|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยันต้องสร้างความชัดเจนก่อนแปรรูปตลาดหุ้นทั้งเรื่องการจัดโครงสร้าง-การกระจายหุ้น-นโยบายการสร้างกำไร ย้ำหากไม่เปลี่ยนแปลงบทบาทตลาดทุนไทยจะหายไปจากตลาดทุนโลก ด้าน "กอบศักดิ์" เผยปีนี้ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนกว่า 33% ขณะที่ตั้งแต่ปี 2000 ให้ผลตอบแทนสูงเกือบ 500% เผยขนาดตลาดหุ้นไทย 7 ล้านล้านบาท อยู่ในอันดับ 35 ของตลาดทุนทั่วโลก
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงความคืบหน้าและแนวทางการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ปัญหาใหญ่ที่หลายฝ่ายกังวลคือ การกระจายหุ้นและโครงสร้างกรรมการบริษัทหลังการแปรรูป เนื่องจากมีความกังวลว่าการแปรรูปอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงทางด้านธุรกิจ รวมทั้งยังมีความกังวลเกี่ยวกับการเข้ามาแสวงหาผลกำไรจากการแปรรูป และการพิจารณาถึงหน่วยงานที่จะต้องเข้ามารับผิดชอบการพัฒนาตลาดทุนไทยด้วย ดังนั้นคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้มีมติให้จ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาศึกษาถึงความจำเป็นและรูปแบบที่เหมาะสมกับตลาดหุ้นไทย
ขณะที่ปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างรุนแรงนั้น มีอยู่หลายประเด็น เช่น แนวโน้มการดึงบริษัทข้ามชาติที่มีขนาดใหญ่เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นทางเลือกอีกทางของบริษัทที่ต้องการสร้างสภาพคล่องและสร้างมูลค่าของบริษัทให้สูงขึ้น รวมถึงการสร้างธุรกรรมข้ามตลาด (Cross Border Trading) จากเดิมที่เคยกระจุกตัวอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันได้แพร่หลายเข้ามาในตลาดหุ้นเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ด้านผู้ลงทุน กองทุนทางการเงินขนาดใหญ่ และสถาบันตัวกลางในธุรกิจหลักทรัพย์จะมีบทบาทมากขึ้น ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเร่งปรับตัวตามกระแสการเพิ่มประสิทธิภาพ โดยการขยายธุรกิจให้มีความครบวงจร และการควบคุมในเรื่องต้นทุนของธุรกรรมที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันจะต้องปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อปรับเปลี่ยนหน้าที่จากผู้ควบคุมเป็นผู้อำนวยการให้ธุรกิจในตลาดทุนเติบโตได้เร็วขึ้น และต้องพยายามลดการปกป้องธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศ
"ประเด็นที่ค่อนข้างเป็นห่วงสำหรับธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศ คือ การทำธุรกรรมระหว่างบริษัทหลักทรัพย์มากขึ้นโดยไม่ต้องผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ควรจะเป็นศูนย์กลางสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์"
ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนและสินค้าในตลาดทุนที่เปลี่ยนไปนั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะได้เห็นการขยายตัวของนักลงทุนเก็งกำไร (เฮดจ์ฟันด์) กองทุนส่วนบุคคล อย่างมากจนในที่สุดสินค้าในตลาดหลักทรัพย์จะไม่ใช่เพียงหุ้นของบริษัทจดทะเบียน แต่จะมีหลักทรัพย์ใหม่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น Derivatives ETF ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าที่ต้องเร่งสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ
สำหรับทางเลือกในการแปรรูปตลาดทุน มี 3 แนวทาง คือ 1.การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์ในโลก 2. การทำงานร่วมกันในภูมิภาค และ 3. ถ้าไม่ทำอะไรเลยบทบาทในการเป็นตลาดทุนจะลดลงไปจากตลาดโลก
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน กล่าวเพิ่มเติมว่า การพิจารณาคัดเลือกที่ปรึกษาศึกษาการแปรรูปตลาดหุ้นไทยจากต่างประเทศจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ และคาดว่าสามารถได้ผลการศึกษาประมาณกลางปี 2551 และคาดว่าจะใช้เวลาในการแปรรูปอีกประมาณ 3 ปี หลังจากอีกประมาณ 1 ปีจึงจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้
สำหรับภาพรวมการลงทุนและผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้น นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 50 ถึง ต.ค. ตลาดหุ้นไทยมีผลตอบแทนประมาณ 33.5% ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคและตลาดหุ้นทั่วโลก โดยตลาดดาวน์โจนส์ ให้ผลตอบแทน 11.8% นิกเกอิ -2.8% สิงคโปร์ 27.5% จีน 112.1% และฮ่องกง 57.0%
ขณะที่หากพิจารณาผลตอบแทนตั้งแต่ปี 2000 ถึงปัจจุบัน พบว่า ตลาดหุ้นไทย สามารถสร้างผลตอบแทนถึง 491% โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการไหลเข้าของเงินจากต่างประเทศ จากปี 2549 ที่ผ่านมามียอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติกว่า 8.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตั้งแต่ต้นปี 2550 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยประมาณ 1.1 แสนล้านบาท ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปสูงกว่าระดับ 7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 91% เมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศ
ทั้งนี้ แม้ว่ามาร์เกตแคปจะปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่หากพิจารณาถึงเดือนกันยายนพบว่า ตลาดหุ้นไทย มีมูลค่าตามราคาตลาดรวมอยู่ในอันดับ 35 เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก ขณะที่จำนวนบริษัทจดทะเบียนจำนวน 520 บริษัทจัดอยู่ในอันดับที่ 22 เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาค
"สัดส่วนน้ำหนักของตลาดหุ้นไทยในดัชนี MSCI Asia Ex Japan ตลาดหุ้นไทยมีน้ำหนักเพียง 2% ซึ่งถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำมาก" นายกอบศักดิ์ กล่าว
สำหรับพฤติกรรมต่อการลงทุนในตลาดหุ้นของประชาชนในประเทศ พบว่า นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นรวมถึงกองทุนมีเพียง 9% ขณะที่มากกว่า 90% ของประชากรในประเทศที่ยังไม่สนใจที่จะลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยสัดส่วนบัญชีนักลงทุนต่อจำนวนประชากรไทย ณ สิ้นปี 2548 อยู่ที่ประมาณ 0.44% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะลงทุนผ่านการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ แม้ว่าจะได้รับอัตราผลตอบแทนในระดับที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับผลตอบแทนจากตลาดทุน
ด้านนางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แผนในปีหน้าศูนย์รับฝากจะปรับการชำระราคาจากเดิมที่ใช้ T+3 เป็น T+2 เนื่องจากในประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้มีการปรับการชำระราคามาเป็น T+2 นานแล้วและกำลังจะเปลี่ยนเป็น T+1 และในอนาคตที่สุดจะเป็นการชำระราคาแบบทันที (เรียลไทม์) ซึ่งเพื่อให้เกิดความสะดวกสบายให้แก่นักลงทุนมากขึ้น
ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อระบบการซื้อขายกับต่างประเทศมากขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มสินค้าให้กับนักลงทุนที่สนใจจะลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศและเพิ่มช่องทางในการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย
|
|
 |
|
|