ธปท.เผยปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมผ่านบัตรเครดิตในไตรมาส 3 มีจำนวนทั้งสิ้น 6.4 หมื่นล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 100 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนลดลงถึง 5,557 ล้านบาท เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ประชาชน-ผู้ประกอบการบัตรเครดิตระมัดระวังมากขึ้น
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงินได้ประกาศยอดคงค้างบัตรเครดิตแยกตามประเภทบัตรเครดิตล่าสุด ณ สิ้นเดือนกันยายน หรือไตรมาส 3 ของปีนี้ พบว่า ปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมผ่านบัตรเครดิตลดลงอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้ประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น โดยในระบบปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมทั้งสิ้น 64,355 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 100 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.16% และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนลดลง 5,557 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.95%
ทั้งนี้ปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมดังกล่าวแบ่งเป็นปริมาณการใช้จ่ายในประเทศจำนวน 46,466 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 277 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนลดลงถึง 3,928 ล้านบาท ส่วนปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศในเดือนก.ย.หรือไตรมาส 3 ของปีนี้มีจำนวน 2,479 ล้านบาท ลดลง 19 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนกลับเพิ่มขึ้น 42 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากค่าเงินบาทแข็งค่า ทำให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยในต่างประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ยอดการเบิกเงินสดล่วงหน้ามีจำนวน 15,410 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 359 ล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนลดลง 1,671 ล้านบาท
ส่วนยอดสินเชื่อคงค้างมีจำนวนทั้งสิ้น 170,419 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 1,402 ล้านบาท คิดเป็น 0.83% และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนเพิ่มขึ้น 1,656 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.98% ทั้งนี้ยอดสินเชื่อคงค้างดังกล่าวเกิดจากธนาคารพาณิชย์จำนวน 57,403 ล้านบาท สาขาธนาคารต่างประเทศ 34,768 ล้านบาท และบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) 78,248 ล้านบาท
ขณะที่ปริมาณบัตรเครดิตในระบบมีจำนวน 11,562,158 บัตร เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 307,571 บัตร และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 166,131 บัตร แบ่งเป็นบัตรที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์จำนวน 4,581,726 บัตร สาขาธนาคารต่างประเทศ 1,280,226 บัตร และนอนแบงก์อีก 5,700,206 บัตร
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งจากราคาสินค้า ราคาน้ำมัน ส่งผลให้กำลังซื้อและความเชื่อมันในการบริโภคของประชาชนลดลง ขณะที่ผู้ถือบัตรเครดิตบางส่วนที่มีการใช้สินเชื่อบัตรเครดิตจนเต็มวงเงินแล้ว ทำให้ไม่สามารถใช้จ่ายหรือกดเงินสดล่วงหน้าจากบัตรเครดิตได้อีก จึงได้ไม่มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมากนัก
ด้านผู้ประกอบการที่ให้บริการบัตรเครดิตเองก็เริ่มมีความระมัดระวังในการเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้แก่ลูกค้าบัตรเครดิตมากขึ้น หลังจากในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 ยอดการผิดนัดชำระหนี้และหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) เริ่มเพิ่มขึ้น จึงได้มีคำสั่งการพิจารณาการเพิ่มวงเงินบัตรเครดิตของลูกค้าให้รอบคอบเป็นพิเศษ ซึ่งหากไม่มีประวัติที่ดีจริงๆ ก็จะไม่มีการเพิ่มวงเงินการใช้จ่ายให้
ทั้งนี้ ยอดหนี้เอ็นพีแอลของสินเชื่ออุปโภคบริโภค ซึ่งรวมสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปีนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 64,924 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13.79%ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคทั้งหมด แต่หากเทียบสินเชื่อรวมทุกประเภท หนี้เอ็นพีแอลของสินเชื่ออุปโภคบริโภคคิดเป็น 4.94%ของสินเชื่อรวม
|