Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2543








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2543
บิล เฮนเนกี้ The Enterpreneur             
 

   
related stories

Tricon Global Restaurant
Pizza War

   
search resources

ไมเนอร์ โฮลดิ้ง
วิลเลียม อี.ไฮเน็คกี้




เขาเป็น "ฝรั่ง" คนล่าสุด ยึดเมืองไทยสร้างโอกาส และบทเรียนธุรกิจจากยุคสงครามเวียดนาม เบบี้บูม และวัฒนธรรมตะวันตก ขยายวงกว้างมากขึ้นในสังคมไทย

เขาเติบโตอย่างเงียบๆ ด้วยบุคลิก ของเขา ขณะที่เครือข่ายธุรกิจของเขาฝังรากอยู่กับสังคมไทยยุคใหม่ และขยายตัวมากขึ้น เรื่องราวของเขาเป็นที่สนใจมากขึ้น นอกจากเรื่องราวธุรกิจของเขามีสีสันมากขึ้น จากการต่อสู้ดุเดือดในการเข้าเทกโอเวอร์โรงแรมรีเจนท์ฯ เมื่อปีที่แล้ว และกำลังขับเคี่ยวกับเจ้าของแฟรนไชส์ "พิซซ่า ฮัท" แล้วก็คือ หนังสือของเขาเอง วิลเลี่ยม เฮนเนกี้ ลงแรงเขียนบทเรียนของตนเองในการดำเนินธุรกิจในเอเชียไว้ในหนังสือ The Enterpreneur (อ่าน "หนังสืออ่านสนุก The Enterpreneur" โดย ชัยสิริ สมุทวณิช "ผู้จัดการ" กุมภาพันธ์ 2543 ) ที่น่าอ่าน ซึ่งแตกต่างกับผู้ใหญ่ในบ้านเรา นิยมจ้างนักเขียนขยายความ "ประวัติอันยิ่งใหญ่" ของตนเองอย่างเกินจริง มากกว่าจะถ่ายทอดบทเรียนอันมีค่าแก่ผู้คนทั่วไป ทั้งนี้บทเรียนจากหนังสือเล่มนี้ นับได้ว่าสอดคล้องกับยุคสมัยของสังคมไทย ที่ผู้คนกำลังหาทางออกในการประกอบการเองมากขึ้น

แนวทางความสำเร็จของบริษัทหนึ่ง สร้างตัวจากธุรกิจ ที่ถือหุ้นเพียงส่วนน้อยแต่องค์ประกอบ และเป้าหมาย ที่ต้องการเติบโตช่วยผลักดันให้ "ไม-เนอร์ โฮลดิ้ง" ขยับฐานะเป็นผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของกิจการในเครือ ทั้งหมด ผลผลิตงอกเงยออกมาเป็นรูปเป็นร่างในปัจจุบันถูกกลั่นกรองมาจากแม่ทัพ ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำไปแล้ว "วิลเลี่ยม เฮนเนกี้" หรือ ที่รู้จักทั่วไป "บิล เฮนเนกี้"

ไมเนอร์ โฮลดิ้งบริษัทท้องถิ่น ที่มีอายุดำเนินธุรกิจยาวนาน 3 ทศวรรษ ก่อตั้ง และบริหารงานโดยบิล เฮนเนกี้ เด็กหนุ่มชาวอเมริกัน ซึ่งเริ่มต้นธุรกิจไมเนอร์ โฮลดิ้ง เมื่ออายุ 18 ปี ประวัติส่วนตัวไม่ค่อยรู้จักวงกว้างในหมู่คนไทยมากนัก และการศึกษาไม่สูง แต่บิลยืนกรานว่าตัวเองเป็นผู้ชาย ที่มีความอดทนสูง

ไมเนอร์ โฮลดิ้ง เกิดขึ้นจากผู้บุกเบิก ที่มีสายตามองการณ์ไกล และกิจการก้าวหน้าต่อไปจำเป็นต้องมีคนที่มีแนวความคิดทางธุรกิจ และการจัดการระบบต่างๆ ให้เติบใหญ่ และก็เหมือนกิจการหลายๆ แห่ง ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก

บิลไม่ได้ประสบความสำเร็จในช่วงต้นๆ ของการก้าวขึ้นเป็นนักธุรกิจ แต่ค่อยๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากจุดผิดพลาด และสำเร็จนำมาปรับปรุงใช้ด้วยความยืดหยุ่นตลอดเวลา จนทำให้กลายเป็นเศรษฐีคนหนึ่งในเวลา 30 ปีต่อมา

แม้บิลไม่ได้เรียนหนังสือในระดับมหาวิทยาลัยแต่เขาก็ใส่ใจกับการดำเนินชีวิตในประเทศไทยอย่างมาก ถือเป็นการศึกษา เพื่อเก็บเกี่ยวประสบ-การณ์จากคนรอบข้าง "ผมเข้าใจภาษาไทยได้เพียงพอ ที่ไม่สร้างความยากลำบากใจอะไรในการอาศัยภายใต้สถานการณ์ต่างๆ" บิล กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

นั่นเป็นสิ่งยืนยันว่าเขาได้ไว้วางใจประเทศไทยสำหรับการทำธุรกิจระยะยาว อีกทั้งถือเป็นข้อได้เปรียบกว่าคู่แข่งจากต่างประเทศด้วยกันอีกประการหนึ่ง "คิดเสมอว่าผมเป็นคนอเมริกัน เกิด ที่นั่นแต่เลือกใช้ชีวิตในเมืองไทย ถือสัญชาติไทย เพราะจะช่วยในการทำธุรกิจ และสะท้อนถึงการไว้ใจต่อประเทศนี้"

นอกจากข้อได้เปรียบโดยอาศัยความเป็นอเมริกันแล้วบิลยังมีโอกาสเข้าไปคลุกคลีกับกลุ่มธุรกิจระดับสูง โดยเข้าไปเป็นสมาชิกหอการค้าอเมริกา ทำให้ได้รับข้อมูลประเภท "วงใน" เป็นสิ่งสำคัญของการสร้างตัว และขยายเครือข่ายกลุ่มธุรกิจของเขาอีกด้วย

ปัจจุบันเขาเป็น "เถ้าแก่" ต่างชาติ ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในประเทศไทย และเป็นเจ้าของธุรกิจมากมาย อาทิ ธุรกิจในเครือร้านพิซซ่า ธุรกิจไอศกรีม และโรงงานผลิตถุงมือกอล์ฟ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เขาเป็น "ต้นแบบ" ของฝรั่ง ที่อีก ยุคหนึ่งในประเทศไทย ที่มากับอิทธิพลอเมริกา ในระดับกว้างในภูมิภาคนี้ ที่เริ่มโหมโรงอย่างรุนแรงจากสงครามเวียดนาม ซึ่งแตกต่างจากบทเรียนของวอลเตอร์ ไมเยอร์ แห่งเบอรี่ยุคเกอร์ ที่เติบโตมาพร้อมกับการปรับตัวของชนชั้นสูงกับวัฒนธรรมตะวันตกในช่วงสงครามโลก

เขาอาศัย "ความไม่แน่นอน" ของสงครามเวียดนาม ที่สั่นคลอนความมั่นใจของธุรกิจตะวันตกยุคก่อน เป็นโอกาสในการริเริ่ม และเรียนรู้การประกอบการ

บิล เฮนเนกี้ เกิด ที่โรงพยาบาลทหารเรือสหรัฐฯ ที่รัฐเวอร์จิเนียเมื่อปี 1949 ปีถัดมาเกิดสงครามเกาหลีครอบ ครัวเขาจึงย้ายมาอยู่ ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ยกเว้นรอย เฮนเนกี้ บิดาของเขาถูกส่งตัวมาโตเกียวประเทศญี่ปุ่น เพื่อทำงานให้นิตยสาร Leatherneck นิตยสารของนาวิกโยธิน สหรัฐอเมริกา

คอนนี่ ภรรยาของรอยตัดสินใจ ที่จะอยู่ในแคลิฟอร์เนียกับลูก คือ สกิ๊ป พี่ชายของบิล และบิล อย่างไรก็ตามเธอ และลูกๆ ตัดสินใจเดินทางไปหารอย ที่ญี่ปุ่นทีหลังโดยไม่ยอมบอกให้สามีรู้ล่วงหน้าทั้งๆ ที่เหลือเงินติดตัวเพียง 60 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ

หลังจากรอยเกษียณแล้วเดินทางกลับแคลิฟอร์เนียพร้อมครอบครัว และอาศัยอยู่ ที่นั่น จนกระทั่งปี 1956 ครอบครัวเฮนเนกี้เดินทางกลับมายังตะวันออกอีกครั้ง โดยรอยเข้ามาทำงานในฮ่องกง ณ ศูนย์บริการข้อมูลของสหรัฐอเมริกา อยู่ได้ 4 ปี ครอบครัวเฮน เนกี้ย้ายมายังกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ก่อน ที่จะย้ายมาประเทศไทยในปี 1963 โดยรอยเข้ามาทำงานกับสถานีวิทยุเสียงแห่งอเมริกา ขณะนั้น บิลอายุได้ 14 ปี

พรสวรรค์หัวคิด "เถ้าแก่" ของบิลฉายแววมาตั้งแต่เด็ก สมัยเรียนระดับอนุบาล ที่แคลิฟอร์เนีย เขาเริ่มต้นทำเงินด้วยการขายน้ำมะนาว มีอยู่ครั้งหนึ่งแม่ของเขาถามว่าวันนี้ได้กำไรเท่าไหร่ เขาตอบว่าได้ 25 เซ็นต์ ถือว่ามากในยุคนั้น

"ถ้าเขาขายได้กำไร 2 เซ็นต์จะต้องยืนขายทั้งวัน แต่บิลสามารถขายน้ำมะนาวเพียง 3 แก้ว และมีกำไร 25 เซ็นต์" คอนนี่ กล่าว (The Enterpreneur : William E. Heinecke กับ Jonathan Marsh, 1999)

แม้แต่ในช่วง ที่อยู่มาเลเซียเขายังให้ความช่วยเหลือสามีภรรยาคู่หนึ่ง ซึ่งเป็น เพื่อนในการทำธุรกิจคาเฟ่ โดยเข้าไปให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทำธุรกิจถึงกลยุทธ์การตลาด และการโฆษณา

เมื่อมาอยู่ในประเทศไทยบิลเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่ง พร้อมกับการนำกีฬาแข่งรถ Go-kart เข้ามาเผยแพร่ และเป็นคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์ Bangkok World (ปัจจุบันคือ Bangkok Post) เขียนคอลัมน์ยานยนต์ แต่มีข้อแม้ว่าเขาจะต้องหาโฆษณามาลงในหนังสือพิมพ์ด้วย และเมื่อผู้จัดการฝ่ายโฆษณาลาออก บิล ซึ่งเป็นผู้ช่วยได้ขึ้นทำงานแทนในการขายโฆษณา

อายุ 17 ปี บิลเริ่มมีเงินเก็บ ถือเป็นเงินก้อนแรก ที่ได้มาจากการทำงาน "มันเป็นความรู้สึกที่ดี และนำไปซื้อจักรยานยนต์" (The Enterpreneur)

จุดเปลี่ยนชีวิตของบิลเกิดขึ้นเมื่อปฏิเสธเดินทางไปศึกษา ที่อเมริกา แต่กลับกู้ยืมเงินจำนวน 1,200 เหรียญสหรัฐ เพื่อขอจดทะเบียนในชื่อตนเอง ที่สำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ในการเปิดบริษัท 2 แห่ง คือ Inter-Asian Enterprise และ Inter-Asian Publicity

เงินทุน ที่เหลือจากการจดทะเบียนบริษัทบิลนำไปซื้ออุปกรณ์ทำความสะอาด คือ ถังพลาสติก และไม้ถูพื้น 2 อัน และซื้อเวลาโฆษณา 2-3 นาทีจากสถานีท้องถิ่น งานบริการทำความสะอาด และงานโฆษณา ที่มารวมกันอย่างไม่น่าเชื่อนับเป็นก้าวแรกของบิล เฮนเนกี้ในโลกธุรกิจ

"ผมเริ่มต้นด้วยเงินจำนวนน้อยเสียจนไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลอะไรเกี่ยวกับการขาดทุน ความจำเป็นแรกสุดคือ ต้องอยู่รอดให้ได้ ถือเป็นก้าวแรกของการสร้างตัวเองก็ว่าได้" บิล กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

นอกจากนี้ยังเปิดธุรกิจรักษาความปลอดภัย และกิจการเครื่องหยอดเหรียญอัตโนมัติ (vending machine) แต่ล้มเหลวไม่เป็นท่า ว่ากันว่าบิลนำธุรกิจดังกล่าวเข้ามาในประเทศไทยเร็วเกินไป

ช่วงเริ่มต้นใช้ชีวิตในประเทศไทย และดำเนินธุรกิจของบิลเป็นช่วงเวลา ที่สถานการณ์ทางการเมืองในภูมิภาคเอเชียผันผวน อาทิ สงครามเวียดนาม ความรุ่งเรืองของขบวนการคอมมิวนิสต์ สมาชิกหนุ่มสาวจีนของหน่วยปฏิวัติวัฒนธรรมสมัยเหมาเจ๋อตุงได้อาละวาดขึ้น ซูฮาร์โต้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียแทนซูกาโน สกุลเงินดอลลาร์สิงคโปร์กำเนิดขึ้น และชนชาติอังกฤษรุ่นสุดท้ายอพยพออกจากมาเลเซีย

"นั่นคือ สถานการณ์ ที่ไม่แน่นอน แต่ภาวะทางการเมืองไม่น่าเป็นห่วงสำหรับผมเพราะความสำคัญที่สุด คือ การเอาตัวรอด" บิลกล่าว (The Enterpreneur)

เมื่อไม่สนใจสถานการณ์ทางการเมือง และมีความปรารถนาอันแรงกล้าในการดำเนินธุรกิจ ปี 1970 จึงได้ก่อตั้งไมเนอร์ โฮลดิ้ง ขึ้นมา เพื่อดำเนินธุรกิจนำเข้า ส่งออกโรงแรม ผลิตสินค้า และอาหารฟาสต์ฟูด

เป็นเวลาเดียวกับ ที่บริษัทโฆษณา ยักษ์ใหญ่อย่างโอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ ขยายตลาดธุรกิจในแถบเอเชีย และต้องการเปิดสำนักงานในประเทศไทย แต่เมื่อไม่ใช่หน้าใหม่ความจำเป็นต้องมองหาใครสักคนที่มีพื้นฐานธุรกิจดังกล่าวในท้องถิ่นมาร่วมงานด้วย และบิลคือ คนที่พวกเขาต้องการ

ไมเคิล บอล อดีตคือ ผู้บริหารระดับสูงโอกิลวี่ปัจจุบันคือ ผู้ก่อตั้ง Ball Partnership advertising agency กล่าวว่าบิลเป็นคนปรารถนา ที่จะเรียนรู้ อดทน และไม่กลัว

"เขามีความทะเยอทะยาน ถ้าอยู่ในอเมริกาไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะได้เป็นประธานาธิบดี" บอลกล่าวติดตลก (The Enterpreneur)

แม้ว่าบิลจะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางถึงความเป็นผู้ที่มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจโฆษณา เขาสามารถเจรจากับลูกค้าได้ดี แม้จะไม่ได้ร่ำเรียนด้านนี้โดยตรง แต่ขั้นตอนการทำงานหลังจากนั้น บิลไม่สามารถทำได้ดี จำเป็นต้องมีผู้ที่มีความชำนาญเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งโอกิลวี่ขันอาสาทำให้

ความจริงบิลยินดีช่วยโอกิลวี่ในการเปิดตัวธุรกิจเท่านั้น ไม่ถึงขั้นขายบริษัทแต่โอกิลวี่อยากได้ทั้งตัวบิล และบริษัทของบิล ทั้งสองฝ่ายจึงต่อรองกันอย่างดุเดือด ในที่สุด Inter-Asian Publicity ต้องหลุดให้กับโอกิลวี่

"เป็นโอกาส ที่บิลจะได้เรียนรู้ธุรกิจโฆษณาเมื่อขายบริษัทให้เรา" เดวิด โอกิลวี่ เจ้าของโอกิลวี่ กล่าวถึงผลดี ที่บิลจะได้รับ (The Enterpreneur)

นอกจากผลตอบแทนเป็นเม็ดเงิน ที่โอกิลวี่จ่ายให้กับบิล เขายังได้รับความเชื่อถือให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการจนถึงปี 1977 ต่อด้วยเก้าอี้ประธานบริษัทถึงปี 1980 ขณะที่ Inter-Asian Enterprise ถูกเทกโอเวอร์จากบริษัทอังกฤษแห่งหนึ่งในลักษณะการเข้าไปซื้อหุ้น

ในช่วงปี 1975 บิลได้ทดลองตลาดฟาสต์ฟูดด้วยการนำ "มิสเตอร์ แฟรงกลิน" เข้ามาชิมลาง ด้วยการร่วมทุนกับกลุ่มจิราธิวัฒน์ตั้ง "ศาลาโฟร์-โมสต์" แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่า ที่ควร

ประสบการณ์ครั้งนั้น ไม่ได้ทำให้เขาเสียใจ ยังเชื่อเสมอว่าคนไทยเหมือน กับชาติอื่นๆ ที่มีรสนิยมในการรับประทาน จึงนำ "มิสเตอร์โดนัท" เข้ามาเปิดตัวครั้งแรกร่วมกับกลุ่มจิราธิวัฒน์เช่นเดิม ครั้งนี้เติบโตอย่างรวดเร็วเนื่องจากได้ทำเล ที่เหมาะสม

เมื่อตลาดเปิดด้วยสายตาแหลม คมการมองหาในการดำเนินธุรกิจ และไม่เคยรู้จักคำว่า "เพียงพอ" บิลจึงออกไปเปิดร้าน "มิสเตอร์โดนัท" ที่มาเลเซีย ทำได้แค่ปีเดียวก็ปิดกิจการเมื่อไม่ประสบความสำเร็จเหมือนในประเทศไทย

ความได้เปรียบในความเป็นอเมริกันของบิลสร้างให้เขามีโอกาสเข้าไปคลุกคลีกับทหารอเมริกัน ที่เข้ามาพักอาศัยในพัทยาหลังจากสงครามเวียดนาม ความได้เปรียบเช่นนี้เป็นที่มาของความคิดในการเข้าไปซื้อโรงแรมเก่าแห่งหนึ่งแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น "รอยัลการ์เด้น รีซอร์ท" ในปี 1976 เป็นการเสี่ยงลงทุนครั้งแรกของเขา เมื่อเข้าบริหารในโรงแรมดังกล่าว บิลลาออก จากโอกิลวี่ทุกตำแหน่ง เพื่อให้เวลาอย่างเต็มที่กับไมเนอร์ โฮลดิ้ง

ปีถัดมาไมเนอร์ โฮลดิ้ง นำโดยบิล และเกษม ณรงค์เดช ได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดจากบริษัท เอ.เอฟ.ไอ. จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจนำเข้าอาหารประเภทเนื้อสัตว์ อาหารสำเร็จรูป รวมทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตภายใต้ชื่อ "เดรี่เลน ซูเปอร์มาร์เก็ต" เมื่อเข้ารับช่วงดำเนินกิจการนำเข้าอาหาร แล้วได้ทำการเปลี่ยนชื่อซูเปอร์มาร์เก็ตเป็น "ดี แอล ซูเปอร์มาร์เก็ต" พร้อมทั้งเพิ่มทุนจาก 1 ล้านบาทเป็น 20 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีในปี 1982 บริษัทได้ขายกิจการนำเข้าอาหาร และซูเปอร์ มาร์เก็ตทั้งหมดให้แก่บริษัท สปินนี่ เอเอฟไอ (ไทย) จำกัด

กลุ่มธุรกิจไมเนอร์ โฮลดิ้ง ยังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 1980 บิลเปิดบริษัท เดอะ พิซซ่า จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจอาหารฟาสต์ฟูด "พิซซ่า ฮัท" โดยเปิดสาขาแรก ที่พัทยา ถือเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจฟาสต์ฟูดครั้งใหม่ และครั้งสำคัญ ขณะเดียวกันเป็นปีที่เงินบาทลดค่าลงเป็นครั้งแรก

ว่ากันว่าบิลเลือกพัทยาเปิดตัวพิซซ่า ฮัท เนื่องจากช่วงนั้น ทหารอเมริกันเข้ามาอาศัยอยู่กันมากจากสงครามเวียดนาม น่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจ ในแง่ยอดขาย เพราะคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักอาหารตะวันตกประเภทนี้มากนัก ถ้านำเข้ามาเปิดในกรุงเทพฯ โอกาส ที่จะล้มเหลวย่อมมีมากกว่า ดังนั้น บิลจึงอาศัยทหารอเมริกันเป็นใบเบิกทางสำหรับพิซซ่า ฮัท

"เขาต้องบ้าแน่ๆ" เป็นคำพูด ที่หลายๆ คนมองบิลหลังจากนำพิซซ่า ฮัทเข้ามาในประเทศไทยแต่ไม่ได้ทำให้เขาคล้อยตามเพราะมั่นใจว่าได้เลือกเวลาเหมาะสมแล้ว

"คนไทยกำลังเต็มใจพิสูจน์แนวความคิดแบบตะวันตก และเวลา ที่เหมาะเช่นนี้ไม่มีจุดด่างพร้อยในการนำพิซซ่า ฮัทเข้ามา" บิล กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ความคิดของบิลถูก เมื่อพิซซ่า ฮัท ได้รับความนิยมในหมู่คนไทย และเขาได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้บุกเบิกความคิดการนำอาหารตะวันตกเข้ามา ทำให้คนไทยมีรสนิยมการรับประทานเปลี่ยนไป และสร้างจนสำเร็จ

ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากการหากินกับธุรกิจสมัยใหม่ ต่างจากนักธุรกิจจีน ที่นิยมทำธุรกิจแบบดั้งเดิม คือ ขายสินค้าในปริมาณมากๆ แต่บิลจับกลุ่มเป้าหมายชนชั้นกลาง ที่เรียกว่า "เบบี้บูม"

หลังจากได้ดีกับพิซซ่า ฮัท บิลไม่ได้ทิ้งธุรกิจอื่นๆ เห็นได้จากครั้ง ที่ขายกิจการนำเข้าอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ตเมื่อปี 1982 หันมาให้ความสนใจในการเป็นผู้ลงทุนในกิจการบริษัทในกลุ่ม (Holding Company) รวมทั้งเข้าร่วมทุนกับกลุ่มบริษัทอื่นสำหรับโครงการใหม่ๆ ที่คาดว่าจะได้ผลตอบแทนสูง

ขณะเดียวกันได้ตั้งศูนย์การจัดการขึ้น เพื่อให้บริการแก่บริษัทในกลุ่ม และนอกกลุ่มโดยให้บริการในด้านการจัดการ การเงิน การบัญชี คอม-พิวเตอร์ ให้เช่าสถานที่ การจัดตั้งโครงการต่างๆ โดยได้รับค่าบริหารตอบ แทน

ปี 1985 บริษัท เอแรล แอนด์ พาร์ทเนอร์ จำกัด ดำเนินธุรกิจการเป็นผู้บริหาร venture capital ที่ฮ่องกง และกลุ่มบริษัท มาร์แตล ผู้ผลิตบรั่นดีจากฝรั่งเศส เข้าร่วมลงทุนในกิจการบริษัท เพื่อขยายขนาดการลงทุนของธุรกิจ ทั้งด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม

ขณะเดียวกันได้รับการแต่งตั้งจาก American Brands Inc. ให้เป็นผู้แทนในประเทศไทย เพื่อหาช่องทางการ ลงทุน และได้เริ่มโครงการผลิตลูกยางอัดแบบ เพื่อส่งออกนามบริษัท แอคูช เน็ท (ประเทศไทย) จำกัด

อีกทั้งบริษัทซื้อกิจการนำเข้าเคมี ภัณฑ์ เพื่อจำหน่ายแก่โรงงานอุตสาหกรรม และหน่วยงานราชการจากบริษัทในกลุ่มมา เพื่อดำเนินการเอง เพื่อความเหมาะสมของธุรกิจจึงทำการเปลี่ยนชื่อบริษัทจากเอ. เอฟ.ไอ เป็นบริษัท ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

สำหรับธุรกิจโรงแรมเมื่อรอยัลการ์เด้น รีซอร์ทแข็งแรงจึงไปเปิดโรงแรม รอยัลการ์เด้น รีซอร์ท ที่หัวหิน ในปี 1984 ขั้นด้วยการผันตัวเองเข้าสู่ตลาดไอศกรีมพรีเมียม "สเวนเซ่นส์" เมื่อปี 1986 ก่อน ที่จะเปิดโรงแรมรอยัลการ์เด้น วิลเลจ หัวหินในปี 1988

ก่อนปิดท้ายทศวรรษ ที่ 1980 ด้วยการเปิดโรงงานแอคูชเน็ท ฟุตจอย (ประเทศไทย) เพื่อผลิตถุงมือกอล์ฟ ส่วนพิซซ่า ฮัท เปิดบริการส่งถึงบ้าน (Home Delivery)

จากจุดเริ่มต้นการดำเนินธุรกิจของบิล ที่ไม่ค่อยมีทิศทางแน่นอนอาศัย "จังหวะ" และ "โอกาส" เป็นเครื่องมือสำคัญในการตัดสินใจเลือกธุรกิจจนกระทั่งเด่นชัดขึ้นในช่วงทศวรรษ ที่ 1980 ธุรกิจกลุ่มบริษัทไมเนอร์ โฮลดิ้ง ขยายกิจการออกไปอย่างมาก และชัดเจน โดย แบ่งออกเป็น 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจโรงแรม บริหารโดยบริษัท รอยัลการ์เด้น รีซอร์ท (RGR) ธุรกิจผลิต และจำหน่ายสินค้า บริหารโดยบริษัท ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น (MINOR) และกลุ่มธุรกิจอาหารบริหารโดยบริษัท เดอะ พิซซ่า (PIZZA)

การเติบโตในยุคดังกล่าวแบ่งได้ 2 ยุค หนึ่ง - ยุคบุกเบิกโดยบิลใช้การบริหาร "เถ้าแก่ลุย" ถือเป็นสไตล์ ที่เขาถนัดในรูปแบบ "aggressive" ยุคนี้ไม่มีระบบเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นช่วงระหว่างปี 1979-1982

สอง - ยุค 5 ปีถัดมา เป็นระยะทาง ที่ไมเนอร์ โฮลดิ้ง เริ่มหันมามองปัญหา ที่เกิดขึ้นในยุคแรก และแก้ไขระบบจริงจัง หลังจากเผชิญปัญหาเรื่องการเงินอยู่บ่อยครั้ง บิลเริ่มมองหาหุ้น ส่วน และเป็นยุคปรับตัวอย่างมาก ระบบ งานเริ่มเข้า ที่เข้าทาง และการเงินดีขึ้น

"ระบบบัญชีใช้วิธีรวมศูนย์ และการเงินของบริษัทในเครือทั้งหมดอยู่ ที่หน่วยกลาง มองว่าเป็นการลดค่าใช้จ่าย ซึ่งก็ได้ผล นี่คือ สิ่งที่ทำในยุคที่สอง เป็นนโยบายของการปรับประสิทธิภาพต่างๆ ของระบบทั้งหมด" บิล เฮนเนกี้ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

แต่ละยุคล้วนมีความสำคัญ และต้องบริหารงานด้วยวิธี ที่แตกต่าง แต่มีสิ่งหนึ่ง ที่ทำร่วมกันคือ การอยู่รอดให้ได้ แม้แต่ทุกวันนี้การบริหารงานของไมเนอร์ โฮลดิ้งยังเน้นปรัชญาของการอยู่รอด

เหนือสิ่งอื่นใดสำหรับคำว่า "ความสำเร็จ" ในแง่ธุรกิจของบิล ปี 1991 เขาสามารถนำทั้งบริษัท ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น, เดอะ พิซซ่า และรอยัลการ์เด้น รีซอร์ทเข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์พร้อมกัน

ว่ากันว่าปีนั้น บิลได้เม็ดเงินเข้ากลุ่มบริษัทไมเนอร์ โฮลดิ้ง อย่างมาก ถือเป็นยุคที่สาม ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของบิลภายใต้อาณาจักรไมเนอร์ โฮลดิ้ง

"การทำธุรกิจก็เหมือนกับการพนัน ที่ต้องใช้เงิน ถ้าไม่รู้จักวิธีเสี่ยงพนัน เพื่อให้เป็นผู้ชนะ และตัดทอนในส่วน ที่คุณพ่ายแพ้ คุณจะหมดเงิน และพ่ายแพ้ในที่สุด จึงต้องมั่นใจเสมอว่าคุณมีเงินอยู่ในมือ" บิลกล่าว

ปี 1992 เป็นการลงทุนอย่างครบวงจร เมื่อเปิดทั้งโรงแรมแมริออท รอยัลการ์เด้น ริเวอร์ไซด์, รอยัลการ์เด้น รีซอร์ทแห่งใหม่ ที่พัทยา, ร่วมลงทุนกับบริษัท สยามพาร์ ในการนำเครื่องสำอางประเภทน้ำหอม และคอสเมติกส์ยี่ห้อลังโคมเข้ามาจำหน่าย และเปิดร้านอาหารซิซซ์เลอร์เป็นแห่งแรก ถัดมาอีกปีเปิดโรงงานผลิตเนยแข็ง เพื่อป้อนให้กับพิซซ่า ฮัท และผลิตไอศกรีมให้ สเวนเซ่นส์

จากภาวะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่เริ่มมาตลอดช่วงปี 1987 ส่งผลให้ธุรกิจทุกแขนงของไมเนอร์ โฮลดิ้ง ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ถือเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นว่าบิลมีโอกาสรุกคืบเข้าสู่ธุรกิจต่างๆ ได้อย่างดี

ด้านธุรกิจการค้า ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น กลุ่มธุรกิจ ที่มีความหลากหลาย ทั้งผลิต ค้าปลีก และค้าส่งผลิตภัณฑ์ชั้นนำของโลก อาทิ เครื่องเขียน She-affer อุปกรณ์กีฬายี่ห้อต่างๆ เครื่องสำอาง Red Earth เสื้อผ้าแฟชั่น

ความก้าวหน้าของบริษัทการค้าเหล่านี้จะอยู่กับความพยายามสรรหาสินค้า ที่เป็นที่รู้จักกันดีเข้ามาสนองลูกค้าเสมอ แนวทางเลือกเป็นผู้จำหน่าย จะต้องมีคุณภาพ และอยู่ในระดับพรีเมียมเท่านั้น ส่วนสินค้าระดับต่ำกว่าจะไม่ยุ่งเพราะการแข่งขันสูงทำให้กำไรได้รับไม่ดีเท่า ที่ควรอีกทั้งไม่เชี่ยวชาญในการวางตลาดสินค้า ที่เป็น mass product

ที่ผ่านมาธุรกิจสายดังกล่าวมีแนวทางเดินในลักษณะ ที่นำสินค้าเข้ามาโดยไม่อิงกับสินค้าหรือยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง เพราะเชื่อว่าสินค้าทุกตัวมีขึ้นก็ต้องมีลง ถ้าไปผูกติดกับสินค้าใดสินค้าหนึ่งแล้วจะเกิดปัญหาเมื่อตลาดนั้น ซบเซา การลงทุนจึงค่อนข้างหลากหลาย เข้าทำนอง "เมื่อมีตัวตายย่อมมีตัวแทน" ไปเรื่อยๆ

จุดสำคัญอีกอย่างที่ทำให้อาณาจักรบิลขยายตัวรวดเร็วคือ การสร้างธุรกิจโดย "วิธีลัด" ซึ่งเขาไม่เคยกลัวจะเรียนรู้จากคนที่รู้มากกว่า "ผมไม่เคยมีแผนให้ไมเนอร์ โฮลดิ้ง ก่ออิฐแต่ละแผ่นไปเรื่อยๆ ไม่ได้ดูว่าจะต้องเป็นอย่างไร แต่ขอให้ก่อจากแนวนี้ไปเรื่อยๆ พอเงยหน้าขึ้นมาก็พบว่าปัจจุบันมีพนักงานหลายพันคนแล้ว" บิล กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

กรณีดังกล่าวใช้ได้ดีกับธุรกิจโรงแรม โดยการดึงคนของโรงแรมแมริออท เข้ามาช่วยในการบริหารงาน ช่วยให้ผู้ว่าจ้างเรียนรู้งานได้ และสามารถ เข้าถึงเครือข่ายลูกค้าของแมริออทได้

"ถ้าคนอื่นทำได้จะไปทำทำไม ต้องเรียนรู้จากเขา" บิล ย้ำ

ประสบการณ์ล่าสุดเมื่อปี 1999 บิลเข้าร่วมสร้างประวัติศาสตร์วงการธุรกิจโรงแรมเมื่อร่วมซื้อหุ้นโรงแรมรีเจนท์ กรุงเทพฯ ลักษณะแบบไม่เป็นมิตร (Hostile Takeover) และได้ครอบครองหุ้นจำนวน 24.74%

ความสำเร็จของไมเนอร์ โฮลดิ้งเกิดขึ้นจากความสมดุลของบุคลิกภายในองค์กร คือ ทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำกัน แต่มองเห็นว่าธุรกิจไหนมีโอกาสเติบโต เช่น การเปิดตัวโรงแรมรีเจนท์ ที่เชียงใหม่, รอยัลการ์เด้น รีซอร์ท พลาซ่า ที่พัทยา นำผลิตภัณฑ์ Sheaffer เข้ามาจำหน่าย ที่ฮือฮากันมาก คือ เปิดพิพิธภัณฑ์จำลองของ ที่หาดูยากทั่วโลก "Ripleys Museum" ที่พัทยา อีกทั้งยังจำหน่ายเครื่องบินเล็กนาม Piper Aircraft

ยุทธศาสตร์อีกอย่างของบิล คือ ไม่นิยมคอนเซ็ปต์ "มาก่อนย่อมได้เปรียบ" แต่คำนึงถึงความพร้อม วิธีนี้ใช้ได้ดีกับธุรกิจฟาสต์ฟูด ที่ได้สร้างรูปแบบของตนขึ้นมา อาทิ การเปิดร้านแดรี่ ควีน ในปี 1996 แม้กระทั่งการออกไปเปิดบริการโรงแรม Haipong ที่เวียดนาม และ Ripleyžs Museum ในฮ่องกงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียจะระเบิดขึ้นในไม่ช้า

ใช่ว่าการดำเนินธุรกิจทั้งหมดของบิลจะประสบความสำเร็จ และข่าวดีอย่างเดียว ปี 1994 เขาต้องสูญเสีย เพื่อนสนิท "สุวิทย์ หวั่งหลี" ประธานแมริออท รอยัลการ์เด้น ริเวอร์ไซด์ ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินส่วนตัวตก

จากวันที่รับจ้างทำความสะอาด และรักษาความปลอดภัยจนถึงเหตุการณ์ วันที่ 2 กรกฎาคม 1997 ในรอบ 3 ทศวรรษ ที่บิลสร้างธุรกิจขึ้นมา คือ อันตรายจากความตกต่ำ นั่นคือ วันที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั่วเอเชีย ค่าเงินบาทตกฮวบฮาบ อัตราดอกเบี้ยพุ่งทะยาน อาณาจักรไมเนอร์ โฮลดิ้ง สั่นคลอน และความยิ่งใหญ่กำลังสูญสิ้น

ในปีนั้น เดอะ พิซซ่า มีกำไรสุทธิเพียง 81.8 ล้านบาท ลดลงจากปี 1996 ถึง 58.5% ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น ขาดทุนสุทธิ 76 ล้านบาท จาก ที่เคยมีกำไรในปีก่อน 65 ล้านบาท ส่วนรอยัลการ์เด้น รีสอร์ท ขาดทุนสุทธิ 226.3 ล้านบาท ขณะที่ปี 1996 มีกำไร 83.6 ล้านบาท

อย่างไรก็ดีอาณาจักรของบิลรอดพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จากรายงานผลประกอบการปี 1998 กำไรสุทธิทุก 3 กลุ่มธุรกิจ โดยเดอะ พิซซ่า มีกำไร 180.4 ล้านบาท ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น 103.5 ล้านบาท และรอยัลการ์เด้น รีซอร์ท 227.6 ล้านบาท

มีบางอย่างที่ทำให้บิลเริ่มหยุดเดินก่อนวิกฤติเศรษฐกิจก่อตัวขึ้น เหมือนกับเห็นเหตุการณ์ลางๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

"สิ่งที่คาดไม่ถึงกำลังจะเกิดขึ้น เขาเรียกผู้บริหารทั้ง 3 บริษัท ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้าประชุม และประกาศว่า เรากำลังอยู่ในภาวะยุ่งยาก เป็นลางบอกใบ้จากผู้นำที่ดี" ผู้บริหารระดับสูงในไมเนอร์ โฮลดิ้ง เปิดเผย

วิธีการบริหารจึงอยู่รอด และเติบใหญ่ ซึ่งสไตล์ของบิลคือ ความยืดหยุ่น "การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา สิ่งต่างๆ ไม่ได้เป็นไปตามคาดบางทีพูดได้ว่าต้องใช้ความอดทนมากขึ้นสำหรับประเทศอย่างไทย" บิลกล่าว (Asian Business, December 1999)

ท่ามกลางสภาวะเศรษฐถดถอย บิลไม่กลัว "เสียหน้า" ธุรกิจไหนขาด ทุน และไม่มีอนาคตเขาจะตัดขายทันที อย่างกรณีการจำหน่ายส่วนของการลงทุน ในสยามพาร์, เคเทอริ่ง แอสโซซิเอตส์ และหยุดการดำเนินงานแผนกเคมี และไมเนอร์ แฟชั่น

ขณะเดียวกันเมื่อเห็นว่าธุรกิจไหนน่าลงทุนจะเข้าไปลงทุน เช่น เข้าซื้อกิจการของบริษัท มาร์เก็ทติ้ง มีเดีย แอสโซซิเอตส์ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายหนังสือ และผลิตภัณฑ์ ไทม์ไลฟ ในประเทศไทย และร่วมลงทุนในบริษัท ไดเร็ค มีเดีย กรุ๊ป จำกัด ประกอบธุรกิจขายตรงผ่านอินเตอร์เน็ต

"บทเรียน ที่ยิ่งใหญ่ในวิกฤติครั้งนี้ คือ ต้องมีเงิน อย่าให้หมดเพราะนั่นหมายถึงทุกอย่างจบ อย่าลงทุนเกินตัว กู้สั้นแต่ลงทุนระยะยาว การลงทุน ที่ไม่สัมพันธ์แบบนี้ทำให้เกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ ถ้าพูดตรงไปตรงมาว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากคนขาดความระแวดระวัง" บิลกล่าว (Asian Business)

ยุทธศาสตร์อีกอย่างสำหรับไมเนอร์ โฮลดิ้ง ช่วงสถานการณ์ลำบาก คือ การเปลี่ยนจากกู้เงินสกุลต่างประเทศมาเป็นออกพันธบัตร "ทั้ง RGR และ PIZZA ทำให้ตอนนี้เงินกู้จากการปรับโครงสร้างหนี้ส่วนใหญ่เป็นรูปเงินบาทขณะที่เรามีรายได้จากโรงแรมเป็นรูปดอลลาร์"

ประสบการณ์ครั้งล่าสุด ที่ทำให้เขาเจ็บปวดพอสมควร เมื่อบริษัท ไทรคอน โคลบอล เรสตัวรองท์ส เจ้าของแฟรนไชส์ พิซซ่า ฮัท ไม่ต่อสัญญาลิขสิทธิ์ฟาสต์ฟูดชื่อดังให้กับบิลต่อไป ซึ่งมันเป็นบทเรียนบทเดิม ที่เกิดขึ้นกับ "ผู้บุกเบิกตลาดใหม่" กับเจ้าของสินค้า

ในแง่ความเป็นมืออาชีพ บิลเป็นคนแรกๆ ที่ยอมรับว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้สัมผัสไม่ได้ผันเป็นเงินทั้งหมด ความล้มเหลวได้สอนให้เขารู้ว่าเขาไม่สามารถชนะตลอดเวลาได้ และทักษะอีกประการ คือ ทำอย่างไรจะชกอย่างชาญฉลาดเมื่อขึ้นบนสังเวียนแล้วเจอกับคู่แข่ง ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

จากความฝันว่าถ้าทำธุรกิจแล้วต้องดี และมีกำไรให้ได้ ดังนั้น ทำอย่างไร จึงจะให้เกิดสิ่งนั้น ได้ และเริ่มจากตรงนั้น บิลไม่ได้คิดว่าจะต้องทำให้ใหญ่ที่สุด "ยุทธศาสตร์ คือ ต้องดี และมีกำไรไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม หลังจากนั้น ถ้าไมเนอร์ โฮลดิ้ง ใหญ่ที่สุดก็ช่วยไม่ได้" บิล กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

วิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย และสถานการณ์ต่างๆ ได้พิสูจน์ว่าบิลสามารถ ที่จะกระเตื้องขึ้นจากการสูญเสียได้อย่างรวดเร็ว ในแง่ความเป็นส่วนตัวบิลยังคงใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ และมีความสุขกับการแข่งรถ ดำน้ำ และขับเครื่องบิน

สำหรับโครงการในอนาคตสิ่งที่บิลจะทำคงจะให้น้ำหนักกับธุรกิจ ที่เขารู้จักดี และระมัดระวังมากขึ้น

เหมือนกับรถบัส เดี๋ยวก็มีมาอีกคันหนึ่งในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us