เมื่อแฟกซ์ได้เข้าสู่ตลาดในประเทศไทยเริ่มต้นจากการมีตลาดวงแคบ ๆ เมื่อ
6 ปีก่อน ปัจจุบันเป็นธุรกิจพันล้านที่นับวันจะโตวันโตคืนแฟกซ์ยี่ห้อดัง
ๆ ของโลกสามสิบยี่ห้อลงแข่งขันแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดกันอย่างสนุกสนานและแล้วผลกระทบกลับกลายมาเป็นของเครื่องเทเล็กซ์
ที่อัตราการเติบโตของยอดผู้ใช้เริ่มที่จะลดลง หรือว่าคลื่นเทคโนโลยีของเครื่องแฟกซ์จะกลบกลืนเครื่องเทเล็กซ์เสียแล้ว
ธุรกิจกับ "ระบบข้อมูลข่าวสาร" เป็นสิ่งที่อยู่คู่กันมาโดยตลอด
ในยุคสมัยของการพัฒนาทางด้านธุรกิจที่กระจายไปในส่วนต่าง ๆ ของประเทศ ต้องการการสื่อสารข้อมูลอย่างทั่วถึงสังคม
ก็เข้าสู่สังคมแห่งข่าวสาร ๖INFORMATION SOCIETY) ที่นับวันทวีความสำคัญเพื่อที่จะให้การตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจนั้นมีการตัดสินใจที่ถูกต้อง
และเหมาะสมอีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างข้อได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจที่นับวันจะทวีความเข้มข้นมากขึ้นทุกวัน
จนในปัจจุบันดูเหมือนจะเป็นสงครามทางด้านข่าวสารข้อมูล (INFORMATION WAR)
ไปเสียแล้ว
ทุกวันนี้ข้อมูลข่าวสารที่องค์การธุรกิจต้องการไม่ใช่เป็นเพียงความถูกต้องเพียงอย่างเดียว
แต่ยังรวมถึงความรวดเร็วในการได้ข้อมูลเหล่านั้นมา เพื่อให้การตัดสินใจที่ถูกต้องเกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อแย่งชิงโอกาสทางธุรกิจสร้างข้อได้เปรียบคู่แข่งขันมากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ระบบการสื่อสารทางโทรคมนาคมที่ให้ความรวดเร็วในการส่งข้อมูลต่าง ๆ สำหรับบ้านเรานั้นเรารู้จักระบบ
"เทเล็กซ์" เป็นอย่างดีมากกว่า 30 ปี แล้ว การสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการให้บริการแก่ผู้เช่าเครื่องเทเล็กซ์จนในปัจจุบันมีผู้เช่าเครื่องเทเล็กซ์ร่วม
7 พันเครื่องได้อำนวยความสะดวกแก่องค์การและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งราชการและเอกชนทั่วประเทศในการติดต่อสื่อสารกันทั้งในประเทศและระหว่างประเทศกว่า
100 ประเทศทั่วโลก
ในปี 2513 ประเทศในอเมริกาเริ่มมีการพัฒนาระบบส่งข้อมูลข่าวสารที่รู้จักกันในชื่อ
"แฟกซ์" (FACSIMILE:FAX) หรือที่เรียกกันเป็นทางการว่า "โทรสาร"
ในปัจจุบัน มีการผลิตแฟกซ์เพื่อการธุรกิจออกสู่ตลาดครั้งแรก โดยบริษัท XEROX
และเริ่มการผลิตและพัฒนาระบบกันมาตลอดทั้งในยุโรปและเอเชีย-ญี่ปุ่น
จนกระทั่งในปี 2521 ประเทศไทยก็ได้เริ่มรู้จักกับเทคโนโลยีนี้เป็นครั้งแรกในช่วงของการที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่
8 โดยการแนะนำจากบริษัท KDD (KOKUSAI DENSHIN DENWA CO.LTD.) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินทางด้านธุรกิจเกี่ยวกับการโทรเลข
และโทรศัพท์ระหว่างประเทศของญี่ปุ่นจนกระทั่งได้เปิดบริการโทรสารผ่านทางชุมสายโทรศัพท์ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศในเดือนพฤษภาคม
ซึ่งนับเป็นจุดที่แฟกซ์ได้เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
ตั้งแต่นั้นมาทางเลือกในการส่งข้อมูลข่าวสารของธุรกิจต่าง ๆ ก็มีเพิ่มมาอีกทางเลือกหนึ่ง
ในขณะที่เทเล็กซ์ยังคงมีความนิยมอยู่มากในช่วงนั้น
เทคโนโลยีของแฟกซ์นับได้ว่าเป็นสินค้าที่ได้สร้างความแตกต่างจากเทเล็กซ์ได้อย่างน่าสนใจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความสามารถในการส่งข้อมูลรูปภาพได้ ซึ่งเป็นจุดแตกต่างที่โดดเด่นของแฟกซ์ที่มีเหนือเทเล็กซ์ในขณะที่เทเล็กซ์เองสามารถส่งข้อมูลได้เพียงในลักษณะของตัวหนังสือเท่านั้น
อีกทั้งที่แพร่หลายทั่วโลกก็คือการส่งข่าวสารในภาษาอังกฤษ ภาษาไทย จะมีอยู่ส่วนใหญ่ก็ในประเทศเท่านั้น
ดังนั้นการเข้ามาในตลาดเมืองไทยของแฟกซ์จึงเรียกได้ว่าเป็นการเข้ามาด้วยความเชื่อมั่นว่าผู้ใช้จะให้การยอมรับในตัวสินค้านี้ได้อย่างไม่ยากนัก
ถ้าจะพิจารณาตลาดของแฟกซ์ในต่างประเทศอย่างเช่นอเมริกาเราจะเห็นแนวโน้มของการยอมรับแฟกซ์จากผู้ใช้ได้ชัดเจนคือ
เพียงปีเดียวที่แฟกซ์เริ่มออกวางตลาดสู่ธุรกิจต่าง ๆ ในปี 2513 นั้น แฟกซ์ก็เป็นที่นิยมพอ
ๆ กับเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีเลยทีเดียว
แต่เมื่อถึงเวลาเปิดตัวของก้าวแรกในตลาดเมืองไทยอัตราการมาใช้บริการกลับไม่สวยหรูเหมือนในตลาดต่างประเทศ
เพราะด้วยข้อจำกัดที่เกิดจากระเบียบของการสื่อสารฯ ฉบับที่ 55 (ปี 2526)
ที่แฟกซ์จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลและควบคุมโดยการสื่อสารฯ เหมือนกับเครื่องโคทรเลขและโทรพิมพ์
เอกชนไม่มีสิทธิ์ถือครองกรรมสิทธิ์ในเครื่องแฟกซ์แม้ว่าจะซื้อมาจากต่างประเทศก็ตาม
ดังนั้นในตลาดเมืองไทยปี 2527 จะมีเครื่องแฟกซ์ของเอกชนจัดหามาเองแต่เป็นกรรมสิทธิ์ของการสื่อสารฯอยู่ประมาณ
300 เครื่องเท่านั้น โดยส่วนใหญ่แล้วก็มักจะใช้บริการจากแฟกซ์สาธารณะของการสื่อสารฯ
ซึ่งในปี 2526 มีสถิติการใช้บริการส่งข้อมูลเป็นจำนวน 7,479 หน้าเทียบกับปี
2527 มี 15, 149 หน้าจะพบว่าการใช้บริการแฟกซ์สาธารณะก็มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง
2 เท่าทีเดียว
นั่นคือฉากเริ่มต้นของเครื่องแฟกซ์ในประเทศไทยที่ไม่ค่อยจะสวยนักแต่ถ้าพิจารณาถึงความต้องการที่มีต่อเทคโนโลยีของแฟกซ์แล้ว
น่าจะเป็นนิมิตหมายอันดีที่มีผู้ต้องการใช้มากขึ้นในอัตราร่วม 100% ในเพียงปีเดียว
อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าการสื่อสารฯ จะทราบถึงข้อจำกัดที่เกิดจากระเบียบฉบับที่
55 ว่ามีส่วนทำให้ตลาดของเครื่องแฟกซ์และกลุ่มของผู้ที่ใช้เครื่องแฟกซ์มีจำนวน
จำกัด ดังนั้นในปี 2528 ระเบียบนี้จึงได้ถูกยกเลิกไป เอกชนจึงสามารถมีกรรมสิทธิ์ในเครื่องแฟกซ์ที่ซื้อหามาเองได้เป็นเหตุหนึ่งที่เครื่องแฟกซ์ในตลาดเพิ่มมากขึ้นจาก
300 เครื่องในปี 2527 เป็น 1,000 เครื่องในปี 2528
แต่เครื่องแฟกซ์ที่จะนำมาต่อเชื่อมเข้ากับคู่สายขององค์การโทรศัพท์นั้น
จะต้องผ่านการทดสอบจากองค์การโทรศัพท์เสียก่อน และจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขอเชื่อมต่อเครื่องแฟกซ์กับเครื่องโทรศัพท์ทั้ง
ๆ ที่มีโทรศัพท์อยู่แล้ว โดยถ้าพ่วงเข้ากับเครื่องโทรศัพท์ธรรมดาจะเสียค่าใช้จ่าย
800 บาท และเสียค่าใช้จ่าย 2,000 บาทในกรณีพ่วงเข้ากับเครื่องแบบกดปุ่ม
มันเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการใช้โดยไม่จำเป็น
แล้วระเบียบในการคิดค่าพ่วงต่อเข้ากับเครื่องโทรศัพท์ก็ยกเลิกไปในเดือนพฤศจิกายน
ปี 2531 เพิ่งเปิดเครื่องกีดขวางให้ตลาดความต้องการใช้แฟกซ์เพิ่มมากขึ้น
"ยอดขายแฟกซ์เมื่อปี 2528 มีประมาณ 1,000 เครื่อง ต่อมาก็เป็น 2,000
เครื่องในปี 2529 และเพิ่มมากขึ้น 150% ในปี 2530 คือขายได้ทั้งหมด 5,000
เครื่องปีที่แล้ว 2531 มีประมาณ 10,000 เครื่อง ปีนี้เชื่อว่าน่าจะถึง 20,000
เครื่อง หรือมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท" แหล่งข่าวในวงการจัดจำหน่ายเครื่องแฟกซ์
กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงการเติบโตของตลาดเครื่องแฟกซ์โดยรวมหลังจากการสื่อสารยกเลิกระเบียบค่าพ่วงกับโทรศัพท์
เมื่อถึงปี 2532 เครื่องแฟกซ์ที่เคยมีเพียง 4-5 ยี่ห้อเมื่อ 6 ปีก่อนก็เพิ่มมาเป็น
35 ยี่ห้อ ในตลาดขณะนี้เครื่องแฟกซ์ของยี่ห้อพานาโซนิคที่เรียกว่า "พานาแฟกซ์"
นั้นกำลังเป็นหัวแถวในการครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดคือประมาณ 25% รองลงมาเป็นยี่ห้อริโก้
17%, โอกิ และเอ็นอีซี ได้ไปยี่ห้อละ 7% ส่วนที่เหลืออีก 44% ก็แบ่งกันไปในกลุ่ม
31 ยี่ห้อที่เหลือ
ดังนั้นเมื่อพิจารณาโดยรวมในขณะที่แฟกซ์กำลังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน
ก็ย่อมที่จะส่งผลกระทบถึงเทคโนโลยีในการส่งข้อมูลที่มีความสามารถในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในการส่งข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็ว
และเป็นที่นิยมอยู่ก่อนแล้วอย่างเทเล็กซ์ จากรายงานประจำปี 2531 ของการสื่อสารแห่งประเทศไทย
ปรากฎว่าจำนวนผู้ที่ใช้บริการเทเล็กซ์มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นเทเล็กซ์ในประเทศหรือเทเล็กซ์ระหว่างประเทศก็ตาม
ซึ่งแนวโน้มของการลดลง ได้เริ่มมีในช่วงปี 2527 ซึ่งเป็นช่วงที่แฟกซ์เริ่มเข้าตลาดอย่างจริงจังเป็นต้นมา
เห็นได้จากจำนวนนาทีของผู้ใช้บริการเทเล็กซ์เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงและล่าสุดในปี
2531 จำนวน นาทีของการใช้เทเล็กซ์ลดลงจากปี 2530 ประมาณ 11.43% ในการใช้เทเล็กซ์ภายในประเทศและลดลง
5.36% ในการใช้เทเล็กซ์ระหว่างประเทศ
ถ้าหากจะพิจารณาจำนวนผู้เช่าเครื่องเทเล็กซ์จากการสื่อสารในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งเป็นช่วงที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยกับแฟกซ์มากขึ้นนั้นเราจะพบว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เช่าเครื่องเทเล็กซ์ก็มีแนวโน้มลดลงทุกปี
คือมีอัตราการเพิ่มขึ้น 16.89% ในปี 2527 13.32% ในปี 2528 7.99 ในปี 2529
6.55% ในปี 2530 5% ในปี 2531 "ช่วงนี้ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาใช้บริการก็จะเป็นแฟกซ์มากกว่าเทเล็กซ์ผมว่าถึงแม้จะยังมีคนขอเช่าเครื่องเทเล็กซ์อยู่แต่ก็น้อยกว่าแต่ก่อนมาก
ๆ แต่ก่อนอาจจะขอเช่าสัก 200 รายแต่เดี๋ยวนี้คงจะมีสัก 50 ราย" แหล่งข่าวผู้เป็นเจ้าของกิจการให้บริการรับส่งเอกสารการเทเล็กซ์
และแฟกซ์ และตั้งร้านมานานร่วม 10 ปีแล้ว กล่าวแสดงความเห็นกับ "ผู้จัดการ"
ถึงสภาพตลาดการใช้เทเล็กซ์ในขณะนี้
เทคโนโลยีก็เหมือนกับสินค้าที่จำเป็นที่จะต้องมีการแข่งขันกันอยู่เสมอ
ไม่แข่งขันกับเทคโนโลยีที่มีอยู่ในขณะนี้ก็อาจจะต้องมีการแข่งขันกับเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นมาใหม่
ๆ นั้นคือสิ่งที่เทเล็กซ์กำลังประสบและจะต้องแก้โจทย์การแข่งขันนี้ให้ได้ด้วยดีหากยังต้องการที่จะทำรายได้ให้มากขึ้นเหมือนเดิม
"ช่วงที่ผ่านมา บริการทางด้านเทเล็กซ์มีการพัฒนาให้มีบริการเสริมขึ้นมาอยู่เสมอเพื่อปรับตัวการแข่งขันกับแฟกซ์
โดยอาศัยจุดแข็งของเทคโนฌลยีประเภทนี้ที่ได้เรปียบกว่าในเรื่องของความสามารถในการทำงานรับ
และส่งข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง เรียกได้ว่าสามารถทำงานประเภทเฮฟวี่ ดิวที้
(HEAVY DUTY) ได้ดี ตัวอย่างเช่นการรายงานข่าวการขึ้นลงของสกุลเงินต่าง ๆ
, ข่าวคราวทั่วโลก หรือการขึ้นลงของสินค้าเกษตรต่าง ๆ ที่จะมีมาอยู่ตลอดเวลา
เครื่องจะต้องรับข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเหมาะกับกิจกรรมในบริษัทการค้า
(TRADING FIRM) ใหญ่ ๆ ซึ่งแฟกซ์ทำอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าทำเครื่องจะร้อนแน่และจะเสียได้ง่าย"
แหล่งข่าวในวงการจัดจำหน่ายเครื่องแฟกซ์คนเดิมกล่าวถึงข้อได้เปรียบของเทเล็กซ์ที่มีต่อแฟกซ์ในด้านความคงทน
นอกจากนี้แล้วบริการเสริมต่าง ๆ ที่เทเล็กซ์พัฒนาขึ้นมาเพื่อบริการแก่ผู้เช่าเครื่องเทเล้กซ์
เช่นบริการ SUPER TELEX ที่พัฒนาการรับส่งข้อมูลของเทเล็กซ์ให้เข้ากับระบบ่ของเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทผู้เช่าระบบเทเล็กซ์หรือในกรณีที่ผู้เช่าไม่มีเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์
การสื่อสารฯ ก็จะมีให้เช่าทั้งระบบทั้งชุด
SUPER TELEX เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูลและเก็บรวบรวมข้อมูลในลักษณะของการตามเครือข่ายที่มีอยู่ของระบบเทเล็กซ์
เพียงแต่ว่าแทนที่ข้อมูลจะออกมาเป็นข้อมูลบนกระดาษ กลับเป็นข้อมูลที่จะถูกส่งมายังเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ที่ได้รับการติดตั้งอุปกรณ์แปลงสัญญาณ
(TELEX NETWORK INTERFACEUNIT) และจะถูกจัดลำดับและเก็บบันทึกไว้ในเครื่องโดยอัตโนมัติ
ซึ่งจะเรียกข้อมูลออกมาดูในจอมอนิเตอร์หรือพิมพ์บนกระดาษเมื่อใดก็ได้ โดยที่ผู้เช่าจะสามารถใช้เครื่องทำงานด้านอื่นไปพร้อมกันได้อีกด้วย
"มันเป็นการพัฒนาของระบบเทเล็กซ์ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีถึงขั้น
SUPER PLUS TELEX เสียด้วยซ้ำไป" แหล่งข่าวในวงการเทเล็กซ์กล่าวถึงการพัฒนาการบริการของเทเล็กซ์ให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
การสื่อสารฯเองก็คงจะทราบดีว่าควรจะพัมนาเทเล็กซ์ไปเพื่อลูกค้าที่เป็นบริษัทที่ต้องการข้อมูลทางด้านธุรกิจที่ต้องการความรวดเร็วมาก
ๆ ดังนั้นการบริการที่เรียกว่า TELEX DATABASE จึงได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อคอยสนับสนุนข้อมูลทางด้านธุรกิจที่จำเป็นแก่ผู้เช่า
เช่นบริการสอบถามเลขหมายเทเล็กซ์ของหน่วยงานและธุรกิจภายในประเทศ เพื่อที่จะช่วยให้สามารถติดต่อสื่อสารได้เร็วขึ้น
สอบถามเกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศ, อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อันเป็นบริการที่พัฒนาขึ้นมาในเดือนมิถุนายน
2531 และยังมีบริการที่เรียกว่า TELEX BULLETIN BOARD เป็นบริการทางด้านข้อมูลโดยตรงไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย
แลกเปลี่ยน สินค้าต่าง ๆ ที่ผู้เช่าต้องการลงโฆษณาประชาสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ใช้เครื่องเทเล็กซ์ที่ทำธุรกิจด้วยกัน
และยังรวมถึงการที่จะสามารถเรียกสอบถามข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ
ได้ด้วยเพื่อประโยชน์แก่นักลงทุน และผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่ต้องการรู้สภาพตลาดหุ้นที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง
ซึ่งเป็นบริการที่จะเปิดให้บริการในต้นปี 2532 นี้
และเพื่อขจัดปัญหาที่เครื่องแฟกซ์มักจะพบบ่อย ๆ คือการติดต่อปลายทางไม่ได้เพราะสายโทรศัพท์ในประเทศไทยยังมีปัญหาทางด้านการส่งสัญญาณอยู่มาก
และในบางครั้งสายโทรศัพท์ไม่ว่างพอที่จะสามารถติดต่อได้ อีกทั้งในบางพื้นที่หรือบางประเทศ
เครื่องเทเล็กซ์ หรือแม้กระทั่งเครื่องแฟกซ์เองก็ยังไม่สามารถที่จะเข้าไปทำการติดตั้งได้ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการไปไม่ถึงของสายโทรศัพท์
ดังนั้นเทเล็กซ์เองยังมีบริการต่าง ๆ เพื่อที่จะคอยจัดการกับปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วนี้
ในกรณีที่สายโทรศัพท์ยังไปไม่ถึงในบางพื้นที่ เทเล็กซ์ก็มีบริการใช้สัญญาณวิทยุแบบไร้สาย
โดยการใช้เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ต่อเข้ากับข่ายวิทยุโทรคมนาคมระบบ CELLULA
หรือ UHF ซึ่งมีเครือข่ายกว้างไกล สามารถติดต่อกับผู้ใช้เครื่องเทเล็กซ์ได้ทั่วโลก
นอกจากนี้บริการที่เรียกว่า TELEBOX ในกรณีที่คู่สายมักจะไม่ค่อยว่างหรือที่ปลายทางไม่มีเครื่องเทเล็กซ์
เพราะบริการนี้จะคล้ายกับตู้ไปรษณีย์ที่ผู้ส่งจะสามารถส่งข้อมูลเข้าไปเก็บไว้ที่ตู้เก็บที่ตกลงขอเช่าไว้โดยที่ผู้รับจะสามารถเรียกที่รู้กันอยู่
2 ฝ่ายเพื่อให้ข้อมูลนั้นเป็นความลับ ถ้าในกรณีที่ผู้รับไม่มีเครื่องเทเล็กซ์ก็สามารถที่จะส่งไปที่ไปรษณีย์โทรเลขที่ปลายทาง
เพื่อนำจ่ายทางไปรษณีย์ถึงผู้รับปลายทางเป็นการส่งจดหมายทางเทเล็กซ์ได้ด้วย
บริการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นบริการที่ถูกพัฒนามาในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้เองโดยเหตุจากการที่ระบบคอมพิวเตอร์กำลังแพร่หลายอยู่
และระบบเทเล็กซ์ถูกปลุกให้ตื่นโดยพัฒนาการเทคโนโลยีที่ใหม่กว่าของเครื่องแฟกซ์
สำหรับเครื่องแฟกซ์เองก็ได้พัฒนาไปมาตลอดช่วง 6 ปีที่ผ่านมา จากสาเหตุการแข่งขันในวงการแฟกซ์ด้วยกันเอง
ตั้งแต่การพัฒนาความเร็วในการส่ง 4-6 นาทีต่อหน้ากระดาษขนาด A-4 ในเครื่องกลุ่มที่
1 หรือที่เรียกกว่าจี 1 (G1) เป็นความเร็ว 2-3 นาทีต่อหน้ากระดาษ A4 ในกลุ่ม
2 (G2) และในปัจจุบันกำลังอยู่ในเครื่องของกลุ่ม 3 (G3) ที่มีความรวดเร็วในการส่ง
ไม่ถึงนาทีต่อหน้ากระดาษ A4 แนวโน้มกำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาสู่กลุ่มที่
4 ที่จะมีความเร็วและความชัดเจนของข้อมูลที่จะส่งเมื่อถึงปลายทางมากยิ่งขึ้นไปอีก
นอกจากทางด้านความเร็วแล้วด้านคุณสมบัติของสินค้าที่จะความสามารถเอื้ออำนวยประโยชน์แก่ผู้ใช้ให้มากที่สุดก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่แฟกซ์พัฒนาขึ้นมา
เช่นการบันทึกความจำเลขหมายเครื่องแฟกซ์ปลายทางที่ติดต่อเป็นประจำ สามารถส่งข้อมูลไปยังที่ต่าง
ๆ ได้เป็นร้อยแห่งเพียงการส่งเพียงครั้งเดียว โดยไม่ต้องมากดเรียกถึง 100
ครั้ง สามารถตั้งเวลาในการส่งเอกสารได้โดยอัตโนมัติ ปรับความเข้มอ่อนของเอกสารให้คมชัด
ย่อ-ขยายเอกสารได้ เก็บข้อมูลเป็นความลับได้จนกว่าผู้รับที่รู้รหัสมาเรียกข้อมูลไป
ทั้งหมดนี่เป็นเพียงตัวอย่างที่จะมีการพัฒนาฟังก์ชั่นต่าง ๆ ให้วิจิตรพิสดารออกไปอย่างไรก็แล้วแต่ความต้องการของตลาดที่ผู้ผลิตจะผลิตออกมาสนองตอบต่อไป
การแข่งขันทางด้านผลิตภัณฑ์ของสินค้าเทคโนโลยีทั้งสองประเภทนี้ เทเล็กซ์ก็พยายามใช้ข้อได้เปรียบทางด้านเครือข่ายของการสื่อสารคมนาคมที่เชื่อมต่อกันอยู่ไม่ว่าจะเป็นทางสายโทรศัพท์
และสัญญาณวิทยุ พร้อมทั้งความสามารถในการรับส่งข้อมูลอยู่ได้ตลอดเวลา 24
ชั่วโมง และเพิ่มเติมความสามารด้วยการใช้ระบบเทเล็กซ์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้อีกด้วย
ส่วนทางด้านเครื่องแฟกซ์นั้นก็ใช้จุดแข็งทางด้านความสะดวก รวดเร็ว ในการไม่ต้องเสียเวลาในการจัดการพิมพ์ข้อมูล
ทั้งข้อมูลที่เป็นรูปภาพ และภาษาอันเป็น PRODUCT BENEFIT อันโดดเด่นของแฟกซ์ที่เทเล็กซ์ไม่สามารถตอบสนองความต้องการในส่วนนี้ได้
การแข่งขันคุณภาพสินค้าเพื่อตลาดผู้ใช้เป็นกฎตลาดเพื่อสร้างความประหยัดจาการใช้ให้แก่ผู้ใช้
ซึ่งทั้งแฟกซ์และเทเล็กซ์ก็หลีกหนีไม่พ้นจากกฎนี้เช่นกัน
ความประหยัดในการใช้บริการแต่ละครั้งเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างแฟกซ์และเทเล็กซ์นั้น
อยู่ที่การพิจารณาทางด้านความเร็วในการส่ง โดยเฉลี่ยทั่วไปแล้วเทเล็กซ์จะใช้เวลา
1 นาทีส่งขอ้มูลได้ 256 ตัวอักษณ (ครึ่งหน้ากระดาษ A-4) ยกเว้นเทเล็กซ์ที่ต่อเข้ากับเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์จะสามารถส่งได้ด้วยความเร็ว
1,200 ตัวอักษรต่อ 1 นาที ในขณะที่แฟกซ์นั้นสามารถส่งข้อมูลโดยเฉลี่ยทั่วไป
1 หน้ากระดาษขนาด เอ-4 ใช้เวลาประมาณ 1 นาที 20 วินาที ซึ่งเป็นเวลาที่รวมช่วงรอสัญญาณด้วย
ในกรณีการส่งในจังหวัดเดียวกันนั้นเทเล็กซ์คิดในอัตรา 1 นาที 1 บาท ในขณะที่
แฟกซ์คิดในอัตราค่าโทรศัพท์ทั่วไปคือ นานเท่าไหร่ก็ได้ ราคา 3 บาท เพราะฉะนั้นในกรณีที่ส่งข่าวสารในจังหวัดเดียวกัน
ถ้าสั้น ๆ มีตัวอักษรโดยประมาณ 500 ตัวอักษรส่งเทเล็กซ์จะประหยัดกว่า แต่ถ้าข้อมูลมาก
ๆ ส่งแฟกซ์จะประหยัดกว่ามาก
ในกรณีของการส่งข้อมูลไปในต่างประเทศนั้น เทเล็กซ์คิดค่าบริการ เป็นนาทีแล้วแต่ว่าจะส่งไปประเทศไหน
แต่แฟกซ์จะคิดในหน่วยทุก 6 วินาที แล้วแต่ว่าจะส่งไปประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่นในเวลาปกติ
เราต้องการส่งขอ้มูลไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเทเล็กซ์คิดในอัตรานาทีละ 50
บาท ส่วนแฟกซ์นั้นคิดในอัตราค่าโทรศัพท์คือ 6 วินาที 6 บาท มีส่วนทำให้เราประหยัดค่าบริการได้ในบางส่วน
เช่นในการส่งข้อมูลทั่วไปในขนาดกระดาษ เอ-4 เทเล็กซ์จะใช้เวลาประมาณ 2 นาทีกว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายในอัตรา
3 นาทีก็เท่ากับ 150 บาท ขณะที่ในส่วนของแฟกซ์อาจใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ
1 นาที 30 วินาที ก็จะเสียค่าใช้จ่ายเพียง 90 บาท
จะเห็นว่าถ้าส่งข้อมูลสั้น ๆ ส่งเทเล็กซ์จะประหยัดกว่า แต่ถ้าข้อมูลยาว
ๆ แล้วส่งแฟกซ์จะประหยัดกว่าถึง 40%
สำหรับการแข่งขันทางด้านราคาของทั้ง 2 ฝ่ายนั้น เทเล็กซ์เองก็รู้ถึงการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ชนิดนี้ที่จะเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาด
ดั้งนั้นเราจะเห็นถึงความพยายามในการลดราคาในการให้บริการลงเช่นลดค่าเช่าเครื่องเทเล็กซ์ลง
40-50% ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2529, จากเดิม 2,000-3,000 บาท เหลือราคา 1,000-1,500
บาทต่อเครื่อง ลดค่าใช้บริการเทเล็กซ์ระหว่างประเทศ ลง 30% ตั้งแต่ปี 2530
และเมื่อพฤศจิกายน ปี 2532 เลิกการคิดค่าติดตั้งเคเบิลจากที่เคยคิดเครื่องละ
3,00-10,000 บาท รวมทั้งเลิกคิดค่าติดตั้งเครื่องที่เคยตั้งราคาไว้เครื่องละ
200 บาท
พูดง่าย ๆ ก็คือว่าแต่ก่อนถ้าจะเช่าเครื่องเทเล็กซ์มาใช้สักเครื่องหนึ่งต้องลงทุนในช่วงเริ่มแรก
10,200-18,200 บาท แต่เดี๋ยวนี้ลงทุนเพียง 6,000-6,500 บาทเท่านั้น
ในขณะที่เครื่องแฟกซ์เองก็มีการแข่งขันกันในวงการอยู่แล้ว ราคาจะอยู่ระหว่าง
3 หมื่นกว่าบาท จนถึงแสนกว่าบาท ขึ้นกับฟังก์ชั่นต่างๆ ที่เครื่องแต่ละระดับมี
หรือแม้แต่การเช่าแฟกซ์ก็มีกันแพร่หลายในยุคของการแข่งขัน ซึ่งราคาก็จะอยู่ประมาณ
1,300 บาทต่อเครื่องต่อเดือนขึ้นไป
แต่เมื่อพิจารณาถึงทางด้านช่องทางการจัดจำหน่าย และการส่งเสริมการขายของทั้งสองสินค้าเทคโนโลยีการสื่อสารขายของทั้งสองสินค้าเทคโนโลยีการสื่อสารนี้แล้ว
ข้อได้เปรียบของแฟกซ์ก็เห็นเด่นชัดมากยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากในวงการเครื่องแฟกซ์มีการแข่งขันที่สูงอยู่แล้ว
มีผู้เสนอขาย 35 บริษัท ดังนั้นจึงย่อมมีกิจกรรมการส่งเสริมการขายที่มากกว่าเทเล็กซ์
ซึ่งมีอยู่เพียงรายเดียวคือการสื่อสารฯ ช่องทางการจัดจำหน่ายและบริการก็กระจายไปอย่างทั่วถึงมากกว่าเทเล็กซ์
ด้วยเหตุนี้ผู้ใช้บริการสามารถได้รับบริการติดตั้งเร็วกว่าเทเล็กซ์ที่ค่อนข้างจะรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯ
หรือไม่ก็จะกระจายไปในจังหวัดใหญ่ ๆ เท่านั้น และเนื่องจากการเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีความคล่องตัวน้อยกว่าธุรกิจเอกชน
การแข่งขันในกลุ่มของผู้ขายแฟกซ์ได้เป็นส่วนสำคัญในการให้ความรู้ความคุ้นเคยในเทคโนโลยีใหม่
ๆ แก่ผู้บริโภคไม่ว่ารุ่นใหม่ที่จะออกมีฟังก์ชั่นที่สลับซับซ้อนอย่างไร ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้ผู้บริโภคมีความคุ้นเคยในเทคโนโลยีนี้แล้ว
ทั้งศูนย์จัดจำหน่ายที่มีขอบเขตครอบคลุมทั้งประเทศก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ทางด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์อยู่แล้ว
ปัญหาของเทเล็กซ์ก็คือจะมีกลยุทธ์อย่างไรในการรักษาส่วนแบ่งตลาดที่มีอยู่
ในขณะที่ตลาดกลุ่มเป้าหมายของเครื่องแฟกซ์จะเริ่มลงมาสู่กลุ่มตลาดล่างมากยิ่งขึ้น
หลังจากแย่งส่วนแบ่งตลาดระดับบนจากเทเล็กซ์มาอย่างมากมาย เพราะว่ากลุ่มระดับบนเช่นบริษัทใหญ่
ๆ ต่างก็มีเครื่องแฟกซ์ใช้กันแล้ว ตลาดล่างจึงเป็นตลาดที่มีกลุ่มเป้าหมายอยู่มากที่สุด
"กลุ่มเป้าหมายทั้ง 3 ส่วนคือตลาดระดับสูงนั้นคือเครื่องแฟกซ์ราคาตั้งแต่ประมาณ
7 หมื่นขึ้นไป ตลาดระดับกลางคือตลาดของเครื่องแฟกซ์ราคาตั้งแต่ 4 หมื่น 5
พันบาทขึ้นไปถึง 6 หมื่น 9 พันและตลาดระดับล่างนั้นจะอยู่ในระดับ 4 หมื่นบาทลงมา
โดยที่ตลาดระดับล่างนี้มีกลุ่มเป้าหมายมากที่สุดคือประมาณ 60% ระดับกลาง
30% ที่เหลืออีก 10% เป็นตลาดระดับบน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีแฟกซ์ใช้กันแล้ว"
แนวโน้มของกาสรแข่งขันจึงจะมาในส่วนตลาดระดับกลางและล่างเป็นส่วนใหญ่ แหล่งข่าวเล่าให้
"ผู้จัดการ" ฟังถึงแนวโน้มในกลยุทธ์ทางการตลาดที่บริษัทขายแฟกซ์จะลงไป
แต่เมื่อเราพิจารณาถึงบริการเสริมของเทเล็กซ์แล้ว ไม่ว่าจะเป็น SUPER TELEX
หรือ TELEX DATA BASE ก็มักจะเป็นการให้บริการทางด้านข้อมูลที่หนัก ไปทางด้านการลงทุน,
การค้าระหว่างประเทศการเงินจึง น่าจะเชื่อได้ว่า ส่วนใหญ่ลูกค้าจะอยู่ในตลาดบนเทเล็กซ์
เองจึงพยายามที่จะรักษาลูกค้าในส่วนของบริษัทที่ต้องการข้อมูลพวกนี้ซึ่งมักจะเป็นบริษัทระดับกลางขึ้นไปมากกว่าที่จะเป็นตลาดระดับล่าง
พูดง่าย ๆ เป็นการใช้จุดแข็งของเครือข่ายที่กว้างขวางและสามารถทนทานต่อการใช้สื่อสารข้อมูลการค้าการเงินที่ผันแปรอยู่ตลอดได้ดีกว่าแฟกซ์
แนวโน้มจึงน่าจะออกมา แฟกซ์จะลงไปรองรับตลาดในส่วนล่วงมากขึ้นในขณะที่เทเล็กซ์เองยังคงอยู่ในตลาดบนต่อไป
แฟกซ์จะเข้ามาทดแทนเทเล็กซ์ทั้งหมดนั้นคงจะเป็นเรื่องยากไม่ว่าจะเป็นลักษณะของเครื่องที่ถูกสร้างขึ้นมา,
เครือข่ายที่เชื่อมต่อกับสายโทรศัพท์ของแฟกซ์ที่บางครั้งมักจะมีปัญหาทางด้านการติดต่อสื่อสารมากกว่าสายเทเล็กซ์เหมือนกับคนในวงการแฟกซ์เองก็เชื่อว่า
ถึงที่สุดแล้วเทเล็กซ์อาจจะมีบทบาทในตลาดลดน้อยลงบ้างแต่จะยังคงเหลืออยู่อย่างน้อยก็ประมาณ
25% ของที่มีอยู่ในขณะนี้ แต่ก็เป็นที่เชื่อได้ว่าตลาดของเครื่องแฟกซ์จะโตไปกว่านี้อีกมากในตลาดเมืองไทย
เพราะความโดดเด่นในผลิตภัณฑ์ที่สามารถส่งรูปภาพและภาษาต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
ดูจากสถิติของต่างประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น มีการใช้แฟกซ์ในตลาดทั้งหมดเป็นจำนวนประมาณ
3 ล้านเครื่องมากกว่าเทเล็กซ์ถึง 3 เท่าตัว เทียบกับการใช้แฟกซ์ในไทยมีสัดส่วนมากกว่าเทเล็กซ์เพียง
1 เท่าตัวเท่านั้นโอกาสที่แฟกซ์จะขยายตลาด และส่วนแบ่งออกไปจึงมีมาก
การสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดสื่อสารของเทเล็กซ์ให้กับแฟกซ์เป็นตัวอย่างการสะท้อนภาพการแข่งขันในเชิงบริหารงานตลาด
อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในปัจจัยทางเทคโนโลยีสินค้าที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการใช้ของผู้บริโภคในตลาดกฎการแข่งขันอันเป็นสัจจะนี้
เป็นตัวอย่างกรณีศึกษาอีกบทหนึ่ง ในหลาย ๆ บทที่เกิดขึ้นมาแล้วในระบบตลาดของไทยและทั่วโลก