คล้อยหลังการประกาศรายชื่อ "40 สุดยอดมหาเศรษฐีของจีนแผ่นดินใหญ่" ของนิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) ได้เพียงสองวัน ชายหนุ่มผู้เป็นต้นตำรับของการจัดอันดับมหาเศรษฐีของจีนแผ่นดินใหญ่นาม "หูรุ่น" ผู้ซึ่งในอดีตทำงานให้กับฟอร์บส์ก็ออกมาแถลงข่าวการจัดอันดับ "The Richest People in China ประจำปี 2007 อย่างทันควัน
หูรุ่น หรือในชื่อจริงคือ Rupert Hoogewerf เป็นหนุ่มชาวอังกฤษวัย 30 ปลายๆที่มีความผูกพันกับประเทศจีนมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยประชาชน เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน หนุ่มชาวอังกฤษผู้นี้ถือเป็นผู้ริเริ่มการจัดอันดับบุคคลที่รวยที่สุดในจีนแผ่นดินใหญ่ มาตั้งแต่ปี 2542 (ค.ศ.1999) เขา เป็นทั้งเจ้าของไอเดียและยังเป็นผู้ลงมือเก็บข้อมูลด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่องและนำผลที่ได้ไป ให้ฟอร์บส์ตีพิมพ์ ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะแตกคอกันในปี 2546 (ค.ศ.2003) โดยฟอร์บส์แต่งตั้ง Russell Flannery ขึ้นมาเป็นหัวหน้าของศูนย์เซี่ยงไฮ้แทน Hoogewerf
หลังโบกมือลาฟอร์บส์ "หูรุ่น" ก็ออกมา ดำเนินการจัดอันดับมหาเศรษฐีชาวจีนแผ่นดิน ใหญ่ในนาม Hurun Report ด้วยตัวเอง จนกระทั่งปัจจุบัน Hurun Report ได้กลายเป็นสถาบันจัดอันดับ (Rating Agency) ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศจีนไปแล้ว และทุกๆ ปีสถาบันแห่งนี้ต้องออกมาจัดอันดับมหาเศรษฐีจีนแข่งกับฟอร์บส์
สำหรับในปี 2550 หรือ ค.ศ.2007 นี้ฟอร์บส์ประกาศ 40 อันดับมหาเศรษฐีชาวจีนออกมาก่อนในวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมาก่อนที่นิตยสารฟอร์บส์ เอเชีย จะวางจำหน่ายในวันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม โดยระบุว่า มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของจีนในปี 2550 นี้ก็คือหญิงสาววัยเพียง 26 ปีที่ชื่อหยาง ฮุ่ยเหยียน...
หยาง ฮุ่ยเหยียน คือ เจ้าของหุ้นใหญ่ของบริษัทคันทรี การ์เดน โฮลดิ้งส์ (Country Garden Holdings ; ) บริษัท ที่เพิ่งเข้าระดมทุนสำเร็จในตลาดหุ้นฮ่องกง เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยสามารถระดมทุนได้ทั้งสิ้นกว่า 12,912 ล้านเหรียญฮ่องกง โดยเธอซึ่งเป็นบุตรสาวคนรองของครอบครัวได้รับมรดกตกทอดมาจากบิดาคือหยาง กั๋วเฉียง เมื่อปี 2548 หลังจากที่หยาง ฮุ่ยเหยียน จบการ ศึกษาจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สเตท ในประเทศ สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ฟอร์บส์ระบุว่าเธอมีทรัพย์สิน ทั้งหมดราว 121,443 ล้านหยวน (ราว 6 แสนล้านบาท)
ความมั่งคั่งของหญิงสาวแซ่หยางผู้นี้ถูกยืนยันอีกครั้ง เมื่อ Hurun Report ออกมาประกาศอันดับคนที่รวยที่สุดในประเทศจีนเมื่อ วันที่ 10 ตุลาคม ระบุว่าปัจจุบันหยาง ฮุ่ยเหยียน มีทรัพย์สินมากถึง 130,000 ล้านหยวน (ราว 650,000 ล้านบาท) ส่วนใหญ่มาจากการถือหุ้น ร้อยละ 70 ของคันทรี การ์เดน โฮลดิ้งส์
จากตัวเลขทรัพย์สินของหยาง ฮุ่ย เหยียนที่ประกาศออกมาโดยฟอร์บส์และ Hurun Report เป็นการยืนยันให้โลกได้รับรู้ว่า ณ บัดนี้ประเทศ "สังคมนิยม" อย่างจีนนั้นมีมหาเศรษฐี ที่มีทรัพย์สินระดับแสนล้าน (หยวน) กับเขาบ้างแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นตะลึงเป็นอย่างยิ่ง เพราะเมื่อสามปีที่แล้ว (2547) จากการจัดอันดับของหูรุ่น ประเทศจีน เพิ่งจะทำคลอดมหาเศรษฐีระดับหมื่นล้านหยวน คนแรกคือ หวง กวงอี้ว์ เจ้าของกิจการค้าปลีก เครื่องใช้ไฟฟ้านามกั๋วเหม่ยและบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อีเกิล กรุ๊ป ไปหมาดๆ
จากการแถลงข่าวของหูรุ่นระบุว่า ในปีนี้เกณฑ์ทรัพย์สินของความเป็น "มหาเศรษฐี" นั้นยังคงเหมือนเช่นปีที่ผ่านมา คือ 800 ล้านหยวน (ราว 4,000 ล้านบาท) แต่สิ่งที่แตกต่าง ออกไปก็คือจำนวนมหาเศรษฐีจีนที่เข้าข่ายของ การมีทรัพย์สินเกิน 800 ล้านหยวนนั้นเพิ่มขึ้นมาก คือเพิ่มขึ้นจาก 500 คนเป็น 800 คน ขณะที่มหาเศรษฐีที่มีสิทธิ์ที่จะถูกจัดให้อยู่ในสิบอันดับแรกนั้นจากเดิมในปีที่แล้วที่ต้องมีทรัพย์สิน 10,000 ล้านหยวน ณ ปัจจุบันผู้ที่มีสิทธิ์จะติดอันดับ TOP 10 นั้นจะต้องมีทรัพย์สิน มากถึง 36,000 ล้านหยวนเลยทีเดียว
ตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับตารางอันดับมหาเศรษฐีจีนของ "หูรุ่น" ในปีนี้ยังไม่หมดแค่นี้ กล่าวคือ มหาเศรษฐี 75 คนแรกในตารางอันดับ ล้วนแล้วแต่มีทรัพย์สินมากกว่าหมื่นล้าน หยวน ขณะที่ 13 อันดับแรกนั้นต่างก็มีทรัพย์สิน มากกว่า 3 หมื่นล้านหยวน ทรัพย์สินเฉลี่ยของ มหาเศรษฐีทั้งแปดร้อยคนเท่ากับ 4,200 ล้านหยวน (ราว 21,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วหนึ่งเท่าตัว นอกจากนี้ข้อมูลยังชี้ให้เห็น ด้วยว่าในจำนวนมหาเศรษฐี 100 คนแรก 74 คน เป็นเจ้าของบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์
การเปลี่ยนแปลงในตารางอันดับมหาเศรษฐีของจีนในปีนี้บ่งชี้ให้โลกเห็นพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคม จีนในหลายๆ ด้านคือ
ประการแรก ธุรกิจเอกชนในประเทศจีน นั้นมีการเจริญเติบโตขึ้นรวดเร็วมากทั้งยังมีความเป็นสากลมากขึ้นจากพัฒนาการของตลาดทุนในประเทศจีน อันจะเห็นได้จากตัวเลข ที่ระบุว่าทรัพย์สินของมหาเศรษฐีมากถึง 74 รายจาก 100 รายแรกนั้นมาจากบริษัทที่จดทะเบียน และระดมทุนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ มหาเศรษฐีอันดับที่หนึ่งที่ก้าวขึ้นสู่อันดับหนึ่งจากการนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
ประการที่สอง การเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนในรอบหลายปีที่ผ่านมาก่อให้เกิดเศรษฐีและมหาเศรษฐีใหม่ชาวจีนจำนวนมหาศาล สังเกตได้จากข้อมูลที่ ระบุว่าในตารางมหาเศรษฐี 40 อันดับของฟอร์บส์ นั้นมีมหาเศรษฐีมากถึง 10 รายที่เป็นเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่ Rich List ของ "หูรุ่น" นั้นก็ให้ข้อมูลคล้ายๆ กันคือมหาเศรษฐี 10 อันดับแรกนั้นมีถึง 8 รายที่ทำธุรกิจอสังหา ริมทรัพย์ โดยในจำนวนนี้มี 4 รายที่ทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก ส่วนอีก 4 รายนั้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในธุรกิจหลัก
ในประเด็นนี้ "หูรุ่น" กล่าวให้สัมภาษณ์ กับผู้สื่อข่าวระหว่างการแถลงข่าวว่า "ปีที่แล้วเศรษฐีที่มีเงิน 100 หยวน เมื่อมาถึงปีนี้เงินจำนวนดังกล่าวได้เพิ่มเป็น 300 หยวน หากใครซื้อที่ดินโดยเฉพาะในช่วงก่อนปี 2548 เป็น ต้นมา ต่างก็ร่ำรวยเป็นทวีคูณด้วยกันทั้นนั้น"
ประการที่สาม เศรษฐกิจของจีนยังไม่ก้าวหน้าถึงขั้นที่ระบบเศรษฐกิจจะต้องพึ่งพานวัตกรรมใหม่ๆ สังเกตจากการที่ในปีนี้ เจ้าของธุรกิจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศทั้งหลาย เช่น หลี่เยี่ยนหง แห่งไป่ตู้ (เสิร์ชเอนจิ้นอันดับหนึ่งของจีน), หม่า อวิ๋นแห่งอาลีบาบา, เฉินเทียนเฉียวแห่ง Shanda Interactive Entertainment Limited, ติงเหล่ย แห่งเว็บไซต์ 163.com (อ่านเรื่องราวของคนเหล่านี้ย้อนหลังได้ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเก่าๆ หรือ www.gotomanager.com) ต่างอันดับร่วงลงด้วยกันทั้งสิ้น
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับมหาเศรษฐีของ สหรัฐอเมริกาแล้วก็จะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจน กล่าวคือในการจัดอันดับมหาเศรษฐีของ สหรัฐอเมริกา โดยนิตยสารฟอร์บส์นั้น ชาวอเมริกันที่รวยที่สุด 10 อันดับแรกมีอยู่ถึง 6 รายที่เป็นเจ้าของธุรกิจเกี่ยวกับอินเทอร์เนต-ไอที
การเพิ่มขึ้นของจำนวนมหาเศรษฐีในจีน นั้นถูกจับตาอย่างมากจากสื่อมวลชนทั่วโลก โดย สื่อตะวันตกบางแห่งถึงกับรายงานว่าปัจจุบันจีนได้กลายเป็นประเทศที่มีมหาเศรษฐีมากที่สุด ในโลกรองจากสหรัฐฯ ไปเสียแล้ว โดยมีมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญ สหรัฐ มากถึง 108 คน ซึ่งถือว่าเป็นการขยาย ตัวที่นับได้ว่าไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหนมาก่อน และนั่นก็เป็นหลักฐานสำคัญที่ตอกย้ำถึงสถานการณ์ ของช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนจน-คนรวยในประเทศจีน หลังการปฏิรูปทางเศรษฐกิจมาเกือบครบ 30 ปี ว่ากำลังเข้าขั้นวิกฤติ
กล่าวคือ ขณะที่ในการประชุมสมัชชาใหญ่ผู้แทนทั่วประเทศพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 17 ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีนักวิชาการจากบัณฑิตยสภาด้านสังคมศาสตร์ของจีน ออกมาระบุถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน ประเทศ (จีดีพี) ณ ปี 2549 ว่าเท่ากับ 2.63 ล้าน ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือจีดีพีต่อหัว (GDP per Capita) ราว 2,000 เหรียญสหรัฐ) แต่เมื่อนำตัวเลขจีดีพีดังกล่าวมาคิดคำนวณเปรียบเทียบกับมูลค่าทรัพย์สินรวมของมหาเศรษฐีชาวจีนใน Rich List ของ Hurun Report ในช่วงปี 2549 และ 2550 ก็จะพบว่า มูลค่าทรัพย์สินรวมของ มหาเศรษฐีจีนในปี 2550 นี้คิดเป็นถึงร้อยละ 16 ของจีดีพีของประเทศจีน ขณะที่ในปี 2549 มูลค่าทรัพย์สินรวมของโคตรเศรษฐีชาวจีนนั้นเท่ากับร้อยละ 6 ของจีดีพีของประเทศจีนเท่านั้น
นี่แหละครับสภาวะของ "จีนใน พ.ศ.นี้" ประเทศสังคมนิยมที่มีมหาเศรษฐีมากที่สุดในโลก!
เว็บไซต์ : Hurun Report - http://www.hurun.net/indexen.aspx
|