|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
กลุ่ม “ซี.พี.” เตรียมรุกตลาดรถยนต์ไทย ประกาศจับมือ “วิทิต ลีนุตพงษ์” ร่วมทุนบริษัทรถยักษ์ใหญ่ของจีน “เชอรี่ ออโตโมทีฟ” ขายและประกอบรถยี่ห้อ “เชอรี่” ในไทย คาดต้นปีหน้าเริ่มนำเข้ารถทดลองตลาด ก่อนจะขึ้นไลน์ประกอบ เผยจีนสนใจใช้ไทยเป็นฐานผลิตปิกอัพส่งออกด้วย ขณะที่ธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ในจีนขยายลงทุนต่อเนื่อง เช่นเดียวกับห้างสรรพสินค้าซูเปอร์แบรนด์มอลล์ คาดจะถึงจุดคุ้มทุนภายในปีหน้า และภายใน 3 ปี เข้าตลาดหลักทรัพย์ระดมทุน เดินหน้าสร้างศูนย์การค้าและเมืองใหม่ เล็งผุดในมณฑลภาคกลางของจีน
นายธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์, ประธานกรรมการ และประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรมทั่วไป เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ของซี.พี. ในจีน มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งตลาดในประเทศจีนและส่งออกต่างประเทศ และในเร็วๆ นี้ก็มีแผนที่จะกลับเข้ามาดำเนินธุรกิจยานยนต์ในไทยเช่นกัน
“เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ซี.พี.ได้ประกาศ ภายในสิ้นปีนี้จะขายรถยนต์จีนยี่ห้อเชอรี่ในไทย ซึ่งขณะนี้คงต้องเลื่อนแผนออกไปอีกเล็กน้อย เพราะเราได้ตัดสินใจแล้วว่า ซี.พี.จะไม่เป็นดิสทริบิวเตอร์ หรือผู้แทนจำหน่ายฝ่ายเดียว แต่หากจะทำตลาดรถเชอรี่ในไทย ทางเชอรี่ ออโตโมทีฟ คอร์ปอเรชั่น จะต้องเข้ามาร่วมลงทุนด้วย และจากการเจรจาได้ข้อสรุปแล้วจะเป็นการร่วมทุนกัน โดยฝ่ายไทยนอกจากซี.พี.ยังได้ดึง คุณวิทิต ลีนุตพงษ์ เข้าร่วมลงทุนด้วย”
สาเหตุที่ซี.พี.ยื่นเงื่อนไขทางเชอรี่ฯ จะต้องเข้ามาร่วมลงทุน เพราะยานยนต์ในไทยเป็นธุรกิจที่มีความเฉพาะตัว การดำเนินงานต่างๆ จะต้องได้รับการสนับสนุน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งทางเชอรี่ฯ ก็เข้าใจ และเชื่อมั่นในซี.พี. หรือเจียไต๋ โดยภายในสิ้นเดือนนี้ประธานของทางเชอรี่ฯ จะเดินทางมาไทย เพื่อดูรายละเอียดต่างๆ จากนั้นน่าจะประกาศแผนการลงทุนได้
นายธนากรกล่าวว่า ส่วนคุณวิทิตพันธมิตรฝ่ายไทยของซี.พี. ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจรถยนต์ในไทย เพราะเป็นผู้บริหารของกลุ่มยนตรกิจ บริษัทจำหน่ายรถยนต์รายใหญ่ของไทย ซึ่งเป็นของตระกูลลีนุตพงษ์ แต่การเข้ามาร่วมขายรถยนต์เชอรี่ จะไม่ใช่มาในนามกลุ่มยนตรกิจ แต่จะเป็นการเข้ามาเฉพาะคุณวิทิต หรืออาจจะมีบุคคลอื่นในตระกูลลีนุตพงษ์เข้ามาร่วมด้วย
“หากทุกอย่างเรียบร้อยคาดว่า ต้นปีหน้าจะสามารถเริ่มนำรถยนต์เชอรี่ รุ่นคิวคิว (QQ) ซึ่งเป็นรถยนต์นั่งขนาดเล็ก จากประเทศอินโดนีเซียเข้ามาทดลองทำตลาดก่อน ราคาน่าจะอยู่ประมาณ 3 แสนบาท ส่วนการประกอบอาจจะเริ่มไปพร้อมๆ หรืออาจจะเป็นสเต็ปต่อไป ขึ้นอยู่กับข้อตกลง และขณะนี้มองไว้ที่รุ่นคิวคิว และรถเอสยูวีรุ่นทิกโก้ (Tiggo) รวมถึงรถรุ่นสเตชั่นแวกอน โดยทั้งหมดราคาประมาณ 7-8 แสนบาท หรือมีราคาไม่เกินล้านบาท และเป็นที่น่ายินดีว่าทางเชอรี่ฯ ยังต้องการที่จะเพิ่มไลน์ผลิตรถปิกอัพในไทย เพื่อส่งออกไปยังประเทศที่สาม เพราะเห็นว่าไทยมีศักยภาพในการผลิตปิกอัพ ทั้งนี้จากแผนงานดังกล่าวคงจะมีต้องลงทุนเป็นมูลค่ามากกว่าพันล้านบาทแน่นอน”
ส่วนการประกอบรถยนต์เชอรี่ในไทย จะไม่ซ้ำซ้อนกับโรงงานประกอบที่อินโดนีเซีย เพราะเชอรี่ฯ มองตลาดในภูมิภาคอาเซียนไว้ 2 กลุ่ม ได้แก่ อาเซียนตอนบนที่มีประเทศ พม่า ไทย ลาว เขมร และเวียดนาม ขณะที่อีกกลุ่มเป็นประเทศอาเซียนกลุ่มล่าง ประกอบไปด้วยมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ซึ่งนอกจากตลาดจะไม่ซ้ำซ้อนกันแล้ว ยังสามารถแลกเปลี่ยนรถยนต์กันได้ ในกรณีที่ประกอบรุ่นไม่เหมือนกัน
นายธนากรกล่าวว่า ในส่วนของการลงทุนอื่นๆ ในหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์ ล่าสุดบริษัทเพิ่งเปิดโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์แห่งที่ 3 ที่เมืองกวางโจว มูลค่าการลงทุนเกือบ 2 พันล้านบาท นอกจากสองโรงงานแห่งแรกที่เมืองกวางโจว และโลวหยาง ทำให้กำลังการผลิตรถจักรยานยนต์ของซี.พี.ในจีนปัจจุบันเพิ่มเป็นกว่า 2 ล้านคัน โดยปัจจุบันมียอดขาย 1.2 ล้านคัน
“เราคาดว่าภายใน 3-4 ปี รถจักรยานยนต์ของซี.พี.ในจีนยี่ห้อต้าหยาง และต้าหยุน จะมียอดขายเป็น 3 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันนอกจากทำตลาดในจีนแล้ว ยังได้มีการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 30% ของการผลิต โดยได้ส่งออกไปยังตลาดในประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ พม่า บังคลาเทศ ปากีสถาน แลอาฟริกาใต้”
ในส่วนของประเทศไทยซี.พี.มีความตั้งใจจะขยายมาแน่นอน แต่ปัจจุบันรถจักรยานยนต์ญี่ปุ่นมีความแข็งแกร่งมาก และที่สำคัญไทยเป็นตลาดประกอบภายในประเทศ จากการมีเรื่องโลคัลคอนเทนต์ หรือชิ้นส่วนประกอบในประเทศบังคับอยู่ ซึ่งหากไทยเปิดเสรีซี.พี. ก็พร้อมที่จะทำตลาดแน่นอน เพราะหากมียอดขายปีละ 2-3 หมื่นคัน คงไม่มีซัพพลายเออร์ที่จะผลิตชิ้นส่วนให้แน่นอน
สำหรับธุรกิจยานยนต์ของซี.พี.ในจีนอีกอย่าง คือการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถจักรกลหนักยี่ห้อแคตเทอพิลลา ซึ่งขณะนี้ซี.พี.ได้สิทธิขยายพื้นที่ดูแลครอบคลุม 9 มณฑลของจีน ฉะนั้นจึงจำเป็นจะต้องขยายสำนักงานเพื่อดูแลตลาด จากเดิมจะมีสำนักงานใหญ่ที่คุณหมิงแห่งเดียว แต่จะเพิ่มสำนักงานใหญ่อีกแห่งที่เมืองเฉินตู และสำนักงานสาขาครอบคลุมอีก 4 มณฑล ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีกำไรมาต่อเนื่อง มูลค่าปีละประมาณ 300 ล้านบาท
นายธนากรกล่าวอีกว่า สำหรับโครงการห้างสรรพสินค้าซูเปอร์แบรนด์มอลล์ ในนครเซียงไฮ้ ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ที่สุดของซี.พี.ในจีน มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 490 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าในปีหน้าจะสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้ ทั้งนี้คาดว่าหลังจากนั้นจะเริ่มมีกำไรปีละไม่ต่ำกว่า 20-30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจุบันมีลูกค้าเข้าห้างเฉลี่ยวันละกว่าแสนราย และมีแบรนด์เนมและร้านค้าเช่าเต็มพื้นที่แล้ว ในขณะที่ยังมีร้านค้าสนใจรอเข้าใช้พื้นที่ห้างมากกว่า 300 ราย
“ปัจจุบันมีห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในจีน ติดต่อให้เราไปบริหารงาน ซึ่งเป็นสิ่งน่าสนใจเพราะเรามีความพร้อมอยู่แล้ว และซี.พี.ตั้งเป้าไว้ว่าจะภายใน 3 ปี จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จีน เพื่อระดมทุนในการเพิ่มห้างสรรพสินค้าและตั้งเมืองใหม่ในจีน โดยทำเลที่พิจารณาอยู่ในเขตมณฑลภาคกลางของประเทศจีน ที่กำลังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงขึ้นเรื่อยๆ”นายธนากรกล่าว
|
|
 |
|
|