิมาจึงได้หันมาผลิตข่าวป้อนให้กับสถานีวิทยุต่างๆ จนเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงการ อย่างไรก็ตามในแง่การตลาดแล้วถือว่าสหศีนิมาก็ยังล้มเหลวอยู่ดี เพราะรายการข่าวมีผู้สนับสนุนรายการเพียง 2 รายเท่านั้น คือ ปูนซีเมนต์ไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ทำให้กิจการขาดทุนเดือนละประมาณ 100,000 บาทเลยทีเดียว

นักวิเคราะห์มองว่าการขาดทุนที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากขาดมือการตลาดที่ดี ทำให้ไม่สามารถหารายได้มาจุนเจือกิจการได้ แต่สหศีนิมาก็ยังคงเดินหน้าสู้งานข่าวต่อไป เนื่องจากการมองเป้าหมายในระยะยาวที่เริ่มจะเด่นชัดขึ้นในเร็วๆ วันนี้คือความต้องการในการรับฟังข่าวสารมากขึ้น ส่วนทางด้านเงินทุนก็มีความคาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

แม้ว่าสหศีนิมาจะประสบกับความล้มเหลวมาแล้ว แต่โดยที่เจ้าของสัมปทานเดิมคือ มีเดียพลัสก็เข้าชิงการประมูลร่วมด้วย ในที่สุดบริษัทในเครือแกรมมี่ และเรดิแอดคู่หูเก่าแก่ของมีเดียพลัสก็ได้หยิบชิ้นปลามันไปจัดรายการในตอนเช้าและช่วงเย็นตามลำดับ

หลังจากที่สหศีนิมาและมีเดียพลัสแพ้การประมูลสัมปทานของสถานีกรมประชาสัมพันธ์ทำให้ทั้ง 2 ค่ายเกิดมีความเห็นที่ตรงกันและสามารถเกื้อกูลกันในทางธุรกิจได้ สหศีนิมาจึงได้เข้าร่วมกับมีเดียพลัสเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ตั้งสำนักข่าวอิสระหรือมีชื่อเรียกว่า "ไอเอ็นเอ็น" ((INDEPENDENT NEWS NETWORK) ผลิตรายการข่าวป้อนให้เครือข่ายกระจายเสียงของมีเดียพลัสซึ่งได้มาทดแทนคลื่นเก่าที่เสียไปคือ F.M. 98 เป็นหลักเสมอมาและมีการปรับรูปแบบของข่าวให้น่าสนใจยิ่งขึ้น สหศีนิมาจึงเริ่มมีฐานะที่มั่นคงขึ้น

เมื่อไอเอ็นเอ็นเกิดขึ้นระหว่างการถือหุ้นของสหศีนิมาและมีเดียพลัสในสัดส่วน 60:40 สหศีนิมาจึงแบ่งแยกหน้าที่การทำงานของตนเองออกมา โดยให้ไอเอ็นเอ็นเป็นสำนักข่าวมีบทบาทด้านการบริหาร และหาข่าวในขณะที่สหศีนิมาทำลดบทบาทของตนเองเหลือเพียงงานประชาสัมพันธ์เป็นงานหลัก

หลังจากนั้นเป็นต้นมา การพยายามสานฝันสร้างสำนักข่าวอิสระ เพื่อการขายข่าวให้กับในประเทศและต่างชาติของสหศีนิมาก็ยิ่งแกร่งกล้าและเริ่มเป็นจริงมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันไอเอ็นเอ็นได้ปรับปรุงทีมงานข่าวของตนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ด้วยการดึงนักข่าวมือดีในวงการทั้งจากสถานีช่อง 3 และหนังสือพิมพ์เข้าร่วมทีมงาน รวมนักข่าวทั้งหมด 22 คนโดยมีสนธิญาณ หนูแก้ว อดีตบรรณาธิการข่าวช่อง 3 เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการเพื่อผลักดันให้โครงการสร้างสถานีข่าวสารบรรลุเป้าหมาย

ไอเอ็นเอ็นเป็นบริษัทในเครือของสหศีนิมาซึ่งสหศีนิมามีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้น จึงไม่ต้องอรรถาธิบายเลยว่าสายสัมพันธ์ใดที่มีส่วนช่วยให้ไอเอ็นเอ็นมีสัมพันธภาพที่ดีกับสายทหาร จนตั้งเป้าหมายที่จะช่วงชิงวิทยุกองพล 1 เข้ามาไว้เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตข่าวสารล้วนๆ

แต่งานนี้ไม่หมูอย่างที่ไอเอ็นเอ็นคิด เพราะต้องเผชิญหน้ากับแปซิฟิค อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น ซึ่งกำลังหาสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งใหม่ทำรายการประมาณเดียวกัน หลังจากรายงานข่าวสารการจราจรทางสถานีวิทยุ จส. 100 ประสบความสำเร็จ

ประเด็นที่มาแห่งความสนใจทั้งของสหศีนิมาและแปซิฟิคที่เล็งเป้าไปยังสถานีวิทยุกองพล 1 อย่างใจตรงกันว่าก็เพราะวิทยุกองพล 1 มีสถานีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศถึง 150 สถานี ซึ่งหากใครได้เข้าไปบริหารสถานีเหล่านี้ โอกาสที่จะขยายธุรกิจข่าวสารของตนให้ก้าวหน้าก็ยิ่งมีสูง

แปซิฟิคมีความต้องการสถานีวิทยุเครือข่ายใหม่ๆ มาก เพราะเหตุที่ว่าธุรกิจข่าวสารของตนเหลือเสาหลักเพียง จส. 100 เท่านั้น ส่วนช่อง 5 แปซิฟิคเหลือบทบาทเพียงการหาโฆษณา แต่ในส่วนของข่าวนั้นช่อง 5 ได้ดึงกลับไปรับผิดชอบเองเป็นเวลาหลายเดือนมาแล้ว

ด้านสหศีนิมามีความต้องการสถานีวิทยุของตนเอง เพราะยังไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของสัมปทานสถานีวิทยุของตนเอง ได้แต่อาศัยช่องทางรายการวิทยุของมีเดียพลัสเป็นช่องทางกระจายข่าวของตนเองเท่านั้น

ประกอบกับสนธิญาณมีความเชื่อมั่นว่าจากความสำเร็จของสถานีวิทยุจส. 100 นั้นนับเป็นการเปิดศักราชของการทำสถานีรายการข่าวล้วนๆ ในเมืองไทยได้อย่างประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับในต่างประเทศที่สถานีวิทยุกำลังตื่นตัวต่อการเป็นสถานีถ่ายทอดรายการเฉพาะด้าน ซึ่งแนวคิดนี้สหศีนิมามีความพร้อมที่จะทำนานแล้ว

สงครามช่วงชิงสถานีวิทยุเหมา 24 ชั่วโมงระหว่างผู้มีเงินทุนหนาอย่างสหศีนิมาแล้วผู้เชี่ยวชาญปฏิรูปรายการอย่างแปซิฟิคจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จนครั้งหนึ่งเคยมีความคิดเห็นที่ตรงกันว่าจะลงเอยกันด้วยมติรอมชอมของผู้บริหารทั้ง 2 ฝ่าย ว่าอาจจะร่วมจับมือทำงานด้วยกันได้ เมื่อต่างฝ่ายต่างมีเจตนารมย์ที่ใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ความไม่สงบในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้เป็นสนามที่พิสูจน์หลักการของแปซิฟิคผู้ดำเนินรายการจส. 100 ได้เป็นอย่างดี แปซิฟิคแสดงให้เห็นจุดยืนในการทำงานของเขาอย่างเด่นชัดในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นคนละแนวทางคนละแนวความคิดกับสหศีนิมา สิ่งที่ปรากฏจึงได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้สหศีนิมาประกาศถอนตัวการร่วมงานกับแปซิฟิคในที่สุด

โอกาสทองเริ่มมาเยือนสหศีนิมาอีกครั้ง เมื่อพันธมิตรของมีเดียพลัสคือ พีเคแอดเวอร์ไทซิ่ง สามารถเหมาเวลาสถานีวิทยุจส. 94.5 ของทหารใส่พานมาให้ มีเดียพลัสจึงส่งต่อให้ไอเอ็นเอ็น สหศีนิมาจึงเริ่มเข้าไปมีบทบาททำรายการข่าวสารล้วนๆ อย่างที่ใจปรารถนาในชื่อสถานีว่า ALL NEWS STATION ตั้งแต่ 17 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป "ข่าวที่เราเสนอจะมีทุกประเภทรายงานสดจากสถานที่จริง การถ่ายทอดสดการประชุม การอภิปรายและการสัมมนาที่สำคัญโดยเฉพาะการประชุมของภาครัฐ การถ่ายทอดกีฬา บันเทิงคดี รายงานข่าวสาดผ่านดาวเทียมจากบีบีซี สถานีแห่งนี้จะเป็นแห่งแรกของเมืองไทยที่จะเป็นสถานีข่าวสาร 24 ชั่วโมง" สนธิญาณ หนูแก้ว กล่าวอย่างมั่นใจ

ก้าวต่อไปในการเป็นสำนักข่าวอิสระของสหศีนิมายังคงรุดหน้าต่อไป นอกเหนือจากการมีสถานีออกอากาศข่าวสารในประเทศเป็นจริงตามเป้าหมายแล้ว ไอเอ็นเอ็นก็ได้ให้ความสำคัญกับการขายข่าวสารของตนแก่ประเทศที่สนใจ ซึ่งมีหลายรายได้ติดต่อเข้ามาแล้ว อาทิ ญี่ปุ่น เขมร รวมทั้งการวางรากฐานสำนักข่าวในต่างประเทศ โดยได้เปิดศูนย์ข่าวต่างประเทศที่รัฐลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา เป็นแห่งแรก

ศูนย์ข่าวแห่งนี้จะทำหน้าที่ส่งข่าวสารให้แก่ไอเอ็นเอ็นในไทย โดยรายงานข่าวและเหตุการณ์ที่สำคัญ รวมทั้งข่าวสารของคนไทยในอเมริกากลับมายังประเทศไทย

การเคลื่อนไหวครั้งนี้นับเป็นเหตุการณ์สำคัญอีกครั้งหนึ่งในวงการวิทยุนับจากการปฏิวัติรายการข่าวของแปซิฟิคมาแล้ว ในคราวนี้สหศีนิมาถือว่าตนเองมีประสิทธิภาพเพียงพอและไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าแปซิฟิคนัก อาจจะเป็นผู้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในแวดวงการทำธุรกิจเฉพาะด้านระลอกใหม่ก็ได้ เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us