2 กูรูเชื่อธุรกิจ “พลังงานทางเลือก” มาแรงสวนกระแสยุคน้ำมันแพง ผู้ประกอบการเร่งปรับตัวเหตุแบกรับต้นทุนจาก “น้ำมัน-ไฟฟ้า” ไม่ไหวหันมองพลังงานทางเลือกแทนลดค่าใช้จ่ายในโรงงาน พร้อมชี้ 4 กลุ่มเด่น โซลาร์ฯ-ขยะ-ลม-แก้ส ด้าน BOI โชว์ตัวเลข 8 เดือนยอดขอส่งเสริมลงทุนพุ่งแตะ 1.4 หมื่นล้านขณะที่ต่างชาติรอเข้าลงทุนอีกอื้อ.!
ท่ามกลางที่ราคาน้ำมันที่พุ่งกระฉูดสร้างสถิติใหม่ (นิวไฮ)โดยราคาดีเซลในตลาดสิงคโปร์ทะลุ 100 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลไปแล้วย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทุกภาคส่วนอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้เช่นกัน ซึ่งหากมองถึงทางออกของปัญหาพลังงานทางเลือก หรือ พลังงานทดแทนย่อมเป็นส่วนหนึ่งในทางออกดังกล่าวซึ่งภาคเอกชนหลายรายได้ปรับตัวมาก่อนหน้านี้ และอยู่ระหว่างการปรับตัวเพราะไม่มีทางราคาน้ำมันในตลาดโลกจะลดลงมาอยู่ที่ในระดับเดิมได้อีกแล้ว “ธุรกิจพลังงานทางเลือก” จึงเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่จะสามารถสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการในยุคน้ำมันแพงอย่างแน่นอน
ธุรกิจพลังงานทางเลือกมาแรง.!
พิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ว่าแนวโน้มราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจนสร้างนิวไฮรอบใหม่อีกครั้งย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน แต่ที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใดเพราะหากดูทิศทางตลาดน้ำมันของโลกแล้วไม่มีทางที่ราคาน้ำมันจะกลับมาอยู่17-18บาทอย่างเดิมได้ ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งจึงได้ปรับตัวไปแล้ว ขณะที่อีกส่วนหนึ่งกำลังปรับตัว และ อีกส่วนที่กำลังศึกษาว่าจะใช้พลังงานทางเลือกชนิดใดในธุรกิจของตนเองได้ ซึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุนดังกล่าวเนื่องจากข้อจำกัดในด้านการดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อมของโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อมีเทคโนโลยีที่สามารถจะบริหารจัดการกับของเสียในโรงงานพร้อมกับการได้ประโยชน์ โดยสามารถนำมาผลิตพลังงานเพื่อใช้ในโรงงานเองในภาวะที่ราคาน้ำมัน หรือไฟฟ้าสูงขึ้น ซึ่งคุ้มกับการลงทุน เพราะหากผลิตไฟฟ้าหรือแก๊สได้มากเกินความต้องการใช้ก็ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้ด้วย
โดยพลังงานทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆในประเทศไทยเห็นได้จากบริษัทใหญ่ๆพยายามลดรายจ่ายโดยใช้พลังงานขยะที่เหลือใช้มาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองหรือเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันดีเซลหรือเบนซินมาใช้ก๊าซเอ็นจีวี แกสโซฮอล์ ไบโอดีเซล หรือเอธานอล แทน
4 กลุ่มธุรกิจหลักทางเลือกของคนไทย
นอกจากนี้แล้วพลังงานทางเลือกที่ได้รับความสนใจขณะนี้จะมี4 ตัวหลักๆคือ 1.กลุ่มผู้ประกอบการพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ (Solarcell) มีผู้สนใจลงทุนในธุรกิจประเภทนี้มากที่สุดคิดเป็นมูลค่า 6,000 ล้านบาท แต่ยังประสบปัญหาต้นทุนสูงกว่าพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15-16 บาทต่อหน่วย ผู้ประกอบการจึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือด้านการกำหนดปริมาณการซื้อใช้ในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตรายใหญ่ทั้ง 5 รายส่งออกกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าการผลิตในประเทศไทย 2.พลังงานลม ( Wind) พบว่า ไทยสามารถผลิตกังหันลมเชิงพาณิชย์ขนาด 5,000 วัตต์และจะพัฒนาต่อไปได้ถึงขนาด 50,000 วัตต์ ซึ่งเป็นกังหันแบบใช้กระแสลมต่ำมีความเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของไทยนอกจากนี้ยังสามารถส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และประเทศที่มีภูมิประเทศเป็นเกาะ มีกระแสลมพัดตลอดปีได้ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า
ขณะที่กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มธุรกิจก๊าซชีวภาพเป็นธุรกิจพลังงานทดแทนที่มีความพร้อมและปัญหาน้อยที่สุด เนื่องจากคืนทุนได้เร็ว อีกทั้งเทคโนโลยีของคนไทยก็ได้รับการยอมรับไม่ต่างจากของต่างประเทศ แต่กลุ่มธุรกิจประเภทนี้ยังประสบปัญหาเรื่องการขาดนักลงทุน ซึ่งมีความจำเป็นต้องจัดหาเงินลงทุนดอกเบี้ยต่ำ หรือนักลงทุนในระบบ Built Operation Transfer กล่าวคือ สร้างโรงงานให้ก่อนและเก็บผลประโยชน์จากการขายพลังงานเมื่อครบกำหนดก็ยกโรงงานก๊าซชีวภาพให้กับเจ้าของโรงงาน และสุดท้ายกลุ่มที่ 4 .ธุรกิจการแปลงขยะเป็นพลังงานซึ่งเป็นการกำจัดขยะชุมชนด้วยการแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันมีอยู่ 2 เทคโนโลยีที่นำเสนอและมีความเป็นไปได้คือขยะ 150-300 ตัน ใช้เทคโนโลยีการแปลงขยะชุมชนเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล แล้วผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวล ส่วนขยะ 500 ตันขึ้นไปสามารถใช้เตาเผาขยะชนิดปลอดมลพิษและผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อชดเชยค่าใช้จ่าย
“ปูนใหญ่-ปูนกลาง” ปรับตัวแล้ว
“ตอนนี้หลายภาคธุรกิจกำลังปรับตัวเช่นใหญ่เช่นปูนใหญ่ (บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย) หรือปูนกลาง (บมจ.ปูนซิเมนต์นครหลวง) ก็เร่งปรับตัวเพราะเขามองมองออกว่าต้นทุนด้านพลังงานนับวันจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ” ประธานกลุ่มพลังงานทดแทนระบุ
เชื่อปีโตกว่า 40% ฟันธง “โซลาร์ฯ-ไบโอแมส”มาแรง.!
ด้าน“ดร.พิชิต อัคราทิตย์” กรรมการผู้จัดการ (MD) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนบลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) กองทุนที่มีนโยบายลงทุนในธุรกิจพลังงานทางเลือกภายใต้วงเงินลงทุน 4,000 ล้านบาทกล่าวเพิ่มในประเด็นเดียวกันว่าธุรกิจพลังงานทางเลือกยังขยายตัวได้อีกมากโดยปีนี้น่าจะขยายตัวถึง 40% ในตอนแรกแต่เพราะสภาวะการเมืองไม่นิ่งกดดันให้ธุรกิจดังกล่าวไม่ขยายตัวตามเป้าแต่ปีนี้ก็น่าจะขยายตัวกว่า 20% เป็นอย่างน้อยขณะที่ปีหน้า (2551) คาดว่าธุรกิจพลังงานทางเลือกจะขยายตัวมากกว่า 40 %
“ปีหน้าคาดว่าธุรกิจทางเลือก 2 ตัวหลักๆจะมาแรงคือ โซลาร์เซลล์ และ ไบโอแมส โดยเฉพาะไบโอแมสที่ตอนนี้ชุมชนต่างๆให้ความสนใจนำขยะมาผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองในชุมชนซึ่งปีหน้าคิดว่ากระแสตอบรับจะมากขึ้นกว่านี้อีกด้วย ” เอ็มดี บลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวยืนยัน
8 เดือนลงทุนทะลุ 1.4หมื่นล้าน
ขณะที่ตัวเลขการขอรับการส่งเสริมลงจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ (BOI)ปัจจุบันมีการลงทุนในกิจการผลิตเอทานอล ไบโอแก๊ส ไบโอดีเซลมากถึง 82 โครงการเงินลงทุนรวม 53,000 ล้านบาท โดย 62 โครงการ เป็นกิจการของคนไทย 100% ที่เหลืออีก 20 โครงการ เป็นโครงการคนไทยร่วมทุนกับต่างชาติ ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศจีน มีบางโครงการเท่านั้นที่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไต้หวัน อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ร่วมทุน
โดยคำขอรับส่งเสริมในช่วง 8 เดือนแรกปี 2550 มีจำนวน 12 โครงการ ประกอบด้วย โครงการผลิตเอทานอล 6 โครงการ ไบโอดีเซล 4 โครงการ และไบโอแก๊ส 2 โครงการรวมมูลค่าเงินลงทุน 14,167 ล้านบาท โดยวงเงินลงทุนขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 164% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 ซึ่งมีผู้ยื่นขอรับส่งเสริม 13 โครงการ เป็นเงิน 5,365 ล้านบาท ส่วนการลงทุนรวมทั้งปี 2549 มียื่นขอรับส่งเสริมถึง 34 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 31,600 ล้านบาทแบ่งเป็นเอทานอล15 โครงการเงินลงทุนมูลค่า 26,000 ล้านบาท ไบโอดีเซล 12 โครงการ เงินลงทุน 4,760 ล้านบาท และ ไบโอแก๊ส 7 โครงการ เงินลงทุน 848 ล้านบาท
ต่างชาติยังจ้องลงทุนพลังงานไทย
ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนในกิจการพลังงานทดแทนประเภทอื่นที่การลงทุนก็ยังเป็นผู้ประกอบการไทยเป็นหลัก ประกอบด้วยกิจการผลิตเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ประหยัดพลังงาน 12 โครงการ เงินลงทุน 2,026 ล้านบาท เป็นไทย 100% จำนวน 6 โครงการ ที่เหลือเป็นการร่วมทุนกับต่างชาติ ทั้งฮ่องกง ญี่ปุ่น เดนมาร์ก ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ขณะที่กิจการผลิตเซลล์เชื้อเพลิง มี 2 โครงการเงินลงทุน 326 ล้านบาท เป็นโครงการคนไทย 100% ทั้ง 2 โครงการ และกิจการผลิตเครื่องยนต์ เครื่องจักร อุปกรณ์สำหรับรถใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) 2 โครงการเงินลงทุน 1,027 ล้านบาท เป็นโครงการของเกาหลี 100% และร่วมทุนไทยอินเดีย 1 โครงการและกิจการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ 6 โครงการ 7,113 ล้านบาท มีไทย 100% 2 โครงการ ที่เหลือเป็นร่วมทุนกับต่างชาติ มีทั้ง จีน สิงคโปร์ ไซปรัส อังกฤษ
ดร.พิชิตยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่าตอนนี้นักลงทุนต่างชาติรอเข้ามาลงทุนในไทยจำนวนมากแต่เขาดูความชัดเจนทางการเมืองก่อน ซึ่งคาดว่าหลังเลือกตั้งมีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารงานแล้วการลงทุนในกลุ่มธุรกิจพลังงานทางเลือกจะได้ความสนใจจากนักลงทุนอย่างแน่นอนซึ่งปีหน้าจะเป็นปีทองของธุรกิจพลังงานทางเลือกเลยทีเดียว
|