ระหว่างระยะเวลา 60 วันกับ 90 วันสำหรับการลาคลอดของผู้หญิงดูเหมือนแทบจะไม่มีความแตกต่างเท่าไรนัก
แต่ช่องว่างเล็ก ๆ ตรงนี้ก็มีความหมายอย่างยิ่งต่อการวางรากฐานให้กับแต่ละชีวิตที่กำลังเริ่มต้น
สายสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกจากความใกล้ชิดและการดูดกินนมจากทรวงอกไม่เพียงแต่จะสร้างคนคนหนึ่งให้มีความสมบูรณ์ขึ้น
หรือทำให้สถาบันครอบครัวเข้มแข็งเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเสริมให้สังคมทั้งหมดมีความมั่นคงขึ้นด้วย
นอกจากนี้การยอมรับต่อความเปลี่ยนแปลงในเรื่องระยะเวลาเพียงเล็กน้อยนี้ แต่ก็ยังทำให้สภาพการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงและเด็กตลอดจนการให้ค่ากับ
"ความเป็นคน" ในประเทศไทยที่ล่าช้ากว่ากาลเวลามานานแล้วได้พัฒนาขึ้นอีกระดับหนึ่ง
สำหรับเรื่องการลาคลอดของข้าราชการหญิงแม้ว่ากว่าจะลงเอยได้จะใช้เวลายาวนาน
และเป็นการยอมรับในลักษณะที่ไม่สมบูรณ์นักก็ตาม ผลที่ออกมาก็ยังคงคือผลด้านดี
เรื่องโดย สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์ นฤมล อภินิเวศ โสภิดา วีรกุญเทวัญ
นับตั้งแต่สายสุรี จุติกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ป่าวร้องประฌามคณะรัฐมนตรีที่มีมติคว่ำข้อเสนอแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการลาคลอดลงในครั้งแรก
การถกเถียงแสดงทัศนะในเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและยืดยาวในลักษณะต่าง
ๆ กัน
ข้อพิจารณาความหมายและความสำคัญของเรื่องที่ดูเหมือนเล็ก ๆ นี้มีอยู่มากมายและโยงใยกับปัญหาอื่นอีกหลากหลายทั้งเรื่องเล็กและใหญ่
ซึ่งคำถามหลาย ๆ คำถามที่ถูกละเลยหลงลืมก็ได้ปะทุขึ้นให้ไตร่ตรองกันอีกครั้งหนึ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับระบบชีวิตและมาตรฐานคุณภาพของสังคมไทย
สิทธิในการลาคลอดของผู้หญิงไทยมีมาตรฐานแยกกันอยู่เป็น 2 ส่วนระหว่างฝ่ายราชการและฝ่ายแรงงาน
ในส่วนของข้าราชการหญิงที่ได้รับการเสนอให้เปลี่ยนแปลงนั้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการคลอดแต่เดิมเปิดโอกาสไว้ว่าให้ลาได้
60 วันโดยได้รับเงินเดือน แต่ในการลาช่วงเดือนหลังจะต้องมีใบรับรองแพทย์แนบอยู่ด้วย
ซึ่งในทางปฏิบัติทั่วไป แพทย์มักจะอนุมัติให้ประมาณ 15 วันนั่นหมายถึงการลาคลอดจริง
ๆ มักหยุดอยู่ที่อัตราเวลา 45 วัน แทบจะไม่มีการใช้สิทธิเต็มที่ถึง 60 วันจริง
ๆ
ตามหลักทางการแพทย์การฟื้นตัวของสรีระในกรณีของการคลอดเองนั้น ใช้เวลาเพียงประมาณ
2 อาทิตย์มดลูกก็สามารถคืนสู่สภาพปกติอย่างค่อนข้างจะสมบูรณ์แล้วและภายใน
1 เดือนก็นับว่าเพียงพอสำหรับการพักผ่อนให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์หายจากการอ่อนเพลีย
ส่วนในกรณีที่ต้องผ่าตัดด้วยก็อาจจะต้องการเวลาทั้งหมดประมาณ 1 เดือนครึ่ง
ประเด็นด้านสุขภาพทางกายของแม่จึงไม่ใช่เหตุผลของการที่ต้องขอเพิ่มการลาหยุดให้นานออกไปถึง
3 เดือน แต่เป้าหมายอยู่ที่การเลี้ยงดูลูกขยายความยาวนานให้แม่กับเลือดเนื้อเชื้อไขของเธอได้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น
และเปิดโอกาสสำหรับการให้นมแม่เป็นไปอย่างต่อเนื่องพอเพียงกับความจำเป็น
"ประเด็นที่มักมีการมองก็คือ ด้านสุขภาพของแม่ว่าพร้อมเมื่อไรในการกลับเข้าทำงาน
ซึ่งตามความเป็นจริงเวลาลาเท่าที่มีอยู่เดิมก็เพียงพอแล้วสำหรับการพักผ่อนตามที่ร่างกายต้องการ
แต่นั่นเป็นการมองในด้านแม่เพียงอย่างเดียว การที่เพิ่มเวลานั้นเพราะเป็นการมองด้านลูกด้วย
เพราะลูกจะต้องเจริญเติบโตต่อไปเป็นประชากรของประเทศ" วีระพงษ์ ฉัตรานนท์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องเด็กหรือกุมารเวชศาสตร์และรองอธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดลชี้แจงถึงเป้าหมายหลัก
โดยทั่ว ๆ ไปจะเป็นที่รับรู้กันอยู่อย่างดีแล้วว่า ในวัยเด็กนั้นการเติบโตจะดำเนินไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
แต่ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รับรู้มากนัก ทั้งที่ได้มีการวิจัยศึกษาแน่ชัดแล้วก็คือ
การเจริญเติบโตของคนแต่ละคนนั้นเริ่มต้นวางรากฐานกันมาตั้งแต่เมื่ออยู่ในครรภ์
ส่วนร่ายกายและสมองก็จะมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมากที่สุดในระยะระหว่างแรกเกิดจนกระทั่ง
1 ขวบ สิ่งที่ทารกได้รับในช่วงต้นที่สุดของชีวิตจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดที่จะกำหนดคุณภาพของคนคนหนึ่งในระยะยาวและอย่างค่อนข้างจะถาวร
จากสถิติที่กระทรวงสาธารณสุข เคยแสดงไว้ชี้ว่า เมื่อใดเด็กมีอาการเจ็บป่วย
น้ำหนักจะลดลง ยิ่งป่วยบ่อยครั้งน้ำหนักก็จะยิ่งลดต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรเป็น
เพราะการเจ็บป่วยนั้นทำให้การเจริญเติบโตชะงัก อันจะมีผลต่อการพัฒนาทางด้านสรีระและร่างกายอย่างยิ่ง
ทางด้านสมองก็เช่นกัน ช่วงขวบปีแรกคือระยะที่มีระดับการพัฒนาสูงที่สุดรองลงมาได้แก่ขวบปีที่
2 พ้นจากนั้นแล้วก็เชื่องช้าลงเรื่อย ๆ เมื่อเด็กอายุได้ 6 ปี ขนาดของสมองจะเทียบได้เท่ากับ
5 ใน 6 เท่าของสมองผู้ใหญ่เลยทีเดียว การพัฒนาถ้าไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่แรกก็จะแก้ไขไม่ได้อีก
นอกจากนี้แล้ว ตามหลักการทางด้านจิตวิทยาพัฒนาการก็ระบุถึงความสำคัญของช่วงวัยเยาว์ไว้อย่างสอดคล้องกัน
อัมพล สูอำพัน รองศาสตราจารย์นายแพทย์หัวหน้าหน่วยจิตวิทยาเด็ก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายว่า ตามหลักการของนักจิตวิทยาชื่อ
ERIKSON ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในแวดวงวิชาการได้ชี้ว่า ช่วงเวลาแห่งการเลี้ยงดูลูกในขวบปีแรก
หากเป็นไปด้วยปฏิกิริยาที่ดีด้วยความรัก และด้วยการคลุกคลีใกล้ชิดกับเด็กเหล่านี้จะช่วยปลูกสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจหรือ
SENSE OF TRUST ให้เกิดขึ้น อันเป็นบ่อเกิดของการมองโลกในแง่ดี ตลอดจนคุณสมบัติดี
ๆ อย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นการโอบอ้อมอารี ความเกื้อกูล ความรับผิดชอบ เพราะคนที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่มาอย่างดีด้วยความรักย่อมจะมีความรักที่งดงามอยู่ในจิตใจพร้อมมอบให้กับผู้อื่นและกับสังคมเช่นเดียวกัน
ในทางตรงกันข้าม หากเด็กได้รับการละทิ้งหรือการปล่อยปละละเลยในระหว่างช่วงชีวิตแรกก็จะเกิดฝังใจว่าสังคมไม่ดี
แนวโน้มเมื่อเติบโตขึ้นจึงง่ายที่จะกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย มีความรู้สึกต่อต้านอยากทำลายสังคม
และก็แน่นอนว่าคนที่มีทัศนะเช่นนี้ย่อมไม่อาจที่จะรักคนอื่น แต่สามารถจะฉ้อฉล
เอารัดเอาเปรียบ หรือทำร้ายสังคมได้โดยไม่รู้สึกอะไร
"เด็กที่มีจุดเริ่มต้นดี ๆ จะเหมือนก้อนหินก้อนแรที่จะเหยียบขึ้นไปบนก้อนหินก้อนต่อ
ๆ ไปอย่างมั่นคง เด็กประทับใจว่าสังคมแรกเป็นอย่างไรก็จะคาดเดาว่าสังคมอนาคตเป็นในแบบเดียวกัน
ความประทับใจนี้มีผลต่อตัวตนและพฤติกรรมต่อ ๆ ไป" หมออัมพล สูอำพัน
กล่าว
สภาพแวดล้อมแรกและสังคมแรกสำหรับเด็กจะเป็นอย่างไรก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู
ซึ่งในสังคมไทยที่ภาระนี้ยังผูกพันอยู่กับแม่มากกว่าคนอื่น ก็เท่ากับว่าสังคมแรกของลูกนั้นขึ้นอยู่กับแม่เป็นใหญ่
ในอดีตเมื่อลักษณะทางสังคมของครอบครัวคนไทยยังมีการอยู่รวมหมู่ แม้ภาระดังกล่าวนี้จะผูกติดอยู่กับแม่มากกว่าใคร
แต่ก็ยังมีญาติคนอื่นช่วยทำหน้าที่ทดแทนได้บ้าง
ต่อเมื่อสภาพของสังคมเปลี่ยนไปเป็นสังคมอุตสาหกรรม มีความทันสมัยมากขึ้น
ขนาดของครอบครัวก็เล็กลง มีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว มีเพียงพ่อ แม่ และลูกเท่านั้นที่อยู่ด้วยกัน
ในเมืองใหญ่ปัจจุบันล้วนแต่เป็นเช่นนี้
ขณะเดียวกัน วิถีชีวิตของคนเมืองก็ต้องเกี่ยวข้องกับการทำงานมากขึ้นในยามกลางวันบ้านจะร้างคนอาศัย
เพราะทั้งหญิงและชายต่างก็ต้องอยู่นอกบ้าน
ผู้หญิงไม่ได้เป็นเพียงแม่บ้านที่อยู่กับเหย้าเรือนเฝ้าบ้านและเลี้ยงลูกเท่านั้น
แต่จะต้องมีบทบาทในทางเศรษฐกิจ หารายได้ให้กับครอบครัวด้วย การที่ครอบครัวใดเกิดมีลูกขึ้นมาสักคนจึงนับเป็นภาระที่หนักหน่วงมาก
การทำงานจะเป็นเสมือนเครื่องกีดกันการเลี้ยงดูลูกไปโดยปริยาย
จุดนี้เองที่ระบบการลาคลอดมีความจำเป็นและที่จำเป็นก็เพราะสังคมกำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางที่เป็นอุตสาหกรรมนั่นเอง
"ต้องยอมรับว่าตอนนี้สังคมในกรุงเทพฯ ครอบครัวเป็นขนาดเล็ก และ 80-90%
ต่างต้องทำงานทั้งคู่ เมื่อมีการคลอดก็แทบไม่มีใครช่วยเหลือเลย ไม่มีคนมาแทน
ถ้าเราไม่ปรับระบบขึ้นรับภาวะนี้ไว้ ต่อไปจะเกิดปัญหาสังคมในรูปแบบต่าง ๆ
อย่างที่ไม่อาจคาดหมายได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องปรับปรุง" จรัล ภักดีธนากุล
รองเลขาธิการสำนักงานตุลาการผู้มีบทบาทสำคัญในการริเริ่มเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการลาคลอดกล่าว
เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2532 ก่อนที่จะมาถึงยุคสมัยของสายสุรี จุติกุล คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ
(กสส.) ซึ่งมีพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ เป็นประธานและคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์
เป็นรองประธาน ได้เคยมีการเสนอให้สิทธิ์หญิงลูกจ้างและหญิงข้าราชการลาคลอดได้ยาวนานขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้ว
แต่ไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด
ครั้งนั้นคือจุดเริ่มต้นแรก ๆ ของการเคลื่อนไหวขอเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้
โดยผู้เสนอแนวความคิดที่แท้จริงก็คือ คณะอนุกรรมการกฎหมายและระเบียบข้อบังคับซึ่งเป็นคณะอนุกรรมการในสังกัดของ
กสส. และมีประธานชื่อ จรัล ภักดีธนากุล
"จุดของผมเป็นการมองออกไปทางกฎหมาย เริ่มต้นดูที่มาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายที่เขาใช้กันสากล
เท่าที่สำรวจก็พบว่าเขาถือเรื่องลาคลอดเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในทางระหว่างประเทศมีหลักฐานชัดเจนว่า
เขาถือเอาเกณฑ์การลาคลอดเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่ควรมีการคำนึงถึงสภาพความเป็นมนุษย์ถ้าต่ำกว่าเกณฑ์ก็ถือว่าเป็นการลิดรอนสภาพความเป็นมนุษย์ในสังคมอุตสาหกรรม
ในเมื่อเรากำลังนำประเทศให้เข้าสู่กึ่งอุตสาหกรรมอย่างนี้ก็น่าจะต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนของเราบ้าง"
รองเลขาธิการสำนักงานตุลาการไล่เรียงถึงที่มาของการหยิบยกเรื่องลาคลอดขึ้นเรียกร้อง
หลักเกณฑ์ที่ได้รับการยึดถือเป็นแนวความคิดระหว่างประเทศกำหนดเอาระยะเวลา
12 สัปดาห์ไว้ว่าเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ นั่นก็คือเห็นว่าการลาคลอดควรทำได้อย่างน้อย
84 วัน ทั้งนี้พร้อมกับจะต้องได้รับเงินเดือนเต็มอัตราด้วย โดยที่มาตรฐานนี้มีมาแล้วกว่า
30 ปีในแถบยุโรป
ทางองค์กรแรงงานระหว่างประเทศเองก็ได้กำหนดมาตรฐานในเรื่องนี้ไว้เป็นแนวทางปฏิบัติในหมู่ประเทศสมาชิก
160 ประเทศถึง 4 ประการด้วยเช่นกัน คือ
ประการแรก ให้แม่มีสิทธิลาคลอดได้ 12 อาทิตย์หรือมากกว่านั้นถ้าจำเป็น
ประการที่สอง ระหว่างที่มีการลาคลอด แม่ยังคงต้องได้รับเงินเดือนตามปกติหรืออย่างน้อย
2 ใน 3 (66%) ของรายได้ก่อนลาคลอด
ประการที่สาม ระหว่างที่มีการทำงานควรให้แม่มีเวลาเลี้ยงดูลูก 1 ชั่วโมงต่อ
1 วัน
ประการที่สี่ ห้ามมีการไล่ออกขณะที่แม่ลาคลอด
สำหรับบรรดาประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปนั้นต่างก็ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นี้มาเนิ่นนานแล้วด้วยการออกกฎหมายให้สิทธิในการลาคลอดประมาณ
90 วันหรือ 3 เดือนเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งถ้าเป็นประเทศในแถบสแกนดิเนเวียก็จะอนุญาตไว้ให้สูงถึง
6 เดือนทีเดียว หรืออย่างในหน่วยงานระดับโลก เช่น สหประชาชาติก็กำหนดไว้ให้ลาได้ถึง
4 เดือน แบ่งเป็นช่วงก่อนคลอด 1 เดือน และหลังคลอดอีก 3 เดือน
ในทวีปอเมริกาใต้ก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นอารืเจนตินา โบลิเวีย บราซิล
โดมินิกัน ไฮติ เม็กซิโก เปรู อุรุกวัย คิวบา คอสตาริกา ชิลี ฯลฯ ต่างก็ยึดถือหลักการนี้เป็นจริงเป็นจัง
แม้แต่ประเทศในทวีปแอฟริกาก็มีถึงประมาณ 20 ประเทศทีเดียวที่ทำตามคงมีก็แต่เพียงประเทศในทวีปเอเชียเท่านั้น
ที่ส่วนใหญ่แล้วไม่ยึดถือต่อหลักเกณฑ์นี้โดยที่ประเทศเหล่านั้นยังคงให้สิทธิกับประชาชนของตนน้อยกว่ามาตรฐานสากล
และไทยเองก็เป็น 1 ในจำนวนประเทศเหล่านั้น
นอกจากสภาพโดยรวมจะต่ำกว่ามาตรฐานแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาในเรื่องระยะเวลาลาคลอดของประเทศไทยก็คือ
ความเหลื่อมล้ำระหว่างสิทธิของข้าราชการหญิงกับลูกจ้างแรงงานหญิงเนื่องจากกฎหมายที่ควบคุมอยู่เป็นคนละฉบับ
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานได้กำหนดวันหยุดงานสำหรับลูกจ้างหญิงหลังการคลอดบุตรไว้เพียง
30 วันเท่านั้น และหากจะลาเพิ่มขึ้นก็กระทำได้อีก 30 วัน แต่ไม่ได้รับเงินเดือน
เมื่อคณะอนุกรรมการกฎหมายและระเบียบข้อบังคับพบกับสภาพความเป็นจริงที่ล้าหลังและไม่ยุติธรรมเช่นนี้
จึงได้เสนอแก้ไขไปทั้ง 2 ส่วนตั้งแต่แรกกับหน่วยงานต้นสังกัด นั่นก็คือ กระทรวงมหาดไทยและสำนักนายกรัฐมนตรี
จรัล ภักดีธนากุล เล่าถึงขั้นตอนการเสนอในครั้งนั้นว่า "เรื่องนี้แรกสุดเราเสนอผ่าน
กสส. ได้รับการเห็นชอบ แต่ว่า กสส.เสนอรเองนี้เองไม่ได้ เพียงแต่เป็นตัวประสานและเตรียมเรื่องให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
พอส่งไปแล้วก็ถูกเก็บไว้ คือ ไปช้าตามระบบราชการ จนต่อมาเมื่อเห็นว่าเรื่องไม่เดินเลย
ผมจึงมาเสนอทางกระทรวงยุติธรรมให้ยกร่างระเบียบการลาของข้าราชการตุลาการ
เรื่องนี้เสนอเข้าไปทำให้เกิดการพิจารณากันว่าถ้าจะเอาอย่างนี้ก็ต้องใช้กับข้าราชการทั่วไป"
ในที่สุด การเสนอปรับเปลี่ยนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการก็จึงได้เกิดขึ้นเมื่อกลางปี
2534 และโด่งดังอย่างมากในเวลาต่อมาด้วยฝีมือของ สายสุรี จุติกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ
ที่เป็นผู้หญิงคนเดียวของรัฐบาลชุดนี้
ความตั้งใจเดิมของคณะอนุกรรมการกฎหมายและระเบียบข้อบังคับนั้น มีเป้าหมายที่การแก้ไขกฎหมายของฝ่ายเอกชนมากกว่า
เพราะเห็นว่าในด้านของเอกชนนั้นลำบากกว่าและมีปริมาณมากกว่า
เพีวงแต่ในเมื่อด้านของข้าราชการก็ยังคงไม่ได้มาตรฐานต้องได้รับการแก้ไขเหมือนกัน
และในทางยุทธศาสตร์ถือว่าทำได้ง่ายกว่า เพราะไม่ต้องกระทบกับนายจ้างและข้อเรียกร้องก็เป็นการขยับเพิ่มจากฐานเดิมเพียง
30 วัน ดังนั้นก้าวแรกจึงเลือกที่จะเริ่มจากฝ่ายราชการก่อน
ส่วนแผนสำหรับภาคเอกชนนั้นได้มีการวางไว้เป็น 2 ขั้นตอนที่จะเรียกร้องต่อไป
เริ่มด้วยการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานเพิ่มวันลาคลอดโดยได้รับเงินเดือนเต็มจาก
30 วันเป็น 60 วัน ส่วนอีก 30 วันก็ใช้กฎหมายประกันสังคมเข้ามาเสริมให้มีการจ่ายทดแทนการลาระหว่างวันลาที่
61-90 เช่นนี้ก็จะเท่ากับว่าลูกจ้างแรงงานหญิงสามารถลาคลอดได้ 90 วัน โดยไม่ขาดเงินเดือนเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ในการเสนอครั้งหลังนี้สาระต่าง ๆ มีน้อยลงกว่าเดิมมากมาย จากที่ครั้งแรกมีการเสนอให้สิทธิกับชายผู้เป็นพ่อได้ลาหยุดด้วยเป็นเวลา
15 วัน เพื่อให้มีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูบุตร อันถือได้ว่าเป็นค่านิยมใหม่ที่ถูกต้องก็ปรากฏว่าได้ถูกตัดทอนออกไปตามข้อแนะนำของคณะกรรมการกลั่นกรองฝ่ายสังคมและกฎหมายที่มี
มีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และที่หนักยิ่งกว่านั้นก็คือ
ไม่ปรากฏว่าได้มีการเสนอแก้ไขประกาศกระทรวงมหาดไทยในครั้งนี้แต่อย่างใด คงมีแต่เพียงการเสนอเพิ่มวันลาให้กับข้าราชการหญิงเท่านั้น
ฝ่ายแรงงานหญิงยังคงมีมาตรฐานอยู่ที่ 30 วัน
"ตรงนี้เป็นการมองกันในแง่การค่อยเป็นค่อยไปและความเป็นไปได้ คือ ให้ราชการไปก่อนแล้วเอกชนค่อยตามมา
เป็นการนำร่องเพราะของข้าราชการก็เท่ากับเพิ่มแค่เดือนเดียวด้วย ถ้าเป็นเอกชนจะต้องเพิ่มถึง
2 เดือน แต่ปรากฏว่า ฝ่ายที่ค้านอย่างพวกกระทรวงการคลังก็กลัวตรงนี้นี่เอง
คือ กลัวเอกชนเอาตาม การลงทุนจะมีปัญหา เขากลัวอย่างนี้ถึงได้ค้านหัวชนฝา"
เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมที่เรียกตัวเองว่า "มูลนิธิเพื่อนหญิง"
อธิบายถึงสาเหตุความเป็นมา
ยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายหนึ่งวางไว้แล้วอย่างระแวดระวังเกือบจะให้ผลร้ายก็เพราะถูกอีกฝ่ายอ่านใจและเป้าหมายออกนั่นเอง...
วันที่ 22 ตุลาคม 2534 เมื่อร่างแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการลาคลอดได้รับการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกนั้น
ปรากฏว่าไม่ได้รับการตอบสนอง
แต่โดยเหตุที่รัฐมนตรีสายสุรีไม่ยอมรับมตินี้และทำการประท้วงนายกฯ อานันท์
ปันยารชุน จึงได้อนุมัติให้มีการทบทวนมติใหม่โดยยอมรับว่า มติที่ออกมาอาจจะมีขั้นตอนไม่ถูกต้อง
เนื่องจากระหว่างการพิจารณารัฐมนตรีเจ้าของเรื่องไปราชการต่างประเทศ ไม่ได้ร่วมรับรู้ด้วย
จากนั้นเรื่องนี้จึงได้รับการบรรจุเข้าที่ประชุม ครม. ใหม่ และมีการพิจารณาอย่างยืดเยื้อออกมาอีก
3 วาระ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ด้วยกัน ภายใต้การลุ้นเต็มที่ของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ
องค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการ ในขณะที่กระทรวงการคลังและนายจ้างทั้งหลายก็ค้านสุดตัวเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วมติครม.ก็ได้ยอมอนุญาตให้ข้าราชการหญิงก็สามารถมีขอบเขตวันลาหลังการคลอดได้ถึง
3 เดือนโดยวันลาที่มากขึ้น 1 เดือนนั้นใช้อัตราของการลากิจเข้ามาเสริม
นับได้ว่าเป็นการหาทางออกที่สวย ซึ่งผู้ที่คิดแนวทางประนีประนอมอันชาญฉลาดนี้ก็คือ
เสนาะ อูนากูล !
...เป็นอันว่า สิทธิของข้าราชการหญิงพัฒนาขึ้นถึงระดับมาตรฐานแล้ว ส่วนโอกาสของลูกจ้างหญิงภาคเอกชนยังไม่รู้จะมาถึงเมื่อไร...
"ผมเห็นด้วยกันรัฐมนตรีสายสุร ีเพราะเรื่องการเลี้ยงดูลูกนั้นสำคัญ
และไม่อาจจะบอกว่าการเลี้ยงดูจะเป็น 1 เดือนหรือกี่เดือน เราต้องเลี้ยงดูกันตลอดไปการกำหนดเวลา
จริง ๆ แล้วกำหนดไม่ได้ แต่คนเราก็ไม่ได้อยู่ในสังคมเพื่อการเลี้ยงดูลูกเพียงอย่างเดียว
เราต้องอยู่ในสังคมที่มีตัวกำกับอื่น เช่น การงาน ภาระรับผิดชอบทั้งหลาย
จะให้สุภาพสตรีอยู่บ้านเลี้ยงดูลูกอย่างเดียวคงเป็นไปไม่ได้ ก็ถึงต้องมีเวลาว่าแค่ไหนจึงพอเหมาะ
สำหรับผมก็คือเวลานานที่สุดเท่าที่จะนานได้โดยที่ตัวกำกับทางสังคมยอมรับ"
อัมพล สูอำพัน หัวหน้าหน่วยจิตเวชเด็กแห่งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงหลักการ
การกำหนดขอบเขตระยะเวลาที่เหมาะสมย่อมไม่ใช่เรื่องที่ทำได้อย่างโดด ๆ หลักอ้างอิงนับว่ามีความจำเป็นมากทีเดียว
สำหรับการกำหนดระยะเวลาประมาณ 12 สัปดาห์ขึ้นมานระดับสากลนั้น ด้านหนึ่งเป็นการสืบเนื่องแบบแผนมาจากแนวความคิดระหว่างประเทศ
จนกระทั่งได้รับการระบุอยู่ในอนุสัญญาในเวลาต่อมา ส่วนอีกด้านหนึ่งก็มีความสอดคล้องกับเรื่องของ
"ระยะเวลาที่ยอมรับได้" ในการที่เด็กควรจะได้รับนมแม่ นั่นคือประมาณ
3 เดือน
ทั้งองค์การอนามัยโลก (WHO) และองคืการทุนเพื่อเด้กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF)
ตลอดจนถึงวงการแพทย์สากลต่างเห็นพ้องต้องกันโดยไม่มีนมผงชนิดใดจะมาเหนือกว่าได้
และทารกแต่ละคนก็ควรที่จะได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่อย่างน้อย 4-6 เดือนขึ้นไปจนกระทั่ง
2 ปี เพียงแต่ว่าถ้าจะถามว่าถึงระดับต่ำที่สุดจริง ๆ ก็สามารถลดลงได้ 1 เดือน
"เวลา 3 เดือนตามหลักการแพทย์เห็นว่าต่ำสุดเลย 4 เดือนก็ดีมานิดหนึ่ง
6 เดือน เด็กกินอาหารเสริมแล้ว จริง ๆ คือตั้งแต่เกิดจนถึง 4 เดือนกินนมแม่อย่างเดียวก็พอเพียง"
ศุภชัย ณ ป้อมเพชร หัวหน้าฝ่ายสารนิเทศ องค์การ UNICEF กล่าว
ผลของการศึกษาวัยเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หลาย ๆ ชิ้นมักจะระบุว่า
แม่ในชนบทมีแนวโน้มในการเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองมากกว่าและยาวนานกว่าคนในเมือง
ซึ่งสาเหตุนั้นก็มาจากการที่แม่ในเมืองมีเงื่อนไขไม่เอื้ออำนวยหลายประการว่า
ด้านหนึ่งก็คือ วิถีชีวิต การที่ผู้หญิงเมืองปัจจุบันไม่ได้มีหน้าที่เพียงเป็นแม่บ้านอยู่กับเรือนเท่านั้น
หากต้องออกไปทำงานนอกบ้านแล้วต้องกลับไปทำงานอย่างรวดเร็วหลังคลอดจึงทำให้ไม่อาจให้นมอย่างมากพอและสม่ำเสมอ
บางรายไม่อยากยุ่งยากกับการต้องมีภาระเพิ่มขึ้นก็อาจเลือกที่จะไม่ให้นมเสียเลยตั้งแต่แรก
ในขณะที่บางรายก็ต้องรีบหย่านมเพื่อจะได้ไปทำงานได้ หรือแม้อย่างดีที่สุด
คือ แม่ยังคงให้นมลูกอยู่ แต่ก็จะทำได้เฉพาะเวลาเช้าและเย็นไม่สามารถสนองความต้องการของลูกได้เต็มที่
นอกจากนี้แล้วก็ยังมีอีกหลายต่อหลายสิ่งต้องหายไปพร้อมกับการออกไปทำงานของแม่
ผลของความแตกต่างระหว่างเวลา 60 กับ 90 วันอีกประการหนึ่งที่สามารถชี้ชัดได้ก็คือ
เรื่องของการวางรากฐานด้านพัฒนาการทางสังคม เนื่องจากในเวลา 8 สัปดาห์หรือประมาณ
60 วัน คือ ช่วงที่เด็กจะเริ่มมีพัฒนาการทางด้านนี้ ในขณะที่ก่อนหน้านั้นการรับรู้ต่อสิ่งรอบตัวของเด็กค่อนข้างว่างเปล่า
สังเกตได้จากรอยยิ้มที่ไม่มีจุดหมาย รวมทั้งการที่ยังไม่สามารถจดจำคนอื่นได้
แต่นับตั้งแต่เดือนที่ 3 เป็นต้นไป เด็กจะโต้ตอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรู้เรื่อง
เริ่มรู้จักเล่นและยิ้มให้ผู้ที่เข้ามาหาจำได้ว่า ใครคือแม่ที่เลี้ยงดูใกล้ชิด
ช่วงเวลาเช่นนี้จึงนับว่าสำคัญ เป็นเสมือนจุดเริ่มแรกแห่งการตอกเสาเข็มในด้านพัฒนาการทางสังคม
"เรามีการทำวิจัยพบทางด้านวิทยาศาสตร์เลยว่า เด็กที่ได้รับการกระตุ้นเพียงพอ
ไม่ว่าจะเป็นสายตาที่แม่มองไปยังเขา การได้ซุกที่หน้าอกแม่ ทุกสิ่งเป็นปฏิกิริยาที่หล่อหลอมรวมหมด
ความผูกพันการเล่นกับลูกจะกระตุ้นให้เซลล์สมองเติบโตได้เร็ว การที่พ่อแม่พูดกับลูกก็จะกระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการภาษาที่เร็ว
เรียนรู้เร็ว ขณะที่การที่แม่ให้นมลูกก็จะช่วยกระตุ้นให้ความผูกพันระหว่างแม่กับลูกเข้มขึ้น
ผมไม่เคยเป็นผู้หญิงผมไม่รู้ว่ามีความสุขแค่ไหน แต่ผมถามจากแม่ทุกคนต่างก็ตอบว่าระหว่างที่ลูกดูดนมนั้นไม่ใช่ลูกสุขอย่างเดียวแม่ก็สุขด้วย
ไม่ใช่แบบเซ็กซ์ แต่เป็นความรักความพอใจ" นายแพทย์หัวหน้าหน่วยจิตเวชเด็กของจุฬาฯ
บรรยายให้เห็นภาพอย่างอ่อนโยน
การลาคลอดได้มาก ๆ จึงเท่ากับเป็นการสร้างเงื่อนไขให้ทารกที่เกิดมาได้รับนมแม่เต็มที่ตามเวลาที่ควรจะเป็น
ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้แม่กับลูกได้อยู่ใกล้ชิดกันมากที่สุดในระยะเวลาแรกโดยทั้งสองสิ่งนี้ก็จะเป็นสะพานนำไปสู่สิ่งดี
ๆ อื่น ๆ ทั้งส่วนย่อยและส่วนใหญ่อีกต่อไป
"ช่วงต้นนับว่าสำคัญที่สุดถ้าสามารถให้อะไรกับเด็กมากเท่าไรยิ่งเป็นผลดี
แต่สิ่งที่เราอยากให้มีการเจริญเติบโตคงไม่ใช่แค่ด้านสมองหรือร่างกายเท่านั้น
ต้องมีด้านจิตใจด้วยให้ผสานกันไปทั้งหมด ไม่แยกช่วง เพราะเราคงไม่อยากได้เด็กฉลาดแล้วเป็นอาชญากร
คงสู้ด้วยลำบาก" วีระพงษ์ ฉัตรานนท์ กล่าวถึงองค์ประกอบการพัฒนาเด็กแรกเกิด
การเพิ่มเวลาหยุดงานหลังคลอดให้กับผู้หญิงมากขึ้น เพื่อพักฟื้นฟูสุขภาพพร้อมกับเลี้ยงดูลูกเมื่อพิจารณาหยาบ
ๆ แล้วอาจดูเหมือนมีเพียงผู้หญิงคนนั้นและลูกของเธอเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์แต่ถ้ามองให้กว้างขึ้น
เพียงลูกคนหนึ่งที่จะเติบโตขึ้นมาก็จัดได้ว่า คือ องค์ประกอบหนึ่งที่กำหนดรูปร่างหน้าตาของสังคมทั้งหมดนั่นเอง
หากองค์ประกอบอัปลักษณ์แล้ว สังคมจะสวยงามได้อย่างไร ?
"เรื่องการลาคลอดมีหลายคนมองว่าเป็นการเรียกร้องสิทธิสตรี ผมมองว่าไม่ใช่
เป็นการเรียกร้องเพื่อมนุษยชาติรุ่นใหม่ที่จะเติบโตเป็นคนดีต่อไปในอนาคต
ผมคิดว่าเป็นประเด็นนี้ ถ้าเด็กเติบโตขึ้นแล้วสมมติว่าเป็นคนไม่ดี พ่อแม่ก็ทุกข์ร้อน
ถ้าเขาเป็นคนติดยา เป็นอันธพาล เป็นขโมย ซึ่งแนวโน้มเกิดมาจากการไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่มาแต่เล็ก
ถึงแม้ว่าจะได้รับการศึกษามาอย่างดี คิดหรือว่าเขาจะทำหน้าที่ต่อประเทศชาติได้ดี"
หมออัมพล ตั้งข้อสังเกตถึงการโยงในเรื่องนี้
การกล่าวเช่นนี้ดูออกจะเป็นการโยงใยที่เกินเลย แต่ถ้าพิจารณาจากสภาพความเป็นจริงก็คงต้องยอมรับว่าปัญหาวัยรุ่นก้าวร้าว
ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่เกิดจากคนกำลังเกิดขึ้นโดยสะท้อนออกมาในรูปแบบต่าง
ๆ รูปแบบแล้วรูปแบบเล่าจนส่วนหนึ่งกลายเป็นปรากฏการณ์อันธรรมดาที่สร้างภาวะชาชินตามมา
ดูเหมือนในท่ามกลางแบบแผนของสังคมที่มีระบบทุนนิยมครอบงำอยู่ดังเช่นปัจจุบัน
มิติทางจิตใจอาจจะเป็นสิ่งที่ถูกละเลยอย่างแจ้งชัดที่สุดอยู่แล้ว
คนรุ่นใหม่ที่มีคุณสมบัติร่วมกันอยู่ระหว่างความฉลาดกับความก้าวร้าวมีระบาดให้เห็นอยู่ทั่วไป
โดยเฉพาะในหลายประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจสูง ๆ ซึ่งประเทศไทยก็อยู่ในแนวทางเช่นนี้ด้วย
และที่น่าสนใจก็คือ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหนึ่งที่ขึ้นชื่อในด้านนี้ โดยที่กำหนดการลาคลอดของที่นั่นก็ยังไม่ได้ระดับมาตรฐานสากล
"เรื่องลาคลอดไม่ได้เป็นเรื่องของการที่ผู้หญิงลุกขึ้นมาเรียกร้องเอาโน่นเอานี่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาติ
เรื่องของเด็ก อนาคตของคนรุ่นใหม่ ผสมผสานกับการให้ความยุติธรรมแก่ผู้หญิง
คือ ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าการไปคลอดเป็นเรื่องของการไปรับภาระหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง
เพราะฉะนั้นจึงไม่ยุติธรรมที่จะต้องให้คนทำหน้าที่ 2 อย่างในเวลาเดียวกัน
ถ้าเราเห็นความสำคัญของเด็กและความำสคัญของการทดแทน การผลิตคนรุ่นใหม่ ประเด็นเรื่องการลาคลอดก็มีความสำคัญ"
ธีรนาถ กาญจนอักษร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวแสดงทัศนะในทำนองเดียวกัน
ความสัมพันธ์ระหว่างคนอันเป็นหน่วยเล็กกับสังคมที่เป็นหน่วยใหญ่ผูกร้อยและมีอิทธิพลต่อกันอย่างแนบแน่น
ขณะที่คนคือผู้มีบทบาทกำหนดหน้าตาของสังคม ระบบ แบบแผนตลอดจนสภาพทั่ว ๆ ไปของสังคมก็เป็นกรอบกำหนดมนุษย์แต่ละคนเช่นเดียวกัน
เมื่อทั้งสองส่วนต่างก็มีบทบาทกระทบต่อกันจึงต้องมีหน้าที่ต่อกันด้วย
"การที่เรื่องลูกถูกมองเป็นเรื่องส่วนตัวของผู้หญิงหรือเด็กเป็นสมบัติของครอบครัว
เป็นความเข้าใจผิดที่มีมานาน ที่จริงเด็กนั้นเป็นคนเป็นอนาคตของชาติ สมมติเด็กคนหนึ่งเติบโตมาเป็นนักเลง
เขาไม่ได้กระทบแค่พ่อแม่ แต่กระทบคนทั้งสังคม คนที่เที่ยวไล่ฆ่าคน คนที่นิยมความรุนแรง
คนไม่มีคุณภาพ คนเหล่านี้เพิ่มขึ้นเห็นได้ชัด ต้องยอมรับว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
การผลักภาระว่าการเลี้ยงดูคนเป็นเรื่องส่วนตัวเป็นแนวคิดที่ผิดและทำให้เรามีปัญหาอยู่"
ธีรนาถ กาญจนอักษร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงหลักคิดใหญ่ที่ทำให้เห็นด้วยกับเรื่องของการให้ระยะเวลาคลอดได้นาน
ๆ
ข้อคัดค้านที่ว่าเมื่อแรงงานต้องขาดหายไปในช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้น จะยิ่งทำความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจโดยส่วนรวม
และสร้างภาระให้กับผู้อ่นที่ต้องทำงานทดแทน คือ ความจริงที่จะต้องเกิดขึ้น
เป็นสิ่งที่จะต้องสูญเสียโดยปฏิเสธไม่ได้ แต่การตัดสินใจนั้นขึ้นอยู่กับการให้น้ำหนักว่าอะไรมีค่ากว่าอะไร
หากสังคมเห็นว่าภารกิจร่วมกันไม่ได้อยู่ที่การผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อสร้างความมั่งคั่งเฉพาะหน้าเพียงอย่างเดียว
แต่สังคมมีภาระในการสร้างคนรุ่นใหม่ด้วย ต้นทุนของการสร้างแรงงานรุ่นใหม่นั้นส่วนหนึ่งก็คือ
การที่จะต้องเสียจากการจ้างคนงานเพิ่มหรือทำการผลิตได้ลดลง การต้องเสียสิ่งหนึ่งสำหรับได้อีกสิ่งหนึ่งก็สมเหตุสมผล
"สังคมต้องยอมรับอันนี้ เราต้องคำนึงถึงสังคมกับเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ
กัน ในประเทศที่เจริญแล้ว เขาจะต้องดูแลผลประโยชน์ในด้านนี้ ถือเป็นสิทธิอันควรมีควรได้ของสตรี
เพราะมั่นใจว่าการลงทุนในเด็กโดยผ่านแม่เป็นเรื่องที่จะแก้ไขการด้อยพัฒนาได้
ลงทุนที่แม่ก่อนให้แม่มีโอกาสให้นมลูก เมื่อเด็กอยู่รอดได้แล้วก็ให้การศึกษาให้เขาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพแล้ว
เขาก็จะตอบแทนสังคมด้วยระบบภาษี" ศุภชัย ณ ป้อมเพชร ให้ทัศนะถึงรูปธรรมความสัมพันธ์ในเชิงกระบวนการลงทุน
ถึงแม้สังคมอาจจะต้องลงทุนกับคนคนหนึ่งไม่เฉพาะแค่ 3 เดือน แต่เป็นปี ๆ
หรือ 20-30 ปี ก็ถือว่าไม่เกินเลยไป เพราะแต่ละคนย่อมจะชดเชยให้กับสังคมภายหลังนับสิบ
ๆ ปีอยู่แล้ว
ซึ่งตามสภาพความเป็นจริง ช่วง 20 ปีแรกของมนุษย์ก็เป็นระยะที่จะต้องได้รับการพัฒนาก่อนต่อเมื่อเติบโตสมบูรณ์แล้ว
จึงจะตอบแทนคืนกลับให้ได้
เรื่องการลงทุนกับคนนอกจากจะพิจารณาได้ในลักษณะของความคุ้มค่าในระยะยาวแล้ว
ข้อพิจารณาในเชิงของสิทธิก็นับว่ามีความสำคัญ เพราะในเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสิทธิอย่างน้อย
2 ส่วนด้วยกัน คือ ผู้หญิง และเด็ก
ถ้าถือว่าเรื่องของการผลิตคนรุ่นใหม่มีความสำคัญ สิทธิของหญิงในฐานะผู้ทำหน้าที่นี้ก็จะต้องได้รับการคุ้มครองและไม่ถูกละเมิด
ไม่ว่าจะด้วยการเอาเปรียบให้ต้องทำหน้าที่อื่นในเวลาเดียวกัน หรือด้วยการละทิ้งไม่ดูแลให้ความมั่นคง
ปลอดภัยทั้งในแง่ของสุขภาพทางกายและทางใจ
"การเอาเปรียบผู้หญิงแทนที่จะได้ก็กลายเป็นเสีย บางคนยังไม่ควรกลับเข้าทำงานก็ต้องกลับ
ระยะยาวพวกนี้จะเป็นทรัพยากรที่เสื่อมสมรรถภาพเร็วเกินไป ด้านร่างกายก็จะเป็นต้นทุนที่เสียไป
ระบบการพัฒนาของเรายังเป็นแบบล้างผลาญทุกอย่างทั้งทรัพยากรธรรมชาติและคน"
ธีรนาถ กาญจนอักษร นักเศรษฐศาสตร์หญิงแห่งจุฬาฯ กล่าว
ทางด้านสิทธิของเด็กและเยาวชนก็มีหลักการระดับโลกบางข้อที่โยงกับเรื่องนี้ได้กำหนดอยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็ก
เช่น ข้อที่หนึ่งกล่าวว่าเด็กต้องได้รับสิทธิอันเท่าเทียมกัน ข้อสองระบุว่า
เด็กจะต้องได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ อันจะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาทั้งทางกาย
สมอง และจิตใจ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีอนุสัญญาเด็กจากการประชุมสุดยอดระดับโลก เพื่อเด็กที่จัดขึ้นที่องค์การสหประชาชาติ
นครนิวยอร์กเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2533 นี้เอง ซึ่งในมาตราที่ 3 ของอนุสัญญาได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า
"การกระทำใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นของสถาบันสงเคราะห์ของรัฐหรือของเอกชน
ศาลยุติธรรมหน่วยงานบริหารของรัฐหรือองค์กรนิติบัญญัติใด ๆ จะต้องยึดถือประโยชน์ที่ดีที่สุดของเด็กเป็นสิ่งแรกในการพิจารณา"
ความคิดที่ว่าผู้หญิงคือผู้แบกโลกไว้ครึ่งหนึ่ง มีส่วนในการร่วมสร้างสรรค์สังคมอย่างสำคัญ
และเด็กผู้เป็นหน่ออ่อนสืบสายมนุษยชาติก็คือ ความหวังสำหรับวันข้างหน้าของสังคมมักมีการยอมรับด้วยดี
แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งเช่นดียวกับที่ทรัพยากรมนุษย์กำลังได้รับการกล่าวขวัญถึงอย่างทรงความสำคัญอย่างยิ่ง
ทว่าเมื่อจะต้องลงทุนกับการพัฒนาเสริมสร้างคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ รัฐก็กลับลังเล
แม้ว่าครั้งนี้มติในที่สุดของคณะรัฐมนตรีจะออกมาอนุญาตให้การลาคลอดของข้าราชการหญิงกระทำได้ถึง
90 วันหลังจากที่เคยปฏิเสธในเบื้องต้นจนกระทั่งเกิดการถกเถียงขึ้นในสังคม
การอนุญาตครั้งนี้ก็ดูจะเกิดขึ้นเพราะไม่อาจขัดกับแรงเรียกร้องมากกว่าจะเป็นการคำนึงถึงความหมายและคุณค่าอันหลากหลายของการลาคลอดอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่า ไม่ว่ากระบวนการจะเป็นอย่างไร ผลลงเอยนั้นก็นับว่าไม่เลวนัก
แต่ถ้าจะเคารพต่อสิทธิกันอย่างแท้จริงโดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงต่อความต้องการสร้างอนาคตของชาติที่ดีและต้องการสังคมวันหน้าที่ดีขึ้น
ในก้าวต่อไป หญิงลูกจ้างภาคเอกชนและลูกของเธอก็ควรจะต้องได้รับการเคารพสิทธิและการส่งเสริมให้ได้รับสิ่งดี
ๆ ด้วยเช่นกัน โดยสิ่งนี้ไม่ควรจะต้องถูกเรียกร้องเพราะสภาพที่เป็นอยู่นี้ถือว่าเป็นการละเมิดเป็นความบกพร่องของระบบสังคมที่จะต้องได้รับการแก้ไข