กลุ่มชินคอร์ป กำไรงวด 9 เดือนทรุดฮวบกว่า 5.2 พันล้านบาท เหลือแค่ 1.2 หมื่นล้านบาท อ้างต้องตั้งสำรองหนี้สูญสำหรับลูกหนี้บจ.แคปปิตอล โอเค เกือบ 1.4 พันล้านบาท ขณะที่ "ไอทีวี" วูบหนักขาดทุนสุทธิรวม 2.6 พันล้านบาท ด้านศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่ตั้ง "วิชช์ จีระแพทย์" เป็นอนุญาโตตุลาการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พร้อมยกค้ำร้องกรณี "ไอทีวี" ยื่นฟ้อง สปน.
กลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN แจ้งผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2550 ปรากฏว่า กลุ่มชินคอร์ปทั้ง 5 บริษัท มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 12,194.76 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่กำไรสุทธิรวม 17,448.56 ล้านบาท กำไรสุทธิลดลงกว่า 5,253.80 ล้านบาท คิดเป็น 30.11%
โดยกลุ่มชินคอร์ป ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) หรือ CSL บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV และบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SATTEL
หากพิจารณาผลการดำเนินงานแต่ละบริษัท พบว่า SHIN มีกำไรสุทธิลดลงมากที่สุดกว่า 4,450 ล้านบาท คิดเป็น 95% จากปีก่อนมีกำไรสุทธิ 4,680 ล้านบาท เหลือเพียง 229 ล้านบาท ขณะที่ ITV มีผลขาดทุนสุทธิกว่า 2,607 ล้านบาท จากปีก่อนที่กำไรสุทธิ 364 ล้านบาท หรือกำไรสุทธิหายไปกว่า 2,972 ล้านบาท คิดเป็น 815%
นายสมประสงค์ บุญยะชัย กรรมการ บมจ. ชิน คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า งบการเงินรวมไตรมาส 3 บริษัทมีกำไรสุทธิ 754 ล้านบาท ซึ่งรวมกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนใน Shenington จำนวน 5,126 ล้านบาท หากไม่รวมกำไรจากการขายเงินลงทุนดังกล่าวจะมีผลขาดทุนสุทธิ 557 ล้านบาท จากกำไรสุทธิในไตรมาส 3/2549 จำนวน 1,138 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการปรับการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับลูกหนี้สินเชื่อของบจ. แคปปิตอล โอเค (OK) ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 1,366 ล้านบาท
ไอทีวีขาดทุนกว่า 2.6 พันล้าน
นายสมคิด หวังเชิดชูวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV เปิดเผยถึง ผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 3 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2550 ว่า บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 105.23 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 0.09 บาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 88.75 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.07 บาท หรือกำไรสุทธิลดลง 193.98 ล้านบาท คิดเป็น 218.57%
ขณะที่ผลงานงวด 9 เดือน ขาดทุนสุทธิรวมกว่า 2,607.66 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิต่อหุ้น 2.16 บาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่กำไรสุทธิ 364.40 ล้านบาท กำไรสุทธิต่อหุ้น 0.30 บาท ซึ่งกำไรสุทธิลดลง 2972.06 ล้านบาท หรือคิดเป็น 815.60%
นายสมคิด กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิไตรมาส 3 ลดลงกกว่า 218% ว่า เกิดจากบริษัทมีรายได้ลดลง คือมีรายได้เพียง 17.78 ล้านบาท ลดลงถึง 792.20 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 509.98 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 97% เนื่องจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้บอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยูเอชเอฟ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2550 ส่งผลให้บริษัทไม่มีรายได้ค่าบริการโฆษณาจากการประกอบธุรกิจสถานีโทรทัศน์
สำหรับงบการเงินรวมของบริษัทนั้น มีเพียงรายได้จากดอกเบี้ยรับ รายได้จากการประกอบกิจการของบริษัทย่อย และรายได้อื่น
อย่างไรก็ตาม ประเด็นการบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยูเอชเอฟ ขณะนี้ ยังเป็นข้อพิพาทที่อยู่ระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการในสถาบันอนุญาโตตุลาการฯ
ด้านต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจำนวน 119.39 ล้านบาท ลดลง 295.70 ล้านบาท หรือลดลง 71% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากที่บริษัทไม่ได้ประกอบกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟแล้ว ทำให้ไม่มีต้นทุนและรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ดังกล่าว
"ปัจจุบันบริษัทคงมีรายจ่ายเพียงเท่าที่จำเป็นตามสภาพการณ์ของธุรกิจ การตั้งสำรองเผื่อค่าดอกเบี้ยของค่าตอบแทนส่วนต่าง และรายจ่ายจากการประกอบกิจการของบริษัทย่อยเท่านั้น"
พร้อมกันนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้แจ้งเพิ่มเติมหลังไอทีวีได้นำส่งงบการเงินสิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2550 ที่ผ่านการสอบทานจากผู้สอบบัญชีเรียบร้อยแล้ว ว่า ผู้สอบบัญชีไม่สามารถให้ความเชื่อมั่นต่องบการเงินฉบับดังกล่าวของบริษัท ทำให้ตัวเลขผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของบริษัทที่ปรากฏในงบการเงินอาจไม่แสดงค่าที่แท้จริงของกิจการ ดังนั้นผู้ถือหุ้นและนักลงทุนทราบควรจะพิจารณางบการเงินอย่างระมัดระวัง
อย่างไรก็ตาม ไอทีวีอยู่ระหว่างการแก้ไขคุณสมบัติในการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงสั่งห้ามการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ของไอทีวีต่อไป
ศาล ปค.สูงสุดยืนตามศาลปกครองชั้นต้น
ขณะเดียวกัน วานนี้ (14 พ.ย.) ศาลปกครองสูงสุดศาล ได้นัดฟังคำสั่งในคดีที่บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. เรื่องการตั้งอนุญาโตตุลาการในคดีพิพาทสัญญาทางปกครอง กรณี สปน. ไม่ดำเนินการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายตน ภายหลังไอทีวีได้ยื่นเรื่องขอระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับการชำระค่าปรับและค่าตอบแทนจากการผิดสัญญาในการดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ เป็นเหตุให้กระบวนการอนุญาโตตุลาการไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งทางไอทีวีได้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายตนไว้เรียบร้อยแล้ว
ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ไอทีวีได้ใช้สิทธิฟ้องคดีดังกล่าว ซึ่งอยู่ในอำนาจศาลปกครองและไอทีวีได้ปฏิบัติตามข้อตกลงการระงับข้อพิพาทด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ได้ตกลงกันไว้ ขณะลงนามเข้าร่วมสัญญา ที่ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำสั่งแต่งตั้งนายวิชช์ จีระแพทย์ อดีตอธิบดีอัยการฝ่ายคดีล้มละลาย ผู้เชี่ยวชาญการทำสัญญาตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ มาตรา 118 นั้นถูกต้องแล้ว จึงพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นในคดีพิพาทเข้าสู่กระบวนดารอนุญาโตตุลาการต่อไป
ส่วนอีกคดีหนึ่งที่ไอทีวีฟ้อง สปน. และสำนักนายกรัฐมนตรี ละเลยไม่ตรวจสอบการแก้ไขสัญญาเข้าร่วมงานดังกล่าวอันเป็นการละเมิดนั้น ให้เป็นไปตามกฎหมายที่ศาลปกครองชั้นต้นไม่รับฟ้อง ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเห็นชอบด้วย เนื่องจากไอทีวีฟ้องคดีต่อศาลปกครองเกินอายุความทั้งที่ได้ทราบเหตุแห่งการกระทำผิดตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2538
|