การเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจการเงินในปัจจุบันมักจะก่อเกิดนวัตกรรมแปลก ๆ
ใหม่ ๆ ขึ้นในระบบการเงินอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
เป็นธรรมดาอยู่เองที่กระแสของแนวโน้มใหม่ซึ่งยึดถือเอาความเป็นหนึ่งเดียวแบบไร้พรมแดนของโลกธุรกิจการเงินที่เรียกกันว่า
"โลกานุวัตรทางการเงิน" (Globalization of Financial Market) เป็นสรณะย่อมจะเป็นตัวช่วยกระพือโหมความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันอย่างรวดเร็วและรุนแรงให้มากยิ่งขึ้น
ด้วยหวังว่าความไร้พรมแดนดังกล่าวจะช่วยให้การไหลเวียนของเงินทุนจากส่วนที่มีเงินทุนเหลือใช้ไปสู่ส่วนที่ยังต้องการใช้เงินทุนนั้น
ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ (อย่างรวดเร็วและมีต้นทุนต่ำ) โดยให้เหลือสิ่งกีดขวางน้อยที่สุด
เพราะความเชื่อในเรื่องการไร้พรมแดนที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อของผู้คนในปัจจุบันนั้นเอง
ที่นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเหล่านั้นได้ส่งผลกระทบและทรงอิทธิพลต่อวงการเงินของไทยไปด้วย
ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับวงการเงินการลงทุนชั้นหัวกะทิ มีความตื่นตัวและมีการปฏิบัติอย่างทันสมัย
(Sophisticated) มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายของผู้คุมกฎ เช่น นายธนาคารกลางกระทรวงการคลัง
ตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือฝ่ายผู้ปฏิบัติ เช่น นายธนาคารพาณิชย์ วาณิชธนากร เจ้าของกิจการผู้ออกหลักทรัพย์
นักลงทุน และฝ่ายสนับสนุน เช่น นักวิชาการ และนักศึกษาทางการเงินรุ่นใหม่
ๆ นักวิเคราะห์ฯ และสื่อมวลชน
ด้วยการดำเนินกิจกรรมของพวกเขาเหล่านี้ การร่วมกันลงมือสร้าง (จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม)
โดยหวังว่าจะสามารถสร้าง "โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินสมัยใหม่"
(Financial Infrastructure) ให้แข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ตลาดทุน และองค์กรควบคุมที่เข้มแข็ง
นักลงทุนแบบสถาบัน (Institutional Investor) สื่อมวลชนที่ทรงประสิทธิภาพในการวิเคราะห์และตรวจสอบสถานการณ์
ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องสำหรับนักลงทุนทั่วไป ฯลฯ จึงเกิดขึ้น
ความพยายามในการร่าง พรบ. ที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์และตราสารการเงิน การอนุญาตให้ตั้งผู้ดูแลผลประโยชน์
(Trustee) การจดัตั้งสถาบันรับจัดชั้นหนี้ (Credit Rating Agency) และการอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์จัดตั้งและบริหารกองทุน
ด้วยการยกเลิกเพดานดอกเบี้ย และการยกเลิกอุปสรรคของการไหลของเงินตราต่างประเทศ
ตัวอย่างผลงานเหล่านี้ล้วนเป็นความพยายามในการที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับโลกการเงินยุคใหม่ของไทยแทบทั้งสิ้น
ดังนั้น จะไม่เป็นการแปลกเลยที่เราอาจจะได้เห็นวิธีการระดมทุนแบบแปลกใหม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
เราอาจจะได้เห็นบริษัททั่วไปที่ไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทำการระดมทุนจากประชาชนทั่วไปได้โดยตรง
โดยไม่ต้องกู้เงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่นอีกต่อไป ซึ่งอาจจะทำได้โดยการออกหุ้นชนิดต่าง
ๆ เช่น หุ้มบุริมสิทธิ์ และหุ้นสามัญ หรือหุนกู้ / หุ้นกู้แปลงสภาพ ขายให้แก่ประชาชนทั่วไปได้เลย
โดยที่หุ้นเหล่านั้นอาจจะถูกนำไปซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้อีกทอดหนึ่งในตลาด
O-T-C
นอกจากนี้ การกู้เงินโดยตรงจากประชาชนอาจจะถูกการกระทำผ่านเครื่องมือทางการเงินแบบใหม่
ๆ ที่เรายังไม่เคยเห็นมาก่อนในเมืองไทย เช่น Real Estate Appreciated Bond
/ Senior Subordinated Paper
โดยที่บริษัทที่ออกตราสารบางอย่างอาจนำสินทรัพย์ที่ตัวเองครอบครองอยู่มาวางค้ำประกันการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืนกับผู้ลงทุน
ทรัพย์สินที่สามารถนำมาวางค้ำประกันตราสารได้นั้นอาจเป็น "ลูกหนี้"
ซึ่งอาจแยกย่อยไปอีกว่าเป็นลูกหนี้การค้า ลูกหนี้ที่เกิดจากการปล่อยจำนองของสถาบันการเงิน
ลูกหนี้ที่เกิดจากการปล่อยกู้แบบเช่าซื้อ หรือลูกหนี้ที่เกิดจากลูกค้าบัตรเครดิต
นอกจากลูกหนี้แล้ว ยังมีอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีความมั่นคงกว่าลูกหนี้เพราะเป็นสินทรัพย์ถาวร
(Hard Asset)
กระบวนการในการกู้เงินโดยนำสินทรัพย์แปลงเป็นตราสารออกขายด้วยการนำเอาสินทรัพย์นั้น
ๆ วางค้ำประกันไว้ดังกล่าวมาแล้วนั้นเรียกว่า "Asset Securitization"
Asset Securitization เป็นกระบวนการสร้างสภาพคล่องให้กับสินทรัพย์ด้วยการแปลงเป็นตราสารที่เปลี่ยนมือได้แล้วนำออกขาย
ซึ่งตราสารที่นิยมนำออกขายมักจะมีลักษณะเป็นตราสารแห่งหนี้ (Debt Instrument)
เสียเป็นส่วนใหญ่
ว่าไปแล้วก็เปรียบเสมือนการกู้เงินด้วยการออกตราสารแห่งหนี้ ซึ่งอาจจะออกในรูปของหุ้นกู้ขายให้แก่ผู้ให้กู้
คือ นักลงทุนที่ซื้อหุ้นกู้นั้น โดยใช้สินทรัพย์หรือรายรับที่เกิดจากสินทรัพย์นั้นๆ
มาวางค้ำประกันหุ้นกู้ดังกล่าว เพื่อให้นักลงทุนมีความมั่นใจในกรณีที่เกิดการผิดสัญญา
(Default) ขึ้น
ถ้ามองในแง่ของผู้ออกหุ้นกู้ (Inssuer) เช่น บริษัททั่วไป การกระทำแบบนี้เป็นการเพิ่มทางเลือกในการระดมทุนให้แก่เขาอีกทางหนึ่ง
ซึ่งจะสามารถทำให้เขากู้เงินได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านสถาบันการเงิน (เช่น
ธนาคารพาณิชย์) จึงมักจะทำให้มีต้นทุนของเงินที่ต่ำกว่าการกู้แบบเก่า
และถ้ามองในแง่ของผู้ลงทุน ซึ่งเสมือนเป็นผู้ให้กู้ หุ้นกู้เหล่านี้ก็เป็นหลักทรัพย์อย่างหนึ่งที่นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้นอกจากหุ้นสามัญหรือหุ้นกู้ชนิดอื่น
ๆ นอกจากนั้น นักลงทุนยังสามารถนำไปขายต่อในตลาดรองเพื่อหา Capital Gain
ได้อีกด้วย
ในอนาคต ถ้ามีการอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์ทั่วไปจัดตั้งและบริหารกองทุนได้แล้ว
อาจมีการจัดตั้งกองทุนที่เลือกลงทุนเฉพาะกับหลักทรัพย์ประเภทที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน
(Asset-Backed Security) เท่านั้น ซึ่งก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนทั่วไปที่จะได้เข้าไปซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนนั้น
ๆ แทนการเข้าไปซื้อหุ้นนั้นโดยตรง
โดยปกติ ผลตอบแทนของหลักทรัพย์ประเภทนี้จะสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล และดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร
แต่จะต่ำกว่าผลตอบแทนของหุ้นสามัญ ในต่างประเทศหลักทรัพย์นี้ได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
Mortgage-Backed Security (MBS)
เป็นที่น่าเสียดายสำหรับนักลงทุนในประเทศไทยที่ไม่มีโอกาสได้ลิ้มลองกับหุ้นชนิดนี้
เพราะเรามีอุปสรรคมากมายที่เป็นขวากหนามปิดกั้นไม่ให้เกิด Securitization
ขึ้นได้
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยอิทธิพลของ "โลกานุวัตรของนวัตกรรมทางการเงินสมัยใหม่"
เชื่อแน่ว่า ไม่ช้าก็เร็ว กระบวนการนี้จะต้องเกิดขึ้นในตลาดทุนไทยอย่างแน่นอน
เมื่อถึงเวลานั้น นักลงทุนไทยจะได้มีหุ้นชนิดใหม่ให้ได้ลุ้นกันเล่นแทนการที่ต้องมานั่งเงี่ยหูฟังข่าวลือเรื่องเพิ่มทุน
สปลิทหุ้นอันเสมือนหนึ่งเป็นวังวนแห่งเทพนิยายน้ำเน่า บนเวทีของความโลภของคนบางกลุ่มที่มีจิตสำนึกที่เหนี่ยรั้งการพัฒนาตลาดทุนไทย
รายงานโดย ทักษ์ศิล ฉัตรแก้ว
ผู้จัดการศูนย์ข้อมูลตลาดทุน บริษัทบริการข้อมูลผู้จัดการ