ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงระนาวหลังตลาดหุ้นจีนโดยขายทิ้งทำกำไรอย่างหนัก ด้านดาวโจนส์ทรุดรับข่าวธนาคารสหรัฐฯ เตือนไตรมาส4/50 ส่อขาดทุนเพิ่มจากพิษซับไพรม์ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยรูดต่อ 13 จุดฝรั่งขายเพิ่ม 4.5 พันล้านบาท "ปกรณ์" ชี้ราคาน้ำมันพุ่งเพราะนักลงทุนแห่งเก็งกำไร โบรกฯ เตือนเงินนอกจ่อขายเพิ่ม ด้านค่าเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 3 เดือน
ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์วานนี้ (12 พ.ย.) ดัชนีปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงตามตลาดหุ้นต่างประเทศ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยโดนแรงกระหน่ำขายหุ้นในกลุ่มพลังงานออกมา หลังผลการดำเนินงานไตรมาส3/50 ไม่ดีเหมือนราคาหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์จนส่งผลทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงมาปิดที่ 861.93 จุด ลดลง 12.71 จุด หรือ 1.45% โดยจุดสูงสุดของวันอยู่ที่ 865.64 จุดและจุดต่ำสุดอยู่ที่ 856.64 จุด มูลค่าการซื้อขายเพียง 16,341.77 ล้านบาท
นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 4,541.81 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 451.32 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 4,090.49 ล้านบาท ขณะที่ตั้งแต่ 1 พ.ย.-12 พ.ย.นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิแล้ว 16,855.87 ล้านบาท
นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) กล่าวว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจนใกล้ระดับ 100 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงระยะสั้นๆเท่านั้น โดยสาเหตุหลักมาจากการเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุนที่ค่อนข้างกังวลต่อสถานการณ์ที่กระทบต่อการปรับขึ้นลงของราคาน้ำมัน
ทั้งนี้ ปัจจุบันอุปสงค์และอุปทานของน้ำมัน ถือว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกันมากเมื่อมีเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันก็จะส่งผลต่อราคาหุ้นค่อนข้างเร็ว ประกอบกับช่วงนี้ใกล้ช่วงฤดูหนาวรวมทั้งยังมีความกังวลต่อความไม่สงบในตะวันออกกลางยิ่งส่งผลทำให้เกิดการเข้ามาเก็งกำไรจนราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างที่เป็นอยู่
"ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อตัวเลขเงินเฟ้อ ซึ่งเรื่องดังกล่าวธปท.และคณะกรรมการกนง.ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด"นายปกรณ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาน้ำมันในปัจจุบันที่สูงจะเกิดขึ้นจากการเก็งกำไร แต่การคาดหวังให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 40-50 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเป็นเรื่องที่ยากมาก
โบรกฯเตือนหุ้นส่อรูดต่อ
นายแสงธรรม จรณชัยกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ธนชาต จำกัด กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นต่างประเทศ รวมถึงความกังวลต่อเนื่องจากกรณีที่ตลาดหุ้นดาวโจนส์ปรับตัวลดลงเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัทขนาดใหญ่อย่างปตท.ที่ประกาศออกมาแม้ว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาแต่ถือว่าต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยงวด 9 เดือนกำไรสุทธิลดลงราว 8% จากงวดปีก่อน ในขณะที่ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 75% ซึ่งส่งผลทำให้มีแรงเทขายทำกำไรออกมาอย่างหนักหลังประกาศงบการเงิน
สำหรับการลงทุน ระวังการไหลออกของเงินทุนจากต่างประเทศ จากสาเหตุกลุ่มนักลงทุนเก็งกำไรต้องการป้องกันความเสี่ยงเนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงในขณะที่ค่าเงินเยนแหล่งเงินกู้กลับแข็งค่าขึ้น โดยกรอบความเคลื่อนไหวดัชนีในวันนี้คาดแนวรับที่ 850-857 และแนวต้านที่ 880 จุด
นางสุภากร สุจิรัตนวิมล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.เคทีบี กล่าวว่า ตลาดหุ้นในภูมิภาคส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงประมาณ 2-3% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงประมาณ 1% โดยการปรับตัวลดลงในช่วงนี้เป็นไปตามเทรนการปรับตัวลดลงคล้ายกับตลาดหุ้นในต่างประเทศ โดยหากดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงหลุด 860 จุดก็อาจจะไหลมาบริเวณ 850 จุด แต่หากสามารถรีบาวน์ขึ้นได้ก็จะไปทดสอบดัชนีที่ 870 จุดอีกครั้ง
"ตอนนี้ทุกตลาดเจอแรงขายทำกำไรออกมา เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติต้องการลดสัดส่วนการถือครองสินทรัพย์ให้น้อยลงเพื่อป้องกันความเสี่ยงทำให้เป็นเรื่องยากที่ดัชนีจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้"นางสุภากรกล่าว
หุ้นเอเชียร่วงรับตลาดวอลล์สตรีท
ขณะที่ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย ต่างพากันปรับตัวลดลงกันระนาวตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยดัชนีสเตรทส์ไทม์ สิงคโปร์ ร่วงลง 85.55 จุด หรือ 2.5% ปิดที่ระดับ 3,511.12 จุด มูลค่าการซื้อขาย 2.74 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยดัชนีที่ปรับลงครั้งนี้ส่งผลให้ดัชนีสเตรทส์ไทม์ร่วงลงใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน
ส่วนดัชนีนิกเกอิ ของญี่ปุ่น ปิดที่ 15,197.09 จุด ลดลงจากวันก่อน 386.33 จุด หรือคิดเป็น 2.48%
ดัชนีฮั่งเส็ง ฮ่องกง ปิดที่ 27,665.73 จุด ลดลงจากวันก่อนหน้า 1,117.68 จุด หรือ 3.88% โดยดัชนีหลักขยับลงมากที่สุดในวันเดียวทำสถิติเป็นอันดับที่สองในรอบปีนี้ และทรุดลงมากสุดเป็นอันดับ 7 ในประวัติศาสตร์ อันเป็นผลมาจากตลาดหุ้นวอลล์สตรีทและตลาดหุ้นจีนที่ร่วงลงอย่างหนักจนทำให้เกิดการเทขายทำกำไรทั่วทั้งกระดาน
ด้านความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นดาวโจนส์ เมื่อวันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ปรับตัวลดลง 223.55 จุด หรือคิดเป็น 1.69% ปิดที่ระดับ 13,042.74 จุด ขณะที่ ดัชนีสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ ปิดที่ 1,453.70 จุด ลดลง 21.07 จุด หรือ 1.43% และดัชนีแนสแดค ปิดที่ 2,627.94 จุด ลดลง 68.06 จุด หรือ 2.52% โดยปัจจัยหลักที่เข้ามากระทบตลาดหุ้นวอลล์สตรีท คือ การที่ธนาคารสหรัฐฯ ประกาศเตือนว่า อาจประสบกับภาวะขาดทุนอีกในช่วงไตรมาสที่ 4 จากหนี้เสียที่มีอยู่ในระบบอันเกิดจากผลกระทบจากสินเชื่อด้านอสังหาริมทรัพย์ (ซับไพรม์) แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากหรือน้อยเพียงใด
"ประเด็นดังกล่าวทำให้นักลงทุนกังวลว่าธุรกิจในภาคส่วนอื่นๆ อาจได้รับผลกระทบตามไปด้วย รวมถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่รุนแรงภายในช่วงปลายปีนี้"
บาทแข็งค่าสุดรอบ 3 เดือน
นักบริหารเงินจากธนาคารพาณิชย์เปิดเผยว่า วานนี้ (12 พ.ย.) เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 33.84/86 บาท/ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 33.87/90 บาท/ดอลลาร์ เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าค่อนข้างผันผวน อย่างไรก็ตามเป็นตามสกุลเงินในภูมิภาค โดยอ่อนค่าสุดที่ระดับ 33.85 บาท/ดอลลาร์ และแข็งค่าสุดที่ระดับ 33.80 บาท/ดอลลาร์ คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะเข้ามาแทรกแซงค่าเงินบาทบ้าง
"เช้าวานนี้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนลงต่ำสุดในรอบ 18 เดือนเมื่อเทียบกับเงินเยน โดยเงินเยนเปิดตลาดที่ระดับ 110.23 เยน/ดอลลาร์ เขาระบุถึงความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทในช่วงเช้าของวานนี้ หลังเปิดตลาดค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าต่อเนื่อง โดยขึ้นไปแตะที่ระดับ 33.80บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดในรอบ 3 เดือนเมื่อเทียบกับต้นเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา สวนทางค่าเงินเอเชียที่อ่อนตัว"
ส่วนสกุลเงินต่างประเทศช่วงปิดตลาด เงินเยนแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 110.33/36 เยน/ดอลลาร์ เช่นเดียวกับยูโรที่แข็งค่ามาอยู่ที่ระดับ 1.4596/99 ดอลลาร์/ยูโร ซึ่งเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์จากที่ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในการประชุมวันที่ 11 ธ.ค.นี้ และคาดว่า วันนี้เงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง โดยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 33.80-33.95 บาท/ดอลลาร์
นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรอง ธปท. เปิดเผยถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าสุดในรอบ 3 เดือนว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทยังเป็นปกติ เท่าที่ ธปท.ตรวจสอบค่าเงินบาทแข็งค่าสุดยังเป็นช่วงเดือนก.ค.ที่ผ่านมา แตะที่ระดับ 33.17 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
"ช่วงนี้ที่ค่าเงินบาทแข็งค่ามาก เนื่องจากผู้ส่งออกที่เป็นคนไทยมีการเทขายเงินเยนของญี่ปุ่นมากขึ้นจากการที่ค่าเงินเยนแข็งค่ามาก ทำให้เมื่อแลกเป็นสกุลเงินบาทมีรายได้มากขึ้น"
ส่วนกรณีที่เงินทุนสำรองสุทธิล่าสุดวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมาโดยปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 82,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีฐานะสุทธิสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า 17,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้มีปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิ 100,300 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนถึง 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ นั้น นางผ่องเพ็ญ กล่าวว่า ปริมาณทุนสำรองที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งไม่ได้เกิดจากการซื้อเงินเหรียญสหรัฐ เพื่อดูแลค่าเงินบาทแข็งค่าเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะมูลค่าของสกุลเงินตราต่างๆประเทศอื่นที่ถือไว้ในทุนสำรองมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อตีค่าเป็นเงินเหรียญสหรัฐ
“ทุนสำรองเราไม่ได้ถือเงินเหรียญสหรัฐอย่างเดียว ฉะนั้นสกุลอื่นที่ถืออยู่ก็เพิ่มขึ้นเมื่อตีเป็นเงินเหรียญสหรัฐ เพราะเงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่า แต่เราถือเงินเหรียญสหรัฐในสัดส่วนเท่าไรคงเปิดเผยไม่ได้ แต่ธปท.ได้มีการลดสัดส่วนการถือครองเงินเหรียญสหรัฐในทุนสำรองมาตั้งแต่ต้นปี 2545 แล้ว ส่วนจะบริหารทุนสำรองอย่างไรก็ต้องขึ้นอยู่กับการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.เงินตรา ว่าจะให้บริหารทุนสำรองรูปแบบใด แต่ปีนี้ยืนยันได้ว่าผลกำไรจากการบริหารทุนสำรองออกมาค่อนข้างดี ถ้าคิดในรูปเงินเหรียญสหรัฐ แต่ถ้าคิดในรูปเงินบาทคงไม่ค่อยดีนักเพราะค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 6%”
นางอมรา ศรีพยัคฆ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธปท. กล่าวว่า นโยบายในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของแต่ละประเทศว่าควรใช้ระบบใด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและเป้าหมายในการดูแลเศรษฐกิจของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันธปท.จะให้ความสำคัญการดูแลเงินเฟ้อผ่านกลไกอัตราดอกเบี้ยเป็นประเด็นหลักมากกว่าที่จะกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบตายตัว ดังนั้น ในมุมมองส่วนตัวมองว่าไม่จำเป็นที่ประเทศขนาดเล็กจะต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่แล้วเชื่อว่าดีกว่าอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวที่ธปท.ดำเนินอยู่
“ในอดีตไทยเคยใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่มาแล้ว การจะหันกลับไปใช้คงที่อีกอาจจะไม่เหมาะ ซึ่งการดูแลให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดก็มีข้อดี แม้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นต้นทุนแต่ก็ต้องดูต้นทุนอื่นๆด้วย เช่น ปัจจุบันการที่ต้นทุนจากน้ำมันราคาสูงขึ้นเรื่อยๆแต่การที่ไทยใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามตลาดก็ช่วยให้ราคาขายปลีกน้ำมันไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากได้”
ฉลองภพเชื่อ ศก.ปีนี้โตได้ 4.5%
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังขยายตัวได้ในระดับ 4.5% ขณะที่มองว่าปี 51 จะสามารถขยายตัวได้เกินกว่า 5% หากภาวะเศรษฐกิจไม่เลวร้ายไปกว่านี้ แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ และยังเชื่อว่ามาตรการของทางการที่ใช้อยู่สามารถดูแลอัตราเงินเฟ้อในช่วง 6 เดือนข้างหน้าได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ การเตรียมปรับตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของไทยในเดือน พ.ย.นี้ เป็นเรื่องที่หน่วยงานต่างๆ ต้องคาดการณ์กันตามสมมติฐาน ซึ่งหากราคาน้ำมันยังคงทรงตัวอยู่ในระดับที่ไม่มากขึ้นไปกว่านี้หรือปรับลดลงก็เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศมากนัก
"ปีหน้าแรงกระตุ้นเศรษฐกิจจะมาจากภาคการลงทุนเป็นหลักซึ่งจะเข้ามาช่วยทดแทนภาคการส่งออก แต่ทั้งนี้ยังเชื่อว่าภาคการส่งออกปีนี้จะโตได้ 14-15% ซึ่งอาจสูงกว่าเป้าที่คาดไว้ที่ 12.5% ส่วนปีหน้าหากการส่งออกโตได้ถึง 10% ก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้"
ส่วนภาวะราคาน้ำมันในขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อทั้งโลก แต่ในส่วนของไทยที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำที่ 1% กว่า ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสรับมือกับราคาน้ำมันได้ดีกว่าหลายประเทศ แต่สถานการณ์ราคาน้ำมันยังจำเป็นต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อาจจะชะลอตัวจากปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐ แต่ยังเชื่อว่าความต้องการใช้น้ำมันจะขยายตัวได้ไม่สูงมากนักซึ่งจะมีผลให้ราคาน้ำมันไม่ปรับสูงขึ้นมากได้
รมว.คลังมั่นใจว่า จากนโยบายการเงินที่ใช้ในปัจจุบันเชื่อว่ายังสามารถรับมือกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานให้อยู่ในกรอบที่ 0-3.5% ได้ต่อไปอีก 6 เดือน ซึ่งทำให้ทางการไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากนัก และยิ่งภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเช่นนี้ก็อาจจะทำให้ราคาน้ำมันไม่ปรับสูงขึ้นมาก โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 3% เนื่องจากผลพวงของราคาน้ำมันที่มีผลทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นทางการโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์จะต้องเขาไปดูแลไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าตามราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น
|