วงจรขาขึ้นของสินค้าโภคภัณฑ์ยังไม่จบ ทองแดง น้ำมัน ถ่านหิน ค่าระวางเรือ ยังจะแพงหูฉี่ เหตุความต้องการจากจีน – วิกฤติซับไพร์ม - เฮดจ์ฟันด์เก็งกำไร ดันราคาสูงต่อเนื่อง ทำดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยลอยลำเนื่องจากมีหุ้นกลุ่มน้ำมัน-ถ่านหิน-เดินเรือ เป็นแกนหลัก ทำให้เห็น 1,000 จุดในปีหน้าได้ไม่ยาก
ราคาน้ำมันบาเรลละ 100 เหรียญ, ราคาทองคำที่ 840 เหรียญต่อออนซ์ รวมถึงค่าระวางเรือที่ระดับกว่า 1 หมื่นจุด สิ่งเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของประจักษ์พยานความร้อนแรงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งและมากเกินกว่าที่หลายคนเคยคาดคิดไว้จนแทบไม่เชื่อด้วยซ้ำว่ามันได้เกิดขึ้นแล้ว
ไม่ว่าเหตุผลจะมาจากการโหมบริโภคอย่างหมาศาลของประเทศจีน, การเก็งกำไรของเฮดจ์ฟันด์, การเปลี่ยนสินทรัพย์ลงทุนอันเนื่องจากวิกฤติซับไพร์มในสหรัฐ, การอ่อนค่าลงของสกุลเงินดอลลาร์ หรืออะไรก็แล้วแต่ แน่นอนว่ามันจะต้องส่งผลกระทบถึงคุณ...ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
สุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)นครหลวงไทย ประเมินว่า ราคาของกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน, ถ่านหิน, ทองแดง, ทองคำ, เหล็ก, ค่าระวางเรือ และสินค้าเกษตร ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากมีความต้องการใช้(Demand)ที่สูง โดยเฉพาะจากประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ต้องการใช้สินค้าโภคภัณฑ์จำนวนมาก เพราะภาพรวมเศรษฐกิจจีนยังจะเติบโตอีก 2-3 ปีข้างหน้า รวมทั้งมีโครงการขนาดใหญ่ที่จะลงทุนอีกหลายโครงการ
โดยการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันจากนี้ไป คาดว่าจะยังคงอยู่ระดับสูงได้อีกประมาณ 1 ปี ซึ่งปัจจุบันราคาจะผันผวนใกล้ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และมีการประเมินเป้าหมายใหม่ ที่ระดับ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งโดยส่วนตัวประเมินว่ามีโอกาสจะปรับขึ้นไปยืนได้ แต่คาดว่าเป็นปีหน้า
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันโดยส่วนใหญ่ จะมีส่วนต่าง (พรีเมียม) ของความต้องการใช้จริงกับการเก็งกำไรอยู่ 10-15% เพราะมีแรงเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้าผสมอยู่ด้วย
ส่วนแนวโน้มราคาถ่านหินยังเป็นขาขึ้น และมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นแรงกว่าราคาน้ำมัน เนื่องจากความต้องการใช้ถ่านหินของทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากระดับ 20% เป็น 28% ของความต้องการใช้พลังงานทุกประเภท ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันอยู่ที่ 35% ขณะที่แนวโน้มราคาปิโตรเคมี เป็นทิศทางขาลง โดยล่าสุด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์กับราคาขาย (สเปรด) ลดลง และแนวโน้มไตรมาส 4/2550 ก็น่าจะยังลดลงอีก
สำหรับราคาเหล็กปีหน้าคาดว่าจะปรับตัวขึ้นไปอีก 30% แต่ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่จะไม่ได้รับผลดี เพราะผู้จำหน่ายถูกทางราชการควบคุมเพดานราคา ขณะที่การส่งออกเหล็กก็จะติดปัญหาเรื่องค่าระวางเรือที่มีราคาสูงอีก ด้านราคาสินค้าเกษตรก็มีแนวโน้มจะยังปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีกลุ่มเฮดจ์ฟันด์ เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มนี้สูงขึ้น
"ที่ผ่านมา หลังจากทั่วโลกประสบปัญหาซับไพร์มของสหรัฐ บรรดากองทุนส่วนใหญ่หันมาลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์แทนเพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุน ส่งผลให้หุ้นกลุ่มนี้ได้รับผลดีไปด้วย ทำให้หุ้นกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี ทองคำ โรงกลั่น สินค้าเกษตร ปรับตัวสูงขึ้นมาก และตราบใดที่เศรษฐกิจจีนยังเติบโต เงินลงทุนยังไหลเข้าในภูมิภาคนี้ต่อเนื่อง แต่ถ้าจีนเกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจจะทำให้มีการบริโภคน้ำมันลดลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันถูกลง ก็เชื่อว่าจะทำให้หุ้นกลุ่มพลังงานของไทยจะได้รับผลกระทบไปด้วย เช่นหุ้น ปตท.ราคาน่าจะปรับตัวลดลง แต่อุตสาหกรรมผลิตไม่ว่าจะเป็นปูนซีเมนต์ไทย หรือ การบินไทย ที่มีการใช้น้ำมัน ก็อาจจะกลับมาทำกำไรได้อย่างมหาศาลได้อีกครั้ง
ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดที่อิงกับสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนกว่า 50% อยู่ในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ และเมื่อแนวโน้มราคาสินค้ากลุ่มนี้สูงขึ้น น่าจะช่วยสนับสนุนให้อัตราเติบโตกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในปีหน้าเติบโตไม่ต่ำกว่า 11%
ขณะที่ปัจจัยการเมือง กลับเข้าสู่ภาวะปกติ น่าจะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น ขณะเดียวกันคาดว่าแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นไปยืนที่ระดับ 1,000 จุดได้ภายในปีหน้า ขณะที่ภายในสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 900 จุด เนื่องจากนักลงทุนน่าจะเข้ามาเก็งกำไรเรื่องของอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปีอีกครั้ง
เป็นที่แน่นอนว่าการปรับขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็ย่อยมจะทำให้สินค้ามีราคาแพง และเมื่อสินค้ามีราคาแพงก็นำมาสู่ภาวะเงินเฟ้อในที่สุด แม้ในปีหน้าดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะทะลุ 1 พันจุดได้ แต่จะมีประโยชน์อะไรถ้าหากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงแซงหน้าการเติบโตของ GDP เพราะนั่นหมายถึงว่าเศรษฐกิจแท้จริงของประเทศไทยจะติบลบ และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง มันก็จะส่งผลให้หลายคนในประเทศนี้ต้องเผชิญกับความยากลำบากยิ่งขึ้น
|