เปิดปมฉาวโครงการโทรศัพท์ 5 แสนเลขหมาย เบื้องหลังปัญหาทุจริตคอรัปชัน โยงใย 3
ก๊กผลประโยชน์ จับมือร่วมกันระหว่างกรรมการบอร์ด,ผู้บริหารทศท.และกลุ่มพ่อค้าที่ชอบแอบอ้างทหารหากิน
อาศัยจังหวะเปลี่ยนบอร์ด แก้ไขวิธีการประมูล ล้างมติบอร์ดเดิม ตบหน้าสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม,สถิตย์
ลิ่มพงศ์พันธุ์,พล.ต.ท.บุญญฤทธิ์ รัตนะพร ที่ร่วมเป็นบอร์ดขณะนั้น งานนี้ผลประโยชน์มืดหลายร้อยล้านบาทป็นเดิมพัน
โครงการโทรศัพท์ 5 แสนเลขหมายมูลค่ากว่า 7 พันล้านบาทของบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น
ส่งกลิ่นทุจริต ไม่โปร่งใสในขั้นตอนดำเนินการอีกแล้ว ภายหลังจากที่บอร์ดทศท.ชุดก่อนหน้านี้ที่มีนายศุภชัย
พิศิษฐวานิช เป็นประธานบอร์ด ได้อนุมัติหลักการ วิธีการประมูล ทำจนถึงระดับเอาสเปกหรือทีโออาร์ที่เป็นเงื่อนไขในการประกวดราคาทำประชาพิจารณ์เรียบร้อยเหลือแค่ขายซองประกวดราคาแล้วก็ตาม
ต้นตอกลิ่นฉาว 5 แสนเลขหมาย
ต้นตอปัญหา เกิดจากการประสานความร่วมมือ 3 ก๊กระหว่าง 1.กรรมการ บางคนในบอร์ดทศท.ชุดใหม่ที่มีคุณหญิงทิพาวดี
เมฆสวรรค์ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เป็นประธาน 2.ผู้บริหารระดับรองกรรมการผู้จัดการใหญ่
2-3 คนที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์พื้นฐานและเกี่ยวข้องกับการแก้ไขสเปกตั้งแต่บอร์ดชุดก่อนจนมาถึงบอร์ดชุดปัจจุบัน
ก็ยังไม่ละความพยายาม และ3.กลุ่มพ่อค้าและซัปพลายเออร์บางราย ที่กำลังสร้างก๊วนรวมกลุ่ม
กลายเป็นมาเฟียระดับใหญ่ ที่ตอนนี้กำลังอ้างถึงขนาดว่าทำงานให้ "พรรค"
ซึ่งพ่อค้าที่เป็นแกนหลัก ถึงกับใช้โลโก้บริษัทคล้ายสัญญลักษณ์ทางทหาร เนื่องจากเพื่อให้ดูสมจริงกับการอ้างชื่อผู้ใหญ่ในวงการทหารในการทำมาหากิน
"ทั้ง 3 กลุ่มโยงใยกันเป็นขบวนการผลประโยชน์ขนาดใหญ่ ซึ่งภารกิจสำคัญตอนนี้คือการหักล้างมติบอร์ดเดิมที่เป็นความต้องการของทศท.
แล้วเปลี่ยนวิธีการจัดซื้อใหม่ให้เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มพวกพ้องตัวเอง งานนี้ผลประโยชน์ไม่หนี
3-400 ล้านบาท" แหล่งข่าวในทศท.กล่าว
ตามหลักการเดิมที่บอร์ดศุภชัยอนุมัติ ทำประชาพิจารณ์เรียบร้อยแล้ว จะแบ่งเนื้องานในการจัดหาออกเป็น
3 พื้นที่ และให้ผู้เข้าประกวดราคาในแต่ละพื้นที่จะต้องรับผิดชอบงานทุกงานในแต่ละโซนแบบเบ็ดเสร็จ
ได้แก่งานอุปกรณ์ชุมสาย งานอุปกรณ์สื่อสัญญาณ และงานระบบข่ายสาย
รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าประกวดราคาประการสำคัญว่าผู้เข้าประกวดราคาจะต้องมีผลงานด้านการก่อสร้างท่อร้อยสาย
และข่ายสายโทรศัพท์ท้องถิ่นของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ในวงเงินไม่น้อยกว่า 300
ล้านบาทต่อ 1 สัญญาภายในเวลา 5 ปี และจะต้องเป็นผู้ผลิต/ผู้แทนจำหน่ายอุปกรณ์ชุมสายและอุปกรณ์สื่อสัญญาณ
โดยงบประมาณในการจัดหาแบ่งเป็นงานก่อสร้าง/ปรับปรุงระบบข่ายสายท้องถิ่น 1,900
ล้านบาท อุปกรณ์ระบบชุมสาย 2,800 ล้านบาทและอุปกรณ์ระบบสื่อสัญญาณ 2,500 ล้านบาท
บอร์ดศุภชัยอนุมัติในหลักการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย.2545 ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่านายสุธรรม
มลิลา ผู้อำนวยการทศท.ในขณะนั้น ใช้วิชามารขั้นสูงเพื่อหวังแก้ไขสเปกหรือทีโออาร์
ไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง เพื่อให้ผลประโยชน์ตกกับพวกพ้องตัวเอง เนื่องจากเงื่อนไขหลักการที่บอร์ดศุภชัยเห็นชอบอนุมัติ
เป็นหลักการที่ต้องการ บริษัทขนาดใหญ่ มีผลงานเชื่อถือได้ ถึงขนาดนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์
กรรมการบอร์ดทศท.พูดออกจากปากว่า "เราต้องการคอนโด ก็ต้องหาผู้รับเหมาที่สร้างคอนโด
ไม่ใช่เอาผู้รับเหมาที่สร้างตึกแถวมาสร้างคอนโด"
ในตอนนั้นนายสุธรรม ยืมมือลูกน้องที่เป็นผู้อำนวยการกองพัสดุ จัดการแก้ไขสเปกในประเด็นเรื่องผลงานด้านข่ายสายจากเดิมที่ต้องมีผลงาน
300 ล้านบาทสัญญาเดียวภายใน 5 ปี เปลี่ยนเป็น เอาผลงานของกลุ่มคอนซอร์เตี้ยมที่ร่วมประมูลมารวมกันกี่สัญญาก็ได้ครบ
300 ล้านบาท เนื่องจากนายสุธรรมต้องการช่วยพรรคพวกที่ไม่มีผลงานหรือเป็นบริษัทขนาดเล็กขาดความน่าเชื่อถือ
ผลของการหักมติบอร์ดคือลูกน้องนายสุธรรมถูกสั่งย้าย แต่เขาก็ได้รับการปูนบำเหน็จด้วยการส่งไปเรียนวปรอ.
"มติบอร์ดศุภชัย เป็นการกลั่นกรองถึงความต้องการที่แท้จริงของทศท.และวิธีการประกวดราคาก็เป็นสิ่งที่บอร์ดให้ความเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว
ซึ่งในตอนนั้นนายสุธรรมเพียรพยายามเปลี่ยนสเปก ซึ่งบอร์ดก็รู้ทันและแก้ไขให้กลับมาถูกต้อง"
แหล่งข่าวย้ำว่าเมื่อบอร์ดเห็นความพยายามนายสุธรรมในเรื่องแก้ไขสเปกขนาดสั่งย้ายลูกน้อง
แต่นายสุธรรมก็ไม่ปกป้อง ก็เลยคิดว่ารอให้นายสุธรรมเกษียณในเดือนก.ย.ไปก่อน ซึ่งตอนนั้นเหลือเวลาเพียงแค่เดือนเดียว
เพราะเกรงว่าจะต้องโยกย้ายลูกน้องนายสุธรรมอีกจำนวนมาก
เพราะเมื่อถูกบอร์ดจับได้เรื่องแก้สเปก นายสุธรรมก็ยืมมือนายโอฬาร เพียรธรรม
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่(เกษียณไปแล้ว) และนายปรีชา รักษาชาติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่(ในขณะนั้น)
ล้มโครงการโทรศัพท์ 5 แสนเลขหมาย เปลี่ยนวิธีการเป็นให้แต่ละฝ่ายโทรศัพท์ที่ประกอบด้วยฝ่ายโทรศัพท์นครหลวง
4 ฝ่ายกับฝ่ายโทรศัพท์ภูมิภาค 5 ฝ่าย สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดหาขยายเลขหมายได้ตามใจชอบแทน
แต่บอร์ดศุภชัยก็รู้ทัน ทำให้นายโอฬาร ถึงกับต้องขอโทษบอร์ด เพราะถือเป็นการฝ่าฝืนมติบอร์ด
ที่ได้อนุมัติหลักการไปแล้ว ท่ามกลางความไม่พอใจของนายสุธรรมและนายปรีชาที่ฝังความแค้นไว้ในใจ
เพราะถือเป็นการดึงเนื้อออกจากคอ
ปรีชา รักษาชาติ ปัจจุบันเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เป็นคนที่ประสานมือกับสุธรรม
มีบทบาทในช่วงแรก เพราะเป็นคนที่เดินทางไปประเทศจีนพร้อมกับสุธรรมเพื่อเจรจาจนเกือบเซ็นเอ็มโอยูกับเซี่ยงไฮ้
เบลล์ รวมทั้งยังมีการเจรจากับหัวเหว่ย โดยจีนจะจัดหาแหล่งเงินกู้ให้ แต่การซื้อขายต้องทำผ่านบริษัทคนไทยที่มีชื่อเสียโด่งดังตอนทำไอพีเน็ตเวิร์กให้ทศท.เนื่องจากมีประสบการณ์แค่ขายพัดลมแต่หาญกล้ามาให้บริการไฮเทคโนโลยี
เมื่อสุธรรมพ้นจากตำแหน่งผู้บริหารสูงสุด พร้อมกับการก้าวเข้ามาแทนที่ของนายสิทธิชัย
ส่งพิริยะกิจ และบอร์ดชุดใหม่ของคุณหญิงทิพาวดี ความหวังของเหล่ามารก็เรืองรองขึ้นอีกครั้ง
เพราะความไม่มี "สี" ของสิทธิชัย และการทำงานแบบประณีประนอมอ่อนข้อทำให้เหล่าลูกน้องผู้บริหารระดับรอง
ได้ใจคิดหากินซ้ำสอง
"วิธีถนัดพวกนี้คือแก้สเปก ให้เข้าทางพวกตัวเอง"
บอร์ดคุณหญิงทิพาวดี มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2546(กรณีพิเศษ) เมื่อวันที่
30 ม.ค.2546 ให้ความเห็นชอบหลักการโครงการขยายบริการโทรศัพท์จำนวน 565,500 เลขหมาย
โดยให้หารือกับที่ปรึกษาประธานกรรมการ บมจ.ทศท.(นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม) ในรายละเอียดอีกครั้งก่อนนำเสนอโครงการต่อสศช.(สภาพัฒน์ฯ)
เนื่องจากสศช.ต้องการให้ทศท.นำเสนอแผนงานการขยายเลขหมายดังกล่าวในรูปแบบของโครงการ
การนำเสนอในรูปโครงการคือการนำเสนอหลักการ เหตุผลที่ต้องการขยายเลขหมาย เป้าหมายของโครงการ
รูปแบบโครงสร้างทางการเงิน ผลตอบแทนการลงทุนต่างๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสเปกหรือเงื่อนไขการประกวดราคาเลย
สิ่งที่ยืนยันถึงความต้องการคุณหญิงทิพาวดี ที่ให้คงตามหลักการบอร์ดชุดเดิมของนายศุภชัย
คือ เมื่อพล.อ.สมชัย สมประสงค์ รองประธานบอร์ดได้ถามถึงวิธีการประมูล คุณหญิงตอบกลับในทำนองว่าเป็นเรื่องที่บอร์ดเดิมอนุมัติมาแล้ว
ไม่ต้องถามถึง สิ่งที่บอร์ดชุดนี้ทำคือส่งเรื่องในรูปการนำเสนอแบบโครงการให้นายสรรเสริญดูรายละเอียดก่อนส่งสศช.เท่านั้น
3 แนวทางขัดหลักการเดิม
คำว่าให้ดูรายละเอียด กลายเป็นโอกาสที่ 3 ก๊กจัดการยำโครงการ 5 แสนเลขหมายใหม่
เพื่อให้ผลประโยชน์ลงตัวเฉพาะพรรคพวก
ปรีชา ร่วมกับผู้บริหารที่รับผิดชอบโทรศัพท์พื้นฐาน นำเสนอ 3 แนวทางเลือกในการประกวดราคา
โดยไม่สนใจว่าบอร์ดจะเคยมีมติอนุมัติหลักการมาเช่นไร
กล่าวโดยสรุปคือแนวทาง 1 คงตามแนวทางเดิม โดยเพิ่มข้อกำหนดคุณสมบัติขั้นต่ำของอุปกรณ์ชุมสายว่าระบบอุปกรณ์
Super Node และ Access Node รุ่นที่นำเสนอจะต้องเคยผ่านการใช้งานและเปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบันเป็นจำนวนอย่างน้อย
1 ชุมสายและ 100 ชุมสายตามลำดับ
แนวทางที่ 2 แยกเนื้องานระบบข่ายสายออกจากเนื้องานอุปกรณ์ชุมสายและสื่อสัญญาณ
โดยส่วนกลางเป็นผู้ดำเนินการประกวดราคา และแนวทางที่ 3 แยกเนื้องานระบบข่ายสายออกจากเนื้องานอุปกรณ์ชุมสายและสื่อสัญญาณ
และให้แต่ละพื้นที่เป็นผู้ดำเนินการประกวดราคางานระบบข่ายสายเองตามความเหมาะสม
แหล่งข่าวกล่าวว่าประเด็นที่น่าสนใจสำหรับ 3 แนวทางคือพวก 3 ก๊กต้องการให้เป็นแนวทางที่
3 เพราะเท่ากับไม่ได้กำหนดคุณสมบัติใดๆของอุปกรณ์แค่บอกว่าผ่านการใช้งานเท่านั้น
ในขณะเดียวกัน งานด้านข่ายสายต้องการให้แต่ละพื้นที่ประมูลกันเอง เนื่องจากในแต่ละพื้นที่จะมีบริษัทที่ผู้บริหารทศท.ร่วมอยู่ด้วยไม่ว่าจะเป็นการถือหุ้นโดยตรงหรืออ้อมๆ
หรือมีความสัมพันธ์แบบซ่อนเร้น เพราะคนทศท.จะมีความชำนาญในเรื่องการเดินข่ายสายโดยเฉพาะและมองว่าถึงบริษัทขนาดใหญ่ได้โครงการไป
ก็ต้องมาจ้างบริษัทเล็กในลักษณะซับคอนแทรกเตอร์อยู่ดี
แต่พวกนี้ลืมไปว่า ถึงเป็นผู้รับเหมาช่วงต่อจากบริษํทใหญ่ แต่บริษัทใหญ่ยังคงต้องมีความรับผิดชอบในเนื้องานและผลงานอยู่ดี
ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ แต่บริษัทเล็กๆวันดีคืนดีอาจปิดบริษัทหนีหายไปเมื่อไหร่ก็ได้
"พอเปลี่ยนบอร์ดใหม่ ก็เกิดแนวคิดจากระดับล่างที่ต้องการซอยงานลง แล้วอาศัยพวกมากบีบผู้บริหารระดับสูง
โดยไม่คำนึงถึงหลักการว่าเป็นโครงการใหญ่มีความสำคัญควรให้คนมีประสบการณ์มาทำงาน"
นายสิทธิชัย ส่งพิริยะกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทศท.กล่าวว่า โดยวิธีการทำงานเวลาเสนอโครงการให้บอร์ดพิจารณา
จำเป็นต้องเสนอหลายๆทางเลือกให้บอร์ดพิจารณา ซึ่งทั้ง 3 แนวทางดังกล่าว ได้สั่งการให้นำเข้าพิจารณาในกนบ.ก่อนที่จะนำเสนอบอร์ด
ซึ่งโครงการ 5 แสนเลขหมายคงประมูลแล้วเสร็จภายใน 1-2 เดือนนี้
"ขึ้นอยู่กับบอร์ดว่าจะตัดสินใจเลือกแนวทางไหน แนวทางเดิมถือว่าหนึ่งในทางเลือกที่ทศท.จะเสนอ"
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในบอร์ดทศท.ชุดนี้มีคนที่เคยเป็นกรรมการบอร์ดชุดศุภชัยอยู่
3 คนซึ่งหากต้องการแก้ไขวิธีการประมูล ทศท.คงต้องหาเหตุผลมาอธิบายให้หนักแน่นและชัดเจน
เพราะนายสรรเสริญที่กลับมาเป็นที่ปรึกษาประธานบอร์ด เคยย้ำชัดเจนว่าไม่ต้องการให้เกิดการฮั้วประมูลเหมือนสมัยทำโครงการระบบสื่อสัญญาณความเร็วสูงหรือ
SDH ครั้งแรกที่แบ่งเป็น 6 โซน แต่ฮั้วราคากันจนแพงและมีปัญหาทุจริตคอรัปชันจนต้องล้มประมูล
แต่เขาต้องการให้ประมูลรวมแข่งกันให้เหลือรายเดียวเพื่อให้เกิดการต่อสู้ด้านราคาจนถึงที่สุดเพื่อให้ทศท.ได้ประโยชน์สูงสุด
เช่นเดียวกับแนวคิดของนายสถิตย์ที่ย้ำว่าการสร้างคอนโดมิเนียม จะเอาผู้รับเหมาตึกแถวมาทำไม่ได้
รวมทั้งพล.ต.ท.บุญญฤทธิ์ คงต้องการคำอธิบายที่ชัดเจน ว่าทศท.มีเหตุผลอะไรที่จะมาหักล้างมติบอร์ดเดิมที่เขาร่วมเป็นกรรมการพิจารณาจนอนุมัติได้หลักการทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว