|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2550
|
|
หลายคนคงเกิดคำถามอยู่ในใจว่า เขาทำได้อย่างไรในฐานะนักบริหารการศึกษาไปพร้อมๆ กับการบริหารสายสัมพันธ์กับบุคคลที่มีชื่อเสียง
เขาอายุครบ 80 ปี เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่ยังดูแข็งแรงและมีความสุข ในขณะที่นั่งให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการ" กว่า 2 ชั่วโมง เขาบอกว่าครั้งนี้จะเป็นสมัยสุดท้ายที่จะทำงานเป็นผู้อำนวยการศศินทร์ ซึ่งจะครบวาระในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือครบวาระดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 7
เขาบอกว่าอาจเป็นไปได้ที่เขาจะลาออกเร็วขึ้นในกลางปีหน้า เพราะสภาพร่างกายขณะนี้ไม่สามารถอ่านเอกสารได้จำนวนมากและต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น ตัวเขาเองยอมรับอย่างตรงๆ ว่า "ไม่ไหว อายุมากแล้ว"
"มีบางคนพูดว่าผมพยายามวิ่งเต้นที่จะเป็นผู้อำนวยการต่อ มีคนยุให้ผมเป็น ตามธรรมเนียมจีนถ้าทำได้ 8 ครั้งจะดี ผมเป็นมา 7 ครั้งแล้ว และหาว่าผมพยายามทำครั้งที่ 8 ความจริงมีอยู่ว่าตั้งแต่แรกผมมาเป็นผู้อำนวยการศศินทร์ ผมเขียนใบลาออกให้อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสมัยนั้น ถ้าอนุมัติเมื่อไหร่ผมก็ไป เพราะในตอนนั้นผมมีงานอยู่ที่สำนักงานไชยยศ ผมมีงานทำแต่ท่านขอให้ผมทำ ผมจะทำให้แต่ถ้าหาคนได้เมื่อไหร่ก็เซย์ เยส ผมทำสถิติเป็นคณบดีที่อยู่ยืนยาวที่สุดในโลกเวลานี้ 25 ปี ขณะที่ดีน เจคอบ เป็น 23 ปี"
ศาสตราจารย์เติมศักดิ์ได้วางแผนอนาคตสำหรับตัวเองแล้วว่า หลังจากที่เขาหมดวาระ ลงในตำแหน่งผู้อำนวยการ เขาตั้งใจที่จะไปไหว้พระ 2 แห่ง ไปนมัสการพระเจดีย์ชเวดากอง และนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่ประเทศศรีลังกา เขาบอกว่าเขาพอใจแล้วอายุเท่ากับพระพุทธองค์ 80 ปี ฉะนั้นชีวิตที่เหลืออยู่ก็ใช้ตามสบายเป็นกำไรชีวิต
"ลองไลฟ์ไม่กลัว แต่กลัวชีวิตก่อนตาย"
ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่เขานั่งในตำแหน่งผู้อำนวยการ นับว่าเขาได้สร้างคุณูปการให้กับศศินทร์มากมาย ถึงแม้ที่ผ่านมาเขาจะปฏิเสธมาโดยตลอดว่าเขาไม่ใช่ผู้ก่อตั้งศศินทร์ก็ตาม และบอกแต่เพียงว่าเขาเป็น "พี่เลี้ยง" ที่ดูแลศศินทร์มาตลอด 25 ปีเท่านั้น
การเริ่มต้นในการสร้างศศินทร์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และการที่เขาถูกเลือกให้มาเป็นผู้อำนวยการของศศินทร์ และยาวนานมาจนถึงปัจจุบันย่อมมีคำตอบในตัวอยู่แล้วว่า ศาสตรา จารย์เติมศักดิ์เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งชาติวุฒิและคุณวุฒิ เขาจบการศึกษาที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไปเรียนต่อ The Victoria University of Manchester ประเทศอังกฤษ ในสาขาวิชาการบัญชี จนกระทั่งเข้าไปฝึกงาน และศึกษาอยู่ที่ The Institute of Chartered เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของสถาบันผู้สอบบัญชีแห่งอังกฤษและเวลส์
หลังจากนั้นกลับประเทศไทยรับราชการเป็นอาจารย์ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้รับตำแหน่งคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีของจุฬาฯ และก้าวขึ้นเป็นอธิการบดี ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการของศศินทร์
สายสัมพันธ์ที่มีกับนักธุรกิจและผู้บริหารการศึกษา ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ให้ศศินทร์กลายเป็นสถาบันการศึกษาระดับแนวหน้าของเมืองไทย เขามีเพื่อนสนิทอย่างบัญชา ล่ำซำ ที่เดินทาง ไปกับเขาเพื่อชักชวนเคลล็อกก์เข้ามาร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ หรือมีเพื่อนรักอย่าง Dr.Russell E. Palmer คณบดีวาร์ตันในขณะนั้น
ในช่วงแรกก่อนที่จะก่อตั้งศศินทร์จะต้องใช้เงินทุนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเขาและบัญชาต้องตระเวนนัดกินข้าวกับผู้บริหารกิจการขนาดใหญ่หลายแห่งในประเทศไทย จนได้รับเงินบริจาคจากชาตรี โสภณพนิช จากธนาคารกรุงเทพ ประจิตร ยศสุนทร จากธนาคารไทยพาณิชย์ รวมทั้ง นพ.ชัยยุทธ กรรณสูต เฉลิม ประจวบเหมาะ ศุกรีย์ แก้วเจริญ ธรรมนูญ หวั่งหลี จรัส ชูโต ฯลฯ บริจาคเข้า มารายละ 5 แสนบาท
ว่ากันว่าการบริจาคเงินในครั้งนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะสายสัมพันธ์ส่วนตัวของนักธุรกิจที่มีต่อสำนักงานตรวจสอบบัญชีไชยยศซึ่งเก่าแก่ ที่ใช้บริการกันมาอย่างยาวนานในสมัยรุ่นบิดาของเขา และในห้วงเวลานั้น ศาสตราจารย์เติมศักดิ์นั่งตำแหน่งผู้บริหาร ในสำนักงานด้วยเช่นกัน
การบริหารสายสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ศาสตราจารย์เติมศักดิ์ทำมาอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ อาจารย์จากเคลล็อกก์ที่มาสอนในศศินทร์ศาสตราจารย์เติมศักดิ์ก็ให้การดูแลเป็นอย่างดีเหมือนกับเป็นอาจารย์ ประจำและการที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีไว้ได้ตลอดนั้นต้องแสดงด้วยความจริงใจ
"บางครั้งผัวตาย เมียตาย หรือตัวตาย เราก็ส่งเงินไปช่วย ดูแลกันแบบไทยๆ เขาก็ประทับใจ"
การดูแลเอาใจใส่อาจารย์ที่มาสอนจึงทำให้อาจารย์ต่างชาติค่อนข้างประทับใจและอยากกลับมาสอนอย่างต่อเนื่อง อาทิ เดบ มุข ชาวอินเดีย ที่สอนมาแล้ว 25 ครั้ง มาสอนทุกปี หรืออาจารย์จากวาร์ตันมาสอน 23 ปี หรือแม้กระทั่งคณบดีของเคลล็อกก์ก็มาสอนแล้ว 17 ปี จนกลายมาเป็นเพื่อนกับศาสตราจารย์เติมศักดิ์เป็นเวลา 25 ปี 6 เดือน จนถึงทุกวันนี้
"ผมพบเขา (คณบดีเคลล็อกก์) ก่อนตั้งสถาบัน จนสนิทกัน และส่งลูกไปเรียนเขาก็ช่วยดูแลให้ เขาเป็นยิว บางครั้งลูกผมก็ไปงานเลี้ยงยิวด้วย ส่วนลูกเขามาเมืองไทย ก็ดูแลเหมือนกับลูกของเราจนทุกวันนี้"
ความสนิทสนมที่ก่อเกิดขึ้นนั้นไม่ได้หยุดเพียงแค่ระดับอาจารย์เท่านั้น แต่ได้เชื่อม โยงไปถึงนักศึกษาด้วย จนทำให้มีบางครั้งที่นักศึกษากล้าถามอาจารย์ตรงๆ เรื่องเกี่ยวกับทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ของไทยที่ไปอยู่ในชิคาโกในเวลานั้นว่าไปได้อย่างไร
เป็นเหตุให้อาจารย์ต้องไปสืบเสาะหาเรื่องราวที่เกิดขึ้น บังเอิญว่าพ่อของอาจารย์คนนั้นเป็นประธานมูลนิธิอลิซาเบท เทนนี่ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนเงินให้กับ Art Institute of Chicago ซึ่งมีทับหลังอยู่ จึงได้ส่งคืนกลับเมืองไทย เป็นเบื้องหลังที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน ศาสตราจารย์เติมศักดิ์จึงได้ขอให้รัฐบาลในขณะนั้นมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้กับอาจารย์ท่านนั้น
"ประเด็นของผมกับเรื่องทับหลังที่ยกตัวอย่างขึ้นมานี้ต้องการแสดงให้เห็นว่าอาจารย์ ที่มาสอน เราปฏิบัติกับอาจารย์ยังไง ให้เขารู้สึกเหมือนกับอาจารย์ประจำของเรา 100% พูดกันได้ทุกเรื่อง ถึงแม้ว่าจะเป็นอาจารย์ที่อื่นมาสอน ต้องดูแลอาจารย์เป็นพิเศษ ให้การดูแลเขามาก เงินอย่างเดียวไม่ใช่ ต้องมีอย่างอื่นด้วย"
นอกเหนือจากการบริหารสายสัมพันธ์ระดับอาจารย์ด้วยกันแล้ว งานสัมมนาสำคัญๆ ศาสตราจารย์เติมศักดิ์มักจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเสมอ ที่ผ่านมาเขาเชื้อเชิญคาร์ลอส ประธานของบริษัทนิสสัน เรโนลต์ มาเล่าประสบการณ์การทำงานให้กับนักศึกษาศศินทร์ฟัง ซึ่งคาร์ลอส ไม่เคยไปพูดกับองค์กรใดมาก่อน
ไม่เพียงเท่านั้น ความมีชื่อเสียงของเขาทำให้ถูกเชิญเป็นทีมที่ปรึกษาให้กับมหาวิทยาลัย ปักกิ่งในเมืองจีนอีกด้วย
"อาจารย์เติมศักดิ์เป็น eminent person ที่มีความสำคัญมาก ในแต่ละประเทศจะมีบุคคลเหล่านี้ ท่านเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครทราบรายละเอียด" อดิศร เสริมชัยวงศ์ นายกสมาคมศิษย์เก่าศศินทร์บอกกับ "ผู้จัดการ"
จึงแทบจะไม่น่าสงสัยเลยว่าทำไมศาสตราจารย์เติมศักดิ์จึงได้รับความเชื่อถือจากนักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงสถาบันการศึกษาหลายต่อหลายแห่งที่ไม่ใช่เพียงศศินทร์เท่านั้น ทำให้เขาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศศินทร์ได้อย่างเต็มภาคภูมิ
|
|
|
|
|