การมาเยือนประเทศไทยของหวอ วัน เกี๊ยต นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
เมื่อวันที่ 28 - 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ถือเป็นจุดสูงสุดในความเพียรพยายามของทั้งสองประเทศที่จะเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์
ซึ่งตั้งอยู่บนความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน รวมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา นักธุรกิจไทยไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรกับความพยายามที่จะเข้าไปลงทุนในเวียดนามมักประสบปัญหาหลายด้าน
อย่างเช่น การไม่สามารถหาบุคคลที่จะติดต่อทั้งภาครัฐบาลและเอกชนของเวียดนามได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
จึงทำให้การดำเนินงานล่าช้าหรือเป็นโมฆะ การขาดข้อมูลที่ดีเพื่อช่วยในการตัดสินใจในกรณีของสถานที่ตั้งแหล่งทรัพยากร
ประเภทธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุน สิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคพื้นฐานอันเป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อการลงทุน
การขาดความรู้เรื่องภาษี กฎเกณฑ์ข้อบังคับ และนโยบายของรัฐบาลเวีดยนาม ซึ่งรวมถึงด้านการเงินและแรงงาน
และประกาสำคัญคือการเจรจาต่อรองและการขออนุมัติการลงทุนจากภาครัฐบาลและเอกชนของเวียดนาม
เมื่อเทียบกับการเข้าไปลงทุนของประเทศใกล้เคียงอย่างสิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง
ซึ่งประสบผลสำเร็จมากกว่า ทั้งนี้เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีประสบการณ์ทางด้านการค้ากับนานาชาติมากกว่านักธุรกิจไทย
ประกอบกับประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนในเวียดนามอยู่จำนวนมาก
ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาในการดำเนินงานบ้างแต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคมากนัก ในขณะที่นักธุรกิจไทยจะติดต่อธุรกิจในเวียดนามด้วยตัวเอง
ช่องว่างตรงจุดนี้เองที่ทำให้นักธุรกิจซึ่งคลุกคลีอยู่กับการค้าในต่างประเทศ
3 คนรวมตัวกันเปิดบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจในเวียดนาม หรือบีไอวี (BUSINESS
IN VIETNAM CONSULTING) ขึ้น นำทีมโดยวิรัช หลีอาภรณ์ นักการตลาดที่ผันมาทำธุรกิจของตัวเองในโครงการออร์ชาร์ดปาร์ค
บ้านสวนไฮเทคที่จังหวัดระยองหลังจากสลัดตำแหน่งผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและแอฟริกาจากค่ายจอห์นสัน
แอนด์ จอห์นสัน ในปี 2533
นอกจากนี้ ยังมี ภูริพันธุ์ พิรกิจกุศล ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญด้านกิจการระหว่างประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในภูมิภาคอินโดจีนจากประสบการณ์ในการทำงานกับคณะทูตของเวีดยนามในอดีตถึง
5 ปี (ในปี 2502-2507) รวมถึงการทำงานกับองค์การสหประชาชาติเป็นเวลานานถึง
25 ปี จนเกษียณอายุเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2533
และสุพันธ์ โสตถิทัต ซึ่งผ่านงานทางด้านการธนาคารมาโดยตลอดจากธนาคารออมสิน
ธนาคารกรุงไทย BANK OF ASIA และที่ THE TRUSTEE SAVINGS BANK ในสกอตแลนด์ด้วย
วิรัชอธิบายถึงโอกาสการลงทุนในเวียดนามพร้อมทั้งบทบาทของบีไอวีว่า "เวียดนามยังเป็นโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับนักลงทุน
ถึงแม้ว่าปัจจัยด้านความเสี่ยงยังคงมีอยู่ ในอดีตมีบริษัทบางรายที่ไม่ประสบความสำเร็จในการพยายามเข้าไปทำธุรกิจในเวีดยนาม
ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการติดต่อสื่อสารผิดช่องทาง และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเขามีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับวัฒนธรรมและนโยบายด้านการลงทุนของเวียดนาม
ดังนั้นบทบาทของบีไอวีจะไม่จำกัดอยู่เพียงแค่พยายามชี้แนะให้ข่าวสารแก่นักธุรกิจเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวด้านการค้า
เศรษฐกิจ และการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังจะครอบคลุมไปถึงการช่วยให้นักธุรกิจเหล่านั้นได้มีโอกาสพบกับผู้ร่วมทุนในอนาคตในเวียดนามอีกด้วย"
ดังนั้น ขอบข่ายการทำงานของบีไอวีนอกเหนือจากการให้คำปรึกษาแนะนำ และช่วยเหลือบริษัทในประเทศไทยและต่างประเทศที่สนใจการลงทุนในเวียดนามให้เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดแล้ว
ยังช่วยเจรจาตกลงต่อรองกับรัฐบาลเวียดนามในการดำเนินการลงทุนรวมทั้งขอวีซ่าธุรกิจ
และเอกสารที่จำเป็นในการแสดงตัวต่อรัฐบาลเวีดยนาม รวมถึงการให้เจ้าหน้าที่เวียดนามช่วยอำนวยความสะดวกกับตัวแทนธุรกิจที่ไปหาลู่ทางการลงทุนในเวียดนาม
พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือตัวแทนธุรกิจการลงทุนในเรื่องการเซ็นสัญญาต่าง
ๆ กับเวียดนามและให้คำปรึกษาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ กับบริษัทในประเทศไทยและต่างประเทศที่ได้ดำเนินการลงทุนอยู่ในเวียดนามด้วย
สำหรับการคิดค่าบริการนั้น วิรัชกล่าวว่าจะคิดจากเวลาที่เสียไปกับการให้คำปรึกษาตลอดโครงการรวมกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเดินทางไปติดต่อธุรกิจ
ส่วนลูกค้ากลุ่มเป้าหมายคือบริษัทใหญ่และบริษัทขนาดกลาง รวมถึงบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย
ภูมิพันธุ์ได้อธิบายถึงศักยภาพของเวีดยนามที่เป็นปัจจัยเอื้ออำนวยต่อการลงทุนหลายประการ
ดังนี้
ทรัพยากรธรรมชาติ เวียดนามมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ บริษัทข้ามชาติหลายบริษัทกำลังสำรวจขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในเวียดนาม
และได้ค้นพบแหล่งน้ำมันดิบขนาดใหญ่บริเวณนอกทะเลอีกด้วย นอกจากเวียดนามจะเป็นแหล่งแร่ธาตุหนักต่าง
ๆ รวมทั้งถ่านหินจำนวนถึงพันล้านตันแล้ว ยังเป็นแหล่งแร่ธาตุที่สำคัญอีกหลายชนิด
ได้แก่ แร่บอกไซด์มีจำนวน 6,750 ล้านตัน แร่เหล็ก แร่อิลมีไนท์จำนวน 10 ล้านตัน
ตะกั่วและสังกะสี ทองแดง ออกไซด์ของโลหะที่หายาก ทอง แร่อัญมณี โครเมี่ยม
และแอพพาไทท์ ซึ่งน่าสังเกตว่ามีเพียงถ่านหินเท่านั้นที่ได้รับการสำรวจขุดเจาะ
ส่วนแร่ธาตุอื่น ๆ ที่เหลือเกือบทั้งหมดยังไม่มีการนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์
ตลาดแรงงาน เวียดนามมีจำนวนประชากรกว่า 65 ล้านคนจึงเป็นตลาดแรงงานขนาดใหญ่
แต่ละปีจะมีแรงงานเพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งล้านคน ซึ่งเป็นผู้ที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษา
(เทียบเท่าระดับ 9 ในระบบการศึกษาภาคบังคับ 12 ปี) ในขณะที่ค่าจ้างยังคงต่ำอยู่
ด้านอุตสาหกรรม ตามประกาศขององค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ เวียดนามมีวัตถุดิบที่อุดมสมบุรณ์สำหรับอุตสาหกรรมส่วนใหญ่
ซึ่งได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตอาหาร การบรรจุหีบห่อ อุตสาหกรรมการทอผ้า อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องหนัง
ไม้และกระดาษ วิศวกรรม เคมีภัณฑ์ การผสมโลหะและการถลุงแร่ แต่เวียดนามยังต้องการความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีความรู้ความชำนาญ
การฝึกอบรมความรู้ด้านโรงงาน เครื่องจักรและเครื่องมือต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านทุนที่จะมาลงในอุตสาหกรรม
ในด้านการก่อสร้างและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เวียดนามมีฝั่งทะเลยาว 3,200
กิโลเมตรและหาดทรายกว้างใหญ่ที่ยังคงสวยงามตามธรรมชาติหลายแห่ง โอกาสการลงทุนด้านนี้จึงเปิดกว้างมาก
ได้แก่ การปรับปรุงและสร้างโรงแรมใหม่ ๆ โครงการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ โครงการด้านการขนส่ง
และโครงการพัฒนาแหล่งความบันเทิง
สิ่งหนึ่งที่เป็นความปรารถนาของรัฐบาลเวียดนามที่อำนวยประโยชน์ให้นักลงทุนชาวต่างชาติ
และชาวเวียดนามเองจะเห็นได้จากกฎหมายว่าด้วยการลงทุนของชาวต่างชาติเมื่อวันที่
27 ธันวาคม 2530 และการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวนี้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน
2533 เกี่ยวกับเรื่องที่รัฐบาลให้ความมั่นใจว่าจะรับรองความยุติธรรมและปฏิบัติต่อนักลงทุนทุกคนโดยเสมอภาคกัน
และกิจการที่ลงทุนโดยนักลงทุนต่างชาติไม่จัดเป็นของรัฐบาลเวียดนาม จะไม่ถูกยึดและโอนเป็นของรัฐบาลเวียดนาม
นักลงทุนต่างชาติมีสิทธินำเงินทุนและผลกำไรกลับประเทศของตน และนักลงทุนต่างชาติจะลงทุนด้วยเงินทุนของตนเอง
100% ก็ได้
แต่เวีดยนามเองก็มีปัจจัยหลายประการที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนหลายประการ
ประการแรก เวียดนามมีถนนเป็นระยะทางยาวประมาณ 100,000 กิโลเมตร แต่ถนนเพียง
10-13% เท่านั้นที่มีพื้นผิวถนนที่แข็งแรง สะพานต่าง ๆ ส่วนใหญ่ถูกทำลายลงไประหว่างสงครามและสะพานที่สร้างขึ้นหลังจากนั้นล้วนแต่ด้อยคุณภาพ
ประการที่สอง เวียดนามมีทางรถไฟยาวประมาณ 3,000 กิโลเมตร แต่ทางรถไฟส่วนใหญ่มีขนาดแคบมากจึงเป็นตัวจำกัดความเร็วและความสามารถในการบรรทุกสินค้า
ประการที่สาม ท่าเรือของเวียดนามสามารถรองรับสินค้าได้เพียง 10 ล้านตันต่อปีเท่านั้น
ประการที่สี่ การสื่อสารโทรคมนาคมระหว่างประเทศของเวียดนามกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา
โดยบริษัทโทรคมนาคมระหว่างประเทศของออสเตรเลียได้เซ็นสัญญาติดตั้งสถานีส่งดาวเทียมภาคพื้นดินที่ทันสมัยในกรุงฮานอย
และกรุงโฮจิมินห์เมื่อปลายปี 2533 ซึ่งเป็นที่คาดหมายกันว่า สถานีเหล่านี้จะช่วยพัฒนาระบบโทรศัพท์และระบบเทเล็กซ์ได้เป็นอย่างดี
ประการสุดท้าย คือความยากลำบากในการเริ่มต้นในทิศทางที่ถูกต้องและในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
การขออนุมัติจัดตั้งลงทุนในบางโครงการต้องติดต่อหลายกระทรวง หลายกรมกอง ความสลับซับซ้อนในระบบที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้นักลงทุนเสี่ยงต่อความล้มเหลว
และความสูญเปล่าทั้งเวลาและเงินทอง
"สิ่งที่ควรคำนึงถึงสำหรับนักธุรกิจและนักอุตสาหกรรมของไทย คือ จะต้องพิจารณาการลงทุนในเวียดนามในระยะยาว
และควรที่จะสร้างรากฐานที่มั่นคงในเวียดนามตั้งแต่ตอนนี้และควรตระหนักถึงความจริงที่ว่า
เมื่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกายกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเวียดนาม บริษัทต่าง
ๆ จากสหรัฐฯ และประเทศที่พัฒนาแล้วอื่น ๆ จะมุ่งสู่ประเทศเวียดนามเพื่อหาลู่ทางในการลงทุน
และเมื่อถึงเวลานั้นอาจจะสายเกินไปสำหรับนักธุรกิจและนักอุตสาหกรรมของไทยเรา"
ภูริพันธุ์ได้วิเคราะห์สถานการณ์และให้ข้อเสนอแนะจากประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้และได้สัมผัสตลอดอายุการทำงานที่ผ่านมา