|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ปตท.จัดหาก๊าซฯ ส่อล้มเหลว ไม่ยอมการันตีป้อนโรงไฟฟ้าใหม่ กฟผ.และไอพีพีได้ทั้งหมด เสียงอ่อยนำเข้า LNG มีคู่แข่งมาก จับตาก๊าซฝั่งตะวันตกเต็มส่งผลให้ต้องปรับแผนการผลิตใหม่หมด คาดดันใช้น้ำมันเตามากขึ้น เผยหากนำเข้า LNG ไม่ทันปี 2552 ก๊าซจะเริ่มทยอยขาดและจะหนักหากไม่ได้ M 9 เข้าเสริมปี 2553 ไฟฟ้าไทยวิกฤติแน่ “ปิยสวัสดิ์” แจง ปตท.ต้องรับผิดชอบให้ได้ตามแผน ด้านผู้ค้าน้ำมันโอดปรับราคาน้ำมันยากขึ้น เหตุถูกกดดันจากสังคมหนัก ยันค่าการตลาดต.ค.ลดหนักเหลือเฉลี่ยแค่ 50 สตางค์ต่อลิตรเท่านั้น
แหล่งข่าวจากวงการพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ บมจ.ปตท.ยังไม่สามารถให้ความมั่นใจในการจัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าใหม่ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชนหรือ ไอพีพีเนื่องจากความไม่แน่นอนในการจัดหาแหล่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง M9 จากพม่า และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG จากต่างประเทศที่ล่าสุดหลายประเทศทั่วโลกต่างหันไปซื้อ LNG จำนวนมากทั้งจีนและญี่ปุ่นหลังจากราคาพลังงานได้ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้การเจรจาซื้อขายของ ปตท.ยังไม่คืบหน้าและมีแนวโน้มว่าการจัดหาจะเป็นไปได้ยาก
“ล่าสุด ปตท.ยืนยันปริมาณก๊าซให้เฉพาะโรงไฟฟ้า 4 แห่งให้ กฟผ.เท่านั้นส่วนโรงใหม่จากนั้นยังไม่การันตี ขณะที่ไอพีพีจะป้อนให้ได้ 2 แห่งเท่านั้น และจะยืนยันชัดเจนเมื่อมีการนำเข้า LNG ซึ่งวันนี้ยังไม่มีคำตอบ” แหล่งข่าวกล่าว
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าในระบบท่อฝั่งตะวันตก ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าไตรเอ็นเนอร์ยี่ ที่มีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ 125 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมราชบุรี 375 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน วังน้อย 100-305 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครใต้ชุดที่ 1 ใช้ 65 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนพระนครใต้ ใช้ 150 ล้านลบ.ฟุตต่อวันทำให้ก๊าซฝั่งตะวันตกเต็มระบบพอดีที่ระดับ 1,110 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน
ปี 2551 โรงไฟฟ้าระยอง 1-2 และ พระนครใต้ชุดที่ 3 เข้าระบบฝั่งตะวันตกมีความต้องการใช้ก๊าซฯเพิ่มขึ้น 325-375 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ดังนั้นโรงไฟฟ้าความร้อนร่วมพระนครใต้ชุด1 และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนพระนครใต้ จึงต้องเปลี่ยนจากการใช้ก๊าซฝั่งตะวันตกไปใช้ก๊าซฯตะวันออกที่ปริมาณ 215 ล้านลบ.ฟุตต่อวันและลดปริมาณการใช้ก๊าซที่ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนราชบุรีลง 90 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน แล้วเปลี่ยนไปใช้น้ำมันเตาและหรือลดปริมาณการใช้ก๊าซที่วังน้อยลงอีก 20-70 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับว่ากฟผ.จะเลือกใช้น้ำมันเตาที่โรงไฟฟ้าราชบุรีหรือ บางปะกง
ปี 2553 โรงไฟฟ้าพระนครเหนือยูนิต 1 เข้าระบบฝั่งตะวันตกมีความต้องการใช้ก๊าซฯเพิ่มขึ้นอีก 125 ล้านลบ.ฟุตต่อวันทำให้ต้องเปลี่ยนการใช้ก๊าซฯโรงไฟฟ้าวังน้อยไปใช้ก๊าซฯในอ่าวไทยทั้งหมด และหากมีก๊าซเหลือจึงไปเพิ่มการการใช้ก๊าซฯที่โรงไฟฟ้าความร้อนราชบุรี
ปี 2554-2555 โรงไฟฟ้าใหม่ส่วนของการรับซื้อไฟจากไอพีพี ที่จะเข้าระบบ 3 โรงต้องการใช้ก๊าซฯเพิ่มขึ้นอีก 300 ล้านลบ.ฟุตต่อวันแต่ในระบบตะวันตกมีก๊าซฯเหลือจำนวน 100-150 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ดังนั้นจึงทำให้ก๊าซฯฝั่งตะวันตกเพียงพอสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่เพียง 1 โรง ส่งผลให้ปตท.จะต้องจัดหาก๊าซฯแหล่งใหม่เพิ่มเติมคือแหล่ง M 9 เท่ากับ 300 ล้านลบ.ฟุตต่อวันและติดตั้งคอมเพรสเซอร์เพื่อให้มีก๊าซฯเพียงพอสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่อีก 2 โรง
“จะเห็นว่าความเสี่ยงจากการใช้ก๊าซฯ ผลิตไฟที่สูงกว่า 70% กำลังเป็นปัญหาด้านการจัดหาที่ไม่ทันรองรับ และความต้องการของไทยโตปีละ 5% แต่ก๊าซในอ่าวไทยกำลังนับถอยหลังลดลงปี 2551 จะลดลง 50 ล้านลบ.ฟุตกรณีไม่ค้นพบใหม่ๆ เลย และกรณีที่การจัดหาก๊าซจากแผนของปตท.คือ LNG ไม่เข้ามาภายในปี 2552 รวมไปถึงส่วนเกินจาก 3 ล้านตันและแหล่ง M 9แล้ว โรงไฟฟ้าจะทยอยพึ่งการใช้น้ำมันแทนตั้งแต่ปลายปี 2551 เป็นต้นไปซึ่งจะมีผลให้ค่าไฟสูงขึ้นมากและปี 2555 อาจกลายเป็นวิกฤติไฟฟ้าเพราะโรงไฟฟ้าวันนี้ที่จะสวิงไปใช้น้ำมันเตาได้หลักๆ มีเพียง 3 โรงคือบางปะกง กระบี่ และราชบุรี”แหล่งข่าวกล่าว
ปิยสวัสดิ์โยน ปตท.รับผิดชอบ
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงาน กล่าวว่า กรณีที่ก๊าซอาจขาดแคลนในช่วงหนึ่งเพราะการจัดหาไม่ทันรองรับความต้องการนั้นก็เป็นไปได้หากมีการใช้อย่างปัจจุบัน โดยไม่ทำอะไรเลย ซึ่งการจัดหา LNG ของปตท.จะเข้ามาเสริมกับความต้องการในประเทศดังนั้น ปตท.คงจะต้องเร่งรัดนำเข้าให้ได้ตามแผนงานที่วางไว้ รวมไปถึงการเจรจาแหล่ง M 9 ของพม่าซึ่งมีความชัดเจนว่าคงจะไม่มีปัญหาอะไร
“สิ่งที่จำเป็นคืออีก 20 ปีถ้ายังคงเน้นการผลิตไฟจากก๊าซธรรมชาติอย่างเดียวคงขาดแน่ๆ การจัดหาก๊าซตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีฉบับใหม่ก็น่าจะจัดหาได้ตามแผน ส่วนราคา LNG จะแพงหรือเปล่าคงไม่รู้แต่ก็จะดีกว่าน้ำมันเตาแน่นอน” นายปิยสวัสดิ์กล่าว
นายจิตรพงษ์ กว้างสุขสถิตย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท.กล่าวว่า ปตท.กำลังเร่งรัดการจัดหา LNG ซึ่งยอมรับว่ามีผู้เข้ามาซื้อในตลาดโลกทำให้แข่งขันสูง คาดว่าจะเข้ามาได้กลางปี 2554 พร้อมกับยังเร่งพัฒนาแหล่งก๊าซฯจากที่ต่างๆ เข้ามาเสริมด้วย เพราะไม่เช่นนั้นแล้วความต้องการใช้จะไม่เพียงพอ
โดยขณะนี้กำลังที่จะเร่งเจรจาราคารับซื้อก๊าซจากแหล่ง M 9 ของพม่า ที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะเข้าระบบได้ประมาณปี 2554 ในปริมาณ 300-400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันก่อน นอกจากนี้จะเร่งพัฒนาแหล่งอาทิตย์ คาดว่าจะเข้าระบบในปี 2551 แหล่งเจดีเอในปี 2552 และแหล่งบงกชใต้ในปี 2554
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวว่า คงต้องติดตามปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเพราะความไม่แน่นอนในการจัดหามีสูงเนื่องจากราคาพลังงานของโลกปรับเพิ่มขึ้นมากและมีการแย่งกันซื้อพอสมควรทำให้ไทยซึ่งมีอำนาจต่อรองต่ำค่อนข้างมีปัญหา ซึ่งล่าสุดกระทรวงพลังงานจึงได้หันไปซื้อไฟฟ้าจากลาวมากขึ้นจาก 5,000 เมกะวัตต์เป็น 7,000 เมกะวัตต์เพื่อป้องกันปัญหาไว้ระดับหนึ่ง และได้เร่งรัดให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเปิดให้การสัมปทานการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมในไทยให้มากขึ้น
ขึ้นราคาขายปลีกยากฉุดค่าการตลาด
นายธีรพจน์ วัชราภัย ประธานบริษัทเชลล์ในประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ปัญหาระดับราคาน้ำมันตลาดโลกที่สูงขึ้นส่งผลให้การปรับราคาขายปลีกของผู้ค้าในประเทศไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เนื่องจากถูกกดดันจากผู้บริโภคและสังคม ดังนั้นหากราคาน้ำมันตลาดโลกยังสูงต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีคาดว่า บมจ.ปตท.คงจะปรับราคาขายปลีกได้ยากซึ่งจะมีผลให้ค่าการตลาดช่วง 2-3 เดือนสุดท้ายปีนี้เฉลี่ยจะติดลบหรือไม่เกิน 50 สตางค์ต่อลิตรเท่านั้นซึ่งส่งผลให้ผู้ค้าน้ำมันต้องขาดทุน
“ ค่าการตลาดที่คุ้มทุนจะอยู่ที่ประมาณ 1.50 บาทต่อลิตรสำหรับผู้ค้ารายเก่าและรายใหม่จะต้องอยู่ที่ประมาณ 1.80 บาทต่อลิตร แต่เฉลี่ยทั้งปีคาดว่าจะอยู่ประมาณ 1 บาทต่อลิตร ซึ่งก็ใกล้เคียงหรือดีกว่าปีแล้วเล็กน้อย ซึ่งเดิมคาดว่าจะดีกว่าแต่มาช่วงสิ้นปีน้ำมันตลาดโลกขึ้นไปมาก” นายธีรพจน์กล่าว
ทั้งนี้ เชลล์คงจะไม่เป็นผู้นำในการปรับเพิ่มราคาขายปลีกเช่นปีที่ผ่านมาโดยจะต้องรอ ปตท.ในฐานะรายใหญ่เนื่องจากการปรับราคาขึ้นนำมีผลให้เกิดการเสียส่วนแบ่งการตลาด อย่างไรก็ตามเชลล์ได้ปรับตัวด้วยการปรับปรุงปั๊มใหม่ที่มีอยู่ 570 แห่งแต่จะไม่มีการขยายเพิ่ม
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ปตท.กล่าวว่า คงต้องติดตามราคาน้ำมันตลาดโลกอย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีการสวิงตัวสูงแต่ ปตท.จะไม่มีการปรับเปลี่ยนราคาในช่วงสัปดาห์นี้อีก เพื่อลดภาระให้กับประชาชน อย่างไรก็ตามราคาขายปลีกที่ปรับไปล่าสุดยังคงมีผลทำให้ค่าการตลาดต่ำอยู่หากน้ำมันตลาดโลกปรับขึ้นต่อเนื่องความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนยังมีสูง
นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บางจากต้องแบกรับภาระขาดทุนจากราคาน้ำมันประมาณ 3-4 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาขาดทุนสะสมไปแล้ว 100-200 ล้านบาท โดยค่าการตลาดน้ำมันทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ตั้งแต่ต้นปีเฉลี่ยอยู่ที่ 1 บาทต่อลิตร แต่เฉพาะเดือน ต.ค.ค่าการตลาดเฉลี่ยอยู่เพียง 50 สตางค์ต่อลิตรเท่านั้น
“ จากบางจากจำหน่ายแก๊สโซฮอล์และไบโอดีเซล (บี5)ด้วย จึงทำให้ช่วยดึงค่าการตลาดขึ้นมา โดยค่าการตลาดของไบโอดีเซล (บี5)อยู่ที่ 20 สตางค์ต่อลิตร ส่วนค่าการตลาดแก๊สโซฮอล์เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 7-8 สตางค์ต่อลิตร แม้ว่าจะอยู่ในระดับต่ำแต่ก็ยังไม่ติดลบเหมือนกับค่าการตลาดเบนซินและดีเซลที่ติดลบ 40-50 สตางค์ต่อลิตร “นายอนุสรณ์กล่าว
ม็อบ กฟผ.บุกจี้เลิก พรบ.พลังงาน
นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ. (สร.กฟผ.) กล่าวว่า วานนี้ (1 พ.ย.) ได้นำตัวแทนพนักงานกฟผ.ประมาณ 300 คนเดินทางไปพบกับ รมว.พลังงานเพื่อที่จะขอให้รัฐบาลหมายเหตุในพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงานพ.ศ. .... ที่อยู่จะมีการพิจารณาจาก สนช.เป็นวาระที่ 2 วันที่ 7พ.ย. นี้ด้วยการกำหนดว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ใช้กับ กฟผ. เนื่องจากหากกฏหมายนี้ผ่านไปพนักงานกังวลว่าจะนำไปสู่การแปรรูปกิจการ กฟผ.ในที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายปิยสวัสดิ์ได้เข้าประชุมสนช.และไม่ได้มารับหนังสือคัดค้านโดยส่งนายพรชัย รุจิประภา ปลัดพลังงานมารับแต่ สร.กฟผ.ไม่พอใจจึงจะขอชุมนุมต่อไปจนกว่าจะได้ข้อยุติเป็นที่พอใจ และนายศิริชัยระบุว่าจะมีม็อบมาเสริมอีกในวันนี้ (2 พ.ย.) รวมประมาณ 1,000 คน
นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่า กฟผ.กล่าวว่า ผู้บริหาร กฟผ.ไม่ได้สนับสนุนการประท้วงครั้งนี้แต่อย่างใด ซึ่งเป็นสิทธิพนักงานที่ห่วงใยข้อกฏหมาย ซึ่งผู้บริหารจะได้ทำความเข้าใจทุกฝ่ายและยืนยันจะไม่สร้างความเดือนร้อนให้ประชาชน.
|
|
 |
|
|