ปีหน้า...จะมีมิติใหม่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมไทย...!
ไพจิตร เอื้อทวีกุล ประธานคณะอนุกรรมการนโยบายพลังงาน กล่าวถึงทิศทางการพัฒนาธุรกิจน้ำมันของไทยเมื่อวันที่
30 ตุลาคมศกนี้ว่า พ.ร.บ.อนุรักษ์พลังงานคงจะนำมาประกาศใช้ได้ในปี 2535
พร้อมกันนี้ จะตั้ง "กองทุนอนุรักษ์พลังงาน" ด้วยวงเงินเริ่มต้นไม่น้อยกว่า
1,000 ล้านบาทจากกองทุนน้ำมัน เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และจูงใจให้ประหยัดการใช้เชื้อเพลิงทุกรูปแบบ
ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีเครื่องจักร ช่วยในการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่มุ่งประหยัดพลังงานเป็นพิเศษ
เพราะที่ผ่านมา การขยายตัวทางอุตสาหกรรมที่เป็นไปอย่างรวดเร็วไม่น้อยกว่า
10% ต่อปี และยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์สูงตลอดช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ฉบับที่ 7 (ปี 2535-2539) ทำให้ต้องเพิ่มการใช้พลังงานมากขึ้นจนละเลยการประหยัดไป
จะเห็นว่า ตัวเลขการนำเข้าสินค้าจะเป็นน้ำมันเสียส่วนใหญ่ ในปี 2533 มูลค่านำเข้าน้ำมันสูงกว่า
60,000 ล้านบาท และแนวโน้มการใช้น้ำมันจะเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านลิตรต่อปี
สาเหตุสำคัญเนื่องจากยังไม่มีการใช้น้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ
ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงผลักดัน พ.ร.บ.อนุรักษ์ฯ ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
เพื่อนำหนุนให้เกิดการปฏิบัติจริงในการประหยัดพลังงาน
พ.ร.บ.นี้ ได้กำหนดให้โรงงานทุกแห่งต้องมีเจ้าหน้าที่ควบคุมการใช้เชื้อเพลิงและต้องเป็นวิศวกรที่มีประสบการณ์ในโรงงานอย่างน้อย
3 ปี ซึ่งจะมีหน้าที่เก็บข้อมูลการผลิต รายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้
และเสนอแผนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรายงานต่อกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน
กระทรวงวิทย์ฯ โดยในภาคปฏิบัติจะมีศูนย์อนุรักษ์พลังงานเป็นผู้ดำเนินการ
เพื่อดูว่าแต่ละโรงงานใช้พลังงานกันอย่างไร
แต่ละโรงงานจะถูกกำหนดให้ปรับปรุงประสิทธิภาพการเผาไหม้เชื้อเพลิง ให้ลดการสูญเสีย
และหมุนเวียนพลังงานกลับมาใช้ใหม่ ตลอดจนให้ประหยัดเป็นพิเศษในช่วง PEAK
TIME คือ ช่วงเวลา 18.30 น. ถึง 21.30 น.
สำหรับตัวเครื่องจักรอุปกรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุรักษ์ฯ จะส่งเสริมทั้งผู้ใช้และผู้ผลิต
โรงงานใดที่เปลี่ยนอุปกรณ์จากไม่ประหยัดมาเป็นประหยัดพลังงานตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
นอกจากกระทรวงวิทย์ฯ จะลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์ให้ 7-10% ตามข้อกำหนดเดิมแล้ว
หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องยังจะช่วยสนับสนุนอีกทางหนึ่ง คือ โรงงานนั้นขอกู้เงินจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมฯ
หรือธนาคารต่าง ๆ เพื่อซื้ออุปกรณ์และวัสดุที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ได้อีกต่างหาก
ขณะเดียวกัน จะพิจารณาลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้ไม่เกิน 10% ของเงินลงทุนเป็นเวลา
5 ปีสำหรับโครงการลงทุนเหล่านี้ พร้อมทั้งให้เงินอุดหนุนโรงงานผู้ใช้และผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ที่เน้นการประหยัดพลังงาน
เมื่อมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุน พ.ร.บ. ยังได้กำหนดมาตรการลงโทษผู้ฝ่าฝืนโรงงานที่ไม่ทำตามกฎหมาย
จะถูกปรับตั้งแต่ 10,000 บาทถึง 50,000 บาท
ส่วนการประหยัดตามอาคารนั้น จะออกพระราชกฤษฎีกาคุมอาคาร ซึ่งจะกำหนดประเภท
ขนาด และปริมาณการใช้พลังงาน ตั้งแต่การออกแบบอาคารที่จะมุ่งใช้สร้างด้วยวัสดุที่จะช่วยประหยัดพลังงานสำหรับภายในตัวอาคาร
การใช้พลังงานไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศและทำความร้อน จะกำหนดมาตรฐานใหม่
เริ่มจากเครื่องปรับอากาศ จะให้ติดตั้งเทอร์โมสแตท ช่วยคุมการทำงานของเครื่อง
เพราะการตั้งอุณหภูมิของเครื่องที่ต่ำเกินไปทำให้เปลืองไฟฟ้า จากข้อมูลของศูนย์อนุรักษ์ฯ
พบว่า อุณหภูมิที่ตั้งต่ำลงทุกหนึ่งองศาเซ็นติเกรด ทำให้ต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มอีก
7%
โดยเฉพาะทางภาคราชการจะเจอปัญหานี้มากกว่าเอกชน เพราะจะใช้เครื่องปรับอากาศซึ่งมีอายุนับ
10 ปีขึ้นไป ซึ่งควรจะเปลี่ยนมาใช้เครื่องใหม่ จะทำให้ช่วยประหยัดได้มากกว่าหรืออย่างตอนเที่ยง
ถ้าปิดแอร์หนึ่งชั่วโมงก็จะช่วยประหยัดได้อีกหลายสิบเปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติซึ่งมี อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่งกำลังจัดตั้งสำนักงาน
DSM (DEMAND SIGN MANAGEMENT) ประกอบด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.)
การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
สำนักงานนี้จะมุ่งเน้นการใช้ไฟฟ้าของทุกกลุ่มให้ได้ประสิทธิภาพโดยเฉพาะ
จะมีโครงการแนะนำสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมก็คือ หนุนให้เปลี่ยนใช้มอเตอร์ใหม่ที่ช่วยประหยัดไฟแทนของเก่า
รวมถึงการให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ผลิตมอเตอร์ชนิดประหยัดไฟ
การประเดิมที่มอเตอร์ก่อน เนื่องจากตอนนี้มีมอเตอร์ที่ใช้อยู่กว่าล้านตัวทั่วประเทศ
ซึ่งโรงงานจะใช้ไฟเดินมอเตอร์ เพื่อใช้ขับปั๊ม พัดลม สายพานลำเลียง หรือคอมเพรสเซอร์ถึง
75%
แผนปฏิบัตินี้เป็นแผนระยะสั้นมีกำหนดเวลา 3 ปี จะใช้เงินประมาณ 700 กว่าล้านบาท
ซึ่งจะลดการใช้ไฟได้ร่วม 140 ล้านหน่วย และประหยัดเงินโดยไม่ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าอีกประมาณ
1,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากการศึกษาของ กฟผ. พบว่า ถ้าประชาชนใช้ไฟน้อยลง 1 กิโลวัตต์ จะประหยัดการลงทุนไปได้
40,000 บาท ทางสำนักงานนโยบายพลังงานแห่งชาติจึงกำหนดให้สำนักงาน DSM เป็นผู้กำหนดวิธีในการประหยัดไฟฟ้ารูปแบบต่าง
ๆ
นี่ยังไม่รวมไปถึงโครงการเปลี่ยนหลอดไฟใหม่ โดยจะสนับสนุนให้ใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์แบบประหยัด
หรือกำหนดให้ตึกที่จะสร้างใหม่ใช้กระจกหน้าต่างแบบสะท้อนแสง
พ.ร.บ.อนุรักษ์ซึ่งกำหนดจะใช้ในปี 2535 นับเป็นกฎหมายที่ช่วยให้โรงงานใช้พลังงานอย่างประหยัดได้สิทธิประโยชน์และลดต้นทุนไปในตัว
ส่วนใครที่ยังคงใช้พลังงานแบบสบาย ๆ ตามความเคยชินอย่างแต่ก่อน นอกจากจะต้องเพิ่มต้นทุนในการผลิตแล้ว
ยังกลายเป็นคนล้าสมัย และผิดกฎหมาย
ทิศทางใหม่ที่เป็นจริงของการประหยัดพลังงานจะเริ่มต้นพร้อม ๆ กับการยกระดับของสำนักงานพลังงานแห่งชาติ
(พช.) ขึ้นเป็นกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ซึ่งจะเป็นหน่วยงานสำคัญในการรณรงค์และฝึกอบรมแก่โรงงานร่วมแสนแห่งทั่วประเทศ
เพื่อก้าวไปสู่การประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง
ขณะที่ "ประเทศ สูตะบุตร" รองเลขาธิการ พช. เพิ่งจะก้าวขึ้นเป็นเลขาธิการแทนประพัทธ์
เปรมมณี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมศกนี้
ประเทศซึ่งเป็นวิศวกรลูกหม้อเก่าแก่ของ พช. จะเริ่มต้นตำแหน่งใหม่พร้อมกับสถานะของหน่วยงานที่สูงขึ้น
และฝันใหม่กับเส้นทางการประหยัดพลังงานทุกรูปแบบที่จะเป็นรูปเป็นร่างและเป็นจริงเสียที
โรงงานที่พัฒนาตัวเองตลอดเวลาก็ถือว่าได้โชคจาก พ.ร.บ.นี้ไป และอุตสาหกรรมไทยจะได้ยกระดับไปสู่มาตรฐานการผลิตที่ดีขึ้น
ส่วนใครที่ยิ่งใช้พลังงานมากก็ยิ่งต้องจ่ายแพง...!