Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2533








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2533
คริสเตียนี่และนีลเส็นยักษ์หลับขยับตัว             
โดย ขุนทอง ลอเสรีวนิช
 


   
search resources

คริสเตียนี และนีลเส็น (ไทย), บมจ.
สเวน แอนเดอร์เซ่น
Construction




ปี 2533 เป็นปีที่มีความหมายสำคัญสำหรับคริสเตียนี่และนีลเส็น ไม่เพียงเพราะเป็นปีที่บริษัทก่อสร้างเก่าแก่ที่สุดแห่งนี้จะมีอายุการดำเนินงานในประเทศไทยครบรอบ 60 ปี ความหมายสำคัญกว่านี้คือคริสเตียนี่ฯ ในปีที่ 61 อยู่ในระยะแห่งการปรับเปลี่ยนบทบาทของตัวเองเสียใหม่เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์แวดล้อมทางธุรกิจ

การเพิ่มทุนครั้งใหญ่ของคริสเตียนี่และนีลเส็น (ไทย) เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วจาก 12.5 ล้านบาท เป็น 125 ล้านบาทคือสัญญาณการเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

คริสเตียนี่ฯ เพิ่มทุนครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนพฤษภาคม 2517 จาก 8.1 ล้านบาทเป็น 12.5 ล้านบาท และหลังจากนั้นก็ไม่เคยมีการเพิ่มทุนอีกเลยตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มทุนขึ้นมาอีก 10 เท่าตัวในครั้งนี้จึงเป็นเสมือนสิ่งบอกเหตุว่าคริสเตียนี่ฯคงกำลังคิดเตรียมแผนการบางอย่างอยู่

"เราต้องการมีรายได้เพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ตอนนี้ แต่จะทำอย่างนั้นได้ในตลาดที่มีการแข่งขันมาก ๆ นั้น เราต้องมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น" สเวน แอนเดอร์เซ่น รองประธานของคริสเตียนี่ฯ ที่โคเปนเฮแกน เดนมาร์กพูดถึงเหตุผลข้อหนึ่งในการเพิ่มทุนครั้งนี้

ความเปลี่ยนแปลงนอกเหนือจากการเพิ่มทุนแล้วก็คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นและกรรมการของคริสเตียนี่ฯเสียใหม่ โดยดึงเอากลุ่มธุรกิจคนไทยที่มีบทบาทสำคัญในการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันเข้าไปร่วมด้วย

โครงสร้างผู้ถือหุ้นเดิมของคริสเตียนี่ฯมีบริษัทแม่ที่เดนมาร์กคือ คริสเตียนี่และนีลเส็น เอ.เอส เป็นผู้ถือห้นุใหญ่ 49 เปอร์เซ็นต์ ผู้ร่วมทุนฝ่ยไทยได้แก่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 15 เปอร์เซ็นต์ ตระกูลเตชะไพบูลย์ 33 เปอร์เซ็นต์ บริษัทเตชะไพบุลย์ 5.3 เปอร์เซ็นต์และอุทัย เตชะไพบูลย์อีก 3.7 เปอร์เซ็นต์

สัดส่วนที่เหลืออีก 3 เปอร์เซ็นต์เป็นของผู้ถือหุ้นรายย่อยรวมกัน 5 ราย

การเพิ่มทุนใหม่ครั้งนี้คริสเตียนี่ฯ เอ.เอส. และสำนักงานทรัพย์สินฯ ยังคงสัดส่วนเดิมเอาไว้ผู้ถือหุ้นที่เข้ามาใหม่คือ บริษัทสยามพาณิชย์พัฒนาที่ดิน จำกัดซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารไทยพาณิชย์ถือหุ้น 10 เปอร์เซ็นต์ ประสงค์ พาณิชภักดี 9 เปอร์เซ็นต์บริษัทซิตี้ แคปปิตอลซึ่งเป็นบริษัทลงทุนร่วมในเครือของซิตี้แบงก์ 8 เปอร์เซ็นต์ อนันต์ อัศวโภคินแห่งกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ 5 เปอร์เซ็นต์ ชาลี โสภณพนิชเจ้าของซิตี้เรียลตี้ 2 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลืออีก 2 เปอร์เซ็นต์เป็นหุ้นของวิศวกรชาวสวิสที่เข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทยนานแล้ว ชื่อณัฐ อินธการ

การดึงผู้ถือหุ้นดังกล่าวเข้ามาก็เพราะว่าคริสเตียนี่ฯ ต้องการขยายฐานธุรกิจเข้าไปในวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วยแทนที่จะทำแต่งานก่อสร้างเหมือนที่ผ่านมา

"เราพบว่าการมีทั้งธุรกิจก่อสร้างและการพัมนาอสังหาริมทรัพย์เป็นส่วนผสมที่ดีที่สุดสำหรับเราในตอนนี้" แอนเดอร์เซ่นกล่าว

ที่มาของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นในบริษัทแม่ที่เดนมาร์กเมื่อปี 2531 อเล็กซ์คริสเตียนี่ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่และประธานของคริสเตียนี่ฯ เอ.เอส. ซึ่งเป็นลูกชายของดร.รูดอล์ฟ คริสเตียนี่ วิศวกรโยธาผู้ก่อตั้งบริษัทกับ กัปตัน ออเก นีลเส็น นายทหารแห่งราชนาวีเดนมาร์ก เมื่อพ.ศ. 2447 ได้ขายหุ้นให้กับนักธุรกิจชาวเดนมาร์กชื่อาร์เนอร์ โกรกส์

อาร์เนอร์ โกรส์นั้นเป็นนักธุรกิจที่มีกิจการอยู่หลายแขนง หนึ่งในนั้นคือการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเดนมาร์กเมื่อเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นประธานคนใหม่ของคริสเตียนี่ฯ เอ.เอส. เขาจึงหันเหทิศทางการทำธุรกิจของคริสเตียนี่ฯเข้าไปสู่การลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น

ธุรกิจก่อสร้างเป็นธุรกิจที่มีกำไรต่ำมาก อัตราโดยเฉลี่ยของบริษัทก่อสร้างใหญ่ ๆ ทั่วโลกจะทำกำไรได้เพียง หนึ่งเปอร์เซ็นต์ของยอดขายเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการทำกำไรที่มีประสิทธิภาพในขั้นดีแล้ว และในยุโรปธุรกิจนี้มีการเจริญเติบโตอัตราที่ต่ำเพราะความต้องการในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานหรืออาคารโรงงาน ที่พักอาศัยต่าง ๆ เกือบจะเพียงพอแล้ว

เรื่องนี้จึงเป็นเหตุผลให้คริสเตียนี่ฯ เอ.เอส. ในยุคของอาร์เนอร์ โกรส์ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์เสียใหม่ นอกเหนือจากพื้นฐานเดิมที่เป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาก่อน

คริสเตียนี่ฯในประเทศอังกฤษเริ่มลงทุนก่อสร้างอพาร์มเมนท์ขนาดใหญ่ขึ้นเช่นเดียวกับในเยอรมนีตะวันตกที่คริสเตียนี่ฯ ก็มีการลงทุนในด้านนี้เป็นครั้งแรกประมาณกลางปี 2531

ในประเทศไทย สเวน แอนเดอร์เซ่นถูกส่งตัวเข้ามาเพื่อริเริ่มบทบาทใหม่ของคริสเตียนี่ฯ (ไทย) โดยเฉพาะ เขาเป็นคนเดนมาร์กที่คลุกคลีอยู่ในวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาเป็นเวลา 20 ปีทั้งในบ้านเกิด ในเบลเยียมและฝรั่งเศส นอกเหนือจากการทำธุรกิจเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดในยุโรปมาเป็นเวลานาน แอนเดอร์เซ่นเพิ่งจะมาร่วมงานกับคริสเตียนี่ฯ เอ.เอส. ได้เพียงปีเดียว

ภาระหน้าที่ของเขาในเฉพาะหน้านี้คือ การขยายบทบาทของคริสเตียนี่ฯ ในประเทศไทยให้มากขึ้น ทั้งในด้านธุรกิจก่อสร้างที่เป็นธุรกิจดั้งเดิมที่จะต้องสร้างความเติบโตที่ให้มากกว่านี้และในธุรกิจใหม่คือการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่คริสเตียนี่ฯ จะต้องหาช่องทางเข้าไปยืนอยู่ในตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วให้ได้

บทบาทของเขาไม่ต่างจากบทบาทของรูดอล์ฟ คริสเตียนี่เมื่อ 60 ปีที่แล้วในการวางรากฐานของคริสเตียนี่ฯ ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก จะต่างกันก็ที่ในยุคสมัยของรูดอล์ฟ คริสเตียนี่แม้จะเป็นการเข้ามาครั้งแรกแต่ก็เป็นสภาวะที่ยังไม่มีคู่แข่ง ในขณะที่ภารกิจของแอนเดอร์เซ่นถึงจะเป็นการสานต่อฐานเดิมแต่ก็มีเงื่อนไขของการแข่งขันกำกับอยู่

ความยากง่ายแตกต่างกันที่ตรงนี้

จุดเริ่มต้นที่จะเป็นตัวชักนำให้รูดอล์ฟคริสเตียนี่เข้ามาเปิดสำนักงานในประเทศไทยในเวลาต่อมาก็คือ โครงการสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเพื่อฉลองกรุงเทพมหานครมีอายุครบ 150 ปี ซึ่งคริสเตียนี่ฯ ได้เสนอตัวเข้าประกวดราคาก่อสร้างด้วยร่วมกับบริษัทก่อสร้างจากอังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศสและอิตาลีรวมทั้งหมด 5 ราย

การเปิดซองประมูลได้มีขึ้นที่ลอนดอนเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2472 บริษัทที่ได้รับการคัดเลือก คือบริษัทเดอร์แมนลองจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเสนอราคาก่อสร้างสะพานเหล็กและทางลาดคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นเงิน 244,332 ปอนด์

ส่วนคริสเตียนี่ฯ เสนอราคา 318,083 ปอนด์ จึงไม่ได้รับการพิจารณา แต่จากจุดนี้เองก็แสดงให้เห็นว่าคริสเตียนี่ฯ เริ่มสนใจเมืองไทยในฐานะตลาดใหม่ คริสเตียนี่ฯ ในช่วงนั้นมีเป้าหมายที่จะขยายกิจการออกไปที่อเมริกาและตะวันออกไกลหลังจากประสบความสำเร็จในเดนมาร์กและยุโรปมาแล้ว

การปรับเปลี่ยนสังคมไทยไปสู่ความทันสมัยแบบชาติตะวันตกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้มีความต้องการสิ่งก่อสร้างที่เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างเช่น ถนน สะพาน โรงไฟฟ้า เกิดขึ้น รูดอล์ฟ คริสเตียนี่มองเห็นถึงอนาคตอันกว้างไกลของงานด้านวิศวกรรมโยธาและงานรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทย

ปี 2473 เขาเดินทางมาไทยเพ่อหาลู่ทางเปิดสาขาขึ้นที่นี่ บริษัทอี๊สต์ เอเชียติ๊ก ซึ่งเป็นกิจการจากแดนไวกิ้งส์ด้วยกันที่เข้ามาก่อนหน้านั้นแล้ว ถึง 46 ปีเป็นตัวกลางในการติดต่อให้คริสเตียนี่ฯ ได้รู้จักกับสำนักงานพระคลังข้างที่ หรือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของชาติในเวลานั้น ในฐานะกลไกการบริหารทุนของราชสำนัก

ปีเดียวกันนั้นเอง คริสเตียนี่ฯก็จดทะเบียนบริษัทขึ้นในชื่อว่า บริษัทคริสเตียนี่และนีลเส็น (สยาม) จำกัด เมื่อเดือนกันยายน ด้วยทุนหกแสนบาท คริสเตียนี่ฯ เอ.เอส. และอี๊สต์เอเชียติ๊กถือหุ้นฝ่ายละ 38% ส่วนสำนักงานพระคลังข้างที่ถือหุ้น 17 เปอร์เซ็นต์

ที่ทำการครั้งแรกของคริสเตียนี่และนีลเส็น (สยาม) อยู่ที่ตึกบริษัทอี๊สต์เอเชียติ๊กข้างโรงแรมโอเรียนเต็ล ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

สัญญาก่อสร้างสัญญาแรกของคริสเตียนี่ฯ ในประเทศไทยคือ สัญญาออกแบบและก่อสร้างหอเก็บน้ำขนาดบรรจุ 250 ลูกบาศก์เมตรที่บางซื่อของการรถไฟแห่งประเทศไทยในปีแรกที่เข้ามาเลยทีเดียว

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2473 ส่งผลมาถึงประเทศไทยด้วย รัฐบาลในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในขณะนั้นแก้ไขปัญหาด้วยการตัดทอนงบประมาณรายจ่ายลง ทำให้โครงการก่อสร้างในภาครัฐบาลมีน้อยมาก และการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ก็ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในทางการเมืองต่อเนื่องมาอีกหลายปี

สองปัจจัยนี้มีผลไม้คริสเตียนี่ฯไม่สามารถขยายกิจการได้มากนักในช่วงเวลาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2481 จึงเริ่มกระเตื้องขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในปีนั้นคริสเตียนี่ฯ ได้งานรับเหมาก่อสร้างท่าเรือคลองเตย ซึ่งประกอบไปด้วยงานออกแบบโครงสร้างและก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก 10 เมตร ความยาว 1,800 เมตร โรงพักสินค้าจำนวน 5 หลัง โกดังเก็บสินค้าขนาด 3 ชั้นและอาคารที่ทำการ

งานก่อสร้างท่าเรือคลองเตยนี้ เป้นงานใหญ่ชิ้นแรกของคริสเตียนี่ฯ นับตั้งแต่ปักหลักตั้งกิจการในประเทศไทยมา โดยได้รับความช่วยเหลือในเรื่องเทคนิคการออกแบบและก่อสร้างจากบริษัทแม่ที่โคเปนเฮเกน ใช้เวลาก่อสร้างถึง 4 ปีถึงเสร็จสิ้น

เงื่อนไขที่เป็นข้อได้เปรียบของคริสเตียนี่ฯ ในยุคแรก ๆ นั้นเป็นผลมาจากการมีสำนักงานพระคลังข้างที่มาเป็นผู้ร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย โครงการก่อสร้างเพื่อพัฒนาที่ดินที่อยู่ในความครอบครองของสำนักงานพระคลังข้างที่จึงอยู่ในมือของคริสเตียนี่ฯอยู่เสมอ

ผลงานเด่น ๆ ที่เป็นโครงการของสำนักงานพระคลังข้างที่ซึ่งคริสเตียนี่ฯ เป็นผู้ก่อสร้างขึ้นมาก็คือ การสร้างอาคารสำนักงานให้เช่าสองฝั่งถนนราชดำเนินรวมทั้งโรงแรมรัตนโกสินทร์ อาคารธนาคารออมสินสาขาราชดำเนิน ศาลาเฉลิมไทยและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

แต่ลำพังความสัมพันธ์ในรูปแบบของผู้ร่วมลงทุนกับสำนักงานพระคลังข้าง ที่ยังไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดในการได้งานหรือไม่ได้งานของคริสเตียนี่ฯเพียงอย่างเดียว จุดแข็งของคริสเตียนี่ฯที่เป็นเงื่อนไขสำคัญในการสร้างความเป็นปึกแผ่นในยุคแรกคือมีเทคนิคและเครื่องไม้เครื่องมือในการก่อสร้างที่ทันสมัย ซึ่งเป็นผลมาจากการสั่งสมของบริษัทแม่ที่เดนมาร์กและถ่ายทอดต่อมายังคริสเตียนี่ฯ (ไทย)

คริสเตียนี่ฯ เอ.เอส. นั้นเป็นผู้ชำนาญรายหนึ่งในการใช้คอนกรีตเสริมเหล็กกับงานก่อสร้าง ซึ่งในขณะนั้นถือว่าเป็นเทคนิคก่อสร้างที่ก้าวหน้า ทันสมัยสำหรับงานวิศวกรรมโยธาและวิศวกรรมโครงสร้างเกือบทุกแขนง

ศาลาเฉลิมไทยเป็นอาคารที่ก่อสร้างโดยคอนกรีตเสริมเหล็กในประเทศไทยอาคารแรก ๆ โดยสั่งซื้อเหล็กจากต่างประเทศโดยตรง เพราะเมืองไทยยังไม่มีโรงงานเหล็กเส้นในตอนนั้น

อีกตัวอย่างหนึ่งของความได้เปรียบทางด้านเทคนิคก็คือ งานก่อสร้างท่าเรือคลองเตย ซึ่ได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทแม่ที่เดนมาร์กที่มีประสบการณ์ในการก่อสร้างและออกแบบกำแพงเทียงเรือมาอย่างช่ำชอง คริสเตียนี่ฯนำเอาระบบการตอกเสาเข็มยาวมาใช้เป็นครั้งแรก และหลังจากนั้นก็ได้ใช้ระบบนี้กับอาคารศาลาเฉลิมไทยโดยตอกเสาเข็มไม้ยาว 16 เมตร ใหั้ตมลงไปต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ก่อนที่จะหล่อคอนกรีตสวมทับเป็นฐานราก เพื่อป้องกันน้ำเซาะกัดฐานราก

เป็นอาคารแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้ระบบตอกเสาเข็มยาว ซึ่งคริสเตียนี่ฯ ได้นำเครื่องปั่นจั่นสูงสำหรับตีเสาเข็มยาวที่เป็นเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดในเวลานั้นเข้ามาใช้

ชื่อของคริสเตียนี่ฯที่รับรู้กันว่าเป็นบริษัทก่อสร้างของฝรั่งชาติเดนมาร์กเองนั้น ก็เป็นสิ่งขายได้ โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนตั้งกิจการในประเทศไทย ซึ่งมักจะว่าจ้างให้คริสเตียนี่ฯเป็นผู้ก่อสร้างโรงงานหรือสำนักงานให้ รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นธุรกิจของคนไทยด้วย

ตึก 10 ชั้นของโรงแรมโอเรียนเต็ลโรงงานเภสัชกรรมของบริษัทดูเม็กซ์ โรงงานผลิตผงซักฟอกของคอลเกต ปาล์มโอลีฟ อาคารเอฟ.อี.ซีลิก. ที่ถนนสีลม ซึ่งล้วนแต่เป็นการลงทุนจากนักธุรกิจยุโรป คือตัวอย่างผลงานของคริสเตียนี่ฯ

คริสเตี่ยนี่ฯได้ฝากผลงานเอาไว้ในวงการอุตสาหกรรมไทยเอาไว้มาก โรงกลั่นโรงหมักและโรงเก็บเบียร์ของบริษัทบุญรอด บิเวเวอรี่คือฝีมือการสร้างของคริสเตียนี่ฯ ในระหว่างช่วงปี พงศ. 2476, 2509 และ 2512 คริสเตียนี่ฯยังเป็นผู้สร้างโรงงานผลิตปูนซิเมนต์ให้กับบริษัทปูนซิเมนต์ไทยที่ทุ่งส่ง นครศรีธรรมราชเมื่อ พ.ศ. 2508 ที่ท่าหลวงและแก่งคอย สระบุรีในพ.ศ. 2497 และ 2512 ตามลำดับ และยังได้สัญญาสร้างโรงงานในกิจการเครือซิเมนต์ไทยอีกหลาย ๆ แห่ง

การได้งานก่อสร้างในเครือซิเมนต์ไทยนั้น ยังอาจอธิบายได้ด้วยเงื่อนไขความสัมพันธ์กับสำนักงานไทยนั้นยังอาจอธิบายได้ด้วยเงื่อนไขความสัมพันธ์กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการทั้งสองฝ่าย นอกเหนือไปจากชื่อเสียง ความสามารถของคริสเตียนี่ฯเอง

ลูกค้ากลุ่มธุรกิจอุตสหากรรมทั้งต่างประเทศและคนไทยนี้เองที่ยังคงเป็นฐานกิจการให้กับคริสเตียนี่ฯในช่วง 10 ปีหลังที่ผ่านมาซึ่งชื่อของคริสเตียนี่ฯแทบจะหายไปจากวงการก่อสร้างเลยทีเดียว

ความได้เปรียบของคริสเตียนี่ฯทั้งในแง่ชื่อเสียง เทคนิคการก่อสร้าง เครื่องมือทีททันสมัยกว่าเป็นปัจจัยภายในที่ประสานเข้ากับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ และสภาพอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คริสเตียนี่ฯ ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทก่อสร้างชั้นนำตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาจนถึงช่วงหลังปี พ.ศ. 2500

สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ว่าก็คือ การเร่งรัดพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นชาติอุตสาหกรรมมากขึ้น ตั้งแต่ยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นต้นมาที่มีการส่งเสริมพื้นฐานของรัฐบาล ที่ทำให้เกิดโครงการสร้างถนน สร้างสะพาน เขื่อนกั้นน้ำเกิดขึ้นอย่างมากมาย ในขณะที่สภาพอุตสาหกรรมมีผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีขีดความสามารถทัดเทียมกับคริสเตียนี่ฯอยู่เพียงน้อยราย

ทั้งงานก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและงานสร้างถนน สะพานคือฐานที่สำคัญของคริสเตียนี่ฯมาตลอด ซึ่งมีปริมาณงานเป็นสัดส่วนถึง 60% ของสัญญาก่อสร้างทั้งหมดตั้งแต่บริษัทมาจนถึงประมาณปี พ.ศ. 2523

ในส่วนของงานก่อสร้างโรงงานอุตสากรรม เจ้าของงานจะติดต่อว่าจ้างคริสเตียนี่ฯมาโดยตรง ในขณะที่การสร้างถนน สะพานซึ่งเป็นงานของกรมทางหลวงจะต้องเสนอตัวประมูลแข่งขันกัน

"สมัยนั้นคนที่เข้าประมูลมีเพียงสี่ห้ารายเท่านั้น และยังไม่มีระบบการฮั้วกัน" แหล่งข่าวในวงการก่อสร้างเปิดเผย

งานสร้างถนนสายสำคัญของคริสเตียนี่ฯได้แก่ งานสร้างทางสายกรุงเทพฯ นครปฐม และสายโคราช-หนองคายช่วงขอนแก่นถึงอุดรเมื่อ พ.ศ. 2506 สายร่อนพิบูลย์-พัทลุงเมื่อ พ.ศ. 2516 สายบางนา-สมุทรปราการ เมื่อ พ.ศ. 2519

ส่วนงานก่อสร้างสะพานที่สำคัญได้แก่ สะพานสารสินที่เชื่อมพังงากับภูเก็ตเมื่อ พ.ศ. 2508 สะพานแม่น้ำบางปะกงเมื่อ พ.ศ. 2497 สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ในพ.ศ. 2512

"เราขาดทุนเป็นสิบ ๆ ล้านบาท" แหล่งข่าวในคริสเตียนี่ฯกล่าว

สาเหตุสำคัญของการขาดทุนนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากวิกฤติการณ์น้ำมันเมื่อปี 2522 ที่มีการขึ้นราคาน้ำมันจนทำให้สินค้าวัสดุก่อสร้างขึ้นราคาต้นุทนค่าก่อสร้างสสูงกว่าราคาระมูลตอนแรก

"เราก็ทำจนเสร็จ" แหล่งข่าวรายเดิมพูดต่อ ชื่อเสียงของคริสเตียนี่ฯประการหนึ่งก็คือ ทำงานอย่างไรได้มาตรฐาน รักษาคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ต้นทุนจะเพิ่มขึ้นก็ยังใช้วัสดุและก่อสร้างตามแบบทุกอย่าง ดังนั้นแม้จะขาดทุนอย่างมโหฬาร ก็ยังเดินหน้าสร้างถนนสายพิษณุโลก-เด่นชัยจนเสร็จสมบูรณ์

"เกือบสิบปีแล้ว จะเรียกว่าเป็นถนนสายที่ดีที่สุดสายหนึ่งในประเทศไทยก็ได้"

การขาดทุนจากถนนสายนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่คริสเตียนี่ฯ แทบจะวางมือจากงานที่ประมูลกับกรมทางหลวงและหน่วยงานราชการอื่น ๆ หันไปเน้นงานด้านก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารสำนักงานมากขึ้น

ปี 2529 สัดส่วนระหว่างงานก่อสร้างถนน และงานดินเท่ากับงานก่อสร้างอาคาร และงานก่อสร้างอื่น ๆ ปี 2530 งานถนนและงานดินลดลงเหลือประมาณ 38 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่งานก่อสร้างอาคารอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 58 เปอร์เซ็นต์ และในปีที่แล้ว งานถนนและงานดินลดลงเหลือเพียง 8 เปอร์เซ็นต์แต่งานทางด้านอุตสาหกรรมพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นถึง 92 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด

"งานสร้างโรงงานเป็นงานที่ง่ายเสร็จเร็วและได้กำไรมากกว่าการทำถนน" คนของคริสเตียนี่ฯ คนหนึ่งพูดถึงเหตุผลของการละความสนใจที่จะทำงานถนนกับกรมทางหลวง

แต่เหตุผลสำคัญประการหนึ่งก็คืองานโรงงานนั้นคริสเตียนี่ฯ ไม่ต้องไปแข่งกับใคร ชื่อเสียงในเรื่องคุณภาพ และการทำงานเสร็จตามกำหนดยังเป็นเครดิตที่ดีถึงแม้ว่าราคาก่อสร้างมักจะแพงกว่าผู้รับเหมารายอื่น ๆ คริสเตียนี่ฯ ก็ยังได้งานอย่างสม่ำเสมอ อย่างเช่นการก่อสร้างโรงงานผลิตกระป๋องน้ำอัดลมของบริษัทเมตัลบ๊อกซ์ประเทศไทยและการก่อสร้างสโตร์ของสยามแม็คโครทั้งสามสาขา

ในขณะที่งานถนนสะพานของกรมทางหลวงรวมทั้งงานก่อสร้างของหน่วยงานราชการอื่น ๆ มีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นผู้รับเหมาแต่ละรายมีความสามารถไม่แตกต่างกันสักเท่าไรเหมือนในยุคแรก ๆ ตัวแปรในการตัดสินหาผู้ชนะการประมูลจึงไม่ใช่เรื่องของชื่อเสียง ความสามารถอีกต่อไป หากแต่มีน้ำหนักอยู่ที่ระบบการประสานผลประโยชน์ระหว่างผู้รับเหมาด้วยกันเองและระหว่างผู้ชนะการประมูลกับหน่วยงานเจ้าของโครงการนั้น ๆ

ถึงแม้จะอยู่เมืองไทยมานาน แต่ความเก่าแก่ของคริสเตียนี่ฯ ก็ไม่อาจนำมาใช้หใเป็นประโยน์ในแง่ของการเรียนรู้และการปรับตัวให้ทันกับสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนไปอย่างมากมายได้ คริสเตียนี่ฯ ยังคงพึ่งพาชื่อเสียงเก่า ๆ การทำงานอย่างได้มาตรฐาน ใช้วัสดุก่อสร้างตามเกณฑ์ทุกอย่าง จึงไม่อาจจะแข่งขันในเรื่องราคาในสภาพการแข่งขันที่มีราคากลางเป็นกรอบกำหนดไว้ คริสเตียนี่ฯ จึงไม่อาจจะแข่งขันในเรื่องราคากับคู่แข่งรายอื่น ๆ ได้

ยังไม่ต้องพูดถึงลูกเล่น เทคนิคในการประมูลงานราชการที่คริสเตียนี่ฯ เองแทบจะไม่มีอยู่เลย แต่เล่นกันอย่างตรงไปตรงมา ตามกติกา เทียบกับคู่แข่งอย่างกลุ่มห้าเสือกรมทางหลวง หรืออิตัลไทยแล้ว คริสเตียนี่ฯ ยังห่างชั้นมาก

ยิ่งในระยะหลังที่โครงการก่อสร้างของทางราชการขนาดใหญ่ส่วนมากมักจะเป็นโครงการที่ได้เงินกู้จากญี่ปุ่นซึ่งมีเงื่อนไขแอบแฝงกำกับมาว่า ผู้รับเหมาที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องเป็นผู้รับเหมาญี่ปุ่นเท่านั้นคริสเตียนี่ฯ ก็แทบจะเปิดประตูหากินกับงานราชการไปได้เลย

"เราจะไม่เน้นงานก่อสร้างของราชการอีกต่อไป เพราะมีการแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น เกาหลี เราเป็นบริษัทต่าบงปรเทศที่มโอกาสในการชนะการประมูลงานเป็นเรื่องยากมาก" สเวนแอนเดอร์เซ่น เองก็ยอมรับในความยากลำบากของการแข่งขันในด้านนี้

ความยากลำบากของคริสเตียนี่ฯ นั้นในด้านหนึ่งเกิดขึ้นจากการที่สภาพของอุตสาหกรรมการก่อสร้างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม มีคู่แข่งมากขึ้น รูปแบบการแข่งขันมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ในอีกด้านหนึ่งตัวของคริสเตียนี่ฯ เองก็แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

จากจุดเริ่มต้นที่เพียบพร้อมไปด้วยภาพพจน์ ชื่อเสียง และความสามารถในขณะที่ตลาดมีคู่แข่งน้อยรายและเศรษฐกิจของประเทศกำลังเติบโตในอัตราเร่ง เมื่อกาลเวลาผ่านไป จุดแข็งที่มีมาแต่เดมิของคริสเตียนี่ฯ ในเรื่องคุณภาพยังคงมีอยู่แต่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงด้านอื่นให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจคริสเตียนี่ฯ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาจึงอยุ่ในภาวะชะงักงัน

แอนเดอร์เซ่นเองก็ยอมรับว่า คริสเตียนี่ฯ หยุดอยู่กับที่ตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา

วิกฤติการณ์น้ำมันที่เกิดขึ้นในปี 2522 ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องกันมาจนถึงปี 2528 ภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ซึ่งขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจึงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องตกอยู่ในความซบเซา แต่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา และอุตสาหกรรมก่อสร้างเริ่มฟื้นตัวอย่างขนานใหญ่และเติบโตอย่างพรวดพราดตั้งแต่ปี 2531 จากกการลงทุนในธุรกิจที่อยู่อาศัย และอาคารสำนักงาน โดยเฉพาะการลงทุนก่อสร้างอาคารสูง คริสเตียนี่ฯ เองกลับไม่สามารถพลิกตัวเกาะติดไปกับความเติบโตของอุตสหากรรมนี้ได้เท่าที่ควร ยังคงหากินอยู่กับการสร้างโรงงานเป็นหลัก

ปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่เชื่อกันว่าทำให้คริสเตียนี่ฯ ไม่โตก็คือ ระบบการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนส่งผู้บริหารสูงสุดจากเดนมาร์กมาบริหารที่นี่ครั้งละ 2-3 ปีแล้วสับเปลี่ยนตัวผู้บริหารใหม่

คริสเตียนี่ฯ ถึงแม้จะอยู่เมืองไทยมาถึง 60 ปีแล้ว แต่อำนาจการบริหารยังอยู่ในมือบริษัทแม่ ทุกวันนี้ถึงแม้พนักงานเกือบทั้งหมดจะเป็นคนไทย มีฝรั่งอยู่เพียงสองคน แต่เป็นสองคนที่มีอำนาจสิทธิขาดในการตัดสินใจ คนหนึ่งนั้นคือกรรมการผู้จัดการ อีกคนคือสมุห์บัญชี

ระบบการส่งผู้บริหารจากบริษัทแม่มาอยู่เป็นเทอมช่วงสั้น ๆ เช่นนี้ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในเรื่องนโยบายทางธุรกิจขึ้นอยู่กับตัวผู้บริหารแต่ละคนเองว่าจะเอาอย่างไร และขึ้นอยู่กับสาถนการณ์ในช่วงที่ผู้บริหารแต่ละคนมาอยู่

ถ้าเข้ามาในช่วงที่เพิ่งจะประสบจากการขาดทุนจากโครงการใหญ่ ๆ เช่นการขาดทุนจากถนนสายพิษณุโลก - เด่นชัยเมื่อปี 2525 มีผลทำให้คริสเตียนี่ฯ ให้ความสำคัญกับโครงการของราชการน้อยลงด้วยเหตุผลทางด้านราคาเพียงอย่างเดียว โดยละเลยการพิจารณาปัจจัยการแข่งขันในแง่มุมอื่นด้วย

ปัญหาสำคัญที่สุดของการส่งผู้บริหารมานั่งเป็นเทอมก็คือ การขาดแรงจูงใจและขาดเป้าหมายที่ชัดเจนในการบริหารงานเพราะแต่ละคนรู้อยู่แล้วว่า ไม่ได้มานั่งที่ไทยตลอดไป เป้าหมายเฉพาะหน้าก็คือประคองสถานะของบริษัทให้ดีที่สุดในช่วงที่ตนรับผิดชอบอยู่ จึงไม่มีกามองไปข้างหน้า และตกเป็นฝ่ายตั้งรับจากแรงกระทำของสภาพแวดล้อม

"คนของบริษัทแม่ที่ส่งมานั้นไม่ค่อยจะมีความคิดในทางธุรกิจเท่าใด" แหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรมก่อสร้างกล่าว

ผู้จัดการคริสเตียนี่ฯ (ไทย) ที่มาจากเดนมาร์กนั้นล้วนแล้วแต่มีพื้นฐานทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ คนพวกนี้เข้ามาในฐานะนายช่างใหญ่ที่มีประสบการณ์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในทางวิศวกรรมเป็นหลัก และให้ความสนใจกับการทำงานให้ถูกต้อง มีคุณภาพ พัฒนาดัดแปลงเทคนิคใหม่ ๆ แต่ไม่มีแนวความคิดในเรื่องธุรกิจหรือการลงทุนแต่อย่างใด

ยิ่งแต่ละคนมาอยู่เพียงสองถึงสามปีแล้ว โอกาสที่จะได้ศึกษาสภาพ ทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงเพื่อคิดวางแผนการทางธุรกิจจึงเป็นเรื่องที่ขาดหายไป

"เขาต้องปรับทิศทาง บทบาทของตัวเองใหม่ให้มีด้านของการลงทุน มองหาลู่ทางใหม่ ๆ มากขึ้นแทนที่จะรับบทเฉพาะผู้ให้บริการด้านการรับเหมาก่อสร้างตามแต่จะเป็นผู้ว่าจ้างมา " ผู้เชี่ยวชาญคนเดิมชี้แนะถึงช่องทางที่ควรจะเป็นของครินเตียนี่ฯ

การเพิ่มทุนและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ของคริสเตียนี่ฯ (ไทย) ในครั้งนี้ ก็คือความพยายามที่จะเล่นบทใหม่ให้มีสีสันของความเป็นนักลงทุนมากขึ้นตามพื้นฐานของผู้ถือหุ้นรายใหม่ที่บริษัทแม่

เป็นการปรับบทบาทในช่วงที่สถานการณ์ของธุรกิจก่อสร้างกำลังเป็นใจ เมื่อการขยายตัวของโครงการก่อสร้างอาคารสูงทำให้ธุรกิจนี้กำลังประสบปัญหาขาดแคลนผู้รับเหมาที่มีความสามารถในการสร้างตึกสูง ๆ แต่เงื่อนไขของคริสเตียนี่ฯ เองที่ละทิ้งงานสร้างตึกสูงไปนาน ทำให้ขาดความมั่นใจทางด้านวิทยาการนี้

"เทคนิคเรื่องการสร้างตึกสูงไม่ใช่เรื่องลี้ลับอะไร แต่เราทิ้งงานไปนานมาก" คนอขงคริสเตียนี่ฯ เองยอมรับในปัญหานี้

คริสเตียนี่ฯ เสริมความพร้อมในเรื่องนี้ด้วยการร่วมทุนกับบริษัท ฟิลิปส์ โฮวส์แมน เอจี จำกัด จากประเทศเยอรมนีตะวันตก ตั้งบริษัทคริสเตียนี่และโฮลส์แมน (ไทย) ขึ้นมาเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วเพื่อรับงานก่อสร้างตึกสูงโดยเฉพาะ

ฟิลิปส์ โฮลส์แมนเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงเก่าแก่ตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2392 และมีประสบการณ์ในการก่อสร้างอาคารสูง ๆ ปัจจุบันเป็นบริษัทรับงานก่อสร้างนานาชาติที่ใหญ่เป็นอันดับที่สี่ของโลก

"เราจะใช้วิศวกรของโฮลส์แมนในการควบคุมงาน" แหล่งข่าวในคริสเตียนี่ฯ กล่าวถึงรูปแบบของความร่วมมือระห่างสองบริษัทนี้

โครงการที่คริสเตียนี่และโฮลส์แมนเข้าไปมีบทบาทในขณะนี้ก็คือ การก่อสร้างโครงการแหลมฉบังทาวเวอร์ โครงการโรงแรมโบลฟอร์ตสุโขทัย ที่ถนนสาธรซึ่งเป็นโรงแรมห้าดาวสูงเก้าชั้น โครงการคอนโดมิเนียมราคาแพงตรีทศซิตี้ มารีน่าที่ถนนเจริญนคร

การตั้งคริสเตียนี่และโฮลส์แมนคือการขยายตลาดเข้าไปในวงการก่อสร้างอาคารสูงโดยอาศัยพื้นฐานชื่อเสียงเดิมบวกกับเทคนิคในการก่อสร้างจากผู้ร่วมทุน

ส่วนการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยดึงเอากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เข้ามาถือหุ้นด้วยคือความตั้งใจที่จะขยายธุรกิจเข้าไปสู่การเป็นนักพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์

อุปสรรคเบื้องต้นของคริสเตียนี่ฯ ในการเข้าสู่ธุรกิจนี้คือ ไม่มีสายสัมพันธ์ใด ๆ มาก่อนกับนักธุรกิจในวงการนี้มาก่อนเลย การดึงเอากลุ่มธุรกิจคนไทยเข้ามาคือแนวความคิดในการแก้ไขปัญหานี้

"เราเชื่อว่าในประเทศไทยเราต้องทำธุรกิจร่วมกับคนไทย การที่เราเอาผู้ร่วมทุนเหล่านี้เข้ามาเพราะเรามองเห็นผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย" แอนเดอร์เซ่นกล่าว

แอนเดอร์เซ่นใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนครึ่งในการสรรหาผู้ร่วมทุน โดยเริ่มเมื่อประมาณกลางเดอนกันยายนปีที่แล้วเขาติดต่ทาบทามไปยังกลุ่มนักลงทุนประมาณ 10 รายด้วยกัน

ชื่อเสียงเก่าแก่ของคริสเตียนี่ฯ แม้ว่จะซบเซาลงไปในระยะหลัง แต่ก็ยังมีเครดิต ได้รับความเชื่อถือยู่เป็นอันมากพิสูจน์กัไนด้ด้วยการตอบรับของผู้ได้รับการทาบทามทั้งสิบรายที่ยินดีจะร่วมหัวจมท้ายกับคริสเตียนี่ฯ

"เราต้องการผู้ถือหุ้นที่เป็น ACTIVE PARTNERSHIP" แอนเดอร์เซ่นพูดถึงหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้ร่วมลงทุนข้อสำคัญ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่รองรับแนวความคิดของเขาตอ่การขยายตัวอขงคริสเตียนี่ฯ อยู่สองประการคือ หนึ่ง ต้องทำธุรกิจให้กับธุรกิจก่อสร้างของคริสเตียนี่ฯ ได้ และสอง ต้องมีประโยชน์สำหรับธุรกิจทางด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของคริสเตียนี่ฯ

"แต่ละรายมีความสัมพันธืกับผู้ที่จะเป็นลูกค้าของเราในส่วนธุรกิจก่อสร้างสามารถแนะนำลูกค้าใหม่ ๆ ให้เราได้ส่วนในเรื่องการพัฒนานั้นเราเชื่อว่า การร่วมกันแบ่งสรรกำไรระหว่างกันคือความสำเร็จในธุรกิจนี้ เราต้องการความชำนาญเฉพาะด้านหลาย ๆ อย่างเช่น การเงิน การตลาด การก่อสร้าง" แอนเดอร์เซ่นเปิดเผย

กลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์นั้น คือผู้ชำนาญในเรื่องธุรกิจอาคารที่พักอาศัย บ้านจัดสรรในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาที่เป็นเป้าหมายหนึ่งของคริสเตียนี่ฯ ในขณะที่ประสงคื พาณิชภักดีเจ้าของโครงกาบ้านสมประสงคืคือผู้ที่มีประสบการณ์กับการลงทุนในย่านอีสเทิร์นซีบอร์ดมากที่สุดคนหนึ่งในสายตาอขงแอนเดอร์เซ่น ส่วนซิตี้เรียลตี้ก็เป็นกลุ่มพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพทางด้านการลงทุนอย่างเหลือเฟือ และเป็นช่องทางหนึ่งที่จะตอ่ไปถึงธนาคารกรุงเทพหรือกิจการการเงินอื่น ๆ ของโสภณพานิชเพื่อใช้เป็นฐานในการลงทุนได้

สำหรับซิตี้แคปปิตอลซึ่งเป็นธุรกิจร่วมลงทุนของซิตี้แบงก์นั้น แอนเดอร์เซ่นหวังว่าจะแนะนำกลุ่มลูกค้าสถาบันมาให้กับคริสเตียนี่ฯ ได้ทั้งในแง่ของผู้ลงทุนในโครงการใหม่ ๆ ของคริสเตียนี่ฯ เองหรือลูกค้าในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในขณะที่สยามพาณิชย์พัฒนาที่ดินถึงแม้จะยังมีโครงการพัฒนาไม่มากนัก แต่แอนเดอร์เซ่นมองว่าจะเป็นตัวเชื่อมกับธนาคารไทยพาณิชย์ได้

"เราเชื่อว่ามีที่ว่างพอสำหรับทุก ๆ คนไม่ต้องมาแข่งกันเอง เราจะพึ่งพาแบ่งปันอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญของกันและกันมากว่า" แอนเดอร์เซ่นพูดถึงปัญหาที่อาจจะเกิดความขัดแย้งในผลประโยชน์ของบรรดาหุ้นส่วนเหล่านี้

คริสเตียนี่ฯ ในโฉมหน้าใหม่นี้จะไม่ใช่ผู้เข้าไปลงทุนในโครงการต่าง ๆ โดยตรง แต่จะร่วมลงุทนบางส่วนกับโครงการใหม่ ๆ ของผู้ที่เป็นหุ้นส่วนหรืออาจจะเป็นเจ้าของที่ดินรายอื่นที่ต้อบการพัฒนาที่ดินของตัว คริสเตียนี่ฯ ก็อาจจะเข้าไปถือหุ้นด้วย

"เราจะเป็นเหมือนบริษัทลงทุนมากกว่า" เขาบอก

คริสเตียนี่และนีลเส็นนั้นจะเรียกว่าเคยเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการก่อสร้างมาก่อนก็น่าจะได้ แต่เป็นยักษ์ที่ยังคงยืนถือตะบองอยู่กับที่มองดูความเปลี่ยนแปลงที่เคลื่อนไหวไปมาอย่างรวดเร็วอยู่รอบตัวอาจจะรู้ อาจจะเห็น ว่ามีสิ่งใดเกิดขึ้นบ้างแต่ก็ไม่เคยคิดว่าจะต้องทำอย่างไร จวบจนอายุย่างเข้ารอบที่หก จึงเริ่มขยับแข้งขยับขาสะบดตัวเปลี่ยนเครื่องทรงให้กับตัวเองใหม่ อีกไม่นานนักยักษ์ตนนี้ก็จะเริ่มก้าวเดินในทาวงทำนอง และลีลาที่ต่างไปจากเดิม

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us