Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2534








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2534
ภูริช มหาดำรงค์กุล ทายาทพ่อค้าขายนาฬิการุ่นที่สอง             
 


   
search resources

เมืองทองไซโก
ภูริช มหาดำรงค์กุล
Watches




"หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน" ภูริช มหาดำรงค์กุล นักค้านาฬิการายใหญ่ในประเทศไทย หลังจากหายเงียบไปก็ได้เป็นข่าวคราวขึ้นมาในฐานะกรรมการผู้จัดการของบริษัทใหม่ "เมืองทองไซโก" ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มเมืองทองและบริษัทไซโก คอร์ปอเรชั่นแห่งญี่ปุ่น ในสัดส่วน 70 : 30 โดยมีสองผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการนาฬิกาโลก มร.เรอิจิโร ฮัตโตริ ประธานกลุ่มบริษัทไซโก และมงคล กาญจนพาสน์ เป็นประธานกิตติมศักดิ์ บริษัทนี้จะทำหน้าที่เป็นบริษัทธุรกิจจัดจำหน่ายนาฬิกาไซโกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีทุนจดทะเบียนถึง 150 ล้านซึ่งนับว่าสูงที่สุดของกลุ่มไซโกในภูมิภาคนี้

ในตลาดนาฬิกาเมืองไทย ตระกูลที่ผูกขาดความเป็นผู้นำในธุรกิจการค้านาฬิกามีอยู่เพียงสองตระกูลใหญ่ คือ กาญจนพาสน์ และมหาดำรงค์กุล ซึ่งต่างก็มีประวัติศาสตร์การสร้างอาณาจักรการค้าขึ้นมาร่วมกัน จากตัวแทนจำหน่ายนาฬิกาชั้นนำของสวิสและญี่ปุ่นก็พัฒนาขึ้นสู่ฐานะผู้ร่วมลงทุนกับบริษัทไซโก ตั้งบริษัทเมืองทองไซโกขึ้นในปีนี้

"การร่วมทุนครั้งนี้จะทำให้เราได้โนว์ฮาวเกี่ยวกับระบบที่ไซโกใช้อยู่ทั้งหมด เช่น ระบบคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ ซึ่งเรียกว่า MARK FOUR SYSTEM เชื่อมโยงเครือข่าย 100 สาขาทั่วโลกโดยตรง ตลอดจนระบบการบริหารสินค้าแบบ MERCHANDISING ที่รวดเร็วและทันเกมมาก" ภูริช มหาดำรงค์กุล เล่าให้ฟัง

นอกจากนี้ ไซโกยังมีโครงการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่ไม่เกี่ยวกับเวลาทางด้านอิเล็คทรอนิกส์ คือ ตั้งบริษัทไซโกเอปสัน คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตพรินเตอร์ยี่ห้อ "เอปสัน" คอมพิวเตอร์ และเครื่องของนาฬิกาควอทซ์อีกด้วย แต่โครงการมูลค่า 800 ล้านนี้

ภูริช เล่าว่า น่าเสียดายมากที่เจอปัญหาเรื่องระบบกำจัดน้ำเสียซึ่งนิคมอุตสาหกรรมเกี่ยงให้สร้างเอง ขณะที่ทางมาเลเซียพร้อมจัดการเรื่องนี้ให้ทำให้บริษัทแม่ได้ย้ายไปลงที่มาเลเซียแทน

บริษัทเมืองทองไซโก มิใช่บริษัทที่เริ่มต้นนับหนึ่ง แต่เกิดจากภูมิหลังการค้าและสายสัมพันธ์ส่วนตัวที่ยาวนานนับ 30 ปีกับบริษัทไซโก คอร์ปอเรชั่นแห่งญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2504 จากกิจการบริษัทเมืองทองที่เริ่มต้นธุรกิจร้านขายนาฬิกาเล็ก ๆ มีดิเรก มหาดำรงค์กุล หรือ "ก่าว โลพก" เป็นช่างซ่อมนาฬิกาฝีมือดี มีคนค้าขายหน้าร้านเก่งอย่าง "เสี่ยเม้ง" มงคล กาญจนพาสน์ และมี "เสี่ยซ้ง" บิดาของบุรินทร์ วงศ์สงวน เป็นผู้คอยตกแต่งร้านให้สวยงามดึงดูดสายตาของลูกค้า

ต่อมากิจการค้าขายนาฬิกาได้กลายเป็นฐานการเงินสำคัญของทั้งสองตระกูลเพื่อลงทุนในแขนงอื่น ๆ เช่น แบงก์นครหลวงไทย ซึ่งมหาดำรงค์กุลต้องประสบความล้มเหลวในภาวะวิกฤตสถาบันการเงินปี 2528 ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มบริษัทบางกอกแลนด์และธนายงของกาญจนพาสน์กลับเติบโตในปัจจุบัน

ถึงกระนั้นก็ตาม ธุรกิจค้านาฬิกา ซึ่งถือเป็นธุรกิจเก่าแก่ของทั้งสองตระกูลก็ยังคงดำรงอยู่เป็นหลัก โดยเฉพาะอาณาจักรธุรกิจนาฬิกาของเสี่ยเม้งได้เติบใหญ่ครบวงจร โดยมีฐานธุรกิจอยู่ที่ฮ่องกง และสิงคโปร์ ในนามของโรงงานสเตลักซ์ และบริษัท STELUX WATCH HOLDING ซึ่งเพิ่งได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลสิงคโปร์ให้เป็น OPERATION HEAD OFFICE ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีต่าง ๆ ในธุรกิจนาฬิกา ปีที่แล้วกลุ่มสเตลักซ์มียอดขายทั้งสิ้น 1,200 ล้านเหรียญฮ่องกงหรือประมาณ 4 พันล้านบาท

ส่วนสายธุรกิจค้านาฬิกาของตระกุลมหาดำรงค์กุล หลังจากเสี่ยงเม้งได้ปักหลักฐานที่ฮ่องกงในช่วงผันผวนทางการเมืองไทยปี 2514-2520 กิจการค้นาฬิกาในไทย ดิเรก ดิลก และชัยโรจน์ มหาดำรงค์กุล ก็ได้บุกเบิกธุรกิจต่อไปในนามของบริษัทกาลทองเทรดดิ้งซึ่งเป็นเอเย่นต์นาฬิกาไซโก บริษัทศรีทองพาณิชย์ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายนาฬิกา "ราโด้" และ "ซิติเซ่น" รวมทั้งตั้งโรงงาน "คอสโม" ทำกล่องนาฬิกาตัวเรือน หน้าปัด และชิ้นส่วน

ล่าสุดการตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัทแม่ ไซโกในนามของบริษัท "เมืองทองไซโก" ก็ช่วยเสริมความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในทีมงานบริหารมืออาชีพที่ภูริช มหาดำรงค์กุล ดูแลอยู่ในฐานะกรรมการผู้จัดการซึ่งย้ายเก้าอี้ตำแหน่งมาจากบริษัทกาลทองเทรดดิ้ง ที่ยุติกิจกรรมทางการตลาดนาฬิกาไซโกแล้ว

"นโยบายของเราจะรุกตลาดมากขึ้น อัตราการเติบโตปีหน้าเราจะเน้นครองส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น ขณะนี้ผมเชื่อว่า ไซโกมีส่วนแบ่งไม่ต่ำกว่า 30% ของมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท" ความคาดหมายของภูริช มหาดำรงค์กุลนี้ กล่าวว่า มีส่วนหนึ่งที่ขึ้นอยู่กับนโยบายการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จะกระทบการค้า

"ตอนนี้ร้านค้าตัวแทนเราสับสนไม่รู้ว่าจะไปทางไหน ถ้าหากต้องใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม เราก็แนะนำเขาสองทาง คือ ระยะสั้นและระยะยาว แผนระยะสั้นก็คืออย่าตุนสต็อกสินค้า เช่น ซื้อนาฬิกาหลาย ๆ แบบแต่ละแบบไม่มากเรือน ตรงนี้เขาจะได้ DISPLAY SHARE และมาร์เก็ตแชร์ในอนาคต ส่นแผนระยะยาวปรับปรุงกิจการเป็นรูปบริษัท ตั้งเงินเดือนตัวเอง เพื่อมีค่าใช้จ่ายไว้หักได้เป็นการเตรียมตัวเข้าสู่ระบบภาษีที่ถูกต้องและไม่ซ้ำซ้อน" ภูริชเล่าให้ฟังถึงแผนการตั้งรับภาษีใหม่

"ในอนาคต ภาษีเทศบาลและภาษีการค้าจะถูกเปลี่ยนเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ซึ่งทำให้โครงสร้างราคาชัดเจนไม่ซับซ้อน ขณะที่ตอนนี้อากรขาเข้าของนาฬิกาข้อมือ คือ 20% ที่รวมภาษีดังกล่าวข้างต้นด้วย แต่ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงด้านอากรนำเข้านอกจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ผมเชื่อว่าคนไทยไม่ต้องซื้อนาฬิกาแพงจากต่างประเทศอีกต่อไป" นิรันดร์ หงสานุกูลสันติ์ ผู้จัดการทั่วไปซึ่งทำงานกับกาลทองมา 6 ปีและมีสายสัมพันธ์ส่วนตัวกับครอบครัวมหาดำรงค์กุลมานานก่อนจะมาทำงานที่นี่ นิรันดร์เคยเป็นอดีตผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทไทยเท็กซ์ไทล์ อินดัสทรี ของบุญนำ บุญนำทรัพย์

การรุกตลาดให้ได้ส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นนั้น กลยุทธ์ทางด้าน TRADE PROMOTION และ SALES PROMOTION ต้อง AGGRESSIVE โดยขึ้นอยู่กับทีมงานหนุ่มสาวนักบริหารที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี นับตั้งแต่ภูริช มหาดำรงค์กุล กรรมการผู้จัดการ นิรันดร์ หงสานุกุลสันติ์ ผู้จัดการทั่วไป โคโซ อาดาชิ รองกรรมการผู้จัดการที่เป็นชาวญี่ปุ่นประสานงานระหว่างประเทศ อภิชาติ เทียมจรัส รองผู้จัดการทั่วไป มณเธียร ธนานาถ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด 1 ผู้มีประสบการณ์จากบริษัทเพรสโก้และโค้ก เอ็กซ์ปอร์ตฯ วลี วรชัยธนากร ผู้หญิงคนเดียวในทีมที่ดูแลฝ่ายการตลาด 2 ในฐานะผู้จัดการอาวุโสและกิตต เกียรติธนะบำรุง ผู้จัดการแผนกบริการงานขายที่ดูแลร้านค้าตัวแทนจำหน่ายไม่ต่ำกว่า 700 แห่ง ซึ่งผูกสายสัมพันธ์การค้ามาตั้งแต่รุ่นพ่อถึงรุ่นลูก และต้องช่วงชิงความเป็นหนึ่งในใจของตัวแทนขายเหล่านี้ให้ได้ ขณะที่คู่แข่งก็มีเป้าหมายเดียวกัน

ความแข็งแกร่งของภาพพจน์นาฬิกาไซโกในไทยยังมีความเป็นผู้นำในตลาดนาฬิกาญี่ปุ่นอยู่สูงมาก นอกจากนี้ยังมีบริษัทแม่สนับสนุนสินค้ารุ่นใหม่ ๆ ที่ครอบคลุมทุกเซกเมนต์ตลาดได้ครบถ้วน ตั้งแต่นาฬิกาแฟชั่นที่มุ่งกลุ่มเป้าหมายระดับสูง ไซโกก็มีนาฬิกา "LASSALE" และ "CREDOR" นาฬิกาที่เหมาะสำหรับตลาดระดับกลางก็มียี่ห้อ "PULSAR" และตลาดระดับล่างก็มียี่ห้อ "ALBA" และ "LORUS"

"จากผลสำรวจของดีมาร์และอาร์ดีอาร์ที่เราจ้างมา พบว่า อิมเมจของไซโกนำและพฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยทุกวันนี้เปิดกว้างรับแฟชั่นใหม่ ๆ ได้เร็วกว่าเดิม ยี่ห้อดัง ๆ เช่น กุชชี่ เริ่มเป็นที่ยอมรับราคาระดับนี้กันแล้ว เดี๋ยวนี้คนไทยไม่กลัวของแพง ขอให้คุณภาพดีแล้วกันยอมเสียเท่าไรเท่ากัน" ภูริช ได้สะท้อนความเห็นถึงความตื่นตัวด้านคุณภาพของคนไทยที่ยอมสู้ราคา

นอกจากความแข็งแกร่งของภาพพจน์สินค้าแล้ว ภูริช ได้เน้นถึงนโยบายการบริการหลังขาย ซึ่งมีโครงการจะเปิดใหม่อีกสองแห่ง คือ ที่หาดใหญ่และต้นปีหน้าที่เชียงใหม่ นอกเหนือจากเดิมที่มีศูนย์บริการ และโชว์รูมที่กรุงเทพฯ สองแห่ง คือ สีลม และเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์

ในปีหน้านาฬิกาไซโกได้รับเกียรติเป็นนาฬิกาที่ใช้จับเวลาในกีฬาโอลิมปิคครั้งที่ 25 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศสเปน ภูริชได้เล่าให้ฟังจะมีการทำ TRADE PROMOTION แคมเปญรณรงค์ใหญ่สำหรับร้านค้าตัวแทนที่ทำทะลุเป้าจะได้รับรางวัลไปกินเที่ยวชมกีฬาโอลิมปิคที่เมืองบาเซโลนา ประเทศสเปนด้วย และมีกิจกรรม "DISPLAY CONTEST" ที่ส่งเสริมกลยุทธ์การจัดแต่งหน้าร้านให้ดึงดูดใจ โดยทางบริษัทจะจัดอุปกรณ์ตกแต่งร้านให้ เช่น สติ๊กเกอร์โมบาย "ไซโก" ฯลฯ นอกจากนี้บริษัทได้ลงทุนสร้างความสัมพันธ์อันดีกับร้านค้าตัวแทนโดยตรงด้วยการจัดทำ "สารไซโก" ที่ช่วยให้ร้านค้ารับรู้ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงใหม่และเป็นสื่อกลางเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างร้านค้าตัวแทน 700 แห่งเข้าด้วยกัน

ส่วนทางด้านการส่งเสริมการขายให้กับร้านค้า ภูริชเล่าว่า ได้มีการเตรียมทุ่มงบโฆษณา ซึ่งจะผ่านทางบริษัทเอเยนซีประกิตแอนด์เอฟซีบีเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งในอดีตบริษัทกาลทองได้เคยทุ่มงบโฆษณาและส่งเสริมการขายในงานฟุตบอลโลกมาแล้ว จนประสบความสำเร็จด้านยอดขาย

สงครามการตลาดในปีหน้าจึงน่าจับตาถึงความดุเดือดระหว่างยักษ์ใหญ่สองค่ายทั้งฝ่าย "ซิตี้เชน" ของตระกูลกาญจนพาสน์ และ "เมืองทองไซโก" ที่บริหารโดยภูริชทายาทมหาดำรงค์กุลรุ่นที่สอง ซึ่งต่างก็ชิงความเป็นเจ้าแห่งเวลาบนข้อมือคนไทย !!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us