แบงก์ทหารไทยยิ้มยอดบัตรเครดิตพุ่งเกินเป้าหมาย สวนภาวะเศรษฐกิจชะลอผู้บริโภคใช้จ่ายระมัดระวัง ระบุตัวเลขเอ็นพีแอลไม่น่าห่วงยังอยู่ในระดับที่คุมได้ ส่วนแนวโน้มการแข่งขันปีหน้าใกล้เคียงปีนี้
นางอัญชลี สามเสน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายธุรกิจบัตร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เปิดเผยว่า ธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีการเพิ่มขึ้นจำนวน 60,000-70,000 บัตร จาก เป้าหมายตั้งไว้ที่ 50,000 บัตร ทำให้ฐานบัตรเครดิตปัจจุบันอยู่ที่ 170,000 บัตร โดยการเติบโตดังกล่าวเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศจะยังคงมีการชะลอตัวและผู้บริโภคมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง
ส่วนการใช้จ่ายผ่านบัตรนั้นมีอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ประมาณ 20% โดยมียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเฉลี่ยอยู่ที่ 4,500-5,000 บาทต่อบัตรต่อเดือนหรือเป็นมูลค่ารวมประมาณกว่า 1,000 ล้านบาทต่อเดือน โดยมีลูกค้าที่ใช้จ่ายผ่านบัตรอย่างต่อเนื่อง (แอคทีฟ) อยู่ประมาณ 50%
สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากในช่วงครึ่งปีหลังนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการเข้มงวดเกี่ยวกับเอ็นพีแอลมากขึ้น เลยทำให้ธนาคารต้องมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงที่เหลืออีก 2 เดือนของปีนี้ ธนาคารจะมียอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตจากลูกค้าเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากเป็นช่วงที่จะมีปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตสูงสุดและเป็นเทศกาลปีใหม่ ซึ่งจะสามารถทำให้ลูกค้ามีการใช้จ่ายผ่านบัตรในการซื้อของมากขึ้น และอีกประการหนึ่งคือปลายปีนี้ ธนาคารมีแผนที่จะเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการรายอื่นในการออกแคมเปญ เพื่อเป็นการดึงลูกค้าให้มีการใช้จ่ายผ่านบัตรอย่างสม่ำเสมอและจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ได้
นอกจากนี้ ยังมองว่าแนวโน้มการแข่งขันตลาดบัตรเครดิตโดยรวมในปีหน้าคงจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2550 เนื่องจากในปัจจุบันการแข่งขันของบัตรเครดิตต่างๆนั้นมีความรุนแรงมากถึงระดับสูงสุดแล้วและคงจะไม่สูงไปกว่านี้อีกเพราะว่าถูกควบคุมโดย ธปท.ในเรื่องของหนี้เสียที่อาจจะเพิ่มขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตามแต่ละธนาคารก็จะยังมีการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของลูกค้าด้วยการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆมากขึ้นเพื่อดึงดูดลูกค้า
ฟิทช์ประกาศเครดิตพินิจTMB
รายงานข่าวจากฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศเครดิตพินิจภายใต้การพิจารณา (Rating Watch Evolving) แก่อันดับเครดิตของธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB โดยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (IDR) ที่ "BB+" ,อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ "B" ,อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ "BB’" ,อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ Hybrid Tier 1 Securities ที่ "B ,อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ "D" อันดับเครดิตสนับสนุนที่ "3" ,อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ที่ BB อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวที่ระดับ "A (tha)" ,อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ "F1 (tha)" และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ "A-(tha)"
ทั้งนี้ การประกาศเครดิตพินิจภายใต้การพิจารณาในครั้งนี้เป็นผลมาจากที่คณะกรรมการบริหารของ TMB ได้ประกาศแผนเพิ่มทุนมูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาทเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยการเพิ่มทุนคาดว่าจะมาจากการที่ธนาคารมีผู้ถือหุ้นรายใหม่โดยมีความเป็นไปได้ที่ ING Bank NV ("AA" / "F1+") อาจเป็นหนึ่งในผู้ลงทุน การเพิ่มทุนในครั้งนี้คาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการคลังและจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้
โดยการเพิ่มทุนในครั้งนี้คาดว่าจะช่วยคงสถานะของ TMB และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ Hybrid Tier 1 Securities ของธนาคารซึ่งได้ถูกปรับลดอันดับลงเมื่อเดือนมกราคม 2550 นอกจากนี้ การเพิ่มทุนยังมีผลทางด้านบวกสำหรับภาพรวมของอันดับเครดิตของธนาคารในระยะยาว การเพิ่มทุนเป็นจำนวนมากและการคาดการณ์ว่า TMB จะมีผลประกอบการเป็นบวกในปี 2551 คาดว่าจะส่งผลให้ TMB สามารถจ่ายดอกเบี้ยสำหรับ Hybrid Tier 1 Securities ได้ ในทางกลับกันหาก TMB ยังมีผลประกอบการขาดทุนเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมากและหากมีการล่าช้าของแผนการเพิ่มทุน อาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีการลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ Hybrid Tier 1 Securities และอันดับเครดิตอื่นๆของธนาคารได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามีความเป็นไปได้ที่ผู้ถือหุ้นใหม่จะเข้ามาถือหุ้นของ TMB ที่ 30% ในเบื้องต้น แต่การเพิ่มทุนนี้ยังคงต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นของธนาคารและหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง และมีการคาดการณ์ว่า DBS of Singapore อาจไม่ร่วมลงทุนเพิ่มในการเพิ่มทุนครั้งนี้ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนหุ้นที่ DBS ถืออยู่ลดลงเหลือประมาณ 6% ในขณะที่กระทรวงการคลังจะมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ประมาณ 26%
สำหรับการเพิ่มทุนใหม่จำนวน 3.5 หมื่นล้านบาทน่าจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนของธนาคารได้เป็นอย่างมากถึงแม้ว่าอาจจะมีผลกระทบบางส่วนจากการกันสำรองเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตในอนาคตขึ้นอยู่กับการพิจารณาว่าการเพิ่มทุนและการที่ TMB มีผู้ถือหุ้นรายใหม่ จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจ ผลกำไร กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจและการบริหารความเสี่ยงของธนาคารอย่างไร รวมทั้งจะสามารถช่วยลดทอนความเสี่ยงในด้านความสามารถในการทำกำไร และคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารได้มากน้อยเพียงใด
|