Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2534








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2534
"ดื่มไวน์สไตล์คนมีคลาส"             
โดย นฤมล อภินิเวศ
 


   
search resources

บุญรอดเทรดดิ้ง, บจก.
วิไลพร ปิติมานะอารี
Wine




"โลกของไวน์มีขาว - แดง เขาเปรียบกันไว้ ไวน์ขาวคือหญิงสาว ไวน์แดงนั้นประดุจเพศชาย หากจะหาความหมายที่ลึกไปกว่านั้น ไวน์เป็นน้ำอมฤตที่พระเยซูเป็นศาสดาของชาวคริสต์ ทรงเลือกใช้ในพิธีกรรมเพื่อระลึกถึงพระองค์ก่อนจะทรงถูกตรึงกางเขนในวันรุ่งขึ้น"

ณ ห้องกัปตันบุช กริล โรงแรมรอยัลออร์คิด เชอราตัน ในยามค่ำคืนแรกเริ่มฤดูหนาว ฤดูที่เหมาะกับบรรยากาศชื่นมื่นรื่นเริงสุขสันต์

"เราเป็นตระกูลผู้ผลิตไวน์เก่าแก่ของประเทศออสเตรียมีชื่อเสียงและประวัติยาวนานถึง 200 ปี..." เสียงทุ้ม ๆ ของโฆษกกำลังแปลคำกล่าวเปิดตัวไวน์ตระกูล OSBERGER ของ Mr. Helmut Osberger จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย

งานในวันนี้ บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง เป็นเจ้าภาพในฐานะเป็นผู้นำไวน์ตระกูลนี้เข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย การชิมไวน์เริ่มตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ทางบริษัทจัดไว้เฉพาะเจาะจงให้กับนักธุรกิจร้านอาหาร ส่วนเวลาค่ำ 1 ทุ่มตรง เป็นงานเลี้ยงคอกเทล

คำกล่าวเปิดตัวไม่ยืดเยื้อเกินไปราวกับรู้ใจแขกเหรื่อในงานมีทั้งชาวต่างประเทศ และชาวไทยมากหน้าแต่คุ้นตากันดี สำหรับผู้ติดตามกรอบข่าวสังคมเป็นประจำ เสียงพูดคุยอื้ออึงมากขึ้น โดยเฉพาะตามโต๊ะที่ตั้งไวน์ให้ลิ้มรสควบคู่กับอาหารออสเตรียเคล้าด้วยเสียงดนตรีบรรเลงเพลง Right Here Waiting

"เมื่อก่อนนี้ การนำไวน์เข้ามาไม่ประสบความสำเร็จก็เพราะว่าคนไทยไม่มีความรู้เรื่องไวน์ ชื่อก็ประหลาด เรียกยาก และมีคุณสมบัติต่าง ๆ กัน" วิไลพร ปิติมานะอารี ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ย้อนอดีตต้นเหตุที่ตลาดไวน์ไม่แพร่หลายในหมู่คนไทยกับ "ผู้จัดการ"

สำหรับผู้หลงไหลคลั่งไคล้ในรสไวน์ สิ่งแรกที่จำเป็น คือ ต้องออกเสียงเรียกยี่ห้อไวน์หรือพันธุ์องุ่นให้เหมือนกองแนสเซอร์หรอืผู้ชำนาญไวน์เขาพูดกัน

คอไวน์อ่อนหัดทั้งหลายควรอย่ามองข้ามจุดนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการหน้าแตกเวลาสั่งออร์เดอร์ไวน์ หาไม่แล้วอาจเจอกรณีถูกบ๋อยสูทดำสอนสั่งด้วยการทวนชื่อสำเนียงเสียงที่ถูกต้องตอกหน้าให้ทรมานใจหลายวัน

วิไลพร แห่งบุญรอด เทรดดิ้ง ดูเหมือนว่าจะเข้าใจปัญหานี้ดียิ่ง เธอมักออกสำเนียงเสียงชัดเจนเวลาพูดถึงไวน์ตระกูล OSBERGER ถ้าเป็นภาษาอังกฤษเรียกว่าออสเบอร์เจอร์ และออสแบเกอร์ตามภาษาเยอรมันต้นตำรับ

"กลุ่มลูกค้าไวน์ส่วนใหญ่ มักเป็นชาวต่างชาติ แต่ในระยะหลัง ประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา คนไทยนิยมดื่มไวน์มากขึ้น เพราะมีผู้จบการศึกษาต่างประเทศจำนวนมาก และอีกอย่างไลฟ์สไตล์ของคนกรุงเทพฯ ค่อนข้างจะเลียนแบบชาวตะวันตกอยู่แล้ว" เป็นความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของตลาดไวน์ที่วิไลพรบอกกับ "ผู้จัดการ" ซึ่งทางบริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง คาดการณ์ว่าเหล้านอกที่บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายประมาณ 10 ยี่ห้อนั้นจะมียอดขาย 70 ล้านบาทในปีนี้ และจะสามารถพัฒนาเป็น 500 ล้านบาทภายใน 5 ปีข้างหน้า

รากฐานทางวัฒนธรรมของไวน์มีความสัมพันธ์กับคนในซีกโลกตะวันตกมาตั้งแต่โบราณกาล

ว่ากันว่าคนตะวันตกกับการดื่มไวน์ เปรียบเสมือนคนไทยดื่มน้ำผลไม้ คือ ดื่มได้ทุกเมื่อทุกเวลา ไวน์เป็นแอลกอฮอล์ชนิดเดียวที่ผู้ใหญ่ยอมให้เด็กเล็ก ๆ ดื่ม เพราะเชื่อว่าเป็นยาบำรุงสุขภาพ แต่ก็มิใช่ว่าให้ดื่มเพียว ๆ ที่รินออกจากขวด จะต้องลดความเข้มข้นลงด้วยการผสมน้ำก่อน

ไวน์เป็นเครื่องดื่มสามัญมาตั้งแต่ครั้งอดีตกาล เป็นเครื่องดื่มที่เกิดก่อนเบียร์ กาแฟ หรือชา คนโบราณเรียนรู้การหมักเหล้าไวน์เพื่อประโยชน์ในการถนอมรักษาคุณค่าผลองุ่นซึ่งปลูกกันทั่วยุโรปและตะวันออกกลาง

ศาสตราจารย์ ดร.มอนตี้ มอริส เจ้าคณะ CHRIST CHURCH ประเทศไทย ลาว และกัมพูชา บอกเล่าอดีตเกือบ 2,000 ปีกับ "ผู้จัดการ" เพื่ออธิบายเหตุผลว่าทำไมพระเยซูทรงเลือกเหล้าองุ่นคู่กับขนมปังในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ครั้งสุดท้ายกับสานุศิษย์ 12 คน

ไม่ใช่เพราะไวน์เป็นเครื่องดื่มหายากราคาแพงเพื่อเพิ่มความขลังวิเศษโส แต่ตรงข้ามเพราะไวน์เป็นเครื่องดื่มที่พระองค์และคนรอบข้างคุ้นเคยตั้งแต่เด็ก ไวน์ไม่ใช่เครื่องดื่มเฉพาะคนรวย เจ้าของคฤหาสน์เท่านั้น แต่ลูกช่างไม้อย่างเช่นพระองค์ก็มีโอกาสลิ้มรสละมุนของไวน์ได้

อย่างไรก็ตาม มิใช่ว่าไวน์จะเป็นเหล้าที่ไม่มีการแบ่งเกรดเสียทีเดียว ยิ่งถ้ามองในด้านกรรมวิธีด้วยแล้ว ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีทั้งไวน์รสนุ่มกลมกล่อมหอมหวล และรสฝาดดอมขมอมเปรี้ยว และอื่น ๆ สุดจะพรรณนา

ในบทความ "คนรักไวน์" เขียนโดย วิศิษฐ ศึกษาการ อธิบายถึงไวน์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลกมีสูตรลับสำคัญ 2 ประการ คือ หนึ่ง มีพันธุ์องุ่นดีมีความสมบูรณ์ไม่เป็นโรค และ สอง มีคนปรุงเหล้าดี ๆ สักคน

ปีของการเก็บเกี่ยวผลองุ่นที่สุกได้ที่ในแต่ละปีเพือ่นำมาหมักเป็นเหล้า มีความสำคัญยิ่งยวดต่อการผลิต และการกำหนดราคาไวน์ มีศัพท์เรียกกันว่า ปีวินเทจ (VINTAGE) เช่นเก็บเกี่ยวองุ่นเมื่อปี 1989 เขาก็เรียกว่าวินเทจปี 1989

ถ้าฤดูเก็บเกี่ยวองุ่นปีใดไม่เจอภัยธรรมชาติหรือโรคระบาดฟีร็อคเซร่า ปีวินเทจปีนั้นถือว่าเป็นปีทองสมควรเก็บไว้ประดับขวัญเป็นไวน์คอลเล็คชั่น อย่างเช่นไวน์แดง ฝรั่งเศสเขตบอร์โดซ์ วินเทจ ปี 1970 ได้ 18 คะแนน ปี 1972 ได้ 13 คะแนน หรือวินเทจ ปี 1980 ได้ 16 คะแนน แต่ปี 1982 ได้ถึง 19 คะแนน เป็นต้น

ปีวินเทจจะอยู่บนฉลากป้ายขวดไวน์ 2 ตำแหน่ง คือ ที่คอขวดอยู่คู่กับชื่อบริษัทและตรงหน้าอกขวดอยู่ร่วมกับชื่อเขตภูมิศาสตร์พื้นที่ปลูกองุ่นและสถานที่ผลิตเหล้าไวน์ บางขวดจะมีการบอกเกรดให้รู้เสร็จสรรพ โดยเฉพาะหากเป็นปีทอง ปีวินเทจจะเด่นเป็นสง่า ถ้าตรงข้ามผลองุ่นไม่ดีนัก พ่อค้าไวน์ก็จะไม่ลงปี บางแห่งฉลาดโกงเอาน้ำเหล้าปีเก็บเกี่ยวดีผสมกับปีที่เลว แล้วก็ระบุปีวินเทจไปด้วยก็มี

ฉะนั้นผู้คิดจะเป็นนักดื่มไวน์ตัวยงจึงจำเป็นต้องรอบรู้และศึกษาระบบการกำกับปีวิเทจของแต่ละปี แต่ละประเทศเป็นอย่างดี

ไวน์ตระกูล OSBERGER ที่นำเข้าเป็นไวน์ราคาปานกลางเฉลี่ยไม่เกิน 500 บาท ซึ่งทางบริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง ตั้งใจจะเจาะตลาดผู้ดื่มที่มีความถาวร ไม่ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะโซซัดโซเซไปทางไหน คนกลุ่มนี้ก็ยังคงรักไวน์ OSBERGER ไม่หลีกลี้หนีหน้าไปดื่มอย่างอื่นที่ถูกสตางค์กว่า และที่สำคัญจะต้องเป็นผู้ดื่มที่ไม่ติดยึดในยี่ห้อ

"เราอยากให้ผู้ดื่มติดใจในรสไวน์ของเรามากกว่าชื่อเสียง เพราะการดื่มไวน์ถือว่าเป็นศิลปะ เป็นสิ่งที่เมื่อสัมผัสแล้วก็จะรู้ว่าน่าจะทำ เป็นเครื่องดื่มที่ดื่มแล้วมีคลาสด้วย" วิไลพร ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ไวน์ OSBERGER บอกเล่าคอนเซ็ปท์การเจาะตลาดให้ฟัง

เป็นที่ยอมรับกันว่า ศาสตร์ว่าด้วยเรื่องไวน์เป็นวิชาการแขนงหนึ่งที่มีการเปิดสอนตามมหาวิทยาลัยมีชื่อของโลก เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวโยงทั้งทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และเกษตรกรรม ตำราที่พิมพ์ขายแต่ละเล่มก็หนามากพอ ๆ กับพระคัมภีร์ไบเบิลทีเดียว คนที่พอเรียกได้ว่าเป็นคอไวน์ระดับทอง ก็ยังไม่หาญกล้ายืดอกพูดเต็มปากเต็มคำว่ารู้ครบถ้วนกระบวนของไวน์

อาจจะเป็นเพราะเช่นนี้กระมังที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า การดื่มไวน์เป็นกิจกรรมของปัญญาชนผู้มีรสนิยม !

เมื่อสืบสาวไป อดีตของสังคมยุโรป ศาสตราจารย์ มอนตี้ มอริส ให้ความกระจ่างในฐานะที่ท่านเคยอยู่ในสมาคมไวน์ทั้งในประเทศอังกฤษและออสเตรเลียว่า ถ้าหากเป็นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว การดื่มไวน์เรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมของคนชั้นสูง หรือ "พวกสน้อบ" ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะคนชั้นล่างหรือคนใช้แรงงานนิยมดื่มเบียร์หรือวิสกี้มากกว่าไวน์

แต่มาในระยะหลัง การดื่มไวน์ถือเป็นเรื่องปกติที่คนทุกระดับหาซื้อได้ เพราะไวน์ดีราคาไม่แพงมีให้เลือกมากขึ้น ส่วนไวน์ประเภทวินเทจปีทองนั้น ถ้าใครมีครอบครองก็มักจะไม่กล้าเปิดดื่มกัน ได้แต่เก็บไว้บนหิ้งไว้อวดให้คนอิจฉา

แต่ไม่ว่าจะเป็นวินเทจปีเงินหรือปีทองก็ตาม ไวน์ที่หาซื้อได้ในเมืองไทยก็ยังเป็นแอลอฮอล์ระดับราคาค่อนไปทางสูง เพราะล้วนเป็นไวน์ที่ส่งตรงมาจากต่างประเทศ ไวน์จึงยังเป็นเรื่องของรสนิยมบวกกับเงินในกระเป๋าไปได้อีกนานเท่านาน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us