กรุงเทพเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว ถ้าจะหาร้านขายเครื่องดนตรีซักร้านคงจะยากไม่ใช่เล่น
แม้แต่โน้ตเพลงก็ยังต้องสั่งเข้าจากต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งสายกีตาร์ยี่ห้อดัง
ๆ สักเส้นถ้าเราต้องการที่จะมีไว้ใช้ก็ต้องอาศัยเวลาถึง 3 เดือน กว่าร้านค้าขายเครื่องดนตรีจะสั่งมาให้ตามที่ต้องการได้
รากฐานของสาเหตุที่สำคัญก็อยู่ที่ตลาดผู้บริโภคดนตรี บ้านเราในยุคนั้นยังไม่ตื่นตัวต่อการซ่องเสพหรือเห็นคุณค่าของดนตรีมากเพียงพอ
แต่ในยุคสมัยนี้ซึ่งเป็นยุคที่การสื่อสารและการเดินทางติดต่อเป็นไปได้อย่างรวดเร็วข่าวสรทุกชนิด
เทคโนโลยีทุกประเภท และสินค้าต่างประเทศอันหลากหลายได้เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตประจำวันของคนไทยเรามากขึ้น
และวัฒนธรรมของชาวต่างประเทศก็ไหลบ่าเข้ามาให้คนไทยได้สัมผัสรับรู้ได้ทั่วถึงด้วย
ซึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ "ดนตรี" ที่มีอิทธิพลอยู่มากต่อวิถีชีวิตคนไทยในยุคนี้
"ทัศนะคติของคนไทยที่มีต่อวงการดนตรีเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ไม่มีการดูถูกดูแคลนนักร้องนักดนตรีว่าเป็นอาชีพเต้นกินรำกินไม่มีอนาคตอีกต่อไปดนตรีถือเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง
โดยเฉพาะทางด้านดนตรีของตะวันตกถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาระดับต่าง
ๆ ยิ่งมีแรงสนับสนุนจากธุรกิจผลิตเทปด้วยแล้ว ดนตรีตะวันตกก็ยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้นไปอีก"
บุปผวรรณ ธีระวรรณวิไลผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนจินตการดนตรีพูดถึงสภาพเกี่ยวกับความรู้สึกของคนไทยที่มีต่อวงการดนตรี
การยอมรับในอิทธิพลของ "ดนตรี" ในบ้านเมืองเรายุคนี้คงต้องมี
2 ส่วนที่ผสมผสานกันอยู่ อันหนึ่ง ดนตรีเป็นสื่อสารทางวัฒนธรรมที่ใช้ความรู้ทางศิลปะเข้ามาสร้างสรรค์ให้สามารถเกาะกุมเข้าไปในวิถีชีวิตของคนมากขึ้น
ขณะเดียวกันอีกอันหนึ่ง ดนตรีกลายเป็นสินค้าที่มีการผลิตด้วยเหตุผลทางธุรกิจ
ในบ้านเรามีแนวโน้มอย่างมากที่ดนตรีกำลังถูกอิทธิพลทางธุรกิจเข้าครอบงำเห็นได้ชัดจากธุรกิจผลิต
และค้าเทปที่ผู้ประกอบการผลิตออกมาด้วยเหตุผลทางตลาด ไม่ใช่ศิลปะแม้ดนตรีที่แฝงตัวเข้ามาในรูปธุรกิจจะมีอิทธิพลต่อการสร้างความยอมรับในหมู่คนไทยมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
แต่โดยพื้นฐานคนไทยแล้ว ยังขาดการเรียนรู้ดนตรีอย่างมีระบบระเบียบแบบแผนที่ถูกต้องเหมือนในยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา
ดังนั้น การซ่องเสพดนตรีของคนไทยยุคนี้ ส่วนใหญ่จึงเป็นไป เพื่อเหตุของการแสวงหาความบันเทิงทางโสต
มากกว่าจะซึมซับเอาศาสตร์ของการดนตรีที่ถูกเรียงร้อยด้วยตัวโน็ตของศิลปินอย่างมีหลักวิชาและอารมณ์อันสุนทรีย์
การเรียนดนตรีในบ้านเรามีการเปิดสอนอย่างเป็นจริงเป็นจังก็ในระดับปริญญาตรีในช่วง
10 ปีนี้เอง ตามวิทยาลัยครูต่าง ๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็เน้นที่ภาคดนตรีไทย ต่อมาเมื่อปี
2520 คณะครุศาสตร์จุฬาฯ ก็เพิ่งจะเปิดสาขาดนตรีขึ้นมีสาขาดนตรีสากลด้วย และคณะศิลปกรรมศาสตร์
จุฬาฯ ที่มีการสอนทางด้านดนตรีในหลาย ๆ สาขา ก็เพิ่งจะเปิดมาได้ไม่ถึง 10
ปี นอกนั้นแล้วก็มักจะเป็นการเรียนการสอนในระดับประกาศนียบัตรเท่านั้น
การเรียนการสอนดนตรีในระดับประกาศนียบัตรนั้นโดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 3 ระดับ
คือ ชั้นต้น, ชั้นกลาง และชั้นสูง ชั้นต้นนั้นจะแบ่งระดับออกเป็น 3 ระดับ
คือเกรด 1 ถึงเกรด 3 ชั้นกลางตั้งแต่เกรด 7 ถึงเกรด 8 ซึ่งจะได้รับประกาศนียบัตรสาขาศิลปศึกษาเหมือนของกระทรวงศึกษาธิการ
ในขณะนี้มีโรงเรียนที่สอนดนตรีตั้งแต่ระดับชั้นต้นถึงชั้นสูงที่จะได้รับใบประกาศนียบัตรชั้นสูงอยู่ประมาณ
3 แห่งคือที่โรงเรียนสอนดนตรีสยามกลการ, โรงเรียนศศิลิยะและที่จินตการดนตรี
นอกนั้นโดยส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนสอนดนตรีสยามกลการ, โรงเรียนศศิลิยะและที่จินตการดนตรี
นอกนั้นโดยส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนสอนดนตรีในระดับต้นและกลาง มีสาขาวิชาไม่มากนัก
โดยมีระยะเวลาที่กำหนดกันไว้จากระดับต้นถึงสูงจะใช้เวลาเรียน 4 ปี แต่เนื่องจากการเรียนดนตรีในระดับเหล่านี้
ไม่ใช่เป็นการเรียนที่จัดอยู่ในวิชาภาคบังคับ เป็นแต่เพียงผู้สนใจใช้เวลาว่างของแต่ละคนมาศึกษาเพิ่มเติมกันเอง
เหตุนี้จึงมีไม่มากรายนักที่จะสามารถจบได้ภายใน 4 ปี ซึ่งส่วนสำคัญที่เป็นตัวกำหนดก็คือการฝึกฝนและปฏิภาณของผู้เรียน
การมีแหล่งสอนดนตรีอย่างมีระเบียบแบบแผน ขณะที่สังคมมีการขยายตัวใหญ่ขึ้นของชนชั้นนักบริหารผู้ประกอบการ
ธุรกิจการสอนดนตรีจึงเกิดขึ้นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันผู้ปกครองจึงมักที่จะส่งลูกหลานเข้าเรียนดนตรีกันตั้งแต่อายุได้เพียง
4 ขวบขึ้นไปเพื่อเป็นการเตรียมตัวเด็กให้มีความพร้อมเช่นการฟังเสียงดนตรีต่าง
ๆ การรู้จักกับโน้ต การรู้จักวิธีการร้องเพลง จนเป็นค่านิยมใหม่ในกลุ่มของผู้บริหารระดับกลางขึ้นไปแล้วว่าถ้าไม่ส่งลูกหลานเข้าเรียนดนตรี
จะไม่ทันสมัยเสียแล้ว
"แต่โดยส่วนใหญ่ ผู้ปกครองที่ส่งเด็กมาเรียนดนตรีนั้นไม่ได้มีเจตนาในการที่จะให้เด็กเรียนไปเพื่อประกอบอาชีพเป็นนักดนตรี
แต่เป็นการเรียนดนตรีไปเพื่อเป็นการเสริมสร้างความสามารถเท่านั้น จะมีเพียงประมาณ
10% เท่านั้นที่เรียนไปเพื่อการประกอบอาชีพ" บุปผวรรณกล่าวเพิ่มเติมถึงวัตถุประสงค์หลักของผู้ปกครองในการส่งลูกหลานมาเรียนดนตรี
แน่นอนว่าความสามารถของผู้ที่จบประกาศนียบัตรนั้นย่อมสามารถประกอบอาชีพได้ในการเป็นนักดนตรีหรือครูสอนดนตรี
แต่เหตุผลที่นักบริหารหรือผู้ปกครองหลายคนไม่ได้มีวัตถุประสงค์ เพื่อประโยชน์ทางด้านอาชีพของลูกหลานเป็นหลักก็เพราะว่า
คุณประโยชน์ของคนเรียนดนตรีนั้นมีมากกว่าการเป็นผู้ที่สามารถผสมเสียงดนตรีให้ออกมามีความไพเราะเท่านั้น
ถ้าจะเปรียบเทียบการเรียนดนตรีแล้วก็เหมือนกับการเรียนศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่มีภาษาเป็นของตนเอง
ผ่านทางโน้ตดนตรีที่ต้องอาศัยความเข้าใจตั้งแต่เบื้องต้น เพื่อนำมาสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องตามโน้ตตามจังหวะเป็นการประสานกันของโสตประสาททั้งหลายของร่างกายมนุษย์
ความถูกต้องของกาประสานกันนั้นจะต้องเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการเรียนรู้ การฝึกฝนความกล้าที่จะแสดงออก
มีวินัยและรู้ซึ่งถึงความสามารถในการบังคับตัวเอง รู้ในการบังคับควบคุมนิ้วที่จะกดลงบนคีย์ของเปียโน
รู้ว่ากดอย่างไรเสียงที่ออกมาจึงไม่กร้าว ไม่ผิดเพี้ยนจากอารมณ์ของเพลง รู้ถึงการบังคับควบคุมลมที่จะเป่าออกมาสู่ฟรุ้ตหรือคาริเน็ต
หรือรู้ถึงการควบคุมความสม่ำเสมอของมือที่จะดีดสายกีตาร์ อีกทั้งรู้ที่จะควบคุมสมาธิในการเล่นดนตรีด้วย
สิ่งนี้คือหัวใจที่นักบริหารหรือผู้ปกครองต่าง ๆ ต้องการที่จะให้ลูกหลานได้เรียนรู้ถึงความสามารถในการควบคุมบังคับตนเอง
ได้ซึมซับความมีวินัย ความมีสมาธิและความกล้าที่จะแสดงออก อันเป็นส่วนสำคัญของการเล่นดนตรีเอาไว้ในจิตสำนึก
ซึ่งไม่ใช่เพียงเพื่อการประกอบอาชีพเป็นนักดนตรีหรือครูสอนดนตรีแต่ยังสามารถใช้ประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันของคนเราทุกคน
"ปัจจุบันความนิยมที่จะเรียนดนตรีมีมากเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก
ประมาณ 30% ต่อปี ที่จริงแล้วในปัจจุบันนี้ในบางหลักสูตร ยกตัวอย่างเช่นเปียโน
ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดในการเรียนการสอน ก็อยู่ในระดับที่ต้องเข้าคิวรอเรียนกันแล้ว
รองลงมาก็คือออร์แกนไฟฟ้าและกีตาร์นั้นไม่ค่อยจะมีปัญหาที่เรียนเพราะมีที่เรียนหลายที่เปิดสอนอยู่แล้ว"
บุปผวรรณ อาจารย์สอนดนตรีที่จบมาทางด้านกีตาร์คลาสสิกจากอเมริกา บอกเล่าถึงความนิยมของคนไทยที่มีต่อการเรียนดนตรีในปัจจุบันที่มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น
ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีคุณค่าในตัวของมันเองไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ การเล่นกีฬาและแม้กระทั่งการเรียนดนตรี
เพียงแต่ว่าเราจะสามารถสัมผัสรับรู้ถึงประโยชน์จากสิ่งที่เราได้ทำได้เรียนรู้มากน้อยเท่าไหร่เท่านั้น
จากนั้นก็มาถึงขั้นตอนของการนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันของเราเพื่อที่จะทำให้ชีวิตเราดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเรียนรู้ความสามารถของตัวเอง การมีวินัยฝึกฝนความกล้าที่จะแสดงออก เรียนรู้ที่จะมีสมาธิในการทำงาน
ที่เราซึมซับได้จากการเรียนดนตรีเป็นสิ่งที่อยูนอกเหนือจากความคาดคิดของหลาย
ๆ คน หรืออาจมองข้ามไป ซึ่งการเรียนดนตรีน่าจะเป็นวิธีหนึ่งที่ลูกหลานคุณจะได้รับประโยชน์จากมัน
บางทีอาจจะมากกว่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็ได้ หรือว่าจะไปสัมผัสด้วยตัวคุณเองก็ไม่มีอะไรจะเป็นปัญหา
เพราะว่าไม่มีใครแก่เกินเรียน…..อยู่แล้ว