Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2550
เจษฎ์ กัลยาณชาติ บำบัดจิตด้วยคุณค่าศิลปะ             
โดย สุภัทธา สุขชู
 


   
search resources

Art
เจษฎ์ กัลยาณชาติ




สิบกว่าชั่วโมงที่เจษฎ์ กัลยาณชาติ ไม่แตะน้ำสักหยดและไม่เข้าห้องน้ำเลย จิตใจเขามุ่งมั่นจดจ่อกับการดรออิ้งขึ้นรูปรัชกาลที่ห้าเต็มเฟรมผ้าใบขนาดสูงสองเมตร

หลังเสร็จงานตอนเที่ยงคืน เขาเล่าว่ารู้สึกปีติอิ่มใจ และวันต่อๆ มา สีน้ำมันที่ถูกผสมเป็นสีผิวพระองค์ท่านก็ปรากฏแต่งแต้มบนภาพเขียน แต่ละขั้นตอนต้องรอสีแห้งกว่าจะลงสีใหม่อีกครั้งมิฉะนั้นสีจะจม แต่ละวันเขาจึงใช้เวลาวันละไม่ต่ำกว่า 9 ชั่วโมงเขียนชิ้นงานใหญ่ล่าสุดนี้ ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่กลางสตูดิโอเขียนภาพโล่งที่แปลงโรงจอดรถหน้าบ้านเป็นที่ทำงาน

"ผมจะเป็นคนช่างสังเกต สัมผัสไว และชอบเขียนภาพ portrait ซึ่งเป็นงานละเอียด ที่ยากและท้าทายเหมือนกระชากตัวเอง ต้องอาศัยความช่างสังเกต แม่นยำในกระดูกโครงสร้าง กล้ามเนื้อ สีผิวที่ต่างสกุลรุนชาติก็ต่างผิว และที่สำคัญต้องเขียนสื่อจิตวิญญาณ ให้รู้ว่าเขาเป็นคนอย่างไร สีหน้าแววตาจะออกมาเลย ยิ่งกับคนรู้จักผมยิ่งถ่ายทอดได้เต็มที่ จิตมันจะพวยพุ่งจากพู่กันเพ่งไปในภาพเหมือนมีชีวิตไม่ตาย นี่คือจิตรกรรม"

แนวเขียนภาพแบบอิมเพรสชั่นนิสม์และเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ ที่เจษฎ์สื่อศิลปะออกมา ต้องอาศัยฝีแปรงที่แม่นยำและฉับไวทางอารมณ์ชั่วขณะที่รุนแรงสั่นไหว และปลดปล่อย ออกมาอย่างอิสระไร้กฎเกณฑ์ เจษฎ์เล่าให้ฟัง ว่า ผลงานเขียนรูปของเขาในช่วงปี 2545 จะ เต็มไปด้วยรอยขีดข่วนบนภาพ เริ่มจากชิ้นแรก ที่เขียนภาพวิวที่เสถียรธรรมสถาน ซึ่งเขาได้เขียนภาพสระบัวแล้วใช้กิ่งไม้ขีดข่วน สร้าง texture ของภาพให้เกิดมิติความงามที่แลดูเสมือนน้ำไหวพลิ้วได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

"ช่วงนั้นถ้าใครจะว่าจ้างผมเขียนภาพ โรแมนติกเนี้ยบๆ ก็คิดผิด เพราะคุณจะได้รูป ที่เต็มไปด้วยรอยแนวขีดข่วนบนภาพทุกชิ้น เหมือนมีกงเล็บขีดข่วน แต่ถ้าดูรูปไกลๆ ภาพ มันจะซอฟต์เอง ครั้งหนึ่งแหม่มคนหนึ่งจ้างผมเขียนภาพ portrait เธอ ซึ่งโครงหน้ากระดูกและทรงผมที่เกล้าทำให้ผมรู้สึกอยากเขียนมาก เธอคงเข้าใจว่าผมจะเขียนแนวโรแมนติก แต่ปรากฏว่าพอเขียนภาพเสร็จกลายเป็นภาพเขียนแบบเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ แถมมีรอยขีดข่วนด้วย ทำให้เธอไม่เอา ซึ่งก็ทำให้ผมดีใจเพราะอยากเก็บงานนี้ไว้เอง"

น่าเสียดายที่ผลงานส่วนใหญ่ของเขาต้องอยู่ในสภาพสิ้นไร้ไม้กรอบรูป ดุจเดียวกับ ชีวิตศิลปินอย่างเจษฎ์ ที่มีประสบการณ์เจ็บป่วยทางจิตเภท (Schizophrenia) ซึ่งเป็นโรค เกี่ยวกับสารเคมีในสมองผิดปกติ เมื่อสามปีที่แล้ว

เจษฎ์เล่าถึงที่มาของโรคให้ฟังว่า เขารู้สึกผิดและเป็นบ้าเพราะหมกมุ่นคิดแต่ว่าตนเองทำผิดกฎพลังจักรวาลที่ร่ำเรียนจากอาจารย์มาครั้งเดียว โดยแอบทำไม่ถูกวิธี ไปรับพลังแสงอาทิตย์คนเดียว ทำให้จักระกลาง กระหม่อมเกิดแปรปรวน ความหลงผิดตรงนั้น นำไปสู่อาการเจ็บป่วยทางจิตเภท เกิดหูแว่วว่าสั่งให้ตายภายใน 24 ชั่วโมง ทุกวันเขาวิ่งให้รถชนเพราะหลงผิด ประสาทหลอน บุคลิก เปลี่ยน นุ่งขาวห่มขาวคุยกับท้องฟ้า ในสมอง ได้ยินเสียงสั่งห้ามกินห้ามนอน ห้ามอาบน้ำ ถ้าทำนอกคำสั่งจะตายอย่างทรมาน ต้องเอาหัวโขกพื้นห้องน้ำอย่างรุนแรง ภาวะวิกฤติป่วยหนักเช่นนั้น ทำให้พ่อแม่พี่สาวต้องพาเขาไปรักษากับคุณหมอสมรัก ชูวานิชวงศ์ ที่ รพ.ศรีธัญญา จนกลับคืนสู่สังคมปกติได้ด้วยเพราะโรคจิตเวชเป็นโรคของสมองที่สามารถรักษาได้ ด้วยแผนการรักษาด้วยยาทางจิตเวช บวกกับความรักความเข้าใจของครอบครัว และกิจกรรมบำบัดจิตด้วยศิลปะงานเขียนรูปและเล่นไวโอลินรวมถึงออกกำลังกายด้วย

"บางทีผมเศร้าและเจ็บป่วย ผมก็ทดสอบตัวเอง โดยพยายามฝืนเขียนรูป ทั้งๆ ที่กายมันบอกว่าไม่ไหวแล้วนะ ต้องนอนๆ แต่ผมยังนั่งผสมสีเขียน เชื่อไหมครับว่า เพียงพ้นความยากลำบากในสามสิบนาทีแรก ผมแทบไม่ต้องนอน ทำงานต่อถึงรุ่งเช้าได้เลย ศิลปะมันเหมือนยารักษาโรค ผมเคยดูข่าวตั้งนานแล้วว่า ที่เมืองนอกเขาแจกกระจกให้คนป่วยคนละบาน แล้วให้คนป่วยเขียนรูปตัวเอง เป็นรูปตัวเองร้องไห้ น้ำตาเป็นสีฟ้า เขารู้สึกอย่างไร ก็ทำได้ อยากเขียนหน้าสีเขียวก็ทำได้ คนอื่นบอกไม่ควรทำ แต่ผมชอบ ผมก็ใช้ฝีแปรงเขียนตรงนี้ปั๊บ ได้เลย"

ภาพที่สื่ออารมณ์ความทุกข์ทรมานภายในใจของเจษฎ์ ถูกเขียนเป็นภาพสีน้ำมันขึ้นมา 3 ภาพ โดยมีจุดเด่นที่ดวงตา ใช้สีโทนร้อนเป็นจุดเด่น สะท้อนฝีแปรงอันแม่นยำและรุนแรงที่สื่ออารมณ์อันบิดเบี้ยวภายในใจ

"คืนหนึ่งผมไปดูหนังผี มีฉากพระเอกและนางเอกตกน้ำซึ่งให้บรรยากาศแบบหลอนๆเป็นสีเขียว ผมก็เลยกลับมาบ้านแล้วอยากได้อารมณ์หลอนๆ ประมาณนั้น จึงรีบวาดใบหน้าบิดเบี้ยวของตัวเองที่หน้ากระจกสองชั่วโมงกว่าๆ เมื่อยหน้าก็หยุด เขียนจนเสร็จแล้วเอาหูออก ไปทั้งสองข้างเพราะเกะกะ เสร็จแล้วเอากิ่งไม้มาขีดข่วนรูปให้มี texture" เจษฎ์เล่าให้ฟัง

การอยู่กับตัวเองที่มีพลังจินตนาการภายในของเจษฎ์ มีมาตั้งแต่เด็ก เขาชอบเอากล่อง ไม้ขีดไฟมาทำเป็นรถเมล์ หรือเอาไฟแช็กที่เขาคิดว่าเหมือนหน้ารถเก๋งมาเล่น โดยเลียนเสียง รถยนต์วิ่ง เมื่อโตขึ้นเขาก็เลือกเรียนศิลปะ เพราะทึ่งในผลงานที่รุ่นพี่คนหนึ่งเพียงใช้ดินสอดำวาดเพียงไม่กี่เส้นก็ราวมีชีวิต เขาจึงเลือกเรียนที่ไทยวิจิตรศิลป์ แต่เพียงอาทิตย์แรก เขาก็เจอคำสบประมาทของอาจารย์ท่านหนึ่งว่า อย่างเธอไปเรียนพาณิชย์บัญชีการตลาดจะดีกว่าไหม? ทำให้เจษฎ์ฝึกฝนอย่างหนักด้วยตัวเองหน้ากระจก ทั้งแก้ผ้าวาดโครงร่างตัวเองให้แม่นยำ เขาทำจนสำเร็จเมื่อขึ้นปีสาม เขาได้รับรางวัลเขียนภาพลายเส้นยอดเยี่ยมจากอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ และได้ศึกษาต่อที่เพาะช่าง และจบปริญญาตรี เอกศิลปะ คณะครุศาสตร์ ที่สวนสุนันทา

เจษฎ์เริ่มชีวิตเป็นครูสอนศิลปะที่ไทยวิจิตรศิลป์เพียงปีเดียว และลาออกมาศึกษาต่อด้าน ศิลปะการแต่งหน้าจาก MTI และทำงานแต่งหน้าดารานางแบบให้กับหนังสือแฟชั่นได้เงินเดือน 25,000 บาท ก่อนจะลาออกมาทำงานเป็นศิลปินอิสระถึงปัจจุบัน

"ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ 3-4 ปี ผมเป็นเมคอัพอาร์ติสต์อยู่สามปี พักการเขียนรูป ต้องไป แต่งหน้าคน ซึ่งยากเพราะผิวเนื้อคนมันยืดหยุ่นมากกว่า เราเป็นผู้ชายบางครั้งก็เล่นละครใส่หน้ากากทำเป็นตุ๊ดเป็นเกย์ตามสมัยนิยม แต่งตัวก็ต้องเนี้ยบ กลิ่นน้ำหอมอ่อนกรุ่นเบาๆ เพราะ เวลาแต่งหน้าดารา หน้าเรากับหน้าเขาห่างกันแค่คืบ จะมาซกมกแบบนี้ไม่ได้ ถ้าถามว่าตอนนั้นเงินดีไหม? ก็ดี แต่พอกลับบ้านก็ถอดหน้ากาก มันเหนื่อยใจ ทำอยู่สามปี เทียบกับชีวิต ตอนนี้ไม่ได้เลย เพราะนี่เราสร้างจากผืนผ้าใบ ที่ว่างเปล่า และใส่จิตวิญญาณเข้าไปในภาพเองทั้งหมด"

ผลงานเขียนภาพลายเส้นรูปอินเดียนแดงทั้งสิบชิ้นที่เขาตั้งใจจะทำให้กับเพื่อนรุ่นพี่ ที่อยู่อเมริกา แต่ต้องมาสิ้นชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ได้แสดงให้เห็นฝีมืออันเฉียบขาดของเขา

แต่ภาพเขียนที่เป็นมาสเตอร์พีซของเขาชิ้นหนึ่ง คือ ภาพเขียนรูปคุณพลอยไพลิน เจนเซ่น ซึ่งเป็นภาพสีน้ำมันชิ้นเยี่ยมที่เจษฎ์เขียนขึ้นจากแรงบันดาลใจภาพปกหนังสือพลอยแกมเพชร แต่เขาได้เอามงกุฎออก เพราะมีสร้อยเพชรที่คอ และแต่งผมให้ดูสลวยสวยงามขึ้น

"ภาพเขียนนี้เคยไปแสดงที่งานประชุม เอเปกตอนที่มีงานแสดงภาพปิกัสโซ่ Original Carmen ซึ่งเขาได้ค้นพบในเมืองไทย และใน งานก็มีภาพผมแสดงด้วย ซึ่งคนก็สนใจรูปนี้กันมากและขอซื้อกันเยอะ แต่ผมบอกว่าขอโทษครับ ผมขายไม่ได้ เขาก็ถามว่า อ้าวทำไม?... คุณก็มีฝีมือเขียนใหม่ก็ได้ไม่ใช่เหรอ? ใช่... ผมมีฝีมือและถ้าเขียนใหม่อาจจะดีกว่าเก่าด้วย แต่คุณรู้ไหมว่าศิลปะที่แท้จริงมันเหมือนทารกในครรภ์มารดา ไม่ใช่คลอดพร่ำเพรื่อ เหมือนจิตวิญญาณ ที่อยู่ในทุกอณูของภาพ มันไม่ออกมาพร่ำเพรื่อ ถ้าว่าจ้างก็อาจทำได้ด้วยฝีมือ แต่ก็แค่ภาพวาดเขียนรูปธรรมดาที่ไม่ใช่ศิลปะ ผมเก็บงานชิ้นสำคัญๆ เพื่อบอกให้คนอื่นรู้ว่าผมผ่านอะไรมาบ้าง"

แต่บางครั้งสถานการณ์ก็บังคับให้เจษฎ์ต้องขายรูป เพราะเป็นความต้องการอย่างรุนแรงของรัฐมนตรีคนหนึ่งในรัฐบาลที่แล้ว ภาพเขียน สีน้ำมัน 3 ภาพที่เจ้าของรักและหวง แลกกับเงินเพียง 15,000 บาทที่ท่านเทควักออกจากกระเป๋า แถมผู้ติดตามท่านยังมาแกะมือขอนับเงิน จากมือศิลปิน อาจจะดูเบาศิลปินที่ป่วยด้วยโรคจิตเภท

"ที่จริงผมไม่อยากขาย โดยเฉพาะรูปของน้องป๊อบท้าวคาง (อารียา สิริโสภา) ผมจำได้สนิทเลยว่า ขณะเขียนรูปป๊อบครั้งนั้น ผมรู้สึกเหมือนแขนผมหายไปข้างหนึ่ง เพราะจิตตกอยู่ในภวังค์ เขียนตั้งแต่สองทุ่มจนถึงตีหนึ่ง เขียนดรออิ้งเส้นละเอียดเบาบางมากๆ บนกระดาษสีปูนเก่าๆ รู้สึกแขนไม่มีเหมือนเข้าฌาน เส้นออกมาละเมียดละไมและอ่อนโยนแบบมีพลังแฝงอยู่ ผมถึงบอกว่าไม่อยากขาย แต่ท่าน คะยั้นคะยอ และคนติดตามก็พูดซ้ำๆ อีกว่า ขายท่านเถอะๆ เดี๋ยว ก็เขียนใหม่ได้ไม่ใช่เหรอ? เขาไม่รู้หรอกว่า ศิลปินเขียนภาพงานที่อารมณ์มันคลิก จะทำอีกทีก็ไม่ได้แล้ว เรียกว่ามันอิมโพรไวซ์ออกมาปังเลย"

ภาพเขียนระดับมาสเตอร์พีซของเจษฎ์ อาจมีมูลค่ามหาศาลในสายตาของดีลเลอร์ภาพอย่างนำทอง แซ่ตั้ง ที่เคยแวะเวียนมาดูงานเขา แต่ศิลปินที่อยู่เพื่อศิลปะแบบเจษฎ์ เงินเหล่านี้มีค่าเพียงอาหารวันละมื้อที่พอให้มีแรงกายทำงานหล่อเลี้ยงความฝัน โดยขอฝันเพียงมีหลอดสีเกรดเอและผืนผ้า ลินินอันละเอียดที่สามารถสื่อจินตนาการอย่างมีพลัง

เพราะความจนทุนทรัพย์แสดงงาน เจษฎ์เล่าให้ฟังว่าความเป็นศิลปินของเขาเคยคิดอยากจะนำผลงานทั้งหมด 50 กว่าชิ้นจากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันไปจัดแสดงนิทรรศการ แต่เมื่อต้องเจอปัญหาค่าใช้จ่ายนับแสนกับการเช่าสถานที่ ค่ากรอบรูปกว่า 50 รูป ค่าสูจิบัตร ฯลฯ เพื่อนของเขาเคยออกนิทรรศการภาพเขียนตัวเอง พอจบงานต้องใช้หนี้เป็นแสน เขาจึงต้องหยุดฝันไว้และทำงานศิลปะที่เขารักอยู่ที่บ้าน โดยใช้ชีวิตสมถะพอเพียง

"คนอื่นจะมองผู้ป่วยจิตเวชอย่างไร ผมไม่รู้สึก แต่คุณดูผลงานผมสิ...ผมมีตัวตน ผมไม่ใช่คนบ้าข้างถนนที่หัวเป็นก้อนๆ พูดคนเดียว ทำอะไรไม่ได้ แต่ผมเป็นศิลปินที่แม้ว่าจะต้อง กินยาทางจิตเวช ก็เหมือนกับคนป่วยโรคเบาหวานและความดันที่ต้องกินยาตลอดชีวิต เพียงแต่อาจจะทำงานไม่เต็มร้อยเหมือนเก่า"

ศิลปินที่มีประสบการณ์ตรงกับโรคจิตเภทอย่างเจษฎ์ กัลยาณชาติ ยังมีความเชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเอง และได้รับแรงใจสนับสนุนจากสายใยครอบครัว ทำให้ผลงานศิลปะของเขา สะบัดฝีแปรงสีสื่อแสดงออกพลังสร้างสรรค์ที่อัดแน่นในใจ ที่ค่อยๆ คลี่คลายอารมณ์อาร์ติสต์เฉกเช่นเจษฎ์ ให้พ้นออกจากกรงเล็บปีศาจที่ขีดข่วนชีวิตสู่ศิลปะเพื่อชีวิตใหม่   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us