|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤศจิกายน 2550
|
|
ชาญ ศรีวิกรม์ ถือเป็นบทพิสูจน์ได้อย่างหนึ่งว่า การเรียน MBA ในเมืองไทยก็ได้ผลลัพธ์ไม่แตกต่างจากการเดินทางไปเรียนถึงเมืองนอกที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงกว่า
นอกจากนี้เขายังเป็นคนที่ได้นำความรู้จากห้องเรียนที่ศศินทร์มาใช้อย่างเต็มที่ ทั้งที่อยู่ในบทบาทของนักการเงินหรือเป็นผู้บริหารกิจการของครอบครัว
ชาญเป็นทายาทนักธุรกิจที่ถูกส่งไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่เด็ก เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ จากควีน แมรี่ คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน
ในตอนแรกหลังเรียนจบ เขาตั้งใจจะเรียนต่อปริญญาโททันที โดยได้มองสถาบันการศึกษาไว้แล้ว 2-3 แห่ง เช่น เอ็มไอที มหาวิทยาลัยบอสตัน รวมทั้งที่ฮาร์วาร์ด
แต่มีคนใกล้ชิดบอกเขาว่าการเรียนปริญญาโทจะได้ประโยชน์มากกว่าหากก่อนเข้าเรียนได้มีประสบการณ์ในทำงานมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปี
เขาจึงตัดสินใจเดินทางกลับมาเมืองไทย และเข้าทำงานกับธุรกิจของครอบครัว โดยเป็นผู้บริหารศูนย์การค้าเกษร ที่ขณะนั้น ยังเป็นเพียงศูนย์การค้าแนวราบ
"หลังจากทำงานไปได้ประมาณ 2 ปี พอดีศศินทร์เปิดสอน แล้วที่นี่ก็เรียนเป็นภาษาอังกฤษ เลยเหมาะมาก เพราะตอนนั้นภาษาไทยผมไม่ค่อยเก่ง" ชาญบอกกับ "ผู้จัดการ"
ชาญเข้าเรียนหลักสูตร MBA รุ่น 2 ในปี 2527 รุ่นเดียวกับกิตติรัตน์ ณ ระนอง ระหว่างที่เรียน เขาก็ยังคงทำงานอยู่กับศูนย์การค้าเกษร ทั้งที่เป็นหลักสูตรที่ต้องเรียนเต็มเวลา
สิ่งที่เขาเรียนจากห้องเรียน เขายอมรับว่าได้นำกลับมาใช้มากในการทำงาน ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ มีหลายกรณีที่เขาได้นำมาใช้ทันทีในที่ทำงานของเขาหลังจากที่เลิกเรียนแล้ว
"ผมเป็นนักเรียนที่นำความรู้มาใช้กับงานได้เยอะ ผมเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ตอนเรียนที่ศศินทร์ก็ยังทำที่เกษร เพราะเป็นธุรกิจของครอบครัว เรียกว่าเรียนเช้า บ่ายทำงาน เย็นทำ case study กับเพื่อน ตอนเช้าทำรายงาน ทำ course work ตอนกลางคืน แต่ความรู้ที่ผมได้เรียนในตอนเช้า ก็เอามาใช้งานในตอนบ่ายได้เลย" ชาญเล่าปนหัวเราะ
หลังเรียนจบจากศศินทร์ ชาญกระโดดออกไปทำงานในวงการไฟแนนซ์ โดยไปร่วมงานในบริษัทหลักทรัพย์เอกธำรง (ตั้งแต่สมัยยังใช้ชื่อ บล.โกลด์ฮิลล์) ซึ่งมีบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ที่เขาเลือกทำงานที่นี่ เพราะครอบครัวของเขาก็ถือหุ้นส่วนหนึ่งอยู่ในบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ
งานที่เขาทำใน บล.เอกธำรง คืองานทางด้านวาณิชธนกิจ ซึ่งถือเป็นงานดาวรุ่งของพวกที่จบ MBA ในยุคนั้น
เขาทำงานอยู่กับเอกธำรงถึง 10 ปี จนเมื่อประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 จึงกลับมาช่วยบริหารงานธุรกิจของครอบครัวในฐานะประธานเกษร กรุ๊ป
|
|
|
|
|