ธปท.แจงเอ็นพีแอลไตรมาสที่ 3 ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากลูกหนี้รายใหม่ ขณะที่สินเชื่อที่ปล่อยให้แก่ภาคอุตสาหกรรมมียอดเอ็นพีแอลมากที่สุดในระบบ เล็งจับตาสินเชื่อส่วนบุคคล หวั่นเศรษฐกิจชะลอก่อหนี้เพิ่ม มั่นใจเศรษฐกิจปีหน้าขยายตัวได้ดีขึ้นช่วยลดผ่อนคลายปัญหาหนี้เอ็นพีแอลได้
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของระบบสถาบันการเงินในสัดส่วน 4.44% ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ สะท้อนให้เห็นว่าแรงกดดันด้านหนี้เอ็นพีแอลยังมีอยู่ทั้งจากการเสื่อมลงของสินเชื่อตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมทั้งเกิดจากการจัดชั้นหนี้ด้อยคุณภาพตามมาตรฐานของธปท.เอง
นอกจากนี้ หากพิจารณาเป็นภาคธุรกิจจะพบว่า ภาคอุตสาหกรรมมียอดหนี้มากที่สุดในระบบ ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าด้านบริการและการก่อสร้าง ขณะเดียวกันยอดหนี้ที่เกิดขึ้นจากการใช้จ่ายผ่านบริการสินเชื่อบุคคลก็เป็นธุรกรรมหนึ่งที่ ธปท.กำลังอยู่ระหว่างติดตามดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากแม้อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในช่วงขาลงแล้วก็ตาม แต่ในอนาคตยอดหนี้อาจเร่งตัวเพิ่มขึ้นได้ตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ
“แม้อัตราการเพิ่มขึ้นของยอดหนี้เอ็นพีแอลในไตรมาสนี้ไม่สูงนัก ซึ่งมีลักษณะการเพิ่มขึ้นไม่ต่างกับในช่วง 2 ไตรมาสแรกที่ผ่านมา และเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากความอ่อนไหวของภาวะเศรษฐกิจไทยในตอนนี้ ทำให้หนี้ที่เกิดขึ้นเกิดจากลูกหนี้ใหม่เสียส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปัญหาหนี้เอ็นพีแอลจากลูกหนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นนี้จะยังสร้างแรงกดดันต่อไปอีกจนถึงสิ้นปีนี้ แต่หากในปีหน้าเศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้นแรงกดดันของหนี้เอ็นพีแอลในระบบจะเริ่มลดลง”
รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าวต่อว่า ขณะนี้ธปท.ยังไม่มีความจำเป็นต้องออกมาตรการหรือผ่อนปรนกฎเกณฑ์อะไรเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ลดยอดเอ็นพีแอลลงมา เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาทางธนาคารพาณิชย์เองก็มีการตระหนักถึงปัญหาเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จึงมีการหารือกับทางธปท.อย่างต่อเนื่อง
“ส่วนเป้าหมายการลดเอ็นพีแอลให้เหลือ 2% นั้นคาดว่าหากเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ช่วยเป็นปัจจัยบวกช่วยผ่อนคลายปัญหานี้ได้”
โดยก่อนหน้านี้ สายนโยบายสถาบันการเงินของธปท.ได้ประกาศยอดคงค้างเอ็นพีแอลของระบบสถาบันการเงินล่าสุดในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ พบว่า ยอดหนี้เอ็นพีแอลสุทธิ 260,723 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.44%ของสินเชื่อรวม ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้น 6,212 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.44% จากไตรมาสก่อน
ทั้งนี้ ในส่วนของธนาคารพาณิชย์มียอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 5,311 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.13% จากไตรมาสนี้ที่มีเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 254,784 ล้านบาท ส่วนสาขาธนาคารต่างประเทศมียอดหนี้เพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้น 790 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 27.42% จากปัจจุบันที่มีหนี้ทั้งสิ้น 3,670.49 ล้านบาท และบริษัทเงินทุนมีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 118 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.31% เทียบกับไตรมาสนี้ที่มีหนี้ทั้งสิ้น 1,985 ล้านบาท ขณะที่บริษัทเครดิตฟองซิเอร์กลับเป็นสถาบันการเงินประเภทเดียวที่มียอดหนี้เอ็นพีแอลลดลงประมาณ 6 ล้านบาท หรือลดลง 2.24% จากปัจจุบันที่มีเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 282.66 ล้านบาท.
|