Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2550
บทพิสูจน์แห่ง "หนองหว้า" เกษตรกรก็รวยได้             
โดย สุภัทธา สุขชู
 


   
www resources

โฮมเพจ เครือเจริญโภคภัณฑ์

   
search resources

เครือเจริญโภคภัณฑ์
Agriculture
หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า, บจก.




หลายคนเชื่อว่า เกษตรกรรมกับความยากจนมักเป็นของคู่กัน ทว่ากลุ่มเกษตรกรแห่งหมู่บ้านหนองหว้า ผู้มีรายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยร่วมแสนบาทต่อเดือนคงเป็นบทพิสูจน์ที่คัดค้านความเชื่อข้างต้นได้เป็นอย่างดี แต่กว่าจะมีความสำเร็จในวันนี้แน่นอนว่าต้องมีระบบวิธีคิดและกระบวนการจัดการที่ดีเป็นเบื้องหลังที่ควรค่าแก่การเรียนรู้และเป็นแบบอย่าง

บ้านหลังใหญ่หลังคาติดจาน UBC ในบ้านครบครันด้วยเครื่องอำนวยความสะดวก ไม่ต่างจากบ้านเรือนชาวกรุงเทพฯ รอบบ้านมีทั้งรถยนต์ รถกระบะ รถมอเตอร์ไซค์ และจักรยานเรียงรายอยู่ภายใต้อาณาเขตกว่า 20 ไร่ต่อบ้านหนึ่งหลัง

นี่คือสภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่เห็นได้ทั่วไป ทันที ที่เลี้ยวรถเข้าสู่อาณาจักร "โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า" ณ หมู่บ้านหนองหว้า ตำบลบ้านซ่อง อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

ภาพเหล่านี้แทบไม่เหลือเค้าความหลังเมื่อ 30 ปีก่อน ดินแดนอันเป็นที่ตั้งโครงการผืนนี้เคยเป็นเพียงที่รกร้างและแห้งแล้งจนไม่สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจอันใดได้ นอกจากมันสำปะหลังที่ออกผลมาเป็นหัวมันคุณภาพต่ำ และ "ความยากจน"

จนกระทั่งปี 2520 เมื่อเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ริเริ่มโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า อันมีแนวคิดเพื่อส่งเสริม อาชีพการเลี้ยงหมูควบคู่ไปกับการเพาะปลูกให้กับเกษตรกรผู้ยากจนและไร้ที่ทำกิน โดย ซี.พี.ให้การสนับสนุนด้านวิทยาการ ความรู้และเทคโนโลยีการเลี้ยงหมูที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ รวมถึงรับผิดชอบการจัดหาตลาดจำหน่ายสุกรให้แก่เกษตรกรกลุ่มนี้

ทั้งนี้ แนวทางของโครงการฯ เริ่มตั้งแต่การรวบรวมที่ดิน ราว 1,250 ไร่ มาจัดสรรเป็น 50 แปลง แปลงละ 20 กว่าไร่ สำหรับเกษตรกรที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้น 50 ราย โดยมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกคือ เป็นเกษตรกรเจ้าของที่ขายที่ดินให้โครงการฯ หรือไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง และยากจน

จากนั้น ซี.พี.ในนามโครงการฯ จึงนำรายชื่อเกษตรกรทั้ง 50 ราย ไปกู้เงินก้อนแรกที่ธนาคารกรุงเทพ 18 ล้านบาทโดย ซี.พี.เป็นผู้ค้ำประกันวงเงินกู้และบริหารเงินก้อนนี้ เงินส่วนหนึ่งถูกนำไปเป็นค่าที่ดินและค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้านพักให้เกษตรกร สร้างโรงเรือนเลี้ยงสุกร รวมถึงเป็นเงินลงทุนในการจัดสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ภายในโครงการฯ

เงินอีกส่วนถูกใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการเลี้ยงหมูโดย ซี.พี.นำหมูแม่พันธุ์ 30 ตัว และหมูพ่อพันธุ์อีก 2 ตัว มาให้ เกษตรกรเลี้ยงเพื่อผลิตลูกหมูคุณภาพอายุ 8 สัปดาห์ แล้วนำมาขายคืนให้กับโครงการฯ ในสนนราคาอยู่ที่ตัวละไม่ต่ำกว่า 70 บาทต่อหมูคุณภาพ 1 ตัว อันเป็นราคาประกันขั้นต่ำซึ่งมักจะสูงขึ้นทุก 1-2 ปี ซึ่งปีหนึ่งๆ เกษตรกรที่ตั้งใจเลี้ยงหมูจะมีผลผลิตเป็นลูกหมูอย่างน้อยปีละ 480 ตัว

"ในการบริหารชุมชน ความจำเป็นขั้นพื้นฐานของพวกเขา จะถูกตอบสนองก็ต่อเมื่อพวกเขามีรายได้ดี เราก็เริ่มต้นพัฒนาอาชีพหลักของพวกเขาคือการเลี้ยงหมู พัฒนาให้เลี้ยงหมูได้ผลผลิตดี มีต้นทุนต่ำ กำไรเยอะ เราใช้เวลากับตรงนี้นานจนวันนี้ก็ยังไม่สิ้นสุด เพราะมันมีสายพันธุ์ใหม่และนวัตกรรมใหม่อยู่เรื่อยๆ"

ภักดี ไทยสยาม กล่าวในฐานะผู้มีส่วนร่วมกับโครงการฯ ตั้งแต่ต้น ในช่วงแรกภักดีมีฐานะเป็นสัตวบาลที่ ซี.พี.ส่งมาประจำการที่หนองหว้า แต่พอโครงการฯ ดำเนินผ่านไป 3-4 ปีแรก ภักดีก็เปลี่ยนสถานะเป็นเกษตรกรในโครงการฯ โดยซื้อที่ดิน ต่อจากเกษตรกรเดิมรายหนึ่งที่ไม่ประสงค์จะเลี้ยงหมูต่อ

"มันเหมือนเราไม่ได้มาทำงานให้ ซี.พี.แต่เราเป็นส่วนหนึ่ง ของโครงการฯ เรามีอุดมการณ์ว่าต้องทำให้หมู่บ้านนี้สำเร็จให้ได้ ซึ่งหนทางไม่สำเร็จมันก็มีอยู่แค่ 2 อย่างคือ ไม่ขยัน อดทน และไม่ซื่อสัตย์ เราจึงปลูกฝังสิ่งเหล่านี้กับเกษตรกรไว้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ" ภักดีย้ำกุญแจสำคัญนี้หลายครั้ง

ภายใต้ความเป็นผู้นำด้านวิทยาการและเทคโนโลยีการเลี้ยงหมูของ ซี.พี.ที่ถ่ายทอดให้กับเกษตรกรบ้านหนองหว้า และความอดทนของเกษตรกรเอง ในการเลี้ยงหมูปลอดสารอย่างเป็นระบบตามคำแนะนำของสัตวบาล หมูจากโครงการฯ จึงกลายเป็นต้นน้ำของผลิตภัณฑ์จากหมูเกรดพรีเมียมของ ซี.พี. ที่ส่วนใหญ่ถูกส่งขายให้ห้างหรูและส่งออกไปขายในต่างประเทศ เท่านั้น

ค่าจ้างเลี้ยงหมูที่ ซี.พี.ภายในนามโครงการฯ จ่ายให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ผ่านค่าตอบแทนที่เป็นราคาขายหมู ทำให้เกษตรกรเหล่านั้นมีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 2-3 พันบาท แม้ไม่ใช่รายได้ที่สูงมาก แต่เมื่อเทียบกับความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นและไม่มีอาชีพทำกินก่อนมีโครงการฯ นี่ย่อมถือเป็นทางเลือกที่ดีที่ ซี.พี.หยิบยื่นให้กับเกษตรกรทั้ง 50 ครัวเรือน

โดยเฉพาะเงื่อนไขที่แสนดึงดูดใจสำหรับคนที่ไม่เคยมีที่ทำกินและที่อยู่ นั่นก็คือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน บ้านพัก และโรงเรือน ที่จะตกเป็นของเกษตรกรเหล่านี้ทันทีเมื่อครบ 10 ปี อันเป็นระยะเวลาที่หนี้สินตั้งต้นก้อนโตพร้อมดอกเบี้ยที่มีกับธนาคารกรุงเทพจะถูกชำระคืนหมดพอดี

ด้วยความขยันอดทนและซื่อสัตย์ต่อส่วนรวม เกษตรกรทั้ง 50 รายจึงเลี้ยงหมูปลดหนี้เฉพาะเงินต้นก็สูงถึง 18 ล้านบาท ได้หมดตามกำหนด 10 ปี พวกเขาได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โรงเรือน และบ้านพัก ตามกติกาที่โครงการฯ สัญญาไว้

หลังจาก 10 ปีผ่านไป การดำเนินงานโครงการฯ เริ่มเข้า สู่ระยะที่ 2 อันเป็นการเปลี่ยนจากรูปแบบ "โครงการ" ที่นโยบาย ต่างๆ ขึ้นตรงกับ ซี.พี.มาเป็นรูปแบบนิติบุคคล ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น บีบให้เกษตรกรทั้ง 50 รายต้องร่วมกันคิดและช่วยตัวเองกันมากขึ้น

บริษัท หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า จำกัด ถือกำเนิดขึ้นในปี 2531 โดยมีเป้าหมายสูงสุด 2 ประการ ได้แก่ บริษัทต้องอยู่ได้ และสมาชิกเกษตรกรต้องอยู่ดี นั่นคือมีรายได้ดี และ ความเป็นอยู่ดี ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นบริษัทหมู่บ้านฯ ประกอบด้วยเกษตรกรรุ่นบุกเบิกทั้ง 50 ราย ถือหุ้นรายละ 200 หุ้น ราคาพาร์ 100 บาทต่อหุ้น ขณะที่คณะกรรมการบริหาร 7 คน จะถูกเลือกมาจากกลุ่มเกษตรกรเหล่านี้นั่นเอง

แม้ภักดีจะไม่ใช่เกษตรกรชาวแปดริ้วโดยกำเนิด แต่ทันที ที่เปลี่ยนเป็นรูปแบบบริษัทจำกัด เขาได้รับเลือกจากสมาชิกหมู่บ้านให้เป็นประธานกรรมการมาตั้งแต่ต้นและนานถึง 15 ปีติดต่อกัน เว้นวรรคเมื่อปี 2547-2548 ก่อนกลับมารับตำแหน่งอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน

อาจกล่าวได้ว่า บริษัทหมู่บ้านฯ ตั้งขึ้นมาเพื่อรับภาระและบทบาทแทนโครงการฯ นั่นก็คือ การซื้อพันธุ์สุกร อาหารสุกร ยาและวัคซีนจาก ซี.พี.ผ่านมาขายให้เกษตรกร ขณะเดียวกันก็รับซื้อลูกสุกรจากเกษตรกรในราคาประกันหรือสูงกว่า แล้วขายกลับคืนให้ ซี.พี.ส่วนหนึ่ง และขายให้กับลูกค้าทั่วไปอีกส่วน โดย กำไรที่ได้จากส่วนต่างถือเป็นรายได้ของบริษัท

"เกษตรกรอาจบอกว่าบริษัทเป็นนายหน้า แต่ถามว่าถ้าไม่มีบริษัท ใครจะค้าขายกับรายย่อยอย่างคุณ ฉะนั้นถ้าคุณไม่รวมกลุ่มกันให้มีอำนาจการต่อรองการซื้อขายอย่างนี้ มันก็อยู่ไม่รอด" คงไม่ผิดนักถ้าจะเรียกว่า นี่เป็นภาคปฏิบัติของทฤษฎี Cluster ในยุค 2 ทศวรรษก่อน

ในส่วนของเกษตรกรแต่ละราย เมื่อได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน บ้านพัก และโรงเรือนแล้ว หลายคนมีกำลังใจที่จะเลี้ยงหมู ต่อจึงนำทรัพย์สินเหล่านี้ไปเข้าธนาคารเพื่อกู้เงินมาซื้อพันธุ์สุกรเป็นของตนเองและใช้เป็นทุนหมุนเวียน โดยมีเกษตรกร 4-5 รายที่ไม่ถนัดและเบื่อเลี้ยงหมูขายสินทรัพย์ให้คนนอกแล้วย้ายออกไป

สำหรับคนใหม่ที่จะเข้ามาอยู่ ต้องผ่านเกณฑ์พิจารณาของคณะกรรมการหมู่บ้านก่อน และต้องยอมรับกฎเหล็ก 2 ข้อได้โดยไม่มีเงื่อนไขคือ เลี้ยงหมูเป็นอาชีพหลัก และต้องมีส่วนร่วมกับกิจกรรมพัฒนาหมู่บ้าน

ในกรณีที่สมาชิกไม่ยอมเข้าร่วมกับกิจกรรมของหมู่บ้าน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎในการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลของสมาชิก ในหมู่บ้าน ที่นี่ก็มีบทลงโทษเป็นมาตรการตัดความช่วยเหลือโดยคณะกรรมการหมู่บ้านและบริษัทหมู่บ้านฯ เช่น การไม่จ่ายทดแทน หมูในกรณีที่หมูบ้านนั้นติดโรคระบาด ซึ่งกองทุนโรคระบาดนี้หักจากเงินขายหมูตัวละ 5 บาท การไม่ช่วยจับลูกหมู ให้กับบ้านนั้น ซึ่งปกติการจับหมูต้องลงแขกช่วยกัน บางกรณีอาจร้ายแรงถึงขั้นเลิกสัญญาซื้อขายกับเกษตรกรรายนั้น เป็นต้น

"สิ่งที่ทำมีความหมายว่า เวลาจะทำอะไรให้มองส่วนรวม เป็นหลัก ถ้าส่วนรวมอยู่ไม่ได้ คุณก็ไม่มีทางอยู่ดีหรืออาจอยู่ไม่ได้ หากเปรียบบริษัทและหมู่บ้านเป็นแกนร่ม เกษตรกรแต่ละคนก็เป็น ซี่ร่ม คุณอาจดูสวยเพราะมีผ้าผูก แต่เมื่อไรที่แกนพัง เพราะทุกคนกัดกร่อน มันก็เป็นร่มต่อไปไม่ได้" น้ำเสียงเขาจริงจัง

นอกจากเลี้ยงหมูเป็นอาชีพหลัก เกษตรกรที่นี่ยังมีอาชีพเสริมอีกถึง 4 อย่าง ได้แก่ การทำสวนมะม่วง การปลูกไผ่หวาน การเลี้ยงไก่ชน และการทำสวนยางพารา แม้รายได้อาจจะเทียบ ไม่ได้กับอาชีพหลัก แต่ภักดีมองว่าอย่างไรเสียก็ควรจะต้องทำ

กว่าจะลงตัวที่อาชีพเหล่านี้ ภักดีและลูกบ้านลองผิดลองถูกมาแล้วหลายอย่าง เช่น ฟาร์มนกกระจอกเทศซึ่งปิดไปเพราะไข้หวัดนกระบาด หรือการเลี้ยงปลาสวยงามที่ต้องเลี้ยงปริมาณมากจึงจะเพียงพอกับความต้องการของตลาด หรือการเลี้ยงนกพิราบเนื้อที่ต้องใช้เวลาดูแลมากจนแทบไม่ได้ทำอย่างอื่น จึงต้องเลิกไป เป็นต้น

"สุดท้าย มันต้องกลับไปหาเบสิก เราเริ่มต้นมายังไง ดังนั้นอาชีพเสริมก็ควรเกี่ยวพันและไม่เบียดเบียนอาชีพหลัก อย่าทำเพราะเห็นว่าคนอื่นทำแล้วรวย ต้องดูว่า เรามีวัตถุดิบอะไร แล้วเราจะได้สินค้าที่ต้นทุนถูกลง สินค้าก็น่าจะแข่งขันได้"

จาก 30 ปีก่อนที่เกษตรกรบ้านหนองหว้าไม่มีแม้เงินเลี้ยง ปากท้อง ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีสินทรัพย์ติดตัว แม้กระทั่งความรู้ วุฒิการศึกษาของคนรุ่นพ่อแม่บางครัวเรือนรวมกันยังต่ำกว่า ป.4 แต่วันนี้ ลูกๆ ของเกือบทุกบ้านจบปริญญาตรี บ้างก็จบสูงกว่านั้น หลายครอบครัวมีบ้านหลังใหญ่ มีรถราคาหลายแสนบาทมากกว่า 1 คัน หลักทรัพย์ที่มีรวมมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท ในปี 2549 รายได้รวมเฉลี่ยสูงกว่า 1 แสนบาทต่อเดือน

จึงไม่น่าแปลกใจที่มักได้เห็นเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เดินหน้าบานพาแขกจากต่างประเทศโดยเฉพาะแขกจากประเทศ จีน ทัวร์ชมหมู่บ้านหนองหว้าบ่อยครั้ง เพราะความภาคภูมิใจในความสำเร็จของโครงการนี้ที่มี ซี.พี.อยู่เบื้องหลัง เฉพาะปีนี้ เจ้าสัวก็พาแขกมาดูแล้วดูอีกไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง

"วันนี้ ซี.พี.กับบ้านหนองหว้าเป็นมากกว่าพ่อค้ากับลูกค้า แต่ผูกพันกันในฐานะที่ ซี.พี.เป็นแกนหลักในการจัดสร้างตรงนี้ พอโครงการสำเร็จ ซี.พี.ก็ได้ลูกค้าเพราะเราสั่งอาหารหมูจาก ซี.พี.ไม่ต่ำกว่า 15 ตันต่อวัน ถ้าจะหาตลาดขนาดนี้อย่างน้อยต้องใช้เซลส์ 5-6 คน แต่สำหรับ ซี.พี.ตลาดตรงนี้อาจจะเล็กนิดเดียว แต่ความสำคัญอยู่ที่ ซี.พี.เอาตรงนี้ไปประชาสัมพันธ์กับชาวโลกได้ว่า ซี.พี.ช่วยเหลือเกษตรกรไทยและสังคมไทยมานาน สิ่งนี้อาจจะเป็นบทหักล้างกับกลุ่มที่เดินขบวนต่อต้านว่า ซี.พี.เป็นบริษัทนายทุนทำลายเกษตรรายย่อย" ภักดีอธิบาย

สำหรับงานฉลองครบรอบ 30 ปีของโครงการฯ ที่จะจัดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ คณะกรรมการหมู่บ้านวางแผนจะจัดให้ใหญ่กว่าทุกปี ภักดีมองว่าหาก ซี.พี.จะเข้าร่วมจัดงานเพื่อโปรโมตตัวเองก็เป็นสิทธิอันชอบที่ทำได้ แต่หาก ซี.พี.ไม่ร่วมสนับสนุน เกษตรกรหนองหว้าก็ทำเองได้ โดยไม่ต้องรอหรือง้อ ซี.พี.หรือภาคราชการส่วนไหน

นี่ถือเป็นแนวทางที่เกษตรกรกลุ่มนี้ทำมาตลอด 30 ปี คือ การช่วยตัวเองโดยไม่งอมืองอเท้ารอให้ใครมาช่วย พวกเขาถึงมีทุกอย่างในวันนี้ได้

ในแง่การพัฒนาโครงการฯ และคุณภาพชีวิตเกษตรกร ดูจะไปได้ดี หากแต่ปัญหาที่น่าเป็นห่วงของที่นี่อยู่ที่การขาดช่วง ของเกษตรกรรุ่นใหม่ที่จะขึ้นมาสืบทอดกิจการเลี้ยงหมูจากรุ่นบุกเบิก หลายปีมานี้มีเกษตรกรร่วม 10 ครัวเรือน เมื่อส่งลูกเรียนจบก็เลิกเลี้ยงหมูเพราะทำต่อไม่ไหว และไม่มีคนรุ่นลูกมาสานต่อ

"ถ้าเราบริหารคนควบคู่ไปกับการสร้างรายได้ตั้งแต่ทีแรก เราก็จะไม่เสียบุคลากรที่จะมาช่วยตรงนี้ เมื่อ 20 ปีก่อนเรามุ่งหวังเพียงแต่เพื่อให้เด็กได้เรียน แต่ไม่เคยสอนเด็กพวกนั้นให้รักในหมู่บ้าน รักในอาชีพเลี้ยงหมู และเห็นว่าเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ไม่ได้น่ารังเกียจ อะไรอย่างนี้เราไม่ได้สอนเขาตั้งแต่ตอนนั้น พอพวกเขาเรียนจบแล้ว หลายคนไปทำงานออฟฟิศในกรุงเทพฯ เพราะคิดว่าเป็นงานที่มีเกียรติกว่า"

จากวันเริ่มต้น มีเกษตรกรเลี้ยง หมูอยู่ 50 บ้าน เลี้ยงแม่หมูจำนวน 1,500 ตัว มาถึงวันนี้ แม้จะมีแม่หมูเพิ่มขึ้นเป็น 6 พันตัว แต่กลับมีคนเลี้ยงหมูอยู่แค่ 39 ราย ขณะที่แนวโน้มที่จำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในหมู่บ้านก็ดูจะลดลงทุกปี ปัญหาเรื่องความยั่งยืนในอาชีพการเลี้ยงหมูของเกษตรกรหนองหว้าจึงเป็นปัญหาที่ภักดี ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

จึงเป็นที่มาของ "โครงการหนองหว้ายั่งยืน" ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสอนและปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนในสาระสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ ความรักในอาชีพเลี้ยงหมู สร้างความรู้สึกว่าอาชีพนี้มีเกียรติและความรักในบ้านหนองหว้า ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การฉายวิดีโอประวัติหมู่บ้านที่เปิดให้แขกต่างประเทศดู นำมาให้คนรุ่นใหม่ได้ดูด้วย หรือการพาเยาวชนไปเห็นว่าหมูที่พ่อแม่ของพวกเขาเลี้ยง สุดท้ายแล้วกลายเป็นเนื้อหมูเกรดเอราคาแพง ไม่ใช่หมูเขียงราคาถูก เป็นต้น

"เราเริ่มเป็นห่วงรุ่นที่สามว่า จะทำให้โครงการนี้ยั่งยืนไปถึงรุ่นลูกหลานเหลนได้หรือเปล่า"

สุดท้ายแล้ว หนุ่มใหญ่วัย 46 ปีคนนี้ก็ยังคงเป็นห่วงและ หนักใจเรื่องความยั่งยืน อันเป็นปัญหาเดิมที่เกิดขึ้นขณะนี้ในยุคของเขา และมีโอกาสจะเกิดขึ้นได้ง่ายในยุคหลัง เพราะเกษตรกร และเด็กรุ่นหลังจะไม่ค่อย "อิน" กับความยากลำบากของรุ่นบุกเบิก จนอาจลืมหวงแหนอาชีพเลี้ยงหมูที่พลิกฟื้นผืนดินหนองหว้าจนกลายเป็นแผ่นดินที่เลี้ยงชีพของเกษตรกรหนองหว้ารุ่นแล้วรุ่นเล่า

ในแง่ความยั่งยืนของอาชีพเกษตรที่จะหายไปจากบ้าน หนองหว้า คงเป็นเรื่องน่าเสียดาย เมื่อคิดว่าความเป็นต้นแบบของเกษตรกรหนองหว้าที่พิสูจน์ให้เห็นว่าอาชีพเกษตรก็มีเกียรติ และสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวให้อยู่สบายอย่างยั่งยืนได้ เพียงมี ความตั้งใจจริง ขยัน อดทน และซื่อสัตย์ ก็ยิ่งน่าเสียดายหากคนรุ่นหลังจะไม่สานต่ออาชีพเลี้ยงหมู รวมถึงแนวคิดและวิธีการ ในการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งให้อยู่คู่หมู่บ้านหนองหว้าต่อไป   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us