Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์12 พฤศจิกายน 2550
ระวังตกเป็นเหยื่อรายใหม่ แฉสารพัดกลโกง การเงิน!             
 


   
search resources

Credit Card




- มิจฉาชีพบานสะพรั่งรับน้ำมันแพง
- แก๊งไฮเทคออกอุบายต้มคนพกบัตรเครดิต
- กลุ่มรากหญ้าเจอ “แชร์ลูกโซ่” สูบเกลี้ยงก่อนเชิด
- พัฒนากลโกงหลากรูปแบบล่อ “คนโลภ” ติดกับ
- แนะทางรอดเพื่อคุณไม่ตกเป็นเหยื่อรายใหม่!

ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 96.70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำลายสถิติเดิมตลอดเวลานั้น ได้สร้างผลกระทบในด้านลบกับทุกประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมัน การวิ่งขึ้นของราคาน้ำมันที่ใกล้ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเข้าไปทุกขณะ ขณะที่ราคาน้ำมันในประเทศไทยก็ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการดาหน้ากันขอปรับขึ้นราคา

แม้ก่อนหน้านี้ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ออกมายืนยันว่าจะไม่มีการลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่สุดได้ก็ต้องจำใจยอมลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 40 สตางค์ต่อลิตรเมื่อ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา(ยกเว้นน้ำมันเบนซิน 95) แต่ไม่ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับลดลงในทันที ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอให้ลดลดลิตรละ 1 บาท แต่ยังไม่มีการตอบรับในข้อเสนอ

นี่คือความกังวลต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันของทุกภาคส่วน ที่น่าจะส่งผลอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2551 ซึ่งจะต้องเผชิญกับราคาน้ำมันแพง ในรอบ 10 เดือนของปี 2550 ราคาน้ำมันในประเทศเมื่อ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา น้ำมันเบนซิน 95 ขยับขึ้นเป็นลิตรละ 31.19 บาท เบนซิน 91 ลิตรละ 30.39 บาทและดีเซล 28.14 บาท โดยเบนซิน 95 ปรับขึ้นจากต้นปี 17.74% เบนซิน 91 เพิ่มขึ้น 17.52% และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 22.51%

ภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นส่งผ่านมาจากราคาน้ำมัน ประชาชนทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากประเทศไทยมีอุปสรรคในหลายๆ ด้านที่ภาครัฐไม่สามารถออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นนั้นได้ เช่น มีภาระเรื่องเงินสมทบเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหลังจากที่รัฐบาลชุดก่อนตรึงราคาน้ำมันไว้ ซึ่งระยะนี้เป็นช่วงที่ต้องเก็บเงินเพื่อคืนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ขณะเดียวกัน แนวทางที่จะผ่อนคลายทุกข์ของประชาชนด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยลงมานั้น คงไม่สามารถทำได้เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่ดูแลนโยบายการเงินของประเทศ ยึดหลักการควบคุมเงินเฟ้อเป็นหลัก โดยอัตราเงินเฟ้อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 2.5% สูงขึ้นจากเดือนกันยายนที่เพิ่มขึ้น 2.1%

เมื่อราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นย่อมทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตเหล่านี้จึงส่งมอบต้นทุนจากราคาน้ำมันผ่านมาทางราคาสินค้าที่จำเป็นต้องปรับขึ้น แม้ว่าช่วงสิ้นปีหลายคนอาจได้ปรับขึ้นเงินเดือนหรือค่าจ้างบ้าง แต่คงไม่สามารถชดเชยกับราคาสินค้าและค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นไปมากกว่า

ดังนั้น ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ของครอบครัว คงต้องหาทางแก้วิกฤตินี้จะด้วยวิธีการประหยัด ใช้จ่ายอย่างรอบคอบหรืองดรายการที่เป็นภาคบันเทิงลงไป แต่หลายคนอาจต้องการหารายได้อื่นๆ เข้ามาชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น การหางานพิเศษทำหรือการหาช่องทางลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนงามโดยที่ไม่ต้องออกแรงมากนักคงอยู่ในความคิดของทุกคน

ตรงนี้เองจึงกลายเป็นช่องทางให้กลุ่มมิจฉาชีพใช้จังหวะนี้เข้ามาหาเหยื่อ ในหลากหลายรูปแบบมีทั้งการหลอกลวงกลุ่มคนในวัยทำงานตามบริษัทต่างๆ จนถึงกลุ่มชาวบ้านและเกษตรกร กลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้มีความสามารถที่จะหลอกล่อนำเงินของประชาชนไปใช้ได้ด้วยวิธีการที่แยบยล แม้ว่ากลุ่มวัยทำงานในเมืองที่มีความรู้มากและมีฐานเงินเดือนไม่น้อยก็ตกเป็นเหยื่อของแก๊งค์นี้ได้ไม่ยาก ส่วนกลุ่มชาวบ้านเกษตรกรตามต่างจังหวัดก็เป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพอีกกลุ่มหนึ่ง

แฉ 2 รูปแบบกลโกงของบัตรเครดิต

สำหรับกลุ่มคนทำงานในเมืองส่วนใหญ่แล้วแก๊งมิจฉาชีพจะเลือกฉกทรัพย์จากเหยื่อกลุ่มนี้ด้วยการดูดเงินออกมาจากบัตรเครดิตและบัตรเอทีเอ็ม ด้วยวิธีการที่แยบยลและกรรมวิธีอันสุดไฮเทคแม้แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติถึงกับกุมขมับเลยทีเดียว

พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วาณิชบุตร ผู้บังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ปศท.) บอกว่า ต้องยอมรับว่าเหล่ามิจฉาชีพในปัจจุบันมีรูปแบบการทำมาหากินที่แยบยลมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในส่วนที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือ ซึ่งเท่าที่ ปศท.ได้เฝ้าติดตามกลุ่มมิจฉาชีพกลุ่มนี้พบว่ามีรูปแบบที่แยบคายมากขึ้นโดยเฉพาะกลโกงการใช้บัตรเครดิต และบัตรเอทีเอ็ม

สำหรับกลโกงการใช้บัตรเครดิตจะมี 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่หนึ่งกลุ่มมิจฉาชีพจะใช้ “นกต่อ” ที่เป็นพนักงานร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน หรือร้านค้าให้นำข้อมูลของลูกค้าไปให้ โดยจะใช้วิธีการรูดบัตรเครดิตสองครั้ง ครั้งแรกเป็นการจ่ายเงินของลูกค้าตามปกติ ครั้งที่สองจะดูดข้อมูลหรือสกิมเมอร์ ของลูกค้าเก็บไว้เพื่อนำไปใส่กับบัตรเครดิตปลอมที่มีอยู่จากนั้นก็จะนำไปรูดสินค้า โดยจะเน้นสินค้าประเภทจิวเวลรี ทองคำ โทรศัพท์มือถือ ซึ่งการนำบัตรปลอมไปใช้จ่ายนั้นส่วนใหญ่จะใช้ “มือปืนรับจ้าง” เป็นตัวหลักในการดำเนินการโดยจะแบ่งส่วนแบ่งให้ร้อยละ 20-25 เพราะถ้าหากเกิดพลาดถูกจับเรื่องก็จะจบอยู่ที่มือปืนรับจ้างเท่านั้น

รูปแบบที่ 2 เป็นรูปแบบที่อันตรายมาก เพราะกลุ่มมิจฉาชีพจะเล็งจับกลุ่มชาวต่างประเทศที่เดินทางมาเมืองไทย นั่นคือการติดต่อกับ “นกต่อ” ตามโรงแรมระดับ 5 ดาว เพื่อดูดเอาข้อมูลการใช้บัตร ก่อนจะขอสำเนาหนังสือเดินทาง และสลิปการใช้บัตรเครดิต เพื่อดูลายเซ็น จากนั้นทำบัตรปลอมขึ้นพร้อมลายเซ็นที่เหมือนกับเจ้าของเดิมและให้มือปืนรับจ้างไปรูดสินค้า หรือบางรายก็นำบัตรเครดิตปลอมไปขายตามท้องตลาด ซึ่งราคาบัตรเครดิตปลอมจะขึ้นอยู่กับคุณภาพบัตรว่า มีความใกล้เคียงกับของจริงแค่ไหน โดยบัตรปลอมที่เหมือนมากๆ เรียกว่า “บัตรปลอมโซนยุโรป” จะมีราคากว่า 1 แสนบาทต่อใบ แต่มีวงเงินรูดซื้อสินค้าได้เป็นหลักล้าน ส่วนราคาที่ถูกที่สุดเท่าที่พบอยู่ในประเทศไทย สนนราคาประมาณ 6,000 บาทต่อใบ แต่จะสามารถรูดซื้อสินค้าได้เท่าไรก็ต้องไป “วัดดวง” กันเอาเอง

“ที่ผ่านมามีการจับกุมผู้กระทำผิดได้ยากมากสาเหตุ เพราะเป็นการกระทำของแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งไม่ได้ลงมือในประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่จะลงมือเวียนในหลายประเทศ เช่น ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รวมทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับคนร้าย เช่น ทะเบียนราษฎร หมายเลขบัตรประชาชน ทะเบียนรถยนต์ ฯลฯ เพราะคนร้ายไม่ใช่คนไทย และไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งแก๊งเหล่านี้น่าจะมีมานานกว่า 10 ปีแล้ว โดยในระยะแรกจะใช้วิธีการง่ายๆ คือ ขโมยบัตรเครดิตแล้วนำบัตรมาปลอมแปลงลายเซ็นต์

ต่อมาก็พัฒนาการขโมยข้อมูลบัตรเครดิต โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “สกิมเมอร์” เพื่อก๊อบปี้ข้อมูล จากนั้นก็จะทำบัตรและปลอมลายเซ็นขึ้น วิธีการนี้จะมีพนักงานของร้านค้าบางแห่งรู้เห็นเป็นใจด้วย

สำหรับวิธีการล่าสุดเท่าที่พบคนร้ายนำมาใช้ คือ การนำเอาอุปกรณ์มาดูดข้อมูลจากชุมสายโทรศัพท์ โดยจะต้องตรวจสอบดูว่า มีข้อมูลรหัสบัตรเครดิตผ่านเข้ามาในชุมสายนั้นๆ หรือไม่ ซึ่งวิธีการนี้ต้องอาศัยช่างเทคนิคที่มีความเชี่ยวชาญสูงเพื่อตรวจสอบดูว่ามีข้อมูลรหัสบัตรเครดิตไหลเข้ามาในชุมสายโทรศัพท์หรือไม่ จากนั้นก็จะทำการ “แทป” เพื่อดักจับรหัสบัตรเครดิตที่จะมาพร้อมกับ “ซีเคียวริตี โค้ด” (รหัสลับ ซึ่งเป็นระบบรักษาความปลอดภัยของธนาคาร)

ด้วยเหตุนี้ แก๊งขโมยข้อมูลบัตรเครดิตจึงต้องมี “โปรแกรมถอดรหัส” เพื่อหาทางถอดรหัสและสกัดเอารหัสบัตรเครดิตมาใช้ จากนั้นก็จะบันทึกข้อมูลลงในเครื่องเอ็มพี 3 ซึ่งมีคุณสมบัติเด่น คือ สามารถเก็บข้อมูลได้มากกว่าแผ่นซีดีทั่วไป และน่าจะเก็บข้อมูลบัตรเครดิตได้มากกว่า 100 รหัส ตามที่ผู้ต้องหากล่าวอ้าง ทั้งนี้ บางธนาคารก็เริ่มหามาตรการ “ป้องกันการแทปข้อมูล” ด้วยการเปลี่ยนระบบการส่งข้อมูลผ่านชุมสายโทรศัพท์ มาเป็นทางเคเบิลใยแก้วนำแสง ซึ่งจะฝังลงใต้ดิน แต่ก็ยังไม่ถือว่าปลอดภัย 100% อยู่ดี

“ตำรวจเราเชื่อว่าอุปกรณ์ขโมยบัตรเดรดิตก็น่าจะเป็นอุปกรณ์ที่สั่งทำขึ้นเป็นพิเศษ ไม่มีวางขายตามท้องตลาด รวมทั้งโปรแกรมถอดรหัสก็เชื่อว่า น่าจะเป็น "โปรแกรมใต้ดิน" ซึ่งมีการเขียนขึ้นมาเอง”

พล.ต.ต.วิสุทธิ์ กล่าวเตือนผู้ใช้บัตรเครดิตเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพว่า ควรมีการตรวจสอบยอดเงินคงเหลือทุกครั้งก่อนไปใช้บัตรที่สำคัญเมื่อให้บัตรเครดิตกับพนักงานควรจะรอตรวจสอบจนแน่ใจก่อนว่าเขารูดบัตรของเราเพียงครั้งเดียว และที่สำคัญผู้ใช้บัตรเครดิตควรจะกำหนดวงเงินในการใช้ไม่มากนัก

“ที่เกิดปัญหาอยู่ตอนนี้เพราะมีคนบางกลุ่มใช้วงเงินเกินความจำเป็นกล่าวคือธนาคารเขาอนุมัติให้ใช้จำนวนเงินหลักแสก็จะใช้ตามนั้นจริงๆแล้วน่าจะมีการกำหนดจำนวนเงินตามความจำเป็นก็น่าจะเพียงพอ”

ระวัง! สูญเงินจากตู้เอทีเอ็ม

นอกจากการปลอมบัตรเครดิตแล้วสิ่งที่เป็นภัยที่บุคคลทั่วไปไม่ควรจะมองข้ามก็คือ การใช้บริการตามตู้เอทีเอ็มทั่วไป เพราะปัจจุบันปรากฏว่ามีกลุ่มมิจฉาชีพคิดรูปแบบการโกงขึ้นมาใหม่โดยใช้เครื่องมือซึ่งเป็นพลาสติกสวมครอบไปในช่องเสียบบัตรเพื่อดูรหัสบัตรเอทีเอ็ม หรือบางกลุ่มก็ใช้พลาสติกครอบแป้นกดรหัสเพื่อดูรหัสส่วนตัว เมื่อมีผู้เข้าไปใช้บริการแล้วจะไม่มีใครสังเกตแต่เมื่อกดรหัสส่วนตัวไปแล้วเงินจะไม่ออกก็จะไม่มีใครสนใจว่าสาเหตุเกิดจากอะไร

“เรื่องนี้เป็นอันตรายมาก พวกมิจฉาชีพมีวิธีการที่เอารหัสส่วนตัวแล้วนำไปปลอมบัตรจากนั้นก็จะสุ่มเสี่ยงกดเงินออกไป กรณีนี้มีผู้เสียหายหลายร้อยคนเข้ามาร้องเรียนแต่ท้ายสุดก็ตามจับกุมได้อย่างลำบาก”

ผู้บังคับการ ปศท.อธิบายอีกว่า นอกจากนี้ มีข้อควรระวังสำหรับผู้ใช้บริการตู้เอทีเอ็มทุกคนอีกประการหนึ่ง คือ อย่าได้ประมาท นั่นคือเมื่อคุณกดเอทีเอ็มอยู่ แล้วมีคนอยู่ด้านหลังให้ระวังไว้ เพราะพวกนี้อาจเป็นแก๊งมิจฉาชีพที่แฝงตัวมา ซึ่งพวกนี้จะรู้เทคนิคในการจำรหัสจากการกดปุ่มหน้าจอ

ถ้าสังเกตเวลากดเอทีเอ็มจะมีเสียงซึ่งถ้าใครหูดีๆ จะจำได้ว่ากดเลขอะไรไปบ้างใน 4 ตัว เพราะส่วนใหญ่แล้วร้อยละ 70% ของผู้ที่กดเงินจากตู้เอทีเอ็ม จะทิ้ง Slip เงินลงขยะ มันก็กลายเป็นประโยชน์ของผู้ที่คิดชั่วร้าย คือเขาเอา Slip นั้นมาใช้ประโยชน์จากเงินในบัญชีของคุณเอง

“สลิปมีเลขที่บัญชีสิบตัวปรากฏอยู่ ซึ่งแต่ละธนาคารจะมีการโอนเงินทางโทรศัพท์ โดยมีผู้ไม่ประสงค์ดีนี้จะโทร.ไปยังธนาคาร เพื่อโอนเงินผ่านทางโทรศัพท์ตามหมายเลขแล้วแต่ธนาคาร เขาก็จะได้จาก Slip ของผู้ที่ทิ้งไว้แล้ว เมื่อกดเลขบัญชีธนาคารเสร็จจะมีการให้ใส่รหัสประจำตัวสี่ตัว เมื่อกดเงินนั้นเขาก็จะจำไว้แล้วว่าหมายเลขอะไร จากนั้นก็กดหมายเลขนั้นลงไป เท่านี้เขาก็โอนเงินเข้าบัญชีของเขาได้ตามที่เขาต้องการ ข้อแตกต่างคือ ถ้าโอนเงินทางโทรศัพท์จะสามารถโอนเงินได้สูงสุด 5 แสนบาทต่อครั้ง ต่างจากเอทีเอ็มมาก ดังนั้น ถ้าใครมีเงินในบัญชีมากๆ ให้ระวังเอาไว้ด้วย หรือเขาอาจไม่เอาไปมากๆ ถ้าเขาเอาไปประมาณครั้งละห้าร้อย พันบาท ดังนั้นเมื่อกดเงินแล้วก็ให้เก็บสลิปไว้กับตัวจะดีที่สุด”

แชร์ลูกโซ่กวาดกลุ่มล่าง

นั่นคือภัยที่กลุ่มมนุษย์เงินเดือนต้องเผชิญมา ที่กลุ่มมิจฉาชีพใช้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและหลักการทางด้านการเงินใช้เพื่อหลอกล่อเอาเงินจากบัตรเครดิตหรือจากบัตรเอทีเอ็มไปจากตัวพวกเขาโดยที่ไม่รู้ตัว

เมื่อมนุษย์เงินเดือนที่มีบัตรเครดิตใช้ แม้จะมีการศึกษาสูง ฉลาดรอบรู้ ไม่น่าจะถูกหลอกง่ายๆ ยังโดนมาแล้ว แล้วประชาชนทั่วไปจะเหลืออะไร เพราะในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการแจ้งความคดีฉ้อโกงทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่และภูเก็ต จากกรณี “แชร์ข้าวสาร” ไม่เพียงแค่นั้นยังมีคดีหลอกลวงชาวบ้านที่จังหวัดปัตตานีอีกราย

ใน 2 จังหวัดแรกเป็นแชร์ข้าวสาร บริษัทที่เปิดดำเนินการเป็นบริษัทเดียวกันคือบริษัทร่วมทุนค้าปลีก จำกัด ส่วนที่ปัตตานีเป็นอีกบริษัท เอส.พี.ไอ 2 บี จำกัด ขายตรงผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และสินค้าอุปโภคบริโภค นี่เป็นเพียงแค่ 3 บริษัทที่ประชาชนที่ได้รับความเสียหายดำเนินการตามกฎหมาย แต่ยังมีอีกหลายบริษัทที่ยังเปิดดำเนินการอยู่หรืออาจปิดกิจการไปแล้วแต่ยังไม่เป็นคดีความ

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายงานว่า ที่เชียงใหม่ยังมีอีกหลายรายที่เปิดบริการอยู่นอกจากร่วมทุนค้าปลีกที่ปิดไปแล้วตอนนี้บริษัทสมคิดธุรกิจก็ปิดไปอีกราย

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า “จริงๆ แล้วการหลอกลวงประชาชนให้เข้าไปเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่นั้นมีมายาวนาน เจ้าของปิดกิจการหนีก็หลายราย แต่คนไทยก็ไม่เข็ด ประกอบกับได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของตัวสินค้าและสร้างแรงจูงใจในเรื่องผลตอบแทนภายใต้ระยะเวลาสั้นๆ แค่นี้ก็เรียกคนเข้ามาได้แล้ว”

ยิ่งสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในเวลานี้ น้ำมันแพง สินค้าต่างๆ แพง ค่าครองชีพสูงขึ้น ยิ่งเป็นแรงหนุนชั้นดีที่จะดึงคนให้เข้ามาสู่วงจรของแชร์ลูกโซ่ได้ง่ายขึ้น

ความโลภ : เงินต่อเงิน

หากพิจารณาเฉพาะผลตอบแทนเป็นใครก็อดใจไม่ไหว ลงทุนแค่ 650 บาท อีก 25 วันได้คืน 1,200 บาทและอีก 50 วันรับอีก 800 บาท เบ็ดเสร็จจ่าย 650 บาทได้เงินคืน 2,000 บาท คิดเป็นผลตอบแทน 307.69% ดีกว่าฝากแบงก์ไม่รู้กี่เท่า แต่ถ้าพิจารณาจากความเป็นจริงแล้ว ผลตอบแทนที่มากขนาดนี้ภายในระยะเวลา 50 วันนั้นหากเป็นลงทุนในกิจการที่สุจริตคงไม่มีที่ไหนทำได้ ตรงนี้กลับไม่มีใครคิด

สินค้าที่นำมาใช้จะเป็นอะไรก็ได้ เช่น น้ำมัน ข้าวสาร บัตรเติมเงิน อัตราแลกเปลี่ยน อาจมีสินค้าตัวอย่างให้เห็น แต่จริงๆ แล้วตัวสินค้านั้นไม่มีความหมายเลย เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของแชร์ลูกโซ่คือการหาสมาชิกเข้ามาให้มากที่สุด โดยที่เจ้าของที่เปิดกิจการนี้จะเป็นผู้รับประโยชน์สูงสุด คนที่เข้ามาทีหลังมีหน้าที่จ่ายเงินให้กับเจ้าของและคนที่เข้ามาก่อนเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เมื่อไม่สามารถหาคนมาเพิ่มได้อีกเงินที่จะมาจ่ายให้กับคนที่เข้ามาก่อนก็ไม่มี สุดท้ายก็ปิดบริษัทหนีทุกราย

การเปิดบริษัทประเภทนี้ทำได้ง่าย เพียงแค่ขอจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ ก็เปิดดำเนินการได้ แม้ว่าบางบริษัทที่มีปัญหาจะตั้งขึ้นมาเมื่อ 19 กรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมาก็ตามเปิดได้ 2-3 เดือนก็ต้องปิดตัวลง ทุนจดทะเบียนที่ระบุไว้ว่ากี่ล้านบาทนั้นก็เป็นแค่ตัวเลขชำระจริงๆ อาจจะไม่ถึงพันหรือหมื่นบาทก็ได้

ที่สำคัญคือ ไม่มีหน่วยงานใดที่ทำหน้าที่ติดตามว่าเมื่อจัดตั้งบริษัทแล้วได้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แม้บางแห่งจะระบุว่าเพื่อดำเนินธุรกิจขายตรง แต่เป็นขายตรงจริงๆ หรือเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ เพราะตัวแชร์ลูกโซ่แอบอิงกับหลักเกณฑ์ของการขายตรง แต่พฤติกรรมในการดำเนินธุรกิจนั้นมุ่งที่การหาเงินจากตัวสมาชิกเป็นหลัก แตกต่างกับขายตรงที่เน้นขายสินค้าหรือเพิ่มสมาชิกก็เพื่อให้ขายสินค้า

ในการดำเนินการตามกฎหมายนั้น ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ การเอาผิดจะต้องมีองค์ประกอบครบคือมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนเข้ามาเล่นเกิน 10 คน มีสัญญาว่าจะจ่ายผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสถาบันการเงิน และไม่มีการดำเนินการจริงหรือทำธุรกิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจะต้องมีผู้เสียหาย

ดังนั้น กว่าจะมีผู้เสียหายนั่นคือเจ้าของกิจการนั้นหอบเงินหนีไปแล้ว แม้ว่าระหว่างที่ดำเนินการอยู่ก็เข้าไปทำอะไรไม่ได้ เพราะผู้ที่เข้ามาร่วมลงทุนกำลังเพลิดเพลินกับผลตอบแทนที่ได้รับ หากเข้าไปก็จะกลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้ธุรกิจเขาเจ๊ง ดังนั้นแชร์ลูกโซ่นี้จึงไม่ตายไปจากเมืองไทย เพียงแต่จะบูมมากหรือน้อยในช่วงใดเท่านั้น

ที่ผ่านมาทำได้เพียงแค่เตือนเท่านั้น ส่วนคนที่เข้าไปลงทุนก็มีทั้งกลุ่มที่ไม่รู้และกลุ่มที่รู้ โดยเฉพาะกลุ่มที่รู้นั้นก็หวังจะเข้าไปเป็นสมาชิกในลำดับแรกๆ เพื่อให้กลุ่มหลังๆ เข้ามาสร้างรายได้ให้กับตัวเอง กว่ากิจการจะปิดพวกเขาก็ลอยตัว

“คาถาเสกเงิน” ฮอลลีวูดอาย

นอกจากนี้ยังมีการฉ้อโกงผู้คนที่หลากหลายออกไป ซับซ้อนมากขึ้น น่าเชื่อถือมากขึ้น เช่นการส่งจดหมายไปที่บ้านหรือ SMS เข้าโทรศัพท์มือถือว่าท่านเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลใหญ่ แต่ต้องโอนเงินเพื่อชำระค่าธรรมเนียมก่อน หรือการเชิญชวนให้เข้ามาทำงานบนเว็บไซต์ ซึ่งมีทั้งจริงและเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่

บางรายก็ใช้รูปแบบของไสยศาสตร์เข้ามา เช่น ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีผู้เสียหายไปไม่น้อยเช่นกัน โดยจัดรูปแบบเป็นพิธีกรรม “คาถาเรียกเงิน”

ผู้เสียหายรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า มีคนนอกพื้นที่กลุ่มหนึ่งเข้ามาติดต่อกับคนท้องที่ เพื่อชักชวนชาวบ้านบริเวณนั้นให้มาพิสูจน์พิธีกรรมดังกล่าว โดยสถานที่ทำพิธีกรรมนั้นเป็นบ้านของชาวบ้านรายหนึ่งที่ตั้งห่างออกไป พื้นที่รอบตัวบ้านเป็นสวนยาง ไม่มีบ้านคนอื่นบริเวณใกล้เคียง มีการจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาเหมือนพิธีกรรมทั่วไป มีคนแต่งกายคล้ายพราหมณ์มาเป็นคนสวด

“ทุกอย่างเหมือนในหนัง มีลมพัดแรง ฟ้าร้อง เมื่อสวดไปสักพักก็มีเงินปลิวลงมา คนที่ไปก็งงว่าเงินหล่นมาจากไหน วันนั้นเงินที่ปลิวลงมาคนที่ไปชวนมาก็มอบให้กลับบ้านได้ 500 บาทบ้าง 2,000 บาทบ้าง”

พวกเขายังบอกอีกว่าจะทำพิธีอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้าใครจะเข้ามาร่วมพิธีจะต้องเสียค่าเข้าในพิธี 8,000 บาท แต่เขารับประกันว่าจะต้องได้เงินกลับคืนมาไม่น้อยกว่า 2 เท่า และต้องลงชื่อเสียจ่ายเงินไว้ก่อนถึงวันจริง

คนที่ได้เงินในวันนั้นก็กลายเป็นนักประชาสัมพันธ์ชั้นดี บอกข่าวนี้ให้กับคนอื่น ๆ มีคนจำนวนไม่น้อยกว่า 30 คนที่แสดงความสนใจพร้อมทั้งจ่ายเงิน 8,000 บาทต่อหุ้นเพื่อเข้าร่วมพิธีหรือจะจ่ายมากกว่า 8,000 บาทก็ได้ เมื่อถึงวันจริงมีใครเห็นคนกลุ่มนั้น แม้กระทั่งเจ้าของบ้านซึ่งเป็นคนที่ชาวบ้านรู้จัก เหลือไว้แต่ตัวบ้านเท่านั้น

ตอนนี้ยังไม่มีการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของอุปนิสัยของคนภาคใต้ หากมีการแจ้งความก็เท่ากับเป็นการประจานตัวเองว่า “โง่” กลุ่มผู้หลอกลวงจึงลอยตัวไปพร้อมเงินหลายแสนบาท

กลุ่มงานป้องปรามเงินนอกระบบกล่าวเพิ่มเติมว่า ตราบในที่สภาพเศรษฐกิจยังเป็นอย่างนี้เหล่ามิจฉาชีพก็ยังคิดช่องทางฉ้อโกงใหม่ๆ ขึ้นมาได้ตลอดเวลา รูปแบบอาจเปลี่ยนไป มีความแนบเนียนมากขึ้น ขั้นตอนซับซ้อนขึ้น ดังนั้นประชาชนควรจะต้องไตร่ตรองให้ดีถึงเรื่องผลตอบแทนที่สูงกว่าความเป็นจริง หรือต้องระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตและบัตรเอทีเอ็ม

“แชร์ลูกโซ่” เกิดง่ายรวยเร็ว

แม้จะมีการปราบปรามกันอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้ามือแชร์ลูกโซ่ แต่เรื่องก็เงียบหายไประยะหนึ่ง จากนั้นธุรกิจแชร์ลูกโซ่ก็เกิดขึ้นมาอีก ด้วยรูปแบบของตัวสินค้าที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเจ้าของว่าจะอุปโลกน์อะไรมาเป็นสินค้า แต่เป้าหมายทุกอย่างยังเหมือนเดิมคือดูดเงินจากคนอื่นเข้ากระเป๋าตัวเอง

วิธีการของแชร์ลูกโซ่นั้นส่วนใหญ่มักมุ่งไปที่กลุ่มคนโลภ อยากได้ผลตอบแทนสูง ๆ โดยที่มีขั้นตอนในการลงทุนที่ไม่ยุ่งยาก โชว์ตัวเลขให้เห็นว่าได้ผลตอบแทนมากว่าเงินลงทุนหลายเท่าตัว หลักการแบบนี้สามารถกวาดคนได้ทุกสาขาอาชีพ ไม่เว้นแม้กระทั่งคนที่มีการศึกษาสูง

ดังนั้น การสร้างภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ ตั้งแต่ชื่อบริษัทต้องฟังแล้วทันสมัยหรือเป็นสากล สถานที่ทำการต้องหรูหรา ห้องสัมมนาในโรงแรมหรู การแต่งกายของทีมงานไม่แตกต่างจากนักธุรกิจ ผูกไท ใส่สูท มีแบบฟอร์มพนักงาน

ที่สำคัญที่สุดคือ ตัวผู้บรรยายจะเป็นคนที่มีศิลปะในการพูด พูดทำให้คนคล้อยตามได้ พูดแล้วคนที่มาฟังต้องอยากเป็นสมาชิก แม้ไม่มีเงินก็ขวนขวายที่จะกู้ยืมคนอื่นมาเพื่อมาลงทุน

ในจังหวัดเชียงใหม่ยังมีอีกหลายรายที่ยังเปิดให้บริการอยู่ บางรายคือลูกทีมของแชร์ข้าวสารที่แยกตัวออกมาตั้งกิจการเอง เนื่องจากทราบถึงหลักการใหญ่ของแชร์ข้าวสารแล้วนำมาปรับใช้เป็นของตัวเอง

การเปิดบริษัทใหม่เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายเพียงแค่ไปขอจดทะเบียนในรูปบริษัทกับพาณิชย์จังหวัดหรือที่กระทรวงพาณิชย์ จากนั้นก็ดำเนินการได้เลย เพราะไม่มีหน่วยงานใดที่จะเข้ามาตรวจสอบในช่วงเริ่มแรก

เมื่อมีหลายเจ้าดังนั้นการกำหนดผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับจึงเป็นเรื่องสำคัญเพราะถือว่าเป็นตัวเลขที่จะเรียกลูกค้าได้ดี รวมถึงเรื่องของวันที่กำหนดให้มารับเงินปันผลแต่ละงวดก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างที่เชียงใหม่นั้นกำหนดราคาสินค้าไว้ที่ 1,450 บาท หากไม่รับสินค้าคืนเงิน 800 บาท ซึ่งผู้ที่ต้องการเข้าไปลงทุนนั้นไม่ได้ต้องการสินค้าอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการเงินปันผลที่จะได้รับตามที่เจ้าของแชร์กำหนดไว้ เงินลงทุนเริ่มแรกจึงเท่ากับ 650 บาท จากนั้นอีก 25 วันรับเงินคืน 1,200 บาทและอีก 50 วันรับคืนอีก 800 บาท

สมมติให้กลุ่มแรกที่เข้าไปลงทุนมี 5 คน ลงทุนคนละ 650 บาทเท่ากับเจ้าของได้เงินไปทั้งสิ้น 3,250 บาท วันถัดมาเริ่มกลุ่มที่ 2 เข้ามาหากมีเข้ามาอีก 30 คนเจ้าของจะได้เงินไป 19,500 บาท จากนั้นมีกลุ่มที่ 3 เข้ามาอีก 500 คนจะมีเงินไหลไปที่เจ้าของอีก 325,000 บาท เอาเป็นว่าพอรับกลุ่มที่สามเสร็จครบกำหนด 25 วันพอดี เจ้าของแชร์จะมีเงินอยู่ในมือ 347,750 บาท แต่จ่ายให้กับกลุ่มแรกไปเพียง 6,000 บาท เหลือเงิน 341,750 บาท

จากนั้นก็รับลูกค้ากลุ่มอื่น ๆ อีกสมมติว่าได้ลูกค้ารอบหลังอีก 1,000 คน จะได้เงินเข้ามาอีก 650,000 บาท เจ้าของจะมีเงินในมือ 991,750 บาท หากกลุ่ม 2 ครบกำหนด 25 วันก็จ่ายเงินคืน 36,000 บาท และถ้าครบช่วง 50 วันที่จะต้องจ่ายเงินให้กับกลุ่มที่ 1 อีก 4,000 บาท เจ้ามือยังเหลือเงินอีก 951,750 บาท

หลักการของแชร์ลูกโซ่คือการเอาเงินค่าซื้อสินค้าของสมาชิกรายใหม่มาให้กับเจ้าของแชร์แล้วนำมาจ่ายต่อให้กับสมาชิกที่เข้ามาก่อนหน้าเท่านั้นเอง นั่นคือตัวธุรกิจนี้จะอยู่ได้ด้วยเงินของสมาชิกใหม่เท่านั้น หากมีสมาชิกใหม่เข้ามาน้อยวงจรการจ่ายเงินคืนให้กับสมาชิกก็จะสะดุดลง

การกำหนดช่วงเวลาเช่น 25 วัน และหลังจากจ่ายครั้งแรกอีก 50 วันนั้นถือเป็นการประมาณการว่าในช่วงเวลาประมาณ 75 วันนั้นน่าจะเพียงพอที่จะหาสมาชิกใหม่เข้ามาจ่ายเงินให้กับเจ้าของและสมาชิกรุ่นก่อนหน้านี้ได้

ในช่วงแรกที่ทุกคนตาโตกับตัวเลขของรายได้ เจ้าของแชร์อาจจะไม่มีเงื่อนไขให้สมาชิกเก่าต้องชักชวนสมาชิกใหม่เข้ามา แต่ถ้าประเมินแล้วว่ายอดสมาชิกใหม่เริ่มอืดก็อาจมีการให้ผลตอบแทนสำหรับสมาชิกเก่าที่สามารถแนะนำสมาชิกใหม่

ตัวเลขที่ยกตัวอย่างนั้นเป็นการสมมติให้ทุกคนลงทุนคนละ 1 หุ้นหรือ 650 บาท ตัวเลขสมาชิกที่เข้ามาแต่ละชุดอาจจะมาหรือน้อยกว่าตัวเลขที่ยกมาก็ได้ เพราะผู้ที่เข้ามาลงทุนจริงๆ แล้วไม่ได้เข้ามาซื้อแค่คนละ 1 หุ้นแน่นอน บางคนลงทุนครั้งแรกกันเป็นแสน ลองคิดดูให้ดีว่าเจ้าของแชร์จะถือครองเงินเป็นล้าน ๆ บาทภายในเวลาไม่กี่วัน

หากต้องการได้เงินที่มากกว่านี้เจ้าของแชร์ก็ต้องบริหารจัดการในเรื่องการหาสมาชิกใหม่ให้ดีพร้อมทั้งจัดสรรเงินให้กับสมาชิกในช่วงแรกๆ ให้ดีเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อจะได้ให้คนที่เป็นสมาชิกเอาไปบอกต่อ ถือเป็นการทำประชาสัมพันธ์ให้กับกิจการตัวเอง แม้ในบางช่วงยอดลูกค้าใหม่อาจจะไม่ตามเป้า ต้องควักเงิน(คนอื่น) จ่ายออกไปบ้างก็ตาม ตราบใดที่ยอดสมาชิกใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่องแล้วละก็โอกาสล้มก็จะช้าออกไป

เกมนี้เมื่อถึงเวลาหนึ่งที่ไม่มีรายใหม่เข้ามาถือว่าจบเกม แน่นอนว่าตัวเจ้าของจะทราบว่าสถานการณ์ในขณะนั้นควรจะสู้ต่อหรือเผ่น   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us