รากฐานทางธุรกิจแต่ดั้งเดิมของฉัตรชัย บุญรัตน์นั้นคือ "บริษัทผลไม้กระป๋องไทย
จำกัด" ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว บริษัทดังกล่าวส่งสับปะรดกระป๋องออกนอกเมื่อตั้งโรงงานในปี
1970 นั้น ฉัตรชัยกล่าวว่าเป็นโรงงาน 1 ใน 2 แห่งแรกของประเทศและปัจจุบันเป็นผู้ส่งออกสับปะรดกระป๋องรายใหญ่ของไทย
โดยมีตลาดใหญ่อยู่ที่สหรัฐอเมริกา
มาเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เขาเดินทางไปดูที่ดินที่อำเภอเซกาหนองคาย ซึ่งกว้างขวางกว่า
800 ไร่ เพื่อดูลู่ทางว่าจะลงทุนทำอะไรได้ ครั้งนั้นเขาตัดสินใจลงไร่มะเขือเทศ
และจุดนี้เองที่ฉัตรชัยในนามของบริษัทเกษตรอีสาน จำกัด กลายเป้นบริษัทผู้บุกเบิกการส่งออกมะเขือเทศของไทยสู่ตลาดสหรัฐฯ
โดยเริ่มส่งออกเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ในปีล่าสุด เกษตรอีสานส่งออกไปสหรัฐฯทั้งสิ้นประมาณ
200 ล้านบาท
ฉัตรชัยเป็นคนไม่หยุดนิ่งหลังจากที่บริษัทเกษตรอีสานเริ่มอยู่ตัว ประกอบกับที่ดินที่หนองคายยังมีพื้นที่อีกเหลือเฟือพร้อมที่จะทำอะไรได้อีกเยอะ
เขาก็เริ่มมองหาโครงการใหม่นั่นก็คือการเลี้ยงฟาร์มโคนม ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดของไทยในขณะนี้
ฉัตรชัยจัดตั้งบริษัทนมอีสาน จำกัดขึ้น โดยมีผู้ร่วมลงทุนรายใหญ่คือ บริษัทเจแปนอาเซี่ยน
อินเวสต์เม้นท์ถือหุ้น 30% บริษัทเวนเจอร์ แคปปิตอล จำกัด ถือหุ้น 10% บริษัทนิวซีแลนด์
อะกรีคัลเจอร์รัลเอ็กซ์ปอร์ต ถือ 5% และหุ้นส่วนที่เหลือนั้นถือโดยฉัตรชัย
และกลุ่มเอเชีย แปซิฟิก ซึ่งฉัตรชัยก็อยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน
บริษัทนมอีสานจะนำเข้าโคมนมพันธุ์โฮลสไตน์ ฟรีเชี่ยนจำนวน 3,200 ตัวจากนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย
ซึ่งโคนมทั้ง 3,200 ตัวนี้เป็นโคนมที่พร้อมจะให้นมทุกตัว ขณะที่ฟาร์มโคนมในไทยแห่งหนึ่ง
ๆ มีโคนมที่พร้อมจะให้นมทันทีขณะนี้สูงสุดก็คือ 2,000 ตัวเท่านั้น
ฉัตรชัยอธิบายถึงสาเหตุที่ต้องลงทุนทำฟาร์มขนาดใหญ่เท่านี้ว่า เป็นเพราะการลงทุนแบบ
"เรียนลัด" ซึ่งเป็นสไตล์การบริหารของฉัตรชัยตั้งแต่สมัยลงทุนทำไร่มะเขือเทศแล้วคือ
การซื้อจากต่างประเทศทั้งระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานการจัดการ วัสดุอุปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศซึ่งทำให้จำนวนเงินลงทุนสูงกว่า
250 ล้านบาท ดังนั้นฉัตรชัยจึงต้องนำเข้าโคนมเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำ
และต่ำกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ ที่มีอยู่ขณะนี้หรือที่จะเกิดต่อไปในอนาคต
"ตลาดนมยังกว้างมากกำลังการผลิตของเราที่วางเป้าไว้ยังไม่เพียงพอต่อความต้งการ
ดังนั้นคนที่คิดจะขยายตัวหรือลงทุนในกิจการนี้ต้องมีอีก" ฉัตรชัยกล่าว
ปัญหาก็คือ หนองคายเหมาะสมหรือไม่สำหรับกิจการฟาร์มโคนม เพราะใคร ๆ ก็ตระหนักดีว่า
ถ้าคิดถึงฟาร์มโคนมต้องคิดถึงปากช่อง โคราช สระบุรี เสียเป็นส่วนใหญ่
ฉัตรชัยชี้แจงเหตุผลความเหมาะสมสำหรับฟาร์มโคนมที่หนองคายว่า หนองคายมีความพร้อมทั้งเรื่องอาหาร
น้ำและภูมิอากาศ กล่าวคือ ในระยะ 6 เดือน ซึ่งไม่ใช่ฤดูปลูกมะเขือเทศ ไร่ของเกษตรอีสานก็จะปลูกข้าวโพดและข้าวฟ่าง
ซึ่งเป้นอาหารวัวทดแทน นอกจากนี้ที่ฟาร์มโคนมก็ยังมีอ่างเก็บน้ำขนาด 15 ล้านลูกบาศก์ลิตรอีกด้วย
ส่วนเรื่องภูมิอากาศนั้น ฉัตรชัยกล่าวว่าพื้นที่บริเวณนั้นอากาศหนาวพอ ๆ
กับเมืองนอกทีเดียว
"สมัยก่อนที่ไปตั้งฟาร์มที่ปากช่องหรือโคราช สระบุรีก็เพราะสะดวกต่อการเดินทางและมันเหมาะสมที่สุดในเวลานั้นแต่สำหรับผมตอนนี้
หนองคายเหมาะที่สุด" ฉัตรชัยกล่าวอย่างเชื่อมั่น
นอกจากความพร้อมทางด้านเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ดินแล้ว สิ่งที่ฉัตรชัยมั่นใจมาก
ๆ ก็คือ โคนมพันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน ซึ่งจัดเป็นโคมนมพันธุ์แท้ ต่างจากพันธุ์ผสม
ซึ่งนิยมเลี้ยงในไทยเพราะทนต่อสภาพอากาศแบบไทย ๆ ขณะที่พันธุ์แท้ ยังเป็นที่เกรงกันว่าจะทนไมได้
แต่ฉัตรชัยก็เชื่อมั่นในสภาพภูมิอากาศ นอกจากนั้นผู้เชี่ยวชาญจากนิวซีแลนด์และออสเตรเลียก็เชื่อว่า
ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งการที่นำโคมนมพันธุ์แท้มาผลิตน้ำนมดิบนี้ย่อมจะได้น้ำนมที่มีคุณภาพต่างออกไปจากเดิมอย่างแน่นอน
โคนมพันธุ์แท้เหล่านี้ยังสร้างประวัติศาสตร์ให้กับวงการประกันอีกด้วย เมื่อบริษัทนมอีสานทำประกันชีวิตโคนม
3,200 ตัวเหล่านี้กับบริษัทอินเตอร์ไลฟ์ เป็นวงเงินตามทุนประกัน 100 กว่าล้านบาทเพราะในปัจจุบันจำนวนโคนมที่ทำประกันไว้ทั้งหมดยังเพียง
2,000 ตัวเท่านั้น
จำนวนโคนม 3,200 ตัวนี้กำลังทยอยส่งมอบจากนิวซีแลนด์และออสเตรเลียเป็นระยะ
ๆ ครั้งละ 800 ตัว คาดว่าจะสิ้นสุดการส่งมอบในเดือนมีนาคม 2533 แต่บริษัทนมอีสานจะเริ่มผลิตน้ำนมดิบจากโคนมฝูงแรกได้ในเดือนกุมภาพันธ์
2533
แม้ว่าภาวะการแข่งขันในตลาดน้ำมันดิบยังไม่รุนแรงนักเพราะกำลังการผลิตยังไม่เพียงพอ
แต่สิ่งหนึ่งที่ฉัตรชัยและบริษัทนมอีสานสร้างไว้ก็คือ ความพร้อมสรรพ และความทันสมัยที่ยิ่งใหญ่ในธุรกิจผลิตน้ำนมดิบที่อยู่ในวงการนี้และคนที่จะเข้ามาใหม่ต้องศึกษาและติดตามอย่างสนอกสนใจ